วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

อัตลักษณ์ศิลปะร่วมสมัยไทยจำเป็นหรือไม่

“...ในสิ่งที่เกี่ยวกับศิลปะ เราได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากตะวันตกในการศึกษาเทคนิคของงาน แต่เมื่อเราลอกเลียนความคิดและแบบอย่างของเขา เราก็จะกลายเป็นนักลอกแบบที่น่าสงสาร เพราะงานลอกเลียนแบบเช่นนั้น ย่อมเป็นงานปราศจากคุณค่าอันแท้จริง...ด้วยเหตุฉะนี้ในการที่ศิลปินตะวันออกเลียนแบบศิลปินตะวันตก จึงเป็นสิ่งที่ผิด...เขากลับสนใจในการแสดงออกซึ่งความรู้สึกทางตะวันออกอันเป็นต้นแบบ ซึ่งถ่ายทอดวิญญาณและความคิดของชาวตะวันออกทั้งสองสถาน...ประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนศิลปะระหว่างตะวันตกกับตะวันออกจึงควรจะจำกัดแต่เพียงความคิดทางด้านเทคนิคและการใช้วัตถุธาตุใหม่ๆเท่านั้น ไม่ควรจะอยู่ในด้านวัฒนธรรมและจิตใจ”[1]

ข้อเขียนข้างต้น มาจากส่วนหนึ่งของบทความชื่อ East and West ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งท่านได้แสดงทัศนะอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการหลงไปในกระแสของโลกตะวันตกในยุคนั้น (ตรงกับ ค.ศ.1962 อันเป็นช่วงปลายของศิลปะแบบ Modern Art) ทั้งนี้อาจจะด้วยเพราะท่านเป็นชาวตะวันตกที่เข้ามารับราชการในสยามประเทศ จึงใช้สายตาแบบชาวตะวันตกมองถึงความเป็นพื้นถิ่นของสยาม เกิดความประทับใจในศิลปะและวัฒนธรรมแบบเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

­­การเข้ามาในสยามของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีผลให้ความเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุคนั้นเปลี่ยนไป กล่าวคือเกิดระบบการเรียนการสอนตามหลักวิชาอย่างจริงจัง โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นแกนกลาง ซึ่งได้ก่อตั้งในยุคของรัฐบาลมีนโยบายเชิดชูความเป็นชาติในแบบ รัฐนิยม ดังนั้นความเป็นไปของวงการศิลปะสมัยนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลงานศิลปะส่วนหนึ่งเป็นศิลปะแบบโฆษณาชวนเชื่อ ที่ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองและศิลปะในโลกตะวันตกที่ร่วมสมัยในยุคนั้น เช่น ลัทธินาซี และฟาสซิสต์ เป็นต้น

เอกลักษณ์และข้อเด่นของศิลปะสมัยใหม่ในไทยคือ

1 ถอยจากเรื่องราวทางศาสนา
2 ออกจากระบบของสถาบันพระมหากษัตริย์
3 นำเสนอเรื่องราวของสามัญชน (รูปที่1)
4 เปลี่ยนรูปแบบจากศิลปะไทยเดิมไปสู่ศิลปะแบบหลักวิชาตะวันตก (รูปที่2)
5 ปรับองค์ความรู้ของศิลปะตะวันตกให้เข้ารับบริบทของสังคมไทย (รูปที่3)

รูปที่1 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์สำคัญของลัทธิรัฐนิยม


รูปที่2 ผลงานจิตรกรรมของเฟื้อ หริพิทักษ์ ได้อิทธิจาศิลปะแบบ Cubism

รูปที่ 3 ผลงานจิตรกรรมของประสงค์ ปัทมานุช

พัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ไทยในช่วงที่ศาสตราจารย์ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่ เป็นไปตามหลักทางวิชาการเป็นส่วนใหญ่ เน้นการเรียนรู้อย่างมีกระบวนการ ใช้ความมีทักษะทางเชิงช่างเป็นตัวฝึกฝนให้เกิดความชำนาญเสียก่อน แล้วจึงเข้าไปรับรู้ในเนื้อหา

แต่เมื่อท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ความเคลื่อนไหวของศิลปะในขณะนั้นก็เริ่มเปลี่ยนไป ศิลปินต้องการอิสระในการแสดงออกมากขึ้น ต้องการความเป็นสากลทางในศิลปะ เกิดการรับศิลปะใหม่ๆเข้ามาปรับใช้กันมากขึ้น ถือเป็นหัวเลี้ยวที่สำคัญที่ทำให้แนวทางศิลปะไทยได้แตกแขนงไปอย่างไม่รู้จบ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ศิลปะร่วมสมัยของไทย ได้สถาปนาตัวเองเข้ามาแทนที่แนวทางแบบศิลปะสมัยใหม่ โดยมีลักษณะเด่นคือ

1 มุ่งสู่ความเป็นนามธรรม (Abstraction) (รูปที่4)
2 นำสิ่งที่ไม่เป็นศิลปะทำให้เป็นศิลปะ (Mixed Media) (รูปที่5)
3 ให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าหรือเท่ากับตัวผลงานศิลปะ (Conceptual)
4 มีประเด็นล้อเลียน, เสียดสี, ประชดประชัน (Dadaism, Neo-Dadaism) (รูปที่6)
5 แสดงออกถึงแนวทางใหม่ๆ (New Media Art, Installation Art, Performance, Etc) (รูปที่7)

รูปที่4 จิตรกรรมนามธรรมของ ปรีชา อรชุนกะ

รูปที่5 ผลงานสื่อผสมของ มณเฑียร บุญมา


รูปที่6 จิตรกรรมของ วสันต์ สิทธิเขต
รูปที่7 Video Installation ของอารยา ราษฎ์จำเริญสุข

จะเห็นได้ว่าช่วงการเปลี่ยนแปลงของศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยของไทยนั้น มีปัจจัยต่อเนื่องกัน กล่าวคือ

ศิลปะสมัยใหม่ไทย พยายามถอยห่างจากความเป็นพื้นเพเดิมของตน แล้วหาจุดร่วมของแนวทางที่สนับสนุนความเป็นชาติ ทำลายความเป็นพื้นถิ่นเพื่อหาอัตลักษณ์ร่วม

หากแต่ศิลปะร่วมสมัยกลับไม่ได้สนใจจุดร่วมดังกล่าว แต่เป็นการแตกตัวของศิลปินหัวก้าวหน้าที่มุ่งปัจเจกภาพมากกว่าให้ความสำคัญของจุดร่วม และด้วยการสื่อสารที่ทันสมัยทำให้การรับรู้ในระดับสากลเป็นไปอย่างสะดวก ศิลปินรุ่นใหม่ๆจึงเรียนรู้แนวทางร่วมสมัยของโลกแล้วนำมาพัฒนาผลงานตนเอง เกิดแนวทางใหม่ๆขึ้น

ที่ผู้เขียนได้ให้ทัศนะข้างต้น ก็เพื่อต้องการให้เห็นลักษณะของศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทย แล้วกลับไปดูข้อเขียนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีข้องต้นว่า จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า

ศิลปะร่วมสมัยไทยมีความจำเป็นหรือไม่ว่าต้องมีอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นไทย

วงการศิลปะร่วมสมัยไทยยึดถือและเทิดทูนความเป็นตะวันตกเป็นศูนย์กลางหรือไม่

และสุดท้ายแล้ว ในกระแสยุค Post Modern ศิลปะร่วมสมัยของไทยควรจะเดินไปในทิศทางใด

(ท้ายนี้ผู้เขียนก็ต้องขอออกตัวว่า ประเด็นดังกล่าวข้างต้นมิได้ปลุกแนวความคิดแบบชาตินิยม แต่เพียงต้องการถามหาทิศทางใหญ่ของวงการศิลปะร่วมสมัยว่าควรจะเดินไปในทางใด และหลักการทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นผิดถูกประการใด ผู้เขียนถือว่าเป็นผู้รับผิดชอบ)

สุริยะ ฉายะเจริญ, 21 มีนาคม 2552
E-mail: jumpsuri@hotmail.com

[1] ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, East and West (ตะวันตกกับตะวันออก) แปลโดย เขียน ยิ้มศิริ, สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ณ หอศิลป กรมศิลปากร 20 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม พ.ศ.2505

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น