เรื่องราวของมนุษย์นับเป็นสิ่งที่ถูกจารึกอย่างท่วมท้นตลอดห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ของโลก มนุษย์ชาติศึกษาตัวเองตลอดเวลานับตั้งแต่เริ่มเผ่าพันธุ์มา ไม่ว่ากาลเวลาจะก้าวข้ามไปสู่ยุคสมัยใดก็ตาม มนุษย์เองก็ยังคงคุ้นเคยกับความเป็นมนุษย์ได้ดีกว่าธรรมชาติอื่นๆในพิภพ ทว่าในความจริงแล้ว มนุษย์เราหาได้เรียนรู้ตนเองอย่างถ่องแท้ไม่ พวกเรายังคงแสวงหาโลกอุดมคติที่ไม่เคยมี และจะไม่มีวันค้นพบตราบใดที่มนุษย์ยังคงไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ของตนเอง
เรื่องราวต่างๆของมนุษย์ได้ถูกบรรจุอยู่ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทัศนศิลป์ วรรณกรรม ดนตรี และนาฏกรรม ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ย่อมเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า เรื่องราวของมนุษย์นับเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการที่มนุษย์เองจะสรรสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นก็สร้างขึ้นก็เพื่อตอบสนองคุณค่าทางกายและทางใจแก่มนุษย์เอง และมนุษย์ก็หวังว่าสุดท้ายสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะนำไปสู่สภาวะในอุดมคติที่มนุษย์เฝ้าคิดฝันถึงตลอดเวลา
เมื่อกล่าวในทางทัศนศิลป์จะเห็นว่า เรื่องของมนุษย์ได้แทรกซึมอยู่ในผลงานศิลปะอยู่ตลอด ทั้งโดยตัวของแนวคิดอันแยบคายและรูปแบบการนำเสนอที่โจ่งแจ้ง ความเป็นปัจเจกภาพในการแสดงออกอาจถูกถ่ายทอดออกมาในภาพลักษณ์ของสากลภาพของมนุษย์ แต่จะแสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะด้วยใบหน้าและร่างกาย เช่น ผลงานจิตรกรรมภาพเหมือนครึ่งตัวหรือเต็มตัว ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการแสดงภาพมนุษย์อย่างมีรูปลักษณ์ที่ตรงไปตรงมา
ภาพที่ 1 “The Starry Night” (1889) โดย Vincent van Gogh
ขนาด 73.7 x 92.1 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ, Museum of Modern Art, New York City 1
ขนาด 73.7 x 92.1 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ, Museum of Modern Art, New York City 1
บางครั้งศิลปินก็ได้แสดงเรื่องราวของมนุษย์ในเชิงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองลงในผลงานศิลปะ ผลงานในลักษณะนี้ถึงแม้ว่าหลายครั้งจะไม่ปรากฏภาพลักษณ์ของมนุษย์ แต่อาจจะเป็นภาพทิวทัศน์ (Landscape) หรือภาพหุ่นนิ่ง (Still life) แต่กลับเต็มไปด้วยกลิ่นอายของอารมณ์ความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวศิลปินผู้ถ่ายทอด กรณีนี้เห็นได้ชัดจากผลงานจิตรกรรมของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh: 1853-1890) ศิลปินผู้มีผลงานที่ระอุแน่นไปด้วยอารมณ์ของฝีแปรงที่เคลื่อนไหวราวคลื่นสีน้ำมันแหวกว่ายอยู่บนผืนผ้าใบ (ภาพที่ 1) ผลงานในลักษณะแบบนี้เป็นการสำแดงความรู้สึกอันเป็นส่วนนามธรรมภายในของศิลปินสู่การแสดงออกเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นผลงานประเภทนี้จึงให้สุนทรียภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
