วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

การสร้างสรรค์วาดเส้น จิตรกรรม และจิตรกรรมดิจิทัล ชุด “วัดเซนโซจิ 2018”

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
(Drawing, Painting and Digital Painting Series "Sensoji Temple 2018")

บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 24 ประจำปี 2562, หน้า 153-159.

บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการอธิบายกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานวาดเส้น จิตรกรรม และจิตรกรรมดิจิทัล ชุด “วัดเซนโซจิ 2018” โดยผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางไป ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และวิเคราะห์เป็นแนวความคิดและนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลงานสร้างสรรค์ที่สำเร็จสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ วาดเส้น วาดเส้นผสมสีน้ำ จิตรกรรมสีอะคลิลิค และจิตรกรรมดิจิทัล ซึ่งแต่ละประเภทล้วนมีข้อเด่นและข้อด้อยที่เหมือนและต่างกัน แต่การแสดงออกของความหมายของผลงานยังคงแสดงออกได้ชัดเจนว่าสามารถสื่อสารที่อยู่ภายใต้แนวความคิดสรุป อันแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่เกิดจากการบูรณาการระหว่างวิถีทางวัฒนธรรมและความศรัทธาของพื้นที่ทางจิตวิญญาณกับบริบทของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในโลกสมัยใหม่ของวัดเซนโซจิ

คำสำคัญ: การสร้างสรรค์ วาดเส้น จิตรกรรม จิตรกรรมดิจิทัล วัดเซนโซจิ

Abstract
This article is intended to describe the creative process of drawing, painting and digital painting series "Sensoji Temple 2018". The author was inspired by his trip to Tokyo, Japan. And analysis is a concept and lead to a systematic process. Successful creative works can be divided into four categories: drawing, drawing watercolor, acrylic and digital painting. Each type has its own advantages and disadvantages that are identical and different. But the expression of the meaning of the work still expresses clearly that communication can be concluded under the concept. It represents the identity created by the integration between the cultural and spiritual pathways of the spiritual realm and the context of Sensoji Temple's modern world travel.
Keyword: creative, drawing, painting, digital painting, Sensoji Temple
บทนำ
การสร้างสรรค์ภาพวาดเส้น (Drawing)  จิตรกรรม (Painting) และจิตรกรรมดิจิทัล (Digital Painting)  ชุด “วัดเซนโซจิ 2018” เป็นการใช้เทคนิคทั้ง 3 ประเภทนี้มาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของผู้เขียนที่มีเป้าหมายในการสื่อถึงวัดเซนโซจิในประเทศญี่ปุ่น โดยภาพวาดเส้นในบทความนี้หมายถึงร่องรอยที่เกิดจากการใช้มือลากเส้นด้วยปากกาหมึกดำปลายแหลมลงบนกระดาษเพื่อสร้างรูปร่างที่แสดงออกมาเป็นรูปภาพที่แสดงเค้าโครงของความหมายของที่สิ่งหมายถึง ขณะที่ภาพจิตรกรรมในที่นี้หมายถึงการผสมผสานวาดเส้นและการระบายสีเข้าด้วยกันด้วยเทคนิควิธีการผสมผสานเพื่อให้แสดงร่องรอยของเส้นและสีที่แสดงเค้าโครงของรูปร่าง ฝีแปรง และสีสันที่แสดงถึงความหมายของสิ่งที่หมายถึง ส่วนจิตรกรรมดิจิทัลในผลงานชุดนี้หมายถึงการแสดงออกด้วยเทคนิคการวาดเส้นและจิตรกรรมที่เกิดร่องรอยจากการวาดและระบายสีบนผิวหน้าจอของไอแพ็ด (iPad) ให้ปรากฏเค้าโครงของรูปร่างและสีสันที่ป็นไฟล์ภาพดิจิทัล ซึ่งแต่ละเทคนิคล้วนมีคุณลักษณะเด่นในรูปแบบเฉพาะตัวที่แตกต่างกันผ่านแรงบันดาลใจและแนวความคิดเดียวกันภายใต้รูปแบบของภาพภูมิทัศน์เมืองตามแนวทางของกลุ่ม“เออร์เบินสเก็ตเชอร์ส” (Urban Sketcher) (Marc Taro Holmes, 2014: 8)

วัตถุประสงค์
บทความนี้เป็นการอธิบายกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานวาดเส้น จิตรกรรม และจิตรกรรมดิจิทัล ชุด “วัดเซนโซจิ 2018” โดยอธิบายแรงกระบวนการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ลักษณะสำคัญ และองค์ความรู้ที่ได้จากการสร้างสรรค์

ขอบเขตการสร้างสรรค์
ผลงานที่นำมาวิเคราะห์ในชุดนี้สร้างสรรค์ขึ้นทั้งหมดจำนวน 8 ภาพ โดยรูปแบบของภาพภูมิทัศน์เมืองที่ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างของวัดเซนโซจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์

ประโยชน์ที่ได้รับ
บทความนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการและวิเคราะห์ผลงานสร้างสรรค์วาดเส้น จิตรกรรม และจิตรกรรมดิจิทัล ชุด “วัดเซนโซจิ 2018” ที่มีแรงบันดาลใจและแนวความคิดเดียวกัน หากแต่เทคนิคการแสดงออกที่ต่างกันย่อมมีผลต่อปรากฏการณ์ทางการเห็นเชิงกายภาพ

แรงบันดาลใจ
          ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ผลงานวาดเส้น จิตรกรรม และจิตรกรรมดิจิทัลชุดนี้ จากการเดินทางไป ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเก็บข้อมูล วัดเซ็นโซจิ หรืออาซากุสะคันนง (Asakusa Kannon) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งวัดแห่งนี้ถือเป็นวัดในศาสนาพุทธที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคคันโต (Kanto) และเป็นสถานที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะฉะนั้น วัดเซ็นโซจิจึงเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายที่เข้ามาเยือน ทั้งจากการเข้ามาแสวงบุญและการท่องเที่ยว บริเวณอันกว้างของวัดเซ็นโซจิ จึงเป็นมีแหล่งการค้าและบริการด้านต่างๆ รายรอบพื้นที่เพื่อจากรองรับผู้คนทั่วโลกที่เข้ามา โดยวัดเซ็นโซจิมีความโดดเด่นในอัตลักษณ์ของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ประกอบไปด้วยมิติของพื้นที่ทางจิตวิญญาณและมิติของพื้นที่การท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลักษณะอันสำคัญของวัดเซ็นโซจิจึงแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการระหว่างร่องรอยของอารยธรรมโบราณกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคปัจจุบัน

แนวความคิด
วัดเซนโซจิแห่งย่านอาซากุสะ คือ ภาพแทนทางวัฒนธรรมของกรุงโตเกียวที่ผสมผสานระหว่างมิติของพื้นที่ทางจิตวิญญาณและความศรัทธาเดิมกับพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการจัดการเชิงบูรณาการระหว่างรากเหง้าของอารยธรรมที่สืบทอดมาจากอดีตกับทุนนิยมในสภาวะสมัยใหม่ของญี่ปุ่นด้วยการประกอบสร้างความหมายใหม่ทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดยปรับพื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ทางวัฒนธรรมไปสู่พื้นที่ของการท่องเที่ยวอันสอดรับกับอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่ผสมผสานอย่างลงตัวจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นในโลกสมัยใหม่ (สุริยะ ฉายะเจริญ, 2561)

รูปแบบการนำเสนอ
          รูปแบบการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ วาดเส้น วาดเส้นผสมสีน้ำ จิตรกรรมสีอะคลิลิค และจิตรกรรมดิจิทัล โดยนำเสนอรูปลักษณ์ของภูมิทัศน์ที่แสดงอัตลักษณ์ของวัดเซ็นโซจิที่สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง ประชาชน และบริบทต่างๆ

เทคนิคการสร้างสรรค์
1.       วาดเส้น เป็นผลงานที่เกิดจากการใช้ปากกาดำลากเส้นลงบนกระดาษสีขาวเพื่อให้เกิดร่องรอยของเส้นที่แสดงลักษณะเค้าโครงเส้นรอบนอกของรูปร่าง
2.       วาดเส้นผสมสีน้ำ เป็นเทคนิคการใช้พู่กันหมึกดำลากเส้นวาดโครงร่างของรูปลักษณ์แล้วจึงใช้สีน้ำระบายทับเพื่อให้เกิดร่องรอยของสี
3.       จิตรกรรมสีอะคลิลิค เป็นเทคนิคที่ใช้สีอะคลิลิคในการวาดและระบายสีลงบนผ้าใบ โดยแสดงเส้น สี รูปร่าง และพื้นผิว เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกและความประทับใจขงผู้เขียน
4.       จิตรกรรมดิจิทัล เป็นเทคนิคในแอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชบุ๊ก (Autodesk Sketchbook Application) บนไอแพ็ด เพื่อให้เกิดรูปร่างที่เป็นไฟล์ภาพดิจิทัลที่แสดงออกถึงเนื้อหาสาระสำคัญตามแนวความคิด

ขั้นตอนการสร้างสรรค์
1.       เดินทางเก็บข้อมูล ณ วัดเซนโซจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561
2.       สำรวจและสังเกตสภาพแวดล้อมในพื้นที่วัดเซนโซจิ
3.       การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลเพื่อการเก็บข้อมูล ณ สถานที่จริง
4.       นำข้อมูลภาพผสมผสานกับประสบการณ์มาประมวลเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
5.       วิเคราะห์แรงบันดาลใจสู่การประกอบสร้างเพื่อให้ได้เป็นแนวความคิด
6.       ปฏิบัติการวาดเส้น และวาดเส้นผสมสีน้ำ ในสถานที่และเวลาจริง
7.       คัดเลือกภาพถ่ายที่สัมพันธ์กับแนวความคิดมาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์จิตรกรรมสีอะคลิลิค และจิตรกรรมดิจิทัล
8.       สร้างจินตภาพสมมุติเพื่อพัฒนาองค์ประกอบของภาพโดยตัดทอนหรือสร้างเสริมให้เป้าหมาย
9.       การสร้างสรรค์จิตรกรรมสีอะคลิลิคบนผ้าใบ และการสร้างจิตรกรรมดิจิทัลด้วยไอแพ็ด
10.   เมื่อสร้างสรรค์ผลงานเสร็จแล้ว เก็บผลงานและไฟล์ภาพไว้เพื่อป้องการไฟล์สูญเสียหรือสูญหาย
11.   ผลงานบางส่วนเผยแพร่ผ่านสื่อสังคม
12.   เผยแพร่ผ่านนิทรรศการ “Inspiration from Japan: หลากเรื่องเล่าจากแดนอาทิตย์อุทัย” ณ หอศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในเดือนมกราคม พ.ศ.2562 

ผลงานที่สำเร็จ
          ผลงานสร้างสรรค์วาดเส้น จิตรกรรม และจิตรกรรมดิจิทัล ชุด “วัดเซนโซจิ 2018” สามารถแบ่งตามลักษณะเชิงเทคนิคการสร้างสรรค์ออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ภาพ “บันทึกเส้นวัดเซ็นโซจิ 01(ภาพที่ 1) และ “บันทึกเส้นวัดเซ็นโซจิ 02(ภาพที่ 2) สร้างขึ้นด้วยเทคนิควาดเส้นที่สร้างสรรค์อย่างฉับพลัน โดยบันทึกความประทับใจที่เห็นด้วยการลากเส้นอย่างมีอิสรภาพในการทิ้งร่องรอยเพื่อแสดงความรู้สึกอันทันทีทันใดของผู้สร้างสรรค์ แสดงออกถึงมิติด้วยทิศทางของเส้นและสัดส่วนของรูปร่างต่างๆ ไม่ได้แสดงมิติผ่านน้ำหนักเพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงสมบูรณ์ และลายเส้นเพื่อแสดงรูปโครงร่างของสถาปัตยกรรมและบริบทอื่น ให้เกิดความหมายอันเป็นภาพแทน


ภาพที่ 1 บันทึกเส้นวัดเซ็นโซจิ 01

ภาพที่ 2 บันทึกเส้นวัดเซ็นโซจิ 02

ประเภทที่ 2 ภาพ “ผู้คนหน้าวิหารประธานวัดเซ็นโซจิ” (ภาพที่ 3) และ “เจดีย์ประธานวัดเซ็นโซจิ” (ภาพที่ 4) สร้างขึ้นด้วยเทคนิควาดเส้นผสมกับสีน้ำ เป็นการผสมผสานระหว่างการเขียนเส้นด้วยหมึกดำแล้วระบายสีน้ำทับ ซึ่งความแข็งแกร่งของน้ำหนักที่วาดอย่างอิสระช่วยสร้างภาพมีโครงร่างที่ชัดเจน ขณะที่สีน้ำที่ระบายลงไปบนกระดาษเป็นตัวช่วยสร้างสีสันอย่างเบาเบา ร่องรอยที่เคลื่อนไหว ใช้ลักษณะของเส้นนำสายตาและสัดส่วนของภาพตัวแทนสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งแสดงระยะ
ภาพที่ 3 ผู้คนหน้าวิหารประธานวัดเซ็นโซจิ

ภาพที่ 4 เจดีย์ประธานวัดเซ็นโซจิ

ประเภทที่ 3 ภาพ “บูรณาวิถีระหว่างศรัทธากับทุนนิยม 01 (ภาพที่ 5) และ “บูรณาวิถีระหว่างศรัทธากับทุนนิยม 02 (ภาพที่ 6) สร้างขึ้นด้วยเทคนิควาดและระบายจิตรกรรมสีอะคริลิคบนผ้าใบ มีลักษณะของการใช้สีสด คุณภาพของปริมาณสีที่เหนียวข้นกว่าสีน้ำทำให้เกิดร่องรอยของฝีแปรงได้เด่นชัด เกิดเป็นพื้นผิวที่หนาขึ้น แสดงออกอารมณ์ความรู้สึกของผู้สร้างสรรค์ผ่านร่องรอยของรอยแปรงที่ฉับพลันและพื้นผิวได้อย่างชัดเจนกว่าสีน้ำ ใช้ทัศนียวิทยาเชิงเส้น (Linear Perspective) มาเป็นหลักสร้างมิติ หากแต่ด้วยความเข้มของน้ำหนักสีทำให้ลักษณะของภาพแสดงออกถึงความแบนตามแนวงานจิตรกรรมแบบสมัยใหม่ (Modern Art)


ภาพที่ บูรณาวิถีระหว่างศรัทธากับทุนนิยม 01


ภาพที่ 6 บูรณาวิถีระหว่างศรัทธากับทุนนิยม 02

ประเภทที่ 4 ภาพ “วิหารประธานวัดเซ็นโซจิ” (ภาพที่ 7) และ “ประตูโฮโซมอน” (ภาพที่ 8) สร้างขึ้นด้วยเทคนิคจิตรกรรมดิจิทัล เป็นการสร้างภาพจิตรกรรมบนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกเป็นไฟล์ภาพอันเกิดจากการรวมสีจากพิกเซล (Pixel) มีคุณลักษณะของสีสันที่สดใส ชัดเจน มีน้ำหนัก ทัศนียวิทยาเชิงเส้น และมิติของสี แต่ไม่สามารถแสดงคุณลักษณะของรอยฝีแปรงและพื้นผิวในเชิงกายภาพ เนื่องจากตัวผลงานเป็นไฟล์ในระบบดิจิทัล ถึงแม้จะพิมพ์ออกมาเพื่อนำไปจัดแสดงก็ตาม แต่พื้นผิวเชิงกายภาพก็เป็นลักษณะแบน


ภาพที่ 7 วิหารประธานวัดเซ็นโซจิ


ภาพที่ 8 ประตูโฮโซมอน

คุณลักษณะเด่นของผลงาน
ตารางที่ 1 ตารางประเมินสรุปคุณลักษณะเด่น




องค์ความรู้ที่เกิดจากการสร้างสรรค์
บทความนี้เป็นการศึกษากระบวนการสร้างสรรค์อันนำไปสู่การอธิบายเพื่อให้เห็นถึงกระบวนการสร้าง สรรค์ การวิเคราะห์ และทบทวนผลงานสร้างสรรค์โดยผู้เขียนในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์เอง ผู้เขียนพบว่า นักสร้างสรรค์ในสายงานของการศึกษาต้องเป็นนักวิชาการควบคู่กันไปด้วยเพื่อนำไปสู่การบูรณาการกับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา โดยการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรยายสอนในรายวิชา 145-214 ทัศนศิลป์เพื่อการผลิตสื่อ และ 145-493 สัมมนาการผลิตสื่อดิจิทัล หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสยาม นอกจากนั้น บทความนี้ยังแสดงถึงมาตรฐานการการผสมผสานระหว่างการสร้างสรรค์และงานวิชาการอย่างเป็นระบบโดยสังเขป เพื่อใช้เป็นเค้าโครง แบบอย่าง และกรณีศึกษาในการเขียนบทความวิชาการประกอบผลงานสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคตให้กับศาสตร์สาขาต่างๆ ด้วย

สรุป
การสร้างสรรค์ผลงานในชุดนี้เป็นการใช้แรงบันดาลใจและแนวความคิดเดียวกันผ่านเทคนิคการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ที่ใช้เทคนิค 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทล้วนมีข้อเด่นและข้อด้อยที่เหมือนและต่างกัน แต่การแสดงออกของความหมายของผลงานยังคงแสดงออกได้ชัดเจนว่าสามารถสื่อสารที่อยู่ภายใต้แนวความคิดสรุปที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์อันเกิดจากการบูรณาการระหว่างวิถีทางวัฒนธรรมที่มีความศรัทธาของพื้นที่ทางจิตวิญญาณกับบริบทของการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในโลกสมัยใหม่ของวัดเซนโซจิ ซึ่งประเด็นนี้คือลักษณะอันโดดเด่นของวัดเซนโซจิที่เสมือนภาพแทนของเป็นสถานที่อันสำคัญแห่งหนึ่งที่แสดงความเป็นประเทศญี่ปุ่นที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกโดยพัฒนาไปพร้อมกับความเจริญในในโลกทุนนิยมจนกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ข้อเสนอแนะ
          บทความนี้เป็นการอธิบายกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานวาดเส้น จิตรกรรม และจิตรกรรมดิจิทัล ชุด “วัดเซนโซจิ 2018” ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนเตรียมการเผยแพร่ในรูปแบบนิทรรศการศิลปะ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การอธิบายกระบวนการขั้นตอนและการวิเคราะห์ต่างๆ ในบทความนี้ ผู้เขียนคาดหมายให้ประโยชน์ในทางวิชาการที่จะนำไปเป็นต้นแบบหรือกรณีศึกษาเพื่อผสมผสานงานวิชาการและงานสร้างสรรค์อันเป็นที่ต้องการอย่างมากในวงวิชาการของสังคม ณ ห้วงเวลานี้

บรรณานุกรม
สุริยะ ฉายะเจริญ. (2561). การสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลชุด “วัดเซนโซจิ 2018” ใน รายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยสยาม (หน้า 469-474). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ..
Holmes, Marc Taro. (2014).The Urban Sketcher: Techniques for Seeing and Drawing on Location. Ohio: North Light Books

 



 



 



 



 



 






วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นิทรรศการ From Monet to Kandinsky


โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ


นิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY คือการแสดงภาพ Digital ผลงานจิตรกรรมตะวันตกระดับ Masterpieces ที่สำคัญในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติรูปแบบและกระบวนวิธีสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านั้น

 

นิทรรศการนี้เป็นการแสดง File ภาพ Digital ที่ฉายด้วยเครื่อง Projector เข้าผนังและเสาในทุกด้านของห้องจัดแสดงท่ามกลางความมืดที่ปกคลุมทั้งหมด ด้วยแนวทางการนำเสนอแบบ VISUAL MULTIMEDIA PROJECTS ทำให้แสงจากเครื่องฉายแสดงภาพจิตรกรรมของศิลปินระดับโลกที่เป็นตำนานแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโคลด โมเนต์ (Claude Monet) เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) พอล โกแก็ง (Paul Gaugin) อ็องรี รูสโซ (Henri Rousseau) อ็องรี ตูลูส-โลเทร็ค (Henri Toulouse-Lautrec) กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) พอล ซีญัค (Paul Signac) ปีด โมนดรียาน (Piet Mondrian) อเมเดโอ โมดิกลิอานี (Amedeo Modigliani) วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) ปิแอร์ ออกัสต์ เรอนัวร์ (Pierre August Renoir) ฮวน กรี (Juan Gris) พอล เคล (Paul Klee) เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) คาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) และวาซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky) 

 

 ภาพทั้งหมดไม่ได้เป็นการฉายภาพนิ่งของผลงานเท่านั้น หากแต่ยังมีการปรับให้เกิดความเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันตามการตีความแต่ละภาพประกอบกับเสียงบรรเลงที่คลอไปกับการฉายภาพรอบทิศทาง ภาพเคลื่อนไหวสลับกับภาพนิ่งที่ปรากฏสู่ผู้ชมจึงเป็นภาพที่ถูกตีความโดยผู้สร้างขึ้นใหม่ ภาพจิตรกรรมที่หยุดนิ่งของศิลปินในตำนานจึงมีชีวิตขึ้นใหม่ในรูปแบบใหม่ที่ต่างจากมุมมองเดิมบ้าง ซึ่งส่วนของดนตรียิ่งช่วยให้ผู้ชมได้รับอรรถรสไปอีกแบบหนึ่ง

 

ผู้ชมหลายท่านมักจะนั่งบนเก้าอี้หรือนั่งพื้นเพื่อชมภาพที่เคลื่อนไหวคล้ายชมภาพยนตร์ แต่หากได้เดินชมและค่อยๆ มองไปรอบๆ อย่างช้าๆ จะให้อารมณ์และความรู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นเสมือนว่าเรากำลังถูกแสงและสีของภาพต้นแบบที่ถูกตีความหมายรายรอบและเรากำลังเข้าไปสู่ในโลกของภาพๆ นั้น
 

 หากเทียบกับการได้ชมผลงานจิตรกรรมระดับโลกเหล่านี้จากของแท้ในต่างประเทศ ก็อาจจะเทียบกับภาพ Digital ที่นำมาแสดงให้ชมไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรผลงานจริงย่อมทำให้เราเข้าถึงสุนทรียรสของผลงานได้มากกว่า หรือถ้าจะสมมุติว่าผลงานจริงแท้เหล่านั้นถูกยืมมาแสดงในประเทศของเรา ก็คงเป็นเรื่องที่ยากด้วยจำนวนค่าใช้จ่ายมหาศาล เพราะฉะนั้น นิทรรศการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนที่สนใจศิลปะได้เข้ามาชมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจไปต่อยอดในการศึกษาหรือสร้างสรรค์เพิ่มเติมต่อไปในอนาคตได้อย่างน่าสนใจ เพราะการผสมผสานระหว่างผลงานในยุคก่อนที่เป็นภาพนิ่ง แล้วทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ผสมผสานกับดนตรี ก็ให้อารมณ์ความรู้สึกเฉพาะของแต่ละคนได้ไม่ยาก และอาจจะเป็นความบันเทิงไปอีกรูปแบบหนึ่งด้วยซ้ำ

 
อีกประการก็คือ เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้คนที่ไม่อาจมีกำลังทรัพย์ที่สามารถไปชมผลงานจริงในต่างประเทศได้ดูได้ชมให้ชุ่มชื่นใจได้ แม้ว่าอาจเทียบกับความยิ่งใหญ่ของผลงานจริงๆ ชิ้นจริงๆ ไม่ได้ แต่ก็น่าชื่นชมที่จะมีงานเช่นนี้ในบ้านเราให้ได้ชมกัน
 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากคิดเสียว่านิทรรศการนี้ได้ใช้ศิลปะมาเป็นตัวเชื่อมร้อยกับสื่อสมัยใหม่ให้เกิดความสวยงามและความบันเทิงใจแล้ว ก็ย่อมควรไปดูไปชมกันก็ไม่เสียหายอะไร แต่สำหรับคนที่อาจจะเคยไปดูผลงานจริงในต่างประเทศแล้ว ก็อาจจะรู้สึกว่ายังไม่สามารถถ่ายทอดสุนทรียรสได้อย่างเต็มอิ่มนัก (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง) แต่ข้อดีก็คือ นิทรรศการนี้ได้ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เริ่มรับรู้และสัมผัสกับงานศิลปะในศตวรรษก่อนที่สำคัญของโลกได้อย่างง่ายๆ เพื่อจุดประกายต่อยอดไปสู่การศึกษาและการสนทนาในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่ความรู้และการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ในอนาคต


 

นิทรรศการ From Monet to Kandinsky ให้ชม ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน - 16 มิถุนายน เวลา 10.00 – 22.00 น. ที่ RCB Galleries ชั้น 2 ของ River City Bangkok กรุงเทพฯ มีค่าเข้าชม บัตรราคา 350 บาท และ เด็กราคา 250 บาท

สรรนิพนธ์ของจิตรกร


โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ




โลกของนักสร้างภาพคือดินแดนที่จิตรกรสถิตอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จิตรกรคือนักสร้างภาพที่มิอาจบอกเล่าสภาพแวดล้อมและเรื่องราวของดินแดนแห่งจินตนาการด้วยถ้อยความเฉกเช่นนักประพันธ์ หากแต่แสดงออกด้วยภาษาของภาพที่มีนัยอันซ่อนเร้นสิ่งต่างๆ ให้ปรากฏบนผืนผ้าใบผ่านเส้นและสีที่มือของเขาเคลื่อนตามจิตที่คิดนึก ภาพที่ปรากฏออกมาแสดงความรู้ของจิตรกรที่เขาได้รับจากประสาทสัมผัสภายนอกผนวกเข้ากับความคิดและความรู้สึก อันอยู่ภายใต้แนวคิดแบบประสบการณ์นิยม (Empiricism) ที่เชื่อว่า ความรู้เกิดขึ้นจากการสัมผัสประสบการณ์ตรงไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ดังที่จอห์น ล็อค (John Locke) เห็นว่า ความรู้จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการสัมผัสแล้วจึงนำไปสู่ความรู้สึกความคิดนึกก่อนจะแสดงออกมา
            ทว่าในอีกด้านหนึ่ง จิตรกรเองก็แสดงออกอย่างมีหลักการเฉพาะตัวอันประกอบขึ้นจากตรรกะทางสุนทรียะในการประกอบสร้างภาพในจินตนาการให้ปรากฏอย่างเป็นหลักเกณฑ์ที่สามารถนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจได้ เช่น หลักการของกายวิภาค (Anatomy) ทัศนียวิทยา (Perspective) ค่าน้ำหนักแสงเงา (Chiaroscuro) หรือแม้กระทั่งสีสันที่ปรากฏ (Color theory) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลนิยม (Rationalism) ซึ่งเรอเน เดส์การ์ต (Rene Descartes) เชื่อว่าประสาทสัมผัสหรือประสบการณ์อาจนำไปสู่ความรู้แท้ได้ไม่ดีเท่าเหตุผล เหตุผลคือความรู้ที่ความบริสุทธิ์และพิสูจน์ได้
ในขณะที่คุณค่าของจิตรกรรมตามสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) นั้นก็ขึ้นอยู่กับการประเมินในด้านความสัมพันธ์ของจิตรกร วัตถุศิลปะ และบริบทที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมประสบการณ์สุนทรียะว่าเป็นเช่นไร คุณค่าของงานจิตรกรรมนั้น พึงแสดงออกถึงความงามแต่เพียงอย่างเดียว หรือแสดงความรู้สึกสะเทือนใจบางอย่าง หรือแสดงกระบวนคิดสาระสำคัญ หรือผสมผสานทั้งความงาม ความรู้สึก และความคิดเข้าด้วยกันแบบสัมพัทธนิยม (Relativism) ที่เชื่อว่า ความสัมพันธ์ของคุณค่าเชิงสุนทรียะนั้น เกิดจากความสัมพันธ์ของจิตกับวัตถุศิลปะอันนำไปสู่คุณค่าที่หลากหลายแตกแขนงไปอย่างไม่รู้จบขึ้นอยู่กับการถอดรหัสและตีความของบุคคล

  


