ในงานศิลปะประเภทอิสตอลเลชั่น
(ศิลปะจัดวาง) ศิลปินจำนวนไม่น้อยใช้วัสดุและกรรมวิธีการทางศิลปะ
ผสมผสานกันเรียกว่า Mixed
Media Installation[1]
ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น คืองานศิลปะที่สามารถสร้างในพื้นที่เฉพาะเจาะจง
(Site-Specific
Installation) หรือเป็นพื้นที่แห่งไหนก็ได้
พื้นที่ดังกล่าวจะต้องถูกสร้างหรือแปรสภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของงานซึ่งมีความหมายแตกต่างไปจากเดิม
ศิลปินที่ทำงานในแนวนี้จะไม่นำสิ่งต่างๆ
มาจัดวางในพื้นที่เพียงเพื่อความสวยงามหรือความเหมาะสม
แต่เป็นการสร้างพื้นที่ขึ้นใหม่ตามกรรมวิธีเทคนิคหรือการใช้สื่อต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นวัสดุเหลือใช้ วัสดุสำเร็จรูป งานจิตรกรรม ภาพถ่าย ภาพพิมพ์
ประติมากรรมหรืองานวาดเส้น มาสร้างสรรค์ให้เป็นงานศิลปะตามความคิด
อารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการของศิลปิน
ศิลปะในรูปแบบนี้สามารถสร้างกับพื้นที่หลากชนิด อาทิเช่น บนผนัง เพดาน พื้น
หรืออาจจะเป็นพื้นที่ที่เป็นก้อง มุมหนึ่งมุมใดของตัวอาคาร
ผู้ดูสามารถเดินเข้าไปในงานเพื่อสัมผัสกับความคิดของศิลปินหรืออาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานได้ด้วยเช่นกัน[2]
ศิลปะอินสตอลเลชั่นเริ่มเป็นที่รู้จังในแวดวงศิลปะของไทย
เมื่อครั้งที่ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินที่ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิส
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาหลายสิบปี ได้นำผลงานของเขาในช่วงระยะเวลาสิบปีในอเมริกา
พ.ศ. 2513-2523
มาแสดงเดียว ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ.2523...พื้นที่ห้องแสดงงานได้ถูกแปรสภาพให้เป็นงานศิลปะในลักษณะ
3 มิติ ผู้ชมสามารถเดินดูได้โดยรอบ
แต่เนื่องจากว่างานชิ้นนี้ของกมลเป็นสิ่งที่แปลกและใหม่เกินไปสำหรับคนไทยในช่วงเวลานั้น
รูปแบบของงานดังกล่าวที่ปรากฏ ซึ่งจัดได้ว่า เป็นศิลปะอิสตอลเลชั่นประเภทหนึ่ง
จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนัก[3]
สำหรับในส่วนของศิลปะ
การมีส่วนร่วมและการต่อต้านได้แสดงออกมาในศิลปะการติดตั้ง (installation art) ศิลปะแนวสถานการณ์เทศะศิลปะ (site-specific
art) ศิลปะที่ไม่ได้ปรากฏร่างอยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ
และแกลเลอรี เป็นต้น ศิลปะในแนวทางนี้ เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในทศวรรษ 1970 จนกระทั่งทศวรรษ 1980
ศิลปะในแนวทางดังกล่าวจึงได้กลายเป็นกระแสที่มีชีวิตและจิตใจเป็นของตัวเอง[4]
ศิลปะติดตั้ง (installation art) จึงเป็นเพียงการจับสิ่งแปลกปลอมวางลงไปในพื้นที่ของฝูงชนที่ไม่คุ้นเคยกับผลงานศิลปะ
ทั้งนี้ภายใต้ความไม่ชัดเจนและอะไรก็เป็นศิลปะไปเสียหมด
ก็ทำให้ผู้คนกลับรู้สึกคุ้นเคยกับวัสดุข้าวของที่กลับกลายมาเป็นศิลปะ
ในโลกของศิลปะ สิ่งที่คุ้นเคยจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
ศิลปะในสภาวะสมัยใหม่จึงเป็นกระบวนการของการทำลายความคุ้นเคย (defamiliarization) เพราะในที่สุดแล้ว
ทั้งผู้คนและศิลปะต่างก็เป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมซึ่งกันและกัน
เมื่อเป็นดังนั้นนั้นวัตถุศิลปะนั้นก็สูญสลายตัวเองไปกับฝูงชน[5]
การทำงานศิลปะติดตั้ง (installation) อันเป็นศิลปะที่ต้องใช้พื้นที่นอกเหนือไปจากสถาบันศิลปะเท่านั้น
เท่ากับว่า เป็นการประกาศให้เห็นถึงการมีศิลปะแบบใหม่ของศิลปินรุ่นใหม่และชนชั้นใหม่ๆ
ที่เคลื่อนตัวขึ้นมาในโครงสร้างของชนชั้นหลังจากการขยายตัวของระบบการศึกษาที่มีไว้เพื่อตอบสนองแรงงาน
นี่ถือได้ว่าเป็นการประกาศอัตลักษณ์แบบใหม่ที่สามารถขยายตัวไปได้ทุกหนแห่ง
อัตลักษณ์ที่สามารถจะดึงสรรพสิ่งต่างๆ ให้เข้ามารวมตัวเป็นศิลปะ[6]
[1] สมพร
รอดบุญ, “อันเนื่องมาจาก Mixed Media” ใน
สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53, 140.
[2] สมพร รอดบุญ, “ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น
(Installation Art)” ใน สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
ครั้งที่ 54, ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4-28 กันยายน 2551 และ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม
เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ระหว่างวันที่
4 กันยายน - 26 ตุลาคม 2551 (กรุงเทพฯ :
มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551), 145.
[3] สมพร รอดบุญ, “ศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชั่น
(Installation Art)” ใน สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
ครั้งที่ 54, 147.
[4] ธเนศ
วงศ์ยานนาวา, “การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่”
ใน ศิลปะกับภาวะสมัยใหม่:
ความขัดแย้งและความลักลั่น (กรุงเทพ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552), 147.
[5] ธเนศ
วงศ์ยานนาวา, “การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่”
ใน ศิลปะกับภาวะสมัยใหม่:
ความขัดแย้งและความลักลั่น (กรุงเทพ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552), 153.
[6] ธเนศ
วงศ์ยานนาวา, “การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่”
ใน ศิลปะกับภาวะสมัยใหม่:
ความขัดแย้งและความลักลั่น (กรุงเทพ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552), 166-167.
ขอบคุณบทความที่เป็นสาระดีๆครับ
ตอบลบขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ
ตอบลบThank you for me
ตอบลบ