วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

จิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็ค: โลกอัตวิสัยของจิตรกร: โลกจิตรกรรมของสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)


ศิลปะแบบแอ็บสแตร็ค (Abstract Art) เป็นงานศิลปะที่ตัดสินคุณค่าในการเล่าเรื่อง (narrative) ได้ยากยิ่ง คุณลักษณะของผลงานศิลปะประเภทนี้มักเป็นความพอดีในการแสดงออกของศิลปินในชุดรหัสเชิงสุนทรียะ (aesthetic code)ที่มีสัญญะ (sign) อันเป็นอัตวิสัย (subjective) เป็นส่วนใหญ่ หากแต่เมื่อเลือกในกรณีของงานจิตรกรรมประเภทนี้แล้วก็ย่อมต้องกล่าวเพิ่มเติมไปว่าทัศนธาตุ (visual element) ที่ปรากฏในผลงานล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การไขความลับของความงามที่อยู่ภายใต้รูปลักษณ์ที่ผู้ดูอาจงุนงงสงสัยมากกว่าความเข้าใจที่กระจ่างชัด
งานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็ค (Abstract Painting) หรือเรียกว่าจิตรกรรมนามธรรมถือเป็นแนวทางศิลปะที่สำคัญในศตวรรษมี่ 20 โดยเจริญถึงขีดสุดในฐานะของความเป็นตัวแทนยุคสมัยใหม่ (Modernity) ที่ปักหมุด ณ สหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อศิลปะแนวแอ็บสแตร็คเอ็กเพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism) หรือจิตรกรรมนามธรรมสำแดงอารมณ์ คัลเลอร์ฟิลด์เพ้นติ้ง (Color Field Painting) หรือจิตรกรรมสนามสี และฮาร์ดเอ็จเพ้นติ้ง (Hard-Edge Painting) หรือจิตรกรรมขอบคม ซึ่งการเจริญเติบโตของศิลปะในแนวทางที่เป็นทำนองแบบนามธรรมนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยอันหลากหลาย โดยประการสำคัญคือการที่งานจิตรกรรมก้าวไปสู่จุดสูงสุดของรูปธรรมที่ไม่สามารถนำพาสังคมแบบสมัยใหม่ไปสู่ความกระจ่างชัด ในขณะที่ภาวะของความเป็นปัจเจก (individual) ของศิลปินที่เติบโตขึ้นในศตวรรษที่ 20 ได้นำพาให้พวกเขาละทิ้งการสื่อความหมายของรูปลักษณ์สามัญและละทิ้งการแทนความหมายใดๆ ไปสู่ความงามอันแท้จริงของส่วนย่อยที่สุดในงานจิตรกรรม นั่นคือทัศนธาตุ  (visual element) หรือธาตุที่ปรากฏขึ้นเป็นภาพที่สัมผัสด้วยการมองเห็น เพื่อให้แสดงให้เห็นถึงความจริงแท้ที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยรูปแทนความ (visual representation) ที่ปรากฏเป็นภาพ หรืออาจจะกล่าวว่า “รูปที่ไม่แทนความหมายใดๆ มันย่อมแทนความหมายของตัวมันเองและนั่นคือความบริสุทธิ์ขั้นสูงในฐานะของงานจิตรกรรม”
ลักษณะที่สำคัญของจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็ค คือ การนำเสนอรูปลักษณ์ของทัศนธาตุที่เกิดจากการกระทำบางอย่างของศิลปินที่กระทำบนพื้นที่ว่างที่เตรียมไว้เพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกของตัวเอง ร่องรอยที่ปรากฏอันเกิดจากการระบาย ปาด ป้าย หยด หยอด สะบัด สลัด หรือกระทำการใดๆ ด้วยสีหรือวัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้ปรากฏรูปลักษณ์ของร่องรอยบางอย่างบนพื้นที่ว่าง ซึ่งศิลปินเองก็มีเจตจำนงที่จะกระทำการสิ่งนั้นๆ ด้วยเจตนาอย่างเด่นชัดหาได้เป็นความบังเอิญไม่ ภาพที่ปรากฏขึ้นอาจไม่แสดงความหมายใดๆ เลย และอาจจะไม่แทนค่าความหมายของวัตถุใดๆ ที่สัมผัสได้ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยตาได้ แต่เป็นภาพจิตรกรรมที่มีเจตจำนงที่จะการสื่อแทนความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่ศิลปินต้องการอรรถาธิบายต่อผู้ดูโดยไม่จำเป็นต้องบรรยายเชิงถ้อยคำมากกว่าแสดงด้วยภาพ ซึ่งนั่นอาจนำมาซึ่งปัญหาการเข้าถึงคุณค่าเชิงสุนทรียะที่อาจเป็นการตั้งคำถามต่อผลงานชิ้นนั้นๆ ว่า “อะไรคือมาตรฐานที่จะวัดคุณค่าของผลงานเช่นนี้ได้”
ความเข้าใจในคุณค่าของจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คถือเป็นที่สิ่งเต็มไปด้วยความลึกลับที่ปราศจากการค้นพบด้วยวัตถุวิสัย (objectivity) การอธิบายจิตรกรรมประเภทนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ชมเกิดความไม่ลงรอยระหว่างภาพ (image) กับคำ (word) ทั้งนี้เพราะจินตภาพของศิลปินที่เกิดขึ้นในญาณปัญญาของตัวเองนั้นมีความเฉพาะตัวจนไม่อาจอธิบายเป็นถ้อยความได้ดีไปกว่าการแสดงออกมาผ่านงานศิลปะ หากแต่งานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คเป็นศิลปะเชิงอัตวิสัย ผู้ดูหรือผู้รับสารสามารถตีความได้อย่างหลากหลายมากกว่าเจาะจงความหมายที่ถูกตีกรอบโดยศิลปินในฐานะของผู้สร้างสาร (message) เพราะฉะนั้นผู้ดูจึงสามารถสถาปนาความหมายของตนเองได้อย่างเสรีโดยสามารถคิดหรือจินตนาการเกินกว่าที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาได้ ผู้ดูไม่เพียงเป็นผู้แสวงหาความหมายและรับรสทางสุนทรียะโดยปราศจากกรงขังในนามของการตีความหมายเท่านั้น หากแต่ศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานชิ้นนั้นๆ เองก็มิอาจมีสิทธิ์ในการชี้ชัดถึงความชัดเจนของผลงานมากกว่าการอธิบายอย่างสังเขปเพื่อเป็นดุจป้ายบอกทางแก่ผู้ดู เพราะหากศิลปินเป็นผู้อธิบายความหมายต่างๆ ในผลงานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คนี้แล้ว การชื่นชมผลงานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คที่เป็นเชิงอัตวสัยก็ย่อมเสียอรรถรสที่วิเศษสุดไปเสียหมดสิ้น
ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ข้างต้น ก็เพื่อให้เห็นลักษณะและความเคลื่อนไหวโดยรวมของงานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คเพื่อสามารถที่จะวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมของสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ผู้ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานในแบบนามธรรมหรือจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คมาโดยตลอดหลายสิบปี ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดย่อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบดังกล่าวโดยมิได้พึ่งพิงความนิยมของยุคสมัย ผลงานสร้างสรรค์ของสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์  จึงย่อมแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางจิตรกรรมแบบเฉพาะในระดับปรีชาญาณที่มีความโดดเด่นไม่น้อยหน้าศิลปินไทยแนวจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คคนอื่นๆ ที่ปรากฏในรอบสามสิบกว่าปี


ผลงานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คของสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ในนิทรรศการเดี่ยว "Works on Paper & Watercolours" ณ หอศิลปวังที่จัดแสดงขึ้นระหว่างวันที่ 8 กรกฏาคม - 7 สิงหาคม 2559 นี้ ศิลปินได้นำผลงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์บนกระดาษขนาดต่างๆ นำมาจัดแสดงสู่สาธารณะ โดยมีรูปแบบทั้งนามธรรมและ กึ่งนามธรรมปะปนกัน โดยผู้ดูสามารถที่จะทำความเข้าใจภาพรวมของผลงานทั้งหมดได้อย่างไม่ยากเท่าใดนัก ทั้งนี้ภาพนิทรรศการยังมีภาพสีน้ำบนกระดาษที่นำเนื้อหาที่ได้แรงบันดาลใจจากทิวทัศน์มานำเสนอควบคู่ไปกับผลงานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คด้วย ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ทำให้ผู้ดูเองพอจะเห็นภาพรวมได้ว่า แรงบันดาลใจสำคัญของศิลปินนั้นก็คือสีสันที่เกิดขึ้นในทิวทัศน์ทางธรรมชาติ ศิลปินเลือกเอาทิวทัศน์ธรรมชาติมาวิเคราะห์ด้วยกระบวนวิธีคิดแบบคลี่คลายรูปร่าง (shape) รูปทรง (form) ทางธรรมชาติโดยลดทอนไปจนถึงรูปลักษณ์ขั้นปฐมภูมิของทัศนธาตุ จากนั้นจึงสังเคราะห์โดยนำทัศนธาตุที่สังเคราะห์ออกมานั้นมาเรียงร้อยขึ้นใหม่เป็นผลงานจิตรกรรมขึ้น   
จิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คในชุดนี้ของสมศักดิ์ได้รับแรงบันดาลใจจาธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของทิวทัศน์และนำไปสู่การคิดค้นแนวทางการนำเสนอผลงานอย่างเป็นระบบ สีสันต่างๆ ที่ปรากฏของชุดสีของแสงและสีของวัตถุนำไปสู่การแทนค่าของความหมายเชิงอัตวิสัยของศิลปินเอง เมื่อศิลปินนำแนวคิดอันเกิดจากการจัดสรรระบบของของข้อมูลที่อยู่ในมโนคติมาวิเคราะห์โดยสมบูรณ์แล้ว จึงสำแดงออกมา (expression) ด้วยทักษะและวิถีทางจิตรกรรมด้วยฝีแปรง (brush stroke) เพื่อสร้างร่องรอยของความคิดและความรู้สึกเฉพาะตัวออกมาสู่ผืนกระดาษ แม้ว่าสัญญะที่ปรากฏบนผืนภาพจะเป็นชุดสีสันอันหลกหลายภายใต้รูปลักษณ์ของรอยฝีแปรงและรูปร่างอันอิสระเสรีโดยมิอาจสื่อความหมายอย่างปรณัยได้ ผู้ดูย่อมต้องอาศัยจินตนาการของตัวเองเป็นดุจพาหนะเพื่อซึมซับและซาบซึ้งกับผลงาน เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงรสของสุนทรียภาพของงานจิตรกรรมที่ปรากฏตรงหน้า มิเช่นนั้นผู้ดูก็จะพึงเห็นเพียงร่องรอยของสีที่ปาดป้ายอยู่บนผืนภาพที่ไม่อาจทำความเข้าใจได้เท่านั้น
แม้จิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คจะดูเข้าใจยากไม่น้อยสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางศิลปะ หรือมีความเข้าใจในผลงานประเภทดังกล่าวนี้เลย แต่สำหรับผลงานจิตรกรรมของสมศักดิ์แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ด้วยชุดสีสันที่สดใสและโปรงเบาตามสถานะของสีน้ำทำให้ผู้ดูพึงสัมผัสถึงความงดงามได้อย่างเด่นชัด แม้ผู้ดูอาจจะไม่เข้าใจถึงความหมายในเบื้องต้นก็ตาม แต่ความงามที่เกิดจากการเรียงร้อยและผสานกันของสีอันหลากหลายทำให้การจ้องมองด้วยสายตาสัมผัสกับสีที่สดสว่างจนเกิดความรู้สึกพิเศษบนสนามของมโนภาพของแต่ละคน ผู้ดูไม่เพียงต้องปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองให้ล่องลอยไปกับร่องรอยที่ลอยละล่องอยู่บนผืนกระดาษที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น หากแต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดทั้งตานอกและตาใน หรือเปิดใจที่จะรับรู้ความรู้สึกบางอย่างที่งดงามอันซุกซ่อนอย่างเงียบๆ บนสีสันที่สดใสทว่าสง่างามอันอยู่ในรูปของฝีแปรงที่พลุ่งพลานแต่มั่นคงราวกับการทำสมาธิ เพราะฉะนั้น จิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คในชุดนี้ของสมศักดิ์เป็นเสมือนการเรียงร้อยไวยากรณ์ของสีของศิลปินดุจกวีกำลังจารึกพยัญชนะบนแผ่นกระดาษ ซึ่งผู้เสพศิลปะพึงจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการและการตีความส่วนตัวเพื่อเข้าใจความงามที่จะพึงสัมผัสได้จากผลงานศิลปะที่ปรากฏตรงหน้า

แม้การทำความเข้าใจในจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คจะเป็นเรื่องที่วัดคุณค่าทางฝีมือได้ยากมาโดยตลอด แต่การปรากฏขึ้นของงานจิตรกรรมประเภทดังกล่าวนี้ ย่อมพิสูจน์ให้เห้นถึงพลังของสุนทรียรสของผลงานศิลปะที่ไม่ได้สื่อความหมายใดๆ นอกจากตัวของมันเอง คุณค่าของมันไม่ได้อ้างอิงกับการสื่อความหมายเพื่อทำความเข้าใจกับรหัสที่ปรากฏ หากแต่มันคือการที่ผู้ดูต้องใช้ตาใน (จิตใจและความคิด) เข้าไปสัมผัสและเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับจากผลงานศิลปะ ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นแบบไหนก็ตาม แค่เป็นแบบนี้ก็ย่อมถือได้ว่าได้ก้าวเข้าสู่ความเข้าใจในงานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คได้ในระดับแรกแล้ว ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ผลงานจิตรกรรมแบบแอ็บสแตร็คของสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ได้เป็นบททดสอบของผู้ดูแล้วว่า “งานศิลปะแบบแอ็บสแตร็ค (Abstract Art) ไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด”

 






วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

[UN]REAL - [นัย]ความจริง: วิถีชีวิตแสนสามัญบนโลกที่หยุดนิ่งด้วยภาพถ่าย street photography

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)



กล่าวกันว่า "ภาพเพียงหนึ่งภาพ อาจแทนความหมายนับพันคำ" หากภาพนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีชั้นเชิงและกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจมากพอที่จะให้คนทั่วไปกลายเป็นผู้ดูหรือผู้จ้องมองได้

ภาพถ่ายถือเป็นงานศิลปะที่มีความน่าสนใจในบริบทของภาวะความเป็นสมัยใหม่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 และหลังทศวรรษ 1940s ภาพถ่ายเริ่มพัฒนาตัวเองผ่านเทคนิคต่างๆ ที่ช่างภาพแต่ละคนทดลองและสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยกลุ่มศิลปินในยุคสมัยใหม่หลายคนใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อสำคัญในการนำเสนอผลงานศิลปะที่มีความเฉพาะตัวอย่างยิ่ง เช่น Man Ray, Salvador Dalí, Cindy Sherman, Rodney Smith, Orlan หรือแม้แต่ผลงานภาพถ่ายของ Vivian  Maier  ที่เพิ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น street photography ที่น่าทึ่งมากๆ

ปัจจุบันงานภาพถ่ายถือเป็นงานที่ได้รับความสนใจในร่มเงาของศิลปะร่วมสมัยเป็นอย่างมาก ภาพถ่ายที่เป็นสื่อทางศิลปะ ไม่เพียงมีสถานะเป็นตัวภาพที่สื่อความหมายเท่านั้นแต่ยังทรงคุณค่าในเชิงสุนทรียะด้วย นั่นจึงหมายถึงว่านอกจากจะมีความหมายที่ดี อารมณ์ของภาพที่สมบูรณ์ สัญลักษณ์ที่ฉลาดในการเลือกใช้ องค์ประกอบที่สวยงาม ทักษะที่สอดรับกับความงามแล้ว ยังต้องให้ประสบการณ์ในเชิงสุนทรียะกับผู้ดูให้ชัดเจนอีกด้วย

ผลงานภาพถ่ายในนิทรรศการ [UN]REAL - [นัย]ความจริง ของ เกรียงไกร ประทุมซ้าย เป็นนิทรรศการภาพถ่ายงานหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ภาพสัญญะที่ปรากฏในแต่ละภาพล้วนสื่อความหมายชั้นต้นได้ตรงชัด ขณะที่ความหมายขั้นที่สองหรือความหมายโดยนัยแฝงนั้นยังมีความชัดเจน ศิลปินใช้สัญญะที่แตกต่างกันเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและต่างเพื่อนำไปสู่ความหมายในเชิงมายาคติ โดยผู้ดูสามารถที่จะตีความหมายสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไม่ยากนัก

ภาพถ่ายชุดนี้แบ่งเป็นสองประเภท คือ ภาพถ่ายขาว-ดำ และภาพถ่ายสี ซึ่งทั้งสองชุดนั้นมีการวางองค์ประกอบภาพที่ลงตัวมาก มีการจัดวางแสง เงา สี วัตถุ และสิ่งต่างๆ ด้วยชั้นเชิงที่ประกอบกันระหว่างทักษะและความรู้สึกเชิงสุนทรียะของศิลปิน ภาพที่เห็นแม้จะเป็นภาพถ่ายในแนว street photo แต่องค์ประกอบในภาพกลับทำให้ผู้ดูเองเชื่อได้ว่า ศิลปินต้องใช้เวลาและการสังเกตมากเพื่อจะได้ภาพที่มีความเหมาะเจาะได้ตามเจตจำนงที่ได้วางไว้

ศิลปินใช้กล้องเป็นเครื่องมือในการผลิตงานศิลปะมากกว่าจะบันทึกทุกอย่างสิ่งที่เห็น ภาพปรากฏจึงไม่อาจเป็นภาพที่ทุกๆ คนอาจจะเห็นจนเจนตา แต่ศิลปินกลับคัดเฉพาะบางแง่มุมโดยขับเน้นด้วยทักษะทางศิลปะและการจัดวางองค์ประกอบต่างๆเพื่อให้เกิดความงามและความหมายที่ลึกซึ้งแต่เข้าใจได้ง่าย

บางครั้งในเวลาที่หมุนเร็ว เราอาจจะละเลยในสิ่งที่เลยผ่าน หรือแม้บางครั้งที่ชีวิตเดินช้า เราเองก็อาจจะขาดการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ผลงานในนิทรรศการภาพถ่าย [UN]REAL - [นัย]ความจริง อาจจะทำให้เราใช้ชีวิตที่เร็วเท่าเดิม หากแต่บางครั้งเราอาจจะใช้ชีวิตที่ช้าลงหรือหยุดบ้างเพื่อให้เห็นความหมายของชีวิตในแง่มุมต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวของเรา

นิทรรศการภาพถ่าย [UN]REAL - [นัย]ความจริง
โดย เกรียงไกร ประทุมซ้าย
6 - 28 สิงหาคม 2559
People's Gallery P1-P2, ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร