วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สัญลักษณ์ของธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (jumpsuri@hotmail.com)

บทความวิจัยจากวิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ เรื่อง "สัญลักษณ์ของธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย" บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอในการประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 ณ มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ และตีพิมพ์ในวารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ประจำปี 2555

บทคัดย่อ              

                ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติไทยที่ถูกนำไปใช้อย่างหลากหลายในสังคม  ซึ่งธงชาติไทยก็ได้ถูกนำไปใช้เพื่อสื่อสารเนื้อหาบางอย่างในบริบทของผลงานศิลปะร่วมสมัย (สาขาทัศนศิลป์) และยังไม่มีผู้ใดทำการรวมรวม ศึกษา และวิเคราะห์อย่างจริงจัง

                ดังนั้นการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลจากตำราวิชาการ นิตยสาร วารสาร สูจิบัตรนิทรรศการศิลปะ เอกสารที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลออนไลน์ เพื่อทำการวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ปรากฏสัญลักษณ์ของธงชาติไทย โดยใช้ทฤษฎีจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์ของศิลปิน และการจำแนกผลงานตามสมมุติฐานแนวคิดการใช้ธงชาติไทยในบริบทชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวน 20 ท่าน

                ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่าสามารถวิเคราะห์ผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1.   ผลงานศิลปะแบบฟอร์มอลลิสม์ (Formalism) ที่มีเนื้อหาเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

2.   ผลงานศิลปะแบบฟอร์มอลลิสม์ (Formalism) ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน

3.   ผลงานศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสสิวิสม์ (Expressivism) ที่สะท้อนประเด็นความเป็นชาติในสังคมไทย

4.   ผลงานศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสสิวิสม์(Expressivism) ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน

5.   ผลงานศิลปะแบบอินสตรูเมนทัลลิสม์ (Instrumentalism) ที่สะท้อนประเด็นความเป็นชาติในสังคมไทย

                ทั้งนี้ยังพบว่าสมมุติฐานแนวคิดการใช้ธงชาติไทยในบริบทของชาตินิยมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างรูปแบบของผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทย ผลงานดังกล่าวนี้ไม่เพียงให้คุณค่าทางสุนทรียะอันสมบูรณ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ และความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทย  อีกทั้งยังถือเป็นเครื่องยืนยันถึงสัมพันธภาพอันแนบแน่นระหว่างศิลปะกับสังคมได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

ABSTRACT

                Flag is a symbol of a nation that has been widely used in the society. It is also used for communication a certain content in the context of contemporary art (visual art), and yet there is no one else  research  and analysis.

                Therefore, this research aims to gathered information from textbooks, academic journals, magazines, catalogs of art exhibitions related to documents and online information. For analysis of contemporary art and the purpose of the creative art  theory. And this research is based on the assumption of “Thai flag” in the contextes of nationalism as a tool to analyze the works of famous 20 contemporary Thai artists.

The study  has divided in 5 groups.

1. Formalism in a work of art that honor the Thai monarchy.

2. Formalism in a work of art that reflects the political movement of people.

3. Expressivism works of art that reflects a nationalism in Thai society.

4. Expressivism works of art that reflects the political movement of people.

5. Art Instrumentalism is reflected a nationalism in Thai society.

The contextes and usage of Thai national flag are important factors in Thai contemporary culture as a symbol of Thailand. These results are not only a providence for  an aesthetic value but also a reflection of cultural values ​​and nationalism history and political developments in Thailand. It is a great testimony to strong links between art and society.

ความนำ

                ความเป็นมาและความสำคัญ

                ชาติ คือชุมชนจินตกรรมทางการเมือง (Imagined political community) (เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน2552: 9) ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นในยุคแห่งความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) มีลักษณะเป็นเครื่องมือและหน้าที่ กล่าวคือ ความเป็นชาติและชาตินิยมเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Homogeneity) สร้างความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีหน้าที่ปลุกเร้าความรู้สึกผูกพัน ทำให้รู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกัน           (ธีรยุทธ บุญมี 2546: 49) อีกทั้งยังมีอิทธิพลทางความคิดที่มีความเข้มข้นและแข็งแกร่งต่อการเมืองและการสงครามระหว่างประเทศในห้วงยุคสมัยที่ผ่านมา

                ชาติเป็นแนวคิดทางนามธรรม จึงจับต้องไม่ได้ แต่ฆ่าคนได้ สั่งให้คนไปตายได้ และปรากฏตัวในรูปสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมหลายชนิดในชีวิตประจำวัน (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 2550: 179) ธงชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตนและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพ (สมสวาท               แสงนนท์ตระกูล 2544: 4) ของชาตินั้นๆ

                ธงชาติ คือ ธงที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของประเทศและดินแดนต่างๆ ปกติแล้วรัฐบาลของประเทศนั้นก็ย่อมเป็นผู้กำหนดแบบธงชาติและข้อบังคับการใช้ธงชาติ พลเมืองในแต่ละประเทศก็สามารถใช้ธงชาติในดินแดนของตนเองได้เช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับข้อบังคับการใช้ธงตามที่รัฐบาลกำหนดไว้  ในอดีตธงชาติถูกใช้ในสงครามเพื่อบ่งบอกฝ่ายหรือหมู่เหล่า (ประชา สุวีรานนท์ 2552: 46)

ต่อมาเมื่อเกิดแนวคิดชาตินิยม (Nationalism) ธงชาติจึงถูกสถาปนาให้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของอุดมการณ์ชาตินิยม และถูกนำไปใช้ในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง         ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อ สัญลักษณ์ในการทำสงครามระหว่างประเทศ และการประดับอันเนื่องกับวาระการเฉลิมฉลอประประเทศนั้นๆ เป็นต้น

ธงชาติถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในรัฐชาติ (Nation State) เพราะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุด ซึ่งกรณีการใช้ธงชาติในโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) นับเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงถึงอำนาจแฝงภายใต้ภาพลักษณ์ของผืนผ้าธรรมดาให้ก้าวสู่วัตถุศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นไปได้ว่าการร้องเพลงชาติและการยืนตรงเพื่อเคารพธงชาติไทยในทุกๆ วัน จึงเสมือนเป็นการทำพิธีบูชาธงชาติไทยให้คงความศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่ากับวัตถุที่เหนือสามัญวิสัย สิ่งปฏิบัตินั้นไม่เพียงแต่เป็นการเน้นย้ำถึงหน้าที่ของประชาชนทุกคนเท่านั้น หากแต่ยังแฝงเร้นมายาคติของสัญลักษณ์ความเป็นชาติไทย โดยที่ประชาชนอยู่ในสถานะของผู้เสพความซ้ำซากของอุดมการณ์ชาตินิยมที่ฉายเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแต่ละวัน จนเกิดความเชื่อมันในสถานะความเป็นชาติของตน

บทบาทของธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์นั้นปรากฏครั้งแรกเมื่อกองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เชิญไปเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระราชประสงค์ที่จะบรรจุความหมายของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยการแทนค่าของสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินตามลำดับ อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับธงชาติของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีสถานะเป็นผู้ชนะสงครามก็ใช้สีทั้งสามดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของธงชาติด้วย (สหราชอาณาจักร, สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา)

                ข้อสังเกตประการหนึ่งคือสีของธงชาติไทยเป็นชุดสีเดียวกับธงชาติฝรั่งเศส (Le Tricolore) ที่เป็นต้นแบบให้กับธงชาติของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติทางการเมืองทั่วโลก (สมสวาท แสงนนท์ตระกูล     2544: 8) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้ออกแบบธงไตรรงค์จะใช้ธงสามสีของฝรั่งเศสเป็นหลักในการออกแบบแล้วผสมผสานกับธงขาวแดงที่ใช้อยู่ จนได้ธงที่มีลักษณะอย่างธงไตรรงค์ในปัจจุบัน (ปรามินทร์ เครือทอง 2543: 81)

ธงชาติไทยเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์ไทยมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อได้ศึกษาจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของธงชาติไทย ทำให้สามารถแบ่งการนำธงชาติไปใช้ในบริบทที่สอดคล้องกับแนวคิดชาตินิยมได้เป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก ธงชาติไทยถูกนำไปใช้ในบริบทที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยปรากฏเป็นสัญลักษณ์แถบสีน้ำเงินกลางธงซึ่งมีความหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ                    (ฉวีงาม มาเจริญ 2550: 90)

การประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับธงพระราชอิสริยยศหรือตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์จะต้องมีการจัดวางที่เสมอกัน ดังนั้นจึงปรากฏภาพของการติดตั้งธงชาติไทยคู่กับธงพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ในวาระต่างๆ อยู่เสมอ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ หรือ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น สิ่งดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอิทธิพลกับแนวคิดชาตินิยมไทยเป็นอย่างมาก

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือการใช้ธงชาติขนาดเล็กที่มีตัวอักษรไทย “ทรงพระเจริญ” สีขาวบนแถบสีน้ำเงินในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตลอดจน                 พระบรมวงศานุวงศ์ การใช้ธงชาติไทยในกรณีดังกล่าวนี้เป็นการเชื่อมโยงให้สถานะของพระมหากษัตริย์กับความหมายของธงชาติมีความสอดคล้องจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน หรืออาจจะเรียกได้ว่าสร้างมายาคติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ ธงชาติไทยที่ปรากฏตัวอักษรไทย “ทรงพระเจริญ” จึงกลายเป็นธงชาติที่มีความหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงอย่างเดียวที่จะมีฐานะเป็นศูนย์กลางของชาติได้ (ธีรยุทธ บุญมี 2546: 104)

                ลักษณะที่สอง ธงชาติไทยถูกนำไปใช้เกี่ยวกับความเป็นเอกราชของชาติ การปลุกระดมให้เกิดการรักชาติ หรือไม่ก็เป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ (ประชา สุวีรานนท์ 2552: 46) เช่น นโยบายการเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติ, กรณีการประดับธงชาติไทยบริเวณจุดเชื่อมต่อตามชายแดน, กรณีหนังสือเรียนที่มีรูปธงชาติและเพลงชาติพิมพ์ไว้หน้าแรก ๆ (ศรัณย์ ทองเปา 2550: 85) เป็นต้น

                ธงชาติถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการปลุกระดมความรักชาติและชาตินิยม  ธงชาติไทยมิใช่ผ้าผืนสี่เหลี่ยมปกติธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์แทนชาติไทยอันเป็นแนวคิดนามธรรมที่ไม่มีตัวตน แต่ธงชาติไทยก็ได้ถูกสร้างให้มีปฏิสัมพันธ์กับมหาชนด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านพิธีกรรมการร้องเพลงชาติ การยืนตรงเคารพธงชาติ การชักธงชาติ การใช้ธงชาติในการแข่งขันกีฬา  และการใช้ธงชาติในบริบทต่างๆ หรือาจจะกล่าวได้ว่า “ชาติและธงไตรรงค์จึงยังคงเป็นสิ่งสูงสุดที่เราจะต้องรักษาไว้ยิ่งกว่าชีวิตของเรา” (ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม 2546: 232 )

ลักษณะที่สาม ธงชาติไทยถูกนำไปใช้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการปฏิวัติในชาติ (สมสวาท แสงนนท์ตระกูล  2544: 1) รวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนด้วย  เช่น กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นต้น

                ความเคลื่อนไหวของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันทางประชาธิปไตยและลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) แต่แรงผลักดันที่สำคัญในประสานอุดมการณ์อันหลากหลายไว้ภายใต้ความเคลื่อนไหวอันเดียวกันนี้คือแรงผลักดันจากสำนึกทางชาตินิยม (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2537: 182)

                ภาพเหตุการณ์ที่มีผลทางความรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ภาพธงชาติไทยเปื้อนเลือดศพของผู้เสียชีวิตจากการถูกทหารยิงคนแรก ซึ่งผู้ชุมนุมได้ชูธงชาติที่เปื้อนเลือดขึ้นให้เห็น ศพของเขาได้รับการกราบไหว้จากผู้เข้าร่วมชุมนุม และนำธงชาติไทยห่อคลุมร่างของเขาแล้วแห่ไปวางยังพานรัฐธรรมนูญ      (ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม 2546: 265 )

                ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ภาพของธงชาติที่นักศึกษานำมาคลุมศพในการแสดงละครเวทีเพื่อล้อเลียนการเมือง กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างว่าผู้ชุมนุมมีลักษณะที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และต้องการล้มล้างระบอบการปกครองในห้วงเวลานั้น ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อ้างว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นการเหยียบย่ำธงชาติ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชาติไทยเราอย่างน่าอัปยศที่สุด     อันนับได้ว่าเป็นการเหยียดหยามคนไทยทั้งชาติ” (ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม 2546: 254-255) และนำไปสู่การล้อมปราบฆ่าผู้ชุมนุมโดยกลุ่มทหาร ตำรวจ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรงในที่สุด

                ส่วนเหตุการณ์จลาจลเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่แนวคิดชาตินิยมไม่ปรากฏเด่นชัดในเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ธงชาติที่ปรากฏจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่สำคัญประกอบการชุมนุมทางการเมืองมากกว่าจะเน้นย้ำความรักชาติโดยตรง

โดยสรุปแล้วบทบาทของธงชาติไทยล้วนมีแนวคิดชาตินิยมปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งแนวคิดชาตินิยมนั้นก็ยังได้ยึดโยงกับสถาบันต่างๆ ในสังคม จนนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยอย่างเด่นชัด

ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในสังคมซึ่งในบริบทศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยพบว่า มีศิลปินหลายคนใช้สัญลักษณ์ของธงชาติไทยมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยหยิบยืมภาพลักษณ์ของธงชาติไทยมาจัดวางในผลงาน ศิลปินเหล่านี้สร้างผลงานในลักษณะที่ใช้สัญลักษณ์ของธงชาติไทยตามปัจจัยทางสังคมและความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ ห้วงเวลานั้น ๆ

