วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สัมพันธ์บางอย่าง


โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ


ในเย็นวันหนึ่งที่ผมนั่งมองดวงอาทิตย์กลมสีส้มบางๆ ค่อยๆ เคลื่อนลงผืนทะเลที่เปลี่ยนเป็นสีเงินเข้ม ผมพลันนึกถึงความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างความเป็นไปของชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่ง ด้านหนึ่งมันอาจจะเป็นเพราะเราเองได้ใช้อัตตาสร้างความคิดดังกล่าวขึ้นมา หรือบางทีสิ่งที่ผมคิดนั้นอาจจะมีความเป็นจริงบางส่วนก็เป็นได้

ในสภาพสังคมไทยที่เต็มไปด้วยมายาคติเป็นภาพของความอ่อนน้อมเจียมตัวนั้น ผมมิอาจจะกล่าวว่าเป็นสิ่งไม่ดี ในทางตรงกันข้ามผมมีทัศนะว่าท่าทีดังกล่าวข้างต้นนั่นเองที่เป็นส่วนที่ช่วยให้มนุษย์เราได้มีโอกาสหลีกหนีความขัดแย้งหลายๆครั้งได้อย่างแนบเนียน หากแต่เราคงปฏิเสธได้ยากเต็มทีว่าลักษณะท่าทีอ่อนน้อมประนีประนอมดังกล่าวในระยะยาวอาจจะเกิดปฏิกิริยาด้านตรงกันข้ามซึ่งซุกว่อนอยู่ภายใต้การกดทับของจารีตบางอย่างจนล้น

ผมมิอาจจะกล่าวว่าความขัดแย้งเป็นวิถีที่คู่ควรกับความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ในสังคม และยังพาลคิดไปอีกว่ามนุษย์เองมีภาระที่จะรักษาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่นำไปสู่การตัดสินใจที่รุนแรง

แต่กระนั่นเองจากสภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสังคมไทยหรือสังคมอื่นๆ ผมกลับมีทัศนะบางอย่างที่อยากอธิบายเล็กน้อย นั่นคือหากมนุษย์เลือกให้สัมพันธภาพนั้นตั้งอยู่ในบริบทที่ไม่ได้ยึดถือในตัวตน และก้าวข้ามสู่การแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง น่าจะเป็นทางออกอย่างหนึ่งสำหรับปุถุชนผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเสวนาพาทีกับใครมากนัก ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีลักษณะเป็นปัจเจกวิถีที่มุ่งที่จะขจัดการเกี่ยวโยงกันระหว่างมนุษย์ และดูจะเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับท่าทีแบบที่เน้นสัมพันธภาพระหว่างกันจนดูเสมือนมนุษย์ได้ขาดสิ้นน้ำใจไมตรีต่อกัน

ขณะเดียวกันมนุษย์เราเองก็มิต้องพร่ำตัดพ้อกับตัวเองมากนักในการที่จะต้องรับผิดชอบต่อองค์รวม ซึ่งหากจะกล่าวแบบนี้ก็อาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเป็นการเห็นแก่ตัวกันหรือไม่ แต่หากคิดกลับกันว่าตั้งแต่เบื้องแรกมนุษย์มีความเป็นปัจเจกภาพและเคารพในความเป็นปัจเจกภาพส่วนตัวของแต่ละคนแล้ว ประเด็นความเห็นแก่ตัวอาจจะไม่จำเป็นต้องเอามาเป็นข้อสงสัยหรือถกเถียง เพราะอาจจะไม่มีการเกิดความรู้สึกเช่นนั้น ซึ่งในทางเดียวกันผมกลับมองว่ามนุษย์อาจจะรู้สึกเงียบเหงามากกว่า ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างขาดความสัมพันธ์กับองค์รวมได้

ปัญหามันจึงอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถที่จะหยุดให้ดวงอาทิตย์ตกหรือไม่ตกขอบทะเล แต่อยู่ที่ว่าภายใต้สภาวะความเป็นไปของดวงอาทิตย์ เราจะอยู่อย่างไรโดยไม่รู้สึกกับการเปลี่ยนแปลงและมองดวงอาทิตย์อย่างมีเหตุผลมากกว่าความรู้สึก ในทางเดียวกันก็เป็นคำถามว่า เราจะมีชีวิตอย่างไรภายใต้บริบทที่มากกมายในชีวิตโดยวางใจเป็นกลางและไม่โน้มเอียงไปสู่เรื่องราวที่ทำให้ใจของเราถูกคุมคามในสภาวะที่เราเองพยายามที่ไม่อยากจะไปสู่ความปัจเจกภาพอย่างไร้เยื่อใยโดยสมบูรณ์

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ธงชาติในงานจิตรกรรม “เสรีภาพนำประชาชน” (Liberty Leading the People) ของ แฟร์ดีนองด์ วิคตอร์ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Ferdinand Victor Eugène Delacroix)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (ส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ ตามหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง “ธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย” ของสุริยะ ฉายะเจริญ)
     
               “เสรีภาพนำประชาชน” (Liberty Leading the People) ของ แฟร์ดีนองด์ วิคตอร์ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Ferdinand Victor Eugène Delacroix) หรือ เดอลาครัวซ์ เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันมีขนาดความกว้าง 260 เซนติเมตร ขนาดความยาว 325 เซนติเมตร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ณ กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส (France) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1830 ถือว่าเป็นผลงานที่มีลักษณะการแสดงออกและวิธีคิดแบบลัทธิโรแมนติก (Romanticism)[1] หรือเรียกว่าเป็นพวกขบวนการจินตนิยม[2]
                 เรื่องราวของภาพ “เสรีภาพนำประชาชน” เป็นการบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์การปฏิวัติในยุคสมัยการปกครองของพระเจ้าชาร์ลส์ที่10 แห่งฝรั่งเศส (Charles Philippe of France) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์บูร์บง (Maison de Bourbon) ครองราชย์ระหว่างค.ศ. 1824 - ค.ศ. 1830[3] อันเนื่องมาจากการละเมิดอำนาจของสภาของพระองค์ ทำให้มีการปกครองที่ล้มเหลวไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธาในตัวของพระองค์ เป็นผลทำให้ประชาชนชนชั้นกลางเข้าร่วมมือกับพวกฝ่ายสาธารณรัฐ นิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและกลุ่มผู้ใช้แรงงานกรรมกร ก็ร่วมกันตกลงที่จะใช้กำลังอาวุธในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนนำไปสู่จลาจลสงครามกลางกรุงปารีส ในช่วงวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1830 เป็นผลให้พระองค์ทรงลี้ภัยไปประทับอยู่ที่สกอตแลนด์ เหตุการณ์ดังกล่าวรู้จักกันในนามการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1830 (July Revolution)[4] 
 

ผลงานจิตรกรรม “เสรีภาพนำประชาชน” (Liberty Leading the People)
ที่มา : Wikipedia, La liberté guidant le peuple [Online],  accessed 8 December 2011. Available from http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a7/Eug%C3 %A8ne_Delacroix_-_La_libert%C3%A9_guidant_le_peuple.jpg

