วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

[UN]REAL - [นัย]ความจริง: วิถีชีวิตแสนสามัญบนโลกที่หยุดนิ่งด้วยภาพถ่าย street photography

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)



กล่าวกันว่า "ภาพเพียงหนึ่งภาพ อาจแทนความหมายนับพันคำ" หากภาพนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีชั้นเชิงและกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจมากพอที่จะให้คนทั่วไปกลายเป็นผู้ดูหรือผู้จ้องมองได้

ภาพถ่ายถือเป็นงานศิลปะที่มีความน่าสนใจในบริบทของภาวะความเป็นสมัยใหม่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 และหลังทศวรรษ 1940s ภาพถ่ายเริ่มพัฒนาตัวเองผ่านเทคนิคต่างๆ ที่ช่างภาพแต่ละคนทดลองและสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยกลุ่มศิลปินในยุคสมัยใหม่หลายคนใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อสำคัญในการนำเสนอผลงานศิลปะที่มีความเฉพาะตัวอย่างยิ่ง เช่น Man Ray, Salvador Dalí, Cindy Sherman, Rodney Smith, Orlan หรือแม้แต่ผลงานภาพถ่ายของ Vivian  Maier  ที่เพิ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น street photography ที่น่าทึ่งมากๆ

ปัจจุบันงานภาพถ่ายถือเป็นงานที่ได้รับความสนใจในร่มเงาของศิลปะร่วมสมัยเป็นอย่างมาก ภาพถ่ายที่เป็นสื่อทางศิลปะ ไม่เพียงมีสถานะเป็นตัวภาพที่สื่อความหมายเท่านั้นแต่ยังทรงคุณค่าในเชิงสุนทรียะด้วย นั่นจึงหมายถึงว่านอกจากจะมีความหมายที่ดี อารมณ์ของภาพที่สมบูรณ์ สัญลักษณ์ที่ฉลาดในการเลือกใช้ องค์ประกอบที่สวยงาม ทักษะที่สอดรับกับความงามแล้ว ยังต้องให้ประสบการณ์ในเชิงสุนทรียะกับผู้ดูให้ชัดเจนอีกด้วย

ผลงานภาพถ่ายในนิทรรศการ [UN]REAL - [นัย]ความจริง ของ เกรียงไกร ประทุมซ้าย เป็นนิทรรศการภาพถ่ายงานหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ภาพสัญญะที่ปรากฏในแต่ละภาพล้วนสื่อความหมายชั้นต้นได้ตรงชัด ขณะที่ความหมายขั้นที่สองหรือความหมายโดยนัยแฝงนั้นยังมีความชัดเจน ศิลปินใช้สัญญะที่แตกต่างกันเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและต่างเพื่อนำไปสู่ความหมายในเชิงมายาคติ โดยผู้ดูสามารถที่จะตีความหมายสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไม่ยากนัก

ภาพถ่ายชุดนี้แบ่งเป็นสองประเภท คือ ภาพถ่ายขาว-ดำ และภาพถ่ายสี ซึ่งทั้งสองชุดนั้นมีการวางองค์ประกอบภาพที่ลงตัวมาก มีการจัดวางแสง เงา สี วัตถุ และสิ่งต่างๆ ด้วยชั้นเชิงที่ประกอบกันระหว่างทักษะและความรู้สึกเชิงสุนทรียะของศิลปิน ภาพที่เห็นแม้จะเป็นภาพถ่ายในแนว street photo แต่องค์ประกอบในภาพกลับทำให้ผู้ดูเองเชื่อได้ว่า ศิลปินต้องใช้เวลาและการสังเกตมากเพื่อจะได้ภาพที่มีความเหมาะเจาะได้ตามเจตจำนงที่ได้วางไว้

ศิลปินใช้กล้องเป็นเครื่องมือในการผลิตงานศิลปะมากกว่าจะบันทึกทุกอย่างสิ่งที่เห็น ภาพปรากฏจึงไม่อาจเป็นภาพที่ทุกๆ คนอาจจะเห็นจนเจนตา แต่ศิลปินกลับคัดเฉพาะบางแง่มุมโดยขับเน้นด้วยทักษะทางศิลปะและการจัดวางองค์ประกอบต่างๆเพื่อให้เกิดความงามและความหมายที่ลึกซึ้งแต่เข้าใจได้ง่าย

บางครั้งในเวลาที่หมุนเร็ว เราอาจจะละเลยในสิ่งที่เลยผ่าน หรือแม้บางครั้งที่ชีวิตเดินช้า เราเองก็อาจจะขาดการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ผลงานในนิทรรศการภาพถ่าย [UN]REAL - [นัย]ความจริง อาจจะทำให้เราใช้ชีวิตที่เร็วเท่าเดิม หากแต่บางครั้งเราอาจจะใช้ชีวิตที่ช้าลงหรือหยุดบ้างเพื่อให้เห็นความหมายของชีวิตในแง่มุมต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวของเรา

นิทรรศการภาพถ่าย [UN]REAL - [นัย]ความจริง
โดย เกรียงไกร ประทุมซ้าย
6 - 28 สิงหาคม 2559
People's Gallery P1-P2, ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร









1 ความคิดเห็น: