วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จากปกแผ่นเสียงถึงการเรียงร้อยเป็นถ้อยความจิตรกรรม

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
(E-mail: jumpsuri@gmail.com , Facebook: https://www.facebook.com/suriya.chaya)


 
            การหวนหาโลกแห่งอดีตมักเป็นเรื่องปกติของคนที่เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของชีวิต หลายคนไม่เพียงแค่จารึกความหลังไว้ในโลกจินตนาการเท่านั้น แต่ยังกลับไปค้นหาร่องรอยของอดีตผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ งานทัศนศิลป์ วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งเสียงเพลง โดยเฉพาะเสียงเพลงในยุคที่ยังถูกเล่นด้วยเครื่องแผ่นเสียงก็ย่อมมีเสียงที่ออกมาจากเครื่องเล่นที่แตกต่างกับเสียงที่ถูกบันทึกด้วยระบบดิจิทัลในแบบปัจจุบัน
            ภาพปกแผ่นเสียงในอดีตไม่เพียงเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาดเท่านั้น แต่ความมีเสน่ห์คือการนำเสนอภาพที่ถูกจัดระเบียบภายใต้องค์ประกอบที่มีเอกภาพ เพราะฉะนั้นจึงทำให้ภาพปกแผ่นเสียงในยุคสมัยก่อนมีคุณค่าในด้านการออกแบบที่ร่วมสมัยในยุคสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย ภาพปกที่เป็นรูปเหมือนนักร้องย่อมเป็นภาพแทนให้เห็นว่าเพลงในแผ่นเสียงนั้นเป็นเสียงร้องของใคร ที่สำคัญภาพนั้นๆ ถูกถ่ายหรือวาดโดยมีการจัดท่าทางโครงสร้างของใบหน้าของนักร้องที่จัดระบบแสงแบบอุดมคติ
            พิชิต ตั้งเจริญ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านทัศนศิลป์ที่มีบทบาทในการสอนทางด้านจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมานาน ซึ่งสำหรับผู้ที่ติดตามจิตรกรรมร่วมสมัยย่อมต้องเคยชื่นชมกับผลงานของเขาไม่มากก็น้อย ภาพจิตรกรรมของเขามีลักษณะที่สงบ สมถะ และนิ่งสงัด และมักนำเสนอภาพจิตรกรรมแบบเกลี่ยเรียบ (liner Style) ที่แสดงปริมาตรของภาพด้วยระบบแสงและเงาที่ละเมียดละไมผ่านทักษะการระบายสีอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งในนิทรรศการ "เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย" นี้ พิชิตได้ใช้ความประทับใจที่มีต่อปกแผ่นเสียงที่เขาสะสม โดยเขาชื่นชอบทั้งเสียงเพลงที่อยู่ในนั้นและการออกแบบปกที่มีเสน่ห์และมีกลิ่นอายของงานออกแบบสิ่งพิมพ์ของไทยในช่วงก่อนและหลังพุทธทศวรรษ 2500 ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก
            ผลงานจิตรกรรมชุดนี้พิชิตได้นำแรงบันดาลใจดังกล่าวมาแสดงให้เห็นถึงการถวิลหาสุนทรียะในยุคสมัยก่อนโดยมีภาพลักษณ์ของปกแผ่นเสียงเป็นดุจสะพานที่พาดผ่านกาลเวลา ภาพเหมือนนักร้องในอดีตที่มีชื่อเสียงถูกจัดวางเป็นจุดเด่นของภาพ (เช่น เอื้อ สุนทรสนาน สุรพล สมบัติเจริญ ทูล ทองใจ และสุเทพ วงศ์กำแหง เป็นต้น) โดยมีพื้นหลังเป็นเสมือนภาพระนาบ 2 มิติที่สื่อไปถึงอารมณ์ของบทเพลงของนักร้องคนนั้นๆ พิชิตสื่อภาพแทนของนักร้องด้วยภาพเหมือน (icon) และสื่อไปถึงเพลงของนักร้องนั้นผ่านภาพนามธรรมพื้นหลังที่เป็นพื้นที่จินตนาการที่ไม่แสดงความเหมือนจริง (symbol) ลักษณะโทนสีที่ไม่สดใสแต่กลับงดงามราวภาพฝันที่กำลังเลือนราง ทว่าให้ความรู้สึกที่นุ่มละไมคล้ายกับเสียงเพลงจากแผ่นเสียงลอยละล่องมาตามสายลมเอื่อยๆ
            แม้ว่านิทรรศการนี้จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ ของพิชิต ตั้งเจริญ แต่ก็เชื่อได้ว่าในอนาคตผลงานในชุดนี้น่าจะมีจำนวนที่มากขึ้นและถูกนำไปจัดแสดงให้สาธารณชนได้ดูได้ชมกันในวงกว้าง ทั้งนี้ภาพจิตรกรรมของเขายังทำให้หวนไปนึกถึงสมัยที่บ้านยังสวย เมืองยังงาม เพลงยังไพเราะ ซึ่งโลกอดีตอาจเป็นยุคสมัยในอุดมคติเมื่อถูกเปรียบเทียบกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโลกปัจจุบัน แต่บางครั้งมนุษย์เราก็ต้องการคิดถึงอดีตบ้างเพื่อให้เราได้รู้ว่า เราคือใคร เรามาจากไหน และเราควรทำอะไรบ้างในปัจจุบันเพื่ออนาคตจะเป็นโลกที่สงบสุขและงดงามตามอุดมคติบ้าง (แม้ความเป็นอุดมคติอาจจะไม่ใช่โลกของความเป็นจริงก็ตาม)




 
นิทรรศการจิตรกรรม "เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชิต ตั้งเจริญ ณ ร้าน Rider Records ถนนราชพฤกษ์ ช่วงตลิ่งชัน ในวันที่ 27 มิถุนายน 2558 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
 

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Lose (สูญและเสีย) จิตรกรรมแห่งความเศร้า

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
E-mail: jumpsuri@gmail.com , Facebook:https://www.facebook.com/suriya.chaya


 
เรื่องราวของความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่คลุมเครือมาตลอด คนส่วนใหญ่สามารถที่จะวิเคราะห์เรื่องราวไปต่างๆ นานา ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถทราบความจริงได้ว่า เหตุผลที่แท้จริงของความไม่สงบนั้นเกิดด้วยสาเหตุอะไรกันแน่ ในขณะเดียวกันเมื่อเรื่องราวของความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยถูกถ่ายทอดไปในสื่อที่แตกต่างกันก็ย่อมมีมุมมองของผู้ผลิตสื่อซึ่งก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไปด้วย
งานจิตรกรรมถือเป็นการสื่อสารด้วยภาพนิ่งที่เป็นภาพแทนความอันถูกถ่ายทอดผ่านทัศนธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นสัญญะ แต่ละสัญญะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์การสื่อความหมายตรงและความหมายแฝง ซึ่งในผลงานจิตรกรรมที่แสดงนิทรรศการชุด " Lose" ของศิลปินหนุ่ม “เทวพร ใหม่คงแก้ว” เป็นผลงานที่ต้องการสื่อสารถึงทัศนคติของศิลปินที่กำลังอธิบายถึงสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านภาพเชิงเสมือนและสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การถอดรหัสความหมายที่แฝงอยู่ภายใต้ระนาบของจิตรกรรม
ศิลปินใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบในการสร้างรูปร่างของบุคคลที่ถูกปกคลุมไปด้วยควัน ใบหน้าที่ถูกเผาไหม้ และผ้าคลุมหน้าที่อาจจะนำไปสู่ความหมายของผ้าห่อศพ ศิลปินต้องการที่จะไม่แสดงอัตลักษณ์ของภาพบุคคลแต่ละภาพผ่านการแสดงใบหน้า แต่ใช้สัญลักษณ์ของเครื่องแต่งกาย วัสดุที่เกี่ยวข้อง และนกมาเป็นมาเป็นตัวสารที่ผู้ชมงานต้องถอดความหมายที่ปรากฏ ซึ่งผู้ชมไม่เพียงพิจารณาผลงานในแง่ของความสมบูรณ์ของเทคนิคที่สมบูรณ์และรูปแบบที่จัดวางภาพได้ตามหลักองค์ประกอบทางศิลปะที่ลงตัวเท่านั้น หากแต่ยังต้องแปลสัญลักษณ์ให้เกิดเป็นชุดความหมายหนึ่งขึ้นมา ซึ่งศิลปินเองก็ใช้สัญลักษณ์ที่ไม่ยากเกินการตีความนัก
ศิลปินใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ของเครื่องแต่งกายที่สื่อถึงทหาร ครู และนักเรียน ที่ถูกผ้าคลุมหรือมีควันปรกจนทำให้ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าบุคคลในภาพคือใคร ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเสียชีวิตของคนเหล่านี้รายวันหรือรายสัปดาห์ที่เมื่อปรากฏเป็นข่าวอยู่เพียงไม่กี่วันก็ถูกลืมเลือนไป พวกเขาไม่ได้ถูกพูดถึงในฐานะของตัวพวกเขาเอง แต่ถูกแทนค่าเป็นผู้บาดเจ็บหรือแม้กระทั่งผู้เสียชีวิต โดยบางครั้งเป็นเสมือนบุคคลนิรนามภายใต้บริบทของเรื่องเล่าที่มีรายละเอียดมากมายในฐานะของการเป็นข่าว ไม่เพียงเท่านั้น ใช่หรือไม่ว่าผู้ลงมือในการทำร้ายบุคคลเหล่านี้ก็คงไม่เห็นว่าบุคคลเหล่านี้คือใคร มีวิถีชีวิตอย่างไร ทำประโยชน์อย่างไรต่อสังคมโดยรวม เพราะหากเป็นเช่นนั้น ผู้ที่เป็นมือสังหารก็คงมีจิตที่ไม่หยาบช้าจนถึงกับต้องสังหารสิ่งมีชีวิตที่เป็นสายพันธุ์เดียวกับพวกเขา ในขณะที่นกที่ปรากฏในภาพเป็นภาพแทนไปถึงความเป็นวิถีชีวิตของชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นิยมในการเลี้ยงนกอันเป็นวิถีชีวิตที่มีมาแต่เดิม
ผลงานจิตรกรรมในชุดนี้จึงเสมือนบทกวีที่แสดงถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่หนึ่ง ซึ่งอาจเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา หรือแม้แต่วัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ถึงอย่างไรก็ตามมนุษย์เราทุกชาติทุกภาษาก็มิควรใช้ชุดความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งในการที่จะทำลายร้างชีวิตเพื่อมนุษย์ด้วยกันเพียงเพื่ออุดมการณ์บางอย่างอันเป็นมายาคติที่ถูกแต่งแต้มขึ้น สุดท้ายแล้ว เมื่อมนุษย์ต้องทำลายกันเองก็ควรตั้งคำถามด้วยว่า “แล้วมนุษย์จะอยู่กับใครและจะอยู่ไปเพื่ออะไร”



(นิทรรศการ: Lose โดย  เทวพร  ใหม่คงแก้ว แสดงระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน    11 กรกฎาคม 2558  ณ นัมเบอร์วันแกลอรี่ อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย ชั้น 4 กรุงเทพมหานคร)

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Installation ศิลปะประเภทอิสตอลเลชั่น (ศิลปะจัดวาง)

เรียบเรียงข้อมูลโดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

ในงานศิลปะประเภทอิสตอลเลชั่น (ศิลปะจัดวาง) ศิลปินจำนวนไม่น้อยใช้วัสดุและกรรมวิธีการทางศิลปะ ผสมผสานกันเรียกว่า Mixed Media Installation[1]

ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น คืองานศิลปะที่สามารถสร้างในพื้นที่เฉพาะเจาะจง (Site-Specific Installation) หรือเป็นพื้นที่แห่งไหนก็ได้ พื้นที่ดังกล่าวจะต้องถูกสร้างหรือแปรสภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของงานซึ่งมีความหมายแตกต่างไปจากเดิม ศิลปินที่ทำงานในแนวนี้จะไม่นำสิ่งต่างๆ มาจัดวางในพื้นที่เพียงเพื่อความสวยงามหรือความเหมาะสม แต่เป็นการสร้างพื้นที่ขึ้นใหม่ตามกรรมวิธีเทคนิคหรือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุเหลือใช้ วัสดุสำเร็จรูป งานจิตรกรรม ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ประติมากรรมหรืองานวาดเส้น มาสร้างสรรค์ให้เป็นงานศิลปะตามความคิด อารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการของศิลปิน ศิลปะในรูปแบบนี้สามารถสร้างกับพื้นที่หลากชนิด อาทิเช่น บนผนัง เพดาน พื้น หรืออาจจะเป็นพื้นที่ที่เป็นก้อง มุมหนึ่งมุมใดของตัวอาคาร ผู้ดูสามารถเดินเข้าไปในงานเพื่อสัมผัสกับความคิดของศิลปินหรืออาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานได้ด้วยเช่นกัน[2]

ศิลปะอินสตอลเลชั่นเริ่มเป็นที่รู้จังในแวดวงศิลปะของไทย เมื่อครั้งที่ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินที่ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาหลายสิบปี ได้นำผลงานของเขาในช่วงระยะเวลาสิบปีในอเมริกา พ.ศ. 2513-2523 มาแสดงเดียว ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2523...พื้นที่ห้องแสดงงานได้ถูกแปรสภาพให้เป็นงานศิลปะในลักษณะ 3 มิติ ผู้ชมสามารถเดินดูได้โดยรอบ แต่เนื่องจากว่างานชิ้นนี้ของกมลเป็นสิ่งที่แปลกและใหม่เกินไปสำหรับคนไทยในช่วงเวลานั้น รูปแบบของงานดังกล่าวที่ปรากฏ ซึ่งจัดได้ว่า เป็นศิลปะอิสตอลเลชั่นประเภทหนึ่ง จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนัก[3]

สำหรับในส่วนของศิลปะ การมีส่วนร่วมและการต่อต้านได้แสดงออกมาในศิลปะการติดตั้ง (installation art) ศิลปะแนวสถานการณ์เทศะศิลปะ (site-specific art) ศิลปะที่ไม่ได้ปรากฏร่างอยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ และแกลเลอรี เป็นต้น ศิลปะในแนวทางนี้ เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในทศวรรษ 1970 จนกระทั่งทศวรรษ 1980 ศิลปะในแนวทางดังกล่าวจึงได้กลายเป็นกระแสที่มีชีวิตและจิตใจเป็นของตัวเอง[4]

ศิลปะติดตั้ง (installation art) จึงเป็นเพียงการจับสิ่งแปลกปลอมวางลงไปในพื้นที่ของฝูงชนที่ไม่คุ้นเคยกับผลงานศิลปะ ทั้งนี้ภายใต้ความไม่ชัดเจนและอะไรก็เป็นศิลปะไปเสียหมด ก็ทำให้ผู้คนกลับรู้สึกคุ้นเคยกับวัสดุข้าวของที่กลับกลายมาเป็นศิลปะ ในโลกของศิลปะ สิ่งที่คุ้นเคยจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ศิลปะในสภาวะสมัยใหม่จึงเป็นกระบวนการของการทำลายความคุ้นเคย (defamiliarization) เพราะในที่สุดแล้ว ทั้งผู้คนและศิลปะต่างก็เป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นดังนั้นนั้นวัตถุศิลปะนั้นก็สูญสลายตัวเองไปกับฝูงชน[5]
การทำงานศิลปะติดตั้ง (installation) อันเป็นศิลปะที่ต้องใช้พื้นที่นอกเหนือไปจากสถาบันศิลปะเท่านั้น เท่ากับว่า เป็นการประกาศให้เห็นถึงการมีศิลปะแบบใหม่ของศิลปินรุ่นใหม่และชนชั้นใหม่ๆ ที่เคลื่อนตัวขึ้นมาในโครงสร้างของชนชั้นหลังจากการขยายตัวของระบบการศึกษาที่มีไว้เพื่อตอบสนองแรงงาน นี่ถือได้ว่าเป็นการประกาศอัตลักษณ์แบบใหม่ที่สามารถขยายตัวไปได้ทุกหนแห่ง อัตลักษณ์ที่สามารถจะดึงสรรพสิ่งต่างๆ ให้เข้ามารวมตัวเป็นศิลปะ[6]



[1] สมพร รอดบุญ, อันเนื่องมาจาก Mixed Media” ใน สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53, 140.
[2] สมพร รอดบุญ, ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น (Installation Art)   ใน สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 54, ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4-28 กันยายน 2551 และ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์  ระหว่างวันที่ 4 กันยายน - 26 ตุลาคม 2551  (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551), 145.
[3] สมพร รอดบุญ, ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น (Installation Art)   ใน สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 54, 147.
[4] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่” ใน ศิลปะกับภาวะสมัยใหม่: ความขัดแย้งและความลักลั่น (กรุงเทพ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552), 147.
[5] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่” ใน ศิลปะกับภาวะสมัยใหม่: ความขัดแย้งและความลักลั่น (กรุงเทพ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552), 153.
[6] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่” ใน ศิลปะกับภาวะสมัยใหม่: ความขัดแย้งและความลักลั่น (กรุงเทพ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552), 166-167.

"ความเหมือนจริง" ในนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 4 หัวข้อ สมเด็จพระเทพฯ ของชาวไทย”

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม )
 

 
 จากที่ได้เข้าไปชมนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 4 หัวข้อ สมเด็จพระเทพฯ ของชาวไทย” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

 พบว่าผลงานจิตรกรรมส่วนใหญ่จะนำเสนอภาพของ “ความเหมือน” มากกว่ารูปแบบอื่นๆ ภาพที่ดูเหมือนจริงนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ในการแสดงออกในแบบเดียวกันกับภาพถ่ายด้วยกล้อง แต่ความเหมือนจริงที่ปรากฏเป็นการแสดงคำอธิบายด้วยภาพที่เน้นไปที่การตีความง่ายๆ ศิลปินส่วนใหญ่จึงเลือกการสร้างสรรค์ผลงานที่อยู่ในรูปของผลงานแบบเหมือนจริง (realistic) โดยแสดงสาระของพื้นผิวและมิติลวงที่ปรากฏบนระนาบ 2 มิติ


“ความเหมือนจริง” อยู่คู่กับการสร้างงานจิตรกรรมมาอย่างยาวนาน โดย“ความเหมือนจริง” ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านทักษะชั้นสูงของศิลปิน 


 แต่เมื่อยุคสมัยกล้องถ่ายภาพเกิดขึ้น ความเหมือนจริงของจิตรกรรมจึงมีความหมายที่เปลี่ยนไป จิตรกรรมจึงทำหน้าที่สื่อสารความคิด (concept) มากกว่าการสื่อแค่ความเหมือนจริง 


 แต่ความเหมือนจริงในภาพจิตรกรรมนั้นจึงมิใช่เพื่อให้เหมือน “ความจริง” แต่เป็นการแทนความหมายความจริง (representation) เพื่อให้ผู้ดูได้ตีความหมายได้ง่ายและสามารถเข้าถึงสารัตถะของจิตรกรรมที่สร้างมิติลวงตาผ่านทฤษฎีทัศนียวิทยา (perspective)


หรือกล่าวได้ว่า… จิตรกรรมแนวเหมือนจริงทำหน้าที่ในการแทนความหมายของความจริง แต่ในความเป็นจริงนั้นมิใช่ความจริงตามที่ตาเห็น แต่เป้นความจริงที่ “ศิลปินต้องการให้ผู้ดูได้เห็นอะไร” ต่างหาก