วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ว่าด้วยการชม Thailand Biennale Korat 2021

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (Ph.D, MFA, BFA)

jumpsuri@gmail.com


เทศกาลศิลปะนานาชาติ ณ จ.นครราชสีมา ในชื่อ “Thailand Biennale Korat 2021” ได้นำผลงานศิลปะ (ทัศนศิลป์) ในรูปแบบอ้างอิงกับการติดตั้งกับพื้นที่ (Site Specific) มาจัดแสดงโดยศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติหลากหลายประเทศในสถานที่ต่าง ๆ ที่หลากหลาย อันเป็นความท้าทายของการจัดการศิลปะทั้งในด้านบริบทของพื้นที่ สถานที่ ความเชื่อ ตำนาน วัฒนธรรม และความเป็นพื้นถิ่นที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว

Thailand Biennale Korat 2021 เห็นถึงความพยายามใช้งานศิลปะมาล้อเล่นและล้อเลียนไปกับพื้นที่และสถานที่ต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด บางผลงานจึงดูคล้ายกับกลมกลืน บางผลงานก็กลับดูอิหลักอิเหลื่อ และบางผลงานดูคล้ายกับไม่อาจเข้ากับบริบทใด ๆ ได้เลย ผลทางผัสสะหรือการรับรู้ผ่านอายตยะของผู้ชม (การเห็น, การได้ยิน, การรับกลิ่น, การรับรส, การสัมผัสทางกาย) จึงกลายเป็นความท้าทายที่อาจไม่ควรมองข้าม เพราะความหมายที่ดูจะกระจัดกระจายในผลงานศิลปะในแต่ละสถานที่แต่ละสถานที่พื้นที่นั้น กลับทำให้ความโดดเด่นอยู่ที่ผู้ชมเน้นพิจารณาในด้านของพื้นที่และสถานที่เสียมากกว่าความงามและความหมายเฉพาะชิ้นงาน มันจึงคล้ายกับโจทย์ที่วางเอาไว้และคำตอบกลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งแปลกอะไร เพราะถ้าเชื่อตามแนวคิดแบบ Roland Barthe ก็นับว่าผู้ชม/ผู้อ่านมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะตีความที่ไกลกว่าผู้สร้างจะกำหนด 

ศิลปะในบางชิ้นจึงคล้ายสิ่งแปลกปลอมที่อาจดูไม่สอดคล้องกับพื้นที่และสถานที่เท่าใดนัก แต่ความแปลกปลอมนั่น กลับกลายเป็นความน่าละเล่นในความคิดและน่าค้นหาสาระที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาพ (วัตถุ) ที่ปรากฏอยู่เบื้องหา

ความหมายจากภาพ (วัตถุ) ศิลปะจึงอาจถูกละเลยความสนใจจนกลายเป็นสภาพการรับรู้แบบ “อิหยังวะ” เข้ามาแทนที่ ความ “อิหยังวะ” คือ การรับรู้จากสิ่งแปลกปลอมที่อาจนำไปสู่การงงงวยชวนฉงน ซึ่งด้านหนึ่งมันยิ่งเร้าให้เกิดความน่าสนใจมากกว่าความเข้าใจไปเสียทั้งหมด แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะดูเป็นการสื่อสารที่ไม่ได้แยแสภววิสัยมากไปกว่าอัตวิสัย และนั่นยิ่งทำให้การตีความผลงานสามารถกระจัดกระจายหลากหลายตามประสบการณ์ของผู้ดูแต่ละคน

ความ “อิหยังวะ” จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นความอิหลักอิเหลื่อ ลักลั่น และย้อนแย้งในตัวเอง ระหว่างความเป็นพื้นถิ่นเดิมของพื้นที่และผู้คนกับสภาวะความเป็นสากลที่พยายามจะสร้างขึ้นด้วยการนำผลงานของศิลปินนานาชาติมาติดตั้งจัดแสดง 

ซึ่งเอาเข้าจริงการจัดการศิลปะในครั้งนี้ไม่ได้ต่างกับหลายครั้งที่เป็นความพยายามของศิลปิน ภัณฑารักษ์ และผู้จัดฯ นิทรรศการหรือเทศกาลศิลปะนานาชาติที่มักนำเสนอความน่าฉงบของรูปแบบและเนื้อหาที่ดูราวกับห่างไกลจากชีวิตจริงของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่หนึ่ง ๆ เพื่อนำเสนอเนื้อหาสาระบางอย่างที่แตะต้องกับความเป็นพื้นที่ สถานที่ หรือแม้แต่มิติทางความเชื่อและวัฒนธรรม ณ ที่นั้น ๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามอยู่กลาย ๆ (โดยไม่จำเป็นต้องเสนอคำตอบแต่อย่างใด)

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ศิลปะที่นำมาจัดแสดงจึงแทบเรียกได้ว่าเป็นความแปลกปลอมกับพื้นที่และสถานที่นั้น ๆ โดยปริยาย เพียงแต่สร้างนิยามบางอย่างลงไป เพื่อเป็นการสถาปนาจุดสนใจเฉพาะที่เฉพาะเวลาขึ้นใหม่ (ดังที่ว่าด้วยเรื่องกาละ-เทศะ/ time-space) โดยมีเป้าหมายจัดแสดงที่ทั้งซ่อนเร้นและเปิดเผยผ่านการเชื้อชวนด้วยสำเนียงที่แปร่งเพี้ยนว่า “ศิลปะร่วมสมัย” ซึ่งชาวบ้านร้านตลาดอาจพากันฉงนอยู่ไม่น้อย แต่นั่นก็เป็นความปกติของกระแสความเป็นร่วมสมัย (ซึ่งใช่หรือไม่ ก็ค่อยว่ากันไปตามแต่กรณี) 

  

แต่ในด้านหนึ่งก็คงเดากันไม่ยากว่า Thailand Biennale Korat 2021 อาจมีวัตถุประสงค์ทั้งในด้านการท่องเที่ยวที่เด่นชัดท่ามกลางบรรยากาศอันซบเซาของบ้านเมืองภายใต้สถานการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เรียกได้ว่าทำลายล้างวิถีชีวิตที่คุ้นชินไปสู่วิถีชีวิตแบบที่เชื่อว่าเป็นวิถีแบบใหม่ (New Normal) โดยหากมองในบริบทดังกล่าวนี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้งานศิลปะที่นำมาติดตั้งจัดแสดงนั้นเป็นวัตถุที่เร่งเร้าให้คนอยากไปค้นพบตามจุดต่าง ๆ ไม่ต่างจากการเก็บตัวละครจาก Application Pokémon GO (mobile game) หรืออาจเรียกได้ว่า ผู้ชมต้องเคลื่อนย้ายไปตามพื้นที่และสถานที่ต่าง ๆ ที่พยายามติดตั้งผลงานศิลปะแบบกระจายตามพื้นที่ที่เป็นเสมือนสถานที่เด่น ๆ (landmark) ของ จ.นครราชสีมา เพื่อรับประสบการณ์จากการ “ดู” (seeing) ซึ่งความเข้าใจในผลงานอาจไม่สำคัญเท่ากับพอใจในพื้นที่ที่ปรากฏตรงหน้าและความ “อิหยังวะ” ของงานศิลปะคือความน่าสนใจที่ผู้ชมเองต้องคิดเองว่าจะได้รับสารอะไรจากสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า

Thailand Biennale Korat 2021 จึงกลายเป็นความท้าทายที่จะนำเสนอสาระอันหลากหลายบริบทแก่สาธารณชนไม่น้อย แม้มันจะถูกนำเสนอในสื่อโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ หลากหลายที่ประโคมใส่ผู้รับสารอยู่มากก็ตามที มันคงเป็นโจทย์ไม่ง่ายนักที่จะทำให้เกิดความสมบูรณ์ไปเสียทุกอย่าง (เพราะในความเป็นปกติแล้ว ความไม่สมบูรณ์คือคุณสมบัติสำคัญของความเป็นมนุษย์) แต่ทั้งนี้เอง ผู้เกี่ยวข้องอาจต้องนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อพัฒนากระแสธารของความเป็นร่วมสมัยผ่านงานศิลปะที่หลากหลายให้เกิดประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในอนาคตให้ได้อย่างชัดเจนขึ้น

แต่ไม่มากก็น้อย Thailand Biennale Korat 2021 ก็ยังพอเห็นความพยายามให้เกิดปรากฏการณ์ศิลปะในบ้านเมืองของเราอยู่ไม่น้อย และอาจนับเป็นแง่ดีที่มากกว่าข้อเสีย เพียงแต่ว่า แนวทางการจัดเทศกาลศิลปะนานาชาติของบ้านเราในอนาคตเล่า จะเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้คงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป 






ติดตามThailand Biennale Korat 202 ได้ที่ https://www.thailandbiennale.org/