วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

(การเป็น “ศิลปิน”) = (ไม่ใช่) + (เหตุ)สุดวิสัย

(บทความประกอบในสูจิบัตรนิทรรศการ "สุดวิสัย" โดยศิลปินกลุ่ม 2+3=1 ณ Brown Sugar : The Jazz Boutique ตั้งแต่วันที่ 14 - 28 กุมภาพันธ์ 2557)
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (jumpsuri@hotmail.com)

ถ้าจะกล่าวว่าการเป็น “ศิลปิน” (Artist) คือ ความใฝ่ฝันของนักศึกษาศิลปะก็คงจะไม่ผิดนัก การอยากเป็นศิลปินคงไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่เรียนศิลปะ ซึ่งก็คล้ายกับนักศึกษาในศาสตร์ด้านอื่นๆ ที่ต้องการได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีคุณภาพในศาสตร์นั้นๆ เช่นเดียวกัน
            คำจำกัดความที่ว่า “ศิลปินคืออะไร” นั้น เต็มไปด้วยทัศนะที่หลากหลายตามแต่ผู้ใดจะให้นิยาม ปัจจุบันคำว่า “ศิลปิน” ก็ถูกนำไปใช้ในหลากหลายบริบท (ไม่เฉพาะคนที่สร้างสรรค์ศิลปะในแขนงต่างๆ) จนทำให้คำว่า “ศิลปิน” ก้าวไปสู่ความหลากหลายมากกว่าข้อบัญญัติที่ตายตัว เช่น ศิลปินตลก ศิลปินนักร้อง ศิลปินนักแสดง ศิลปินเพลงลูกทุ่ง เป็นต้น หรือ ถูกนำไปใช้แทนบุคลิกลักษณะเฉพาะของบุคคล เช่น “อารมณ์ศิลปิน” เป็นต้น สิ่งดังกล่าวย่อมสนับสนุนให้คำว่า “ศิลปิน” ได้ผ่านพ้นภาวะของความศักดิ์สิทธิ์ไปสู่คำที่เป็นปกติสามัญ
            ประเด็นคำถามที่สำคัญ คือ “ศิลปิน” ในวิถีทางของทัศนศิลป์ (ในบริบทศิลปะไทยร่วมสมัย: Contemporary Thai Art) อาจจะเป็นความคลุมเครือที่อยู่ในบริบทของ “อาชีพ” หรือ “สภาวะ” ซึ่งย่อมหมายถึงว่า “ความเป็นศิลปิน” ไม่ได้ “เป็น” อย่างตายตัว แต่มีการใช้คำอื่นมาสร้างความหมายใหม่ เช่น ศิลปินอิสระ (คำถาม คือ ศิลปินอิสระจากอะไรและใครคือศิลปินอิสระ) ศิลปินอาชีพ หรือ ศิลปินอาจารย์ (คนๆ นั้น เป็นอาจารย์สอนศิลปะและก็สร้างศิลปะควบคู่ไปด้วย แต่คำถามก็คือ คนๆ นั้น มีอาชีพเป็นอาจารย์หรือศิลปิน) เป็นต้น ดังนั้นการใช้คำว่า “ศิลปิน” จึงขึ้นอยู่กับบริบทของคนๆ หนึ่งที่เกี่ยวโยงกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะว่าอยู่ในภาพลักษณ์แบบใด ศิลปินจึงมีฐานะทั้งที่เป็นอาชีพและสภาวะของการเป็น (ศิลปิน) มากกว่าการจำกัดความหมายของคำว่า “ศิลปิน” ให้ตายตัวในสภาพการณ์ใดสภาพการณ์หนึ่ง
            ไม่ว่าคำว่า “ศิลปิน” จะมีการนำไปใช้ในบริบทไหนก็ตาม แต่สำหรับนักศึกษาศิลปะแล้ว คำว่า “ศิลปิน” ยังคงเป็นคำสวยหรูที่ต้องการให้ผู้อื่นใช้สรรพนามดังกล่าวกับตนเองเพื่อหล่อเลี้ยงอุดมคติบางอย่าง และแม้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของคำว่า “ศิลปิน” จะยังคงเป็นอยู่ในสถาบันศิลปะทุกสถาบัน (สถานศึกษา, พิพิธภัณฑ์ศิลปะ, หอศิลป์, วงการวิชาการศิลปะ) อันเป็นเหตุให้เกิดคำว่า “ศิลปินรุ่นใหม่” หรือ “ศิลปินรุ่นเยาว์” แต่ชุดคำดังกล่าวแต่กลับยิ่ง “สะท้อนรอยร้าวในระนาบของความเท่าเทียมของการเป็นศิลปิน” โดยเฉพาะคำว่า “ศิลปินรุ่นใหญ่” และ “ศิลปินอาวุโส” ก็ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าการยอมรับในความเป็นศิลปินนั้นเกิดจากกระบวนการสร้างความหมายผ่านวัฒนธรรมระบบอาวุโสที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญยิ่งของความเป็นไทย
            การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นศิลปินของนักศึกษาศิลปะจึงต้องเลียนแบบวิถีทางของศิลปินรุ่นก่อนหน้า นั่นคือการจัดแสดงผลงานศิลปะอันจะเป็นการนำเสนอผลงานที่พวกเขาได้สร้างสรรค์กันอย่างเต็มกำลังมาสู่สาธารณะ โดยที่มีเป้าหมายที่สำคัญคือ “การได้รับการยอมรับของมหาชน” การได้รางวัลจากการประกวดศิลปกรรม การวิพากษ์วิจารณ์ผ่านตัวอักษร (Critic) การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ และการขายผลงานศิลปะ ซึ่งเท่ากับว่าหากกระบวนการดังกล่าวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ (กระบวนการสร้างความเป็นศิลปิน) คำว่า “ศิลปิน” ก็เริ่มจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น นักศึกษาศิลปะจึงอาจจะเป็น “ศิลปิน” ในทันทีด้วยวิธีการสถาปนาปรากฏการณ์และพิธีกรรมการเชิดชูเกียรติยศที่มาในรูปแบบต่างๆ (การได้รางวัลจากการประกวด, การสร้างผลงานแล้วเกิดกระแสในสังคม, ฯลฯ)
            สำหรับนิทรรศการศิลปะ “สุดวิสัย” โดยศิลปินหนุ่มสาวกลุ่ม “2+3=1”[*] เป็นการรวมตัวของนักศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนิทรรศการที่แสดงผลงานศิลปะอันหลากหลายและเน้นไปที่การตั้งคำถามกับสังคมร่วมสมัยในประเด็นที่แตกต่างกัน
 
            ชื่อนิทรรศการ “สุดวิสัย” ซึ่งเป็นชุดคำที่สะท้อนภาวะของความบังเอิญหรือความจำยอม ในขณะที่ความเป็นจริงนิทรรศการครั้งนี้มิใช่สภาวการณ์อันสุดวิสัย หากแต่เกิดขึ้นด้วยข้อตกลงของศิลปินหนุ่มสาวกลุ่ม “2+3=1” ในการที่จะพยายามพิสูจน์ตัวเองในฐานะของคนที่ทำงานศิลปะ หรือนัยยะหนึ่งคือการพยายามที่จะ “ก้าวไปสู่ความเป็นศิลปิน” แม้ว่าฐานะของความเป็นนักศึกษาจะยังคงดำรงอยู่ก็ตาม นั่นย่อมหมายความว่าเจตนารมณ์ที่พวกเขาต้องการก้าวไปสู่เส้นทางของการเป็นศิลปินนั้นหาใช่เหตุสุดวิสัยไม่ แต่เป็นความตั้งใจอันแรงกล้าที่เต็มไปด้วยไฟหนุ่มสาวที่น่าตื่นตาตื่นใจ
 
            การจัดนิทรรศการศิลปะที่มีจำนวนหลายคนเป็นข้อจำกัดสำคัญในการจัดการให้ภาพลักษณ์ของนิทรรศการมีความเป็นเอกภาพ (Unity) ขณะที่นิทรรศการ “สุดวิสัย” ได้ทำให้เห็นถึง “เอกภาพของความหลากหลาย” ด้วยลักษณะของการไม่พยายามที่จะควบคุมแก่น (Theme) ของแนวคิด (Concept) ของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นให้สอดคล้องกัน และปล่อยให้ผลงานทั้งหมดมีความขัดแย้งในตัวเองจนเกิดความไม่ลงรอยกันของสิ่งทั้งหลายในนิทรรศการ หากแต่สิ่งดังกล่าวก็หาใช่เหตุสุดวิสัยเกินควบคุม เพราะความขัดแย้งนั้นเกิดจากความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงกับบริบทของการทำลายอัตลักษณ์ (Identity) เฉพาะตัวบุคคลไปสู่การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม  
 
            ความขัดแย้งที่สำคัญคือชื่อกลุ่ม “2+3=1” เป็นการใช้ชุดตัวเลขสร้างสรรพนามเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มคน โดยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าตัวเลขละตัวล้วนอยู่ภายใต้โครงสร้างของคณิตศาสตร์ หากแต่ตัวเลขแต่ละตัวเองก็มีความเป็นเอกเทศที่แตกต่างกัน การสร้างรูปประโยคโดยใช้ตัวเลขที่มีเครื่องหมาย (+) อันแสดงถึงสัมพันธ์ระหว่างกัน ทำให้บุคลิกเฉพาะตัวของเลขแต่ละตัวหายไป แต่เกิดเป็นรูปประโยคคณิตศาสตร์ที่บัญญัติความหมายใหม่ตามแนวคิดของศิลปินหนุ่มสาวกลุ่มนี้
 
            แม้ว่าการจัดนิทรรศการสุดวิสัย” โดยศิลปินหนุ่มสาวกลุ่ม “2+3=1” จะกำเนิดภายใต้แรงบันดาลใจที่อยากจัดแสดงนิทรรศการศิลปะของเหล่านักศึกษาศิลปะ เพราะการจัดนิทรรศการก็เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะนำพวกเขาและพวกเธอไปสู่หนทางของการสัมผัสภาวะของความเป็นศิลปิน แม้คำว่า “ศิลปิน” จะถูกนำไปใช้อย่างไรจึงไม่สำคัญมากไปกว่าการทำอย่างไรให้สาธารณชนยอมรับและมอบสิทธิ์ในการให้พวกเขาได้เป็นศิลปินอย่างสง่างาม
            สุดท้ายแล้ว ถ้าจะกล่าวว่าการเป็นศิลปินคือความใฝ่ฝันของนักศึกษาศิลปะก็คงจะไม่ผิด การเป็นศิลปินคงไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่เรียนศิลปะ นิทรรศการสุดวิสัย” โดยกลุ่ม “2+3=1” จึงเป็นก้าวสำคัญที่ศิลปินหนุ่มสาวเหล่านี้จะเดินไปสู่ความฝันของพวกเขาบทเส้นทางศิลปะร่วมสมัยที่ท้าทายและเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมตามบริบทของสังคมโลกในปัจจุบัน

[*] นิทรรศการ สุดวิสัย
ศิลปิน  กลุ่ม 2+3=1
จัดแสดง  ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 2 ร้าน Brown Sugar : The JazzBoutique ถนนพระสุเมรุ ใกล้สะพานวันชาติ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เปิดเข้าชม ทุกวันตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 28 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13.00 – 23.00 .
วันเปิด วันศุกร์ ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 19.00 .

 แนวความคิด
 นิทรรศการ สุดวิสัย ของ กลุ่ม2+3=1 ศิลปินรุ่นใหม่จากรั้วศิลปากร เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญทางความคิดที่ไปในทางเดียวกันของศิลปินในกลุ่ม ที่ว่า ในปัจจุบันพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะมีไม่มากนักที่จะให้โอกาสกับนักศึกษาศิลปะ และด้วยความต้องการพร้อมด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างงานศิลปะออกสู่สาธารณชนนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร จึงหันมาพึ่งพื้นที่ทางเลือกเพื่อนำเสนองานศิลปะตามทัศนคติของตัวเอง
    ผลงานในนิทรรศการถูกรวมกันอย่างอิสระ มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อประสม ศิลปินในกลุ่มอาจจะดูแตกต่างกันออกไปแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผลงานจะถูกจัดสรรให้มีการอยู่รวมกันอย่างลงตัวถึงแม้จะคนละรูปแบบ เทคนิควิธีการ และแนวความคิดก็ตาม
    นิทรรศการ สุดวิสัย เป็นนิทรรศการที่พวกเราตั้งใจทำมันขึ้นมาเพื่อสื่อให้เห็นถึงภาวะที่เป็นอยู่ของพวกเรา การกระทำที่ควบคู่ไปกับกระแสหลักของโลกศิลปะในด้านทัศนคติ แต่ยังคงมีคุณภาพทางด้านรูปแบบ เทคนิควิธีการ และแนวความคิด ซึ่งพวกเราเพียงหวังว่า ก้าวเเรกของพวกเรานั้นจะทำให้ผู้ชมมีประสบการณ์
ทางสุนทรียะและกระตุ้นให้เกิดความคิดและมุมมองที่ชัดเจนต่อวงการและโลกศิลปะมากขึ้น หากผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่นิทรรศการนี้ไม่อาจจะคาดเดาได้ แต่พวกเราก็พร้อมที่ยอมรับและก้าวต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น