(E-mail: jumpsuri@gmail.com , Facebook: https://www.facebook.com/suriya.chaya)
การหวนหาโลกแห่งอดีตมักเป็นเรื่องปกติของคนที่เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของชีวิต
หลายคนไม่เพียงแค่จารึกความหลังไว้ในโลกจินตนาการเท่านั้น แต่ยังกลับไปค้นหาร่องรอยของอดีตผ่านสื่อต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ งานทัศนศิลป์ วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพยนตร์
หรือแม้กระทั่งเสียงเพลง โดยเฉพาะเสียงเพลงในยุคที่ยังถูกเล่นด้วยเครื่องแผ่นเสียงก็ย่อมมีเสียงที่ออกมาจากเครื่องเล่นที่แตกต่างกับเสียงที่ถูกบันทึกด้วยระบบดิจิทัลในแบบปัจจุบัน
ภาพปกแผ่นเสียงในอดีตไม่เพียงเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาดเท่านั้น
แต่ความมีเสน่ห์คือการนำเสนอภาพที่ถูกจัดระเบียบภายใต้องค์ประกอบที่มีเอกภาพ
เพราะฉะนั้นจึงทำให้ภาพปกแผ่นเสียงในยุคสมัยก่อนมีคุณค่าในด้านการออกแบบที่ร่วมสมัยในยุคสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย
ภาพปกที่เป็นรูปเหมือนนักร้องย่อมเป็นภาพแทนให้เห็นว่าเพลงในแผ่นเสียงนั้นเป็นเสียงร้องของใคร
ที่สำคัญภาพนั้นๆ ถูกถ่ายหรือวาดโดยมีการจัดท่าทางโครงสร้างของใบหน้าของนักร้องที่จัดระบบแสงแบบอุดมคติ
พิชิต ตั้งเจริญ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านทัศนศิลป์ที่มีบทบาทในการสอนทางด้านจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมานาน
ซึ่งสำหรับผู้ที่ติดตามจิตรกรรมร่วมสมัยย่อมต้องเคยชื่นชมกับผลงานของเขาไม่มากก็น้อย
ภาพจิตรกรรมของเขามีลักษณะที่สงบ สมถะ และนิ่งสงัด
และมักนำเสนอภาพจิตรกรรมแบบเกลี่ยเรียบ (liner Style) ที่แสดงปริมาตรของภาพด้วยระบบแสงและเงาที่ละเมียดละไมผ่านทักษะการระบายสีอย่างเป็นระเบียบ
ซึ่งในนิทรรศการ "เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย" นี้ พิชิตได้ใช้ความประทับใจที่มีต่อปกแผ่นเสียงที่เขาสะสม
โดยเขาชื่นชอบทั้งเสียงเพลงที่อยู่ในนั้นและการออกแบบปกที่มีเสน่ห์และมีกลิ่นอายของงานออกแบบสิ่งพิมพ์ของไทยในช่วงก่อนและหลังพุทธทศวรรษ
2500 ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก
ผลงานจิตรกรรมชุดนี้พิชิตได้นำแรงบันดาลใจดังกล่าวมาแสดงให้เห็นถึงการถวิลหาสุนทรียะในยุคสมัยก่อนโดยมีภาพลักษณ์ของปกแผ่นเสียงเป็นดุจสะพานที่พาดผ่านกาลเวลา
ภาพเหมือนนักร้องในอดีตที่มีชื่อเสียงถูกจัดวางเป็นจุดเด่นของภาพ (เช่น เอื้อ
สุนทรสนาน สุรพล สมบัติเจริญ ทูล ทองใจ และสุเทพ วงศ์กำแหง เป็นต้น) โดยมีพื้นหลังเป็นเสมือนภาพระนาบ
2 มิติที่สื่อไปถึงอารมณ์ของบทเพลงของนักร้องคนนั้นๆ พิชิตสื่อภาพแทนของนักร้องด้วยภาพเหมือน
(icon) และสื่อไปถึงเพลงของนักร้องนั้นผ่านภาพนามธรรมพื้นหลังที่เป็นพื้นที่จินตนาการที่ไม่แสดงความเหมือนจริง
(symbol) ลักษณะโทนสีที่ไม่สดใสแต่กลับงดงามราวภาพฝันที่กำลังเลือนราง
ทว่าให้ความรู้สึกที่นุ่มละไมคล้ายกับเสียงเพลงจากแผ่นเสียงลอยละล่องมาตามสายลมเอื่อยๆ
แม้ว่านิทรรศการนี้จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ
ของพิชิต ตั้งเจริญ แต่ก็เชื่อได้ว่าในอนาคตผลงานในชุดนี้น่าจะมีจำนวนที่มากขึ้นและถูกนำไปจัดแสดงให้สาธารณชนได้ดูได้ชมกันในวงกว้าง
ทั้งนี้ภาพจิตรกรรมของเขายังทำให้หวนไปนึกถึงสมัยที่บ้านยังสวย เมืองยังงาม เพลงยังไพเราะ
ซึ่งโลกอดีตอาจเป็นยุคสมัยในอุดมคติเมื่อถูกเปรียบเทียบกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโลกปัจจุบัน
แต่บางครั้งมนุษย์เราก็ต้องการคิดถึงอดีตบ้างเพื่อให้เราได้รู้ว่า เราคือใคร
เรามาจากไหน และเราควรทำอะไรบ้างในปัจจุบันเพื่ออนาคตจะเป็นโลกที่สงบสุขและงดงามตามอุดมคติบ้าง
(แม้ความเป็นอุดมคติอาจจะไม่ใช่โลกของความเป็นจริงก็ตาม)
นิทรรศการจิตรกรรม
"เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชิต ตั้งเจริญ ณ
ร้าน Rider
Records ถนนราชพฤกษ์ ช่วงตลิ่งชัน ในวันที่ 27 มิถุนายน 2558 เวลา
17.00 น. เป็นต้นไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น