วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

(พื้นฐานของ) “สื่อ” ดิจิทัล

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
(jumpsuri.blogspot.com, e-mail: jumpsuri@hotmail.com)
 

 
          ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสารมากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ได้สร้างและพัฒนาความสามารถการสื่อสารของมนุษย์ไปสู่ระดับของการไม่เผชิญหน้าในโลกของความเป็นจริง (Reality) และการเผชิญหน้าในโลกเสมือน (Virtual Reality) ผ่านการติดต่อสื่อสารของสื่อสังคม (Social Media) ซึ่งเป็นเสมือนเครือข่าย (Network) สำคัญที่มุ่งหมายให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อพัฒนาโลกไปสู่ยุคสมัยของการสื่อสารไร้พรมแดน

            สื่อดิจิทัล (Digital Media) มีบทบาทอย่างสูงในแง่มุมของการผลิต (Product) และขยายช่องทางการสื่อสาร เพราะไม่เพียงให้ความสะดวก รวดเร็ว และกระบวนการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพเท่านั้น หากแต่ยังสามารถแบ่งบันข้อมูลในทางตรงได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย เช่น การแชร์ (Share)หรือการแบ่งบันข้อมูล เป็นต้น

สื่อดิจิทัลโดยเฉพาะในส่วนของสื่อสังคมหรือเครือข่ายสังคม (Social Network) ไม่เพียงมีหน้าที่ในการที่จะร้อยสัมพันธภาพ (Relationship) ของมนุษย์ในเกิดภาวะของการไม่มีพรมแดนเพื่อพัฒนาไปสู่กระบวนการข้ามผ่านความเป็นชาติและสลายระดับชั้นของปัจเจกบุคคลให้กลายเป็นเพียงบุคคลสาธารณะ ในขณะเดียวกันผู้สร้างเครือข่ายเองก็สามารถที่จะกำหนดเขตแดนของตนเองได้ เพื่อสร้างกลุ่มชุมชนขนาดย่อยโดยมีเป้าหมายทางการสื่อสารในวงจำกัด เช่น การตั้งสถานะความเป็นส่วนตัวในเฟสบุ๊ค (Facebook) การสื่อสารระหว่างบุคคลผ่านการแช็ต (Chat) เป็นต้น

            ในด้านการผลิตสื่อดิจิทัลนั้นแม้จำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ในเรื่องของกระบวนการทำงานของเครื่องมือ (คอมพิวเตอร์) เป็นลำดับแรก แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการมีความเข้าใจในกลไกในการสื่อสารของสื่อดิจิทัลในด้านต่างๆ และสามารถที่จะประยุกต์ใช้องค์ประกอบของสื่อดิจิทัล[1]ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สื่อดิจิทัลจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายและเป็นช่องทางอันสำคัญที่ช่วยให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จมากกว่าสื่อแบบเก่าในอดีต

            แม้การผลิตสื่อดิจิทัลทั้งในรูปแบบตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง และวิดีโอ จะอาศัยทักษะของกระบวนการทางเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งแรก แต่แก่นของสาร(Message) ที่ต้องการนำเสนอคือประเด็นสำคัญของการสื่อสารมิใช่การมุ่งหมายไปที่เทคนิควิธีการสร้างสาร (Message) ดังนั้นในโลกสื่อสังคม (Social Media) จึงอาจจะไม่จำเป็นว่าผู้ใช้สื่อต้องสร้างข้อมูลหรือผลิตข้อมูลเอง โดยเฉพาะการแบ่งปันข้อมูลผ่านการแชร์และลิงค์ (Link) ไปสู่ต้นกำเนิดของฐานข้อมูลที่แท้จริง กลับเป็นที่นิยมอย่างมากและมีส่วนที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมการอ้างอิงให้เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงที่อยู่ของข้อมูลนั้นๆ อย่างชัดเจนแล้ว ยังเป็นการสร้างมาตรฐานการอ้างอิงให้เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลที่ง่ายขึ้นกว่าสื่อแบบเก่า เช่น การแชร์วิดีโอในเฟสบุ๊คก็จะปรากฏที่มาของวิดีโอนั้นว่ามาจากแหล่งไหนหรือจากเว็บไซต์อะไรอย่างอัตโนมัติ ในขณะถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์กลับต้องอ้างอิงด้วยรูปแบบเชิงอรรถและบรรณานุกรม เป็นต้น