            ดังที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับงานจิตรกรรมในนิทรรศการศิลปะ Anthology / สรรนิพนธ์ ของวีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ ผู้ที่เป็นร่างทรงของสิ่งที่เรียกว่า “จิตรกร” เขาใช้คำว่า “Anthology / สรรนิพนธ์” เป็นหัวข้อหลักในการแสดงงานจิตรกรรมที่มีเนื้อหาสาระที่หลากหลาย แม้ภาพจิตรกรรมของเขาในการแสดงครั้งนี้อาจดูคุ้นเคยกับผู้ที่เห็นผลงานของเขามาสักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม นิทรรศการครั้งนี้ เขาได้ใส่รหัสของภาพแต่ละภาพด้วยรูปสัญญะที่ดูราวกับแตกแยกเนื้อหากันโดยวางรูปร่างรูปทรงเคียงกันและทับซ้อนกันคล้ายกับการปะติด ซึ่งผู้ดูจึงต้องทำการปะติดปะต่อเรื่องราวของแต่ละภาพเอาเองด้วยการใช้เวลาจ้องมองและตีความจากสิ่งที่ปรากฏ หากแต่เมื่อเราถือว่า “นักประพันธ์ได้ตายลงแล้ว” (La mort de l’auteur) ตามที่โรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ได้เขียนเอาไว้ เราก็อาจจะมีอิสระขึ้นในการชมงานจิตรกรรมเหล่านี้ได้อย่างไม่ขัดเขินหรืองุนงงสงสัย เพราะเมื่อผู้ชมเองก็มีสิทธิ์ในการเดินทางไปในงานจิตรกรรมเพียงลำพังได้เอง วีรพงษ์จึงเป็นเพียงร่างทรงของจิตรกรผู้เล่าเรื่องที่แสดงออกผ่านภาษาภาพเท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่งที่จะไม่กล่าวไม่ได้ ก็คืองานจิตรกรรมของวีรพงษ์เป็นการเรียงร้อยจากประสบการณ์ที่สัมผัสด้วยตนเองผ่านสื่อต่างๆ ที่ผสมผสานตรรกะเชิงวิธีการทางศิลปะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพที่บอกเล่าอะไรบางอย่างแก่ผู้ชม เมื่อผู้ชมได้จ้องมองและพินิจผลงานแล้วจะรู้สึกอย่างไรหรือคิดเห็นอย่างไร มันจึงเป็นภาระของผู้ชมเองในการที่จะซึมซับความลึกซึ้งดื่มด่ำผลงานเหล่านี้ ซึ่งมันหมายถึงปัจเจกชนย่อมมีเสรีภาพของการชมงานศิลปะและเข้าสู่จินตนาการของตนเองได้ผ่านภาพที่เป็นสื่อ
แต่ก็อาจจะเกิดคำถามในแง่นี้ที่ว่า “ผู้ชมจึงจำเป็นที่ต้องเข้าใจงานจิตรกรรมตามที่จิตรกรได้สร้างรหัสของภาพหรือไม่” ก็อาจตอบได้ 2 กรณี คือ ผู้ชมก็ควรรู้ว่าจิตรกรนำเสนออะไร และผู้ชมเองก็มีเสรีภาพในการเข้าใจเหมือนหรือต่างจากจิตรกรได้เช่นกัน ทั้งนี้หากเราเชื่อว่าคุณค่าของงานจิตรกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของความงามแต่อย่างเดียว หากแต่มีความคุณค่าด้านเหตุผล ความจริง และความดีภายใต้บริบทที่เกี่ยวร่วมอยู่ด้วยแล้ว งานจิตรกรรมก็น่าจะมีนัยแฝงบางประการที่ผู้ชมแต่ละคนสามารถเรียนรู้จากสื่อชนิดนี้ด้วยตนเองเพื่อแตกประเด็นความรู้หรือประสบการณ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย

 

หากจะกลับมาในงานจิตรกรรมของวีรพงษ์อีกครั้ง ก็อาจจะสรุปได้ว่า นิทรรศการนี้เป็นการรวมเรื่องเล่าที่หลากหลายที่ตัวเขามีต่อโลก ผ่านประสบการณ์และความคิดคำนึงเชิงข้อมูลและวิเคราะห์แล้วจึงแสดงออกมาผ่านรหัสของภาพที่หลากหลาย เรื่องราวของภาพที่อาจจ้องมองแล้วราวกับไม่ปะติดปะต่อกันคือบทเรียนสำคัญที่ให้ผู้ชมได้พินิจพิเคราะห์สนทนากับภาพๆ นั้นด้วยตัวเอง เพราะหากจิตรกรได้ทิ้งร่างทรงลงแล้วหลังจากวางพู่กัน นั่นย่อมหมายความว่า งานจิตรกรรมได้ทำหน้าที่ในการแสดงออกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลากหลาที่ผู้ชมคงต้องตั้งคำถามและหาคำตอบเองจากสิ่งที่ปรากฏ ทั้งเบื้องหน้าบนระนาบผ้าใบและลึกเข้าไปในดินแดนลึกลับที่ถูกโฉบทาด้วยเส้นและสีที่ลวงตาให้เห็นเป็นภาพต่างๆ และนั่นคือการทำงานของภาษาภาพ อันเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญของงานจิตรกรรมในนิทรรศการนี้
เพราะนี่ก็คือบทนิพนธ์อันหลากหลายของจิตรกรผ่านร่างทรง
และเพราะนี่คือสรรนิพนธ์ของจิตรกร.