                 เดอลาครัวซ์ได้รับผลกระทบทางความรู้สึกจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง ทั้งนี้อาจจะเป็นอุปนิสัยที่สนใจเกี่ยวกับความเป็นไปทางสังคมและการเมืองทำให้เขาสร้างผลงานชิ้นนี้ด้วยความตั้งใจที่จะระลึกถึงการต่อสู้และการอุทิศชีวิตของประเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันสำคัญ ดังจดหมายที่เขาเขียนถึงพี่ชายลงวันที่ 12 เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1830 ว่า อารมณ์อันขุ่นมัวเป็นเสมือนยากระตุ้นให้ข้าพเจ้าทำงานอย่างหนักข้าพเจ้านำเรื่องสมัยใหม่ และถ้าข้าพเจ้ามิอาจลุกขึ้นสู้เพื่อประเทศชาติ แต่อย่างน้อยข้าพเจ้าจะวาดภาพนี้สำหรับเธอ...[5]
                 เดอลาครัวซ์มีแนวทางการแสดงออกทางศิลปะตามลัทธิโรแมนติกนิยม (Romanticism) ซึ่งมักจะมีการแสดงออกถึงเรื่องราวอันเป็นการยกย่องลัทธิปัจเจกนิยม การรับรู้ทางจิตวิสัย ความไม่คำนึงถึงเหตุผล จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก ธรรมชาติ อารมณ์อยู่เหนือหลักเหตุผล และความรู้สึกอยู่เหนือสติปัญญา[6] แนวทางดังกล่าวกระตุ้นความรู้สึกและจินตนาการ ศิลปินกลุ่มนี้มักมีการแสดงออกในทางศิลปะอย่างอิสรเสรีกว่าศิลปินยุคก่อนหน้า มีความกล้าหาญในการใช้สีอย่างรุนแรงประกอบกับการทิ้งรอยฝีแปรงทำให้ภาพเกิดความเคลื่อนไหวและมีผลให้เกิดความสั่นสะเทือนในการมอง มักแสดงออกถึงเรื่องราวอันเป็นสิ่งที่อลังการ เหตุการณ์ที่สำคัญในสังคม และมุ่งเน้นให้เกิดการสะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง ดังที่ชาร์ลส โบดแลร์ (Charles Baudelaire: 1821-1867) กวีและนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส ได้เขียนไว้ในปี ค.ศ.1846 ว่า “ลัทธิโรแมนติกมิได้ตั้งอยู่บนหนทางของความจริงที่เป็นเหตุผล แต่เป็นวิถีแห่งความรู้สึก”[7]
                 ในผลงานจิตรกรรมชื่อ “เสรีภาพนำประชาชน” เดอลาครัวซ์ได้นำเรื่องราวการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1830 มาสร้างเรื่องราวให้เกิดความสะเทือนใจตามแนวคิดลัทธิโรแมนติก เขาจัดการกับองค์ประกอบให้ดูราวกับการแสดงละครเวที ท่าทางของตัวละครในภาพถูกจัดวางไว้อย่างมีระบบและเต็มไปด้วยนัยยะที่สำคัญ
                  ภาพหญิงสาวที่กำลังย่างก้าวไปข้างหน้าได้ก้าวข้ามตรงมาสู่ผู้ดูโดยตรง เรือนร่างของหญิงสาวมิได้มีกิริยาเยี่ยงสตรีที่มีร่างบอบบาง แต่เป็นร่างกายที่ดูสูงใหญ่ หนาหนัก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกล้ามเนื้อ เต็มไปด้วยพลังความเคลื่อนไหวที่หนักแน่น และมีท่วงทีราวกับมหาบุรุษแห่งสมรภูมิ มือข้างขาวของเธอชูธงสามสีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างมั่นคง แม้ว่าทรวงเปลือยเปล่า แต่ก็มิได้มีสัญลักษณ์ของความอ่อนนุ่มหรือทางกามารมณ์แต่อย่างใด แม้ลักษณะภายนอกจะดูราวกับเทพีผู้สูงศักดิ์ในเทพนิยาย แต่เดอลาครัวซ์วาดให้เธอดูราวกับคนธรรมดาสามัญ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ละม้ายคล้ายคลึงกับชุดของหญิงสาวฝรั่งเศสสมัยนั้นนิยมกันทั่ว[8] อีกทั้งสวมใส่หมวกไฟรเจียนบนศีรษะมีนัยยะถึงการเป็นนักปฏิวัติ เท้าที่เหยียบย่างบนพื้นอย่างมั่นคงช่วยส่งเสริมให้อิริยาบถของเธอดูสง่างาม ด้ายซ้ายมือของเธอเป็นเด็กจรจัดที่ดูไม่เหมาะสมนักกับการถือปืนทั้งสองมือเพื่อลุกขึ้นสู้ในการปฏิวัติ ทางด้านขวาเป็นชายหนุ่มสองคน ซึ่งเป็นตัวแทนของสัญลักษณ์ที่ต่างกันทางชนชั้น ชายผู้กำดาบในมือหมายถึงบุคคลผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่ชายที่อยู่ในชุดเสื้อนอกสวมหมวกทรงสูงและมีลักษณะตามแบบฉบับสุภาพบุรุษเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของชนชั้นปัญญาชน
                 ลักษณะการจัดภาพของเดอลาครัวซ์เป็นรูปแบบที่นิยมนั้น คือการที่วางตำแหน่งศพในภาพกองบิดเบี้ยวอยู่เบื้องหน้า เด็กที่พับเข่าทแยงวิ่งนำหน้ากำลังยกมือเพื่อชูธงขึ้นสูง ทำให้เกิดเป็นรูปทรงพีระมิด[9]
                 การระบายสีในภาพมีลักษณะทิ้งรอยของฝีแปรง (Painterly Style) ลักษณะโทนสีจะมีลักษณะเข้มขรึมด้วยสีน้ำตาลกับสีดำ สีที่ปรากฏเด่นชัดบนผืนธงเองก็ถูกนำมาใช้ซ้ำ ๆ หนักบ้างเบาบ้างตลอดทั้งภาพ เดอลาครัวซ์จะใช้สีขาวกระจัดกระจายอย่างอิสระที่สุด ส่วนท้องฟ้าใช้สีแดงสลับกับสีน้ำเงินดุคล้ำ สีน้ำเงินเข้มถูกนำมาใช้อย่างซ้ำ ๆ เป็นสีของถุงเท้าของคนตายทางด้านซ้ายมือ เป็นสีเสื้อของเด็กชายที่พับเข่าและเป็นสีผ้าผูกคอและเข้มขัด เช่นเดียวกับศพทางด้านขวามือมีสีแดงที่สะท้อนสีของธง ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและระบบสาธารณรัฐฝรั่งเศส เดอลาครัวซ์นำมาใช้ระบายเป็นสัตยาบันทางการเมือง[10]
                 สัญลักษณ์ธงชาติฝรั่งเศสในภาพถูกนำมาใช้คู่กับหญิงสาวผู้เป็นจุดสนใจในภาพและถือเป็นตัวละครหลักนำเสนอเรื่องราวที่จำลองเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมือง ตำแหน่งของธงชาติถูชูขึ้นเหนือตัวละครทั้งหมด ไม่เว้นกระทั่งมหาวิหารนอเทรอดาม (Cathédrale Notre Dame de Paris) ก็ยังถูกวางในตำแหน่งพื้นหลังด้านขวาของภาพ อีกทั้งยั้งมีขนาดสัดส่วนที่เล็กกว่าตัวละครหลักของภาพ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่อยู่ในกรุงปารีส
                 ในหนังสือ “What great paintings say” ซึ่งเป็นหนังสือที่วิเคราะห์และวิจารณ์ผลงานศิลปะตะวันตกชิ้นสำคัญ ๆ ได้อย่างละเอียด ได้เขียนถึงธงชาติฝรั่งเศสในผลงานชิ้นนี้อย่างน่าสนใจว่า

        ...ธงสามสีปรากฏเคียงคู่ไปกับอารมณ์ความขัดแย้งของเหล่าปัญญาชนและผู้นิยมระบอบสาธารณรัฐ ธงผืนนี้แสดงออกถึงอำนาจอันสูงสุดของประชาชนและชัยชนะแห่งเสรีภาพที่เหนือการกดขี่แบบเผด็จการ สำหรับประชาชนโดยทั่วไป แล้วถือว่าเป็นการปลุกเร้าความรักชาติอย่างตรงไปตรงมา ทำให้นึกถึงยุคแห่งความรุ่งโรจน์ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส...[11]

                 หญิงสาวกลางภาพแท้ที่จริงเป็นสัญลักษณ์ของ มารีอาน (Marianne) ซึ่งเป็นรูปลักษณ์สตรีอันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของสาธารณรัฐฝรั่งเศส[12] ซึ่งเมื่อนำสัญลักษณ์ดังกล่าวเข้ามาประกอบกับธงชาติสามสีของฝรั่งเศสก็เป็นการสร้างสัญลักษณ์อันเกี่ยวโยงกับชัยชนะที่มีเรื่องของชาติฝรั่งเศสเป็นบริบทหลักอยู่เป็นสำคัญ การก้าวเดินของเทพีแห่งชัยชนะจึงมิเพียงการย่างก้าวของร่างสตรีธรรมดาที่ถือธงชาติ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการก้าวไปสู่วันแห่งชัยชนะของชาติ
                 สรุปแล้วความหมายโดยพื้นฐานของธงชาติในผลงานชิ้นนี้เป็นเรื่องของการแสดงความเป็นชาติ (Nationhood) ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) และความรักชาติ (Patriotism) ดังนั้นธงชาติที่ปรากฏในภาพนี้จึงเป็นสัญลักณ์ของความเป็นชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศส สะท้อนแนวคิดชาตินิยมแนวเสรี (Liberal Nationalism) โดยมีฐานคิดที่ว่า

  ...ชาติจึงเป็นชุมชนที่แท้จริงและเป็นอินทรียภาพ มิใช่เป็นผลงานสร้างของผู้นำทางการเมืองหรือชนชั้นปกครอง ชาตินิยมแนวเสรีถือว่าชาติกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกัน...[13]

                 โดยสรุปแล้วสัญลักษณ์ของธงชาติในผลงานจิตรกรรม “เสรีภาพนำประชาชน” นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านศิลปะแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์อันสะท้อนถึงแนวคิดชาตินิยมที่มีบริบทร่วมกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองควบคู่กันไป ซึ่งสิ่งนี้ก็ยิ่งทำให้ความหมายของภาพนำไปสู่เนื้อหาทางด้านวีรกรรม การปฏิวัติ การเมือง และชาตินิยมควบคู่กันไปอย่างทรงประสิทธิภาพ


                 [1] Charles Moffat, The Art History Archive, Romanticism [Online],  accessed
10 May 2011.  Available from http://www.arthistoryarchive.com/arthistory/romanticism/ arthistory_romanticism.html
                 [2] เอช ดับเบิลยู แอนด์ ดอร่า เจน แจนสัน, ประวัติจิตรกรรม (จากถ้ำถึงสมัยปัจจุบัน), แปลโดย กิตติมา อมรทัต (กรุงเทพ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2533), 214.
                 [3] Wikipedia, Charles X of France  [Online],  accessed  9 May 2011.  Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Charles_X_of_France
                 [4] สุปราณี  มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ.1815-ปัจจุบัน (เล่ม 1), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพ: โอเดียนสโตร์, 2540), 78.
                 [5] Wikipedia, Liberty Leading the People [Online],  accessed 9 May 2011. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Liberty_Leading_the_People
                 [6] Art History, Romanticism [Online],  accessed 11 May 2011.   Available from
http://www.huntfor.com/arthistory/c17th-mid19th/romanticism.htm
                 [7] Kathryn Calley Galitz, Heilbrunn Timeline of Art History,  Romanticism [Online], accessed 10 May 2011.  Available from  http://www.metmuseum.org/toah/hd/ roma/hd_roma.htm
                 [8] กำจร  สุนพงษ์ศรี,  ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก 3  (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551), 251.
                 [9] พรสนอง วงศ์สิงห์ทอง, ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์ (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), 75.
                 [10] เรื่องเดียวกัน, 75-76.
                 [11] Rose-Marie and Rainer Hagen,  What great paintings say : Volume 2 
(Koln : Benedikt Taschen, c1995), 571.
                 [12] [12] Wikipedia, Marianne [Online], accessed 21 September 2010.  Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Marianne
                 [13] สมเกียรติ  วันทะนะ, อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย (นครปฐม : โรงพิมพ์
ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร วิทยาเขตกำแพงแสน, 2544), 88.

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผลงานจิตรกรรมผสม “ธงสามผืน” (Three Flags)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (ส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ ตามหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง “ธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย” ของสุริยะ ฉายะเจริญ)

                 แจสเปอร์ จอห์น (Jasper Johns, Jr.) เป็นศิลปินยุคศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ผลงานของเขาส่วนใหญ่สร้างเป็นจิตรกรรมเทคนิคผสม ต่างจากการสร้างสรรค์จิตรกรรมแบบประเพณีด้วยสีน้ำมันบนระนาบผ้าใบอย่างอดีต เขาเป็นศิลปินที่สร้างผลงานในลักษณะที่เป็นแบบนีโอ-ดาดา (Neo-Dada) ซึ่งเป็นแนวทางที่แสดงภาพลักษณ์และสินค้าในชีวิตประจำวัน สะท้อนถึงสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม และเพราะมีความงามแบบลูกผสมประหลาด ๆ เป็นความงามที่คาบเกี่ยวอยู่ระหว่าง สินค้าสำเร็จรูปกับขยะ คาบเกี่ยวระหว่างของที่เครื่องจักรผลิตออกมาอย่างแข็งทื่อไร้อารมณ์ กับสีสันฝีแปรงที่แสดงความรู้สึกอย่างมีชีวิตชีวา[1]
                 จอห์นเป็นศิลปินที่ใช้สัญลักษณ์และรูปสัญญะสิ่งของที่มีอยู่ในสังคมอเมริกันในยุคนั้นนำมาสร้างเป็นผลงานศิลปะขึ้น โดยผลงานส่วนใหญ่มักจะให้ความรู้สึกที่เกี่ยวโยงกันระหว่างการเสียดสีเย้ยหยันแบบลัทธิดาดา (Dadaism) กับภาพลักษณ์สังคมทุนนิยม (Capitalism) ที่แสดงออกมาแบบศิลปะป๊อป (Pop Art) ภาพผลงานของเขาจึงเสมือนการหยิบยืมสัญลักษณ์ต่าง ๆ นำมาผสมกันกับทัศนธาตุทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น สี พื้นผิว เพื่อสะท้อนความเป็นไปของยุคสมัยแห่งความเป็นสมัยใหม่ผ่านผลงานศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะตัว จอห์นใช้สัญลักษณ์มากมายมาสร้างสรรค์ผลงาน เช่น รูปร่างแผนที่ เป้ายิงปืน ตัวอักษร เป็นต้น แต่ผลงานที่ดูเสมือนเป็นต้นแบบ (Master Piece) ที่มีชื่อเสียงของเขาคงเป็นผลงานที่สร้างจากรูปลักษณ์ของธงชาติอเมริกัน (Stars and Stripes) ที่เขาเองได้สร้างขึ้นมาหลายรูปแบบอย่างน่าสนใจ
                 จิตรกรรมผสมชื่อ ธงสามผืน หรือ Three Flags (ภาพที่ 1) ของจอห์น สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1958 ด้วยเทคนิคขี้ผึ้งและสีบนผ้าใบ (wax and pigment on canvas) มีขนาด 30  × 45½ นิ้ว หรือ 78.42 x 145.16 เซนติเมตร ซึ่งปัจจุบันเป็นสมบัติและจัดแสดงนิทรรศการอยู่ที่ วิทนีย์ มิวเซียม อ็อฟ อเมริกัน อาร์ต (Whitney Museum of American Art) ณ นครนิวยอร์ก (New York City)[2] ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S.A.) เป็นภาพธงชาติสหรัฐอเมริกาสามชิ้นวางซ้อนทับกันตามลำดับขนาดใหญ่ลงมาถึงขนาดเล็ก เมื่อมองเห็นอย่างผิวเผินแล้วจึงเป็นเพียงรูปธงสามผืนธรรมดา ๆ 3 ขนาดที่ต่างกันเท่านั้น แต่เมื่อได้พิจารณาอย่างใกล้ ๆ ในรายละเอียด จะพบว่ามีเศษหัวข้อข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์(Newspaper) ภาพถ่าย (Photography) ภาพการ์ตูน (Comic) และเศษกระดาษจากสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ภายใต้พื้นผิวของขี้ผึ้ง (Wax) ที่โปร่งทะลุ (Transparent)
                 รองศาสตราจารย์ ดร.พรสนอง วงศ์สิงห์ทอง อาจารย์ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนในหนังสือวิชาการทางศิลปะชื่อ “ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์” เกี่ยวกับผลงานชุด ธงชาติของแจสเปอร์ จอห์น เอาไว้ว่า

           ...เป็นการนำภาพที่อยู่ในความนิยมและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติเข้ามาใช้ จอห์นกล่าวว่า การใช้แบบธงอเมริกัน ประหยัดเวลาผมไปเยอะ เพราะผมไม่จำเป็นต้องออกแบบเอง อันนี้ถือเป็นภาพแอบสแทรกต์ เพราะภาพประกอบด้วยรูปร่างเรขาคณิตล้วน ๆ และยังเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็รู้จักในทันทีที่เห็น ธงอเมริกันมีประวัติศาสตร์ของตนเอง และสีเทียนที่จอห์นใช้เป็นสื่อในการวาดก็เป็นสื่อที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยโบราณ...ธงเกิดจากการประกอบแผงผ้าใบที่นำไปวางทาบกัน แล้วระบายทับด้วยสีเทียน การผสมกันในลักษณะนี้ทำให้ลายผิวเนื้อเกิดความชัดเจน ปัญหาที่เขาแฝงเป็นนัย ๆ คือ เมื่อไรที่ธงหมดสภาวะเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แล้วกลายเป็นภาพ[3]

 
ภาพที่ 1  จิตรกรรมผสมชื่อ ธงสามผืน (Three Flags)
ที่มา : Space15twenty, Three Flags [Online], accessed 6 December 2011. Available from http://www.space15twenty.com/happy_4th_of_july

                 จากที่ได้อ้างถึงจะเห็นว่า จอห์น มิได้หยิบยกรูปลักษณ์ของธงชาติขึ้นมาอย่างไม่มีแนวคิด เพราะหากเป็นเช่นนั้นผลงานของเขาจึงเป็นเพียงลักษณะของผลงานในรูปแบบแอ็บสแทร็กต์ อาร์ต (Abstract Art) หรือศิลปะแนวนามธรรมเท่านั้น หากแต่สิ่งสำคัญที่มีส่วนทำให้ผลงานชิ้นนี้เกิดประเด็นทางความคิดคือ รูปลักษณ์ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมโดยตัวเองอยู่แล้ว การนำธงชาติมานำเสนอจึงเป็นการนำแนวคิดและความหมายเกี่ยวกับธงชาติเขามาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์ด้วย
                 โจนาธาน โจนส์ (Jonathan Jones) นักข่าวและนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษแห่งหนังสือพิมพ์ เดอะ กราเดียน (The Guardian) ได้เขียนเกี่ยวกับผลงานชุดนี้ในบทวิจารณ์ชื่อ “ความจริงภายใต้หมู่ดาวและริ้วเส้นของแจสเปอร์ จอห์น” (The truth beneath Jasper Johns' stars and stripes) เอาไว้ว่า

           ...มีเรื่องราวอันมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้อัตลักษณ์อันบ่งบอกความเป็นอเมริกันชน จิตรกรรมชิ้นนี้เป็นผลงานศิลปะที่เสมือนวรรณกรรมแห่งอเมริกันที่เยี่ยมยอด ประดุจดั่งอนุสาวรีย์นิ่งสงัดที่ซุกซ่อนความน่าสะพรึงกลัวบนความจริงของสามัญรูป ใครคือชาวอเมริกัน? พวกเขาคล้ายกับอะไร? ซึ่งนั่นคือความหมายที่อยู่ลึกกว่ารูปร่างของดาวห้าแฉกและแถบริ้วสี...[4]

                 ซึ่งจากบทวิจารณ์ทำให้เห็นว่าภาพลักษณ์ธงชาติอเมริกันในผลงานของจอห์นนอกจากแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นอเมริกันแล้วยังมีความหมายที่สื่อถึงนัยยะอันถูกเก็บซ่อนอยู่ภายใต้ภาพธง ซึ่งผู้ดูต้องพินิจพิเคราะห์และกระทำการตีความเพื่อให้เข้าถึงความหมายของผลงาน ความคลุมเครือนี้เองได้นำไปสู่การตั้งคำถามถึงภาวะคุณค่าการเป็นผลงานศิลปะหรือไม่ของผลงานในชุดธงชาติอเมริกัน ดังที่ในหนังสือชื่อ “จิตรกรรม” (Painting) ของ โวล์เกอร์ เกปฮาร์ดท์ (Volker Gebhardt) ได้เขียนไว้ว่า

           ...จอห์นเลือกภาพธงซึ่งเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในความเข้าใจของชาวอเมริกันมาสร้างเป็นผลงานจิตรกรรม แมกซ์ อิมดาร์ห (Max Imdahl) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมันได้ตีพิมพ์ประเด็นคำถามที่ว่า “นี่คือธงหรือจิตรกรรมรูปธงกันแน่?” และ “นี่คือจิตรกรรมรูปธงหรือเป็นแค่ภาพ?” ความคลุมเคลือไม่แน่ใจนี้คือความชัดเจน อีกทั้งยั้งนำไปเชื่อมโยงระหว่างท่าทีการปฏิวัติแห่งเสรีภาพ และการอภิปรายทางทฤษฎีที่เคร่งครัดบนความหมายของภาวะความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ในตัวของมันเอง...[5]

                 ความหมายที่ซ่อนอยู่ในผลงานชิ้นนี้จึงมิใช่อะไรอื่นมากไปกว่าสะท้อนสำนึกความเป็นชาติอเมริกัน ที่เมื่อมองในแง่มุมของประวัติศาสตร์ ณ ห้วงเวลาที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้น จะพบว่าเป็นห้วงสมัยของสงครามเย็น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และการตื่นตัวเรื่องสันติภาพ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเสมือนวัตถุดิบทางความคิดที่ดีในการที่จะนำเสนอทัศนะผ่านผลงานศิลปะ ที่สำคัญอีกประการคือจอห์นถือเป็นศิลปินที่นำเสนอผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับบริบททางสังคมและการเมืองมาตลอด ผลงานในชุดที่มีรูปลักษณ์ธงชาติอเมริกันก็มีการผลิตออกมามากมายหลายชิ้นหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงเป็นที่เชื่อโดยอนุมานจากบริบททางประวัติศาสตร์และลักษณะภาพของการสร้างสรรค์ได้ว่าผลงานของเขามีนัยยะที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
 
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายเหตุการณ์การปักธงชาติอเมริกันบนสมรภูมิอิโวชิมา
ที่มา  :   A World at War, Battle of Iwo Jima Photos Gallery [Online],  accessed

                 ผลงานจิตรกรรม “ธงสามผืน” เป็นเสมือนภาพตัวแทนของถ้อยแถลง (Manifesto) การปลุกชาตินิยม (Nationalism) ที่มีอยู่มากมายภายในสังคมอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภาพดังกล่าวแม้มิได้ถูกชูขึ้นบนเสาแบบธงชาติที่โบกสะบัดอยู่เหนือศีรษะราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับเสมือนถูกทำให้หยุดนิ่งคล้ายดังภาพถ่ายเหตุการณ์การปักธงชาติอเมริกันบนสมรภูมิอิโวชิมา (Battle of Iwo Jima) เมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 (ภาพที่ 2) หรือ ภาพถ่ายธงชาติอเมริกันที่ถูกปักบนดวงจันทร์ ในโครงการอะพอลโล 11 (Apollo 11) เมื่อวันที่ 21กรกฎาคม ค.ศ.1969 (ภาพที่ 3) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นโฆษณาชวนเชื่อปลุกเร้าความรู้สึกภาคภูมิในความเป็นชาติของตน
                 ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามิใช่ประเทศที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานเหมือนหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ดังนั้นการสร้างมายาคติทางด้วยประวัติศาสตร์ผ่านภาพสัญลักษณ์ธงชาติจึงเป็นกระบวนการประดิษฐ์กรรมความเป็นชาติให้เกิดขึ้น โดยที่มีฐานะของผู้ชนะจากสงครามโลกอำนาจทางเศรษฐกิจ ค่านิยมในสังคม และลัทธิทางการเมืองเป็นปัจจัยที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงให้ชาตินิยมของชาวอเมริกันเสร็จสมบูรณ์

 
ภาพที่ 3   ภาพถ่ายธงชาติอเมริกันที่ถูกปักบนดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโล 11 (Apollo 11)
ที่มา : Wikipedia, Apollo 11 [Online],  accessed 8 December 2011.  Available from  http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/dd/Buzz_salutes_the_U.S._Flag.jpg

                 โดยสรุปแล้วผลงานจิตรกรรมผสมชื่อ “ธงสามผืน” (Three Flags) รวมไปถึงผลงานชิ้นอื่น ๆ ที่ปรากฏภาพลักษณ์ของธงชาติอเมริกันของแจสเปอร์ จอห์น ถือผลงานศิลปะที่สะท้อนสำนึกชาตินิยมของชาวอเมริกันซึ่งมีความเชื่อโยงในลัทธิชาตินิยมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเป็นไปทางการเมืองในระดับสากล ผลงานชิ้นนี้และในชุดที่เกี่ยวข้องจึงไม่เพียงมีคุณค่าในทางศิลปะเท่านั้น หากแต่ยังบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองได้อย่างคมคายอีกด้วย


                 [1] สุธี  คุณาวิชยานนท์, “Modern & Contemporary Art: ศัพท์, ลัทธิ และความเคลื่อน ไหวทางศิลปะร่วมสมัย,  เอกสารพิเศษในรายวิชา 215 427 Contemporary Art and Culture (ศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย)  (กรุงเทพฯ : ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและ ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ม.ป.ป.), 37-38.
                 [2] Wikipedia, Three Flags [Online],  accessed 23 May 2011.  Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Three_Flags
                 [3] พรสนอง  วงศ์สิงห์ทอง, ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์, 423.
                 [4] Jonathan Jones, The truth beneath Jasper Johns' stars and stripes [Online], accessed 24 May 2011.  Available from http://www.guardian.co.uk/artanddesign/ jonathanjonesblog/2008/oct/24/jasper-johns-jonathan-jones-flag
                 [5] Volker Gebhardt, Painting (London : Laurence King, c1998), 198.