ผลงานจิตรกรรมที่แสดงออกถึงความความชัดเจนของฝีแปรง ได้ถูกนำมาประกอบเข้ากับการแสดงเรื่องราวที่ดูเกี่ยวพันกับความสั่นสะเทือนของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่เข้มข้น ความเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณภายใน รวมไปถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองที่หนักหน่วง ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงออกทางศิลปะของศิลปินกลุ่มที่เรียกกันว่า พวกเอ็กเพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) พวกเขาได้มีการแสดงออก โดยเผยถึงทัศนธาตุ (Visual Elements) ที่เจนจัดชัดเจน มีการสร้างฝีแปรงที่ดูรุนแรงและฉับไว สร้างพื้นผิวที่หยาบ หรือแม้แต่ใช้สีจัดที่แสบความรู้สึก ศิลปินบางคนในกลุ่มนี้ได้นำแนวคิดด้านมืดของสังคมมาสร้างเป็นผลงานขึ้นเพื่อสื่อสะท้อนถึงเรื่องราวอีกด้านของโลกที่มิใช่มีเพียง เงินทอง ยศตำแหน่ง การยกยอสรรเสริญ และความสุข อันโล่งเบา แต่พวกเขาต้องการเผยให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังคงมีความยากจน ความขัดแย้ง ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง และราคะจริต
ในผลงานของศิลปินกลุ่มเอกซ์เพรสชั่นนิสม์อย่าง มักซ์ เบ็คมัน (Max Beckmann) ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) (ภาพที่ 2) และ กีออร์ก กรอสซ์ (George Grosz) ได้แสดงผลงานออกมาในเชิงวิพากษ์สังคมอย่างน่าสนใจ ผลงานของพวกเขามักนำเสนอภาพลักษณ์ในด้านมืดของสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา ผลงานเหล่านี้จึงมิได้มุ่งเน้นในเรื่องสุนทรียภาพทางความงามภายนอก แต่กลับกระตุ้นความรู้สึกของผู้ดูให้ตระหนักถึงความเป็นจริงของโลก ที่มิใช่การเพ้อฝันอย่างงานจิตรกรรมที่เน้นอุดมคติทางความงามเพียงฝ่ายเดียว ผลงานในลักษณะนี้นอกจากจะตีแผ่สภาวะที่เป็นจริงของโลกธรรมแล้ว ยังเสริมความรู้สึกให้กับภาพด้วยการใช้ทัศนธาตุที่ดูรุนแรง ทว่ายังคงมีการจัดองค์ประกอบที่คล้ายกับฉากละครเวที ซึ่งทำให้ภาพที่ปรากฏเป็นเสมือนการได้ชมละครประเภทโศกนาฏกรรมของชนชั้นกลาง ที่มีตัวเอกไม่ใช่เจ้าชายหรือเจ้าหญิง ศัตรูมิใช่ปิศาจหรือเทพเจ้า หากแต่เป็นบุคคลชนชั้นธรรมดาที่พบได้ในสังคมทั่วไป
สำหรับวงการศิลปะในประเทศไทย ได้มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะประเภทเอกซ์เพรสชั่นนิสม์มาตลอด ศิลปินตั้งแต่ยุคแรกเริ่มสถาปนาศิลปะสมัยใหม่ไทยหลายท่านก็ล้วนเคยสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางดังกล่าวมาบ้าง เช่น สุเชาว์ ศิษย์คเณศ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแนวทางการสร้างสรรค์ในลักษณะนี้มักไม่ค่อยมีวิวัฒนาการเป็นขบวนการอย่างชัดเจนนักในวงการศิลปะของไทย นั้นอาจจะเป็นเพราะความประนีประนอมอันเป็นลักษณะที่ดีงามของสังคมไทย ได้ถ่ายทอดออกมาในงานที่มีรูปแบบประณีตและการันตีว่า งานที่ดีมักเป็นรูปแบบเรียบร้อยไม่ขัดแย้งกับหลักการของสถาบันศิลปะและอำนาจรัฐ แต่ไม่ว่าปัจจัยใดๆก็ตามมิอาจเป็นข้อสรุปที่เด่นชัดถึงพัฒนาการในแนวทางดังกล่าว
ภาพที่ 3 “ธง: พฤษภาคม 2535 หมายเลข 2” (พ.ศ. 2535)
โดย กัญญา เจริญศุภกุล, ขนาด 90 x 160 ซม. เทคนิคจิตรกรรม
โดย กัญญา เจริญศุภกุล, ขนาด 90 x 160 ซม. เทคนิคจิตรกรรม
ถึงกระนั้นก็ตาม มิใช่ว่าแนวทางศิลปะที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกในแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์จะไม่ปรากฏในประเทศไทย นั้นเพราะแท้ที่จริงศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงานในลักษณะนี้มีอยู่มากมาย ทว่าสิ่งที่ยึดโยงศิลปะแนวนี้มักตีคลุมอยู่ในแวดวงของศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและประเด็นทางสังคมเสียเป็นส่วนมาก ดังเช่นผลงานชุด “ธงชาติเดือนพฤษภาคม 2535” ของ กัญญา เจริญศุภกุล (ภาพที่ 3) ที่มีรูปลักษณ์ก้ำกึ่งระหว่างศิลปะนามธรรม (Abstract) และกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract) ทว่าแท้ที่จริงกลับแสดงออกในเชิงอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างมีพลัง ทั้งนี้เนื่องด้วยศิลปินได้ปาดป้ายสีลงบนผืนผ้าใบอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดร่องรอยที่รุนแรงกระตุ้นสายตา ประกอบกับการใช้สีที่เนื่องด้วยสัญลักษณ์ธงชาติซึ่งกระตุ้นความรู้สึกถึงประเด็นทางการเมืองได้อย่างเด่นชัด อีกทั้งเนื้อหายังยึดโยงเข้ากับความเข้มข้นทางสังคมและการเมือง ณ ห้วงเวลานั้น โดยสรุปแล้วผลงานในชุดนี้ถือเป็นผลงานจิตรกรรมที่แสดงออกในท่าทีแบบแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ได้อย่างน่าประทับใจเป็นอย่างมาก
ภาพที่ 4 “ผลิตในประเทศไทย” (พ.ศ. 2537)
โดย วสันต์ สิทธิเขตต์, ขนาด 189 x 108 x 5.5 ซม. สีอคริลิคบนไม้
วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นศิลปินอีกคนที่มีรูปแบบการแสดงออกในเชิงประชดประชันทางสังคมและการเมืองมาตลอด (ภาพที่ 4) ผลงานของเขาไม่เพียงแต่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อผู้ดูเท่านั้น แต่ยังถูกจดจำโดยประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ วสันต์มีผลงานจิตรกรรมในรูปแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ที่ดูดิบเถื่อน การแสดงออกในทางทัศนธาตุเต็มไปด้วยความรุนแรงและหยาบกระด้าง ควบคู่ไปกับเนื้อหาที่บริภาษสังคมอย่างตรงไปตรงมา เขาเป็นศิลปินนักกิจกรรมที่อาศัยเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยในการสร้างผลงานในรูปแบบของตัวเองได้อย่างโดดเด่น ซึ่งกล่าวได้ว่า หากคิดถึงศิลปินที่สร้าง สรรค์ในแนววิพากษ์วิจารณ์สังคมแล้ว วสันต์นับเป็นชื่อแรกๆที่ผู้ติดตามวงการศิลปะต้องเอ่ยถึงอยู่เสมอ
แต่หากจะกล่าวถึงศิลปินไทยที่สร้างสรรค์ผลงานรูปแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ และเต็มไปด้วยประเด็นทางสังคมในระดับปรมาจารย์แล้ว ทวี รัชนีกร ย่อมนับเป็นอันดับหนึ่งที่อยู่บนหิ้งเกียรติยศในวงการศิลปะร่วมสมัยไทย (ภาพที่ 5)
ภาพที่ 5 ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ
ปัจจุบัน ทวี รัชนีกร คือศิลปินชราผู้ไม่เคยพบผมหงอกอันขาวโพลนในงานศิลปะของเขา ผลงานทุกชิ้นล้วนมิได้แสดงถึงความเป็นผู้เฒ่า กลับยังคงกู่ก้องและประกาศกร้าวอย่างมีพลังอยู่เสมอ ด้านหนึ่งเขาคืออาจารย์ของลูกศิษย์รุ่นใหญ่รุ่นน้อยแห่งศิลปินกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านหนึ่งเขาเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค ซึ่งหากนับศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์แล้ว เขาเป็นศิลปินเพียงคนเดียวที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมมาตลอดชีวิต
ประวัติชีวิตอันโลดโผนของ ทวี รัชนีกร ควบคู่กับประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยยุคแห่งการแสวงหาเสรีภาพ กลายเป็นตำนานที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของผู้ติดตามวงการศิลปะของไทย หากศึกษาจากอัตชีวประวัติของเขา จะพบว่าประสบการณ์ต่างๆในชีวิตเป็นแรงดลใจที่สำคัญในการวิเคราะห์และนำไปสู่การสังเคราะห์ประเด็นทางสังคมออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ได้อยู่ตลอดเวลา
ผลงานของ ทวี รัชนีกร ที่ปรากฏสู่สาธารณะทุกๆครั้งตั้งแต่อดีต มักแสดงออกถึงฝีแปรงอันทรงพลังและมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวได้ราวกับการดิ้นรนของเปลวเพลิง ตัวอย่างที่ชัดเจนในผลงานระยะต้น คือผลงานจิตรกรรมชื่อ “ต้นไม้” ที่ได้รางวัลเหรียญเงินประเภทจิตรกรรม จากเวทีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เมื่อปี พ.ศ. 2503 (ภาพที่ 6)
ภาพที่ 6 “ต้นไม้” (พ.ศ. 2503) โดย ทวี รัชนีกร
ขนาด 76 x 101.5 ซม., สีน้ำมันบนผ้าใบ
ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นมากในแง่การแสดงอารมณ์ความรู้สึกของภาพ สีสันในแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) อันแพรวพราวซึ่งเป็นแนวทางที่นิยมในช่วงเวลาก่อนหน้ามิได้ปรากฏอยู่บนผืนผ้าใบ แต่กลับเน้นความเคลื่อนไหวของเส้นให้ลื่นไหลไปอย่างมีชีวิตชีวา แม้ในภาพจะไม่แสดงสีสันที่เป็นแบบเหมือนจริงตามที่ตาเห็น ทว่าฝีแปรงที่บิดเกลียวกิ่งของต้นไม้และใบไม้ที่ดูราวกับสั่นไหวสะบัดย่อมทำให้ผลงานชิ้นนี้ไม่ใช่เพียงคราบปื้นสีเท่านั้น หากแต่เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตจริงและเคลื่อนไหวในจินตภาพซึ่งสิงสถิตอยู่บนผืนผ้าใบดุจสนามแห่งความรู้สึก ผลงานชิ้นนี้ได้แสดงความรู้สึกของศิลปินผ่านความฉับไวและหยาบกระด้างของฝีแปรง ศิลปินได้แทรกปรัชญาของมนุษย์ผ่านรูปลักษณ์ของต้นไม้อย่างแยบคาย นั้นคือความมีชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องมีการดิ้นรนและแสวงหาเพื่อไปสู่หมุดหมายของวิถีชีวิตที่ดีที่สุด
หลังจากนั้น ทวี รัชนีกร ก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมื่อห้วงชีวิตก้าวสู่การเป็นอาจารย์ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็มิได้ทำให้หัวใจการสร้างสรรค์ของเขาต้องเชื่องช้าหรือล่าถอยลงแต่อย่างใด เพราะการที่เขาได้ไปอยู่ยังดินแดนภาคภูธรที่มีสิ่งแวดล้อมต่างจากเมืองหลวง ปัญหาทางสังคมในสมัยนั้นก็ย่อมซึมซับเข้าสู่จิตใจของเขาอย่างไม่ยาก สิ่งต่างๆที่คุกรุ่นอยู่ภายในถูกถ่ายทอดมาเป็นผลงานศิลปะชิ้นแล้วชิ้นเล่าอย่างมากมาย ทว่าด้วยปัจจัยทางการเงินที่มีอยู่จำกัด และไม่คิดว่ามีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องเก็บผลงานไว้ทุกชิ้น เพราะเขาเห็นว่าการสร้างผลงานแต่ละชิ้นเป็นการระบายอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้น มิได้คิดถึงอามิสสินจ้าใดๆ ดังนั้นเขาจึงเขียนรูปลงบนผ้าใบทับซ้อนรูปเดิมกันไปหลายครั้ง ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้ผลงานในยุคเก่าของเขาหาดูหาชมได้จำนวนน้อยกว่าที่เคยสร้างไว้
ภาพที่ 7 “ในสังคมแห่งความหวาดกลัว” (พ.ศ. 2520) ไม่ทราบขนาด, สีน้ำมันบนผ้าใบ
ในห้วงความเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทวีได้รับผลกระทบมากมายทั้งทางร่างกาย นั้นคือถูกขังคุกและถูกตรวจสอบจากฝ่ายผู้มีอำนาจสมัยนั้น ทำให้อิสรภาพหลายๆอย่างในชีวิตต้องเปลี่ยนไป เขาต้องดำรงตนมิให้เป็นที่จับตามองจากฝ่ายรัฐนัก เพราะสังเกตได้ว่านักศึกษาและประชาชนที่เคลื่อนไหวภาคประชาชนหลายคนต่างก็ถูกข่มขู่ ตามล่า หนีเข้าป่า กระทั่งเสียชีวิตอย่างไม่รู้สาเหตุ ทว่าในด้านของจิตใจเขากลับปวดร้าวลึกอยู่เพียงลำพัง สภาพการที่มิอาจเอื้ออำนวยให้เป็นไปอย่างอิสระเสรี ทำให้เขาต้องสร้างสรรค์ผลงานตามปรารถนาอย่างไม่สะดวกนัก แต่ผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ในยุคนี้กลับแสดงออกถึงความคับอกคับใจของเขาเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นผลงานจิตรกรรมชื่อ “ในสังคมแห่งความหวาดกลัว” (ภาพที่ 7) เป็นผลงานที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่รุนแรงที่ออกมาในรูปของฝีแปรงอันกร้าวแกร่ง แต่แฝงไว้ด้วยความน่ากลัวของบางสิ่งบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในผืนผ้าใบอันหยาบหนานั้น ผลงานชิ้นนี้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกในเชิงเอกซ์เพรสชั่นนิสม์อย่างสุดขั่ว บางครั้งอาจจะเห็นเป็นภาพใบหน้าบุคคล บางคราวอาจมองเป็นภาพนามธรรม ผลงานนี้จึงเปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของห้วงอารมณ์ของสังคมที่ศิลปินได้ถ่ายทอดอย่างจริงใจและจริงจังจนน่าหวาดผวา
หลังจากนั้น ทวี รัชนีกร ก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเกี่ยวพันกับเรื่องราวของมนุษย์ ปัญหาสังคม และการเมือง ซึ่งเป็นแนวทางที่เขามีความสนใจมาโดยตลอด
ตราบจนห้วงปี พ.ศ. 2548 เขาได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และได้แสดงนิทรรศการเดี่ยว ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร การแสดงผลงานครั้งนั้นนับเป็นการประกาศการกลับมาสร้างสรรค์ศิลปะอย่างเต็มตัว แม้ร่างกายภายนอกจะนำพาเขาไปสู่ปฐมวัยแห่งชราภาพ แต่ผลงานของเขา ณ ห้วงเวลานั้น กลับแสดงออกดั่งชายฉกรรจ์ผู้มีจิตใจที่รักคุณธรรมและความจริง สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่า ยิ่งศิลปินชราขึ้น ผลงานศิลปะของเขากลับยิ่งดูหนุ่มแน่นคับคั่งด้วยอารมณ์อันทรงพลังอยู่ตลอดเวลา
ทวี รัชนีกร กลับมาสู่วงการศิลปะอีกครั้งในนิทรรศการครั้งล่าสุดเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 เขากลับมาด้วยบุคลิกอย่างเดิม ผมที่หงอกโพลนและเคราที่ขาวกระจ่างประดับอยู่รอบวงหน้าที่มีแววตาอันเด็ดเดี่ยวประดิษฐาน ร่างกายที่ทรงอยู่ได้ด้วยไม้เท่าอันเหยียดตรง กลับยืนขึ้นได้ด้วยจิตใจที่นิ่งสงบ ศิลปินชราในชุดดำดูนิ่งสงบราวกับประติมากรรมสำริดแต่การเคลื่อนไหวของร่างกายและบทสนทนากลับพบว่า ศิลปินเฒ่าผู้มีเครางามคือ ศิลปินผู้ทะนงคนเดิมผู้เติมไฟให้กับตนเองและผู้คนรอบข้างเสมอ
ในนิทรรศการครั้งนี้เขาได้นำผลงานชุดล่าสุดที่มีอยู่มากมายมาแสดง ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่น่าทึ่งคืนส่วนใหญ่ผลงานจิตรกรรมของเขามักไม่มีขนาดย่อมเยา ผู้ดูที่เข้าไปในหอศิลป์จะถูกล้อมด้วยจิตรกรรมขนาดมหึมา ซึ่งเป็นประดุจดังเครื่องวัดขนาดหัวใจของศิลปินชราผู้ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับการรอคอยของมหาชนผู้รักในศิลปะ
ภาพที่ 8 “ป่าสะแกราช” (พ.ศ. 2553) ขนาด 190 x 300 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
ผลงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในนิทรรศการครั้งนี้คือผลงานชื่อ “ป่าสะแกราช” (ภาพที่ 8) ซึ่งเป็นผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์คุ้นหน้าคุ้นตา เมื่อผลงานชิ้นนี้ปรากฏหลายคนอาจจะนึกถึงผลงานที่ชื่อ “ต้นไม้” ที่ศิลปินเคยสร้างไว้ในอดีต อายุของผลงานทั้งสองชิ้นห่างกัน 50 ปี แต่ข้อแตกต่างในความคล้ายย่อมมีอยู่ นั้นคือในผลงานชื่อ “ต้นไม้” อันแสดงความกร้าวด้วยฝีแปรงที่เคลื่อนไหวอย่างดิบๆ กลับพบเพียงรอยฝีแปรงที่แน่นสงบประทับบนผลงาน “ป่าสะแกราช” ถึงแม้ว่าโครงสีของผลงานทั้งสองชิ้นจะมีความใกล้เคียงกันอย่างสูง แต่อารมณ์ของภาพกลับต่างกัน ในขณะที่ผลงานชิ้นเก่าแสดงความเคลื่อนไหวของต้นไม้อย่างเจนจัด ทว่าต้นไม้ในป่าสะแกราชยุคปัจจุบันกลับมีลักษณะเงียบสงบมากกว่า ถึงกระนั้นก็ยังสำแดงออกถึงความพลิ้วไหวของใบไม้ที่ยังให้ความรู้สึกดังงานชิ้นเก่า
จากผลงานชิ้นนี้ที่ปรากฏ ทำให้เห็นว่าศิลปินมิได้บังเอิญสร้างผลงานที่ดูแล้วคล้าย แต่กลับจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบตัวตน ว่ากาลเวลาหาได้กัดกินหัวใจของเขาไม่ ผู้ดูจะค้นพบความสงบของภาพ “ป่าสะแกราช” กว่าภาพ “ต้นไม้” ในยุคเก่า แต่กลับเป็นความนิ่งสงบที่แฝงไว้ด้วยพลังที่มิอาจมีใครกล่ำกรายเข้าไปในป่าฝีแปรงบนผ้าใบขนาดใหญ่ชิ้นนี้ได้อย่างไม่หวาดวิตก การแสดงออกของผลงานชิ้นนี้จึงเสมือนความจงใจของศิลปินที่จะเน้นย้ำให้ตนเองและสาธารณชนได้ตรวจสอบความเป็นตัวตนของเขาว่า แม้ห้วงเวลาจะก้าวล่วงนานถึง 50 ปี แต่พลังที่พวยพุ่งของเขากลับมิได้ลดลง แม้ไม่ก้าวร้าวเข้มแข็งเท่ากับผลงานเมื่อครั้งอดีต แต่กลับเข้มข้นและสุขุมคมคายอย่างมีมนต์เสน่ห์
นอกจากนี้ ผลงานในรูปแบบอันเนื่องเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและเสียดสีทางการเมืองอันเป็นแนวทางที่เด่นชัดของทวี ยังได้นำมาจัดแสดงอย่างมากมาย ทุกชิ้นแสดงออกในเชิงศิลปะแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างชัดเจนทั้งทางด้านรูปลักษณ์และแนวคิดก็ยังคงแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างน่าสนใจ
ภาพที่ 9 “หน้าตาพิลึก” (พ.ศ. 2550) ขนาด 345 x 520ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
ในผลงานชื่อ “ขุมที่ 15 หน้าตาพิลึก” (ภาพที่ 9) เป็นผลงานจิตรกรรม 21 ชิ้น ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียงกันเต็มพื้นที่ผนังใหญ่ การติดตั้งผลงานบนพื้นที่ขนาดใหญ่นี้ก็ยิ่งเพิ่มพลังในการมองผลงานเป็นอย่างดี ผลงานแต่ละชิ้นอัดแน่นด้วยภาพใบหน้าอันแปลกประหลาด คล้ายหน้ากากในเทศการเฉลิมฉลองของเหล่าสัตว์นรก ศิลปินสร้างรูปร่างหน้าตาแต่ละภาพอย่างพิสดาร สร้างพื้นผิวด้วยริ้วรอยสีที่หยาบหนาให้อารมณ์แบบดิบเถื่อน แต่ละชิ้นใช้สีที่ดิบสดอย่างมีกำลัง รูปลักษณ์โดยร่วมทำให้ผู้ดูนึกถึงตัวกากในงานจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่มีใบหน้าแปลกประหลาดราวกับสวมหน้ากาก ดูน่าหวาดกลัว สะเทือนขวัญ
ศิลปินต้องการแสดงออกถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวในสังคมมนุษย์ อำนาจในฝ่ายต่ำของมนุษย์ได้ทูกซุกซ่อนอยู่ในใบหน้าแต่ละภาพอย่างดิบๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อำนาจ และอวิชชาต่างๆได้ปรากฏเป็นสัญลักษณ์ต่างๆในภาพ ศิลปินยังถ่ายทอดการเสียดสีในแวดวงการเมืองด้วยการนำใบหน้าของนักการเมืองมาเขียนลงในภาพด้วยวิธีการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา บางครั้งเมื่อเพ่งพินิจในผลงานแต่ละชิ้น จึงเสมือนผู้ดูส่องกระจกแห่งจิตวิญญาณที่เห็นสัญชาติญาณดิบของตนผ่านผลงานจิตรกรรมใบหน้าอันน่าสะพรึงเหล่านี้
ภาพที่ 10 “Dedicated to Oskar Panizza” (1917-1918)
โดย George Grosz ขนาด 140 x 110 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
โดย George Grosz ขนาด 140 x 110 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
ผลงานชิ้นนี้ทำให้ต้องนึกภึงผลงานจิตรกรรมชื่อ “อุทิศให้กับออสการ์พานิซซา” (Dedicated to Oskar Panizza: 1917-1918) (ภาพที่ 10) ของ กีออร์ก กรอสซ์ (George Grosz: 1893-1959 ) ซึ่งลักษณะหน้าตาของผู้คนในภาพนี้มีรูปลักษณ์เสมือนใส่หน้ากาก ไม่แสดงภาพคนที่เหมือนจริง ซึ่งศิลปินต้องการแสดงออกถึงเรื่องราวปัญหาทางสังคมและการเมือง ผู้คนที่ดูราวกับใส่หน้ากากแสดงใบหน้าที่น่าเกลียดน่ากลัวดุจเดียวกับผลงานที่เพิ่งกล่าวของ ทวี รัชนีกร แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าทวีจะได้รับอิทธิพลโดยตรงจากผลงานของกรอสซ์แต่อย่างใด เพราะปัจจัยที่แท้จริงอยู่ที่ประเด็นทางสังคมที่เป็นเรื่องระหว่างผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ที่มีอยู่ทุกๆสังคม หน้ากากจึงเสมือนการเปรียบเทียบสังคมมนุษย์ที่มิได้เปิดเผยความจริงใจต่อกัน ทั้งสองศิลปินต่างนำสัญชาติญาณดิบมาห้ำหันกันโดยมิได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่หลงเหลือในความขัดแย้งจึงกลายเป็นปัญหาระดับมหาชน ซึ่งดำรงมาตั้งแต่มนุษยชาติเริ่มเกิดขึ้นและตลอดไปตราบนานเท่านาน สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือเป็นที่ยืนยันได้ระดับหนึ่งว่า ทวี มีแนวทางการแสดงออกทางศิลปะที่มีแนวคิดเดียวกับศิลปินเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ในโลกตะวันตก
ภาพที่ 11 “หีบสีเหลือง” (พ.ศ. 2548) ขนาด 130 x 130 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
ในผลงานชื่อ “หีบสีเหลือง” (ภาพที่ 11) ปรากฏรูปใบหน้ามากมายถูกอัดแน่นอยู่ภายในกรอบของกล่องสีเหลือง เมื่อได้เห็นใบหน้าอันแปลกประหลาดเหล่านั้น ในเบื้อต้นอาจจะพาลไปคิดถึงใบหน้ามนุษย์ต่างดาว (Alien) แต่เมื่อพิจารณาสักพักจะเห็นว่าใบหน้าอันบิดเบี้ยวบางหน้าคล้ายกับใบหน้าที่กรีดร้องในผลงานชื่อ “เสียงกรีดร้อง” (The scream: 1893) (ภาพที่ 12) ของ เอดวาร์ด มุงค์ (Edvard Munch: 1863-1944) ซึ่งทำให้น่าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ทวีจงใจที่จะวาดใบหน้าในลักษณะคล้ายผลงาน “เสียงกรีดร้อง” ซึ่งใบหน้าดังกล่าวโด่งดังมากในศิลปะแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่บีบคั้นได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ การนำลักษณะใบหน้าบิดเบี้ยวดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่ยึดโยงความรู้สึกแบบ “เสียงกรีดร้อง” มาประทับลงในภาพ ก็เพื่อให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกภาวะในเชิงกดดันบีบคั้น แต่การถ่ายทอดออกมาโดยรวม กลับให้กลิ่นอายแบบ ทวี รัชนีกร ได้อย่างน่าชื่นชม
ภาพที่ 12 “The Scream” (1893)
โดย Edvard Munch ขนาด 91 x 74 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
ภาพที่ 13 “นกอรหัน” (พ.ศ. 2553) ขนาด 80 x 100 ซม. , สีน้ำมันบนผ้าใบ
ภาพที่ 14 “Self-Portrait as a Soldier” (1914-1915)
โดย Otto Dix ขนาด 68 x 53.5 ซม. , สีน้ำมันบนกระดาษ
โดย Otto Dix ขนาด 68 x 53.5 ซม. , สีน้ำมันบนกระดาษ
แนวทางการแสดงออกทางอารมณ์รุนแรงอย่างตรงไปตรงมาแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ยังปรากฏในผลงานชุดนี้อีกหลายๆชิ้น ตัวอย่างอีกชิ้นคือ ผลงานชื่อ “นกอรหัน” (ภาพที่ 13) ซึ่งผู้ดูจะเห็นการปาดป้ายสีด้วยฝีแปรงหรืออาจจะเรียกว่าปาดเกรียงสีอย่างรวดเร็วทันทีทันใด ทุกรอยปาดป้ายสีเห็นถึงความมั่นอกมั่นใจของศิลปินที่ไม่จำเป็นต้องมานั่งแต่งแต้มอีกครั้งให้เกิดความประณีต แต่พึงแสดงออกอย่างดิบๆเพื่อผลทางสายตาและนำไปสู้ผลทางความรู้สึก ซึ่งผลงานชิ้นนี้ มีรูปลักษณ์ความรุนแรงและความฉับไวของการปาดป้ายฝีแปรงคล้ายกับผลงานชื่อ “ภาพเหมือนตัวเองเป็นทหาร” (Self-Portrait as a Soldier: 1914-1915) (ภาพที่ 14) ของ ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) ซึ่งมีทิศทางการปาดป้ายสีเป็นแนวเฉียงที่คล้ายกัน ต่างกันเพียงทิศทางที่ตรงกันข้ามเท่านั้น ความรุนแรงและเด่นชัดของสีปูดนูนจนกลายเป็นพื้นผิวที่หยาบทำให้ผลงานทั้งสองมีการสื่อสารทางทัศนธาตุที่ไม่ต่างกันนัก อีกทั้งโครงสีโดยรวมของทั้งสองภาพล้วนใช้สีสดดิบไม่มีการเจือให้เกิดความเบาบางในพลังของสีแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำให้เห็นถึงรสนิยมของทวีที่มีแนวทางการแสดงออกทางรูปลักษณ์ในเชิงเอกซ์เพรสชั่นนิสม์
ภาพโดยรวมทางด้านเนื้อหาในผลงานของ ทวี รัชนีกร ในผลงานชุดนี้หรือแม้แต่ชุดที่เคยสร้างสรรค์ในอดีตก็ตาม ล้วนมีแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับมนุษย์ สังคม และการเมือง อันเป็นเนื้อหาหลักที่ศิลปินกลุ่มเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ต่างก็แสดงออกเป็นผลงานศิลปะ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในกลุ่มเยอรมันเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (German Expressionism) แล้ว ก็นับได้ว่ามีแนวทางที่คล้ายกันกับผลงานของเขาเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ทั้งนั้นผลงานของทวี รัชนีกร กลับมิได้แสดงอาการด้อยคุณภาพ เนื่องจากได้รับอิทธิพลในแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์แต่อย่างใด แต่ผลงานของเขากลับยิ่งทวีคุณค่าด้วยความแน่วแน่ในแนวทางที่เขายึดมั่นสร้างสรรค์มาตลอดชีวิต หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ทวี รัชนีกร คือศิลปินแนวทางเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ของไทยที่อยู่ในระดับปรมาจารย์ก็ว่าได้
สุดท้ายแล้วผลงานอันใหญ่โตและมีอยู่มากมายที่ศิลปินชราผู้มีเคราสีเงินเงางามได้รังสรรค์ไว้ในแผ่นดิน จึงเป็นเสมือนดังพงศาวดารที่วิพากษ์วิจารณ์อำนาจด้านมืดในตัวตนของมนุษย์ สื่อสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์แต่ละคนล้วนบ่มเพาะกิเลส ตัณหา และอุปาทานของตนอย่างไม่รู้ตัว มนุษย์ต่างเสพอวิชชาจนมืดมัวด้วยเงินทองและอำนาจอันจอมปลอมโดยมิได้สนใจโลกธรรมทั้งมวล ภาพลักษณ์อันประณีตงดงามของโลกย่อมเป็นสิ่งที่มนุษย์ล้วนปรารถนา ทว่าในความเป็นจริงมนุษย์กลับมิรักษาความงดงามและสันติ ภาพในเรือนกายและห้วงจิตวิญญาณภายในอันสูงส่งต่อกันและกัน มนุษย์ยังคงใช้อำนาจฝ่ายต่ำที่นอนเนื่องในสันดานเข้าปะทะกันอย่างหน้ามืดตามัว สุดท้ายเมื่อมนุษย์ทำลายล้างกัน หลังหมอกควันแห่งการห้ำหัน “มนุษย์นั้นจะหลงเหลืออะไร?”
alat pembesar alat vital
ตอบลบalat pembesar penis
vacum penis
alat pembesar
pembesar penis