วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

ภาพทิวทัศน์บนศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ยุคสมัยเอโดะ (Ado Period)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
                ภาพพิมพ์แกะไม้ยุคสมัยเอโดะหรือภาพพิมพ์ยูกิโยเอะ (Ukiyo-e) เป็นยุครุ่งเรืองของภาพพิมพ์แกะไม้ ยูกิโยเอะไม่ไช่สกุลช่างทางศิลปะ หากแต่เป็นความเคลื่อนไหวการสร้างสรรค์จิตรกรรมและภาพพิมพ์ที่ต้องการนำเสนอสาระของสภาพชีวิตชนชั้นกลางอันแสนสามัญในยุคนั้น (ภาพที่ 1)
แรกเริ่มทีเดียวภาพพิมพ์ยูกิโยเอะดำรงสถานภาพตัวเองเป็นเพียงสื่อโฆษณาหรือเป็นลักษณะพานิชศิลป์ (Commercial Art) อาทิเช่น ป้ายโฆษณา โปสเตอร์แผ่นประกาศกำหนดการแสดงละคร ภาพสวยงามประดับบ้าน และภาพโป๊ (Pornographic Print) เป็นต้น ซึ่งแนวคิดของภาพพิมพ์ยูกิโยเอะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยภายนอกหรืออิทธิพลศิลปะจากจีน แต่เป็นพัฒนาการจากสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้นที่ต้องการหาสุนทรียภาพอย่างง่ายๆ ลักษณะของเนื้อหาของภาพจึงออกมาในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคม เช่น ภาพแหล่งบันเทิง ย่านโลกีย์ ทิวทัศน์ที่ดูสบายสวยงาม เป็นต้น
ด้วยเหตุดังกล่าว ยูกิโยเอะ จึงมีความหมายถึง ภาพของโลกที่ล่องลอย (Floating world) หรือโลกที่ไม่มีความแน่นอน หรือโลกมายา หรือโลกแห่งความฟุ้งเฟ้อสนุกสนานไร้สาระ[1] ซึ่งแนวคิดของชื่อเองก็ได้สะท้อนความเป็นไปของยุคสมัยนั้นได้อย่างดีเยี่ยม

                   
ภาพที่ 1 “View of Mount Fuji from Harajuku” (1850) โดย Hiroshige แสดงถึงชีวิตสามัญ
ที่มา: Wikipedia, Ukiyo-e, [Online] accessed 16 January 2010. Available from
http://en.wikipedia.org/wiki/Ukiyo-e

ลักษณะภาพพิมพ์ยูกิโยเอะสามารถผลิตได้เป็นจำนวนที่มากกว่าสื่อหรือศิลปะในด้านอื่น อีกทั้งผลิตได้ในเวลาที่ไม่ช้าจนเกินไปและมีความสะดวกในการเก็บสะสม ประกอบกับภาพลักษณ์ของผลงานดูง่ายซึ่งตรงกับรสนิยมของคนญี่ปุ่นในยุคนั้น และที่สำคัญคือมีราคาที่ไม่สูงนัก ภาพพิมพ์ยูกิโยเอะจึงกลายเป็นที่นิยมกันมาก ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้เอง ภาพพิมพ์ยูกิโยเอะจึงมีการพัฒนาทั้งทางด้านกระบวนการผลิตและรูปแบบการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าทางสุทรียภาพอย่างสูงตราบจนปัจจุบัน
รูปแบบ
แรกเริ่มภาพพิมพ์ยูกิโยเอะเป็นภาพที่แสดงออกถึงความงามเชิงเส้น ใช้ลักษณะของเส้นเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ของตัวภาพ (Linear space) ไม่มีการสร้างแสงเงาเป็นเพียงแผ่นสีเรียบๆ ผลงานจึงดูเป็น 2 มิติแบนๆ (decorative spatial concept) ไม่ได้สร้างมิติด้วยน้ำหนักของภาพเท่าไร ดังนั้นในยุคต้นๆจะสร้างผลงานในลักษณะเป็นเพียงเส้นหรือมีลักษณะที่เป็นสีแบบเอกรงค์ (ภาพที่ 2)

                 
ภาพที่ 2 “Bathhouse Women โดย Torii Kiyonaga ใช้เส้นเป็นหลักมีลักษณะสีเอกรงค์
            ที่มา:
Wikipedia, Torii Kiyonaga, [Online] accessed 17 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Torii_Kiyonaga
สี
ในระยะแรกจะมีการใช้ลักษณะโครงสีแบบเอกรงค์ (Monochrome) ใช้เพียงสีโทนเดียวหรือ 2-3 สี แต่ต่อมาด้วยปัจจัยต่างๆทำให้ศิลปินภาพพิมพ์ได้พัฒนาผลงานออกมาให้ดูสวยสดงดงามขึ้น มีการสร้างแม่พิมพ์โดยใช้สีที่มากขึ้น มีสีสันที่สดใสดูราวกับผลงานจิตรกรรม แม้จะมีการสร้างให้สีมีความอ่อนแก่ที่ต่างกันเพื่อผลทางมิติ ทว่าก็มิได้ทำให้เกิดความลึกของภาพเท่าใดนัก หากแต่จะใช้เส้นเป็นตัวสร้างมิติมากกว่าใช้สี
องค์ประกอบ
          ลักษณะเด่นของการจัดองค์ประกอบของภาพพิมพ์ยูกิโยเอะคือ
                ประการที่หนึ่ง พื้นหลังของภาพ (Background) มักสร้างเป็นพื้นที่อันไร้ขอบเขต (Infinite space) ไม่สร้างให้เป็นขอบเขตจำกัด ทั้งนี้อาจจะเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดที่เกี่ยวกับโลกแห่งความล่องลอยตามนิยามยูกิโยเอะ: ภาพของโลกที่ล่องลอย (Floating world)
                ประการที่สอง ภาพพิมพ์ยูคิโยเอะจะจัดองค์ประกอบภาพแบบอสมมาตร (Unbalance) กล่าวคือองค์ประกอบของด้านแต่ละด้านจะมีลักษณะที่ไม่เท่ากัน
                ประการที่สาม ใช้เส้นดำเป็นตัวกำหนดขอบเขตของรูปร่างในภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ภาพมีลักษณะเป็นแบบ 2 มิติ แม้ว่าผลงานของศิลปินบางคนจะมีการไล่ค่าน้ำหนักก็ตาม แต่ด้วยความชัดเจนของเส้นจึงทำให้ภาพไม่เกิดมิติแบบเหมือนจริง (ภาพที่ 3)

                                 
ภาพที่ 3 “Asakusa Hongan-ji temple in the Eastern capitalโดย Hokusai
มีลักษณะเด่นขององค์ประกอบทั้ง 3 ประการ
ที่มา:
Wikipedia, Thirty-six Views of Mount Fuji, [Online] accessed 16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/36_Views_of_Mount_Fuji_(Hokusai)

