แต่เมื่อหวนกลับไปสู่ผลงาน ณ ห้วงเวลาระหว่างทศวรรษ 1960s - 1970s ประเด็นพื้นที่ทางศิลปะแบบจารีตได้ถูกท้าทายจากศิลปินที่ทำงานและแสดงผลงานสร้างสรรค์นอกห้องแสดงศิลปะ ความเสื่อมศรัทธาต่อระบอบหอศิลป์ ประกอบกับความฟุ้งเฟ้อของศิลปะสมัยใหม่ที่อิ่มตัวจนมีปัจจัยทางสังคมต่างๆ เข้ามาแทรกแซงพร้อมกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบทุนนิยม (capitalism) ทำให้ศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นต้องหาทางออกแบบใหม่ ทว่าเป็นการเปลี่ยนถ่ายกันระหว่างองค์ความรู้แบบโลกยุคสมัยใหม่ (Modern) กับการหวนไปหาจิตวิญญาณแบบอารยธรรมดั้งเดิม (Primitive) ศิลปินกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์ผลงานที่อิงแอบไปกับภูมิทัศน์ของแต่ละพื้นที่ สำรวจรายละเอียดทางสภาพแวด ล้อมของพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น กระแสลม กระแสน้ำ หรือทัศนวิสัยอื่นๆ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ต้องลงสู่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์จริง สัมผัสกับธรรมชาติอย่างจริงจัง ทำให้เกิดคำนิยามผลงานของศิลปินเหล่านี้ว่า Land Art (หรือEarth Art หรือ Earthworks บางครั้งก็เรียก Environmental Art ทั้งหมดนี้เป็นชื่อที่แต่ละตำราทางศิลปะได้อธิบาย ซึ่งการจะเรียกอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของการตีความว่าจะมองในมุมใด)
Land Art หรือ Earth Art เป็นลักษณะผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น หิน ทราย เป็นต้น ซึ่งมีการใช้ศัพท์เรียกศิลปะประเภทนี้ได้หลากหลาย เช่น Earthworks อันเนื่องจากผลงานในลักษณะแบบนี้นอกจากจะใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติแล้ว ยังมักจะมีโครงสร้างที่ใหญ่ครอบคลุมพื้นที่มหาศาล ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานแนวนี้จะมีหลักการการแสดงออกที่คล้ายกัน คือ
ประการที่หนึ่ง มีการใช้พื้นที่ทางธรรมชาติเป็นบริบทหลักในการทำงาน โดยที่ศิลปินจะเป็นผู้เข้าไปจัดการภูมิทัศน์ จึงทำให้มีการเรียกผลงานประเภทนี้ว่า ภูมิศิลป์
ประการที่สอง วัตถุดิบต่างๆที่จะนำมาสร้างสรรค์ต้องเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ แต่ผลงานที่สร้างต้องมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เป็นการเข้าไปจัดการพื้นที่ โดยศิลปินใช้วัสดุขั้นปฐมภูมิของธรรมชาติมาสร้างเป็นรูปลักษณ์ขึ้นมา (Man made pattern) สิ่งต่างๆที่ศิลปินเอาเข้ามาจัดการ (เช่น หิน ดิน ทราย เป็นต้น) มิได้สื่อถึงสารัตถะของตัวมันเอง แต่กลับเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างมนุษย์ไปสู่ความคิดในการสร้างสรรค์ศิลปะ เปิดประเด็นทางความคิดมากกว่าจะเป็นประเด็นโดยความหมายของวัตถุเดิม
ประการสุดท้าย ศิลปะประเภทนี้ได้รับอิทธิพลทั้งทางรูปแบบและแนวคิดบางอย่างจากศิลปะแบบ อนารยชน (Primitive) อารยธรรมโบราน และผลงานก่อนประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ผลงานศิลปะในอดีตส่วนใหญ่สร้างขึ้นบนพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อส่งสารกับสิ่งที่แต่ละชนเผ่าเชื่อ ซึ่งรูปลักษณ์ของงานในอดีตจะเป็นรูปทรงแบบง่ายๆ (Simple Form) เช่น รูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมและวงกลม สังเกตได้จากปิระมิด (Pyramid) ในอารยธรรมอียิปต์ที่ใช้รูปทรงสามเหลี่ยมเป็นโครงสร้าง หรืออิทธิพลของวัฒนธรรมหินตั้งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยในการสร้างผลงาน Land Art ด้วยเช่นกัน
Land Art เป็นที่นิยมของศิลปินที่รักความท้าทายโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะแนวนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่สร้างผลงานแบบ Minimal Art และ Conceptual Artผสมผสานกันไป แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดและมักถูกกล่าวอ้างอยู่เสมอคือ ผลงานที่ชื่อ Spiral Jetty
ที่มา : Brian Wallis, Land and Environmental Art, (Hong Kong: Phaidon Press Limited, 2005), 59.
Spiral Jetty (ภาพที่ 1) เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงของ Robert Smithson ศิลปินชาวอเมริกัน ผลงานชิ้นนี้สร้างเมื่อเดือนเมษายน ปี 1970 ใช้เวลาสร้าง 6 วัน เขาใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาสร้างผลงาน ประกอบไปด้วย โคลน (mud) ผลึกเกลือ (salt crystals) หินบะซอลท์ (basalt rocks) ดิน (earth) และน้ำ(water) เมื่อมองในมุมสูงผลงานนี้จะเป็นรูปขดก้นหอยทวนเข็มนาฬิกายื่นจากชายฝั่งไปสู่ผืนน้ำทะเลสาบ Great Salt Lakeใกล้กับ Rozel Point (ภาพที่ 2) ใน Utah โดยรูปทรงมีความยาวมีความยาว 1500 ฟุต
ภาพที่ 2 Spiral Jetty มุมมองจาก Rozel Point
ที่มา : Wikipedia, Spiral Jetty, [Online] accessed 17 October 2009. Available from http://th.wikipedia.org/wiki
ในขณะที่เขาสร้างผลงานชิ้นนี้เป็นช่วงแล้งระดับน้ำจะลดลงกว่าปกติ หากแต่บางครั้งในช่วงระดับน้ำเป็นปกติผลงานชิ้นนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ เขาเลือกจุดที่น้ำทะเลมีสีแดงซึ่งปรากฏแบคทีเรียที่สามารถอาศัยในน้ำเค็มได้ (salt-tolerant bacteria) และสาหร่ายที่เจริญเติบโตในสภาพน้ำเค็ม 27% ในบริเวณทางเหนือของทะเลสาบทั้งนี้เกิดจากการตัดขาดจากแหล่งน้ำสะอาดบริสุทธ์หลังจากการถมสร้างทางข้ามน้ำ (Causeway)ที่ Southern Pacific Railroad ในปี 1959.
ภาพที่ 3 Spiral Jetty มองจากมุมสูง
ที่มา : Brian Wallis, Land and Environmental Art, 58.
เมื่อพิจารณากันทางรูปร่างของตัวงานเมื่อมองจากมุมสูง (Bird eye view) (ภาพที่ 3) จะเห็นผลงานชิ้นนี้เป็นรูปขดก้นหอย (Spiral) หมุนทวนเข็มนาฬิกา (counterclockwise) ลักษณะของลายขดก้นหอยนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในศิลปะแบบโบราณทั่วโลก (เช่น ลายแจกันของอารยธรรมกรีก, ลายหม้อดินเผาที่บ้านเชียง, ขดพระเกศาของพระพุทธรูป, ลวดลายประดับในศิลปะจีน เป็นต้น) ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวมีความเป็นสากล มีรูปลักษณ์พื้นฐานง่ายๆที่มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ต่างสัมผัสได้
ในด้านการใช้วัตถุดิบและพื้นที่ จะเห็นว่าศิลปินได้ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาประกอบกันขึ้นเป็นผลงาน อีกทั้งเห็นถึงความคมคายของศิลปินที่ได้เลือกจุดที่เป็นทะเลสาบที่มีน้ำเค็มมากๆ ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุและสาหร่ายที่มีความต่างจากแหล่งน้ำตามปกติจึงทำให้น้ำปรากฏสีแดง อันเนื่องมาจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและทางข้ามน้ำเป็นปัจจัยให้ความสะอาดบริสุทธิ์ของน้ำได้ปรับเปลี่ยนไป เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆในปรากฏการณ์ของน้ำ
ทั้งหมดนี้อาจเป็นไปได้ว่า ศิลปินต้องการนำเสนอผลงานที่แสดงถึงเจตจำนงของความคิดของตนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ซึ่งความเค็มจัดของทะเลสาบและความผันแปรของพื้นที่อันเนื่องจากการสร้างทางข้ามทำให้ที่นี่อาจลดบทบาทหน้าที่บางอย่างของตัวเอง เขาจึงสร้างผลงานโดยใช้สัญลักษณ์สากลง่ายๆ และใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาทางธรรมชาติของพื้นที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของน้ำทะเลบางส่วนให้เป็นสีแดง ตัดกับอีกส่วนที่ถูกกันโดยตัวผลงานที่เป็นสีน้ำเงิน ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะมีความยิ่งใหญ่โดยขนาดของตัวมันเองแล้ว ยังส่งผ่านให้เกิดวาทกรรมทั้งทางศิลปะและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แม้ว่า Spiral Jetty จะเป็นผลงาน Land Art ที่สร้างขึ้นกว่า 3 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่คุณค่าของผลงานชิ้นนี้ก็ไม่เคยเจือจางไปจากแวดวงวิชาการศิลปะ สิ่งนี้เองอาจจะเป็นการส่งผ่านอิทธิพลทางความคิดให้ศิลปินหลากหลายคนทั่วโลกได้สร้างสรรค์และต่อยอดพัฒนาผลงานไปสู่การแสดงออกถึงแนวทางใหม่ๆ ในปี พ.ศ. 2549 (2006) ที่ผ่านมานี้เอง มีศิลปินหนุ่มคนหนึ่งที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ในรายการ คนค้นคน ทางช่องโมเดอร์นไนน์ทีวี (Modern Nine TV) เขาเดินทางล่องลำน้ำยมเป็นเวลา 86 วัน เพื่อสร้างงานศิลปะที่เรียกว่า นิเวศศิลป์ อันเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ เขาได้เดินทางล่องแม่น้ำโขงจากสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นจุดประสบกันของสามประเทศคือ ประเทศไทย ประเทศพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจุดหมายปลายทางคือ มหานทีสี่พันดอน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนลาว-กัมพูชาในแขวงจำปาศักดิ์ หรือที่เรียกกันว่าลาวใต้ ด้วยระยะทางโดยรวม 1,800 กิโลเมตร ใช้เวลา 142 วัน เป็นการเดินทางซึ่งไม่ได้สำรวจล่วงหน้า และได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ จากนั้นเขาจึงเดินทางทำงานศิลปะอีกครั้งในแม่น้ำยม ซึ่งเป็นการสร้างนิเวศศิลป์เป็นครั้งที่สอง
พิน สาเสาร์ คือ ศิลปินหนุ่มที่เดินทางล่องแม่น้ำโขงเพื่อสร้าง นิเวศศิลป์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันกำลังเสื่อมโทรมจากโครงการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมอย่างหนัก โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อผลิตไฟฟ้าคือ เขื่อนมานวาน (Manwan) และ เขื่อนต้าจันซัน (Dachaoshan) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่ใต้เขื่อนเป็นอย่างยิ่ง เช่น บางช่วงเกิดการตื้นเขินไม่สามารถล่องเรือได้ในบางช่วง เป็นต้น ที่สำคัญปัจจุบันกำลังสร้างเขื่อนเซี่ยวหวาน (Xiaowan) ซึ่งจะเสร็จในปี พ.ศ. 2555 โดยมีสันเขื่อนที่สูงมาก คาดกันว่าอาจจะเป็นสันเขื่อนที่สูงที่สุดในโลก และเมื่อถึงวันนั้นจีนก็จะกลายเป็นผู้ควบคุมสายน้ำโขงอย่างแท้
เมื่อมาดูคำที่เขาเรียกศิลปะที่ได้สร้างขึ้นว่า นิเวศศิลป์ ซึ่งไม่ใช่คำคุ้นหูกันในแวดวงศิลปะ เขาได้อธิบายง่ายๆ ไว้ในหนังสือว่า
“การทำงานของผมนั้นเป็นการทำงานศิลปะกับพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งผมเรียกมันว่า นิเวศศิลป์”
แน่นอนว่าหากอ่านเฉพาะคำว่า นิเวศศิลป์ เราอาจจะเข้าใจกันอย่างไม่ถ่องแท้เสียทีเดียว ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะเขาอธิบายสั้นๆ ทว่ากลับเป็นการกว้างเหลือเกินที่จะนำมาสรุปความ แต่ถ้ากลับมาดูผลงานสร้างสรรค์นิเวศศิลป์ของเขา เราจะเข้าใจโดยทีเดียวว่า แท้ที่จริงนั้นเป็นลักษณะการทำงานศิลปะแบบ Land Art เพียงแต่ว่าผลงานของเขามิได้มีขนาดที่กินพื้นที่มโหฬาร เนื่องด้วยปัจจัยทางด้านค่าใช้จ่าย เวลา และสถานที่ ประกอบกับต้องเดินทางล่องไปตามแม่น้ำโขงจึงเป็นการไม่สะดวกนัก หากสร้างผลงานที่ต้องใช้ปัจจัยข้างต้นในจำนวนที่มาก
ลักษณะที่ตรงตามหลักการการสร้างผลงานแบบ Land Art คือ เขาเข้าไปสร้างผลงานศิลปะจากสถานที่จริง เข้าไปสัมผัสและใช้ชีวิตร่วมไปกับสถานที่แต่ละแห่งอย่างจริงจัง อีกทั้งการสร้างสรรค์ก็ใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากแหล่งนั้นๆ แม้หลายครั้งจะนำของที่มิใช่วัสดุจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์ แต่ก็เป็นของซึ่งมีบริบทอยู่ในพื้นที่ เช่น ถังน้ำมัน หรือสิ่งเหลือใช้อื่นๆ ที่สำคัญเขายังสร้างสรรค์ด้วยรูปลักษณ์ง่ายๆ (Simple Form) และรูปทรงที่ลดทอนให้ดูง่ายๆ (Simplify Form) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานอย่างหนึ่งว่า เขาอาจจะได้รับอิทธิพลทางความคิดและรูปแบบการสร้างสรรค์มาจากศิลปะแบบ Land Art หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างคือ ในตอนแรกของรายการคนค้นคนก่อนล่องลำน้ำยม ซึ่งเป็นการเดินทางหลังจากล่องแม่น้ำโขงแล้ว เขาให้สัมภาษณ์กับพิธีกรว่า สิ่งที่เขาเรียกนิเวศศิลป์นั้นแท้จริงเป็นการศิลปะสมัยใหม่ทางโลกตะวันตกที่เรียกว่า Land Art บางครั้งก็เรียก Earthworks หรือ Environmental Art ตรงนี้เองเป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดีว่า เขามีเจตจำนงในการสร้างสรรค์ นิเวศศิลป์ ซึ่งรับอิทธิพลมาจากการสร้างสรรค์แบบ Land Art
ภาพที่ 4 กำเนิดอารยธรรม
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 15.
ผลงานชิ้นแรกของการสร้างนิเวศศิลป์ริมฝั่งโขง ชื่อ “กำเนิดอารยธรรม” (ภาพที่ 4) โดยมีแรงบันดาลใจในวัฒนธรรมหินตั้ง ซึ่งเป็นอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่มากมายแถบภาคอีสานของไทยและดินแดนของลาว วัฒนธรรมหินตั้งนั้นเป็นการรังสรรค์ของบรรพชนเพื่อแสดงอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีบูชาผีฟ้าพญาแถน ต่อมาเมื่อมีพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา ก็ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นใบเสมา เขาต้องการแสดงอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ให้ดินแดนสองฟากแม่น้ำโขงให้รอดพ้นจากหายนภัยในการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง
ผลงานชิ้นนี้ศิลปินได้นำหินซึ่งพบทั่วไปในแถบนั้นมาเรียงกันเป็นเส้นโค้ง จากริมผาถึงชายน้ำ โดยแรงบันดาลใจเรื่องวัฒนธรรมหินตั้งเป็นความคิดแบบศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ การที่เขานำมาสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ กลายเป็นว่าเขาได้ใช้ความเชื่อพื้นถิ่นเองมาเป็นแนวคิดสร้างสรรค์โดยมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ เพื่อแสดงถึงการหวนหาและหวงแหนลำน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันระดับน้ำและความสมบูรณ์ตามริมฝั่งกลับลดลงด้วยผลกระทบจากการพัฒนาโครงการทุนนิยมของประเทศต้นน้ำ
ภาพที่ 5 อารยธรรมสองฝั่งโขง
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 41.
ภาพที่ 6 พิน สาเสาร์ กำลังสร้างผลงานชื่อ อารยธรรมสองฝั่งโขง
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 44.
ผลงานอีกชิ้นที่มีลักษณะเดียวกันคือ “อารยธรรมสองฝั่งโขง” (ภาพที่ 5) ศิลปินได้นำเอาหินที่มีในบริเวณนั้นมาเรียงต่อกัน 2 แถว ยาวล้อไปกับเส้นทางเดินน้ำของแม่น้ำโขง เพื่อสื่อสารถึงวิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขงที่พึ่งพาอาศัยกันอยู่ตลอดเวลา แม้มีสายน้ำผ่าผ่านแต่กลับมิได้มีวิถีแห่งอารยธรรมที่ต่างกัน ตรงกันข้ามเสียอีกว่า ลักษณะเผ่าพันธุ์และภาษากลับคล้ายกันจนเรียกว่าเป็นพวกเดียวกันด้วยซ้ำ
เมื่อมาวิเคราะห์ผลงานทั้งสองชิ้นในรูปแบบทางศิลปะ (Style of Art) จะเห็นว่าทำให้นึกถึงกลิ่นอาย Spiral Jetty ของ Robert Smithson อยู่บ้าง เห็นได้จากการที่พินให้ความสำคัญกับการใช้ลักษณะเส้นในการแสดงออกเป็นหลัก ซึ่ง Spiral Jetty เองก็ใช้เส้นเป็นทัศนธาตุ (Visuals Element)หลักในการแสดงออกเช่นเดียวกัน แม้ว่าเขาจะแสดงชัดว่าได้รับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมโบราณในแถบสองฝั่งแม่น้ำโขง เรื่องการใช้หินในการบอกอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเขาต้องได้ศึกษาผลงานของ Spiral Jetty ของ Smithson ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่าเขาได้ลอกตามแบบ Spiral Jetty ตรงกันข้ามเสียอีกว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะตัว ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า วัฒนธรรมหินตั้งนั้นมิใช่วัฒนธรรมของพื้นถิ่นที่ใดที่หนึ่ง หากแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมของทั่วโลก เพราะหากดูกันอย่างกว้างๆ จะเห็นว่า สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ซึ่งเป็นหินตั้งเป็นวงกลม มีอายุอยู่ราว 2000-1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษเอง ก็มีลักษณะการจัดวางหินเช่นกัน หรือประติมากรรมหินยุคอนารยชนในหมู่เกาะแถบโอเชียนเนียร์ (Oceania) ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้ง Robert Smithson และ พิน สาเสาร์ ต่างก็สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นต้นแบบของตัวเองตามแรงบันดาลใจจากอารยธรรมแห่งอดีตของตน
ผลงานที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ เมื่อเขาเดินทางมาถึง คอนวัว ในเขตประเทศลาว มีภาพสลักเป็นร่องสมัยโบราณจำนวนมากอยู่ตามเพิงผาและหินขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์และการล่าสัตว์ โดยเฉพาะลายสลักที่เป็นรูปขดโค้งคล้ายหางกระรอกนั้น ทำให้เขาประทับใจในสัญลักษณ์ดังกล่าว จึงนำแรงบันดาลใจจากข้างต้นมาสร้างเป็นผลงานขึ้นบนผืนทรายขนาดกว้างริมแม่น้ำโขงบริเวณเดียวกัน
ภาพที่ 7 สัญญะ
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 193.
“สัญญะ” (ภาพที่ 7) เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นโดยเดินไปบนเนินทรายละเอียดทำเป็นเส้นขดเป็นวงหางกระรอก ซึ่งล้อไปกับสัญลักษณ์หางกระรอกที่พบมีความยาวเกือบคืบ แต่เขาสร้างเป็นสัญลักษณ์ใหม่มีความยาวราว 200 เมตร ล้อไปกับภาพสัญลักษณ์เดิม ผลงานชิ้นนี้เป็นการบ่งชี้ถึงการพบสัญลักษณ์เล็กๆหากแต่ตีความได้ว่า อาจจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัของบรรพชนมาตั้งแต่โบราณกาล
วิธีการแสดงออกทางศิลปะชิ้นนี้ เขาใช้สิ่งที่พบเห็นและหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวเป็นต้นคิดต่อยอดจากรูปลักษณ์เดิมกลายเป็นสิ่งใหม่ขึ้นโดยกระบวนการนิเวศศิลป์ของเขา ซึ่งสังเกตแล้วจะเห็นว่าต่างจากผลงานทั้งสองชิ้นข้างต้น (คือ กำเนิดอารยธรรม และ อารยธรรมสองฝั่งโขง) เพราะผลงานทั้งสองชิ้นนั้นใช้แรงบันดาลใจที่มีต่อพื้นที่โดยจินตนาการจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ (วัฒนธรรมหินตั้ง) มาประกอบกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า (แม่น้ำโขง) แต่สำหรับ “สัญญะ” จะเป็นการรับความประทับใจต่อสิ่งที่มีอยู่จริง (ภาพสลักหางกระรอก) แล้วจินตนาการไปสู่การจัดการบนพื้นที่ตรงหน้า (หางกระรอกในจินตนาการของศิลปินไปสู่การสร้างผลงานบนผืนทราย)
ผลงานนิเวศศิลป์ที่ดูจะต่างไปจากผลงานข้างต้นทั้งสาม สร้างขึ้นเมื่อล่องตามลำน้ำโขงและหยุดอยู่แถบจังหวัดหนองคาย ซึ่งริมแม่น้ำโขงแถบนี้ถูกปกคลุมไปด้วยสีเขียวเข้มของต้นและจุดสีแดงที่เป็นผลของมะเขือเทศ เหล่าชาวบ้านผู้เป็นเกษตรกรต่างกำลังเก็บผลผลิตนี้อย่างขะมักเขม้น พื้นที่ในส่วนนี้เดิมเคยเป็นพื้นที่ของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทยที่หยิบอาวุธขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ หรืออาจเรียกได้ว่าเคยเป็นพื้นที่สีแดง ในสมัยที่ความขัดแย้งรุนแรงนั้นผู้คนแถบนี้เต็มไปด้วยความหวาดระแวงกันและกัน ต่างคนต่างสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่ตนเชื่อ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดี โดยอาศัยความสมบูรณ์ของผืนดินและแม่น้ำโขงเป็นฐานที่มั่น จากสีแดงทางการเมืองกลายเป็นสีแดงของมะเขือเทศ
ภาพที่ 8 แดง
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 171.
จากแรงบันดาลใจนี้เอง เขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อ “แดง” (ภาพที่ 8) โดยการยืมตะกร้าสีแดงที่ใส่ผลมะเขือเทศที่มีผลเต็มตะกร้ามาเรียงกันเป็นแนวยาว ทว่าไม่ใช่เส้นตรงแบบไม้บรรทัด แต่เป็นเส้นอิสระเสมือนชีวิตของเกษตรกรและผู้คนแถบนี้ ที่มีความสัมพันธ์กับนิยามของคำว่าสีแดงที่ต่างยุคสมัย ความแตกต่างของผลงานชิ้นนี้คือมิได้ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างเดียวแต่ใช้วัสดุที่มนุษย์ผลิตขึ้น ทว่าเป็นวัสดุที่มีความเกี่ยวโยงกันกับพื้นที่ ที่พิเศษกว่านั้นอีกคือ ความหมายของวัตถุ (ตะกร้า) นั้นยังสื่อถึงเกษตรกรในพื้นที่ด้วย เนื่องจากเป็นเป็นวัตถุที่ผู้คนบนพื้นที่นั้นใช้ประกอบอาชีพเป็นประจำ กลายเป็นสิ่งที่กลมกลืนไปกับบริบทของพื้นที่นั้นด้วยเช่นกัน
หากจะวิเคราะห์ผลงานนิเวศศิลป์ของพิน สาเสาร์ในทางศิลปะแล้ว จะพบว่า
ประการที่หนึ่ง พินได้รับแรงบันดาลใจในรูปแบบโดยร่วมการสร้างสรรค์มาจาก Land Art และเป็นไปได้ทีเดียวว่าผลงาน Spiral Jetty ก็อาจจะเป็นหนึ่งในแรงดลใจที่สำคัญที่ทำให้เขาปรารถนาสร้างนิเวศศิลป์ขึ้น
ประการที่สอง นอกจากแรงบันดาลใจจาก Land Art แล้ว เขายังผสมผสานการสร้างสรรค์ที่มีแรงบันดาลใจจากศิลปะก่อนประวัติศาสตร์มาใช้ทั้งในด้านแนวคิดและรูปแบบการแสดงออก
ประการที่สาม เขาใช้วัตถุดิบทั้งจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นที่อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ มาสร้างเป็นผลงาน นิเวศศิลป์ (เช่น ผลงานที่ชื่อ “แดง” ที่ใช้ตะกร้าผลไม้มาสร้างเป็นงานร่วมกับผลมะเขือเทศด้วย)
ประการที่สี่ ผลงานนิเวศศิลป์ของเขามักสร้างจากรูปร่างและรูปทรงง่ายๆ โดยเฉพาะลักษณะการใช้เส้น มักเป็นทัศนธาตุประเภทที่พบอยู่มากในผลงานของเขา
ประการสุดท้าย หลังจากที่สร้างผลงานเสร็จมีการถ่ายภาพนิ่ง (Photo) และภาพเคลื่อนไหว (Moving Picture-Video Document Record) ซึ่งเป็นสื่อที่บันทึกผลงานศิลปะ ทั้งสองอย่างนี้มิได้เป็นผลงานศิลปะ ดังนั้นผู้ดูจึงมีโอกาสดูเพียงภาพบันทึกเท่านั้นไม่สามารถดูงานจริงได้ด้วยเงื่อนไขต่างๆของเวลาและสถานที่ (Time-Space)
หลังจากการเดินทางล่องแม่น้ำโขงและการสร้างนิเวศศิลป์สิ้นสุดโดยใช้เวลา 286 วัน พินได้นำภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกทั้งหมดตลอดการเดินทาง มาจัดแสดงนิทรรศการที่ Hof Art Gallery ย่านรัชดาภิเษก ทั้งนี้เขามิได้ใช้พื้นที่หอศิลป์เป็นการแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะ แต่เป็นการแสดงบทและภาพที่บันทึกผลงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้น เนื่องจากผลงานได้ประทับอยู่แต่ละพื้นที่ที่เดินทางผ่านและถูกลบเลือนหายไปกับกาลเวลา ผู้ชมนิทรรศการจึงเห็นเพียงภาพบันทึกเท่านั้น
การเปิดตัวสู่สังคมครั้งนี้พินย่อมพร้อมรับคำถามอย่างมากมายว่า นิเวศศิลป์คืออะไร และเขากำลังทำอะไรกันแน่ เมื่อคำถามเกิดขึ้นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่สื่อทั้งหลายเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาสร้างขึ้น ผู้คนเริ่มรู้จักเขาบ้าง และเกิดการโต้เถียงกันในทางศิลปะขึ้นว่าเป็นหรือไม่เป็นงานศิลปะ หากแต่ผลกระทบที่สำคัญคือ มีการพูดถึงระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขงและพื้นที่ริมชายฝั่ง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการถ่ายทำรายการ คนค้นคน ชื่อตอนว่า นิเวศศิลป์ พิน สาเสาร์ (ล่องลำน้ำยมเป็นเวลา 86 วันสร้างนิเวศศิลป์) เพื่อตอบคำถามกับสังคมถึงสิ่งที่เขาทำ เกิดการพูดคุยกันขึ้นในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และนั้นอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ตัวของเขาเองต้องการ คือ เป็นกระบอกเสียงให้กับธรรมชาติผ่านผลงานศิลปะที่เขาสร้างสรรค์ด้วยชีวิตและประสบการณ์โดยตรงที่เรียกว่า นิเวศศิลป์.
*หมายเหตุ
1. นิเวศศิลป์ พิน สาเสาร์ เป็นตอนหนึ่งของรายการ “คนค้นคน” โดยทีวีบูรพา ออกอากาศเวลาสี่ทุ่มทุกวัน
อังคาร ตลอดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551ช่องโมเดอร์นไนน์ทีวี ติดตามย้อนหลังได้ในเว็บไซด์
http://hiptv.mcot.net/player/hipPlayer.php?id=16359
2. รู้จักผลงานนิเวศศิลป์ ของ พิน สาเสาร์ มากขึ้นในหนังสือ
2.1 พิน สาเสาร์. 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก.กรุงเทพฯ: แพรว
สำนักพิมพ์, 2551.
2.2 พิน สาเสาร์. 86 วัน นิเวศศิลป์แม่น้ำยม. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2552.
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
พิน สาเสาร์. 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก.กรุงเทพฯ: แพรว, 2551.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 .กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545.
ภาษาอังกฤษ
Brian Wallis. Land and Environmental Art. Hong Kong: Phaidon Press Limited, 2005.
Ian Chilvers. Art and Artists. 2nd Edition. New York: Oxford, 1996. Ldward Lucie- Smith. Art Terms. London: Thames and Hudson, 1980.
ข้อมูลจาก World Wide Web
รายการคนค้นคน, นิเวศน์ศิลป์ พิน สาเสาร์ . [Online] Accessed 19 October 2009. Available from
http://hiptv.mcot.net/player/hipPlayer.php?id=16359
Wikipedia, Spiral Jetty. [Online] Accessed 17 October 2009. Available from
http://th.wikipedia.org/wiki
สุริยะ ฉายะเจริญ (2552)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น