วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

ทางเดินเที่ยวสั้นๆในวันสบายๆ

โดย : สุริยะ ฉายะเจริญ

คงไม่ใช่เรื่องแปลกนักหากจะกล่าวว่าวันหยุดธรรมดา 1 วันใน 1 สัปดาห์เป็นวันที่มีค่าสำหรับคนทำงานเป็นอย่างยิ่ง หลายคนใช้เวลาในวันเดียวกันนี้ในการชำระสะสางงานบ้านที่ทำได้ไม่เต็มที่ตลอด 6 วันทำงานที่ผ่านมา หลายคนอาศัยนิวาสสถานเป็นที่พักผ่อนอย่างสบายอารมณ์ และอีกหลายคนเดินออกนอกที่พักส่วนตัวไปสูดอากาศภายนอกที่ไม่ใช่ที่ทำงานประจำทุกวัน ผมคงเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตในวันหยุดในประเภทท้ายนั้นแหละ

หลังจากจัดการภาระงานบ้านภายในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ พร้อมกับอาหารในมื้อสายๆ ผมนั่งรถเมล์ประจำทางไปลงละแวกศาลาว่าการกรุงเทพฯ ซึ่งแถบนั้นเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของเรา ไม่เพียงแต่ศาลาว่าการฯและลานคนเมืองเท่านั้น หากแต่ยังมีเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า และวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร


ผมเดินข้ามจากฝั่งศาลาว่าการเข้าไปสู่วัดสุทัศน์ฯ วัดใจกลางเมืองอันเป็นสถานที่สถิตพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่ใหญ่ที่สุดในนาม พระศรีศากยมุนี

ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ไม่มากไม่น้อยเกินไปย่อมไม่ทำให้วัดสุทัศน์วุ่นวายหรือเงียบเหงานัก สิ่งแรกที่ผมก้าวข้ามเข้าไปในเขตของบริเวณพระวิหาร คือการเดินประทักษิณไปตามทางระเบียงคดที่ประดับไปด้วยพระพุทธรูปในรูปแบบสุโขทัยอยู่เต็มไปหมด แต่ทั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นพระพุทธรูปเก่าหรือไม่ และในวันนี้ผมก็ไม่ได้สนใจความเป็นมาประวัติศาสตร์อะไรมากมาย ถึงกระนั้นก็ได้เดินรอบระเบียงคดจนครบหนึ่งรอบ ซึ่งตลอดการเดินรอบทำให้มองพระวิหารในหลากหลายแง่มุม แต่ละเหลี่ยมมุมก็มีรายละเอียดที่ทำให้เราปล่อยใจไปกับจินตนาการได้ไม่รู้จบ

หลังจากนั้นจึงขึ้นไปสักการะพระประธานที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งแห่งรัตนโกสินทร์อันมีนามว่า พระศรีศากยมุนี ซึ่งตามประวัติแล้วรัชกาลที่ 1 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ได้ชะลอทางแม่น้ำมาจากวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย และขึ้น ณ ท่าช้าง ถนนหน้าพระลาน ในคราวนั้นมีเรื่องเล่าว่าต้องทุบทำลายกำแพงพระนคร เพื่อจะนำพระพุทธรูปขนาดมหึมาเข้าสู่ในเมืองหลวง ซึ่งเรื่องเล่านี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย แต่ก็คงให้ท่านผู้อ่านคงต้องไปสืบเสาะเอาเอง ผมคงบอกเล่าแบบผิว ๆ เพื่อให้น้ำลายแห่งความอยากรู้ของคุณ ๆ ได้ไหลกันเล่น ๆ
เมื่อได้เข้าไปสู่ภายในวิหารใหญ่ที่ประทับของพระประธาน ผมทำใจสงบบรรจงกราบพระพุทธรูปที่งดงามสีทองเปล่งปลั่งด้วยอาการสำรวม ทุกคนที่ก้าวข้ามธรณีประตูวิหารล้วนต้องสยบต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า แม้ว่าไม่กี่เมตรจากทางหน้าวิหารจะมีรถยนต์แล่นกันขวักไขว่ แต่ภายในวิหารกับพบความสงบอย่างประหลาด หรือว่าแท้ที่จริง ความสงบคือเรื่องประหลาดสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์มักไม่ค่อยเห็นคุณค่าของความสงบ

นอกจากพระประธานแล้วสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือบานประตูไม้แกะสลักปิดทองที่มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง ผมจำไม่ได้ว่าใช่บานประตูนี้หรือไม่ที่ รัชกาลที่ 2 แห่งราชจักรีวงศ์ เป็นผู้รังสรรค์ขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตาม นับว่าฝีมือในการแกะสลักเป็นระดับเทวดาโดยแท้

ความอลังการของจิตรกรรมฝาผนังที่นี่มีอยู่ทั่วทุกซอกทุกมุมในมหาวิหาร รูปแบบจิตรกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ที่นี่นับว่าไม่เป็นรองที่อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ผมไม่ได้ลงลึกศึกษาว่ามีการวาดขึ้นในสมัยใด แต่ดูแบบผิวเผินแล้วคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังที่วิหารพระนอนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ อย่างไรก็ตามก็นับว่าที่สิ่งปรากฏในวิหาร คือ ศิลปะชั้นครูที่น่าศึกษายิ่งสำหรับผู้ที่สนใจศิลปะไทย
วัดสุทัศน์ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น รูปแบบแผนผังของวัดที่ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาศิลปะสมัยใหม่ไทยได้การันตีว่าดีที่สุด และเรื่องราวอีกมากมายซึ่งมีความสัมพันธ์กันกับ เสาชิงช้า และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์อีกด้วย

หลังจากนั้นผมออกจากวัดสุทัศน์ฯและเดินไปตามถนนดินสอ ผ่านเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และศาลาว่าการกรุงเทพฯ ตลอดเส้นทางนี้มีร้านของกินที่มากมายน่าเข้าไปชิม ไม่ว่าจะเป็นร้านติ่มซำโบราณ ร้านก๋วยเตี๋ยว สูตรดั้งเดิม ข้าวมันไก่ ข้าวหน้าเป็น ตลอดไปจนถึงร้านกาแฟและเบเกอรี่ก็มี ซึ่งถ้าผมไม่ได้อิ่มด้วยอาหารมื้อสายแล้วก็คงต้องแวะลิ้มลองดูสักร้าน

เดินตามทางไปจนทะลุไปถึงถนนราชดำเนินกลาง โดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดดเด่นอยู่เบื้องหน้า ผมเดินเลี้ยวซ้ายไปไม่ไกลก็ถึงร้านหนังสือริมขอบฟ้า ซึ่งสำหรับนักอ่านทั้งหลายก็คงรู้ว่าที่นี้เป็นร้านหนังสือในเครือสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ดังนั้นร้านนี้จึงอุดมไปด้วยหนังสือที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศให้เลือกสรร หลายเล่มยังมีการลดราคาเนื่องจากเป็นหนังสือที่ค้างมานาน แต่โดยตัวเนื้อหาก็ยังใช้ได้อยู่ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบหนังสือในแนวดังกล่าว ผมเชื่อว่าที่นี่มีให้เลือกเกือบทุกเล่มเท่าที่ท่านต้องการ

เมื่อดูหนังสือจนอิ่มตาอิ่มใจแล้วก็เดินย้อนไปตามถนนราชดำเนินกลางจนถึงบริเวณลานลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ก็เดินข้ามถนนไปหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ซึงตั้งอยู่บนหัวมุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ที่นี่เป็นอาคารหอศิลป์ที่ดัดแปลงมาจากอาคารสำนักงานธนาคารกรุงเทพเก่า มีการแสดงนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนตลอดเวลา ผมใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในการชมงานศิลปะข้างใน จากนั้นออกมาทางด้านซ้ายไปสู่ร้านกาแฟของหอศิลป์ ซึ่งเมื่อเข้าไปนั่งในร้านมองออกไปทางถนนจะเห็นภาพมุมกว้างของถนนราชดำเนินกลางจรดมาถึงบริเวณสะพานผ่านฟ้า ด้านหน้าคือ ป้อมมหากาฬ (ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 ป้อมโบราณของกรุงเทพฯที่ยังเหลืออยู่ อีกแห่งคือป้อมพระสุเมรุ) อีกทั้งมองเห็นภูเขาทองทางด้านซ้ายบน และด้านขวาจะมองเห็นโลหะปราสาทแห่งวัดราชนัดดาอีกด้วย ซึ่งหากท่านมานั่งละเลียดเครื่องดื่มเบา ๆ ที่นี่ นอกจากรับสุนทรียะทางรสชาติของเครื่องดื่มกรุ่นๆแล้วยังสัมผัสทิวทัศน์ที่น่าดูน่าชมอีกแห่งในกรุงเทพฯอีกด้วย

หลังจากใช้เวลาในร้านกาแฟสักระยะ ผมข้ามถนนราชดำเนินกลางกลับไปสู่ด้านลานพลับพลาฯ และเดินเข้าไปสู่โลหะปราสาท

เนื่องจากช่วงนี้มีนิทรรศการเกี่ยวกับโลหะปราสาท ทางวัดราชนัดดาจึงเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมโลหะปราสาทอย่างใกล้ๆ ทำให้มีผู้คนมากมายทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าไปชื่นชมสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นแห่งนี้ ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มาเยือนโลหะปราสาท ทั้งๆที่ผ่านไปผ่านมาอยู่บ่อยครั้ง และผมก็ไม่ทราบว่าถ้าไม่มีนนี้ ทางวัดจะเปิดให้เข้าชมหรือไม่

โครงสร้างภายในโลหะปราสาทมีการก่อสร้างเป็นซอกเล็ก ๆ นับไม่ถ้วน เป็นโครงสร้างที่ล้อไปกับยอดปราสาทเบื้องบน ซึ่งสร้างขึ้นจากโลหะธาตุ โดยจำนวนของยอดปราสาทและลักษณะสถาปัตยกรรมโดยรวมมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับทางพุทธธรรม (ซึ่งตรงนี้ผมเองก็ยอมรับว่าไม่ได้ลงลึกรายละเอียดเป็นพิเศษ จึงขอละในส่วนสาระความเป็นมาของที่นี่ไว้ด้วย)

โลหะปราสาทสร้างเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไป ซึ่งเมื่อผมเดินมาสู่จุดศูนย์กลางก็พบบันไดวนที่สร้างขึ้นเพื่อเดินขึ้นไปสู่ด้านบน ตลอดทางที่เดินขึ้นไปมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา และชาวต่างชาติมากมายเดินขึ้นลงกันด้วยความสุข เนื่องด้วยบนยอดกลางสูงสุดของโลหะปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ทุก ๆ คนที่เดินขึ้นไปก็จะได้มีโอกาสสักการะสิ่งแทนพระพุทธองค์ด้วยความศรัทธา สิ่งดังกล่าวนำความปีติมาเยือนหัวใจของผู้ที่ได้สัมผัส ดังนั้นผมเห็นไม่ว่าใครเดินลงมาพร้อมกับหน้าตาที่ดูอมทุกข์เลย




หลังจากลงมาจากโลหะปราสาทเดินออกมาสู่ถนนราชดำเนินกลางเพื่อเตรียมตัวกลับที่พัก โดยบริเวณไม่ไกลกันนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารนิทัศน์รัตนโกสินทร์ อันเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งใหม่ที่น่าสนใจอีกแห่ง ซึ่งผมเองก็ยังไม่เคยได้เข้าไปเยี่ยมชม แต่สำหรับวันนี้ผมคงอิ่มตาอิ่มใจพอแล้วสำหรับวันสบาย ๆ

ผมหวังว่าการใช้ชีวิตวันหยุดแบบง่าย ๆ กับสถานที่ ๆ เราคุ้นเคย ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดูน่าเบื่ออะไร มันอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะเก็บรายละเอียดอะไรบ้างกับรายทางที่แต่ละคนพบเจอ...

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

“ของที่เคยกับสิ่งที่เป็น”


ผมพบตัวเองอาศัยเงามืดของซอกลืบแห่งความรู้สึกเป็นที่หลบภัยในยามที่ตัวเองรู้สึกพ่ายแพ้ ในห้วงแห่งความท้อแท้ผมพึ่งพิงสุราเป็นน้ำทิพย์คอยปลอบหัวใจที่ไม่สามารถเป็นไม้เท้าชันกายให้ลุกขึ้นสู้ได้ บางครั้งผมต้องก้มหน้าเพื่อมิให้ผู้ใดต้องพานพบกับรอยธาราอันแห้งบนสองเนินแก้ม บางครั้งผมต้องเงยหน้าเพื่อมิอาจให้ผู้ใดต้องเห็นดวงตาอันชุ่มแดงมาอย่างผู้ปราชัย


แน่หละ! ผมอายทั้งเวิ้งฟ้า และแผ่นปฐพี


ผมเคยรู้สึกแปลกแยกจากสรรพสิ่งเพียงเพราะไร้ที่พักพิงหัวใจที่เปียกชุ่ม พยายามไล่ตะลุยอ่านตำราต่างๆเพื่อค้นหาความหมายของลมหายใจที่ค่อยๆ หลุดลอยไปแต่ละวันๆ แต่แล้วก็พบเพียงความหมายอันว่างเปล่า ทว่ากลับยิ่งปลุกเร้าให้อยากรู้สรรพสิ่ง


หลายครั้งผมปลีกตัวจากเสียงสนทนาของมิตรสหายเพียงเพื่อต้องการหาเสียงเจรจาของตัวเอง


บางครั้งผมพึ่งพิงสุราเพียงหาความบันเทิงแบบโลกีย์ แต่สุดท้ายกลับรู้สึกถูกโบยตีจากสิ่งที่เรียกว่า ความละอายต่อตนเอง


บนบาทวิถีที่ทอดยาวไปบนถนนที่จอแจขนาบคู่ไปกับเส้นทางจราจร เราไม่สามารถหาความเงียบสงบได้ หากแม้เข้าสู่พงไพรหัวใจไม่หยุดนิ่ง ก็ย่อมพบบางสิ่งที่มีสำเนียงเย้ยหยันให้ตนเองต้องพรั่นพรึง อย่างไรก็ตามหากแรงกระเพื่อมของจิตใจเต็มไปด้วยความสงบเย็น ต่อให้เครื่องยนต์อยู่ไม่ไกล แม้ลมหายใจก็ไม่สั่นสะเทือน


ผมเคยพบตัวเองอาศัยเงามืดของซอกลืบแห่งความรู้สึกเป็นที่หลบภัยในยามที่ตัวเองรู้สึกพ่ายแพ้ แต่ต่อมาผมกลับมิค่อยใยดีกับความรู้สึกใดๆ เสียงก่นด่า ดูถูก เย้ยหยัน ฉับพลันเป็นเพียงกระแสสายลมที่พัดพาความเงียบนิ่งมาสัมผัสกายใจแต่เพียงเบาบาง


ในห้วงขณะแห่งความท้อแท้ ผมค้นพบ และร่วมสนทนากับมันราวกับสหายร่วมชีวิตที่คุ้นชิน


ผมเคยรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกทิ้งอยู่กับความทรงจำอันเจ็บปวด ความพ่ายแพ้ที่น่าอดสู และประสบการณ์ที่ตนเองเป็นเพียงตัวประกอบ บัดนี้ผมกลับไปค้นหาความรู้สึกดังกล่าวที่คล้ายเงาในอดีต แต่กลับพบเพียงความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไร


วันเวลาได้พาผมไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่ต่างไปจากวิถีเก่าๆ อยู่บ้าง สิ่งเหล่านี้ได้คอยขัดเกลาความรู้สึกที่เคยถูกกดทับให้ค่อยๆ คลายออกมา ราวกับยกหินออกจากพุ่มหญ้า ใบหญ้าที่เคยมีแต่สีแห้งกรักก็ค่อยๆ รักษาตนเองให้เป็นสีสดขจี และค่อยๆ ยืดตัวเองขึ้นสู่กลางอากาศ


ผมเป็นเพียงต้นหญ้าที่มิใยดีในดอกไม้ในกระถางสักเท่าใดนัก แน่หละผมมิเคยได้รับน้ำจากผู้ดูแล ไม่ได้ถูกประดับบนกระถางที่ประดับลวดลายอลังการ อีกทั้งมิได้ถูกนำไปประกอบเป็นจุดเด่นในยามที่ศิลปินบรรจุมวลพฤษภาไว้ในภาพจิตรกรรม แต่ต้นหญ้ากลับไม่เคยตายอย่างง่ายๆ ตายแล้วก็เกิดใหม่อย่างรวดเร็ว เพราะผมเป็นเพียงงต้นหญ้าที่ขึ้นได้อย่างอิสระ ไม่เหมือนดอกไม้ที่นับวันก็ต้องถูกตัดและแช่น้ำยาอาบศพเพียงเพื่อให้มนุษย์เอาไปปักไว้ในแจกันหรู ทว่าไร้วิญญาณ...ดังนั้น ผมจึงไม่รู้สึกอะไร!


สุริยะ ฉายะเจริญ, กรกฎาคม 2553.

เรื่องเล่าของมนุษย์ในผลงานปรมาจารย์เอ็กเพรสชั่นนิสม์ไทย

เรื่องราวของมนุษย์นับเป็นสิ่งที่ถูกจารึกอย่างท่วมท้นตลอดห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ของโลก มนุษย์ชาติศึกษาตัวเองตลอดเวลานับตั้งแต่เริ่มเผ่าพันธุ์มา ไม่ว่ากาลเวลาจะก้าวข้ามไปสู่ยุคสมัยใดก็ตาม มนุษย์เองก็ยังคงคุ้นเคยกับความเป็นมนุษย์ได้ดีกว่าธรรมชาติอื่นๆในพิภพ ทว่าในความจริงแล้ว มนุษย์เราหาได้เรียนรู้ตนเองอย่างถ่องแท้ไม่ พวกเรายังคงแสวงหาโลกอุดมคติที่ไม่เคยมี และจะไม่มีวันค้นพบตราบใดที่มนุษย์ยังคงไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ของตนเอง

เรื่องราวต่างๆของมนุษย์ได้ถูกบรรจุอยู่ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทัศนศิลป์ วรรณกรรม ดนตรี และนาฏกรรม ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ย่อมเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า เรื่องราวของมนุษย์นับเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการที่มนุษย์เองจะสรรสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นก็สร้างขึ้นก็เพื่อตอบสนองคุณค่าทางกายและทางใจแก่มนุษย์เอง และมนุษย์ก็หวังว่าสุดท้ายสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะนำไปสู่สภาวะในอุดมคติที่มนุษย์เฝ้าคิดฝันถึงตลอดเวลา

เมื่อกล่าวในทางทัศนศิลป์จะเห็นว่า เรื่องของมนุษย์ได้แทรกซึมอยู่ในผลงานศิลปะอยู่ตลอด ทั้งโดยตัวของแนวคิดอันแยบคายและรูปแบบการนำเสนอที่โจ่งแจ้ง ความเป็นปัจเจกภาพในการแสดงออกอาจถูกถ่ายทอดออกมาในภาพลักษณ์ของสากลภาพของมนุษย์ แต่จะแสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะด้วยใบหน้าและร่างกาย เช่น ผลงานจิตรกรรมภาพเหมือนครึ่งตัวหรือเต็มตัว ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการแสดงภาพมนุษย์อย่างมีรูปลักษณ์ที่ตรงไปตรงมา


ภาพที่ 1 “The Starry Night” (1889) โดย Vincent van Gogh
ขนาด 73.7 x 92.1 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ, Museum of Modern Art, New York City 1

บางครั้งศิลปินก็ได้แสดงเรื่องราวของมนุษย์ในเชิงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองลงในผลงานศิลปะ ผลงานในลักษณะนี้ถึงแม้ว่าหลายครั้งจะไม่ปรากฏภาพลักษณ์ของมนุษย์ แต่อาจจะเป็นภาพทิวทัศน์ (Landscape) หรือภาพหุ่นนิ่ง (Still life) แต่กลับเต็มไปด้วยกลิ่นอายของอารมณ์ความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวศิลปินผู้ถ่ายทอด กรณีนี้เห็นได้ชัดจากผลงานจิตรกรรมของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (
Vincent van Gogh: 1853-1890) ศิลปินผู้มีผลงานที่ระอุแน่นไปด้วยอารมณ์ของฝีแปรงที่เคลื่อนไหวราวคลื่นสีน้ำมันแหวกว่ายอยู่บนผืนผ้าใบ (ภาพที่ 1) ผลงานในลักษณะแบบนี้เป็นการสำแดงความรู้สึกอันเป็นส่วนนามธรรมภายในของศิลปินสู่การแสดงออกเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นผลงานประเภทนี้จึงให้สุนทรียภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
ผลงานจิตรกรรมที่แสดงออกถึงความความชัดเจนของฝีแปรง ได้ถูกนำมาประกอบเข้ากับการแสดงเรื่องราวที่ดูเกี่ยวพันกับความสั่นสะเทือนของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่เข้มข้น ความเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณภายใน รวมไปถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองที่หนักหน่วง ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงออกทางศิลปะของศิลปินกลุ่มที่เรียกกันว่า พวกเอ็กเพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) พวกเขาได้มีการแสดงออก โดยเผยถึงทัศนธาตุ (Visual Elements) ที่เจนจัดชัดเจน มีการสร้างฝีแปรงที่ดูรุนแรงและฉับไว สร้างพื้นผิวที่หยาบ หรือแม้แต่ใช้สีจัดที่แสบความรู้สึก ศิลปินบางคนในกลุ่มนี้ได้นำแนวคิดด้านมืดของสังคมมาสร้างเป็นผลงานขึ้นเพื่อสื่อสะท้อนถึงเรื่องราวอีกด้านของโลกที่มิใช่มีเพียง เงินทอง ยศตำแหน่ง การยกยอสรรเสริญ และความสุข อันโล่งเบา แต่พวกเขาต้องการเผยให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังคงมีความยากจน ความขัดแย้ง ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง และราคะจริต


ภาพที่ 2 “Storm troops advancing under Gas” (1924)
โดย Otto Dix, etching and aquatint

ในผลงานของศิลปินกลุ่มเอกซ์เพรสชั่นนิสม์อย่าง มักซ์ เบ็คมัน (Max Beckmann) ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) (ภาพที่ 2) และ กีออร์ก กรอสซ์ (George Grosz) ได้แสดงผลงานออกมาในเชิงวิพากษ์สังคมอย่างน่าสนใจ ผลงานของพวกเขามักนำเสนอภาพลักษณ์ในด้านมืดของสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา ผลงานเหล่านี้จึงมิได้มุ่งเน้นในเรื่องสุนทรียภาพทางความงามภายนอก แต่กลับกระตุ้นความรู้สึกของผู้ดูให้ตระหนักถึงความเป็นจริงของโลก ที่มิใช่การเพ้อฝันอย่างงานจิตรกรรมที่เน้นอุดมคติทางความงามเพียงฝ่ายเดียว ผลงานในลักษณะนี้นอกจากจะตีแผ่สภาวะที่เป็นจริงของโลกธรรมแล้ว ยังเสริมความรู้สึกให้กับภาพด้วยการใช้ทัศนธาตุที่ดูรุนแรง ทว่ายังคงมีการจัดองค์ประกอบที่คล้ายกับฉากละครเวที ซึ่งทำให้ภาพที่ปรากฏเป็นเสมือนการได้ชมละครประเภทโศกนาฏกรรมของชนชั้นกลาง ที่มีตัวเอกไม่ใช่เจ้าชายหรือเจ้าหญิง ศัตรูมิใช่ปิศาจหรือเทพเจ้า หากแต่เป็นบุคคลชนชั้นธรรมดาที่พบได้ในสังคมทั่วไป

สำหรับวงการศิลปะในประเทศไทย ได้มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะประเภทเอกซ์เพรสชั่นนิสม์มาตลอด ศิลปินตั้งแต่ยุคแรกเริ่มสถาปนาศิลปะสมัยใหม่ไทยหลายท่านก็ล้วนเคยสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางดังกล่าวมาบ้าง เช่น สุเชาว์ ศิษย์คเณศ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแนวทางการสร้างสรรค์ในลักษณะนี้มักไม่ค่อยมีวิวัฒนาการเป็นขบวนการอย่างชัดเจนนักในวงการศิลปะของไทย นั้นอาจจะเป็นเพราะความประนีประนอมอันเป็นลักษณะที่ดีงามของสังคมไทย ได้ถ่ายทอดออกมาในงานที่มีรูปแบบประณีตและการันตีว่า งานที่ดีมักเป็นรูปแบบเรียบร้อยไม่ขัดแย้งกับหลักการของสถาบันศิลปะและอำนาจรัฐ แต่ไม่ว่าปัจจัยใดๆก็ตามมิอาจเป็นข้อสรุปที่เด่นชัดถึงพัฒนาการในแนวทางดังกล่าว


ภาพที่ 3 “ธง: พฤษภาคม 2535 หมายเลข 2” (พ.ศ. 2535)
โดย กัญญา เจริญศุภกุล, ขนาด 90 x 160 ซม. เทคนิคจิตรกรรม

ถึงกระนั้นก็ตาม มิใช่ว่าแนวทางศิลปะที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกในแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์จะไม่ปรากฏในประเทศไทย นั้นเพราะแท้ที่จริงศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงานในลักษณะนี้มีอยู่มากมาย ทว่าสิ่งที่ยึดโยงศิลปะแนวนี้มักตีคลุมอยู่ในแวดวงของศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและประเด็นทางสังคมเสียเป็นส่วนมาก ดังเช่นผลงานชุด “ธงชาติเดือนพฤษภาคม 2535” ของ กัญญา เจริญศุภกุล (ภาพที่ 3) ที่มีรูปลักษณ์ก้ำกึ่งระหว่างศิลปะนามธรรม (Abstract) และกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract) ทว่าแท้ที่จริงกลับแสดงออกในเชิงอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างมีพลัง ทั้งนี้เนื่องด้วยศิลปินได้ปาดป้ายสีลงบนผืนผ้าใบอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดร่องรอยที่รุนแรงกระตุ้นสายตา ประกอบกับการใช้สีที่เนื่องด้วยสัญลักษณ์ธงชาติซึ่งกระตุ้นความรู้สึกถึงประเด็นทางการเมืองได้อย่างเด่นชัด อีกทั้งเนื้อหายังยึดโยงเข้ากับความเข้มข้นทางสังคมและการเมือง ณ ห้วงเวลานั้น โดยสรุปแล้วผลงานในชุดนี้ถือเป็นผลงานจิตรกรรมที่แสดงออกในท่าทีแบบแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ได้อย่างน่าประทับใจเป็นอย่างมาก


ภาพที่ 4 “ผลิตในประเทศไทย” (พ.ศ. 2537)
โดย วสันต์ สิทธิเขตต์, ขนาด 189 x 108 x 5.5 ซม. สีอคริลิคบนไม้

วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นศิลปินอีกคนที่มีรูปแบบการแสดงออกในเชิงประชดประชันทางสังคมและการเมืองมาตลอด (ภาพที่ 4) ผลงานของเขาไม่เพียงแต่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อผู้ดูเท่านั้น แต่ยังถูกจดจำโดยประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ วสันต์มีผลงานจิตรกรรมในรูปแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ที่ดูดิบเถื่อน การแสดงออกในทางทัศนธาตุเต็มไปด้วยความรุนแรงและหยาบกระด้าง ควบคู่ไปกับเนื้อหาที่บริภาษสังคมอย่างตรงไปตรงมา เขาเป็นศิลปินนักกิจกรรมที่อาศัยเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยในการสร้างผลงานในรูปแบบของตัวเองได้อย่างโดดเด่น ซึ่งกล่าวได้ว่า หากคิดถึงศิลปินที่สร้าง สรรค์ในแนววิพากษ์วิจารณ์สังคมแล้ว วสันต์นับเป็นชื่อแรกๆที่ผู้ติดตามวงการศิลปะต้องเอ่ยถึงอยู่เสมอ

แต่หากจะกล่าวถึงศิลปินไทยที่สร้างสรรค์ผลงานรูปแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ และเต็มไปด้วยประเด็นทางสังคมในระดับปรมาจารย์แล้ว ทวี รัชนีกร ย่อมนับเป็นอันดับหนึ่งที่อยู่บนหิ้งเกียรติยศในวงการศิลปะร่วมสมัยไทย (ภาพที่ 5)
ภาพที่ 5 ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ

ปัจจุบัน ทวี รัชนีกร คือศิลปินชราผู้ไม่เคยพบผมหงอกอันขาวโพลนในงานศิลปะของเขา ผลงานทุกชิ้นล้วนมิได้แสดงถึงความเป็นผู้เฒ่า กลับยังคงกู่ก้องและประกาศกร้าวอย่างมีพลังอยู่เสมอ ด้านหนึ่งเขาคืออาจารย์ของลูกศิษย์รุ่นใหญ่รุ่นน้อยแห่งศิลปินกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านหนึ่งเขาเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค ซึ่งหากนับศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์แล้ว เขาเป็นศิลปินเพียงคนเดียวที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมมาตลอดชีวิต

ประวัติชีวิตอันโลดโผนของ ทวี รัชนีกร ควบคู่กับประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยยุคแห่งการแสวงหาเสรีภาพ กลายเป็นตำนานที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของผู้ติดตามวงการศิลปะของไทย หากศึกษาจากอัตชีวประวัติของเขา จะพบว่าประสบการณ์ต่างๆในชีวิตเป็นแรงดลใจที่สำคัญในการวิเคราะห์และนำไปสู่การสังเคราะห์ประเด็นทางสังคมออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ได้อยู่ตลอดเวลา

ผลงานของ ทวี รัชนีกร ที่ปรากฏสู่สาธารณะทุกๆครั้งตั้งแต่อดีต มักแสดงออกถึงฝีแปรงอันทรงพลังและมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวได้ราวกับการดิ้นรนของเปลวเพลิง ตัวอย่างที่ชัดเจนในผลงานระยะต้น คือผลงานจิตรกรรมชื่อ “ต้นไม้” ที่ได้รางวัลเหรียญเงินประเภทจิตรกรรม จากเวทีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เมื่อปี พ.ศ. 2503 (ภาพที่ 6)

ภาพที่ 6 “ต้นไม้” (พ.ศ. 2503) โดย ทวี รัชนีกร
ขนาด 76 x 101.5 ซม., สีน้ำมันบนผ้าใบ

ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นมากในแง่การแสดงอารมณ์ความรู้สึกของภาพ สีสันในแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) อันแพรวพราวซึ่งเป็นแนวทางที่นิยมในช่วงเวลาก่อนหน้ามิได้ปรากฏอยู่บนผืนผ้าใบ แต่กลับเน้นความเคลื่อนไหวของเส้นให้ลื่นไหลไปอย่างมีชีวิตชีวา แม้ในภาพจะไม่แสดงสีสันที่เป็นแบบเหมือนจริงตามที่ตาเห็น ทว่าฝีแปรงที่บิดเกลียวกิ่งของต้นไม้และใบไม้ที่ดูราวกับสั่นไหวสะบัดย่อมทำให้ผลงานชิ้นนี้ไม่ใช่เพียงคราบปื้นสีเท่านั้น หากแต่เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตจริงและเคลื่อนไหวในจินตภาพซึ่งสิงสถิตอยู่บนผืนผ้าใบดุจสนามแห่งความรู้สึก ผลงานชิ้นนี้ได้แสดงความรู้สึกของศิลปินผ่านความฉับไวและหยาบกระด้างของฝีแปรง ศิลปินได้แทรกปรัชญาของมนุษย์ผ่านรูปลักษณ์ของต้นไม้อย่างแยบคาย นั้นคือความมีชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องมีการดิ้นรนและแสวงหาเพื่อไปสู่หมุดหมายของวิถีชีวิตที่ดีที่สุด

หลังจากนั้น ทวี รัชนีกร ก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมื่อห้วงชีวิตก้าวสู่การเป็นอาจารย์ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็มิได้ทำให้หัวใจการสร้างสรรค์ของเขาต้องเชื่องช้าหรือล่าถอยลงแต่อย่างใด เพราะการที่เขาได้ไปอยู่ยังดินแดนภาคภูธรที่มีสิ่งแวดล้อมต่างจากเมืองหลวง ปัญหาทางสังคมในสมัยนั้นก็ย่อมซึมซับเข้าสู่จิตใจของเขาอย่างไม่ยาก สิ่งต่างๆที่คุกรุ่นอยู่ภายในถูกถ่ายทอดมาเป็นผลงานศิลปะชิ้นแล้วชิ้นเล่าอย่างมากมาย ทว่าด้วยปัจจัยทางการเงินที่มีอยู่จำกัด และไม่คิดว่ามีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องเก็บผลงานไว้ทุกชิ้น เพราะเขาเห็นว่าการสร้างผลงานแต่ละชิ้นเป็นการระบายอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้น มิได้คิดถึงอามิสสินจ้าใดๆ ดังนั้นเขาจึงเขียนรูปลงบนผ้าใบทับซ้อนรูปเดิมกันไปหลายครั้ง ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้ผลงานในยุคเก่าของเขาหาดูหาชมได้จำนวนน้อยกว่าที่เคยสร้างไว้

ภาพที่ 7 “ในสังคมแห่งความหวาดกลัว” (พ.ศ. 2520) ไม่ทราบขนาด, สีน้ำมันบนผ้าใบ

ในห้วงความเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทวีได้รับผลกระทบมากมายทั้งทางร่างกาย นั้นคือถูกขังคุกและถูกตรวจสอบจากฝ่ายผู้มีอำนาจสมัยนั้น ทำให้อิสรภาพหลายๆอย่างในชีวิตต้องเปลี่ยนไป เขาต้องดำรงตนมิให้เป็นที่จับตามองจากฝ่ายรัฐนัก เพราะสังเกตได้ว่านักศึกษาและประชาชนที่เคลื่อนไหวภาคประชาชนหลายคนต่างก็ถูกข่มขู่ ตามล่า หนีเข้าป่า กระทั่งเสียชีวิตอย่างไม่รู้สาเหตุ ทว่าในด้านของจิตใจเขากลับปวดร้าวลึกอยู่เพียงลำพัง สภาพการที่มิอาจเอื้ออำนวยให้เป็นไปอย่างอิสระเสรี ทำให้เขาต้องสร้างสรรค์ผลงานตามปรารถนาอย่างไม่สะดวกนัก แต่ผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ในยุคนี้กลับแสดงออกถึงความคับอกคับใจของเขาเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นผลงานจิตรกรรมชื่อ “ในสังคมแห่งความหวาดกลัว” (ภาพที่ 7) เป็นผลงานที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่รุนแรงที่ออกมาในรูปของฝีแปรงอันกร้าวแกร่ง แต่แฝงไว้ด้วยความน่ากลัวของบางสิ่งบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในผืนผ้าใบอันหยาบหนานั้น ผลงานชิ้นนี้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกในเชิงเอกซ์เพรสชั่นนิสม์อย่างสุดขั่ว บางครั้งอาจจะเห็นเป็นภาพใบหน้าบุคคล บางคราวอาจมองเป็นภาพนามธรรม ผลงานนี้จึงเปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของห้วงอารมณ์ของสังคมที่ศิลปินได้ถ่ายทอดอย่างจริงใจและจริงจังจนน่าหวาดผวา

หลังจากนั้น ทวี รัชนีกร ก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเกี่ยวพันกับเรื่องราวของมนุษย์ ปัญหาสังคม และการเมือง ซึ่งเป็นแนวทางที่เขามีความสนใจมาโดยตลอด

ตราบจนห้วงปี พ.ศ. 2548 เขาได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และได้แสดงนิทรรศการเดี่ยว ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร การแสดงผลงานครั้งนั้นนับเป็นการประกาศการกลับมาสร้างสรรค์ศิลปะอย่างเต็มตัว แม้ร่างกายภายนอกจะนำพาเขาไปสู่ปฐมวัยแห่งชราภาพ แต่ผลงานของเขา ณ ห้วงเวลานั้น กลับแสดงออกดั่งชายฉกรรจ์ผู้มีจิตใจที่รักคุณธรรมและความจริง สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่า ยิ่งศิลปินชราขึ้น ผลงานศิลปะของเขากลับยิ่งดูหนุ่มแน่นคับคั่งด้วยอารมณ์อันทรงพลังอยู่ตลอดเวลา

ทวี รัชนีกร กลับมาสู่วงการศิลปะอีกครั้งในนิทรรศการครั้งล่าสุดเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 เขากลับมาด้วยบุคลิกอย่างเดิม ผมที่หงอกโพลนและเคราที่ขาวกระจ่างประดับอยู่รอบวงหน้าที่มีแววตาอันเด็ดเดี่ยวประดิษฐาน ร่างกายที่ทรงอยู่ได้ด้วยไม้เท่าอันเหยียดตรง กลับยืนขึ้นได้ด้วยจิตใจที่นิ่งสงบ ศิลปินชราในชุดดำดูนิ่งสงบราวกับประติมากรรมสำริดแต่การเคลื่อนไหวของร่างกายและบทสนทนากลับพบว่า ศิลปินเฒ่าผู้มีเครางามคือ ศิลปินผู้ทะนงคนเดิมผู้เติมไฟให้กับตนเองและผู้คนรอบข้างเสมอ

ในนิทรรศการครั้งนี้เขาได้นำผลงานชุดล่าสุดที่มีอยู่มากมายมาแสดง ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่น่าทึ่งคืนส่วนใหญ่ผลงานจิตรกรรมของเขามักไม่มีขนาดย่อมเยา ผู้ดูที่เข้าไปในหอศิลป์จะถูกล้อมด้วยจิตรกรรมขนาดมหึมา ซึ่งเป็นประดุจดังเครื่องวัดขนาดหัวใจของศิลปินชราผู้ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับการรอคอยของมหาชนผู้รักในศิลปะ

ภาพที่ 8 “ป่าสะแกราช” (พ.ศ. 2553) ขนาด 190 x 300 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ

ผลงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในนิทรรศการครั้งนี้คือผลงานชื่อ “ป่าสะแกราช” (ภาพที่ 8) ซึ่งเป็นผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์คุ้นหน้าคุ้นตา เมื่อผลงานชิ้นนี้ปรากฏหลายคนอาจจะนึกถึงผลงานที่ชื่อ “ต้นไม้” ที่ศิลปินเคยสร้างไว้ในอดีต อายุของผลงานทั้งสองชิ้นห่างกัน 50 ปี แต่ข้อแตกต่างในความคล้ายย่อมมีอยู่ นั้นคือในผลงานชื่อ “ต้นไม้” อันแสดงความกร้าวด้วยฝีแปรงที่เคลื่อนไหวอย่างดิบๆ กลับพบเพียงรอยฝีแปรงที่แน่นสงบประทับบนผลงาน “ป่าสะแกราช” ถึงแม้ว่าโครงสีของผลงานทั้งสองชิ้นจะมีความใกล้เคียงกันอย่างสูง แต่อารมณ์ของภาพกลับต่างกัน ในขณะที่ผลงานชิ้นเก่าแสดงความเคลื่อนไหวของต้นไม้อย่างเจนจัด ทว่าต้นไม้ในป่าสะแกราชยุคปัจจุบันกลับมีลักษณะเงียบสงบมากกว่า ถึงกระนั้นก็ยังสำแดงออกถึงความพลิ้วไหวของใบไม้ที่ยังให้ความรู้สึกดังงานชิ้นเก่า

จากผลงานชิ้นนี้ที่ปรากฏ ทำให้เห็นว่าศิลปินมิได้บังเอิญสร้างผลงานที่ดูแล้วคล้าย แต่กลับจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบตัวตน ว่ากาลเวลาหาได้กัดกินหัวใจของเขาไม่ ผู้ดูจะค้นพบความสงบของภาพ “ป่าสะแกราช” กว่าภาพ “ต้นไม้” ในยุคเก่า แต่กลับเป็นความนิ่งสงบที่แฝงไว้ด้วยพลังที่มิอาจมีใครกล่ำกรายเข้าไปในป่าฝีแปรงบนผ้าใบขนาดใหญ่ชิ้นนี้ได้อย่างไม่หวาดวิตก การแสดงออกของผลงานชิ้นนี้จึงเสมือนความจงใจของศิลปินที่จะเน้นย้ำให้ตนเองและสาธารณชนได้ตรวจสอบความเป็นตัวตนของเขาว่า แม้ห้วงเวลาจะก้าวล่วงนานถึง 50 ปี แต่พลังที่พวยพุ่งของเขากลับมิได้ลดลง แม้ไม่ก้าวร้าวเข้มแข็งเท่ากับผลงานเมื่อครั้งอดีต แต่กลับเข้มข้นและสุขุมคมคายอย่างมีมนต์เสน่ห์

นอกจากนี้ ผลงานในรูปแบบอันเนื่องเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและเสียดสีทางการเมืองอันเป็นแนวทางที่เด่นชัดของทวี ยังได้นำมาจัดแสดงอย่างมากมาย ทุกชิ้นแสดงออกในเชิงศิลปะแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างชัดเจนทั้งทางด้านรูปลักษณ์และแนวคิดก็ยังคงแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างน่าสนใจ



ภาพที่ 9 “หน้าตาพิลึก” (พ.ศ. 2550) ขนาด 345 x 520ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ

ในผลงานชื่อ “ขุมที่ 15 หน้าตาพิลึก” (ภาพที่ 9) เป็นผลงานจิตรกรรม 21 ชิ้น ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียงกันเต็มพื้นที่ผนังใหญ่ การติดตั้งผลงานบนพื้นที่ขนาดใหญ่นี้ก็ยิ่งเพิ่มพลังในการมองผลงานเป็นอย่างดี ผลงานแต่ละชิ้นอัดแน่นด้วยภาพใบหน้าอันแปลกประหลาด คล้ายหน้ากากในเทศการเฉลิมฉลองของเหล่าสัตว์นรก ศิลปินสร้างรูปร่างหน้าตาแต่ละภาพอย่างพิสดาร สร้างพื้นผิวด้วยริ้วรอยสีที่หยาบหนาให้อารมณ์แบบดิบเถื่อน แต่ละชิ้นใช้สีที่ดิบสดอย่างมีกำลัง รูปลักษณ์โดยร่วมทำให้ผู้ดูนึกถึงตัวกากในงานจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่มีใบหน้าแปลกประหลาดราวกับสวมหน้ากาก ดูน่าหวาดกลัว สะเทือนขวัญ

ศิลปินต้องการแสดงออกถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวในสังคมมนุษย์ อำนาจในฝ่ายต่ำของมนุษย์ได้ทูกซุกซ่อนอยู่ในใบหน้าแต่ละภาพอย่างดิบๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อำนาจ และอวิชชาต่างๆได้ปรากฏเป็นสัญลักษณ์ต่างๆในภาพ ศิลปินยังถ่ายทอดการเสียดสีในแวดวงการเมืองด้วยการนำใบหน้าของนักการเมืองมาเขียนลงในภาพด้วยวิธีการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา บางครั้งเมื่อเพ่งพินิจในผลงานแต่ละชิ้น จึงเสมือนผู้ดูส่องกระจกแห่งจิตวิญญาณที่เห็นสัญชาติญาณดิบของตนผ่านผลงานจิตรกรรมใบหน้าอันน่าสะพรึงเหล่านี้



ภาพที่ 10 “Dedicated to Oskar Panizza” (1917-1918)
โดย George Grosz ขนาด 140 x 110 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ

ผลงานชิ้นนี้ทำให้ต้องนึกภึงผลงานจิตรกรรมชื่อ “อุทิศให้กับออสการ์พานิซซา” (Dedicated to Oskar Panizza: 1917-1918) (ภาพที่ 10) ของ กีออร์ก กรอสซ์ (George Grosz: 1893-1959 ) ซึ่งลักษณะหน้าตาของผู้คนในภาพนี้มีรูปลักษณ์เสมือนใส่หน้ากาก ไม่แสดงภาพคนที่เหมือนจริง ซึ่งศิลปินต้องการแสดงออกถึงเรื่องราวปัญหาทางสังคมและการเมือง ผู้คนที่ดูราวกับใส่หน้ากากแสดงใบหน้าที่น่าเกลียดน่ากลัวดุจเดียวกับผลงานที่เพิ่งกล่าวของ ทวี รัชนีกร แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าทวีจะได้รับอิทธิพลโดยตรงจากผลงานของกรอสซ์แต่อย่างใด เพราะปัจจัยที่แท้จริงอยู่ที่ประเด็นทางสังคมที่เป็นเรื่องระหว่างผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ที่มีอยู่ทุกๆสังคม หน้ากากจึงเสมือนการเปรียบเทียบสังคมมนุษย์ที่มิได้เปิดเผยความจริงใจต่อกัน ทั้งสองศิลปินต่างนำสัญชาติญาณดิบมาห้ำหันกันโดยมิได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่หลงเหลือในความขัดแย้งจึงกลายเป็นปัญหาระดับมหาชน ซึ่งดำรงมาตั้งแต่มนุษยชาติเริ่มเกิดขึ้นและตลอดไปตราบนานเท่านาน สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือเป็นที่ยืนยันได้ระดับหนึ่งว่า ทวี มีแนวทางการแสดงออกทางศิลปะที่มีแนวคิดเดียวกับศิลปินเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ในโลกตะวันตก



ภาพที่ 11 “หีบสีเหลือง” (พ.ศ. 2548) ขนาด 130 x 130 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ

ในผลงานชื่อ “หีบสีเหลือง” (ภาพที่ 11) ปรากฏรูปใบหน้ามากมายถูกอัดแน่นอยู่ภายในกรอบของกล่องสีเหลือง เมื่อได้เห็นใบหน้าอันแปลกประหลาดเหล่านั้น ในเบื้อต้นอาจจะพาลไปคิดถึงใบหน้ามนุษย์ต่างดาว (Alien) แต่เมื่อพิจารณาสักพักจะเห็นว่าใบหน้าอันบิดเบี้ยวบางหน้าคล้ายกับใบหน้าที่กรีดร้องในผลงานชื่อ “เสียงกรีดร้อง” (The scream: 1893) (ภาพที่ 12) ของ เอดวาร์ด มุงค์ (Edvard Munch: 1863-1944) ซึ่งทำให้น่าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ทวีจงใจที่จะวาดใบหน้าในลักษณะคล้ายผลงาน “เสียงกรีดร้อง” ซึ่งใบหน้าดังกล่าวโด่งดังมากในศิลปะแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่บีบคั้นได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ การนำลักษณะใบหน้าบิดเบี้ยวดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่ยึดโยงความรู้สึกแบบ “เสียงกรีดร้อง” มาประทับลงในภาพ ก็เพื่อให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกภาวะในเชิงกดดันบีบคั้น แต่การถ่ายทอดออกมาโดยรวม กลับให้กลิ่นอายแบบ ทวี รัชนีกร ได้อย่างน่าชื่นชม

ภาพที่ 12 “The Scream” (1893)
โดย Edvard Munch ขนาด 91 x 74 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ


ภาพที่ 13 “นกอรหัน” (พ.ศ. 2553) ขนาด 80 x 100 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
ภาพที่ 14 “Self-Portrait as a Soldier” (1914-1915)
โดย Otto Dix ขนาด 68 x 53.5 ซม. , สีน้ำมันบนกระดาษ

แนวทางการแสดงออกทางอารมณ์รุนแรงอย่างตรงไปตรงมาแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ยังปรากฏในผลงานชุดนี้อีกหลายๆชิ้น ตัวอย่างอีกชิ้นคือ ผลงานชื่อ “นกอรหัน” (ภาพที่ 13) ซึ่งผู้ดูจะเห็นการปาดป้ายสีด้วยฝีแปรงหรืออาจจะเรียกว่าปาดเกรียงสีอย่างรวดเร็วทันทีทันใด ทุกรอยปาดป้ายสีเห็นถึงความมั่นอกมั่นใจของศิลปินที่ไม่จำเป็นต้องมานั่งแต่งแต้มอีกครั้งให้เกิดความประณีต แต่พึงแสดงออกอย่างดิบๆเพื่อผลทางสายตาและนำไปสู้ผลทางความรู้สึก ซึ่งผลงานชิ้นนี้ มีรูปลักษณ์ความรุนแรงและความฉับไวของการปาดป้ายฝีแปรงคล้ายกับผลงานชื่อ “ภาพเหมือนตัวเองเป็นทหาร” (Self-Portrait as a Soldier: 1914-1915) (ภาพที่ 14) ของ ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) ซึ่งมีทิศทางการปาดป้ายสีเป็นแนวเฉียงที่คล้ายกัน ต่างกันเพียงทิศทางที่ตรงกันข้ามเท่านั้น ความรุนแรงและเด่นชัดของสีปูดนูนจนกลายเป็นพื้นผิวที่หยาบทำให้ผลงานทั้งสองมีการสื่อสารทางทัศนธาตุที่ไม่ต่างกันนัก อีกทั้งโครงสีโดยรวมของทั้งสองภาพล้วนใช้สีสดดิบไม่มีการเจือให้เกิดความเบาบางในพลังของสีแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำให้เห็นถึงรสนิยมของทวีที่มีแนวทางการแสดงออกทางรูปลักษณ์ในเชิงเอกซ์เพรสชั่นนิสม์

ภาพโดยรวมทางด้านเนื้อหาในผลงานของ ทวี รัชนีกร ในผลงานชุดนี้หรือแม้แต่ชุดที่เคยสร้างสรรค์ในอดีตก็ตาม ล้วนมีแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับมนุษย์ สังคม และการเมือง อันเป็นเนื้อหาหลักที่ศิลปินกลุ่มเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ต่างก็แสดงออกเป็นผลงานศิลปะ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในกลุ่มเยอรมันเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (German Expressionism) แล้ว ก็นับได้ว่ามีแนวทางที่คล้ายกันกับผลงานของเขาเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ทั้งนั้นผลงานของทวี รัชนีกร กลับมิได้แสดงอาการด้อยคุณภาพ เนื่องจากได้รับอิทธิพลในแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์แต่อย่างใด แต่ผลงานของเขากลับยิ่งทวีคุณค่าด้วยความแน่วแน่ในแนวทางที่เขายึดมั่นสร้างสรรค์มาตลอดชีวิต หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ทวี รัชนีกร คือศิลปินแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ของไทยที่อยู่ในระดับปรมาจารย์ก็ว่าได้

สุดท้ายแล้วผลงานอันใหญ่โตและมีอยู่มากมายที่ศิลปินชราผู้มีเคราสีเงินเงางามได้รังสรรค์ไว้ในแผ่นดิน จึงเป็นเสมือนดังพงศาวดารที่วิพากษ์วิจารณ์อำนาจด้านมืดในตัวตนของมนุษย์ สื่อสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์แต่ละคนล้วนบ่มเพาะกิเลส ตัณหา และอุปาทานของตนอย่างไม่รู้ตัว มนุษย์ต่างเสพอวิชชาจนมืดมัวด้วยเงินทองและอำนาจอันจอมปลอมโดยมิได้สนใจโลกธรรมทั้งมวล ภาพลักษณ์อันประณีตงดงามของโลกย่อมเป็นสิ่งที่มนุษย์ล้วนปรารถนา ทว่าในความเป็นจริงมนุษย์กลับมิรักษาความงดงามและสันติ ภาพในเรือนกายและห้วงจิตวิญญาณภายในอันสูงส่งต่อกันและกัน มนุษย์ยังคงใช้อำนาจฝ่ายต่ำที่นอนเนื่องในสันดานเข้าปะทะกันอย่างหน้ามืดตามัว สุดท้ายเมื่อมนุษย์ทำลายล้างกัน หลังหมอกควันแห่งการห้ำหัน “มนุษย์นั้นจะหลงเหลืออะไร?”

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (jumpsuri@hotmail.com, 086-769-9532)

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คิดถึงอาจารย์ศิลป์















แง่งามในความจริง
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (พลเกิ้ง)


มนุษย์คนหนึ่งทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งที่ตนเชื่อ ยึดมั่นในความดีงามในวิถีของตนอย่างไม่เสื่อมสลาย กระทั่งพร้อมสลายความสุขสบายภายนอกเพื่อประกอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น สิ่งเหล่านี้มิใช่สิ่งที่เป็นปกติของผู้คนทั่วไป จะกระทำได้ ถึงกระนั้นวิถีแบบนี้ก็ไม่ใช่ระยะทางอันห่างไกลที่ปุถุชนคนหนึ่งจะก้าวย่างไปถึง
การจะกล่าวถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในแง่อุดมคติทางศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็สรรเสริญในองค์ความรู้ต่าง ๆ อันประกอบเป็นสร้างสรรค์ และวิชาการที่นำมาสั่งสอนลูกศิษย์ แต่ในแง่งามแห่งความเป็นมนุษย์กลับไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับท่านในมุมนี้เท่าไร
จากบทความทางศิลปะที่อาจารย์ศิลป์เขียนในวาระต่าง ๆ เป็นสิ่งที่การันตีถึงความกระจ่างในด้านวิชาการศิลปะของท่านเป็นอย่างสูง ซึ่งเมื่อได้ศึกษาหลักฐานทางวิชาการดังกล่าว จะเห็นว่าท่านไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการลอกเลียนแบบอย่างตะวันตก แต่ให้เรียนรู้เฉพาะเทคนิคและวิธีในการแสดงออกซึ่งในส่วนความรู้สึกทางจิตวิญญาณควรจะเป็นของเฉพาะตนเท่านั้น
จุดยืนดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานของลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์หลายคน ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เทียมเท่ากับนานาชาติได้
เมื่อศึกษาชีวิตของท่านจะเห็นว่า หากท่านยังคงอยู่ในโลกตะวันตกก็ย่อมจะมีชีวิตที่สุขสบายทั้งด้านชื่อเสียงและรายได้มากกว่าเป็นข้าราชการธรรมดาในประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินเดือนน้อยมากหากเทียบกับหน้าที่และการงาน แต่ท่านกลับยินดีที่จะเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นที่รักของศิษย์มากกว่าจะเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์มีผลงานชั้นเลิศและได้รับเกียรติยศอันเป็นฐานแห่งความสุขภายนอกสำหรับตน
สิ่งที่น่าสนใจคืออาจารย์ศิลป์เป็นชาวตะวันตก ดังนั้นวิถีต่าง ๆ ของท่านย่อมต่างจากชาวตะวันออก สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหากับท่านในการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจความลำบากนี้ กลับยังคงใช้ชีวิตปกติแบบชาวไทย ซึ่งไม่เหมือนคนไทยอีกหลายคนที่กลับทำตัวเลอเลิศเพริศความรู้กว่าคนอื่นทั้ง ๆ ที่ตัวเองกลับว่างเปล่าทางปัญญา
อาจารย์ศิลป์ไม่เคยสร้างงานศิลปะเพื่อชื่อเสียงหรืออามิสใด ๆ ในขณะที่ลูกศิษย์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างพะวงกับความสำเร็จในชีวิต ทั้งด้านรายได้และชื่อเสียงเกียรติยศ หรือเลยไปถึงศิลปินระดับชาติ แต่อาจารย์ศิลป์กลับต้องการครอบครัวที่อบอุ่นเล็ก ๆ พื้นที่ในการทำงานศิลปะที่ท่านรัก และลูกศิษย์ที่รักและศรัทธาในความรู้ที่ท่านได้ถ่ายทอดให้
ในขณะที่ลูกศิษย์หยิ่งผยองอุปโลกน์ตัวตนใหญ่เท่าภูเขา ไปไหนมาไหนมีอัตตาราวกับผู้วิเศษ ทว่าอาจารย์กลับสวมชุดสีกากีของข้าราชการธรรมดา ๆ และไม่เคยแสดงความอหังการกับผู้ใด ท่านยังคงปรารถนาให้ผลงานเป็นดั่งบทสนทนาระหว่างศิลปิน ศิลปะ และมหาชน
สรรพสิ่งที่ถูกหลอมรวมเป็นอาจารย์ศิลป์ คือความสมบูรณ์อีกรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ผู้ไม่ยอมให้อัตตากลืนกิน เป็นคนทำงานศิลปะที่อุดมไปด้วยความรู้และปรัชญาส่วนตัวที่น่านับถือ
หากศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ทั้งหลาย ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ กำลังแสวงหาอัตลักษณ์แห่งตน ก็คงไม่ต้องเสาะหาบุคคลใดที่ไกลตัวมาเป็นแบบอย่าง เพราะอาจารย์ศิลป์คือแบบอย่างคนทำงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว

วันผ่านเปลี่ยน
โดย: วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ)


“ลองมองไปที่สุดขอบฟ้าเหนือผิวทะเลที่ส่องประกายจะเห็นเงาลางๆ ลอยเลื่อนอยู่อยากโดดเดี่ยว นั้นคือ เรือซานต้า ลูเซีย “

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พุทธศักราช 2505 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นบนเรือ ซานต้า ลูเซีย กัปตันใหญ่ผู้ก่อร่างสร้างสมความดีงามได้ลาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ได้ฝากมรดกอันยิ่งใหญ่มหาสารให้ไว้แด่ศิษย์และประเทศชาติ
สายธารแห่งประวัติศาสตร์พัดพาทุกสิ่งเหลือเพียงคุณความดีที่ยังคงอยู่ วีรบุรุษผู้กล้าหาญทางการเมืองการสงครามมีมากมาย แต่วีรบุรุษผู้เสียสละในฐานะครูที่แท้จริงกำลังถูกลืม ความถ่อมตน เสียสละ และจริงใจให้ในการสอนอย่างไม่มีปิดบัง พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกเรื่อง ไม่ได้เป็นครูอาจารย์เฉพาะหน้าที่หรือในห้องเรียน ทุกสิ่งนี้มีเต็มเปี่ยมอยู่ในคนผู้นี้ เค้าคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บุคคลสำคัญที่เริ่มถูกมองข้าม กัปตันใหญ่แห่งเรือ ซานต้า ลูเซีย นาวาแห่งศิลปการศิลปากร
หลังจากวันแห่งความสูญเสียนั้น ความเงียบงันราวกับวันสิ้นโลกปกคลุมไปทั่วสถานที่แห่งนี้และในจิตใจของศิษย์ทุกคน ยังดีที่หลักธรรมแห่งความจริงได้สอนไว้ถึงความไม่เที่ยงอันเป็นธรรมดาของโลก มีเพียงสิ่งเดียวที่ตอบแทนคุณอาจารย์ได้คือสืบสานพัฒนาความตั้งใจและวิชาความรู้ที่อาจารย์มอบให้ไว้ต่อไป
หลังจากนั้นมรดกต่างๆที่อาจารย์มอบไว้ได้เดินทางผ่านวันปีแห่งเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆมากมายกัดกร่อนทำลายคุณค่าในอดีตจนเริ่มเลือนราง จากเรื่องจริงกลายเป็นประวัติศาสตร์เป็นตำนานเป็นเรื่องเล่าสุดท้ายเหลือเพียงเสียงลมที่พัดผ่าน ความยิ่งใหญ่แห่งอดีตกำลังถูกรื้อถอนด้วยปัจจุบัน อดีตถูกมองเป็นเพียงสิ่งคร่ำครึไร้ค่า โยนมรดกสำคัญทิ้งอย่างขยะที่ไร้ประโยชน์โดยหลงลืมว่าครั้งหนึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนมุ่งปรารถนาและเคยได้รับประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้รับสืบทอดต่อมาได้แต่กากเดนที่บิดเบือน เพราะการที่ต้องการก้าวเดินตามผู้อื่นทำให้เราหลงลืมสิ่งดีงามที่เรามีอยู่ ยิ่งวิ่งไล่ตามก็ยิ่งหลงทางมองไม่เห็นรอบข้างและตนเอง
ดังนั้นเราจึงควรหยุดวิ่งและลองมองพิจารณาตนเองมองให้เห็นความต่างพิเศษที่มี ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่มาแห่งสิ่งต่างๆและคุณค่าของอดีต ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบอดีตแต่เพียงนำมาปรับใช้หรือมองเห็นคุณค่า อดีตคือเหตุของปัจจุบันอนาคตคือผลของปัจจุบัน
การรู้คุณค่าของอดีตไม่จำเป็นว่าเราต้องมานุ่งโจงกระเบนห่มสไบ เพียงแค่ไม่ดูถูกอดีตซึ่งเปรียบเหมือนการดูถูกผู้มีพระคุณและบุพการีของตนก็พอ เนื่องจากขณะนี้ความลุ่มหลงบิดเบือน เริ่มแผ่ปกหลุมจึงอยากกระตุ้นเตือนให้ลองหันมาพิจารณาสิ่งอันทรงค่าที่เรามีอยู่ และบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่ควรนำเป็นแบบอย่างและเราไม่ควรลืมเลือน...
...อาจารย์ศิลป์ พีระศรี.

เนื่องในนิทรรศการคิดถึงอาจารย์ศิลป์
โดย: เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ (ลายเซ็นเซอร์)


…พอข้าพเจ้าได้ยินชื่อนิทรรศการครั้งนี้แล้วก็นึกถึงความหลังในอดีตใน สมัยที่เรียนศิลปากร โดยมหาวิยาลัย และคณะจะมีการจัดงานรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ในทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุก ๆ ปี เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ รวมไปถึง คณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาคณะอื่นๆทั่วทั้งมหาวิทยาลัย บุคคลภายนอกที่ อยากจะเข้ามาซึมซับบรรยากาศแบบพี่แบบน้องในรั้วศิลปากรท่านอาจารย์ที่เคย เรียนกับท่าน อาจารย์ศิลป์โดยตรง ก็จะมาเล่าประสบการณ์ ความประทับใจและ ความตั้งใจ นิสัยใจคอ และบรรยากาศการเรียน
ในสมัยนั้นหนุ่มอิตาเลียนนาม Corrado Feroci ได้เดินทางเข้ามารับราช การอยู่ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย เริ่มซึมซับศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีของไทย รักประเทศไทย และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ความสามารถให้แก่ลูกศิษย์ที่เริ่มศึกษาศิลปะในสมัยนั้นให้รู้จักคำว่าศิลปะสมัย ใหม่ โดยมิให้ลืมสิ่งสำคัญนั่นคือความเป็นไทย
บัดนี้ข้าพเจ้าและกลุ่มเพื่อนที่มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงงานในนิทรรศการที่ชื่อว่า “คิดถึงอาจารย์ศิลป์” พวกเราถือเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์รุ่นที่ 58 แม้จะมิได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้โดยตรง แต่ด้วยการหล่อหลอม ความรู้ ทัศนคติ ความมุ่งมั่น ด้วยรากฐานที่มั่นคงแห่งการสร้างสรรค์ และมองเห็นถึง ความงาม ความประณีตในวัฒนธรรมของตนเอง และวัฒนธรรมใหม่ที่ผสมปนเปเข้ามาจากการพัฒนาของประเทศผสมผสานและผ่านกาลเวลามายาวนานโดยกำเนิดความหวังทางศิลปะ จากรุ่นสู่รุ่นเป็นปึกแผ่นที่มั่นคง จนกลายเป็นคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ในปัจจุบัน
ในการแสดงงานครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นก้าวเล็ก ๆ เป็นเสมือนการรวมตัวทาง ความคิด ถึงแม้เพื่อนบางคนบางท่านมีภาระกิจมากมาย การสร้างสรรค์ผลงานใน แต่ละชิ้นไม่สะดวกดั่งเดิม แต่พวกเราที่มีโอกาศหรือพอที่จะมีเวลาสร้างสรรค์ก็ ถือเป็นความยินดี และเป็นสุขเมื่อได้ร่วมงานแลกเปลี่ยนความคิด เป็นครั้งคราว ด้วยความต่อเนื่อง เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของคำว่าศิลปะและเป็นก้าวที่เต็มไป ด้วยความระลึกถึง...

อาจารย์ศิลป์ ตัวผม และเวลา
โดย: ปรานต์ ชาญโลหะ (ดาวโหลด)


ผมไม่แน่ใจว่าได้รู้จักชื่ออาจารย์ศิลป์ตอนไหน ไม่แน่ใจว่ารู้จักก่อนหรือหลังชื่อของคณะจิตรกรรม แต่ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมได้เข้ามาในคณะจิตรกรรมนั้นเป็นวันอาจารย์ศิลป์ ภาพที่เห็นคือรูปเคารพขนาดเท่าคนจริงที่ดูเป็นกันเองกับผู้คนที่เข้ามาไหว้ทำความเคารพ บรรยากาศที่ดูอบอุ่นเต็มไปด้วยผู้คนที่แปลกๆ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่เล็กที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ครั้งนั้นทำให้ผมได้รู้จักและสัมผัสกับลานอาจารย์ศิลป์เล็กๆแห่งนี้ และเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไหว้ทำความเคารพรูปปั้นของท่าน
จากวันนั้นมาผมก็ใช้เวลาอีกหลายปีมาก กว่าจะได้เข้ามาไหว้รูปเคารพของท่านอย่างเต็มภาคภูมิ ก็คือวันที่ผมเข้ามาในฐานะน้องใหม่ของคณะจิตรกรรม แต่นั้นผมก็ได้ทำความเคารพรูปปั้นของท่านตลอดมา ทั้งบางครั้งบางเวลาที่อากาศสบายๆตรงฐานของรูปปั้นอาจารย์ก็ได้เป็นที่พักอาศัยเป็นที่นั่งเล่นพูดคุยกับเพื่อนๆ บางครั้งก็เป็นที่หลับนอนชั่วคราวยามเหนื่อยล้า
จวบจนเวลาผ่านไปผมเรียนจบทั้งชั้นปริญญาตรีและโท รวมเวลาเกือบ 9 ปีที่ผมอาศัยอยู่ในคณะจิตรกรรม ผมเห็นรูปเคารพของท่านยังคงอยู่เช่นเดิม ให้ความอบอุ่นสร้างความผูกพันกับศิษย์รุ่นหลานรุ่นเหลนไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าคณะจิตรกรรมจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยตามกระแสของโลกบริโภคนิยม แต่ท่านก็ยังคงเป็นอาจารย์ศิลป์ของทุกคน ท่านยืนอยู่ตรงนั้นแล้วบอกกับลูกศิษย์ทุกคนผ่านคำพูดที่บันทึกไว้ตรงฐานรูปปั้นของท่านว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ท่านพูดย้ำพูดซ้ำของท่านทุกวันทุกคืนยืนท้าแดดท้าลมผ่านฝนผ่านหนาวเพียงเพื่อบอกกับศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”
และวานนี้ผมมีโอกาสกลับเข้าไปในคณะจิตรกรรมอีกครั้ง อาจารย์ศิลป์ก็ยังคงยืนอยู่ที่เดิมท่ามกลางบรรยากาศที่เหงาจับใจ ผมยอมรับว่าไม่เคยเห็นคณะจิตรกรรมเงียบเหงาไร้ผู้คน ไร้ชีวิตชีวาแบบนี้มาก่อน ไม่มีคนอยู่ทำงานศิลปะ ไม่มีเสียงสนุกเฮฮาล้อมวงเหมือนที่เคยเป็น ไม่มีอาจารย์ ไม่มีรุ่นพี่ ไม่มีรุ่นน้อง ไม่มีป้าทำความสะอาด ไม่มีลุงยาม ไม่มีกระทั่งหมาสักตัวที่เคยเห็นและคุ้นเคย มีแต่โต๊ะอันว่างเปล่า มีแต่ตึกที่ถูกปิดไร้คนอาศัย มีเพียงเศษดอกไม้และใบไม้ที่ร่วงหล่นอย่างหนาแน่นรอบรูปเคารพของอาจารย์ศิลป์ ผมมองไปยังฐานของรูปปั้นเห็นคำว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” คำ ๆ นี้ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม แล้วได้ผุดขึ้นมาจากความทรงจำลึกๆก้องกังวานอยู่ในจิตใจนี้อีกครั้ง ผมไม่รู้ว่าเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจหรือหดหู่ใจกันแน่ ที่ผมได้กลับมาเห็น กลับมายืนอยู่ตรงนี้ที่ๆผมเคยอยู่ แล้วมองเห็นรอบรูปเคารพของท่าน มองเห็นลานอาจารย์ศิลป์ที่เคยผูกพันร้างลาจากผู้คน
ท้ายที่สุดนี้ผมอาจจะไม่เคยได้เห็นตัวจริงของอาจารย์ศิลป์ ไม่เคยได้ร่ำเรียนกับท่าน แถมตัวผมเองยังเป็นศิษย์รุ่นเหลนนอกรีดที่ไม่เชื่อในคำพูดหลายๆคำของท่านที่เกี่ยวกับศิลปะและชีวิต แต่ผมเชื่อในคุณค่าความดีงาม ความจริงใจในการทำงานและการสอนศิลปะของท่าน ผมเชื่อว่าอาจารย์ศิลป์คือมนุษย์ที่ควรค่าแก่การไหว้การเคารพของลูกศิษย์ทุกๆคน กรรมใดที่ผมประกอบขึ้นในฐานะของคนที่ทำงานศิลปะ เพียงเพื่อบำบัดทุกข์และค้นหาสัจจะของชีวิต กระทำขึ้นด้วยจิตอันบริสุทธิ์ปราศจากความทะเยอทะยาน คุณค่าความดีงามเพียงเล็กน้อยนี้ผมขออุทิศให้กับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ร่วงลับและกำลังจะเลือนหาย

วันวาน วันก่อน วันนี้
โดย: เจตนิพัทธ์ ธาตุไพบูลย์ (อ่อมทิพย์)


เมื่อวันวาน...
เก้าอี้ตัวยาวสีเขียวที่ผมและเพื่อนได้นั่งมองดูรูปปั้นฝรั่งที่ยืนสง่าอยู่หน้าลานของคณะจิตกรรมฯ พร้อมกับคำถามว่า “ฝรั่งคนนี้เป็นใคร ทำไมที่นี่ถึงมีอนุสาวรีย์ฝรั่ง?” นั่นเป็นการรู้จักท่านครั้งแรกพร้อมด้วยความโง่เขลา
เมื่อเข้ามาในสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง...
ผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็นศิษย์รุ่นที่ห้าสิบแปด ก็ยังนับว่าห่างไกลยิ่งที่จะได้มีโอกาส ร่ำเรียนและสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้เป็นจิตวิญญาณของศิลปะสถานแห่งนี้ ครั้งหนึ่งภายใต้จิตสำนึก ผม และเพื่อนๆกำลังนั่งเขียนรูปและคุยกันอยู่ข้างๆของอนุสาวรีย์ตรงหน้าลานคณะจิตรกรรมฯ จู่ๆก็มีชายคนหนึ่ง รูปร่างสันทัดท่าทางใจดี สวมเสื้อผ้าสีกากี เดินเข้ามาหยุดอยู่ตรงหน้า พร้อมกับพูดว่า...
“นายๆขยันๆ หน่อยสินาย อย่าขี้เกียจ”
ผมหันไปมองตามเสียงของชายผู้นั้นซึ่งเป็นบุคคลคนๆเดียวกันกับอนุสาวรีย์ “อาจารย์ศิลป์!!” ผมอุทานพลันตื่นขึ้นในเวลาเดียวกัน ด้วยความรู้สึกที่อบอุ่นเสมือนหนึ่งได้พบกับอาจารย์ศิลป์ในโลกแห่งความจริง ทำให้ผมยังคงสามารถจดจำเหตุการณ์ในคืนนั้นได้จนถึงทุกวันนี้
เมื่อวันนี้ยังดำเนินอยู่...
เก้าอี้ตัวยาวตัวเดิมสีเขียวหน้าคณะฯ ผมและเพื่อนก็ยังคงนั่งมองดูรูปปั้นของท่านอาจารย์ศิลป์ที่คุ้นตาด้วยความรู้สึกที่สำนึกในพระคุณของท่าน แม้ว่าจะไม่เคยได้พบหรือเรียนกับท่านครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม ทุกครั้งที่ทำงานศิลปะ ผมยังคงรู้สึกอบอุ่นประดุจว่า อาจารย์ศิลป์ท่านยังคงเฝ้ามองดูพวกเราเหล่าลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอ แม้ว่าตัวท่านจะจากไปนานแล้วก็ตาม

ด้วยความระลึกในพระคุณ.

งามไทยในเทศ
โดย: อนุรักษ์ ชัยคงสถิตย์ (เทอร่า)


“...ศิลปะสุโขทัยก่อรูปขึ้นเมื่อศิลปะสุโขทัยหันไปพิจารณาธรรมชาติอย่างถ้วนถี่ และศึกษาเพื่อที่จะคิดฝัน ทำแบบอย่างพระพุทธรูปอันงดงามในอุดมคติต่อไป คนไทยเข้าใจดีถึงคำว่าลอกเลียนแบบธรรมชาตินั้นมิใช่การสร้างสรรค์ศิลปะ ดังนี้จึงกล่าวได้ว่า งานสุโขทัยก่อกำเนิดขึ้นด้วยการเข้าใจธรรมชาติอย่างแจ่มแจ้งนั่นเอง...”
นี่คือทัศนะของ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีต่อศิลปะไทยสมัยสุโขทัย จะเห็นได้ว่าท่านนั้นมีทัศนะคติที่เปิดกว้างพร้อมทั้งยังเข้าใจในหัวใจของศิลปะไทยได้อย่างลึกซึ้ง อาจจะมากกว่าคนไทยหัวดำอย่างเราทั้งหลายด้วยซ้ำ หลายครั้งที่พวกเรามักจะลืมรากแห่งตนไปชั่วขณะ หลายคนหลงวัฒนธรรมตะวันตก หรือบางทีอาจเป็นเพราะรสชาติของบ้านเรานั้นมันไม่เร้าจิต จึงพยายามขวนขวายสรรหารสชาติแบบแปลกใหม่มาลิ้มลองกันแบบผิด ๆ ถูก ๆ
เราทั้งหลายคงทราบดีว่าท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คือฝรั่ง แต่การที่ท่านได้ย่างก้าวเข้ามาในสยามเรานั้น ท่านนำเอาศิลปะตะวันตกมาสู่ศิลปะไทยที่มีแบบแผนแบบดั้งเดิม ก่อให้เกิดผลยังความเปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปะในสยามประเทศเรา ท่านได้นำรสชาติศิลปะตะวันตกมาให้เรา ๆ นั้นได้ลิ้มลองและเข้าถึงรสนั้นได้อย่างถ่องแท้จนหลายคนแสดงออกได้ไม่แพ้ฝรั่งชาติใด พร้อมกันนั้นท่านก็เข้าถึงศิลปะไทย อย่างยากที่คนไทยทั้งหลายจะเข้าสัมผัสถึงเช่นกัน
ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวชมว่า
“...วัดสุทัศน์เป็นวัดที่มีแผนผังงามที่สุดของสถาปัตยกรรมไทยยุครัตนโกสินทร์นี้...”
เชื่อว่าเราอาจจะเคยผ่านเสาชิงช้า เข้าออกวัดสุทัศน์มาไม่มากก็น้อย แต่จะมีสักกี่คนที่เพ่งพินิจพิเคราะห์ออกมาได้อย่างท่าน เพราะวัดสุทัศน์นั้นได้วางแปลนแผนผังถอดแบบมาจากคติไตรภูมิล้วนๆ ซึ่งวัดสุทัศน์ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งสำคัญที่ใจกลางพระนครพอดี ตามคติโบราณแล้วควรเป็นที่ตั้งของพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ อันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล
เขตพุทธาวาสของวัดสุทัศน์ประกอบด้วยสองบริเวณหลักซึ่งได้รับการวางผังและจัดองค์ประกอบอย่างรอบคอบ ให้มีความสัมพันธ์กัน บริเวณแรกประกอบด้วยพระวิหารหลวงตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ล้อมรอบด้วยลานประทักษิณกว้างและพระระเบียง ส่วนอีกบริเวณหนึ่งมีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วตั้งขวางอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวงภายนอกพระระเบียงออกไป พระวิหารหลวงวางตัวตามแนวเหนือใต้ ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ตามแนวที่ตั้งได้ฉากกับแนวแกนของพระวิหารหลวงที่จุดกึ่งกลางพอดี และหันหน้าสู่ทิศตะวันออก ซึ่งเมื่อเรามองมุมตรงด้านหน้าวัดจากระยะไกล ๆ จะเห็นพระวิหารหลวงตั้งเด่นเป็นตระหง่านโดยล้อมรอบด้วยพระระเบียงลดหลั่นลงมาทั้งยังมีพระอุโบสถตั้งขวางเป็นฉากหลัง ส่งให้พระวิหารหลวงอวดทรวดทรงโอ่อ่าออกมาได้อย่างงดงามหาที่ใดเปรียบ
จากการเข้าใจในภูมิสถาปัตกรรมแบบไทยถึงขนาดจับจิตของคนต่างบ้านต่างเมืองอย่างอาจารย์ศิลป์นั้น นับว่าท่านไม่เคยหยุดที่จะลิ้มรสศิลปะทั้งยังเข้าถึงรสชาติแบบละเมียดเป็นที่สุด
“มนุษย์ยิ่งสามารถเข้าถึงเรื่องของจิตใจและพุทธิปัญญาได้มากเพียงใด วิญญาณของมนุษย์ก็จะยิ่งลอยพุ่งขึ้นไป ณ แดนบริสุทธิ์ได้สูงเพียงนั้น”
นี่คือคำจากบทความ “การเข้าถึงศิลปะ”ซึ่งเป็นของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เราคงไม่ต้องบรรยายว่าวิญญาณของท่านนั้นอยู่ ณ ที่แห่งใด.

อาจารย์ศิลป์ของผม
โดย: เรวัต รูปศรี (อามสตรอง)


...ก่อนที่จะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร
ผมเดินเข้ามาไหว้รูปปั้นที่หน้าคณะจิตรกรรม
โดยนำพวงมาลัยดอกมะลิมาสักการะ
ตอนนั้น...
ผมรู้แค่ว่า
รูปปั้นที่ยืนอยู่ตรงหน้าผมเป็นชาวฝรั่งที่เป็นคนก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบันผมจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
และทำงานศิลปะตามที่ อ.ศิลป์ได้กล่าวไว้ว่า
"ถ้านายคิดถึงฉัน นายทำงาน..."
ทุกวันสำคัญๆ
ผมยังนำพวงมาลัยดอกมะลิมาสักการะรูปปั้นชาวฝรั่ง
ที่ชื่อ...
อ.ศิลป์ พีระศรี

เรื่องศิลปะเฉพาะตัวของเรา
โดย: ฉายดนัย ศิริวงศ์ (มุขหอม)


ถ้าจะกล่าวถึงสถานบันสอนศิลปะใด เก่าแก่ และทรงคุณค่าในจิตใจ ของเราคงมีเพียง หนึ่ง เดียวคือ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีรากฐานที่ดีจากการวางไว้โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาเลียน ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ ทักษะทางศิลปะไว้อย่างเข้มข้นทั้งแนวความคิดและหลักการเรียนการสอนที่เป็น Academic
ส่งผลสืบทอดจาก อ.ศิลป์ จากรุ่นสู่รุ่นส่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ต่อลูกศิษย์มานานแสนนานจวบจนปัจจุบันการ และอีกยาวไกลในอนาคตเราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีสายเลือดของคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร อย่างเข้มข้น
ตั้งแต่เด็กก็ชอบศิลปะ จนกระทั่งเข้าเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์เพื่อฝึกฝนทักษะพื้นฐานของศิลปะในหลาย ๆ แขนงให้เข้าใจ สามารถทำงานศิลปะได้อย่างฝัน ความปรารถนาที่จะเข้าศึกษาด้านศิลปะคือ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ศึกษาเล่าเรียนจากอาจารย์ผู้สอนและได้ ฝึกฝน ความรู้ความคิด และการสร้างสรรค์ศิลปะจากระดับปริญญาตรีจวบตนปริญญาโท
ถ้าเปรียบเทียบถึงศิลปะคืออะไรใน ชีวิตตอบได้เลยว่าศิลปะคือส่วนหนึ่งในชีวิตเป็นเลือดเนื้อและเป็นความคิดส่วนสำคัญของร่างกายเราไปแล้ว.

สารแด่อาจารย์ศิลป์
โดย: ธนพันน์ มูลกันทา (เพียงเฮาหมู)


รูปปั้นที่ตระหง่านอย่างน่าเกรงขามในภาพอันอบอุ่นของกลุ่มชายหัวเกรียนกับกลุ่มผู้หญิงผมแปลก ถูกบันทึกรวมกันเมื่อครั้งวันแรกที่ได้ถูกยอมรับเป็นรุ่นน้องของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เมื่อปีพ.ศ. 2544 เป็นภาพแห่งความใฝ่ฝันกับความประทับใจเล็ก ๆ ที่ศิษย์รุ่นหลังมากอย่างผมได้มีเก็บไว้
กระทั่งเมื่อจบการศึกษา ลักษณะทางกายภาพของกลุ่มคนในภาพเปลี่ยนไป บางคนหายไป บางคนยืนนิ่งเนียนดั่งผู้สำเร็จการศึกษาพร้อมพวกพ้องทั้ง ๆ ที่ยัง...
แต่รูปปั้นด้านหลังไม่เปลี่ยนแปลงเลย น่าเกรงขาม และเปี่ยมศรัทธาจากคนหลายรุ่น...ท่านคือผู้ให้

มีเพียงคำบอกเล่ากับการศึกษาประวัติของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จากหนังสือที่ทำให้ผมรู้เรื่องราวเกี่ยวกับท่าน โดยเฉพาะหนังสือ "อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์" ของสำนักวิจัย ศิลป์ พีระศรี ที่ผมได้รับมา นับเป็นของขวัญที่สำคัญยิ่ง (สำหรับผมลำพังนักศึกษาปี 1 คงไม่มีปัญญาซื้อหนังสือเล่มละ 500 บาทมาเก็บไว้แน่ในตอนนั้น) เนื้อหาด้านในที่ผู้อาวุโสหลายท่านได้เขียนถึงความในใจ ความผูกพัน ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ช่างซาบซึ้งมาก คำพูด คำสั่งสอนของอาจารย์ศิลป์ ได้ถูกบันทึกไว้ผ่านความทรงจำ ผ่านการสอน ว่ากล่าวตักเตือนจากอาจารย์ รุ่นอาวุโส และปัจจุบัน เหมือนสารศักดิ์สิทธ์ที่ฝากไว้สู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ตัวผมรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำได้อย่างคนรุ่นก่อน เสียดายโอกาสที่เคยได้รับ อับอาย ต่อตนเอง ละเลยหน้าที่ เหลวไหล…
“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ผมขอยกบทความตอนหนึ่งในหน้าสุดท้ายของปกหลังด้านในหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น
“ศิลปินมีความประหลาด มีข้อบกพร่อง และมีคุณสมบัติต่างๆเหมือนกับมนุษย์ทั้งหลายทั่วๆไป แต่ศิลปินได้รับความรู้สึกที่ไวยิ่งกว่า และมีลักษณะส่วนตัวมากกว่า ศิลปินบางคนช่างคิดฝัน บางคนอารมณ์ร้าย บางคนตลกโปกฮา บางคนเป็นนักเยาะเย้ย กระทบกระเทียบ บางคนขมขื่น และอิจฉาตาร้อน บ้างก็เป็นคนเปิดเผย ใช้เงินหมดทุกสตางค์จนเกินรายได้ และบางคนก็งกเงิน”
(ศิลป์ พีระศรี: อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์)
ศิลป์ พีระศรี ในทัศนของผมในบทนี้ ท่านได้กล่าวไว้เพื่อเตือนสติ สติในความเป็นปกติชนของคนทำงานศิลปะ เพื่อปรามความบิดเบือนแห่งยุคสมัย ชีวิตอันเปล่าเปลือย ปัญหาชีวิต เครดิตกับเวลา และปัจจัยแห่งการดำรงอยู่จะไม่มีอิทธิพลในบทบาทของข้ออ้างอีกต่อไป ถ้าหากผมทำงาน ทำงาน ทำงานศิลปะ ทำงานศิลปะ ศิลปะคงทำให้ผมเป็นคนในกลุ่มนั้นได้อย่างเต็มบทบาทและภาคภูมิ...
...ผมจะซ่อมมัน.

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

ยืนเด่นโดยท้าทาย : วิเคราะห์และเปรียบเทียบ “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” และภาพยนตร์จีนเรื่อง “Ip Man (2008)”

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (2552)

ท่ามกลางความจลาจลทางปัญญาของสังคมไทยในปัจจุบัน ปัญญาชนแต่ละกลุ่ม ผู้คนในสังคมแต่ละพวก ล้วนใฝ่หาข้ออ้างอันชอบธรรมให้กับกลุ่มของตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ในการสถาปนาตัวตนต่อสังคม แต่ละฝ่ายมักยกอุดมการณ์ของตนเหนือวิสัยทัศน์ของผู้อื่นเสมอ บางกลุ่มแถลงอุดมการณ์ของตนด้วยความสัจจริง ทว่ายังมีอีกหลายกลุ่มเช่นกันที่มักสร้างอุดมคติอันเลอเลิศเพริศพริ้ง แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงฉากหน้าเพื่อชักจูงประชาสัมพันธ์ไปสู่ผลประโยชน์เพียงกลุ่มของตนเองเท่านั้น
กว่าห้าปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นคล้ายกับปรากฏการณ์ที่เคยมีในอดีต ฉากหน้าความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มต่างแสดงความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ของตน อีกทั้งชักจูงมวลชนด้วยบรรยากาศการชุมนุมต่างๆ เช่น การพูดบนเวทีในที่สาธารณะ มีการแสดงละครล้อการเมือง และที่ขาดไม่ได้คือการแสดงสดของดนตรีการเมือง

“เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ถือเป็นเพลงปลุกใจในการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนอยู่เสมอ ในห้วงเวลานี้ก็เช่นกัน ผู้ชุมนุมทางการเมืองแต่ละกลุ่มต่างก็มีการนำเพลงนี้มาร้องกันในระหว่างที่มีการชุมนุมอย่างมีความหมายเฉพาะของตน หลายครั้งเพลงนี้กลายเป็นเพียงเพลงพื้นๆที่ร้องรำกันอย่างแสนสามัญ แต่ถ้าหากเข้าไปดูประวัติศาสตร์ของเพลงนี้แล้ว จะทำให้ค้นพบความหมายที่ยิ่งใหญ่ซึ่งผูกพันกับผู้ประพันธ์ด้วย



จิตร ภูมิศักดิ์ นักปราชญ์ผู้ประพันธ์เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

“เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นเพลงที่ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นเป็นนักคิดด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์ นับว่าเป็นหนึ่งในนักปราชญ์ นักปฏิวัติทางความคิด และวิชาการคนสำคัญแห่งยุคสมัย เขาถือเป็นนักวิชาการคนแรกๆที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลอย่างลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ยังมีความคิดต่อต้านระบอบเผด็จการ และการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด

ผลงานของจิตรแต่ละอย่างล้วนแสดงออกถึงความกล้าหาญในความคิด เขาวิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยเหตุผลได้กระจ่างอย่างน่าทึ่ง แม้ว่าบุคลิกที่ดูเรียบร้อยราวกับผ้าพับไว้ ทว่าวิถีชีวิตและมุมมองของเขาต่อสรรพสิ่งกลับโลดโผนเกิดผู้คนในยุคนั้นจะยอมรับได้ สิ่งเหล่านี้เองอาจจะเป็นหนึ่งในความเป็นตัวตนของจิตร ที่ทำให้เขาต้องประสบเคราะห์อยู่เสมอ ตั้งแต่กรณีถูกจับโยนบกในสมัยที่เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนถึงการติดคุกลาดยาวในระยะหลังของชีวิต (พ.ศ. 2503-2505) ตราบจนออกจากคุกจึงเดินทางสู่ไพรพนาหวังรับใช้อุดมการณ์ด้วยการจับปืนเป็นนักปฏิวัติ และไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตลงจากการถูกกระสุนปืน ณ ชายป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

การเสียชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเพียงสายลมแผ่วๆ สำหรับผู้มีอำนาจในยุคนั้น เขามิได้มีความสำคัญเท่าใดนักกับชนชั้นปกครอง หากแต่การสูญสิ้นชีวิตของเขากลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ปัญญาชนคนหนุ่มสาวในยุคนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับผลงานอันทรงคุณค่าของเขามากยิ่งขึ้น ยิ่งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผลงานของจิตรนับว่าเป็นประดุจหนึ่งในคัมภีร์ทองสำหรับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น อาทิเช่น “ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน” เป็นต้น และ ณ ห้วงเวลาเช่นนั้น “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ก็ปรากฏขึ้นในเรือนใจท่ามกลางคนหนุ่มสาวเรือนแสนผู้ฝันใฝ่สังคมอันงดงาม

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ประพันธ์เพลงนี้ขึ้น ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว ต่อมาเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องโดยวงคาราวานในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีเรื่องเล่ากล่าวกันว่า ในยุคเผด็จการทรราชครองเมือง นักศึกษาบางส่วนถูกสังหารและบางส่วนถูกจับกุมคุมขังเขาไปอยู่ในคุก ท่าม กลางความท้อแท้ สิ้นหวัง หวาดกลัว เจ็บแค้นระคนปวดร้าว พลันก็มีคนๆหนึ่งส่งเสียงร้อง “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ทำลายความเงียบงันของบรรยากาศในคุก เสียงนักโทษที่ร้องเพลงจากหนึ่งเสียงเพิ่มขึ้นทีละเสียงจนดังกังวานก้องไปทั่วพื้นที่ ดังแทรกเข้าไปสู่จิตวิญญาณของผู้เรียกร้องเสรีภาพและความเป็นธรรม

เนื้อเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา มีอยู่ว่า

“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง”

ในระยะเวลาต่อมา เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา กลายเป็นเพลงปลุกใจให้กับการต่อสู้ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่และความใฝ่ฝันอันแสนงาม ซึ่งหากเราพิจารณากันจริงๆ ก็จะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตรกำลังถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อความศรัทธา กล้าหาญ และไม่ยอมพ่ายแพ้ ของตัวเองในขณะที่เขาอยู่ในคุก จะเห็นได้ว่าความโลดโผนแห่งโชคชะตาของจิตรมิเพียงเป็นคลื่นร้ายที่คอยทำลายเขาในวันที่ตกระกำลำบากเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบททดสอบขนาดของหัวใจของชายหนุ่มที่ไม่เคยเห็นอุปสรรคที่กว้างใหญ่ไปกว่ามดปลวก ความพลิกผันของชีวิตกลับทำให้เขาเย็นชาต่อความทุกข์ยากทั้งปวง มองข้ามสายน้ำเชี่ยวแห่งชะตากรรมอันโหดร้ายไปสู่ฟากฝั่งแห่งความงดงาม ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตของจิตรหาชัยชนะทางสังคมให้กับตัวเองได้ยากเต็มที

บทเพลงนี้จึงเป็นเสมือนการบ่งบอกถึงความศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกทั้งแง่มุมในการมองโลกล้วนเต็มไปด้วยความหวังที่มีให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังเนื้อเพลงในท่อนที่ว่า

“...พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย...”

จิตรเปรียบเปรยปรากฏการณ์ของธรรมชาติกับสภาวะจิตใจของมนุษย์ เขาได้ให้ทัศนะว่าความเป็นไปของคลื่นพายุใดๆจะนำพาความมืดมิดมาบดบังแสงจันทร์มิให้ส่องกระจ่าง ทว่าแสงของดวงดาวแม้มิได้มีขนาดและกำลังแสงที่ยิ่งใหญ่กว่าดวงเดือน แต่กลับยังคงมีแสงของตัวเองส่องประกายระยิบอยู่เบื้องบน เสมือนเป็นการสร้างความหวังและกำลังใจกับมนุษย์เสมอว่า ดวงดาวยังคงกระพริบแสงระยับอยู่แม้แสงเดือนจะเลือนลับหาย จุดนี้จิตรยังเน้นย้ำเขาไปอีกในช่วงสร้อยของเพลงอันทรงพลังว่า


“...ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน...”

เนื้อหาในเพลงช่วงนี้ถือเป็นที่จดจำของผู้คนมากที่สุด หลายครั้งที่ใครก็ตามได้ฟังจนถึงช่วงนี้ของเพลงก็จะรู้สึกปลุกความหยิ่งทะนงอะไรบางอย่างที่มนุษย์พึงมีต่อชะตาชีวิตที่บีบเค้น จิตรได้เย้ยหยันในสรรพสิ่งที่เป็นเสมือนขวากหนามของชีวิต ความทุกข์ยากนานาที่มนุษย์พึงประสบนั้นจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่มนุษย์นั้นก็ยังคงมิได้พรั่นพรึง อีกทั้งยังมิกลัวและไม่เข็ดขยาดต่อสิ่งทั้งปวง ตรงกันข้ามเสียอีกว่า มนุษย์ยังขอท้าทายความทุกข์ยากต่างๆอย่างไม่หลบหลีก เขาได้อุปมาอุปไมยความอหังการของมนุษย์ที่ไม่ยินยอมให้ชะตาชีวิตมากดขี่โดยใช้ธรรมชาติเป็นฉาก บรรยายถึงความมืดมิดที่คลี่คลุมทั้งโค้งท้องฟ้าและดวงเดือน หากแต่แสงของดวงดาวยังคงสว่างกระจ่างย้ำเตือนเย้ยสรรพสิ่งในเอกภพ

ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเป็นไปได้ไหมว่า ความมืดมิดและความทุกข์ยากที่ปรากฏในบทเพลงแท้ที่จริงอาจจะวิเคราะห์ได้สองแง่มุม กล่าวคือ

ในระดับปัจเจกบุคคล ความมืดมิดนี้เป็นทั้งความทุกข์ภายนอกและภายในของแต่ละบุคคล มนุษย์ต้องพานพบนานาสารพันปัญหาของชีวิต ปัญหานั้นมิใช่มีไว้เพื่อเป็นความระทมกับชีวิต แต่ต้องแก้ไขด้วยตัวของเราเอง ประกอบกับต้องไม่หวั่นไหว และยอมรับโชคชะตาอย่างไม่จำนน

แต่หากมองในระดับสังคมแล้ว ความมืดมิดทั้งปวงนั้นก็คือความมืดบอดของสังคมที่ไร้เสรี ภาพทางปัญญา ซึ่งจิตรได้ประพันธ์เพลงนี้ในยุคสมัยที่เขาได้เข้าไปอยู่ในคุก สิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพและอิสรภาพเรียกได้ว่าหาได้น้อยเต็มที การเชื่อมโยงระหว่างเวลาและสถานที่ของผู้ประพันธ์ กับความเป็นไปของยุคสมัยทำให้บทเพลงนี้เต็มไปด้วยบริบทที่ขรึมขลังอยู่ตลอดกาล จุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ นำเนื้อหาและบริบทของของบทเพลงนี้ไปเป็นความหมายในการเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆอยู่เสมอ

เมื่อมองในด้านทำนองของเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา กลับมิได้ปรากฏความเข้มเข็งแบบเพลงเดินแถว (March) แต่กลับเป็นทำนองช้าๆ ทว่าทุกๆเนื้อร้องจะเน้นคำอย่างชัดเจน เพลงค่อยๆดำเนินไปอย่างเนิบๆ แต่พอถึงท่อนสร้อยที่ว่า “...ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ... (จนถึง) ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน...” จะมีการร้องที่ย้ำคำแน่นกว่าในส่วนอื่นๆ ทั้งนี้เป็นการบ่งชี้ประเด็นในสิ่งที่ผู้แต่งและผู้ขับร้องต้องการจะสื่อกับผู้ฟังถึงจุดประสงค์ของเพลง ซึ่งความไม่รุนแรงของทำนองเพลงนี้ทำให้บรรยากาศของเพลงเต็มไปด้วยการปลอบประโลม ให้ความหวัง กำลังใจ ความศรัทธา ระคนกับการปลุกให้ลุกขึ้นต่อต้านโชคชะตาด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ความหวัง ความศรัทธา และความทะนงในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นี้เอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ทรงคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์จีนย้อนยุคที่แสดงถึงความรู้สึกชาตินิยมและศิลปะการต่อสู้ของคนจีน เรื่อง “Ip Man (2008)” ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นอิงชีวประวัติจริงของครูมวย Wing Chun ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาการต่อสู้ให้กับ Bruce Lee ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังกวาดรางวัลถึง 12 รางวัลในงาน Hong Kong Film Awards

ในภาพยนตร์เล่าถึงช่วงทศวรรษที่ 1930s - 1940s อันเป็นระยะเวลาสงคราม Second Sino-Japanese War โดยเล่าถึงบุรุษหนุ่มผู้เชี่ยวชาญมวยกังฟู Wing Chun นาม Ip Man เขาอาศัยอยู่ในเมือง Foshan ซึ่งถือเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโรงเรียนสอนมวยกังฟู เปรียบเสมือนสวรรค์ของเหล่าผู้ต้องการเรียนศิลปะการต่อสู้ เขาเป็นผู้ที่มีฐานะดีและเป็นที่ยกย่องในวงสังคมของเมืองนั้น ครอบครัวของเขามีภรรยาและลูกชายที่ยังเล็ก หลายครั้งที่เหล่านักสู้และครูมวยต่างถิ่นมักมาประลองฝีมือกับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อีกทั้งหวังว่าหากชนะ Ip Man พวกเขาก็จะมีชื่อเสียงขึ้นบ้าง แต่ทุกครั้งที่มีการประลองยุทธ์ Ip Man ก็มักเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ


Ip Man ปรมาจารย์มวย Wing Chun ตัวจริง

เหตุการณ์ก้าวล่วงเข้าสู่ปี 1937 กองทัพญี่ปุ่นได้กรีฑาทัพเข้ามาควบคุมทุกหย่อมหญ้าของเมือง Foshan บ้านของ Ip Man ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึด เขากลายสภาพจากผู้ร่ำรวยไปอาศัยในตึกร้างเล็กๆซอมซ่อ และต้องทำอาชีพเป็นกรรมกรเหมือนกับคนจีนทุกคนในขณะนั้นที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นจับมาทำงานเพื่อแลกอาหารเพียงน้อยนิด ทว่าหนทางสำหรับผู้ต้องการอาหารที่มากกว่าปกติก็พอมี นั้นคือ การไปประลองยุทธ์กับทหารญี่ปุ่นที่ใช้วิชาการต่อสู้ คาราเต้ (Karate) คนจีนคนใดที่ชนะนักคาราเต้จะได้ข้าวสารหนึ่งถุงเป็นรางวัล สำหรับผู้แพ้ถ้าไม่สิ้นชีวิตก็ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส


Ip Man ในภาพยนตร์

ทั้งนี้เนื่องจากผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นชื่อ Miura เป็นผู้ที่มีความชื่นชอบและฝึกศิลปะการต่อสู้คาราเต้อยู่เสมอ การที่เขายื่นข้อเสนอให้นักมวยกังฟูเข้ามาประลองกับเหล่าทหารของตนที่เชี่ยวชาญวิชาคาราเต้ระดับสายดำเนื่องด้วยต้องการเรียนรู้มวยจีน และด้วยอุปนิสัยของเขาประกอบกับฐานะระดับสูงทางกองทัพ ทำให้เขาเป็นบุคคลที่เฉียบขาด เลือดเย็น และน่าพรั่นพรึงที่สุด


Ip Man คนเดียวสู้กับนักคาราเต้สายดำทั้ง 10 คน

วันหนึ่งเมื่อ Ip Man ได้รับข่าวว่าลูกศิษย์และมิตรสหายของเขาพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับ Miura แต่ไม่ยอมจำนน ถึงขนาดสู้จนตัวตายอย่างทรมาน เขาจึงเข้ามาสู่เวทีการประลองด้วยความแค้นและสามารถชนะนักต่อสู้คาราเต้ในครั้งเดียวถึง 10 คนอย่างง่ายดาย ทำให้ Miura สนใจในบุรุษนิรนามชาวจีนผู้นี้เป็นอย่างสูง ถึงกับลงจากระเบียงที่ยืนดูมาที่เวทีประลอง พลันถามว่าคนจีนผู้นี้คือใคร อีกทั้งให้ข้าวถึง 10 ถุงในฐานะที่เป็นผู้ชนะ พร้อมยื่นข้อเสนอว่าหาก Ip Man สอนวิชากังฟูให้กับเขาและทหารในกองทัพญี่ปุ่น พวกเขาก็ให้ความสะดวกสบายทุกอย่าง หากแต่ Ip Man บอกแต่เพียงสั้นๆว่า เขาคือคนจีนคนหนึ่ง แล้วเดินจากไปโดยมิได้แยแสข้าวสารสักถุง ทั้งๆที่วันนั้นเขามีเพียงหม่านโถวเพียงสองก้อนสำหรับสามชีวิตในครอบครัวเท่านั้น

หลังจากวันนั้น Miura เฝ้าฝึกซ้อมคาราเต้อย่างหนักและให้ทหารคนสนิทหาตัว Ip Man ให้มาสอนวิชามวยให้ได้ ฝ่าย Ip Man เห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับครอบครองของตนในอนาคต จึงให้เพื่อนสนิทของเขาช่วยพาครอบครัวเขาไปอยู่ที่ฮ่องกง หลังจากนั้นไม่นานเขาถูกกองทัพทหารญี่ปุ่นจับเข้าคุก โดยที่ Miura ยื่นข้อเสนอว่า หากเขาสอนวิชามวยแล้ว กองทัพญี่ปุ่นจะให้ความสุขสบายครอบครัวของเขา พร้อมทั้งท้าประลองยุทธ์ในที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อทหารคนสนิทเข้ามาในคุกหลังจาก Miura ออกไปแล้ว ก็ได้ยื่นข้อเสนอว่าถ้า Ip Man ชนะเขาจะโดนยิง ดังนั้นทางเลือกสำหรับเขาคือ ต้องเป็นฝ่ายที่แพ้เท่านั้น

Ip Man ในยามร่ำรวย

ในวันประลองยุทธ์คนจีนจำนวนมากมารอเฝ้าชมอยู่หน้าเวทีการประลอง ทั้งนี้หากฝ่าย Ip Man ชนะก็จะถือเป็นการประกาศศักดิ์ศรีของชาวจีนด้วย และเมื่อทั้งคู่ก้าวขึ้นมาบนเวที การต่อสู้จึงเกิดขึ้นอย่างดุเดือด Miura ใช้วิชาคาราเต้ ส่วน Ip Man ใช้วิชามวย Wing Chun ทั้งคู่ต่างผลัดกันรุกและรับกันอย่างเท่าเทียม แต่ต่อมา Miura ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ลงอย่างง่ายดาย เมื่อการเป็นเช่นนี้ทหารคนสนิท ของ Miura จึงใช้ปืนยิง Ip Man จากข้างหลังล้มลงคาเวที แต่สิ่งที่กองทัพญี่ปุ่นไม่คาดคือ เมื่อ Ip Man ซึ่งเป็นประดุจความหวังของเหล่าชาวจีนต้องล้มลง ฝูงมหาชนชาวจีนที่มาดูการประลองก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นอย่างไม่กลัวตายกลายเป็นจลาจลขึ้น หลังจากนั้น Ip Man ก็ถูกส่งตัวไปรักษาและอพยพไปอยู่ฮ่องกง เปิดสำนักมวย Wing Chun และอาศัยอยู่ที่นั่นตราบสิ้นชีวิต


Ip Manในช่วงสงคราม





Miura ใช้วิชาคาราเต้ต่อสู้กับ Ip Man ในฉากช่วงท้ายของภาพยนตร์

แม้ว่าหลายคนจะคุ้นชินกับการชมภาพยนตร์กังฟูที่มีอยู่มากมาย หลายเรื่องใช้เทคนิคต่างๆให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ มีภาพและฉากที่อลังการมากมายเพียงใด หากแต่เมื่อได้มาชมภาพยนตร์เรื่อง Ip Man (2008) แล้ว จะพบความประทับใจที่ต่างจากภาพยนตร์กังฟูหลายๆเรื่อง

ตลอดทั้งเรื่องเป็นฉากเมือง Foshan ในอดีต ซึ่งผู้สร้างได้เนรมิตขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยภาพถ่ายเก่าๆของ Ip Man การเจาะลึกในการสร้างฉากทำให้เกิดความสมจริงสมจังในเวลาและสถานที่เป็นอย่างมาก ดนตรีประกอบแต่ละฉากเต็มไปด้วยอารมณ์แบบพรรณนา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงกลองมากกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ และมักจะเน้นหนักในฉากการต่อสู้

โทนสีของภาพเป็นลักษณะเอกรงค์ (Monotone) ภาพรวมส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย สีขาว สีเทา และสีดำ โดยเฉพาะสีขาวและดำมักปรากฏอยู่เสมอ ทั้งนี้ผู้สร้างอาจต้องการเปรียบเทียบอะไรบางอย่าง เช่น Miura ใส่ชุดคาราเต้สีขาว Ip Man ใส่ชุดแบบจีนสีดำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามลักษณะกลุ่มโทนดังกล่าวทำให้ขับเน้นโครงเรื่องที่เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม (Tragedy) ได้อย่างดี ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมจะสนุกกับการต่อสู้ที่สมจริงสวยงาม และการที่ผู้สร้างได้เลือก Donnie Yen แสดงเป็น Ip Man ก็นับว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยส่วนตัวเขาเองเกิดในตระกูลครูมวยกังฟู มารดาของเขาเป็นผู้สอนวิชามวยจีนให้ตังแต่เด็ก ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้ที่รู้วิชากังฟูดีพอสมควร ภาพการต่อสู่ที่ออกมาจึงทำให้แต่ละท่วงท่าในฉากมีความงดงามลงตัวอย่างน่าชื่นชม

เนื่องด้วย Ip Man เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง อีกทั้งในยุคก่อนมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการซ้อมมวย Wing Chun ของเขา จึนสันนิษฐานได้ว่าผู้สร้างต้องนำภาพเคลื่อนไหวนี้มาศึกษาท่วงท่ากิริยาของ Ip Man พร้อมกับให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมวย Wing Chun และวิชากังฟูอื่นๆ มาร่วมกันสร้างองค์ประกอบต่างๆในฉากการต่อสู้ ซึ่งนับว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์กังฟูเรื่องหนึ่งที่มีฉากการต่อสู้ที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด
เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบ สิ่งที่ผู้ชมได้สัมผัสคือความไม่ย่อท้อของ Ip Man ต่อความทุกข์ยากรอบกาย ตลอดทั้งเรื่องเราจะไม่เห็นการตัดพ้อต่อชะตาชีวิตของเขาที่เรียกได้ว่าจากเกิดจากฟ้าและล่วงลงสู่ดิน ทั้งนี้เนื่องจากการปูพื้นเนื้อเรื่องในช่วงก่อนสงครามแสดงให้เห็นว่า เขามีฐานะทางสังคมที่ถือว่าเป็นผู้ดีมีชาติตระกูล มีทรัพย์ที่ใช้สอยได้อย่างสุขสบาย มีวิชาความรู้ที่เป็นที่ยกย่อง และเป็นต้นแบบให้กับผู้คนในชุมชน แต่เมื่อเหตุการณ์กลับกัน เขากลับมิได้ปริปากบ่นให้ครอบครัวต้องรู้สึกลำบากแต่อย่างใด ทั้งๆที่เขาต้องลำบากกับการเอาชีวิตรอดไปวันๆ เขายังต้องนึกถึงการดำรงอยู่ของภรรยาและลูกโดยไม่ให้ต้องหิวโหยและลำเค็ญจนเกินไป อีกทั้งต้องคอยเป็นผู้ให้กำลังใจกับครอบครัวตลอดทั้งๆที่ต้องอดทนขมกลืนความทุกข์ยากอยู่เพียงลำพัง ภาพรวมของสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนอุปนิสัยของ Ip Man ตลอดทั้งเรื่องว่า เขาเป็นผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตา ยังคงยืนหยัดในศักดิ์ศรีของตนอย่างทะนงตัว และเนื่องด้วยภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้เอง ทำให้เราได้หวนคำนึงถึงบทเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา อีกครั้ง

สิ่งที่ “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” และ “Ip Man” ได้แสดงออกมา คือ เมื่อใดก็ตามที่ความมืดมิด ความทุกข์ยากลำบากของชีวิต กระทั่งความจลาจลทางปัญญาของสังคม ได้ห่มคลุมไปทั่วทุกพื้นที่แล้ว มนุษย์เราในฐานะปัจเจกบุคคลควรจะทำเช่นไรเพื่อก้าวไปสู่จุดที่แสงสว่างปรากฏ ทั้งเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา และ Ip Man มิได้แสดงออกถึงการตั้งคำถามต่อผู้ฟังและผู้ชม ไม่ได้เป็นผู้สร้างประเด็นใหม่อะไรให้กับผู้เสพ แต่ทั้งสองสื่อกำลังส่งสารถึงผู้คนทุกยุคสมัยในการรู้จักและดำรงอยู่ของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ อีกทั้งเชิญชวนให้ผู้เสพร่วมค้นหาความเป็นตัวเองท่ามกลางกระแสความเป็นไปของโลกธรรม เพราะการที่เราหมุนตัวตนไปตามโลกมากจนเกินไป หรือลื่นไหลไปบนธาราแห่งชะตากรรมด้วยความจำยอมย่อมมิใช่สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหันไปดูสิ่งต่างๆในธรรมชาติจะเห็นว่าสรรพสิ่งย่อมต้องย้อนแย้งกระแสโลกอยู่เสมอ อาทิเช่น ในโลกของปลาก็ไม่เคยมีมัจฉาชนิดใดที่ไม่ว่ายทวนน้ำ เป็นต้น มนุษย์เราก็เฉกเช่นกันหากไร้แรงเสียดทานที่มีต่อโลกบ้าง มีชีวิตอยู่ไปความหมายของลมหายใจคงน้อยเต็มที

ขณะที่เพลงแสงดาวแห่งศรัทธามีทำนองที่ไม่หวือหวาจนเกินอารมณ์ร่วม ไม่เข้มแข็งดังเพลงเดินแถว แต่ทุกห้วงทำนองที่นิ่มนวลกลับเต็มไปด้วยการเน้นคำแต่ละคำอย่างลึกซึ้ง ดื่มด่ำลุ่มลึกไปสู่ก้นบึ้งของหุบเหวแห่งความรู้สึก เฉกเดี่ยวกับวิชามวย Wing Chun ในเรื่อง Ip Man ที่ในยุทธภพกล่าวกันว่าเป็นมวยสตรีเนื่องด้วยผู้คิดค้นเป็นอิตถีเพศ กระทั่งการเคลื่อนไหวไม่ดุดันแบบมวยกังฟูชนิดอื่นดูพลิ้วไหวนุ่มนวล ที่สำคัญยังเป็นมวยประเภทรับมากกว่าจะเป็นฝ่ายรุก ซึ่งหากดูตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่า น้อยเต็มทีที่จะเห็น Ip Man เป็นฝ่ายรุกในการต่อสู้ ทว่าทุกท่วงท่าที่นุ่มนวลนั้น กลับเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างชัดเจน การตอบโต้แต่ละครั้งหนักหน่วงและแม่นยำ คล้ายกับทำนองของเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาที่ทุกคำร้องจะเน้นคำอย่างชัดเจน

และเมื่อเราหันกลับไปดูประวัติจริงของ จิตร ภูมิศักดิ์ และ Ip Man ก็จะเห็นว่าทั้งสองคนเป็นบุคคลร่วมสมัยกัน ในขณะที่จิตรเป็นต้นแบบของปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศไทย Ip Man ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนจีนผู้รักชาติที่ไม่ยอมแพ้แก่กองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน ที่สำคัญทั้งสองเป็นนักต่อสู้กับโชคชะตาอย่างมิเคยพร่ำพรรณนา จิตรใช้ปัญญาและปากกาเป็นอาวุธในการต่อต้านระบอบเผด็จการและใฝ่หาสังคมอุดมคติ Ip Man มีวิชามวยจีนเป็นอาวุธในการต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานประเทศชาติและใฝ่หาอิสรภาพแห่งชาติพันธุ์ ทั้งสองต่างตกอยู่ในวงล้อมของชะตากรรมที่ดูเหมือนว่าจะไม่ปราณี แต่เขาทั้งสองกลับยืนขึ้นท้าทายความทุกข์ยากด้วยขนาดของจิตใจที่ใหญ่กว่าปกติ ทั้งนี้ก็ด้วยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทั้งสองใช้ในการต่อสู่บนเวทีชีวิต นั้นคือสิ่งที่เรียกกันว่า อุดมการณ์

อุดมการณ์ของจิตรวาดหวังในการสร้างสังคมใหม่ตามความคิดของเขา เขาเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นดวงดาว ซึ่งอานุภาพของแสงกระพริบระยิบระยับเหนือความมืดบอดทางปัญญาของสังคม ขณะเดียวกัน Ip Man มีอุดมการณ์ทางชาตินิยมคอยเป็นแรงพลังทางใจที่ทำให้เขาก้าวเข้าไปบนวิถีแห่งการประลองยุทธ์บนเวทีชีวิต พวกเขาทั้งสองมิพียงต่อสู้เพื่อให้ชีวิตของตนรอดพ้น หากแต่ยังอุทิศตนเพื่อองค์รวมของสังคมให้เป็นไปในทางที่ดี อัตลักษณ์ของจิตรที่ผ่านทางบทเพลงและความเป็น Ip Man ในภาพยนตร์ จึงมีความหมายที่ไม่ต่างกันนัก นั้นคือ ความกล้าหาญที่จะเงยหน้าเย้ยฟ้าและท้าปฐพีให้มาขีดลิขิตชีวิตโดยที่ตัวของพวกเขาเองจะไม่ดำเนินตามอย่างยอมจำนน

ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน เรามักเห็นผู้ที่สวมหน้ากากแห่งความกล้าหาญ ต่างลุกขึ้นยืนเรียงหน้าอยู่บนเวทีสังคม ต่างก็อ้างสิทธิความชอบธรรมของตนในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พรรณนาถึงอุดมการณ์ของตนด้วยการยกยอถึงความดีงามที่ควานหาได้แต่เพียงลมปากอันเน่าเหม็น จิตวิญญาณอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ที่มุ่งมันศรัทธาในการสร้างสังคมใหม่ที่งดงาม และความทะนงในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของ Ip Man กลับกลายเป็นวิถีชีวิตอันเพ้อเจ้อ เหลวไหล จนกระทั่งจางหายไปจากสังคมไทยปัจจุบันอันสุดแสนจะมืดมัวทางปัญญา ทุกคนต่างใฝ่หาความสุขสบายส่วนตัวแม้ทั่วทุกหัวระแหงจะเต็มไปด้วยความฉ้อฉลจนกลายเป็นมิจฉาทิฐิ และที่เลวร้ายที่สุดคือ ยอมกระทั่งแลกศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นคน ตลอดจนยอมจำนนกับอำนาจของโชคชะตา กระทำสรรพสิ่งให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน.