แง่งามในความจริง
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (พลเกิ้ง)
มนุษย์คนหนึ่งทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งที่ตนเชื่อ ยึดมั่นในความดีงามในวิถีของตนอย่างไม่เสื่อมสลาย กระทั่งพร้อมสลายความสุขสบายภายนอกเพื่อประกอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น สิ่งเหล่านี้มิใช่สิ่งที่เป็นปกติของผู้คนทั่วไป จะกระทำได้ ถึงกระนั้นวิถีแบบนี้ก็ไม่ใช่ระยะทางอันห่างไกลที่ปุถุชนคนหนึ่งจะก้าวย่างไปถึง
การจะกล่าวถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในแง่อุดมคติทางศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็สรรเสริญในองค์ความรู้ต่าง ๆ อันประกอบเป็นสร้างสรรค์ และวิชาการที่นำมาสั่งสอนลูกศิษย์ แต่ในแง่งามแห่งความเป็นมนุษย์กลับไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับท่านในมุมนี้เท่าไร
จากบทความทางศิลปะที่อาจารย์ศิลป์เขียนในวาระต่าง ๆ เป็นสิ่งที่การันตีถึงความกระจ่างในด้านวิชาการศิลปะของท่านเป็นอย่างสูง ซึ่งเมื่อได้ศึกษาหลักฐานทางวิชาการดังกล่าว จะเห็นว่าท่านไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการลอกเลียนแบบอย่างตะวันตก แต่ให้เรียนรู้เฉพาะเทคนิคและวิธีในการแสดงออกซึ่งในส่วนความรู้สึกทางจิตวิญญาณควรจะเป็นของเฉพาะตนเท่านั้น
จุดยืนดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานของลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์หลายคน ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เทียมเท่ากับนานาชาติได้
เมื่อศึกษาชีวิตของท่านจะเห็นว่า หากท่านยังคงอยู่ในโลกตะวันตกก็ย่อมจะมีชีวิตที่สุขสบายทั้งด้านชื่อเสียงและรายได้มากกว่าเป็นข้าราชการธรรมดาในประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินเดือนน้อยมากหากเทียบกับหน้าที่และการงาน แต่ท่านกลับยินดีที่จะเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นที่รักของศิษย์มากกว่าจะเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์มีผลงานชั้นเลิศและได้รับเกียรติยศอันเป็นฐานแห่งความสุขภายนอกสำหรับตน
สิ่งที่น่าสนใจคืออาจารย์ศิลป์เป็นชาวตะวันตก ดังนั้นวิถีต่าง ๆ ของท่านย่อมต่างจากชาวตะวันออก สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหากับท่านในการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจความลำบากนี้ กลับยังคงใช้ชีวิตปกติแบบชาวไทย ซึ่งไม่เหมือนคนไทยอีกหลายคนที่กลับทำตัวเลอเลิศเพริศความรู้กว่าคนอื่นทั้ง ๆ ที่ตัวเองกลับว่างเปล่าทางปัญญา
อาจารย์ศิลป์ไม่เคยสร้างงานศิลปะเพื่อชื่อเสียงหรืออามิสใด ๆ ในขณะที่ลูกศิษย์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างพะวงกับความสำเร็จในชีวิต ทั้งด้านรายได้และชื่อเสียงเกียรติยศ หรือเลยไปถึงศิลปินระดับชาติ แต่อาจารย์ศิลป์กลับต้องการครอบครัวที่อบอุ่นเล็ก ๆ พื้นที่ในการทำงานศิลปะที่ท่านรัก และลูกศิษย์ที่รักและศรัทธาในความรู้ที่ท่านได้ถ่ายทอดให้
ในขณะที่ลูกศิษย์หยิ่งผยองอุปโลกน์ตัวตนใหญ่เท่าภูเขา ไปไหนมาไหนมีอัตตาราวกับผู้วิเศษ ทว่าอาจารย์กลับสวมชุดสีกากีของข้าราชการธรรมดา ๆ และไม่เคยแสดงความอหังการกับผู้ใด ท่านยังคงปรารถนาให้ผลงานเป็นดั่งบทสนทนาระหว่างศิลปิน ศิลปะ และมหาชน
สรรพสิ่งที่ถูกหลอมรวมเป็นอาจารย์ศิลป์ คือความสมบูรณ์อีกรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ผู้ไม่ยอมให้อัตตากลืนกิน เป็นคนทำงานศิลปะที่อุดมไปด้วยความรู้และปรัชญาส่วนตัวที่น่านับถือ
หากศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ทั้งหลาย ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ กำลังแสวงหาอัตลักษณ์แห่งตน ก็คงไม่ต้องเสาะหาบุคคลใดที่ไกลตัวมาเป็นแบบอย่าง เพราะอาจารย์ศิลป์คือแบบอย่างคนทำงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว
วันผ่านเปลี่ยน
โดย: วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ)
“ลองมองไปที่สุดขอบฟ้าเหนือผิวทะเลที่ส่องประกายจะเห็นเงาลางๆ ลอยเลื่อนอยู่อยากโดดเดี่ยว นั้นคือ เรือซานต้า ลูเซีย “
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พุทธศักราช 2505 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นบนเรือ ซานต้า ลูเซีย กัปตันใหญ่ผู้ก่อร่างสร้างสมความดีงามได้ลาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ได้ฝากมรดกอันยิ่งใหญ่มหาสารให้ไว้แด่ศิษย์และประเทศชาติ
สายธารแห่งประวัติศาสตร์พัดพาทุกสิ่งเหลือเพียงคุณความดีที่ยังคงอยู่ วีรบุรุษผู้กล้าหาญทางการเมืองการสงครามมีมากมาย แต่วีรบุรุษผู้เสียสละในฐานะครูที่แท้จริงกำลังถูกลืม ความถ่อมตน เสียสละ และจริงใจให้ในการสอนอย่างไม่มีปิดบัง พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกเรื่อง ไม่ได้เป็นครูอาจารย์เฉพาะหน้าที่หรือในห้องเรียน ทุกสิ่งนี้มีเต็มเปี่ยมอยู่ในคนผู้นี้ เค้าคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บุคคลสำคัญที่เริ่มถูกมองข้าม กัปตันใหญ่แห่งเรือ ซานต้า ลูเซีย นาวาแห่งศิลปการศิลปากร
หลังจากวันแห่งความสูญเสียนั้น ความเงียบงันราวกับวันสิ้นโลกปกคลุมไปทั่วสถานที่แห่งนี้และในจิตใจของศิษย์ทุกคน ยังดีที่หลักธรรมแห่งความจริงได้สอนไว้ถึงความไม่เที่ยงอันเป็นธรรมดาของโลก มีเพียงสิ่งเดียวที่ตอบแทนคุณอาจารย์ได้คือสืบสานพัฒนาความตั้งใจและวิชาความรู้ที่อาจารย์มอบให้ไว้ต่อไป
หลังจากนั้นมรดกต่างๆที่อาจารย์มอบไว้ได้เดินทางผ่านวันปีแห่งเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆมากมายกัดกร่อนทำลายคุณค่าในอดีตจนเริ่มเลือนราง จากเรื่องจริงกลายเป็นประวัติศาสตร์เป็นตำนานเป็นเรื่องเล่าสุดท้ายเหลือเพียงเสียงลมที่พัดผ่าน ความยิ่งใหญ่แห่งอดีตกำลังถูกรื้อถอนด้วยปัจจุบัน อดีตถูกมองเป็นเพียงสิ่งคร่ำครึไร้ค่า โยนมรดกสำคัญทิ้งอย่างขยะที่ไร้ประโยชน์โดยหลงลืมว่าครั้งหนึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนมุ่งปรารถนาและเคยได้รับประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้รับสืบทอดต่อมาได้แต่กากเดนที่บิดเบือน เพราะการที่ต้องการก้าวเดินตามผู้อื่นทำให้เราหลงลืมสิ่งดีงามที่เรามีอยู่ ยิ่งวิ่งไล่ตามก็ยิ่งหลงทางมองไม่เห็นรอบข้างและตนเอง
ดังนั้นเราจึงควรหยุดวิ่งและลองมองพิจารณาตนเองมองให้เห็นความต่างพิเศษที่มี ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่มาแห่งสิ่งต่างๆและคุณค่าของอดีต ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบอดีตแต่เพียงนำมาปรับใช้หรือมองเห็นคุณค่า อดีตคือเหตุของปัจจุบันอนาคตคือผลของปัจจุบัน
การรู้คุณค่าของอดีตไม่จำเป็นว่าเราต้องมานุ่งโจงกระเบนห่มสไบ เพียงแค่ไม่ดูถูกอดีตซึ่งเปรียบเหมือนการดูถูกผู้มีพระคุณและบุพการีของตนก็พอ เนื่องจากขณะนี้ความลุ่มหลงบิดเบือน เริ่มแผ่ปกหลุมจึงอยากกระตุ้นเตือนให้ลองหันมาพิจารณาสิ่งอันทรงค่าที่เรามีอยู่ และบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่ควรนำเป็นแบบอย่างและเราไม่ควรลืมเลือน...
