วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ของธงชาติกับสถาบันพระมหากษัตริย์

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (jumpsuri@hotmail.com)
* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ตามหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิตเรื่อง “ธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย”
 
                 การประดิษฐ์ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ถือเป็นผลงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นมรดกจากยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงเป็นผู้มีพระราชดำริในการสร้างรูปแบบและสถาปนาความหมายของธงชาติไทยขึ้น โดยมีลักษณะทางกายภาพธงชาติไทยมีลักษณะเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งเป็น 5 แถบ ประกอบไปด้วย 3 สี คือสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ทว่าธงไตรรงค์ในช่วงแรกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่มีการปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภาพลักษณ์ที่นอกเหนือจากแถบสี ยังปรากฏเป็นรูปช้างเผือกสีขาวอยู่บนวงกลมกลางผืนพร้อมกับมีคาถาภาษาบาลีประทับไว้

                 ธงลักษณะดังกล่าวได้ถูกนำไปสวนสนาม ณ มหานครปารีส ในโอการเฉลิมฉลองที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 วาระดังกล่าวถือว่านานาชาติได้เริ่มรู้จักธงชาติผืนใหม่ที่มาแทนธงช้างเผือนบนพื้นแดงที่เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

                 แม้ธงชาติไทยรูปแบบใหม่หรือธงไตรรงค์เกิดขึ้นเพราะเป็นการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ของชาติอันเป็นกุศโลบายที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะการที่พระองค์นำแนวคิดเรื่องประชาชนในชาติ ศาสนาประจำชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์บรรจุความหมายไว้ในธงชาตินั้น ถือเป็นการสร้างสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงจะแสดงออกถึงพระองค์เองเท่านั้น หากแต่ยังรวมบริบทอื่น ๆ ให้มีความหมายพิเศษจนถือสถาบันหลักด้วย ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นการสร้างสำนึกความรักชาติที่โดดเด่นในสมัยของพระองค์ นั้นคือความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักทั้งสาม คือความเป็นชาติไทย พระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า พระองค์ต้องการการแสดงความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยการนำมายาคติของความเป็นชาติ และความเชื่อความศรัทธาทางศาสนามาเป็นตัวเชื่อมไปสู่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงนั้นคือ ความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง

 
ธงไตรรงค์ผืนแรก
ที่มา : Chaopraya news, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2554. เข้าถึงได้จาก  http://www.chaoprayanews.com/ wp-content/uploads/2009/03/432-20060530175223.jpg

                 ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา อดีตเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ทัศนะในหนังสือ “ชาตินิยมและหลังชาตินิยม” เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์และความเป็นชาติเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

        ...ร. 6 (ภาพที่ 18) เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ใช้อุดมการณ์ชาตินิยมสร้างความเป็นชาติอย่างจริงจัง ชาติของพระองค์เป็นแบบ aristocratic ในแนววัฒนธรรมสูงแบบวิกตอเรีย...สถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงอย่างเดียวที่จะมีฐานะเป็นศูนย์กลางของชาติได้...[1]

 
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มา : นุสมล สุขเสริม, สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2529), 31.

                 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกาว่า ส. ศิวรักษ์ เป็นนักคิด นักเขียนชั้นแนวหน้าของประเทศไทยได้รับฉายานามว่า ปัญญาชนสยามได้ให้ทัศนะวิจารณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์และความเป็นชาติเอาไว้ว่า

        ...ระบบราชาธิปไตยได้ขึ้นถึงจุดสุดยอด อันเป็นต้นตอของความเสื่อมสลายในรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงนำเอาคติเรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาใช้เป็นอุดมการณ์ของบ้านเมือง โดยทรงยืมมาจากคติในเรื่อง God King and Country ของอังกฤษ ดังธงไตรรงค์ ซึ่งโปรดให้นำมาใช้แทนธงช้าง ก็เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันทั้งสาม ซึ่งสรุปรวมอยู่ที่องค์พระราชาธิบดี...[2]

                 ซึ่งจะเห็นว่าแนวคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับเรื่องความเป็นชาติ ได้กลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันอย่างมาก จนความเกี่ยวพันดังกล่าวก็ได้บรรจุลงในภาพลักษณ์ของธงชาติไทย

 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มา : สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (
กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2545), 15.

                 ในสมัยการปกครองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีแนวทางที่เสื่อมลง แต่พระองค์ก็ทรงพยายามรักษาราชประเพณีและธำรงไว้ซึ่งพระราชสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่บริบูรณ์ เช่น การดำริสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการธำรงไว้ซึ่งรูปแบบธงชาติไทยแบบไตรรงค์ที่ถือเป็นพระราชมรดกในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นอาจจะ  กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงพยายามรักษาคติชาตินิยมในแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มากกว่าชาตินิยมในรูปแบบรัฐสมัยใหม่

คณะราษฎรฝ่ายทหารบก
ที่มา : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 
(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), 25.

                 แม้ห้วงสมัยตั้งแต่การปฏิวัติสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร (ภาพที่ 20) จวบจนถึงก่อนการทำรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500[3] นั้น แนวคิดชาตินิยมในสังคมไทยได้ลดบทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องด้วยปัจจัยอันหลากหลาย อาทิ การขึ้นครองราชย์สมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และต่อเนื่องถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ยังทรงพระเยาว์ การเกิดภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก การเข้าร่วมในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฝักใฝ่การปกครองแบบลัทธิเผด็จการทหาร (Military dictatorship) ตามแบบอย่างลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) และลัทธินาซี (Nazism) ของจอมพล ป. พิบูลยสงคราม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ที่มา : กระทรวงกลาโหม,  ฉลองราชย์สดุดี 60 ปี จอมทัพไทย
(กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, 2549), 19. 
(จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ
ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  5 ธันวาคม 2549).

                 แต่พอก้าวสู่หลังรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลภายใต้อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้มอบพระราชอำนาจหลายอย่างและให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะแบบไทยที่ต่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างในโลกสากล นั้นคือการคืนบทบาทของพระมหากษัตริย์ให้กลับเข้ามาสู่บริบทในสังคม โดยถือเป็นประมุขแห่งประเทศชาติภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์เองก็ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน ดังที่ สุมาลี พันธุ์ยุรา ได้เรียบเรียงเอาไว้ว่า
 
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ที่มา :  คณะรัฐมนตรี,  ประวัติและผลงานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์
(พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2507), ไม่ปรากฏเลขหน้า. 
(พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 17 มีนาคม 2507).

        ...รัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีความมั่นคงอีกครั้ง เพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลให้กับกลุ่มการเมืองของตนเองที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งการสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือรัฐบาลในแง่ของการช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ของระบบพ่อขุน ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีโอกาสแสดงพระราชดำรัสต่อประชาชนซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนได้พาดพิงและเอื้ออำนวยต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ในพ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในการที่ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ และทรงขอให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาลตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้...

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่ทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ
ที่มา : กระทรวงกลาโหม,  ฉลองราชย์สดุดี 60 ปี จอมทัพไทย
 (กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, 2549), 19.  (จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  5 ธันวาคม 2549).

        ...เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมีมากขึ้น รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยลง ตัวอย่างเช่น จอมพลสฤษดิ์สนับสนุนให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ซึ่งทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของชาติอย่างชัดแจ้ง และส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ให้ดูดีขึ้นในสายตาของชาวต่างชาติ การเสด็จประพาสต่างประเทศอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตระหนักว่าการปรากฏพระองค์ต่อชาวต่างชาตินั้น จะทำให้ต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยว่าเป็นเผด็จการน้อยลง ด้วยการหันเหความสนใจให้ไปสู่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แทน ประชาชนก็จะได้ลดการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลไปได้นอกจากนี้ การจัดพระราชพิธีและพิธีการสังคมต่าง ๆ ขึ้นมายังจะช่วยให้ชื่อเสียงของรัฐบาลมีเพิ่มขึ้นในต่างประเทศและช่วยสมานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างบุคคลในกลุ่มของรัฐบาลและประชาชนให้เกิดขึ้น เช่น การรื้อฟื้นพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีทอดพระกฐินทางชลมารค พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค...[4]
 
                 การคืนบทบาทและสถานะทางสังคมให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยรัฐบาลภายใต้การปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ต่อมาเกิดแนวคิดสำนึกเรื่องชาตินิยมไทยที่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเมื่อนำแนวทางการใช้ธงชาติไทยที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น จะเห็นถึงการสร้างสัญญะเพื่อแสดงความเชื่อมโยงกันระหว่างความเป็นชาติไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

                 สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือ การประดับธงชาติในวาระแห่งการรับเสด็จพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ก็มักเป็นธงชาติขนาดเล็กที่มีคำว่า “ทรงพระเจริญ” สีขาวปรากฏอยู่บนแถบสีน้ำเงินบนธงชาติไทย ซึ่งสิ่งนี้เองถือเป็นสิ่งสำคัญในการเชื่อมโยงให้สถาบันพระมหากษัตริย์กับความหมายของธงชาติมีความแนบสนิทกันจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน หรืออาจจะเรียกได้ว่าพระมหากษัตริย์ถือเป็นสถาบันหลักของชาติ ทั้งนี้เนื่องด้วยการสร้างตัวอักษรลงไปบนผืนธงชาติถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับข้อความ “ทรงพระเจริญ” กลับมิได้นำข้อห้ามนี้มาพิจารณา ซึ่งทำให้ธงชาติที่ปรากฏคำว่า “ทรงพระเจริญ” กลายเป็นธงชาติที่มีความหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ทำให้ธงชาติลักษณะดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่มีสัญญะอันเกี่ยวกับแนวคิดพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ

                 ในประเด็นคำว่า “ทรงพระเจริญ” บนผืนธงชาติไทยนี้ นายพฤฒิพล ประชุมผล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (ธงไตรรงค์) ได้อธิบายบนเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (ธงไตรรงค์) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

        ...ดังนั้นการเขียนคำว่า "ทรงพระเจริญ" ลงบนแถบสีธงชาติไทย ... ถ้าจะถามว่าผิดหรือไม่ คำตอบก็คือผิดตาม พ.ร.บ. ธง 2522 มาตรา 53 ข้อ 1 ที่ห้ามขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใด ๆ ลงบนธงหรือแถบสีธงชาติไทย ... แต่ถ้าพิจารณาจากคำที่เขียนลงไปบนแถบสีธงชาติ ... ก็สามารถพิสูจน์ได้อย่างกระจ่างแจ้งและมีความหมายชัดเจนในตัวเองว่าเป็นคำที่มีความหมายถึงความปรารถนาดี ประสงค์ดี ต้องการให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือในหลวงของคนไทยทรงพระเจริญ เป็นมิ่งขวัญชาวไทยยิ่งยืนนาน ...

ธงชาติขนาดเล็กที่มีคำว่า “ทรงพระเจริญ
ที่มา : อาจารย์ปูดอทคอม, รวมพลังปฏิบัติการ ไทยสามัคคี ไทยเข้มแข็ง สุราษฎร์ธานี
24 พฤศจิกายน 2552  [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2554. เข้าถึงได้จาก  http://www.arjarnpoo.com/forum/index.php?showtopic=1524

                 ซึ่งก็คือการสืบสถาพรและดำรงคงไว้ด้วยความเจริญของสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหนึ่งในสามสถาบันตามความหมายที่อยู่บนแถบสีธงไตรรงค์ ธงชาติไทย

 
        ... สำหรับผมแล้ว จึงคำมงคลที่เขียนลงบนแถบสีธงชาติไทยเหล่านี้ มิได้บ่งบอกถึงความเสื่อมเสียที่มีต่อสถาบันสูงสุดของประเทศ หรือแม้แต่ทำให้เกิดการเสื่อมเสียต่อธงชาติไทยอย่างใด ... (ผมไม่ได้อธิบายว่าไม่ผิด คือผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ธง 2522 หรือพูดง่าย ๆ ก็คือผิดตามหลักนิติศาสตร์ แต่ผมอธิบายว่า "ไม่เสื่อมเสียต่อความหมายบนธงชาติไทย" ตามบรรทัดฐานความคิดของคนในสังคมส่วนรวมตามหลักรัฐศาสตร์)

        เช่นเดียวกับการที่มีคนเขียนคำว่า "รักประเทศไทย" ลงบนผืนธงชาติไทยหรือแถบสีธงชาติไทย ... แน่นอนว่าย่อมหมายถึงความรักที่คน ๆ นั้นมีต่อสถาบันชาติหรือตามความหมายของแถบสีแดงบนธงชาติไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เป็นมงคล เป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญและยกย่อง ตามบรรทัดฐานความคิดที่ดีของคนในสังคม ซึ่งเป็นไปตามหลักรัฐศาสตร์ แต่ก็ไปติดเงื่อนไขของหลักนิติศาสตร์ว่าด้วยข้อห้ามขีดเขียนใด ๆ ลงบนธงชาติ ตามระเบียบ พ.ร.บ. ธง ปีพ.ศ. 2522 นั่นเอง[5]

การประดับธงชาติร่วมกับตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์
และธงพระราชอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ที่มา : ดนัย  จันทร์เจ้าฉาย,  เรารักในหลวง (กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, 2550), ไม่ปรากฏเลขหน้า.

                 สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยืนยันถึงแนวคิดพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติผ่านการใช้ธงชาติไทย คือ การประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับธงพระราชอิสริยยศหรือตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์จะต้องไม่ให้ธงชาติอยู่ในระดับต่ำกว่า และต้องมีการจัดวางที่เสมอกัน ดังนั้นจึงปรากฏการติดตั้งธงชาติคู่กับธงพระราชอิสริยยศของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ ในวาระต่าง ๆ เช่น วาระแห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นต้น สิ่งดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอิทธิพลกับแนวคิดชาตินิยมไทยเป็นอย่างมาก
 
ประชาชนร่วมงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ที่มา : กระทรวงกลาโหม,  ฉลองราชย์สดุดี 60 ปี จอมทัพไทย (กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, 2549), 114.  (จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  5 ธันวาคม 2549).

                 โดยสรุปแล้วธงชาติไทยได้ถูกนำไปใช้ในบริบทหนึ่งที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สังเกตได้จากแถบสีน้ำเงินกลางธงซึ่งมีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ[6] ซึ่งสิ่งดังกล่าวย่อมนำไปสู่ความหมายของธงชาติที่มีนัยยะไปถึงแนวคิดราชาชาตินิยมสมัยใหม่ของชาติไทย


                 [1]  ธีรยุทธ  บุญมี, ชาตินิยมและหลังชาตินิยม, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2546), 104.
                 [2] สุลักษณ์  ศิวรักษ์,  อันสืบเนื่องมาจาก 14 ตุลาคม 2516 ทัศนะส่วนตัวของ ส.     ศิวรักษ์,ใน  3 ทศวรรษ 14 ตุลา กับประชาธิปไตย, ใน 3 ทศวรรษ 14 ตุลา กับประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), 312.
                 [3]  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,  รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500  [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ  21 พฤศจิกายน 2554.  เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0% B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2500
                 [4] สุมาลี พันธุ์ยุรา, ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2554. เข้าถึงได้จาก  http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/
                 [5] พฤฒิพล ประชุมผล,  การเขียนคำว่า "ทรงพระเจริญ" บนธงชาติไทย มีความผิดหรือไม่?  [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 3 ตุลาคม 2554. เข้าถึงได้จาก  http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/thaiflag/newsite/detail.php?id=150
                 [6] ฉวีงาม  มาเจริญ,  ธงชาติไทย : เกียรติยศของชาติ,  วารสารไทย 28, 104 (ตุลาคม-ธันวาคม 2550) : 90.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น