            การผลิตงานกราฟิก (Graphic) ประเภทภาพนิ่ง (Still Image) ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อดิจิทัลมีแนวทางการสื่อสารและการประยุกต์ใช้ที่มากกว่าช่องทางการสื่อสารแบบเก่า งานกราฟิกไม่เพียงให้คุณค่าในด้านการออกแบบ (design) ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เท่านั้น หากแต่งานกราฟิกยังช่วยให้การนำเสนอข้อมูล(Presentation) เกิดความเข้าใจได้ในเวลาไม่นานนัก นั่นย่อมหมายถึงผู้รับสาร (Receiver) จะสามารถถอดรหัสความหมายในชั้นต้นได้เร็วและตรงมากขึ้น เช่น การออกแบบโปสเตอร์ (Poster) การสร้างข้อมูลอินโฟกราฟิก (Infographic) หรือการปรับแต่งภาพถ่าย เป็นต้น งานกราฟิกจึงไม่เพียงนำพาให้ผู้รับสารมีความเข้าใจในสารได้ง่ายและสะดวกขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อที่มีช่องทางการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพอีกด้วย

            ในขณะที่งานสื่อดิจิทัลในแบบภาพเคลื่อนไหว (Moving Picture) ทั้งในรูปแบบของอนิเมชั่น (Animation) และวิดีโอนั้น (Video) ก็ถือว่าเป็นสื่อที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะภาพเคลื่อนไหวนอกจากจะให้ผู้รับสารเห็นสาระของสารที่มีความชัดเจนกว่าองค์ประกอบสื่อดิจิทัลในแบบอื่นๆ แล้ว ภาพเคลื่อนไหวยังช่วยให้การรับสารหรือรับข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้รับสารสามารถที่จะเห็นทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเกิดห้วงเวลาเสมือนจริง สัมผัสแสง สี พื้นผิววัตถุ หรือแม้กระทั่งเสียง เช่น การแชร์วิดีโอในยูทูป (YouTube) หรือการแชร์ไฟล์วิดีโอในแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน (Smartphone Application) เป็นต้น

            ทั้งนี้แม้ว่าการผลิตสื่อดิจิทัลแม้จะมีลักษณะที่ยึดโยงกับทักษะในการใช้เครื่องมือ (คอมพิวเตอร์: Computer) เป็นสำคัญ แต่สิ่งดังกล่าวก็เป็นเพียงกระบวนการสร้างชุดความหมายหนึ่งผ่านสื่อแบบดิจิทัลเท่านั้น หากผู้ผลิตสื่อประเภทดังกล่าวมุ่งเน้นไปในด้านการออกแบบและความงามมากกว่าการให้ความสำคัญในบริบทของการถอดรหัสความหมาย ผลงานสื่อดิจิทัลจะกลายเป็นงานออกแบบกราฟิกไปเสีย (Graphic Design) ดังนั้นหากจะกล่าวว่าหัวใจสำคัญของการผลิตและการเข้าถึงสาระของ “สื่อดิจิทัล” แล้ว ก็ยังคงอยู่ที่สาระของกระบวนการสื่อสารและการถอดรหัสความหมายเป็นหลักสำคัญ แม้ว่าลักษณะการผลิตผลงานจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ เพื่อความลงตัวในรูปลักษณ์ภายนอก แต่ก็ควรจะเกิดขึ้นเพื่อให้สนับสนุนให้ชุดรหัสนั้นๆ สื่อสารความหมายได้ตรงและทรงประสิทธิภาพอย่างที่สุด.
 


[1] องค์ประกอบทั้ง 5 ของสื่อดิจิทัล  ประกอบไปด้วยตัวอักษร (Text) ภาพนิ่ง (Still Image) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียง (Sound) และวิดีโอ (Video)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น