วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เพศ : ใครเป็นผู้มอบให้?

กระแสลมแห่งยุคสมัยได้พัดพาให้บริบทต่างๆของมนุษย์ หันกลับมาใส่ใจกับมิติใหม่ๆทางวาทกรรม การเรียกร้องสิทธิและความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของจิตวิญญาณแต่ละปัจเจกดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการเรียกร้องโดยใช้การเคลื่อนไหวของมวลชน รวมถึงสร้างวาทกรรมตั้งกระทู้ถามกับสังคมจากกลุ่มปัญญาชน โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำกันระหว่างสตรีเพศและเพศที่สามกับบุรุษเพศแล้ว ก็นับว่าเป็นกระทู้ที่นิยมอยู่ชั่วนิรันดร์

ประเด็นเรื่องเพศถือเป็นกระแสอยู่หลายทศวรรษ ส่วนใหญ่แล้วฝ่ายบุรุษย่อมเป็นฝ่ายรับในข้อเรียก ร้องอยู่เสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องยอมรับว่า ทุกกระเบียดของสังคมมนุษย์ได้ถูกปกคลุมด้วยอิทธิพลของความเป็นชายที่มักจะอ้างความชอบธรรมและสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำของมนุษยชาติ แม้ว่าในความจริงแท้ทั้งชายหญิงและเพศที่สามหาได้ต่างกันในเผ่าพันธุ์ไม่

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเพศที่สามหรือเพศที่ร่างกายกับเพศสภาพทางใจสวนทางกัน ก็ถือเป็นบทบาทสำคัญในกิจกรรมการเรียกร้องสิทธิของการเลือกที่จะเป็นอะไร แทนที่จะจำนนกับการยัดเยียดของธรรมชาติ หลายครั้งที่เขาและเธอเหล่านั้นแสดงตัวตนที่เคยแอบซ่อนอยู่ในซอกหลืบของจิตใจต่อสาธารณะ เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์และเป็นขบถต่อปริมณฑลของเพศที่เคยถูกปฏิเสธจากหน้าของประวัติศาสตร์

ขอบข่ายของประเด็นทั้งหมดข้างต้น เป็นแนวทางการสร้างสรรค์ที่สำคัญของกลุ่มศิลปินสตรีนิยม (feminist art) ที่เริ่มมีบทบาทมาตั้งแต่ห้วงทศวรรษที่ 1960 ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานในแนวนี้มุ่งตรงหาความเสมอภาคทางเพศระหว่างชาย หญิง กระเทย เกย์ และเลสเบี้ยน (lesbians) โดยกระบวนการสร้างสรรค์มีหลากหลายแนวทางตั้งแต่ผลงานแบบ2มิติ (2 dimensional) 3มิติ (3 dimensional) ศิลปะแสดงสด (performance art) รวมไปถึงศิลปะแนวความคิด (conceptual art)

แม้ว่าความคิดแบบสตรีนิยมจะเกิดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวในด้านต่างๆอยู่เสมอ ความเคลื่อนไหวทางความคิดนี้ได้แพร่กระจายไปสู่ทุกเพศทั่วโลก มีการตื่นตัวอย่างมากมายโดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับสตรีและเพศที่สามน้อยกว่าบุรุษ กระนั้นก็ตามเราก็ยังคงเห็นการปราบปรามกับทั้งสองเพศ ด้วยการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานโดยใช้ความเชื่อทางศาสนาสร้างเป็นมายาคติให้เกิดความจำยอมในการดำรงอยู่ในสังคม พวกเธอจึงต้องหาพื้นที่ในการแสดงออกในจุดยืนที่ตนเองเชื่อมั่นหนึ่งในนั้นมักถ่ายทอดออกมาเป็นงานสร้างสรรค์

ถ้าจะกล่าวถึงแนวคิดแบบสตรีนิยมในแวดวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยแล้ว ถือว่าความเข้มข้นยังไม่ชัดเจนที่จะขับเคลื่อนเป็นกระแสหลัก (mainstream) ศิลปินที่มีความสนใจประเด็นความเป็นเพศส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นศิลปินหญิงและเพศที่สามเป็นหลัก ศิลปินที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับอยู่เสมอคือ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ผลงานงานของเธอมีตั้งแต่วาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และศิลปะจัดวางโดยคำนึงถึงพื้นที่โดยรอบ (site specific installation) โดยเธอได้นำรูปทรงและสารัตถะของร่างกายสตรีมาสร้างสรรค์เกิดเป็นผลงานที่ให้คุณค่าความเป็นหญิง ให้ความสำคัญในการดำรงอยู่ของเพศแม่ แทนที่เธอจะโจมตีบุรุษอย่างรุนแรงตรงไปตรงมา กลับแสดงออกในแบบนิ่มนวลอ่อนไหว เรียกร้องให้บุรุษหันกลับมาสนใจและให้ความยกย่องในความเป็นเพศมารดา มิได้ต้องการความเสมอภาคแบบมายา แต่ให้เกิดความตระหนักรู้และเข้าใจซึ่งกันและกันถึงความอ่อนไหว บอบบาง และเต็มไปด้วยความงดงามของผู้หญิง

ในขณะที่พิณรีแสดงออกถึงความอ่อนโยนแบบผู้หญิง แต่ ไมเคิล เชาวนาศัย ศิลปินหนุ่มผู้รุ่มรวยในรสนิยมแบบหญิงสาวกลับแสดงตัวตนของเพศที่สามอย่างทะนงและรุนแรง เขาเฆี่ยนตีสังคมด้วยผลงานสร้างสรรค์ที่อื้อฉาวที่สุดในสังคมร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายตัวเขาเองแต่งหน้าจัดจ้านนุ่งห่มเลียนแบบสงฆ์แสดงออกว่าเป็นพระเกย์พระตุ๊ด ซึ่ง ณ ห้วงเวลานั้นถึงกับเป็นข่าวในสังคมเลยทีเดียว อีกทั้งไม่มีใครคาดคิดว่าสิ่งที่เขานำเสนอจะเป็นเรื่องจริงที่ถูกตีแผ่ในปัจจุบันวันนี้ หรือบางชิ้นเป็นภาพถ่ายเปลือยของตัวเขาเองทว่าท่อนล่างที่ควรเป็นสัญลักษณ์ทางเพศชาย กลับถูกลบกลายเป็นมนุษย์ผู้ไร้การแบ่งแยกทางเพศ การสร้างสรรค์ของเขาหาใช่การอุปโลกน์ให้เกิดความแปลกทางศิลปะ แต่เป็นการสะท้อนปัจเจกลักษณ์ทางจิตวิญญาณของศิลปินที่ให้คุณค่าในการเลือกที่จะเป็นมากกว่าจำยอมกฎเกณฑ์ของโลกอย่างซ่อนหลบ เขามีแนวคิดการสร้างสรรค์ที่ชาญฉลาด ไม่ปล่อยตัวเองไปตามยถากรรมในวงการศิลปะอันคับแคบ เขาเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะร่วมสร้างสรรค์ในโครงการศิลปะต่างๆของเหล่าเพื่อนพ้องศิลปินคนอื่นหรือแสดงภาพยนตร์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการดำรงอยู่ในสังคมของเขาเองก็ได้กลายเป็นศิลปะไปเสียแล้ว เขาสวมบทบาทต่างๆจนไม่มีใครเห็นความแตกต่างหรือเหยียดในตัวตนของเขา นับว่าเป็นศิลปินเพศที่สามคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างยิ่ง

บุษราพร ทองชัย ก็เป็นหนึ่งในศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดอยู่ในขอบข่ายข้างต้น เธอกำลังจะเป็นบัณฑิตสาขาทฤษฎีศิลป์จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงแม้ว่าในวงการศิลปะจะยังมิได้จารึกเธอในประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าเธอจะจำยอมเป็นเพียงนักเขียนนักวิจารณ์แต่เพียงอย่างเดียว การศึกษาที่ฝึกให้เธอเรียนรู้ด้านทฤษฎีของศิลปะ มิได้ทำให้เจตจำนงในการสร้างสรรค์พร่าเลือนไปกับหลักทฤษฎีที่ศึกษามา แต่กลับพวยพุ่งเพิ่มไฟในตัวของเธอมากขึ้นไปอีก ภาวะห้วงภายในที่ถูกบ่มเพาะมาตลอดเริ่มพรั่งพรูออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ เธอใช้ความรู้สึกที่เจิดจ้าจากความรู้สึกภายในถ่ายทอดออกมาสู่รูปลักษณ์ภายนอกผ่านนัยยะของทัศนธาตุ(visual element) ส่งสารต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา


เธอได้ตั้งคำถามกับโลกภายนอกว่าว่าแท้ที่จริงแล้วความเป็นเพศเกิดจากอะไรกันแน่ อีกทั้งยังให้ทัศนะว่า

“…ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยต่อความเป็นเพศของมนุษย์ มากเท่ากับที่ข้าพเจ้ามีความชื่นชมในความเป็นเพศของตนเอง…”

ผลงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในรูปแบบของวาดเส้นในชุดนี้ของเธอ แสดงออกถึงจุดยืนที่จะประกาศกร้าวกับสังคมถึงทัศนคติในเรื่องเพศ รูปลักษณ์ที่แสดงความเปลือยเปล่าของร่างกายมีตั้งแต่ระดับเนื้อหนังภายนอกจนทะลุถึงสรีระทางกายวิภาคของเส้นเลือด รูปร่างของมนุษย์มีทั้งรูปแบบของอิตถีเพศหรือเพศหญิงและมนุษย์ประหลาดแบบแบบลูกผสม (hybrid) ได้ให้คุณค่าในเชิงสุนทรียภาพแบบใหม่ ผลงานของเธอมิได้บริภาษความไม่เท่าเทียมกันของแต่ละเพศ แต่กลับแสดงออกถึงความผสมผสานกันระหว่างเพศ (gender) ที่มิใช่บริบทของเพศสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่ให้ความชอบธรรมในการดำรงอยู่อย่างพึงพากัน มิให้เกิดอคติต่อความต่างของเพศที่แต่เดิมมิได้ให้คุณค่าและความสำคัญกับผู้หญิงและเพศอื่น ประวัติศาสตร์ของมนุษย์มักขู่บังคับให้สตรีและเพศที่สามเป็นเสมือนสิ่งตกหล่นทางประวัติศาสตร์ ผู้ชายมักเป็นผู้กุมบังเหียนของสังคมและการเมืองไปสู่จุดแห่งการปะทะอยู่เสมอ ไขว่คว้าลัทธินิยมวีรบุรุษ (heroism) ที่สถาปนาให้ตัวเองเป็นผู้นำ หากแต่สตรีแล้วกลับให้ความสำคัญกับความนุ่มนวลไม่เน้นการปะทะอย่างไร้สาระหรือแสวงหาอาณานิคมอย่างบ้าคลั่ง


ภาพของมนุษย์สองเพศสองหัว ทำให้มโนภาพของความสัมพันธ์ระหว่างเพศถูกตั้งคำถามตรงไป
ตรงมา การนำเสนอดังกล่าวให้คุณค่าของความแตกต่างระหว่างเพศ ในขณะที่เรามองหาปัจเจกลักษณ์ในด้านต่างๆให้กับตัวเองอย่างไรก็ตาม แต่ความเป็นมนุษย์ก็ยังคงมีความเสมอเหมือนทางชาติพันธุ์อยู่เสมอ เรามิอาจแยกชายหญิงและเพศที่สามออกจากโลกใบนี้ได้


ผลงานบางชิ้นสร้างเป็นรูปลักษณ์จากภาพร่างกายของมนุษย์ที่ถูกประกอบขึ้นใหม่ เป็นเพศหญิงและชาย แสดงท่าทางที่แข็งกระด้างในรูปแบบของตุ๊กตากระดาษ ติดตั้งเคียงข้างสลับกันกับรูปลักษณ์ของ ร่างกายอีกตัวที่ถูกประกอบขึ้นจากการวาดเส้นแต่เป็นเสมือนภาพโครงสร้างภายในของมนุษย์ เธอต้องการแสดงออกถึงการสวมบทบาทของแต่ละเพศ ว่าเกิดจากสรีระทางกายภาพหรือเป็นเพราะบริบทของสังคมที่พยายามสวมใส่ความเป็นเพศราวกับการเล่นสวมชุดตุ๊กตากระดาษ


ในการถ่ายทอดจากแนวคิดของบุษราพร เธอใช้การวาดเส้นเป็นหลักในการส่งสารให้ผู้ดู ผลงานวาดเส้นนั้นมีวิธีการสร้างสรรค์ที่หลากหลายไร้กระบวนท่าไม่จำกัด ไม่ว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรก็ตาม วาดเส้นก็สามารถให้คุณค่าทางศิลปะได้ไม่แพ้เทคนิคการแสดงออกในแบบอื่นๆ ลักษณะที่สำคัญของวาดเส้นคือการถ่ายทอดได้สดและดิบ ส่งผ่านจากจินตนาการสู่สองมือของศิลปินอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผลงานของเธอถ่ายทอดออกมาจากจิตใต้สำนึก เกิดเป็นรูปทรงที่บิดเบี้ยวแปลกประหลาดจนกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ผสม ใช้ทัศนธาตุของเส้นในการจำกัดปริมณฑลของพื้นที่ (linear space) เกิดเป็นมิติแบบแบนๆ (decorative spatial concept) ไม่ได้นำเสนอในมิติทางสายตาเป็นหลัก แต่ใช้เส้นในการสร้างสัญลักษณ์ให้ขบคิดไม่ว่าจะเป็นเครื่องเพศหรืออวัยวะส่วนต่างๆ

การนำเสนอในผลงานบางชิ้นที่ติดตั้งแบบเปลือยเปล่าไม่มีการใส่กรอบ ย่อมทำให้ความรู้สึกบาง อย่างพุ่งตรงสู่ผู้ดูได้ชัดเจน พลังของเส้น สี น้ำหลัก รูปทรง และพื้นผิว ไม่ได้ถูกกรอบกระจกลิดรอน อำนาจของมัน ผลงานจึงดูราวกับเปล่าเปลือยและดิบให้อารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ตรงนี้เองทำให้เสน่ห์ของผลงานในรูปแบบวาดเส้นแสดงออกมาอย่างเต็มที่ เพราะหากดูการแสดงผลงานเป็นส่วนใหญ่แล้ว วาดเส้นหรืองานกระดาษมักถูกอัดใส่กรอบอย่างอึดอัด ยัดเยียดเชิดชูราวสินค้าในห้างสมัยใหม่ (modern trend) ดังนั้นการนำเสนอในรูปแบบผลงานที่เปลือยเปล่า กับรูปลักษณ์ของผลงานที่ดูเปลือยๆ (nude) ก็ยิ่งชักพาให้เกิดคามรู้สึกกระทบได้ง่ายกว่าจะถูกปิดกั้นจากการลิดรอนโดยแผ่นกระจก

ผลงานวาดเส้นของ บุษราพร ในชุดนี้มิได้แสดงความต้องการความเท่าเทียมกันหรือให้ฝ่ายสตรีและเพศที่สามต้องเป็นผู้นำในสังคม แต่เธอกำลังจะแสดงถ้อยแถลงถึงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพศ แต่ละเพศมิได้เกิดมาโดยการคัดเลือกของตัวเอง แต่เป็นการมอบให้ของธรรมชาติ ในขณะที่ธรรมชาติเองก็มิได้ตีกรอบให้มนุษย์จำนนกับเพศสภาพของตน แล้วมนุษย์เองเล่าเหตุใดจึงต้องตั้งอคติต่อเพื่อนมนุษย์ต่างเพศแต่เผ่าพันธุ์เดียวกัน แนวคิดดังกล่าวสื่อออกมาในรูปของมนุษย์พันธุ์ผสม ที่มีสองเพศอยู่ในตัวเดียวกัน ภาพลักษณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมามิได้เจตนานำเสนอความอนาจารต่อสังคม เป็นเพียงการเปิดเผยแก่นของความคิดที่เธอต้องการให้ผู้ดูได้เข้าร่วมจิตนาการโดยตรงมากกว่าจะกระมิดกระเมี้ยนสะเทิ้นอายอย่างอดีต

ความเปลือยเปล่าของรูปลักษณ์ในผลงานของเธอไม่ได้ให้ความรู้สึกเรื่องเพศสัมพันธ์ ไม่ได้เจตนาให้เกิดอารมณ์ปฏิพัทธ์แต่อย่างใด เนื่องจากรูปร่างที่บิดเบี้ยว มีการลดทอนรูปทรงให้ผิดแผกจากธรรมชาติ ก็ย่อมลดความพึงพอใจในรูปร่างที่สมบูรณ์แบบดรุณีแรกรุ่น กลับให้คุณค่าที่ลึกซึ้งราวบทกวีที่เริงระบำด้วยเส้นสีที่ไร้กระบวนท่า ทว่าจังหวะพลิ้วไหวราวกิ่งไผ่ต้องลมแผ่ว

ผลงานของเธอได้ทำให้ผู้ดูได้คิดพิจารณาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับเพื่อนมนุษย์รอบตัว ว่าที่แท้จริงแล้วความแตกต่างทางเพศหาใช่ความแปลกแยกใดๆ หากแต่เป็นการเติมเต็มในส่วนที่ขาดของแต่ละคนให้เกิดความหลากหลายที่ลงตัว อคติเรื่องเพศที่เคยถูกสอนว่าดีหรือไม่ดีถูกท้าทายโดยผลงานของเธอ แม้ว่าในทางสรีระภายนอกจะเป็นเพศใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวตนภายในของแต่ละบุคคลจะต้องเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่ถูกคัดสรรมาแล้ว

สุดท้ายแล้วจึงเกิดคำถามที่ว่า “ธรรมชาติหรืออะไรกันแน่ที่ยัดเยียดความเป็นเพศให้กับมนุษย์เรา?”

สุริยะ ฉายะเจริญ (กรุงเทพฯ: 2552)
ที่มา: สูจิบัตรโครงการศิลปกรรม Brand New 2009