...อาจารย์ศิลป์ พีระศรี.
เนื่องในนิทรรศการคิดถึงอาจารย์ศิลป์
โดย: เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ (ลายเซ็นเซอร์)
…พอข้าพเจ้าได้ยินชื่อนิทรรศการครั้งนี้แล้วก็นึกถึงความหลังในอดีตใน สมัยที่เรียนศิลปากร โดยมหาวิยาลัย และคณะจะมีการจัดงานรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ในทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุก ๆ ปี เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ รวมไปถึง คณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาคณะอื่นๆทั่วทั้งมหาวิทยาลัย บุคคลภายนอกที่ อยากจะเข้ามาซึมซับบรรยากาศแบบพี่แบบน้องในรั้วศิลปากรท่านอาจารย์ที่เคย เรียนกับท่าน อาจารย์ศิลป์โดยตรง ก็จะมาเล่าประสบการณ์ ความประทับใจและ ความตั้งใจ นิสัยใจคอ และบรรยากาศการเรียน
ในสมัยนั้นหนุ่มอิตาเลียนนาม Corrado Feroci ได้เดินทางเข้ามารับราช การอยู่ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย เริ่มซึมซับศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีของไทย รักประเทศไทย และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ความสามารถให้แก่ลูกศิษย์ที่เริ่มศึกษาศิลปะในสมัยนั้นให้รู้จักคำว่าศิลปะสมัย ใหม่ โดยมิให้ลืมสิ่งสำคัญนั่นคือความเป็นไทย
บัดนี้ข้าพเจ้าและกลุ่มเพื่อนที่มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงงานในนิทรรศการที่ชื่อว่า “คิดถึงอาจารย์ศิลป์” พวกเราถือเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์รุ่นที่ 58 แม้จะมิได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้โดยตรง แต่ด้วยการหล่อหลอม ความรู้ ทัศนคติ ความมุ่งมั่น ด้วยรากฐานที่มั่นคงแห่งการสร้างสรรค์ และมองเห็นถึง ความงาม ความประณีตในวัฒนธรรมของตนเอง และวัฒนธรรมใหม่ที่ผสมปนเปเข้ามาจากการพัฒนาของประเทศผสมผสานและผ่านกาลเวลามายาวนานโดยกำเนิดความหวังทางศิลปะ จากรุ่นสู่รุ่นเป็นปึกแผ่นที่มั่นคง จนกลายเป็นคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ในปัจจุบัน
ในการแสดงงานครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นก้าวเล็ก ๆ เป็นเสมือนการรวมตัวทาง ความคิด ถึงแม้เพื่อนบางคนบางท่านมีภาระกิจมากมาย การสร้างสรรค์ผลงานใน แต่ละชิ้นไม่สะดวกดั่งเดิม แต่พวกเราที่มีโอกาศหรือพอที่จะมีเวลาสร้างสรรค์ก็ ถือเป็นความยินดี และเป็นสุขเมื่อได้ร่วมงานแลกเปลี่ยนความคิด เป็นครั้งคราว ด้วยความต่อเนื่อง เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของคำว่าศิลปะและเป็นก้าวที่เต็มไป ด้วยความระลึกถึง...
