(E-mail: jumpsuri@gmail.com , Facebook: https://www.facebook.com/SuriyaCritic)
จิตรกรรมคือสื่อภาพนิ่งที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการจัดการด้วยสีลงบันพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
ซึ่งแม้ว่าปัจจัยสำคัญของจิตรกรรมคือการเสนอคุณค่าของบางสิ่งบางอย่างที่ถูกกระทำบนพื้นที่หนึ่งๆ
ก็ตาม หากแต่การกระทำนั้นขาดเจตจำนงก็ย่อมจะเป็นเพียงผลของการทอดลองเท่านั้น
หาใช่จิตรกรรมที่นำเสนอในแง่มุมของความสมบูรณ์ตามเจตนาของจิตรกรไม่
หากพื้นที่บนผืนผ้าใบคือลานประลองกันของสีแล้วละก็
ตัวเนื้อสีที่ถูกระบายลงไปบนผืนผ้าใบ (canvas) นั้นก็ไม่ต่างจากนักรบที่ถูกชะตากรรมนามว่าพู่กันเป็นผู้ลิขิตทิศทางของมัน
จิตรกรจึงมีสถานะความเป็นพระเจ้า (God) ที่สร้างโลกสมมุติขึ้นมาภายใต้คำว่า
“จิตรกรรม” (painting) แต่ถึงกระนั้นเอง เมื่อใดก็ตามที่ผลงานชิ้นนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้วละก็
หน้าที่ของพระเจ้าในสถานะของจิตรกรนั้นก็ย่อมปลาสนาการไปเสียสิ้น เพราะงานจิตรกรรมเองก็ทำหน้าที่ในการเป็นผู้ส่งสาร
(sender) ที่แท้จริงหาใช่จิตรกรไม่
ภาพจิตรกรรมจึงถือเป็นสื่อสำคัญที่นำเสนอภาพแทนความหมาย (visual representation)
ที่เต็มไปด้วยความเงียบสงัด ซึ่งสาร (message) ที่ปรากฏบนผืนผ้าใบนั้นล้วนเกิดจากการรังสรรค์ของจิตรกร แต่กระนั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่า
เมื่อใดที่ผลงานได้ถูกสร้างอย่างเสร็จสมบูรณ์เสียแล้ว จิตรกรเองก็กลายเป็นสิ่งอื่น
(the other) ทั้งนี้เพราะภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในงานจิตรกรรมจะกลายเป็นรหัสสำคัญ
(code) ที่จะทำให้สิ่งที่ปรากฏมีความหมายและโยงไปถึงคุณค่าในเชิงสุนทรียะได้
(aesthetic value)
ผลงานจิตรกรรมในนิทรรศการ “ปรารถนา”
ของ ชญานิน กวางแก้ว ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ผลงานในชุดดังกล่าวนี้แสดงออกถึงความสมบูรณ์ทางด้านจิตรกรรมไม่ว่าจะเป็นในด้านของรูปแบบ
เทคนิควิธีการ หรือแม้แต่แนวความคิดของศิลปินที่ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่ไม่ได้อธิบายอย่างตรงไปตรงมา
ผลงานในชุดนี้ใช้คุณลักษณะของสีในการแทนความหมายของแรงปรารถนาภายในสัญชาติญาณ
(basic
instinct) ของมนุษย์ (ไม่ว่าจะเป็นแรงขับทางเพศ
หรือแม้แต่การโยงไปถึง กิเลส ตัณหา อุปาทาน ในแบบพุทธปรัชญาก็ตาม) ในขณะที่ฝีแปรงหรือแผ่นสีที่ฉาบทาอันเป็นส่วนที่ดูแตกต่างและขัดแย้งในภาพนั้นกลับให้ความหมายในเชิงอัตวิสัย
(subjectivity) ต่างจากภาพเหมือนที่มีลักษณะของความเป็นภววิสัย
(objectivity) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ดูก็อาจจะตั้งสมมุติฐานความหมายที่เกิดขึ้นจากร่องรอยดังกล่าวได้อย่างอิสระ
ทั้งนี้เพราะจิตรกรรมนั้นได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารความหมายในตัวมันเองแทนจิตรกรเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจิตรกรจะกล่าวถึงผลงานของตัวเองอย่างไรก็ตาม ผู้ดูงานเองก็สามารถที่จะมีชุดความคิดใดความคิดหนึ่งในการตัดสินคุณค่าผลงาน
ซึ่งก็เป็นผลพวงจากประสบการณ์เชิงสุนทรียะ (aesthetic experience) ของผู้ดูเองที่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจในจิตรกรรมชิ้นนั้นๆ
ความหมายที่เกิดขึ้นจากภาพเสมือนของบุคคล
(portrait) ในภาพเอง ก็หาใช่การนำไปสู่การนำเสนอภาพบุคคลในเชิงปัจเจก
หากแต่ภาพบุคคลที่ปรากฏในงานจิตรกรรมนั้นเป็นเพียงภาพตัวแทนของมนุษย์ โดยจิตรกรนำเสนอในรูปแบบของภาพเสมือน
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว
ภาพบุคคลในจิตรกรรมชุดนี้จึงมิใช่อยู่ในสถานะของภาพเหมือนบุคคล
แต่เป็นงานจิตรกรรมที่นำเสนอความหมายที่มากกว่าการบอกว่าบุคคลคนๆ นี้คือใครกันแน่
แม้ว่า ชญานิน กวางแก้ว จะยังคงเป็นศิลปินหนุ่มที่จบจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อไม่นานนัก แต่จากผลงานจิตรกรรมในชุดนี้ก็สามารถทำให้ผู้ดูเองได้เห็นการนำเสนอรูปแบบ
เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ และกระบวนการคิดที่เป็นเรื่องของการแทนค่าความหมาย
โดยที่ชญานินเองกล้าที่จะให้จิตรกรรมได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารเอง
โดยมิต้องแสดงการอธิบายผ่านรหัสที่เข้าใจโดยง่าย แต่มุ่งไปที่การให้ผู้ดูสามารถที่จะพิจารณาสารัตถะบางอย่างที่ปรากฏขึ้นบนพื้นที่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่เรียกกันว่า
“จิตรกรรม” ได้อย่างอิสรเสรี
นิทรรศการศิลปะ
“ปรารถนา” โดย ชญานิน กวางแก้ว ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม - 26 กรกฎาคม 2558 ณ People's
Gallery P3 ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น