วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Lose (สูญและเสีย) จิตรกรรมแห่งความเศร้า

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
E-mail: jumpsuri@gmail.com , Facebook:https://www.facebook.com/suriya.chaya


 
เรื่องราวของความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่คลุมเครือมาตลอด คนส่วนใหญ่สามารถที่จะวิเคราะห์เรื่องราวไปต่างๆ นานา ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถทราบความจริงได้ว่า เหตุผลที่แท้จริงของความไม่สงบนั้นเกิดด้วยสาเหตุอะไรกันแน่ ในขณะเดียวกันเมื่อเรื่องราวของความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยถูกถ่ายทอดไปในสื่อที่แตกต่างกันก็ย่อมมีมุมมองของผู้ผลิตสื่อซึ่งก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไปด้วย
งานจิตรกรรมถือเป็นการสื่อสารด้วยภาพนิ่งที่เป็นภาพแทนความอันถูกถ่ายทอดผ่านทัศนธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นสัญญะ แต่ละสัญญะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์การสื่อความหมายตรงและความหมายแฝง ซึ่งในผลงานจิตรกรรมที่แสดงนิทรรศการชุด " Lose" ของศิลปินหนุ่ม “เทวพร ใหม่คงแก้ว” เป็นผลงานที่ต้องการสื่อสารถึงทัศนคติของศิลปินที่กำลังอธิบายถึงสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านภาพเชิงเสมือนและสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การถอดรหัสความหมายที่แฝงอยู่ภายใต้ระนาบของจิตรกรรม
ศิลปินใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบในการสร้างรูปร่างของบุคคลที่ถูกปกคลุมไปด้วยควัน ใบหน้าที่ถูกเผาไหม้ และผ้าคลุมหน้าที่อาจจะนำไปสู่ความหมายของผ้าห่อศพ ศิลปินต้องการที่จะไม่แสดงอัตลักษณ์ของภาพบุคคลแต่ละภาพผ่านการแสดงใบหน้า แต่ใช้สัญลักษณ์ของเครื่องแต่งกาย วัสดุที่เกี่ยวข้อง และนกมาเป็นมาเป็นตัวสารที่ผู้ชมงานต้องถอดความหมายที่ปรากฏ ซึ่งผู้ชมไม่เพียงพิจารณาผลงานในแง่ของความสมบูรณ์ของเทคนิคที่สมบูรณ์และรูปแบบที่จัดวางภาพได้ตามหลักองค์ประกอบทางศิลปะที่ลงตัวเท่านั้น หากแต่ยังต้องแปลสัญลักษณ์ให้เกิดเป็นชุดความหมายหนึ่งขึ้นมา ซึ่งศิลปินเองก็ใช้สัญลักษณ์ที่ไม่ยากเกินการตีความนัก
ศิลปินใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ของเครื่องแต่งกายที่สื่อถึงทหาร ครู และนักเรียน ที่ถูกผ้าคลุมหรือมีควันปรกจนทำให้ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าบุคคลในภาพคือใคร ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเสียชีวิตของคนเหล่านี้รายวันหรือรายสัปดาห์ที่เมื่อปรากฏเป็นข่าวอยู่เพียงไม่กี่วันก็ถูกลืมเลือนไป พวกเขาไม่ได้ถูกพูดถึงในฐานะของตัวพวกเขาเอง แต่ถูกแทนค่าเป็นผู้บาดเจ็บหรือแม้กระทั่งผู้เสียชีวิต โดยบางครั้งเป็นเสมือนบุคคลนิรนามภายใต้บริบทของเรื่องเล่าที่มีรายละเอียดมากมายในฐานะของการเป็นข่าว ไม่เพียงเท่านั้น ใช่หรือไม่ว่าผู้ลงมือในการทำร้ายบุคคลเหล่านี้ก็คงไม่เห็นว่าบุคคลเหล่านี้คือใคร มีวิถีชีวิตอย่างไร ทำประโยชน์อย่างไรต่อสังคมโดยรวม เพราะหากเป็นเช่นนั้น ผู้ที่เป็นมือสังหารก็คงมีจิตที่ไม่หยาบช้าจนถึงกับต้องสังหารสิ่งมีชีวิตที่เป็นสายพันธุ์เดียวกับพวกเขา ในขณะที่นกที่ปรากฏในภาพเป็นภาพแทนไปถึงความเป็นวิถีชีวิตของชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นิยมในการเลี้ยงนกอันเป็นวิถีชีวิตที่มีมาแต่เดิม
ผลงานจิตรกรรมในชุดนี้จึงเสมือนบทกวีที่แสดงถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่หนึ่ง ซึ่งอาจเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา หรือแม้แต่วัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ถึงอย่างไรก็ตามมนุษย์เราทุกชาติทุกภาษาก็มิควรใช้ชุดความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งในการที่จะทำลายร้างชีวิตเพื่อมนุษย์ด้วยกันเพียงเพื่ออุดมการณ์บางอย่างอันเป็นมายาคติที่ถูกแต่งแต้มขึ้น สุดท้ายแล้ว เมื่อมนุษย์ต้องทำลายกันเองก็ควรตั้งคำถามด้วยว่า “แล้วมนุษย์จะอยู่กับใครและจะอยู่ไปเพื่ออะไร”



(นิทรรศการ: Lose โดย  เทวพร  ใหม่คงแก้ว แสดงระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน    11 กรกฎาคม 2558  ณ นัมเบอร์วันแกลอรี่ อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย ชั้น 4 กรุงเทพมหานคร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น