วิธีการสร้าง
วิธีการพิมพ์ข้อความและตัวภาพจะคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็แต่ตรงปริมาณที่พิมพ์ และความซับซ้อนของสีที่ใช้ถ้าเป็นการพิมพ์ภาพ ภาพประกอบหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นภาพเอกรงค์ที่ใช้หมึกดำเท่านั้น และในช่วงระยะเวลาหนึ่งการพิมพ์งานศิลปะจะเป็นแต่การพิมพ์เอกรงค์หรือเพียงสองหรือสามสีเท่านั้น
การพิมพ์ก็จะเริ่มด้วยการวาดตัวหนังสือหรือภาพบน กระดาษวะชิ” (washi) และปิดบนแผ่นไม้ที่มักจะเป็นไม้เชอร์รี จากนั้นก็จะทำการแกะไม้ตามรอยที่วาดไว้ในรูป หลังจากนั้นก็ใช้ ประคบบะเร็ง (Baren) กดกระดาษให้ติดกับพิมพ์ที่ทาหมึกเพื่อให้ลวดลายหรือตัวหนังสือปรากฏบนกระดาษ ในระยะแรกการประคบก็อาจจะทำด้วยมือแต่ต่อมาก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในตรึงแม่แบบไว้ให้แน่นก่อนที่จะกดพิมพ์ ซึ่งทำให้การพิมพ์หลายสีทำได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องการจะพิมพ์สีแต่ละสีซ้อนไปบนสีที่พิมพ์อยู่แล้วอย่างเหมาะเจาะ
ดังที่กล่าวแล้วว่าเนื้อหาของหนังสือและภาพส่วนใหญ่ที่พิมพ์จะเป็นเอกรงค์ แต่ความนิยมภาพยูกิโยเอะที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการของจำนวนสีที่ใช้และความซับซ้อนในการพิมพ์มากและซับซ้อนตามขึ้นไปด้วย การวิวัฒนาการของการพิมพ์แบ่งได้เป็นช่วงๆ ดังนี้
ภาพพิมพ์หมึก (Sumizuri-e) - ภาพพิมพ์เอกรงค์ที่ใช้แต่หมึกดำ
ภาพพิมพ์สีแดง (Benizuri-e) - ภาพพิมพ์ที่มีรายละเอียดเป็นหมึกสีแดง หรือเน้นด้วยมือด้วยหมึกสีแดงหลังจากที่พิมพ์เสร็จแล้ว หรือบางครั้งก็จะใช้สีเขียวด้วย
ภาพพิมพ์เน้นสีส้ม (Tan-e) - ภาพพิมพ์ที่เน้นด้วยสี่ส้มโดยใช้รงควัตถุสีแดงที่เรียกว่า tan
ภาพพิมพ์สีครามหรือภาพพิมพ์สีม่วง (Aizuri-e), (Murasaki-e) และภาพพิมพ์ลักษณะอื่นที่เพิ่มสีขึ้นอีกหนึ่งสีนอกไปจากสีดำ หรือแทนที่สีดำ
ภาพอุรุชิ ( Urushi-e) ภาพพิมพ์ที่ใช้กาวผสมสีเพื่อให้สีมีความหนาขึ้นทำให้ภาพดูเข้มข้นขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีการประดับด้วยทอง ไมคา และ วัตถุอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางศิลปะของภาพให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นภาพอุรุชิยังหมายถึงการวาดภาพบนเครื่องแล็คเคอร์แทนที่จะเพียงแต่ทาสีด้วย
ภาพนิชิคิ (Nishiki-e) เป็นวิธีการพิมพ์ที่ใช้แม่แบบหลายแม่แบบที่แต่ละแม่แบบก็สร้างขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ ที่ทำให้สามารถใช้ในการพิมพ์ภาพที่มีหลายสีที่สร้างความซับซ้อนและรายละเอียดให้แก่ภาพได้ แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะแกะขึ้นต่างหากจากกัน และจะใช้แต่เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพเฉพาะสีเดียวเท่านั้น แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะได้รับเครื่องหมายที่เรียกว่า เคนโต เพื่อที่จะได้ประสานแม่พิมพ์ส่วนต่างของภาพได้อย่างสะดวก[2]
คะสึชิกะ โฮะกุไซ (Katsushika Hokusai: 1760 - 1849)
                คะสึชิกะ โฮะกุไซ เป็นศิลปินภาพพิมพ์ยูกิโยเอะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง เขามีทักษะทางศิลปะที่สูง สร้างทั้งผลงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ และภาพประกอบต่างๆ เขาเป็นผู้ที่รักการศึกษาสรรพสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ ผู้คน สัตว์ นก ดอกไม้ และแมลงโดยได้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ
                โฮะกุไซมักเดินทางอยู่เสมอ เขาศึกษาวิธีการวาดภาพทิวทัศน์ของจิตรกรยุโรปด้วยตนเองอย่างช่ำชอง โดยเฉพาะการศึกษาวาดภาพทิวทัศน์ของจิตรกรสกุลช่างชาวดัตช์ จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ถึงลักษณะต่างๆ แล้วจึงสังเคราะห์เป็นผลงานให้กลายเป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง แต่กระนั้นก็ตามเขาก็ไม่ได้นิยมในการจัดวางองค์ประกอบที่เน้นให้เห็นมิติของภาพที่มากมาย แต่พอใจกับการวางองค์ประกอบแบบเรียบง่าย ชัดเจน เน้นความสวยงามเชิงตกแต่ง แสดงออกถึงโลกที่สดสวยผ่านผลงานภาพพิมพ์แกะไม้

                                   
ภาพที่ 4 “Great Wave off Kanagawa” (1829–32) ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Hokusai
ที่มา: Wikipedia, The Great Wave off Kanagawa, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/The_Great_Wave_off_Kanagawa

โฮะกุไซเป็นจิตรกรอยู่เป็นเวลานานแต่งานชิ้นสำคัญๆเกิดขึ้นหลังจากที่อายุ 60 แล้ว งานที่มีชื่อเสียงที่สุดชุด ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิเขียนระหว่าง ค.ศ. 1826 ถึง ค.ศ. 1833 ที่อันที่จริงแล้วมีด้วยกันทั้งหมด 46 ภาพ (10 ภาพเป็นภาพที่มาเขียนเพิ่มภายหลัง)[3] ซึ่งนักทฤษฎีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะเห็นพ้องต้องกันว่านี่เป็นภาพทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ภาพหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพที่รู้จักกันไปทั่วโลกอย่างภาพ คลื่นใหญ่นอกคะนะงะวะ (Great Wave off Kanagawa)[4] (ภาพที่ 4) หรือ ภาพฟ้าผ่าด้านล่างภูเขา และ ภาพฟูจิแดงเช้าวันอากาศดีจากลมทางทิศใต้ (Red Fuji southern wind clear morning) (ภาพที่ 5)

                                     
ภาพที่ 5 “Red Fuji southern wind clear morningหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Hokusai
ที่มา: Wikipedia, Thirty-six Views of Mount Fuji, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Thirty-six_Views_of_Mount_Fuji

อุตะงะวะ ฮิโระชิเงะ (Utagawa Hiroshige: 1797-1858)
                อุตะงะวะ ฮิโระชิเงะ เริ่มมีชิอเสียงจากผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ชุดผู้หญิงสาวสวย ต่อมาเมื่อได้ตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองโดยมีลูกศิษย์และเป็นลูกมือด้วย เขาก็หันไปสร้างผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนกและดอกไม้ จากนั้นมาก็หันมาสร้างผลงานแนวทิวทัศน์และทำต่อเนื่องจวบจนตลอดชีวิต
                ผลงานของฮิโระชิเงะมีความโดดเด่นเรื่องการใช้สีและแสงที่แสดงความเป็นไปของบรรยากาศตามแต่ละฤดูกาลได้อย่างสวยงาม คล้ายกับวิธีการบันทึกบรรยากาศสีของศิลปินกลุ่มอิมเพรชชั่นนิสม์ในตะวันตก (Impressionism)  และด้วยความที่เขาเองก็เป็นจิตรกรเช่นเดียวกันเขาจึงมักออกเดินทางเพื่อศึกษาภูมิทัศน์ต่างๆอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับโฮะกุไซ แต่ลักษณะผลงานของเขาจะแสดงออกถึงความละเมียดละไมของบรรยากาศในภาพ มีอารมณ์เชิงกวี มีความสงบ โดดเดี่ยว สันโดษ และอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนอารมณ์โดยรวมของชาวญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ
ผลงานชุด ทัศนียภาพ 8 ทางของทะเลสาบบิวะ (Eight Views of Lake Biwa) และ สถานที่สำคัญ 10 แห่งทางตะวันออกของเมืองหลวง (Ten Famous Places in the Eastern Capital) ภาพสองชุดนี้ได้รับความสำเร็จพอประมาณ แต่ในปี ค.ศ. 1832 ฮิโระชิเงะได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทูตโชกุนในพระราชสำนักหลวงที่เกียวโต ขณะที่เดินทางไปเกียวโต ฮิโระชิเงะก็สังเกตทิวทัศน์ของถนนโทไกโด (Tokaido road) หรือถนนฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นถนนที่คดเคี้ยวเลียบฝั่งทะเลและภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะไปพลาง ผ่านทะเลสาบบิวะจนในที่สุดก็ถึงเกียวโต เขาจึงสร้างผลงานซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางครั้งนั้น ในชุด สถานี 53 สถานีบนเส้นทางโตไกโด (The Fifty-Three Stations of the Tokaido) (ภาพที่ 7)ซึ่งเป็นงานพิมพ์ที่ประสพความสำเร็จมากและสร้างชื่อเสียงให้ฮิโระชิเงะเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว[5]

                
ภาพที่ 6 (ซ้าย) "Great Bridge, Sudden Shower at Atake" ผลงานในชุด One Hundred Famous Views of Edo ของ Hiroshige เป็นต้นแบบภาพ"The Bridge in the Rain" ของ Vincent Van Gogh (ขวา)
ที่มา: Wikipedia, Hiroshige, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/File:Hiroshige_Van_Gogh_2.JPG

ภาพที่ 7 “Night Snow at Kambara" ผลงานในชุด The Fifty-Three Stations of the Tokaido ของ Hiroshigeที่มา: Wikipedia, Hiroshige, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/File:Hiroshige_nuit_de_neige_%C3%A0_Kambara.JPG




[1] กำจร สุนพงษ์ศรี, ประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551), 170.
[2] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น, [Online] accessed 15 January 2010. Available from http://th.wikipedia.org/wiki
[3] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, คะสึชิกะ โฮะกุไซ, [Online] accessed 16 January 2010. Available from http://th.wikipedia.org/wiki
[4] ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์, คะซึชิคะ โฮะกุไซ Katsushika Hokusai, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, 2552), ไม่ปรากฏเลขหน้า.
[5] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, อุตะงะวะ ฮิโระชิเงะ, [Online] accessed 16 January 2010. Available from http://th.wikipedia.org/wiki

2 ความคิดเห็น: