วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทัศนศิลป์แนววิพากษ์การเมืองบนถนนราชดำเนิน 2556

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
(jumpsuri.blogspot.com, e-mail: jumpsuri@hotmail.com)

 
                การชุมนุมทางการเมืองภาคประชาชนในประเทศไทยนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงสำนึกของประชาชนต่อความเคลื่อนไหวทางการเมือง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยสมัยใหม่ล้วนผูกพันอยู่กับคำว่า “ประชาธิปไตย” ราวกับสูตรสำเร็จ ทว่าในความเป็นจริงการเมืองไทยกลับเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องนับตั้งแต่การปฏิวัติสยามเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

            การชุมนุมทางการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกทางความคิดทางการเมืองของกลุ่มคนที่มีแนวคิดที่เหมือนกัน การชุมนุมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามปกติ เช่น การรวมตัวของประชาชนที่มีทัศนคติที่ตรงกัน การพูดในที่สาธารณะ การแสดงละคร การร้องเพลง และการเดินขบวนในพื้นที่สาธารณะหรือท้องถนนเพื่อแสดงการประท้วงต่อรัฐ เป็นต้น กิจกรรมที่เกิดขึ้นในการชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะต่อต้านอำนาจของรัฐมักเป็นการแสดงออกเพื่อให้กลุ่มผู้เข้าชุมนุมหมดความเชื่อมั่นในความชอบธรรมของรัฐบาลนั้น ซึ่งการแสดงออกที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลล้วนเป็นการสื่อสารที่เน้นการมีส่วนร่วมจากมหาชนมากกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

            ศิลปะถือเป็นช่องทางการสื่อสารของศิลปินในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองต่อสาธารณชน ขณะที่บทบาทของศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ศิลปะประท้วง” นั้นหมายถึงศิลปะที่เป็นลักษณะที่เป็นการเครื่องไหวทางสังคมการเมือง (Sociopolitical Movement) (ลลินธร 2553: 16) เป็นศิลปะที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างศิลปินกับมหาชนเพื่อแสดงทัศนคติทางการเมือง ฐานะของศิลปะในการวิพากษ์การเมืองจึงมักจะปฏิเสธพื้นที่ตามแบบแผน แต่มุ่งเน้นไปที่พื้นที่ทางเลือก (Alternative Space) อันเกี่ยวโยงกับกิจกรรมทางการเมืองหรืออาจจะเป็นพื้นที่ที่มีความหมายมากกว่าห้องแสดงภาพ (Gallery) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารกับประชาชนทั่วไปด้วยเนื้อหาของผลงานที่ชัดเจนตรงไปตรงมาหรือมีความหมายอันเกิดจากการใช้สัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก  

สำหรับศิลปะประเภททัศนศิลป์ในบริบทของการวิพากษ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มเป็นที่โดดเด่นจากการแสดงจิตรกรรมขนาดใหญ่หรือภาพคัตเอาท์การเมืองในปี พ.ศ. 2518 เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักร้อง นักดนตรี  นักเขียน และศิลปินสาขาทัศนศิลป์ เพื่อทำกิจกรรมทางศิลปะที่ปลอดจากระบบราชการและอิทธิพลทางการเมือง (วิบูลย์  2548: 344) ภาพคัตเอาท์ขนาดใหญ่ดังกล่าวจัดแสดงบริเวณพื้นที่เกาะกลางตลอดถนนราชดำเนินกลาง โดยมีเรื่องราวเป็นเรื่องของการต่อสู้ของประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา กับจักรวรรดินิยม และจอมเผด็จการที่ถูกระบุว่าเป็นสมุนรับใช้ตลอดมา (จันอับ 2518: 5) ส่วนแนวคิดในการสร้างสรรค์นั้นเป็นไปในทางศิลปะเพื่อชีวิต (Art for Life's sake) อันเป็นแนวทางที่มี ความเชื่อว่า ศิลปะต้องมีรูปแบบที่รับรู้ง่าย เนื้อหาสาระที่กระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดสำนึกรับผิดชอบเอื้ออาทรต่อสังคมส่วนรวมมากกว่าเป็นเรื่องของปัจเจก (วิรุณ 2536: 25) จุดเด่นของผู้ปฏิบัติงานด้านทัศนศิลป์ขบวนการนี้คือ สร้างผลงานศิลปะเพื่อผลงานทางการเมืองโดยตรง มีเป้าหมายต้องการให้ผลงานส่งผลต่อการปฏิรูปสังคมควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวขององค์กรต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุ่นแรงทางสังคมในขณะนั้น นับเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในวงการประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (กำจร สุนพงษ์ศรี บันทึกจากความทรงจำ: แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย,” 2537: 111)

ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยและศิลปินที่มุ่งเน้นการสร้างผลงานในแนววิพากษ์เริ่มห่างหายไปจากวงการทัศนศิลป์อันเนื่องจากความผันแปรทางการเมือง แต่กลุ่มศิลปินที่เคยสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางดังกล่าวนี้ก็ยังคงรวมเป็นกลุ่มขนาดย่อยเพื่อสร้างผลงานทัศนศิลป์ในแนววิพากษ์ต่อไป เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากการเมืองไปสู่การวิพากษ์สังคมแทน แต่ถึงกระนั้นศิลปินที่ยังคงยึดแนวทางการแสดงออกของเนื้อหาในเชิงตั้งคำถามและสะท้อนการเมืองไทยก็ยังคงมีอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น

แม้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ศิลปินไทยที่นำเสนอผลงานทัศนศิลป์แนววิพากษ์การเมืองจะมีจำนวนน้อยหากเทียบกับยุคสมัยที่กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยมีบทบาทอย่างโดดเด่น ถึงกระนั้นก็ตาม ศิลปินในกลุ่มดังกล่าวมักจะเน้นไปที่เนื้อหาการสะท้อนสังคมโดยรวมมากกว่าจะมีแนวคิดแบบศิลปะเพื่อชีวิตเหมือนอย่างกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย  

นับตั้งแต่วิกฤติทางการเมืองสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ผลงานทัศนศิลป์แนววิพากษ์การเมืองก็ค่อยๆ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ศิลปินบางคนที่ยังมุ่งในแนวทางนี้ก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ส่วนศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานที่ไม่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองเท่าไรนักก็เริ่มนำประเด็นสังคมและการเมืองเข้าสู่บริบทของการสร้างสรรค์มากขึ้น

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 เกิดการชุมนุมทางการเมืองคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทางการเมือง (พ.ร.บ. นิรโทษกรรม) ซึ่งพ.ร.บ. นิรโทษกรรมดังกล่าวนำมาซึ่งข้อสงสัยเกี่ยวกับคดีความทางการเมืองต่างๆ ที่ยังไม่มีความโปร่งใสตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จวบจนถึงสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันกลุ่มศิลปินที่แสดงจุดยืนและต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ร่วมเข้าชุมนุมในครั้งนี้ พร้อมทั้งร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ด้วย

การรวมตัวของกลุ่มศิลปินที่เคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ นำโดยส่วนหนึ่งของคณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิลปิน และนักศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นแกนนำในการสร้างผลงาน ซึ่งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ศิลปินกลุ่มนี้ได้ร่วมกันวาดภาพบนพื้นแผ่นกระดานขนาดยาวหลายสิบเมตรที่วางขนานไปบนบนถนนราชดำเนินกลางอันเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ด้วย