ผลงานของศิลปินไทยที่นำสัญลักษณ์ของธงชาติไทยมาใช้ในการสร้างสรรค์ อาทิเช่น ลาวัลย์       อุปอินทร์, โชคชัย ตักโพธิ์, มณเฑียร บุญมา, ทวี รัชนีกร, ประเทือง เอมเจริญ, กัญญา เจริญศุภกุล,          พิษณุ ศุภนิมิตร, อำนาจ เย็นสบาย, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, เกียรติศักดิ์ ผลิตาภรณ์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, สุวิชาญ เถาทอง, สุรสิทธิ์ เสาว์คง, ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง, พิชิต ไปแดน, ชาติชาย ปุยเปีย, ญาณวิทย์ กุญแจทอง, ทินกร กาษรสุวรรณ, ทิพเนตร์ แย้มมณีชัย, เทิดเกียรติ หวังวัชรกุล, สุรพล แสนคำ, เทอดศักดิ์ พลซา,      พิทักษ์ ปิยะพงษ์, นที อุตฤทธิ์, นพไชย อังควัฒนะพงษ์, มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ, อิ๋ง กาญจนะวณิชย์,            สันติ ทองสุข, มนตรี เติมสมบัติ, เอกวัฒน์ เสน่ห์พูด, สรรเสริญ มิลินทสูตร, อำฤทธิ์ ชูสุวรรณ, วสันต์      สิทธิเขตต์, สาครินทร์ เครืออ่อน และสุธี คุณาวิชยานนท์

ผลงานของศิลปินเหล่านี้ไม่เพียงมีความสำคัญในบริบทของศิลปะร่วมสมัยเท่านั้น หากแต่ยังมีความสำคัญทั้งทางด้านวัฒนธรรม สังคม และการเมือง อีกทั้งยังเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญโดยมิได้จารึกเป็นตัวอักษรแต่ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานทัศนศิลป์ร่วมสมัยอย่างหลากหลาย  

                   วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.             รวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทยเป็นส่วนประกอบในผลงาน

2.             แบ่งประเภทผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทยตามทฤษฎีที่ได้เลือกมาทำการศึกษา

3.             วิเคราะห์และประเมินคุณค่าผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทย

      ขอบเขตของวิจัย

1.             ผลงานศิลปะที่นำมาศึกษาเป็นผลงานสร้างสรรค์ในสาขาทัศนศิลป์ร่วมสมัย

2.             รวบรวมและศึกษาเฉพาะผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง 20 ท่าน ประกอบไปด้วย โชคชัย ตักโพธิ์, ประเทือง เอมเจริญ, กัญญา เจริญศุภกุล, พิษณุ ศุภนิมิตร, อำนาจ เย็นสบาย,            สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, เกียรติศักดิ์ ผลิตาภรณ์, สุวิชาญ เถาทอง, สุรสิทธิ์ เสาว์คง, ไพรวัลย์   ดาเกลี้ยง, พิชิต ไปแดน, เทิดเกียรติ หวังวัชรกุล, เทอดศักดิ์ พลซา, นที อุตฤทธิ์, นพไชย       อังควัฒนะพงษ์, มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ, สันติ ทองสุข, วสันต์ สิทธิเขตต์, สาครินทร์ เครืออ่อน และสุธี คุณาวิชยานนท์

3.             ศึกษาผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทยในรูปแบบธงไตรรงค์เท่านั้น

4.             ศึกษาผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทยที่สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงช่วงปี พ.ศ. 2551 (แต่จะไม่ทำการวิเคราะห์ผลงานกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย)

                ขั้นตอนการทำวิจัย

1.        เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับธงชาติไทย แนวคิดชาตินิยม และผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทยที่สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงช่วงปี พ.ศ. 2551

2.        นำข้อมูลทั้งหมดมาทำการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างธงชาติไทย แนวคิดชาตินิยม และศิลปะร่วมสมัยไทย

3.        จำแนกประเภทผลงานศิลปะที่นำมาศึกษาเพื่อวิเคราะห์และประเมินคุณค่า

4.        สรุปผลการศึกษา

                ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.        เป็นผลงานทางวิชาการที่รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทย

2.        เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าของผลงานศิลปะที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการความเป็นชาติและชาตินิยม

3.        เห็นความสัมพันธ์กันระหว่างศิลปะกับองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นบริบทที่สำคัญในการพัฒนาศิลปะร่วมสมัย ตลอดจนก้าวไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ของสังคมให้มากขึ้น

แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

                ทฤษฎีจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์ของศิลปินของ เอ็ดมันด์ เบิร์ก เฟลด์แมน (Edmund Burke Feldman)  ที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ วารายตี้ ออฟ วิชชวล เอ็กซ์เพียเรียนซ์ (Varieties of Visual Experience)  เป็นการวิเคราะห์ในด้านรูปแบบการสร้างสรรค์เป็นหลัก ซึ่งหลักทฤษฎีดังกล่าวจะมุ่งวิเคราะห์จากภาพรวมที่ปรากฏในผลงานรวมกับเจตจำนงของศิลปินที่ต้องการนำเสนอสาระทางทัศนธาตุผ่านผลงานศิลปะโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

                1. ฟอร์มอลลิสม์ (Formalism)

                เป็นกลุ่มศิลปินที่มีแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมให้เกิดความสมบูรณ์แบบทางด้านรูปร่าง รูปทรง โครงสร้าง และรวมไปถึงการสร้างผลงานที่เน้นองค์ประกอบที่ลงตัวจนเกิดเป็นความงดงามตามอุดมคติหรือตามแบบแผนวิชา  การแสดงออกถือความงดงามทางกายภาพเป็นหลักในการนำเสนอ ความงามคือหลักสุนทรียภาพที่สำคัญที่สุดในผลงานประเภทนี้ โดยอาจจะมีนิยามว่า ศิลปะเป็นภาษาแห่งความงาม (อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 77)

                ผลงานเหล่านี้จะมีลักษณะการแสดงออกแบบเหมือนจริง (Realistic) หรือให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงองค์ประกอบศิลป์ ผลงานเหล่านี้มีภาพลักษณ์โดยรวมที่เน้นความงามในเชิงรูปธรรม  แม้ว่าผลงานบางชนิดอาจจะมีรูปแบบในเชิงกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract Art) หรือนามธรรม (Abstract Art) ก็ตาม หากแต่เมื่อเจตจำนงของศิลปินเป็นไปตามขอบเขตของการสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอความงามของทัศนธาตุ (Visual Element) ก็อาจจะนับได้ว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในกลุ่มประเภทฟอร์มอลลิสม์เช่นกัน

                2. เอ็กซ์เพรสสิวิสม์ (Expressivism)

                เป็นกลุ่มศิลปินที่มีแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่เน้นการแสดงออกประจักษ์เชิงอารมณ์สะเทือนใจที่รุนแรง ผลงานในแนวทางแบบนี้มักไม่ได้เกิดขึ้นจากการจัดองค์ประกอบภาพ หรือแม้แต่จำลองสถานการณ์ หากแต่เป็นการแสดงออกโดยตรงของศิลปินที่มีต่อเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ สะท้อนภาพชีวิตที่มีความเป็นจริงอย่างที่สุด แต่มิใช่ความจริงตามที่ตาเห็น เป็นความจริงที่ออกมาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ และถ่ายทอดโดยตรงออกมาอย่างไม่เสแสร้งตรงไปตรงมา

                ศิลปินมีการการหยอด หยด เท ลาด สาดสี ลงบนผืนผ้าใบ หรือการปาด ป้าย ด้วยแปรงขนาดใหญ่ ไปจนถึงการใช้มือละเลงสี (อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 89) เป็นกระบวนการที่ต้องกระทำไปด้วยความรวดเร็ว ฉับพลัน จนไม่เปิดโอกาสให้ใช้สมองและความคิดเชิงเหตุผล แต่ศิลปินต้องใช้ใจและอารมณ์ ความรู้สึก    อันเป็นปัญญาญาณ (Intuition) ตอบโต้กับปรากฏการณ์ทางเทคนิคที่กำบังเกิดขึ้นอย่าง อัตโนมัติจากจิตไร้สำนึก หรือที่เบเนตโต โครเช่ (Benenetto Croce) นักปรัชญาอิตาเลียนได้ให้นิยามว่า ศิลปะคือการแสดงออก     (Art as Expression)” (ลักษณวัต ปาละรัตน์ 2551: 100) แนวทางการแสดงออกดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่า ศิลปะเป็นภาษาแห่งอารมณ์ความรู้สึก (อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 80)

                3. อินสตรูเมนทัลลิสม์ (Instrumentalism)

                เป็นกลุ่มศิลปินที่มีทัศนคติว่าศิลปะเป็นเครื่องมือในการยกระดับจิตใจ รวมไปถึงคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมของสังคมโดยรวม แสดงออกถึงสภาวะจิตใจของมนุษย์ในเชิงจิตวิทยา ผลงานของศิลปินในกลุ่มนี้มักมุ่งเน้นการแสดงสาระที่นอกเหนือจากสัมพันธภาพแห่งความงามจากการเห็น หรือแม้แต่การแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง แต่เน้นประเด็นทางความคิด เป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า “ศิลปะเป็นภาษาแห่งความคิด” หรือ “ศิลปะเป็นภาษาแห่งความหมาย” (อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 80) ดังที่โจเซฟ โคสุธ (Josept Kosuth) ศิลปินคอนเซ็ปชวลลิสท์ (Conceptualist) ได้กล่าวไว้ว่า “ศิลปะทั้งหมดเป็นคอมเซ็ปชวลเพราะว่าศิลปะเกิดขึ้นได้จากแนวความคิดเท่านั้น” (Daniel Marzona 2005: 6 อ้างถึงใน, อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 100)

                ผลงานศิลปะประเภทอินสตรูเมนทัลลิสม์จึงเป็นศิลปะที่มีแนวความคิด (Concept) เป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ที่โดดเด่นมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ศิลปินอาจจะนำเสนอผลงานในรูปแบบของศิลปะตามหลักสถาบัน (Academy) ก็ได้ อาจจะใช้เทคนิควิธีการหรือใช้วัสดุและอุปกรณ์ได้ทั้งแนวขนบประเพณีหรือใช้สื่อใหม่ (New Media) ในการนำเสนอผลงาน แต่จุดสำคัญของผลงานกลับมิใช่ความงามตามแบบสุนทรียะของสิ่งที่ปรากฏ ทว่าผลงานเป็นเสมือนเครื่องมือสำหรับให้ผู้ดูได้ขบคิดถึงประเด็นที่ศิลปินต้องการสื่อสารผ่านศิลปะอันหลากหลายที่ปรากฏเป็นรูปธรรม โดยที่สารัตถะของผลงานกลับมิใช่ตัวของวัตถุแต่เป็นประเด็นความคิดที่ได้เกิดขึ้นจากผลงานที่ปรากฏ

                การจำแนกผลงานตามแนวคิดการใช้ธงชาติไทยในบริบทของชาตินิยม ซึ่งเป็นการตั้งสมมุติฐานในการจำแนกประเภทความสัมพันธ์ของธงชาติไทยกับปัจจัยภายนอก โดยทำการถอดรหัสสัญญะต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ของจุดเริ่มต้นแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นๆโดยสามารถจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

ศิลปินนำแนวคิดการเทิดพระเกียรติมาแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศิลปินส่วนใหญ่สร้างภาพผลงานให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนในชาติทุกชนชั้น โดยมีธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ธงชาติไทยจึงไม่เพียงทำหน้าที่บ่งบอกความเป็นชาติไทยเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงชาติที่มีพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันอันสำคัญผ่านภาพของการประดับธงชาติไทยคู่กับธงประจำพระองค์ และการใช้ธงชาติไทยขนาดเล็กที่อักษรภาษาไทย “ทรงพระเจริญ” ในการรับเสด็จ

                2. สะท้อนประเด็นความเป็นชาติในสังคมไทย

                ศิลปินมักใช้ธงชาติไทยเป็นตัวสื่อสารถึงแนวคิดชาตินิยมในสังคมไทย  ธงชาติไทยที่ปรากฏจะมีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับความเป็นชาติ และตั้งคำถามถึงการมีอยู่จริงของสภาวะความเป็นชาติ อีกทั้งสะท้อนประเด็นชาตินิยมผ่านแง่มุมธรรมดาที่คนทั่วไปอาจจะมิได้สังเกต อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์ของธงชาติไทยที่ปรากฏในผลงานประเภทนี้ย่อมส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คนในแง่มุมอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวโยงกับลัทธิชาตินิยมไทยในสังคมร่วมสมัย

                3.สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน

       ศิลปินมักนำเนื้อหาและประสบการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในเหตุการณ์ต่างๆ เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นสำคัญ ศิลปินได้ใช้สัญลักษณ์ธงชาติไทยเป็นตัวสื่อสารถึงความเป็นชาติที่มีการเมืองเป็นกลไกที่สำคัญยิ่ง สัญลักษณ์ธงชาติไทยในผลงานประเภทนี้สื่อถึงชาตินิยมที่ถูกโยงกับการเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนอันนำมาซึ่งการสูญเสีย หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิ่งที่ปลุกความคิดชาตินิยมผ่านสัญลักษณ์ของธงชาติไทย และถึงแม้ว่าบางครั้งความเป็นชาติในเหตุการณ์ทางการเมืองอาจจะมิได้มีความเข้มข้นรุนแรง แต่เมื่อศิลปินนำสัญลักษณ์ของธงชาติไทยมานำเสนอจึงถือเป็นการผสมระหว่างแนวคิดชาตินิยม (Nationalism) กับศิลปะเพื่อการเมือง (Art for politics) ผ่านภาพลักษณ์ที่ปรากฏ

ระเบียบการวิจัย

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยรวบรวมข้อมูลจากตำราวิชาการ นิตยสาร วารสาร      สูจิบัตรนิทรรศการศิลปะ เอกสารที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลออนไลน์จากระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อนำมาทำการศึกษาผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ของธงชาติไทย จากนั้นทำการจำแนกประเภทและวิเคราะห์  และนำไปสู่การประเมินคุณค่าที่มีต่อวงการศิลปะร่วมสมัยและสังคมไทย

สรุปผลการวิจัย  

                ธงชาติเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ถูกนำไปใช้ในบริบทของศิลปะสาขาทัศนศิลป์อย่างเข้มข้น ในโลกศิลปะตะวันตก (Western Art) จะพบตัวอย่างผลงานที่นำสัญลักษณ์ของธงชาติมาใช้อย่างเด่นชัด  เช่น ผลงานจิตรกรรมของแฟร์ดีนองด์ วิคตอร์ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Ferdinand Victor Eugène Delacroix) ชื่อ “เสรีภาพนำประชาชน” หรือ “Liberty Leading the People” (ภาพที่ 1) ได้ปรากฏภาพลักษณ์ของธงชาติสามสีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาใช้เป็นสัญลักษณ์อันสำคัญในการสื่อสารถึงเนื้อหาอันเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงสมัยปี ค.ศ. 1830 ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งธงชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ปรากฏแสดงออกถึงอำนาจอันสูงสุดของประชาชนและชัยชนะแห่งเสรีภาพที่เหนือการกดขี่แบบเผด็จการ และยังถือว่าเป็นการปลุกเร้าความรักชาติอย่างตรงไปตรงมา (Rose-Marie and Rainer Hagen 1995: 571) ผลงานดังกล่าวเป็นเสมือนการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านผลงานทางทัศนศิลป์ได้อย่างทรงพลัง ธงชาติฝรั่งเศสได้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาตินิยมกับการปฏิวัติทางการเมืองอย่างโดดเด่นมากที่สุด

 
                ในขณะที่ผลงานจิตรกรรมผสม ธงสามผืนหรือ "Three Flag" (1958) (ภาพที่ 2) ของ       แจสเปอร์ จอห์น (Jasper Johns, Jr.) ศิลปินยุคสมัยใหม่ที่ใช้ธงชาติอเมริกัน (American Flag:                     The Stars and Stripes) สร้างสรรค์ภาพธงชาติอันน่าฉงน 3 ผืนซ้อนกัน และไม่ได้แสดงภาพจำลองเหตุการณ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวใดๆ แมกซ์ อิมดาร์ห (Max Imdahl) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวเยอรมันได้ตั้งคำถามว่า นี่คือธงหรือจิตรกรรมรูปธงกันแน่ ?” และ นี่คือจิตรกรรมรูปธงหรือเป็นแค่ภาพ ?” (Volker Gebhardt 1998: 198) ศิลปินเปลี่ยนสัญลักษณ์ของธงชาติให้กลายเป็นภาพผลงานที่สะท้อนความซ้ำซากสังคมแบบวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ที่ลัทธิชาตินิยมกลายเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวอ้างอย่างเป็นประจำในยุคสมัยนั้น

 
เมื่อกลับมาพิจารณาธงชาติไทยที่ปรากฏในผลงานศิลปะแล้วจะพบว่าผลงานของกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2516-2519 เป็นกลุ่มแรกที่มีผลงานศิลปะที่ปรากฏธงชาติไทยอย่างชัดเจน ผลงานในกลุ่มนี้ศิลปินนำเสนอในรูปแบบตัดทอนรูปทรง โดยเน้นภาพลักษณ์ที่คล้ายกับผลงานกลุ่มศิลปะเพื่อการเมืองของประเทศที่ปกครองแบบสังคมนิยม ศิลปินนำข้อมูลการสร้างสรรค์มาจากภาพถ่าย นิตยสาร บทบันทึก และความทรงจำจากการเข้าร่วมชุมนุมเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยที่ภาพของธงชาติไทยเป็นสื่อในการสะท้อนชาตินิยมที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นไปทางการเมืองอย่างเข้มข้นในห้วงเวลานั้น

สำหรับผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ปรากฏสัญลักษณ์ธงชาติไทยอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการวิจัยนี้ได้คัดเลือกศิลปิน 20 ท่าน มาทำการศึกษาคือโชคชัย ตักโพธิ์, ประเทือง เอมเจริญ, กัญญา เจริญศุภกุล,         พิษณุ ศุภนิมิตร, อำนาจ เย็นสบาย, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, เกียรติศักดิ์ ผลิตาภรณ์, สุวิชาญ เถาทอง, สุรสิทธิ์ เสาว์คง, ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง, พิชิต ไปแดน, เทิดเกียรติ หวังวัชรกุล, เทอดศักดิ์ พลซา, นที อุตฤทธิ์, นพไชย อังควัฒนะพงษ์, มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ, สันติ ทองสุข, วสันต์ สิทธิเขตต์, สาครินทร์ เครืออ่อน และ สุธี คุณาวิชยานนท์ ซึ่งประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของแต่ละท่านที่มีจำนวนไม่เท่ากันรวม 63 ชิ้น

                การวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยครั้งนี้ได้ใช้ทฤษฎีจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์ของศิลปินตามหลักทฤษฎีของ เอ็ดมันด์ เบิร์ก เฟลด์แมน (Edmund Burke Feldman) ประกอบในการวิเคราะห์ทางด้านรูปแบบการสร้างสรรค์อันประกอบไปด้วย

                ผลงานแบบฟอร์มอลลิสม์ (Formalism) หรืออาจจะนิยามว่าศิลปะเป็นภาษาแห่งความงาม         ศาสตาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ได้อธิบายเกี่ยวกับฟอร์มอลลิสม์เอาไว้อย่างละเอียดว่า

...เป็นกลุ่มของศิลปินที่นักวิจารณ์เชื่อว่าพวกเขานั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่เป็นผลผลิตทางสุนทรียภาพที่มีรูปแบบสมบูรณ์ ทั้งทางรูปทรง โครงสร้างและองค์ประกอบทุกๆส่วน ต้องมีความประสานสัมพันธ์กันอย่างมีระเบียบลงตัวพอดิบพอดี      เป็นความงดงามที่เป็นมาตรฐานสากลแห่งจักรวาลเลยทีเดียว นักวิจารณ์ที่มีความเชื่อในกลุ่มนี้จะชื่นชมยินดีกับความงามทางรูปทรงที่เกิดจากการใช้ภาษาแห่งทัศนศิลป์ นั่นคือ ทัศนธาตุ และกลยุทธ์แห่งการใช้ภาษานี้ได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งการสร้างรูปทรง กำหนดที่ว่างไปจนถึงขนาด ตำแหน่ง สัดส่วน และจังหวะลีลาได้อย่างไม่มีที่ติ ศิลปินกลุ่มนี้จะทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นแบบแผนของตัวเองอย่างชัดเจน พวกเขาจะไม่ปล่อยให้ความบังเอิญ และสิ่งภายนอกที่ไม่มีสุนทรียภาพเข้ามารบกวน ซึ่งย่อมรวมทั้งฝีมือ ทักษะ และเทคนิคที่ประณีต ละเอียดอ่อนและชัดเจน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความงามบริสุทธิ์สมบูรณ์ หลักสำคัญคือ การรับรู้ทางสุนทรียภาพขึ้นอยู่กับรูปทรงที่มองเห็น...(อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 79)

                เมื่อนำทฤษฎีฟอร์มอลลิสม์หรืออาจจะเรียกว่าศิลปะเป็นภาษาแห่งความงามมาจัดประเภทผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยของศิลปินร่วมสมัยของไทยที่นำมาศึกษาแล้ว จะประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของศิลปินดังกล่าวต่อไปนี้ คือ โชคชัย ตักโพธิ์, ประเทือง เอมเจริญ, พิษณุ ศุภนิมิตร, สินธุ์สวัสดิ์    ยอดบางเตย, เกียรติศักดิ์ ผลิตาภรณ์, สุวิชาญ เถาทอง, สุรสิทธิ์ เสาว์คง, ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง, พิชิต ไปแดน(ภาพที่ 3), เทิดเกียรติ หวังวัชรกุล และเทอดศักดิ์ พลซา

 
ผลงานแบบเอ็กซ์เพรสสิวิสม์ (Expressivism) หรือศิลปะเป็นภาษาแห่งอารมณ์ความรู้สึก เป็นกลุ่มศิลปินที่มีแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่เน้นการแสดงออกประจักษ์เชิงอารมณ์สะเทือนใจที่รุนแรง ผลงานของศิลปินในกลุ่มนี้ดูจะมีแนวทางที่ขัดแย้งและตรงข้ามกับศิลปินฟอร์มอลลิสม์ ศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ได้อธิบายเกี่ยวกับเอ็กซ์เพรสสิวิสม์ไว้อย่างละเอียดว่า

...ประเด็นของความงามกินความหมายครอบคลุมทั้งการแสดงออกถึง “ความรู้สึกสะเทือนใจ” และ “ความคิดสูงที่ยกระดับจิตใจของผู้ดู”...สุนทรียภาพนั้นต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนพร้อมทั้งความงาม อารมณ์ ความรู้สึก และเนื้อหาที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีงามต่อจิตใจของผู้ดูด้วย... (อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 92)

...คือลัทธิแห่งยุคโมเดอร์นนิสม์ที่แยกตัวออกไปเน้นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างชัดเจน โดยการปฏิเสธความประณีต ละเอียดอ่อน ของความงามทางรูปทรงและเทคนิค ฝีมือ ศิลปินที่มีความเชื่อในกลุ่มนี้สร้างสรรค์ผลงานในลักษณะที่ทำตรงกันข้าม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์กับสุนทรียภาพ...การหยอด หยด เท ลาด สาดสี ลงบนผืนผ้าใบ หรือการปาด ป้าย ด้วยแปรงขนาดใหญ่ ไปจนถึงการใช้มือละเลงสี...เป็นกระบวนการที่ต้องกระทำไปด้วยความรวดเร็ว ฉับพลัน จนไม่เปิดโอกาสให้ใช้สมองและความคิดเชิงเหตุผล แต่ศิลปินต้องใช้ใจและอารมณ์ ความรู้สึก อันเป็นปัญญาญาณ (Intuition) ตอบโต้กับปรากฏการณ์ทางเทคนิคที่กำบังเกิดขึ้นอย่าง “อัตโนมัติ” จากจิตไร้สำนึก... (อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 98-99)

                เมื่อนำทฤษฎีเอ็กซ์เพรสสิวิสม์หรืออาจจะเรียกว่าศิลปะเป็นภาษาแห่งอารมณ์ความรู้สึกมาจัดประเภทผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยของศิลปินร่วมสมัยของไทยที่นำมาศึกษาแล้ว จะประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของดังกล่าวต่อไปนี้ คือ กัญญา เจริญศุภกุล, อำนาจ เย็นสบาย และสันติ ทองสุข    (ภาพที่ 4)

 
                ผลงานแบบอินสตรูเมนทัลลิสม์ (Instrumentalism) หรือศิลปะเป็นภาษาแห่งความคิด เป็นศิลปะที่ใช้ประเด็นความคิดเป็นตัวสื่อสารนั้นไม่ได้จำกัดรูปแบบการแสดงออกเท่าใดนัก ศิลปินอาจจะนำเสนอในรูปของผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ หรือสื่อผสมอื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้เพราะรูปแบบผลงานประเภทนี้ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงสาระของตัวผลงาน หากแต่สำคัญที่ประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารมากกว่าสนใจในรูปแบบการแสดงออกทางศิลปะ ความคิดเป็นเครื่องจักรสำคัญของการทำงานศิลปะและเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของผลงาน การวางแผนและการตัดสินใจทั้งหมดถูกทำล่วงหน้า และการปฏิบัติงานก็เป็นเพียงการทำพอเป็นพิธีเท่านั้น (อิทธิพล ตั้งโฉลก 2550: 101) ดังนั้นสารัตถะของผลงานศิลปะกลับมิใช่ตัวของวัตถุศิลปะ            (Art Object)  แต่เป็นประเด็นความคิดที่ได้เกิดขึ้นกับผู้ดูเป็นสาระที่แท้จริงของผลงาน

                เมื่อนำทฤษฎีแบบอินสตรูเมนทัลลิสม์หรืออาจจะเรียกว่าศิลปะเป็นภาษาแห่งความคิดมาจัดประเภทผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยของศิลปินร่วมสมัยของไทยที่นำมาศึกษาแล้ว จะประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของศิลปินดังกล่าวต่อไปนี้ คือ นที อุตฤทธิ์, นพไชย อังควัฒนะพงษ์, มานิตย์             ศรีวานิชภูมิ (ภาพที่ 5), วสันต์ สิทธิเขตต์, สาครินทร์ เครืออ่อน และสุธี คุณาวิชยานนท์

 
                จากการวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยด้วยทฤษฎีจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์ของศิลปินจะสามารถแบ่งกลุ่มตามรายชื่อของศิลปินที่นำมาศึกษา ตามตารางที่ 1 นี้

ตารางที่ 1 การแบ่งประเภทผลงานตามทฤษฎีจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์ขอศิลปิน


                เมื่อนำสมมุติฐานในการจัดประเภทของการใช้ธงชาติไทยในบริบทที่สัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก มาทำการวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยโดยจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ผลงานในแนวนี้ศิลปินแสดงออกถึงการเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา การใช้ธงชาติไทยในผลงานประเภทนี้มักใช้คู่กับสัญลักษณ์ที่เกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย  เช่น ธงสีเหลืองอันเป็นธงสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ พระบรมฉายาลักษณ์ และการใช้ธงขนาดเล็กที่มีตัวอักษรไทย "ทรงพระเจริญ" (ภาพที่ 6)

 
ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมาในแนวทางเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักอย่างหนึ่งของสังคมไทย ลักษณะของผลงานศิลปะที่จัดอยู่ในกลุ่มประเภทนี้มีเนื้อหาที่แสดงถึงการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนารถ     และพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีต่อประชาชนชาวไทย  ศิลปินส่วนใหญ่สร้างภาพผลงานให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนในชาติทุกชนชั้น ซึ่งผลงานในลักษณะแบบนี้มักอยู่ในแวดวงของการประกวดศิลปกรรมเทิดพระเกียรติมากกว่าที่ศิลปินจะสร้างผลงานกันขึ้นโดยปราศจากเงื่อนไขทางสังคม

 
ขอบเขตสำหรับเนื้อหาในผลงานประเภทนี้คือการนำเสนอในแง่มุมของความดี ความงาม ความบริสุทธิ์ และความเคารพเทิดทูนที่พึงมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ทั้งนี้เพราะจุดประสงค์ของการสร้างสรรค์นั้นก็เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ธงชาติไทยที่ปรากฏอยู่ในผลงานจึงไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของชาติไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีภาพตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ทับซ้อนกับบริบทของชาตินิยมรวมอยู่ด้วย (ภาพที่ 7)

การใช้ธงชาติไทยในผลงานประเภทนี้จึงไม่วิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบ (Negative) ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจร่วมกันในบริบทสังคมไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญของโครงสร้างการปกครองที่เข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ผลงานในประเภทนี้จะประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของศิลปินดังกล่าวต่อไปนี้ คือ เกียรติศักดิ์ ผลิตาภรณ์, สุวิชาญ เถาทอง (ภาพที่ 6), สุรสิทธิ์ เสาว์คง, ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง (ภาพที่ 7), พิชิต ไปแดน, เทิดเกียรติ หวังวัชรกุล และเทอดศักดิ์ พลซา