อาจารย์ศิลป์ ตัวผม และเวลา
โดย: ปรานต์ ชาญโลหะ (ดาวโหลด)
ผมไม่แน่ใจว่าได้รู้จักชื่ออาจารย์ศิลป์ตอนไหน ไม่แน่ใจว่ารู้จักก่อนหรือหลังชื่อของคณะจิตรกรรม แต่ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมได้เข้ามาในคณะจิตรกรรมนั้นเป็นวันอาจารย์ศิลป์ ภาพที่เห็นคือรูปเคารพขนาดเท่าคนจริงที่ดูเป็นกันเองกับผู้คนที่เข้ามาไหว้ทำความเคารพ บรรยากาศที่ดูอบอุ่นเต็มไปด้วยผู้คนที่แปลกๆ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่เล็กที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ครั้งนั้นทำให้ผมได้รู้จักและสัมผัสกับลานอาจารย์ศิลป์เล็กๆแห่งนี้ และเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไหว้ทำความเคารพรูปปั้นของท่าน
จากวันนั้นมาผมก็ใช้เวลาอีกหลายปีมาก กว่าจะได้เข้ามาไหว้รูปเคารพของท่านอย่างเต็มภาคภูมิ ก็คือวันที่ผมเข้ามาในฐานะน้องใหม่ของคณะจิตรกรรม แต่นั้นผมก็ได้ทำความเคารพรูปปั้นของท่านตลอดมา ทั้งบางครั้งบางเวลาที่อากาศสบายๆตรงฐานของรูปปั้นอาจารย์ก็ได้เป็นที่พักอาศัยเป็นที่นั่งเล่นพูดคุยกับเพื่อนๆ บางครั้งก็เป็นที่หลับนอนชั่วคราวยามเหนื่อยล้า
จวบจนเวลาผ่านไปผมเรียนจบทั้งชั้นปริญญาตรีและโท รวมเวลาเกือบ 9 ปีที่ผมอาศัยอยู่ในคณะจิตรกรรม ผมเห็นรูปเคารพของท่านยังคงอยู่เช่นเดิม ให้ความอบอุ่นสร้างความผูกพันกับศิษย์รุ่นหลานรุ่นเหลนไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าคณะจิตรกรรมจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยตามกระแสของโลกบริโภคนิยม แต่ท่านก็ยังคงเป็นอาจารย์ศิลป์ของทุกคน ท่านยืนอยู่ตรงนั้นแล้วบอกกับลูกศิษย์ทุกคนผ่านคำพูดที่บันทึกไว้ตรงฐานรูปปั้นของท่านว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ท่านพูดย้ำพูดซ้ำของท่านทุกวันทุกคืนยืนท้าแดดท้าลมผ่านฝนผ่านหนาวเพียงเพื่อบอกกับศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”
และวานนี้ผมมีโอกาสกลับเข้าไปในคณะจิตรกรรมอีกครั้ง อาจารย์ศิลป์ก็ยังคงยืนอยู่ที่เดิมท่ามกลางบรรยากาศที่เหงาจับใจ ผมยอมรับว่าไม่เคยเห็นคณะจิตรกรรมเงียบเหงาไร้ผู้คน ไร้ชีวิตชีวาแบบนี้มาก่อน ไม่มีคนอยู่ทำงานศิลปะ ไม่มีเสียงสนุกเฮฮาล้อมวงเหมือนที่เคยเป็น ไม่มีอาจารย์ ไม่มีรุ่นพี่ ไม่มีรุ่นน้อง ไม่มีป้าทำความสะอาด ไม่มีลุงยาม ไม่มีกระทั่งหมาสักตัวที่เคยเห็นและคุ้นเคย มีแต่โต๊ะอันว่างเปล่า มีแต่ตึกที่ถูกปิดไร้คนอาศัย มีเพียงเศษดอกไม้และใบไม้ที่ร่วงหล่นอย่างหนาแน่นรอบรูปเคารพของอาจารย์ศิลป์ ผมมองไปยังฐานของรูปปั้นเห็นคำว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” คำ ๆ นี้ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม แล้วได้ผุดขึ้นมาจากความทรงจำลึกๆก้องกังวานอยู่ในจิตใจนี้อีกครั้ง ผมไม่รู้ว่าเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจหรือหดหู่ใจกันแน่ ที่ผมได้กลับมาเห็น กลับมายืนอยู่ตรงนี้ที่ๆผมเคยอยู่ แล้วมองเห็นรอบรูปเคารพของท่าน มองเห็นลานอาจารย์ศิลป์ที่เคยผูกพันร้างลาจากผู้คน
ท้ายที่สุดนี้ผมอาจจะไม่เคยได้เห็นตัวจริงของอาจารย์ศิลป์ ไม่เคยได้ร่ำเรียนกับท่าน แถมตัวผมเองยังเป็นศิษย์รุ่นเหลนนอกรีดที่ไม่เชื่อในคำพูดหลายๆคำของท่านที่เกี่ยวกับศิลปะและชีวิต แต่ผมเชื่อในคุณค่าความดีงาม ความจริงใจในการทำงานและการสอนศิลปะของท่าน ผมเชื่อว่าอาจารย์ศิลป์คือมนุษย์ที่ควรค่าแก่การไหว้การเคารพของลูกศิษย์ทุกๆคน กรรมใดที่ผมประกอบขึ้นในฐานะของคนที่ทำงานศิลปะ เพียงเพื่อบำบัดทุกข์และค้นหาสัจจะของชีวิต กระทำขึ้นด้วยจิตอันบริสุทธิ์ปราศจากความทะเยอทะยาน คุณค่าความดีงามเพียงเล็กน้อยนี้ผมขออุทิศให้กับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ร่วงลับและกำลังจะเลือนหาย
วันวาน วันก่อน วันนี้
โดย: เจตนิพัทธ์ ธาตุไพบูลย์ (อ่อมทิพย์)
เมื่อวันวาน...
เก้าอี้ตัวยาวสีเขียวที่ผมและเพื่อนได้นั่งมองดูรูปปั้นฝรั่งที่ยืนสง่าอยู่หน้าลานของคณะจิตกรรมฯ พร้อมกับคำถามว่า “ฝรั่งคนนี้เป็นใคร ทำไมที่นี่ถึงมีอนุสาวรีย์ฝรั่ง?” นั่นเป็นการรู้จักท่านครั้งแรกพร้อมด้วยความโง่เขลา
เมื่อเข้ามาในสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง...
ผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็นศิษย์รุ่นที่ห้าสิบแปด ก็ยังนับว่าห่างไกลยิ่งที่จะได้มีโอกาส ร่ำเรียนและสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้เป็นจิตวิญญาณของศิลปะสถานแห่งนี้ ครั้งหนึ่งภายใต้จิตสำนึก ผม และเพื่อนๆกำลังนั่งเขียนรูปและคุยกันอยู่ข้างๆของอนุสาวรีย์ตรงหน้าลานคณะจิตรกรรมฯ จู่ๆก็มีชายคนหนึ่ง รูปร่างสันทัดท่าทางใจดี สวมเสื้อผ้าสีกากี เดินเข้ามาหยุดอยู่ตรงหน้า พร้อมกับพูดว่า...
“นายๆขยันๆ หน่อยสินาย อย่าขี้เกียจ”
ผมหันไปมองตามเสียงของชายผู้นั้นซึ่งเป็นบุคคลคนๆเดียวกันกับอนุสาวรีย์ “อาจารย์ศิลป์!!” ผมอุทานพลันตื่นขึ้นในเวลาเดียวกัน ด้วยความรู้สึกที่อบอุ่นเสมือนหนึ่งได้พบกับอาจารย์ศิลป์ในโลกแห่งความจริง ทำให้ผมยังคงสามารถจดจำเหตุการณ์ในคืนนั้นได้จนถึงทุกวันนี้
เมื่อวันนี้ยังดำเนินอยู่...
เก้าอี้ตัวยาวตัวเดิมสีเขียวหน้าคณะฯ ผมและเพื่อนก็ยังคงนั่งมองดูรูปปั้นของท่านอาจารย์ศิลป์ที่คุ้นตาด้วยความรู้สึกที่สำนึกในพระคุณของท่าน แม้ว่าจะไม่เคยได้พบหรือเรียนกับท่านครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม ทุกครั้งที่ทำงานศิลปะ ผมยังคงรู้สึกอบอุ่นประดุจว่า อาจารย์ศิลป์ท่านยังคงเฝ้ามองดูพวกเราเหล่าลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอ แม้ว่าตัวท่านจะจากไปนานแล้วก็ตาม
ด้วยความระลึกในพระคุณ.
งามไทยในเทศ
โดย: อนุรักษ์ ชัยคงสถิตย์ (เทอร่า)
“...ศิลปะสุโขทัยก่อรูปขึ้นเมื่อศิลปะสุโขทัยหันไปพิจารณาธรรมชาติอย่างถ้วนถี่ และศึกษาเพื่อที่จะคิดฝัน ทำแบบอย่างพระพุทธรูปอันงดงามในอุดมคติต่อไป คนไทยเข้าใจดีถึงคำว่าลอกเลียนแบบธรรมชาตินั้นมิใช่การสร้างสรรค์ศิลปะ ดังนี้จึงกล่าวได้ว่า งานสุโขทัยก่อกำเนิดขึ้นด้วยการเข้าใจธรรมชาติอย่างแจ่มแจ้งนั่นเอง...”
นี่คือทัศนะของ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีต่อศิลปะไทยสมัยสุโขทัย จะเห็นได้ว่าท่านนั้นมีทัศนะคติที่เปิดกว้างพร้อมทั้งยังเข้าใจในหัวใจของศิลปะไทยได้อย่างลึกซึ้ง อาจจะมากกว่าคนไทยหัวดำอย่างเราทั้งหลายด้วยซ้ำ หลายครั้งที่พวกเรามักจะลืมรากแห่งตนไปชั่วขณะ หลายคนหลงวัฒนธรรมตะวันตก หรือบางทีอาจเป็นเพราะรสชาติของบ้านเรานั้นมันไม่เร้าจิต จึงพยายามขวนขวายสรรหารสชาติแบบแปลกใหม่มาลิ้มลองกันแบบผิด ๆ ถูก ๆ
เราทั้งหลายคงทราบดีว่าท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คือฝรั่ง แต่การที่ท่านได้ย่างก้าวเข้ามาในสยามเรานั้น ท่านนำเอาศิลปะตะวันตกมาสู่ศิลปะไทยที่มีแบบแผนแบบดั้งเดิม ก่อให้เกิดผลยังความเปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปะในสยามประเทศเรา ท่านได้นำรสชาติศิลปะตะวันตกมาให้เรา ๆ นั้นได้ลิ้มลองและเข้าถึงรสนั้นได้อย่างถ่องแท้จนหลายคนแสดงออกได้ไม่แพ้ฝรั่งชาติใด พร้อมกันนั้นท่านก็เข้าถึงศิลปะไทย อย่างยากที่คนไทยทั้งหลายจะเข้าสัมผัสถึงเช่นกัน
ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวชมว่า
“...วัดสุทัศน์เป็นวัดที่มีแผนผังงามที่สุดของสถาปัตยกรรมไทยยุครัตนโกสินทร์นี้...”
เชื่อว่าเราอาจจะเคยผ่านเสาชิงช้า เข้าออกวัดสุทัศน์มาไม่มากก็น้อย แต่จะมีสักกี่คนที่เพ่งพินิจพิเคราะห์ออกมาได้อย่างท่าน เพราะวัดสุทัศน์นั้นได้วางแปลนแผนผังถอดแบบมาจากคติไตรภูมิล้วนๆ ซึ่งวัดสุทัศน์ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งสำคัญที่ใจกลางพระนครพอดี ตามคติโบราณแล้วควรเป็นที่ตั้งของพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ อันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล
เขตพุทธาวาสของวัดสุทัศน์ประกอบด้วยสองบริเวณหลักซึ่งได้รับการวางผังและจัดองค์ประกอบอย่างรอบคอบ ให้มีความสัมพันธ์กัน บริเวณแรกประกอบด้วยพระวิหารหลวงตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ล้อมรอบด้วยลานประทักษิณกว้างและพระระเบียง ส่วนอีกบริเวณหนึ่งมีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วตั้งขวางอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวงภายนอกพระระเบียงออกไป พระวิหารหลวงวางตัวตามแนวเหนือใต้ ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ตามแนวที่ตั้งได้ฉากกับแนวแกนของพระวิหารหลวงที่จุดกึ่งกลางพอดี และหันหน้าสู่ทิศตะวันออก ซึ่งเมื่อเรามองมุมตรงด้านหน้าวัดจากระยะไกล ๆ จะเห็นพระวิหารหลวงตั้งเด่นเป็นตระหง่านโดยล้อมรอบด้วยพระระเบียงลดหลั่นลงมาทั้งยังมีพระอุโบสถตั้งขวางเป็นฉากหลัง ส่งให้พระวิหารหลวงอวดทรวดทรงโอ่อ่าออกมาได้อย่างงดงามหาที่ใดเปรียบ