การสร้างสรรค์จิตรกรรมขนาดใหญ่นี้มีศิลปินที่เข้าร่วมหลายสิบคนจึงมีผลทำให้การแสดงออกในเชิงกายภาพของผลงานมีรูปแบบที่หลากหลาย ขณะเดียวกันกลุ่มศิลปินก็พยายามที่จะสร้างความเป็นเอกภาพด้วยการใช้สีที่สดคล้ายๆ กัน ลักษณะของรูปร่าง (Shape) ที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นภาพคน สัตว์ สิ่งของ ล้วนวาดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา บางส่วนเป็นรูปร่างแบบผสม (Hybrid) และรูปร่างที่บิดเบือนเหนือความจริง (Hyper Real) เพื่อให้เกิดภาพตัวแทนในการสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งศิลปินใช้สัญลักษณ์ที่เข้าใจง่ายเป็นรหัส (Code) ในการสื่อสาร เช่น ปูซึ่งเป็นชื่อของนักการเมืองคนสำคัญ นกพิราบขาวที่แทนความหมายถึงอิสรภาพและสันติภาพ หรือการใช้สัญลักษณ์สำคัญของการเมืองไทย เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือธงชาติไทยอันเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชาติ (สุริยะ 2554: 58) เป็นต้น ผลงานจิตกรรมชุดนี้จึงเน้นไปที่การสื่อสารที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสาระของภาพที่ปรากฏอย่างชัดเจน

ผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ชุดนี้มีเนื้อหา (Content) ที่ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน ศิลปินใช้หัวข้อ (Theme) การวิพากษ์การเมืองไทยเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์โดยมุ่งไปที่การวิพากษ์นักการเมืองคนสำคัญมากกว่าจะสื่อถึงความงามแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น ภาพผลงานโดยรวมใช้สีที่สดและบางส่วนของบางภาพมีการทิ้งรอยฝีแปรงหยาบๆ (Brush Stoke)  ดังนั้นผลงานที่เกิดขึ้นจึงให้ความรู้สึกที่ดุดัน รุนแรง แข็งกร้าว และทรงพลังเพื่อขับเน้นเนื้อหาที่มุ่งประเด็นการต่อต้าน

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ในการชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมครั้งนี้กับผลงานภาพคัตเอาท์การเมืองของกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยจะพบว่า ผลงานในกลุ่มศิลปินที่ชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ได้เน้นไปที่แนวทางของศิลปะเพื่อชีวิตหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมอุดมคติ แต่เป็นผลงานศิลปะที่นำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่าเป็นเพียงการบันทึกและสะท้อนเหตุการณ์ทางการเมือง ผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่ปรากฏจึงแสดงออกอย่างล้อเลียนและเสียดสีมากกว่าการสร้างภาพในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)

สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ในการชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมครั้งนี้จะมีข้อเด่นหรือข้อด้อยอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักก็คือ ศิลปินกลุ่มนี้ได้วางบทบาทของตนเองให้อยู่ในฐานะของนักวิจารณ์โดยแสดงออกผ่านผลงานทัศนศิลป์ ซึ่งแม้การรวมตัวของศิลปินครั้งนี้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่ศิลปินมีจิตสำนึกสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ศิลปะจึงไม่เพียงแค่ถูกนำเสนออยู่ในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือเทศกาลศิลปะอันทรงเกียรติเท่านั้น หากแต่ศิลปะยังเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารกับประชาชนโดยทั่วไปให้เกิดองค์ความรู้ในการจะช่วยกันพัฒนาสังคมให้ดีงามมากยิ่งขึ้นต่อไป.
บรรณานุกรมรม

จันอับ [นามแฝง].“นิทรรศการบนถนนราชดำเนิน”.  สยามรัฐรายวัน . 11 ตุลาคม 2518.
ลลินธร เพ็ญเจริญ.วสันต์ สิทธิเขตต์ : ศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต
สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
วิบูลย์  ลี้สุวรรณ. ศิลปะในประเทศไทย : จากศิลปะโบราณในสยามถึงศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือ
            ลาดพร้าว, 2548.
วิรุณ  ตั้งเจริญ. ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2536.
สร้างสานตำนานศิลป์ : 20 ปีแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย 2517-2537. กรุงเทพฯ : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย, 2537.
 สุริยะ ฉายะเจริญ. สัญลักษณ์ของธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต
สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น