                สะท้อนประเด็นความเป็นชาติในสังคมไทย ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยใช้ธงชาติไทยเป็นตัวสื่อสารถึงแนวคิดชาตินิยมที่ถูกบ่มเพาะขึ้นในสังคมไทย ศิลปินได้นำภาพและความหมายของธงชาติไทยมาใช้ในผลงานเพื่อมุ่งหวังสื่อสารประเด็นความเป็นชาติ ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งคำถามสภาวะของชาติไทยที่กำลังเป็นอยู่ หรืออาจจะแสดงถึงชาตินิยมที่มีรูปแบบอันหลากหลายซุกซ่อนอยู่ในสังคมไทยอย่างแนบเนียน

 
ภาพสัญลักษณ์ของธงชาติไทยไม่ว่าจะเป็นภาพผืนธงชาติหรือสัญลักษณ์ของแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินได้ถูกศิลปินนำมาใช้อย่างหลากหลายรูปแบบ และนำไปสู่แรงผลักดันให้ศิลปินสร้างผลงานในเชิงความคิดมากกว่าการยึดถือในรูปแบบการนำเสนอ ผลงานในประเภทนี้นอกจากจะเต็มไปด้วยความหลากหลายและประเด็นขบคิดอันซับซ้อนแล้ว ผู้ดูยังต้องคิด (Thinking) และถอดรหัส (Decoding) กับสิ่งที่ปรากฏมากกว่าที่จะเป็นการเสนอคำตอบแบบปรนัย (Objective) หากแต่เสมือนว่าศิลปินเป็นผู้ตั้งโจทย์ (Questioner) ผ่านแนวคิดและผู้ดูเป็นผู้ตอบโจทย์ (Respondents) โดยการตีความจากบริบทต่างๆอันเกี่ยวข้อง

                ผลงานในประเภทนี้จะประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของศิลปินดังกล่าวต่อไปนี้ คือ นที อุตฤทธิ์ (ภาพที่ 8), นพไชย อังควัฒนะพงษ์, มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ, สันติ ทองสุข, วสันต์ สิทธิเขตต์, สาครินทร์      เครืออ่อน และสุธี คุณาวิชยานนท์ (ภาพที่ 9)

                สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาสะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน มักนำเนื้อหาของเหตุการณ์นั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นสำคัญ ศิลปินเหล่านี้ไม่ว่าจะมีผลงานรูปแบบใดก็ตาม หากแต่เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้น ก็จะนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นข้อมูลอันสำคัญในการที่นำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน

 
       สัญลักษณ์ธงชาติไทยในผลงานของประเภทนี้เป็นรหัสที่นำไปสู่เนื้อหาของผลงานอย่างที่ไม่สลับซับซ้อน โดยที่มีปัจจัยที่สำคัญคือประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทยเป็นพื้นฐานในการตีความ ชาตินิยมที่เป็นมายาคติของสัญลักษณ์ธงชาติไทยถูกผูกโยงเข้ากับการร่วมต่อสู้ของประชาชนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถึงแม้ว่าชาตินิยมจะมิได้เป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบางกรณี อาทิเช่น เหตุการณ์จลาจลเดือนพฤษภาคม 2535 แต่เมื่อศิลปินนำสัญลักษณ์ของธงชาติไทยซึ่งเป็นภาพตัวแทนของความเป็นชาติไทยมามาสร้างสรรค์ผลงาน ก็ถือว่าเป็นการผสานกันระหว่างการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ลัทธิชาตินิยม และการเมืองอย่างลงตัวที่สุด

       ผลงานในประเภทนี้จะประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของศิลปินดังกล่าวต่อไปนี้ คือ โชคชัย ตักโพธิ์, ประเทือง เอมเจริญ (ภาพที่ 11), กัญญา เจริญศุภกุล (ภาพที่ 12), พิษณุ ศุภนิมิตร, อำนาจ เย็นสบาย  (ภาพที่ 13) และสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

                จากการวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยด้วยสมมุติฐานในการจัดประเภทของการใช้ธงชาติไทยในบริบทที่สัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก สามารถแบ่งกลุ่มตามรายชื่อของศิลปินที่นำมาศึกษาตามตารางที่ 2 นี้

ตารางที่ 2 การแบ่งประเภทของการใช้ธงชาติไทยในบริบทของชาตินิยม
 
 
                ผลจากการวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยครั้งนี้ได้ใช้ทฤษฎีจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์ของศิลปินและสมมุติฐานการใช้ธงชาติไทยในบริบทที่เกี่ยวข้องกับชาตินิยมในสังคมไทยสามารถแสดงออกมาอย่างชัดเจนเป็นระบบตามตารางที่ 3 ดังนี้

ตารางที่ 3 สรุปการวิเคราะห์ศิลปะร่วมสมัยที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยตามรายชื่อของศิลปิน

 
                จากตารางที่ 3 สามารถสรุปการวิเคราะห์ผลงานศิลปะที่มีสัญลักษณ์ธงชาติไทยได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1. ผลงานศิลปะแบบฟอร์มอลลิสม์ (Formalism) ที่มีเนื้อหาเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ผลงานของศิลปินในกลุ่มนี้มีรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย มีแรงบันดาลใจด้านรูปแบบจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยเนื้อหาในการนำเสนอการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมสอดคล้องกับรูปแบบที่เน้นให้ผู้ดูเกิดความเข้าใจอย่างง่ายๆ เป็นผลงานที่แสดงออกในแง่มุมที่ดีงามเท่านั้น (Positive) จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ในแง่มุมที่ตรงกันข้าม ธงชาติไทยที่ปรากฏในผลงานจะเป็นส่วนสนับสนุนแนวคิดเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

2. ผลงานศิลปะแบบฟอร์มอลลิสม์ (Formalism) ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ผลงานของศิลปินในกลุ่มนี้มีรูปแบบการนำเสนอที่เน้นรูปทรงที่ลดทอนจากความเป็นจริงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การลดทอนนั้นก็ยังคงสามารถสื่อสารถึงภาพตัวแทน (Representation) ของสิ่งที่มีจริง เช่น   ธงชาติไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนต่างๆ ของร่างกายของมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสื่อถึงเรื่องราวกันเกี่ยวโยงกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนโดยที่ธงชาติไทยเป็นรหัสที่สำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน

3. ผลงานศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสสิวิสม์ (Expressivism) ที่สะท้อนประเด็นความเป็นชาติในสังคมไทย ผลงานของศิลปินในกลุ่มนี้มีรูปแบบการนำเสนอที่เน้นความเคลื่อนไหวทางทัศนธาตุที่เด่นชัด ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาชาตินิยม ศิลปินเลือกที่จะใช้วิธีการสร้างภาพความรุนแรงและความเคลื่อนไหวโดยใช้ทักษะทางการสร้างสรรค์ในการสร้างภาพที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างตรงไปตรงมา โดยที่ธงชาติไทยเป็นเสมือนสัญญะอันสำคัญในการเชื่อมโยงภาพที่ปรากฏกับแนวคิดชาตินิยมได้อย่างดี

4. ผลงานศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสสิวิสม์ (Expressivism) ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ผลงานของศิลปินในกลุ่มนี้มีรูปแบบการนำเสนอที่เน้นความเคลื่อนไหวและความรุนแรงทางทัศนธาตุเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนที่เข้มข้นเด่นชัด รอยฝีแปรงอันหยาบที่เห็นชัดเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงไปสู่เรื่องราวอันเห็นเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ศิลปินใช้ทัศนธาตุเพื่อสอดรับกับประเด็นของเนื้อหา ธงชาติที่ปรากฏในผลงานสัมพันธ์กับแนวคิดชาตินิยมและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างน่าสนใจ

5. ผลงานศิลปะแบบอินสตรูเมนทัลลิสม์ (Instrumentalism) ที่สะท้อนประเด็นความเป็นชาติในสังคมไทย ผลงานของศิลปินในกลุ่มนี้มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ภาพถ่าย และสื่อประสม ศิลปินนำเนื้อหาแนวคิดชาตินิยมในสังคมไทยเป็นตัวตั้งและสร้างสรรค์ผลงานงานขึ้นมาตามปัจจัยของเนื้อหานั้นๆ ซึ่งผลงานในลักษณะนี้ย่อมไม่คำนึงถึงรูปแบบที่ตายตัว แต่เน้นไปที่ความเข้มข้นในการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดชาตินิยมผ่านผลงานศิลปะ โดยที่ธงชาติไทยที่ปรากฏในผลงานเป็นรหัสที่เชื่อมโยงกับแนวคิดชาตินิยมในสังคมไทยโดยตรง ธงชาติไทยที่ปรากฏจึงไม่เพียงแต่เป็นภาพลักษณ์ทางภายนอกเท่านั้นหากแต่ยังเป็นภาพตัวแทนของแนวคิดชาตินิยมไทยอีกด้วย

                จากการรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์สัญลักษณ์ของธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย ทำให้พบว่าจุดมุ่งหมายการสร้างสรรค์ของศิลปินกับประเด็นแนวคิดการใช้ธงชาติไทยในบริบทชาตินิยมมีความสัมพันธ์และสามารถวิเคราะห์ได้เป็นหมวดหมู่  ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปในลักษณะของความบังเอิญแต่เป็นจุดประสงค์ของศิลปินที่ใช้ทัศนธาตุ (Visual Element) เพื่อแสดงออกให้สอดคล้องตามปัจจัยของแนวเรื่องนั้นๆ ธงชาติไทยจึงแปรจากภาพสัญลักษณ์ไปสู่รหัสในการสื่อสาร รหัสดังกล่าวมีหน้าที่ในการที่จะให้ผู้ดูเกิดความเข้าใจสาระของผลงาน แม้ว่าผลงานของศิลปินบางท่านจะออกมาในรูปแบบศิลปะกึ่งนามธรรมและศิลปะนามธรรม แต่การถอดรหัสของผลงานสามารถวิเคราะห์ได้จากการตีความจากสัญลักษณ์ของธงชาติไทยนั่นเอง

                สัญลักษณ์ของธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัยจึงไม่เป็นเพียงผลงานศิลปะที่นำธงชาติไทยมาปะติดไว้กับองค์ประกอบในภาพอย่างไม่มีสาเหตุ แต่เกิดจากการนำมายาคติของธงชาติไทยมาใช้ในการเป็นภาพตัวแทนของความเป็นชาติไทยให้ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างเข้าใจได้ง่าย ผลงานของศิลปินที่นำมาศึกษาจึงมิได้กระทำการอันละเมิดภาพลักษณ์ของธงชาติไทย แต่มุ่งที่จะสร้างบริบทแวดล้อมให้เป็นส่วนสนับสนุนเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ ทั้งนี้เพราะศิลปินมองธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงไปสู่การบอกเล่าเนื้อหาของผลงานเป็นสำคัญ

                สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าบทบาทของผลงานศิลปะที่ปรากฏสัญลักษณ์ธงชาติไทยนั้นเป็นเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่อุดมไปด้วยสุนทรียภาพ (Aesthetic) อันซับซ้อน ผลงานดังกล่าวนี้ไม่เพียงธำรงไว้ซึ่งอำนาจของสุนทรียภาพและความเพลิดเพลินทางอารมณ์ในระดับปัจเจกเท่านั้น หากแต่ผลงานศิลปะที่ปรากฏสัญลักษณ์ธงชาติไทยนั้นยังมีมิติในการสื่อสาร (Communication) ความเป็นไปในสังคมไทยร่วมสมัย  เพื่อเป็นภาพตัวแทนและสื่อสะท้อนแนวคิดชาตินิยม ค่านิยมในสังคม วัฒนธรรมที่หลากหลาย ความเป็นไปของสังคม และความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างสมบูรณ์

ข้อเสนอแนะการวิจัย

1.             งานวิจัยนี้เป็นการรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ปรากฏสัญลักษณ์ของ        ธงชาติไทยของศิลปินไทยจำนวน 20 ท่าน ซึ่งอาจจะยังมิได้รวบรวมผลงานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาจำนวนมากในการเสาะแสวงหาผลงานตกหล่นที่ไม่ทราบจำนวน

2.             งานวิจัยนี้ทำการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีจุดมุ่งหมายการสร้างสรรค์ของศิลปินและสมมุติฐานการใช้ธงชาติไทยในบริบทชาตินิยมเท่านั้น ดังนั้นอาจจะมิได้วิเคราะห์ด้วยทฤษฎีอื่นๆ จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักวิจัยท่านอื่นๆ ทำการศึกษาและวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีที่ต่างจากงานวิจัยชิ้นนี้ได้ในอนาคต

3.             งานวิจัยชิ้นนี้อาจจะอยู่ในขอบเขตของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ ชาตินิยม และสัญลักษณ์ธงชาติไทย ดังนั้นจึงมิได้ศึกษาวิเคราะห์ในบริบทใดบริบทหนึ่งเป็นสำคัญที่สุด แต่เน้นความเชื่อมโยงของโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ดังกล่าว ดังนั้นหากในอนาคตมีผู้วิจัยอื่นที่ทำการวิจัยในแนวทางอื่นๆ ก็จะถือเป็นเกียรติอย่างสูงกับผลงานวิจัยชิ้นนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

ฉวีงาม มาเจริญ. “ธงชาติไทย: เกียรติยศของชาติ”. วารสารไทย 28, 104 (ตุลาคม-ธันวาคม 2550): 85-91.

ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม. การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชาติไทย,  เมืองไทย,  แบบเรียนและอนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2537.

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน. ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. บรรณาธิการแปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552.

ธีรยุทธ บุญมี. ชาตินิยมและหลังชาตินิยม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สายธาร, 2546.

ประชา สุวีรานนท์. ดีไซน์+คัลเจอร์ 2. กรุงเทพฯ: อ่าน, 2552.

ปรามินทร์ เครือทอง. “กว่าจะมาเป็นธงชาติไทย”. ศิลปวัฒนธรรม 22, 2 (ธันวาคม 2543): 76-81.

ลักษณวัต ปาละรัตน์,รองศาสตาจารย์ ดร.สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2551.

ศรัณย์ ทองเปา. ธ ธงคนนิยม.สารคดี 22, 263 (มกราคม 2550): 54-89.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเพ่น, 2550.

สมสวาท แสงนนท์ตระกูล. ความรู้เรื่องธงชาติทั่วโลก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2544.

อิทธิพล ตั้งโฉลก,รองศาสตาจารย์. แนวทางการสอนและสร้างสรรค์จิตรกรรมชั้นสูง. กรุงเทพฯ: อมรินทร์  พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน),  2550.

     ภาษาอังกฤษ

Rose-Marie and Rainer Hagen. What great paintings say: Volume 2. Koln: Benedikt Taschen, c1995.

Volker Gebhardt. Painting. London: Laurence King, c1998.