โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (2552)
ท่ามกลางความจลาจลทางปัญญาของสังคมไทยในปัจจุบัน ปัญญาชนแต่ละกลุ่ม ผู้คนในสังคมแต่ละพวก ล้วนใฝ่หาข้ออ้างอันชอบธรรมให้กับกลุ่มของตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ในการสถาปนาตัวตนต่อสังคม แต่ละฝ่ายมักยกอุดมการณ์ของตนเหนือวิสัยทัศน์ของผู้อื่นเสมอ บางกลุ่มแถลงอุดมการณ์ของตนด้วยความสัจจริง ทว่ายังมีอีกหลายกลุ่มเช่นกันที่มักสร้างอุดมคติอันเลอเลิศเพริศพริ้ง แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงฉากหน้าเพื่อชักจูงประชาสัมพันธ์ไปสู่ผลประโยชน์เพียงกลุ่มของตนเองเท่านั้น
กว่าห้าปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นคล้ายกับปรากฏการณ์ที่เคยมีในอดีต ฉากหน้าความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มต่างแสดงความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ของตน อีกทั้งชักจูงมวลชนด้วยบรรยากาศการชุมนุมต่างๆ เช่น การพูดบนเวทีในที่สาธารณะ มีการแสดงละครล้อการเมือง และที่ขาดไม่ได้คือการแสดงสดของดนตรีการเมือง
“เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ถือเป็นเพลงปลุกใจในการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนอยู่เสมอ ในห้วงเวลานี้ก็เช่นกัน ผู้ชุมนุมทางการเมืองแต่ละกลุ่มต่างก็มีการนำเพลงนี้มาร้องกันในระหว่างที่มีการชุมนุมอย่างมีความหมายเฉพาะของตน หลายครั้งเพลงนี้กลายเป็นเพียงเพลงพื้นๆที่ร้องรำกันอย่างแสนสามัญ แต่ถ้าหากเข้าไปดูประวัติศาสตร์ของเพลงนี้แล้ว จะทำให้ค้นพบความหมายที่ยิ่งใหญ่ซึ่งผูกพันกับผู้ประพันธ์ด้วย
จิตร ภูมิศักดิ์ นักปราชญ์ผู้ประพันธ์เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา
“เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นเพลงที่ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นเป็นนักคิดด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์ นับว่าเป็นหนึ่งในนักปราชญ์ นักปฏิวัติทางความคิด และวิชาการคนสำคัญแห่งยุคสมัย เขาถือเป็นนักวิชาการคนแรกๆที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลอย่างลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ยังมีความคิดต่อต้านระบอบเผด็จการ และการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด
ผลงานของจิตรแต่ละอย่างล้วนแสดงออกถึงความกล้าหาญในความคิด เขาวิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยเหตุผลได้กระจ่างอย่างน่าทึ่ง แม้ว่าบุคลิกที่ดูเรียบร้อยราวกับผ้าพับไว้ ทว่าวิถีชีวิตและมุมมองของเขาต่อสรรพสิ่งกลับโลดโผนเกิดผู้คนในยุคนั้นจะยอมรับได้ สิ่งเหล่านี้เองอาจจะเป็นหนึ่งในความเป็นตัวตนของจิตร ที่ทำให้เขาต้องประสบเคราะห์อยู่เสมอ ตั้งแต่กรณีถูกจับโยนบกในสมัยที่เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนถึงการติดคุกลาดยาวในระยะหลังของชีวิต (พ.ศ. 2503-2505) ตราบจนออกจากคุกจึงเดินทางสู่ไพรพนาหวังรับใช้อุดมการณ์ด้วยการจับปืนเป็นนักปฏิวัติ และไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตลงจากการถูกกระสุนปืน ณ ชายป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509
การเสียชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเพียงสายลมแผ่วๆ สำหรับผู้มีอำนาจในยุคนั้น เขามิได้มีความสำคัญเท่าใดนักกับชนชั้นปกครอง หากแต่การสูญสิ้นชีวิตของเขากลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ปัญญาชนคนหนุ่มสาวในยุคนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับผลงานอันทรงคุณค่าของเขามากยิ่งขึ้น ยิ่งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผลงานของจิตรนับว่าเป็นประดุจหนึ่งในคัมภีร์ทองสำหรับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น อาทิเช่น “ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน” เป็นต้น และ ณ ห้วงเวลาเช่นนั้น “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ก็ปรากฏขึ้นในเรือนใจท่ามกลางคนหนุ่มสาวเรือนแสนผู้ฝันใฝ่สังคมอันงดงาม
การเสียชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเพียงสายลมแผ่วๆ สำหรับผู้มีอำนาจในยุคนั้น เขามิได้มีความสำคัญเท่าใดนักกับชนชั้นปกครอง หากแต่การสูญสิ้นชีวิตของเขากลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ปัญญาชนคนหนุ่มสาวในยุคนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับผลงานอันทรงคุณค่าของเขามากยิ่งขึ้น ยิ่งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผลงานของจิตรนับว่าเป็นประดุจหนึ่งในคัมภีร์ทองสำหรับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น อาทิเช่น “ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน” เป็นต้น และ ณ ห้วงเวลาเช่นนั้น “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ก็ปรากฏขึ้นในเรือนใจท่ามกลางคนหนุ่มสาวเรือนแสนผู้ฝันใฝ่สังคมอันงดงาม
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ประพันธ์เพลงนี้ขึ้น ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว ต่อมาเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องโดยวงคาราวานในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีเรื่องเล่ากล่าวกันว่า ในยุคเผด็จการทรราชครองเมือง นักศึกษาบางส่วนถูกสังหารและบางส่วนถูกจับกุมคุมขังเขาไปอยู่ในคุก ท่าม กลางความท้อแท้ สิ้นหวัง หวาดกลัว เจ็บแค้นระคนปวดร้าว พลันก็มีคนๆหนึ่งส่งเสียงร้อง “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ทำลายความเงียบงันของบรรยากาศในคุก เสียงนักโทษที่ร้องเพลงจากหนึ่งเสียงเพิ่มขึ้นทีละเสียงจนดังกังวานก้องไปทั่วพื้นที่ ดังแทรกเข้าไปสู่จิตวิญญาณของผู้เรียกร้องเสรีภาพและความเป็นธรรม
เนื้อเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา มีอยู่ว่า
“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง”
ในระยะเวลาต่อมา เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา กลายเป็นเพลงปลุกใจให้กับการต่อสู้ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่และความใฝ่ฝันอันแสนงาม ซึ่งหากเราพิจารณากันจริงๆ ก็จะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตรกำลังถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อความศรัทธา กล้าหาญ และไม่ยอมพ่ายแพ้ ของตัวเองในขณะที่เขาอยู่ในคุก จะเห็นได้ว่าความโลดโผนแห่งโชคชะตาของจิตรมิเพียงเป็นคลื่นร้ายที่คอยทำลายเขาในวันที่ตกระกำลำบากเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบททดสอบขนาดของหัวใจของชายหนุ่มที่ไม่เคยเห็นอุปสรรคที่กว้างใหญ่ไปกว่ามดปลวก ความพลิกผันของชีวิตกลับทำให้เขาเย็นชาต่อความทุกข์ยากทั้งปวง มองข้ามสายน้ำเชี่ยวแห่งชะตากรรมอันโหดร้ายไปสู่ฟากฝั่งแห่งความงดงาม ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตของจิตรหาชัยชนะทางสังคมให้กับตัวเองได้ยากเต็มที
บทเพลงนี้จึงเป็นเสมือนการบ่งบอกถึงความศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกทั้งแง่มุมในการมองโลกล้วนเต็มไปด้วยความหวังที่มีให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังเนื้อเพลงในท่อนที่ว่า
“...พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย...”
จิตรเปรียบเปรยปรากฏการณ์ของธรรมชาติกับสภาวะจิตใจของมนุษย์ เขาได้ให้ทัศนะว่าความเป็นไปของคลื่นพายุใดๆจะนำพาความมืดมิดมาบดบังแสงจันทร์มิให้ส่องกระจ่าง ทว่าแสงของดวงดาวแม้มิได้มีขนาดและกำลังแสงที่ยิ่งใหญ่กว่าดวงเดือน แต่กลับยังคงมีแสงของตัวเองส่องประกายระยิบอยู่เบื้องบน เสมือนเป็นการสร้างความหวังและกำลังใจกับมนุษย์เสมอว่า ดวงดาวยังคงกระพริบแสงระยับอยู่แม้แสงเดือนจะเลือนลับหาย จุดนี้จิตรยังเน้นย้ำเขาไปอีกในช่วงสร้อยของเพลงอันทรงพลังว่า
“...ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน...”
เนื้อหาในเพลงช่วงนี้ถือเป็นที่จดจำของผู้คนมากที่สุด หลายครั้งที่ใครก็ตามได้ฟังจนถึงช่วงนี้ของเพลงก็จะรู้สึกปลุกความหยิ่งทะนงอะไรบางอย่างที่มนุษย์พึงมีต่อชะตาชีวิตที่บีบเค้น จิตรได้เย้ยหยันในสรรพสิ่งที่เป็นเสมือนขวากหนามของชีวิต ความทุกข์ยากนานาที่มนุษย์พึงประสบนั้นจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่มนุษย์นั้นก็ยังคงมิได้พรั่นพรึง อีกทั้งยังมิกลัวและไม่เข็ดขยาดต่อสิ่งทั้งปวง ตรงกันข้ามเสียอีกว่า มนุษย์ยังขอท้าทายความทุกข์ยากต่างๆอย่างไม่หลบหลีก เขาได้อุปมาอุปไมยความอหังการของมนุษย์ที่ไม่ยินยอมให้ชะตาชีวิตมากดขี่โดยใช้ธรรมชาติเป็นฉาก บรรยายถึงความมืดมิดที่คลี่คลุมทั้งโค้งท้องฟ้าและดวงเดือน หากแต่แสงของดวงดาวยังคงสว่างกระจ่างย้ำเตือนเย้ยสรรพสิ่งในเอกภพ
ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเป็นไปได้ไหมว่า ความมืดมิดและความทุกข์ยากที่ปรากฏในบทเพลงแท้ที่จริงอาจจะวิเคราะห์ได้สองแง่มุม กล่าวคือ
ในระดับปัจเจกบุคคล ความมืดมิดนี้เป็นทั้งความทุกข์ภายนอกและภายในของแต่ละบุคคล มนุษย์ต้องพานพบนานาสารพันปัญหาของชีวิต ปัญหานั้นมิใช่มีไว้เพื่อเป็นความระทมกับชีวิต แต่ต้องแก้ไขด้วยตัวของเราเอง ประกอบกับต้องไม่หวั่นไหว และยอมรับโชคชะตาอย่างไม่จำนน
แต่หากมองในระดับสังคมแล้ว ความมืดมิดทั้งปวงนั้นก็คือความมืดบอดของสังคมที่ไร้เสรี ภาพทางปัญญา ซึ่งจิตรได้ประพันธ์เพลงนี้ในยุคสมัยที่เขาได้เข้าไปอยู่ในคุก สิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพและอิสรภาพเรียกได้ว่าหาได้น้อยเต็มที การเชื่อมโยงระหว่างเวลาและสถานที่ของผู้ประพันธ์ กับความเป็นไปของยุคสมัยทำให้บทเพลงนี้เต็มไปด้วยบริบทที่ขรึมขลังอยู่ตลอดกาล จุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ นำเนื้อหาและบริบทของของบทเพลงนี้ไปเป็นความหมายในการเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆอยู่เสมอ
เมื่อมองในด้านทำนองของเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา กลับมิได้ปรากฏความเข้มเข็งแบบเพลงเดินแถว (March) แต่กลับเป็นทำนองช้าๆ ทว่าทุกๆเนื้อร้องจะเน้นคำอย่างชัดเจน เพลงค่อยๆดำเนินไปอย่างเนิบๆ แต่พอถึงท่อนสร้อยที่ว่า “...ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ... (จนถึง) ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน...” จะมีการร้องที่ย้ำคำแน่นกว่าในส่วนอื่นๆ ทั้งนี้เป็นการบ่งชี้ประเด็นในสิ่งที่ผู้แต่งและผู้ขับร้องต้องการจะสื่อกับผู้ฟังถึงจุดประสงค์ของเพลง ซึ่งความไม่รุนแรงของทำนองเพลงนี้ทำให้บรรยากาศของเพลงเต็มไปด้วยการปลอบประโลม ให้ความหวัง กำลังใจ ความศรัทธา ระคนกับการปลุกให้ลุกขึ้นต่อต้านโชคชะตาด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ความหวัง ความศรัทธา และความทะนงในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นี้เอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ทรงคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์จีนย้อนยุคที่แสดงถึงความรู้สึกชาตินิยมและศิลปะการต่อสู้ของคนจีน เรื่อง “Ip Man (2008)” ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นอิงชีวประวัติจริงของครูมวย Wing Chun ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาการต่อสู้ให้กับ Bruce Lee ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังกวาดรางวัลถึง 12 รางวัลในงาน Hong Kong Film Awards
ในภาพยนตร์เล่าถึงช่วงทศวรรษที่ 1930s - 1940s อันเป็นระยะเวลาสงคราม Second Sino-Japanese War โดยเล่าถึงบุรุษหนุ่มผู้เชี่ยวชาญมวยกังฟู Wing Chun นาม Ip Man เขาอาศัยอยู่ในเมือง Foshan ซึ่งถือเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโรงเรียนสอนมวยกังฟู เปรียบเสมือนสวรรค์ของเหล่าผู้ต้องการเรียนศิลปะการต่อสู้ เขาเป็นผู้ที่มีฐานะดีและเป็นที่ยกย่องในวงสังคมของเมืองนั้น ครอบครัวของเขามีภรรยาและลูกชายที่ยังเล็ก หลายครั้งที่เหล่านักสู้และครูมวยต่างถิ่นมักมาประลองฝีมือกับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อีกทั้งหวังว่าหากชนะ Ip Man พวกเขาก็จะมีชื่อเสียงขึ้นบ้าง แต่ทุกครั้งที่มีการประลองยุทธ์ Ip Man ก็มักเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ
Ip Man ปรมาจารย์มวย Wing Chun ตัวจริง
เหตุการณ์ก้าวล่วงเข้าสู่ปี 1937 กองทัพญี่ปุ่นได้กรีฑาทัพเข้ามาควบคุมทุกหย่อมหญ้าของเมือง Foshan บ้านของ Ip Man ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึด เขากลายสภาพจากผู้ร่ำรวยไปอาศัยในตึกร้างเล็กๆซอมซ่อ และต้องทำอาชีพเป็นกรรมกรเหมือนกับคนจีนทุกคนในขณะนั้นที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นจับมาทำงานเพื่อแลกอาหารเพียงน้อยนิด ทว่าหนทางสำหรับผู้ต้องการอาหารที่มากกว่าปกติก็พอมี นั้นคือ การไปประลองยุทธ์กับทหารญี่ปุ่นที่ใช้วิชาการต่อสู้ คาราเต้ (Karate) คนจีนคนใดที่ชนะนักคาราเต้จะได้ข้าวสารหนึ่งถุงเป็นรางวัล สำหรับผู้แพ้ถ้าไม่สิ้นชีวิตก็ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส
Ip Man ในภาพยนตร์
ทั้งนี้เนื่องจากผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นชื่อ Miura เป็นผู้ที่มีความชื่นชอบและฝึกศิลปะการต่อสู้คาราเต้อยู่เสมอ การที่เขายื่นข้อเสนอให้นักมวยกังฟูเข้ามาประลองกับเหล่าทหารของตนที่เชี่ยวชาญวิชาคาราเต้ระดับสายดำเนื่องด้วยต้องการเรียนรู้มวยจีน และด้วยอุปนิสัยของเขาประกอบกับฐานะระดับสูงทางกองทัพ ทำให้เขาเป็นบุคคลที่เฉียบขาด เลือดเย็น และน่าพรั่นพรึงที่สุด
Ip Man คนเดียวสู้กับนักคาราเต้สายดำทั้ง 10 คน
วันหนึ่งเมื่อ Ip Man ได้รับข่าวว่าลูกศิษย์และมิตรสหายของเขาพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับ Miura แต่ไม่ยอมจำนน ถึงขนาดสู้จนตัวตายอย่างทรมาน เขาจึงเข้ามาสู่เวทีการประลองด้วยความแค้นและสามารถชนะนักต่อสู้คาราเต้ในครั้งเดียวถึง 10 คนอย่างง่ายดาย ทำให้ Miura สนใจในบุรุษนิรนามชาวจีนผู้นี้เป็นอย่างสูง ถึงกับลงจากระเบียงที่ยืนดูมาที่เวทีประลอง พลันถามว่าคนจีนผู้นี้คือใคร อีกทั้งให้ข้าวถึง 10 ถุงในฐานะที่เป็นผู้ชนะ พร้อมยื่นข้อเสนอว่าหาก Ip Man สอนวิชากังฟูให้กับเขาและทหารในกองทัพญี่ปุ่น พวกเขาก็ให้ความสะดวกสบายทุกอย่าง หากแต่ Ip Man บอกแต่เพียงสั้นๆว่า เขาคือคนจีนคนหนึ่ง แล้วเดินจากไปโดยมิได้แยแสข้าวสารสักถุง ทั้งๆที่วันนั้นเขามีเพียงหม่านโถวเพียงสองก้อนสำหรับสามชีวิตในครอบครัวเท่านั้น
หลังจากวันนั้น Miura เฝ้าฝึกซ้อมคาราเต้อย่างหนักและให้ทหารคนสนิทหาตัว Ip Man ให้มาสอนวิชามวยให้ได้ ฝ่าย Ip Man เห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับครอบครองของตนในอนาคต จึงให้เพื่อนสนิทของเขาช่วยพาครอบครัวเขาไปอยู่ที่ฮ่องกง หลังจากนั้นไม่นานเขาถูกกองทัพทหารญี่ปุ่นจับเข้าคุก โดยที่ Miura ยื่นข้อเสนอว่า หากเขาสอนวิชามวยแล้ว กองทัพญี่ปุ่นจะให้ความสุขสบายครอบครัวของเขา พร้อมทั้งท้าประลองยุทธ์ในที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อทหารคนสนิทเข้ามาในคุกหลังจาก Miura ออกไปแล้ว ก็ได้ยื่นข้อเสนอว่าถ้า Ip Man ชนะเขาจะโดนยิง ดังนั้นทางเลือกสำหรับเขาคือ ต้องเป็นฝ่ายที่แพ้เท่านั้น
ในวันประลองยุทธ์คนจีนจำนวนมากมารอเฝ้าชมอยู่หน้าเวทีการประลอง ทั้งนี้หากฝ่าย Ip Man ชนะก็จะถือเป็นการประกาศศักดิ์ศรีของชาวจีนด้วย และเมื่อทั้งคู่ก้าวขึ้นมาบนเวที การต่อสู้จึงเกิดขึ้นอย่างดุเดือด Miura ใช้วิชาคาราเต้ ส่วน Ip Man ใช้วิชามวย Wing Chun ทั้งคู่ต่างผลัดกันรุกและรับกันอย่างเท่าเทียม แต่ต่อมา Miura ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ลงอย่างง่ายดาย เมื่อการเป็นเช่นนี้ทหารคนสนิท ของ Miura จึงใช้ปืนยิง Ip Man จากข้างหลังล้มลงคาเวที แต่สิ่งที่กองทัพญี่ปุ่นไม่คาดคือ เมื่อ Ip Man ซึ่งเป็นประดุจความหวังของเหล่าชาวจีนต้องล้มลง ฝูงมหาชนชาวจีนที่มาดูการประลองก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นอย่างไม่กลัวตายกลายเป็นจลาจลขึ้น หลังจากนั้น Ip Man ก็ถูกส่งตัวไปรักษาและอพยพไปอยู่ฮ่องกง เปิดสำนักมวย Wing Chun และอาศัยอยู่ที่นั่นตราบสิ้นชีวิต
Ip Manในช่วงสงคราม
Miura ใช้วิชาคาราเต้ต่อสู้กับ Ip Man ในฉากช่วงท้ายของภาพยนตร์
แม้ว่าหลายคนจะคุ้นชินกับการชมภาพยนตร์กังฟูที่มีอยู่มากมาย หลายเรื่องใช้เทคนิคต่างๆให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ มีภาพและฉากที่อลังการมากมายเพียงใด หากแต่เมื่อได้มาชมภาพยนตร์เรื่อง Ip Man (2008) แล้ว จะพบความประทับใจที่ต่างจากภาพยนตร์กังฟูหลายๆเรื่อง
ตลอดทั้งเรื่องเป็นฉากเมือง Foshan ในอดีต ซึ่งผู้สร้างได้เนรมิตขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยภาพถ่ายเก่าๆของ Ip Man การเจาะลึกในการสร้างฉากทำให้เกิดความสมจริงสมจังในเวลาและสถานที่เป็นอย่างมาก ดนตรีประกอบแต่ละฉากเต็มไปด้วยอารมณ์แบบพรรณนา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงกลองมากกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ และมักจะเน้นหนักในฉากการต่อสู้
โทนสีของภาพเป็นลักษณะเอกรงค์ (Monotone) ภาพรวมส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย สีขาว สีเทา และสีดำ โดยเฉพาะสีขาวและดำมักปรากฏอยู่เสมอ ทั้งนี้ผู้สร้างอาจต้องการเปรียบเทียบอะไรบางอย่าง เช่น Miura ใส่ชุดคาราเต้สีขาว Ip Man ใส่ชุดแบบจีนสีดำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามลักษณะกลุ่มโทนดังกล่าวทำให้ขับเน้นโครงเรื่องที่เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม (Tragedy) ได้อย่างดี ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมจะสนุกกับการต่อสู้ที่สมจริงสวยงาม และการที่ผู้สร้างได้เลือก Donnie Yen แสดงเป็น Ip Man ก็นับว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยส่วนตัวเขาเองเกิดในตระกูลครูมวยกังฟู มารดาของเขาเป็นผู้สอนวิชามวยจีนให้ตังแต่เด็ก ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้ที่รู้วิชากังฟูดีพอสมควร ภาพการต่อสู่ที่ออกมาจึงทำให้แต่ละท่วงท่าในฉากมีความงดงามลงตัวอย่างน่าชื่นชม
เนื่องด้วย Ip Man เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง อีกทั้งในยุคก่อนมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการซ้อมมวย Wing Chun ของเขา จึนสันนิษฐานได้ว่าผู้สร้างต้องนำภาพเคลื่อนไหวนี้มาศึกษาท่วงท่ากิริยาของ Ip Man พร้อมกับให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมวย Wing Chun และวิชากังฟูอื่นๆ มาร่วมกันสร้างองค์ประกอบต่างๆในฉากการต่อสู้ ซึ่งนับว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์กังฟูเรื่องหนึ่งที่มีฉากการต่อสู้ที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด
เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบ สิ่งที่ผู้ชมได้สัมผัสคือความไม่ย่อท้อของ Ip Man ต่อความทุกข์ยากรอบกาย ตลอดทั้งเรื่องเราจะไม่เห็นการตัดพ้อต่อชะตาชีวิตของเขาที่เรียกได้ว่าจากเกิดจากฟ้าและล่วงลงสู่ดิน ทั้งนี้เนื่องจากการปูพื้นเนื้อเรื่องในช่วงก่อนสงครามแสดงให้เห็นว่า เขามีฐานะทางสังคมที่ถือว่าเป็นผู้ดีมีชาติตระกูล มีทรัพย์ที่ใช้สอยได้อย่างสุขสบาย มีวิชาความรู้ที่เป็นที่ยกย่อง และเป็นต้นแบบให้กับผู้คนในชุมชน แต่เมื่อเหตุการณ์กลับกัน เขากลับมิได้ปริปากบ่นให้ครอบครัวต้องรู้สึกลำบากแต่อย่างใด ทั้งๆที่เขาต้องลำบากกับการเอาชีวิตรอดไปวันๆ เขายังต้องนึกถึงการดำรงอยู่ของภรรยาและลูกโดยไม่ให้ต้องหิวโหยและลำเค็ญจนเกินไป อีกทั้งต้องคอยเป็นผู้ให้กำลังใจกับครอบครัวตลอดทั้งๆที่ต้องอดทนขมกลืนความทุกข์ยากอยู่เพียงลำพัง ภาพรวมของสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนอุปนิสัยของ Ip Man ตลอดทั้งเรื่องว่า เขาเป็นผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตา ยังคงยืนหยัดในศักดิ์ศรีของตนอย่างทะนงตัว และเนื่องด้วยภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้เอง ทำให้เราได้หวนคำนึงถึงบทเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา อีกครั้ง
สิ่งที่ “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” และ “Ip Man” ได้แสดงออกมา คือ เมื่อใดก็ตามที่ความมืดมิด ความทุกข์ยากลำบากของชีวิต กระทั่งความจลาจลทางปัญญาของสังคม ได้ห่มคลุมไปทั่วทุกพื้นที่แล้ว มนุษย์เราในฐานะปัจเจกบุคคลควรจะทำเช่นไรเพื่อก้าวไปสู่จุดที่แสงสว่างปรากฏ ทั้งเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา และ Ip Man มิได้แสดงออกถึงการตั้งคำถามต่อผู้ฟังและผู้ชม ไม่ได้เป็นผู้สร้างประเด็นใหม่อะไรให้กับผู้เสพ แต่ทั้งสองสื่อกำลังส่งสารถึงผู้คนทุกยุคสมัยในการรู้จักและดำรงอยู่ของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ อีกทั้งเชิญชวนให้ผู้เสพร่วมค้นหาความเป็นตัวเองท่ามกลางกระแสความเป็นไปของโลกธรรม เพราะการที่เราหมุนตัวตนไปตามโลกมากจนเกินไป หรือลื่นไหลไปบนธาราแห่งชะตากรรมด้วยความจำยอมย่อมมิใช่สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหันไปดูสิ่งต่างๆในธรรมชาติจะเห็นว่าสรรพสิ่งย่อมต้องย้อนแย้งกระแสโลกอยู่เสมอ อาทิเช่น ในโลกของปลาก็ไม่เคยมีมัจฉาชนิดใดที่ไม่ว่ายทวนน้ำ เป็นต้น มนุษย์เราก็เฉกเช่นกันหากไร้แรงเสียดทานที่มีต่อโลกบ้าง มีชีวิตอยู่ไปความหมายของลมหายใจคงน้อยเต็มที
ขณะที่เพลงแสงดาวแห่งศรัทธามีทำนองที่ไม่หวือหวาจนเกินอารมณ์ร่วม ไม่เข้มแข็งดังเพลงเดินแถว แต่ทุกห้วงทำนองที่นิ่มนวลกลับเต็มไปด้วยการเน้นคำแต่ละคำอย่างลึกซึ้ง ดื่มด่ำลุ่มลึกไปสู่ก้นบึ้งของหุบเหวแห่งความรู้สึก เฉกเดี่ยวกับวิชามวย Wing Chun ในเรื่อง Ip Man ที่ในยุทธภพกล่าวกันว่าเป็นมวยสตรีเนื่องด้วยผู้คิดค้นเป็นอิตถีเพศ กระทั่งการเคลื่อนไหวไม่ดุดันแบบมวยกังฟูชนิดอื่นดูพลิ้วไหวนุ่มนวล ที่สำคัญยังเป็นมวยประเภทรับมากกว่าจะเป็นฝ่ายรุก ซึ่งหากดูตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่า น้อยเต็มทีที่จะเห็น Ip Man เป็นฝ่ายรุกในการต่อสู้ ทว่าทุกท่วงท่าที่นุ่มนวลนั้น กลับเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างชัดเจน การตอบโต้แต่ละครั้งหนักหน่วงและแม่นยำ คล้ายกับทำนองของเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาที่ทุกคำร้องจะเน้นคำอย่างชัดเจน
และเมื่อเราหันกลับไปดูประวัติจริงของ จิตร ภูมิศักดิ์ และ Ip Man ก็จะเห็นว่าทั้งสองคนเป็นบุคคลร่วมสมัยกัน ในขณะที่จิตรเป็นต้นแบบของปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศไทย Ip Man ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนจีนผู้รักชาติที่ไม่ยอมแพ้แก่กองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน ที่สำคัญทั้งสองเป็นนักต่อสู้กับโชคชะตาอย่างมิเคยพร่ำพรรณนา จิตรใช้ปัญญาและปากกาเป็นอาวุธในการต่อต้านระบอบเผด็จการและใฝ่หาสังคมอุดมคติ Ip Man มีวิชามวยจีนเป็นอาวุธในการต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานประเทศชาติและใฝ่หาอิสรภาพแห่งชาติพันธุ์ ทั้งสองต่างตกอยู่ในวงล้อมของชะตากรรมที่ดูเหมือนว่าจะไม่ปราณี แต่เขาทั้งสองกลับยืนขึ้นท้าทายความทุกข์ยากด้วยขนาดของจิตใจที่ใหญ่กว่าปกติ ทั้งนี้ก็ด้วยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทั้งสองใช้ในการต่อสู่บนเวทีชีวิต นั้นคือสิ่งที่เรียกกันว่า อุดมการณ์
อุดมการณ์ของจิตรวาดหวังในการสร้างสังคมใหม่ตามความคิดของเขา เขาเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นดวงดาว ซึ่งอานุภาพของแสงกระพริบระยิบระยับเหนือความมืดบอดทางปัญญาของสังคม ขณะเดียวกัน Ip Man มีอุดมการณ์ทางชาตินิยมคอยเป็นแรงพลังทางใจที่ทำให้เขาก้าวเข้าไปบนวิถีแห่งการประลองยุทธ์บนเวทีชีวิต พวกเขาทั้งสองมิพียงต่อสู้เพื่อให้ชีวิตของตนรอดพ้น หากแต่ยังอุทิศตนเพื่อองค์รวมของสังคมให้เป็นไปในทางที่ดี อัตลักษณ์ของจิตรที่ผ่านทางบทเพลงและความเป็น Ip Man ในภาพยนตร์ จึงมีความหมายที่ไม่ต่างกันนัก นั้นคือ ความกล้าหาญที่จะเงยหน้าเย้ยฟ้าและท้าปฐพีให้มาขีดลิขิตชีวิตโดยที่ตัวของพวกเขาเองจะไม่ดำเนินตามอย่างยอมจำนน
ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน เรามักเห็นผู้ที่สวมหน้ากากแห่งความกล้าหาญ ต่างลุกขึ้นยืนเรียงหน้าอยู่บนเวทีสังคม ต่างก็อ้างสิทธิความชอบธรรมของตนในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พรรณนาถึงอุดมการณ์ของตนด้วยการยกยอถึงความดีงามที่ควานหาได้แต่เพียงลมปากอันเน่าเหม็น จิตวิญญาณอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ที่มุ่งมันศรัทธาในการสร้างสังคมใหม่ที่งดงาม และความทะนงในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของ Ip Man กลับกลายเป็นวิถีชีวิตอันเพ้อเจ้อ เหลวไหล จนกระทั่งจางหายไปจากสังคมไทยปัจจุบันอันสุดแสนจะมืดมัวทางปัญญา ทุกคนต่างใฝ่หาความสุขสบายส่วนตัวแม้ทั่วทุกหัวระแหงจะเต็มไปด้วยความฉ้อฉลจนกลายเป็นมิจฉาทิฐิ และที่เลวร้ายที่สุดคือ ยอมกระทั่งแลกศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นคน ตลอดจนยอมจำนนกับอำนาจของโชคชะตา กระทำสรรพสิ่งให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น