จากการเข้าใจในภูมิสถาปัตกรรมแบบไทยถึงขนาดจับจิตของคนต่างบ้านต่างเมืองอย่างอาจารย์ศิลป์นั้น นับว่าท่านไม่เคยหยุดที่จะลิ้มรสศิลปะทั้งยังเข้าถึงรสชาติแบบละเมียดเป็นที่สุด
“มนุษย์ยิ่งสามารถเข้าถึงเรื่องของจิตใจและพุทธิปัญญาได้มากเพียงใด วิญญาณของมนุษย์ก็จะยิ่งลอยพุ่งขึ้นไป ณ แดนบริสุทธิ์ได้สูงเพียงนั้น”
นี่คือคำจากบทความ “การเข้าถึงศิลปะ”ซึ่งเป็นของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เราคงไม่ต้องบรรยายว่าวิญญาณของท่านนั้นอยู่ ณ ที่แห่งใด.
อาจารย์ศิลป์ของผม
โดย: เรวัต รูปศรี (อามสตรอง)
...ก่อนที่จะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร
ผมเดินเข้ามาไหว้รูปปั้นที่หน้าคณะจิตรกรรม
โดยนำพวงมาลัยดอกมะลิมาสักการะ
ตอนนั้น...
ผมรู้แค่ว่า
รูปปั้นที่ยืนอยู่ตรงหน้าผมเป็นชาวฝรั่งที่เป็นคนก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบันผมจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
และทำงานศิลปะตามที่ อ.ศิลป์ได้กล่าวไว้ว่า
"ถ้านายคิดถึงฉัน นายทำงาน..."
ทุกวันสำคัญๆ
ผมยังนำพวงมาลัยดอกมะลิมาสักการะรูปปั้นชาวฝรั่ง
ที่ชื่อ...
อ.ศิลป์ พีระศรี
เรื่องศิลปะเฉพาะตัวของเรา
โดย: ฉายดนัย ศิริวงศ์ (มุขหอม)
ถ้าจะกล่าวถึงสถานบันสอนศิลปะใด เก่าแก่ และทรงคุณค่าในจิตใจ ของเราคงมีเพียง หนึ่ง เดียวคือ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีรากฐานที่ดีจากการวางไว้โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาเลียน ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ ทักษะทางศิลปะไว้อย่างเข้มข้นทั้งแนวความคิดและหลักการเรียนการสอนที่เป็น Academic
ส่งผลสืบทอดจาก อ.ศิลป์ จากรุ่นสู่รุ่นส่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ต่อลูกศิษย์มานานแสนนานจวบจนปัจจุบันการ และอีกยาวไกลในอนาคตเราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีสายเลือดของคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร อย่างเข้มข้น
ตั้งแต่เด็กก็ชอบศิลปะ จนกระทั่งเข้าเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์เพื่อฝึกฝนทักษะพื้นฐานของศิลปะในหลาย ๆ แขนงให้เข้าใจ สามารถทำงานศิลปะได้อย่างฝัน ความปรารถนาที่จะเข้าศึกษาด้านศิลปะคือ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ศึกษาเล่าเรียนจากอาจารย์ผู้สอนและได้ ฝึกฝน ความรู้ความคิด และการสร้างสรรค์ศิลปะจากระดับปริญญาตรีจวบตนปริญญาโท
ถ้าเปรียบเทียบถึงศิลปะคืออะไรใน ชีวิตตอบได้เลยว่าศิลปะคือส่วนหนึ่งในชีวิตเป็นเลือดเนื้อและเป็นความคิดส่วนสำคัญของร่างกายเราไปแล้ว.
สารแด่อาจารย์ศิลป์
โดย: ธนพันน์ มูลกันทา (เพียงเฮาหมู)
รูปปั้นที่ตระหง่านอย่างน่าเกรงขามในภาพอันอบอุ่นของกลุ่มชายหัวเกรียนกับกลุ่มผู้หญิงผมแปลก ถูกบันทึกรวมกันเมื่อครั้งวันแรกที่ได้ถูกยอมรับเป็นรุ่นน้องของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เมื่อปีพ.ศ. 2544 เป็นภาพแห่งความใฝ่ฝันกับความประทับใจเล็ก ๆ ที่ศิษย์รุ่นหลังมากอย่างผมได้มีเก็บไว้
กระทั่งเมื่อจบการศึกษา ลักษณะทางกายภาพของกลุ่มคนในภาพเปลี่ยนไป บางคนหายไป บางคนยืนนิ่งเนียนดั่งผู้สำเร็จการศึกษาพร้อมพวกพ้องทั้ง ๆ ที่ยัง...
แต่รูปปั้นด้านหลังไม่เปลี่ยนแปลงเลย น่าเกรงขาม และเปี่ยมศรัทธาจากคนหลายรุ่น...ท่านคือผู้ให้มีเพียงคำบอกเล่ากับการศึกษาประวัติของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จากหนังสือที่ทำให้ผมรู้เรื่องราวเกี่ยวกับท่าน โดยเฉพาะหนังสือ "อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์" ของสำนักวิจัย ศิลป์ พีระศรี ที่ผมได้รับมา นับเป็นของขวัญที่สำคัญยิ่ง (สำหรับผมลำพังนักศึกษาปี 1 คงไม่มีปัญญาซื้อหนังสือเล่มละ 500 บาทมาเก็บไว้แน่ในตอนนั้น) เนื้อหาด้านในที่ผู้อาวุโสหลายท่านได้เขียนถึงความในใจ ความผูกพัน ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ช่างซาบซึ้งมาก คำพูด คำสั่งสอนของอาจารย์ศิลป์ ได้ถูกบันทึกไว้ผ่านความทรงจำ ผ่านการสอน ว่ากล่าวตักเตือนจากอาจารย์ รุ่นอาวุโส และปัจจุบัน เหมือนสารศักดิ์สิทธ์ที่ฝากไว้สู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ตัวผมรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำได้อย่างคนรุ่นก่อน เสียดายโอกาสที่เคยได้รับ อับอาย ต่อตนเอง ละเลยหน้าที่ เหลวไหล…
“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ผมขอยกบทความตอนหนึ่งในหน้าสุดท้ายของปกหลังด้านในหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น
“ศิลปินมีความประหลาด มีข้อบกพร่อง และมีคุณสมบัติต่างๆเหมือนกับมนุษย์ทั้งหลายทั่วๆไป แต่ศิลปินได้รับความรู้สึกที่ไวยิ่งกว่า และมีลักษณะส่วนตัวมากกว่า ศิลปินบางคนช่างคิดฝัน บางคนอารมณ์ร้าย บางคนตลกโปกฮา บางคนเป็นนักเยาะเย้ย กระทบกระเทียบ บางคนขมขื่น และอิจฉาตาร้อน บ้างก็เป็นคนเปิดเผย ใช้เงินหมดทุกสตางค์จนเกินรายได้ และบางคนก็งกเงิน”
(ศิลป์ พีระศรี: อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์)
ศิลป์ พีระศรี ในทัศนของผมในบทนี้ ท่านได้กล่าวไว้เพื่อเตือนสติ สติในความเป็นปกติชนของคนทำงานศิลปะ เพื่อปรามความบิดเบือนแห่งยุคสมัย ชีวิตอันเปล่าเปลือย ปัญหาชีวิต เครดิตกับเวลา และปัจจัยแห่งการดำรงอยู่จะไม่มีอิทธิพลในบทบาทของข้ออ้างอีกต่อไป ถ้าหากผมทำงาน ทำงาน ทำงานศิลปะ ทำงานศิลปะ ศิลปะคงทำให้ผมเป็นคนในกลุ่มนั้นได้อย่างเต็มบทบาทและภาคภูมิ...
...ผมจะซ่อมมัน.
วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553
คิดถึงอาจารย์ศิลป์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น