วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2563

เมื่อได้อ่าน "โลกของโซฟี"

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ


ราว ๆ สัปดาห์กว่า ๆ ที่ผมใช้เวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่อย ๆ อ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่งที่ซื้อมาราวต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจากร้านหนังสืออิสระที่ชื่อ “A BOOK with NO NAME” ที่ตั้งอยู่ในย่านสามเสน
หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “โลกของโซฟี”

“โลกของโซฟี” (Sofies verden) เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญาของนักเขียนชาวนอร์เวย์ชื่อ Jostein Gaarder ผู้สอนวิชาปรัชญา โดยมีเป้าหมายในการย่อยและสกัดแนวคิดของนักปรัชญาที่สำคัญตั้งแต่ยุคกรีกจนถึงศตวรรษที่ 20 ให้ออกมาในรูปของนิยายและบทสนทนาผสมผสานกับสถานการณ์เหนือความจริงด้วยการอธิบายอย่างง่าย ๆ จนกลายเป็นหนังสือที่ได้รับการกล่าวขานในวงกว้าง ด้วยการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 53 ภาษา และยอดการพิมพ์กว่า 30ล้านกว่าเล่ม ทั่วโลก

“โลกของโซฟี” เป็นนิยาย (ฉบับแปลภาษาไทยโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล) มีขนาดยาว 523 หน้า เล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ โซฟี เรียนแนวคิดปรัชญากับชายลึกลับชื่อ อัลแบร์โต จนเป็นบทสนทนาระหว่างกันเกี่ยวกับปรัชญาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคสมัยใหม่ที่สำคัญ ๆ ซึ่งการดำเนินเรื่องยังเกี่ยวโยงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเด็กผู้หญิงอีกคน คือ ฮิลเด กับพ่อของเธอ
การดำเนินเรื่องที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายในช่วงต้น ค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นด้วยการดำเนินเรื่องที่สลับซับซ้อนระหว่างโลกของความจริงและเหนือจริง ควบคู่ไปกับบทสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องปรัชญาของมนุษย์ที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ
.
นิยายเล่มนี้ นำเราไปสู่การตั้งคำถามการมีอยู่ของชีวิต ความจริง และความดีงาม ภายใต้การย่อยแนวคิดปรัชญาของนักคิดคนสำคัญมากมายที่วางชุดระเบียบการเชื่อมโยงไว้ด้วยลำดับเวลาและพัฒนาการของมนุษย์ อาทิ โสคราตีส, เพลโต้, อริสโตเติล, เดส์การ์ต, ล็อค, ค้านท์, เฮเกล, มาร์กซ์, ดาร์วิน, ฟรอยด์, ซาร์ต และนักปรัชญาอื่น ๆ อีกมากมาย

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ อ่านเพื่อทำความเข้าใจปรัชญาความคิดจากอดีตในแต่ละยุคสมัย

การได้อ่าน “โลกของโซฟี” ทำให้ผมนึกไปถึงงานจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกหรือที่เรียกกันว่า Fresco ที่ Vatican ชื่อ “The School of Athens” ที่วาดขึ้นในช่วง คศ.1509-1511 โดยจิตรกรชาวอิตาเลียนชื่อ Raphael


จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกชิ้นเอกของ Raphael นี้เป็นภาพแทนที่จัดวางบุคคลที่เป็นนักปรัชญาจำนวน 21 คนในโลกอดีตที่กำลังศึกษา สนทนา ถกเถียง ร่วมกันในพื้นที่ของอาคารที่แทนความหมายถึงสำนักวิชาความรู้แห่งนครเอเธนส์ในสมัยอารยธรรมกรีกที่ถือเป็นต้นร่างของวิชาความรู้ของโลกตะวันตก

สำหรับผมแล้ว ภาพดังกล่าวทำให้เห็นถึงตัวแทนนักปรัชญาที่มีปฏิสัมพันธ์กันด้วยการศึกษาและสนทนากัน ให้ความหมายว่า การเข้าใจความรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตและการดำรงอยู่ของมนุษย์มิอาจอยู่ที่ความศรัทธาในสิ่งอื่นใดนอกจากรักในการเรียนรู้และใฝ่หาปราชญ์ เช่นเดียวกับที่เรามักคุ้นชินกับสุภาษิตไทยที่ว่า “คนบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล…”
การแสวงหาความรู้ในโลกอดีตจึงคือการสนทนาและเปลี่ยนความคิดกัน รวมไปถึงการตั้งคำถาม การถกเถียง และการโต้แย้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความรู้ทั้งสิ้น แม้ในปัจจุบันก็ตามที

เมื่อย้อนกลับมาถึง “โลกของโซฟี” แล้ว
เมื่อผมได้อ่าน และดำเนินคล้อยตามไปในแต่ละตัวอักษรที่แปลขึ้นในภาคภาษาไทย มนทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของความคิดและจินตนาการ
ราวกับว่า กำลังเข้าไปฟังเสียงสนทนากันในภาพ “The School of Athens” ก็ว่าได้


วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563

The Legend of 1900 : เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้ไม่เปลี่ยน ย่อมอยู่ได้ยาก


โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ


เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้ไม่เปลี่ยน ย่อมอยู่ได้ยาก

Charles Darwin เคยเขียนหรือกล่าวในทำนองที่ว่า “สัตว์ที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นสัตว์ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ดีต่างหาก”

ผมอ่านข้อความดังกล่าวของ Charles Darwin ที่ไหนก็จำไม่ได้ แต่มันทำให้ผมหวนกลับไปนึกถึงโศกนาฏกรรมแห่งตัวตนที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง “The Legend of 1900” ซึ่งเชื่อว่า หลายท่านคงเคยได้ชมมาบ้าง

The Legend of 1900 เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย Giuseppe Tornatore ผู้กำกับชาวอิตาเลียน ออกฉายในปี ค.ศ.1998 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้แปลงมาจากนวนิยายเรื่อง “Novecento” ของ Alessandro Baricco นักเขียนชาวอิตาเลียน

ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีตัวละครเอกชื่อ นาย 1900 ซึ่งเขาเกิดบนเรือสำราญขนาดใหญ่ในปี 1900 และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากกรรมกรผิวสีและรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ บนเรือลำนั้น กาลต่อมาได้พิสูจน์อย่างชัดว่า 1900 มีพรสวรรค์ด้านการเล่นเปียโนในระดับอัจฉริยะ โดยไม่ได้ฝึกฝนเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ใด ๆ จนกลายเป็นที่กล่าวขวัญของผู้ที่เป็นแขกในเรือลำดังกล่าวตลอดเวลา

1900 มีชีวิตอยู่บนเรือโดยไม่เคยได้ขึ้นฝั่งเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า 1900 มีชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวัยหนุ่มโดยไม่เคยเหยียบพื้นฝั่งเลย
ถึงอย่างไรก็ตาม ฉากการประลองเปียโนระหว่าง 1900 กับนักเปียโนผิวสีที่เป็นระดับปรมาจารย์ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเริ่มเข้าวัยหนุ่ม การประลองครั้งนั้นสร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้ชมบนเรือเป็นอย่างมาก โดย 1900 ชนะการประลองนั้นด้วยทักษะเฉพาะตัวที่ไร้กระบวนแบบและโดดเด่นกว่า
ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นตำนาน
.
แต่ทว่าในอีกมุมหนึ่ง 1900 เป็นคนที่โดดเดี่ยวที่สุดในเรือลำนั้น แม้เขาจะให้เสียงบรรเลงเพื่อความบันเทิงกับชนทุกชั้นบนเรือ แต่ในใจของเขากลับเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวอย่างมาก
การไม่ยอมขึ้นฝั่ง ทำให้เขาเห็นโลกเพียงแค่บนเรือ เขาอาจเป็นหนึ่งบนเรือลำนั้น อต่อาจจะไม่ใช่บนฝั่งที่มีผู้คนมากมาย

สุดท้ายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงยอมตายไปกับเรือ มากกว่าจะเลือกขึ้นฝั่ง เขาเลือกอยู่กับอดีตที่รุ่งเรือง ในสภาวะปัจจุบันอันล่มสลาย
เรือลำดังกล่าวจมลงไปด้วยการระเบิด พร้อม ๆ กับการหายไปของ 1900 เรื่องของเขาจึงเป็นเพียงตำนาน

ถึงตรงนี้ อาจทำให้คิดไปถึงได้ว่า การไม่ขึ้นฝั่งของ 1900 ด้านหนึ่งคือการรักษาตัวตนและความสำเร็จในแบบเดิมในโลกของเขาเอง แต่ด้านหนึ่งมันคือความกลัวการเปลี่ยนแปลงที่เขาไม่กล้าเผชิญ
เมื่อใดก็ตามที่เรายึดอยู่กับโลกใบเล็ก ๆ และความสำเร็จมากจนเกินไป มันกลายเป็นว่าเรายึดถืออดีตเป็นสรณะของปัจจุบัน

1900 เป็นคนเก่งมากในด้านเปียโน แต่เมื่อเขาคิดว่าเขาไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตน หรือปรับประยุกต์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านได้ ความตายจึงเป็นทางเลือกที่เขายอมรับ แม้จะหดหู่เพียงใดก็ตาม

นั่นก็คงจะคล้ายกับที่ Darwin เคยเขียนหรือกล่าวในทำนองข้างต้นเอาไว้ว่า “สัตว์ที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นสัตว์ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ดีต่างหาก”

ป.ล. ตัวอย่างฉากประลองการเล่นเปียโนตาม link
https://www.youtube.com/watch?v=0UPftoWxFnY&feature=youtu.be&fbclid=IwAR0fzeA5Biah0XFuaeauP6MmCF_S7fUnwI2yLi_oTPhYN7tBjK7iB2J1YkA

คิดต่อจากภาพยนตร์เรื่อง Gandhi

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ



สำหรับผมแล้ว ในบรรดาบุคคลสำคัญของโลกนั้น ผมว่า มหาตมะ คานธี ถือว่ามีลักษณะภายนอก (ภาพลักษณ์) และชีวประวัติที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20

นานมากแล้วที่ผมได้ชมภาพยนตร์ชีวประวัติของมหาตมะ คานธี ที่มีชื่อเรื่องว่า Gandhi ซึ่งออกฉายปี 1982 และได้รางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัล ก่อนจะแปลงออกมาเป็น DVD ในเวลาต่อมา แล้วผมก็ได้ซื้อและมาชมผ่านเครื่องเล่นและฉายบนหน้าจอโทรทัศน์

ตามเนื้อเรื่องแล้วก็เหมือนกับภาพยนตร์ชีวประวัติทั่วไปที่แสดงถึงชีวิตของตัวละคร มีมุมกล้องที่น่าสนใจ และแทรกอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครลงไป จึงต่างภาพยนตร์สารคดีชีวประวัติอยู่แล้ว ความตื่นตะลึงเมื่อครั้งแรกได้ชมนั้น มันอยู่ตรงที่ผมค่อนข้างสนใจชีวประวัติของคานธีมาตั้งแต่เด็ก โดยไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วเขาคือใคร ทำอะไร รู้แต่ว่ามีบทบาททางการเมืองและสังคมจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ประเทศอินเดียได้รีบอิสรภาพจากอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษอันเกรียงไกร การมีตัวละครคานธีปรากฏออกมาจึงทำให้เหมือนว่าได้พบกับบุคคลตัวอย่างที่ออกมาโลดแล่นได้อย่างน่าทึ่ง ผมเองค่อนข้างยอมรับว่า ลักษณะหน้าตา ร่างกาย และการแต่งกายของคานธี มีความโดดเด่นอย่างมากที่สุดคนหนึ่งในเวทีของบุคคลสำคัญของโลก

คานธีได้รับการกล่าวขานและยกย่องจากคนทั่วโลกเรื่องการต่อสู้โดยไม่สู้ด้วยความรุนแรง หรือที่รู้จักกันว่า “อหิงสา” ซึ่งคนปัจจุบันเองอาจจะเข้าใจได้ยากว่า ในยุคของเขานั้น เขาเปลี่ยนแปลงมหาอำนาจอย่างอังกฤษให้ปลดปล่อยประเทศอินเดียอันมีพื้นที่มหาศาลให้เป็นอิสรภาพได้อย่างไร โดยไม่ได้ใช้กำลังอาวุธ

คงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก หากมองว่าคานธีไม่ใช่นีกการเมือง ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช้ชนชั้นปกครอง ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ ไม่ใช่นักธุรกิจ เป็นคนธรรมดา นุ่งห่มชุดด้วยผ้าสีขาว/ สีอ่อน แบบการห่มของอินเดียโบราณ หลายครั้งเปลือยท่อนบน ไม่มีทรัพย์สินอะไรในร่างกายที่ชัดเจนไปกว่าแว่นตาวงกลมสองคู่คนใบหน้าที่วางทาบอยู่บนจมูกที่งุ้มแหลม และอาจมีไม้พลองยาวสำหรับค้ำยันในเวลาที่เดิน
เราคงคิดว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่เขาชักชวนให้คนอินเดียมาปั่นฝ้ายทอผ้าเองเพื่อไม่ต้องไปซื้อเสื้ผ้าจากชาวอังกฤษมาใส่ การเดินขบวนอันยาวไกลกับชาวบ้านนับพันนับหมื่นเพื่อไปเก็บเกลือ และการปราศัยผู้คนให้ยึดถือในอหิงสา ซึ่งสิ่งเหล่านี้แทบไม่เกี่ยวข้องกับกองกำลังหรืออาวุธใด ๆ เลย หากเทียบกับกองกำลังและอำนาจของเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ

ชายผู้แทบไม่มีอะไรเลย แต่คนอินเดียหลายร้อยพันล้านกลับรักเขาอย่างที่สุด
ชายผู้ไม่เป็นอะไรมากไปกว่าจิตวิญญาณของชาติที่ชาวตะวันตกในยุคสมัยของเขาก็ยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดอิทธิพลของคานธีจึงเข้าไปสู่ในจิตใจของชาวอินเดียจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล

เราไม่อาจเรียกคานธีว่าเป็นนักปราชญ์ เช่นเดียวกันว่าเขาไม่ใช่นักวิชาการ ชนชั้นปกครองก็ยิ่งไม่ใช่ นักรบและนักการเมืองก็มิอาจใช่เช่นกัน
แต่คานธีคือคานธี ที่สถิตในใจคนทั่วโลก

หลายครั้งที่ความรุนแรงเกิดขึ้น หลายครั้งที่โลกมีปัญหา มักมีผู้ยกคำพูดหรือข้อเขียนของเขาขึ้นมาเชิดชูอยู่เสมอ

... ผมจึงรักภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะ ผมชื่นชอบในคานธีเป็นพิเศษ
... สำหรับผมแล้ว มหาตมะ คานธี คือ บุคคลสำคัญของโลกที่ในอนาคต ผู้คนอาจจะไม่เชื่อก็ได้ว่า มีบุคคลเช่นนี้อยู่จริงที่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา