วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ธงชาติไทยในงานจิตรกรรมของประเทือง เอมเจริญ

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (jumpsuri@hotmail.com)
* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ตามหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิตเรื่อง “ธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย”

                 ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ก็เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่มีผลงานศิลปะในยุคแรก ๆ อยู่ในกลุ่ม ศิลปะเพื่อชีวิต ซึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เขาได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ดังกล่าวชื่อ “บ้ารักชาติ” ขนาด 154 x 137 เซนติเมตรสร้างขึ้นปลายปีพ.ศ. 2519
 

“บ้ารักชาติ” สีน้ำมัน ขนาด 154 x 137 ซม. (2519)
ที่มา  :   ประเทือง เอมเจริญ, จิตวิญญาณศิลปะ : คัดสรรผลงานจิตรกรรมระหว่างปี พ.ศ. 2506-2548
(กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2548), 47.
                 ผลงานชิ้นนี้ของประเทืองปรากฏแถบสีธงชาติไทยในส่วนพื้นหลังของภาพ เป็นเสมือนริ้วแสงส่องมาเป็นสีธงชาติไทย ซึ่งตีความได้ไม่ย่ากว่าศิลปินต้องการสื่อถึงธงชาติไทยอันโยงไปถึงชาติไทย เมื่อรวมกับสัญลักษณ์หัวกะโหลก มือ มีด ลูกระเบิด และรูปร่างของตัวประหลาดทำให้สวามารถตีความถึงสภาพความเลวร้าย ความอัปยศ กลิ่นอายของความสูญเสีย และความตายที่ปรากฏขึ้นภายใต้บริบทของชาตินิยมในสังคมไทย
 
“รัฐธรรมนูญ” สีน้ำมัน ขนาด 80 x 70 ซม. (2541)
ที่มา  :   ประเทือง เอมเจริญ, จิตวิญญาณศิลปะ : คัดสรรผลงานจิตรกรรมระหว่างปี พ.ศ. 2506-2548
(กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2548), 178.
                 ในปี พ.ศ. 2541 ประเทืองได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมสีผ้าใบชิ้นหนึ่งที่ปรากฏธงชาติไทยเป็นส่วนประกอบหนึ่งในภาพ ผลงานมีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” ขนาด 80 x 70 เซนติเมตร ภาพริ้วธงชาติไทยพาดผ่านบนพานรัฐธรรมนูญอันเป็นองค์ประกอบหลักของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญในสังคมไทย และในครึ่งล่างของภาพที่เป็นส่วนพื้นหลังก็ยังปรากฏรูปลักษณ์ธงชาติไทยที่ขมุกขมัว มีรูทะลุพรุนทั่วไปทั้งผืน ผลงานชิ้นนี้ศิลปินสะท้อนถึงการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี พ.ศ. 2540 ที่ต้องผ่านความยากลำบากในการต่อสู้ เรียกร้องและสูญเสียสิ่งต่าง ๆ ในประเทศไทยมากมายกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
                 ธงชาติไทยที่ขมุกขมัวและเป็นรูพรุนขาดวิ่นในภาพทั้งสองตำแหน่ง ไม่เพียงสื่อถึงความเป็นชาติไทยเท่านั้น หากแต่ด้านหนึ่งยังหมายถึงชีวิตของวีรชนในเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองอันนับครั้งไม่ถ้วนที่ยอมพลีเพื่อแลกกับความเป็นธรรมและความเป็นชาติที่มีอธิปไตยเป็นของคนทั้งชาติอย่างแท้จริง
             ผลงานจิตรกรรม บ้ารักชาติและ รัฐธรรมนูญ ของ ประเทือง เอมเจริญ ได้เน้นการสื่อความหมายด้วยการใช้สัญลักษณ์ของสิ่งที่ชินตาไม่ว่าจะเป็นหัวกะโหลก ร่างกายมนุษย์ พานรัฐธรรมนูญอันเป็นส่วนประกอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และธงชาติไทย มาประกอบเข้ากัน ซึ่งการจัดองค์ประกอบในภาพนั้น เน้นกลุ่มของรูปทรงกลางภาพเป็นส่วนสำคัญ การจัดวางส่วนต่าง ๆ มีเจตจำนงถึงความสมบูรณ์ในการจัดวางทัศนธาตุส่วนต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด
             ประเทือง เอมเจริญใช้สัญลักษณ์ธงชาติไทยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนเนื้อหาผลงานให้มีความเชื่อมโยงกับบริบทบทชาตินิยมไทย โดยเฉพาะผลงานจิตรกรรมบ้ารักชาติ ที่มีทั้งรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหาที่สะท้อนถึงผลเสียอันเกิดจากชาตินิยมที่รุนแรงจนนำไปสู่การสูญเสีย ซึ่งในกรณีนี้ศิลปินหมายถึงเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและผู้ชุมนุมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ธงชาติจึงนำไปสู่ความหมายประสมระหว่างชาตินิยมและความเคลื่อนไหวทางการเมือง
                      ในขณะที่ รัฐธรรมนูญ เป็นผลงานที่ศิลปินจงใจนำเสนอเพื่อสะท้อนความเคลื่อน ไหวทางการเมืองภาคประชาชนเป็นสำคัญ ในกรณีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากกรณีเหตุการณ์จลาจลในเดือนพฤษภาคม 2535 อีกด้วย ดังนั้นธงชาติที่ปรากฏจึงเป็นการแสดงสัญญะของชาติไทยโดยตรงอันเชื่อมโยงกับบทบาททางการเมืองของธงชาติไทยเองด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น