โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ
โลกของนักสร้างภาพคือดินแดนที่จิตรกรสถิตอยู่
ณ ที่ใดที่หนึ่ง จิตรกรคือนักสร้างภาพที่มิอาจบอกเล่าสภาพแวดล้อมและเรื่องราวของดินแดนแห่งจินตนาการด้วยถ้อยความเฉกเช่นนักประพันธ์
หากแต่แสดงออกด้วยภาษาของภาพที่มีนัยอันซ่อนเร้นสิ่งต่างๆ ให้ปรากฏบนผืนผ้าใบผ่านเส้นและสีที่มือของเขาเคลื่อนตามจิตที่คิดนึก
ภาพที่ปรากฏออกมาแสดงความรู้ของจิตรกรที่เขาได้รับจากประสาทสัมผัสภายนอกผนวกเข้ากับความคิดและความรู้สึก
อันอยู่ภายใต้แนวคิดแบบประสบการณ์นิยม (Empiricism) ที่เชื่อว่า
ความรู้เกิดขึ้นจากการสัมผัสประสบการณ์ตรงไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ดังที่จอห์น ล็อค (John
Locke) เห็นว่า ความรู้จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการสัมผัสแล้วจึงนำไปสู่ความรู้สึกความคิดนึกก่อนจะแสดงออกมา
ทว่าในอีกด้านหนึ่ง
จิตรกรเองก็แสดงออกอย่างมีหลักการเฉพาะตัวอันประกอบขึ้นจากตรรกะทางสุนทรียะในการประกอบสร้างภาพในจินตนาการให้ปรากฏอย่างเป็นหลักเกณฑ์ที่สามารถนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจได้
เช่น หลักการของกายวิภาค (Anatomy) ทัศนียวิทยา
(Perspective) ค่าน้ำหนักแสงเงา (Chiaroscuro) หรือแม้กระทั่งสีสันที่ปรากฏ (Color theory)
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลนิยม (Rationalism) ซึ่งเรอเน
เดส์การ์ต (Rene Descartes)
เชื่อว่าประสาทสัมผัสหรือประสบการณ์อาจนำไปสู่ความรู้แท้ได้ไม่ดีเท่าเหตุผล เหตุผลคือความรู้ที่ความบริสุทธิ์และพิสูจน์ได้
ในขณะที่คุณค่าของจิตรกรรมตามสุนทรียศาสตร์
(Aesthetic) นั้นก็ขึ้นอยู่กับการประเมินในด้านความสัมพันธ์ของจิตรกร
วัตถุศิลปะ และบริบทที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมประสบการณ์สุนทรียะว่าเป็นเช่นไร คุณค่าของงานจิตรกรรมนั้น
พึงแสดงออกถึงความงามแต่เพียงอย่างเดียว หรือแสดงความรู้สึกสะเทือนใจบางอย่าง
หรือแสดงกระบวนคิดสาระสำคัญ หรือผสมผสานทั้งความงาม ความรู้สึก
และความคิดเข้าด้วยกันแบบสัมพัทธนิยม (Relativism) ที่เชื่อว่า
ความสัมพันธ์ของคุณค่าเชิงสุนทรียะนั้น
เกิดจากความสัมพันธ์ของจิตกับวัตถุศิลปะอันนำไปสู่คุณค่าที่หลากหลายแตกแขนงไปอย่างไม่รู้จบขึ้นอยู่กับการถอดรหัสและตีความของบุคคล
ดังที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับงานจิตรกรรมในนิทรรศการศิลปะ
Anthology / สรรนิพนธ์
ของวีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ ผู้ที่เป็นร่างทรงของสิ่งที่เรียกว่า “จิตรกร” เขาใช้คำว่า
“Anthology / สรรนิพนธ์” เป็นหัวข้อหลักในการแสดงงานจิตรกรรมที่มีเนื้อหาสาระที่หลากหลาย
แม้ภาพจิตรกรรมของเขาในการแสดงครั้งนี้อาจดูคุ้นเคยกับผู้ที่เห็นผลงานของเขามาสักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม
นิทรรศการครั้งนี้ เขาได้ใส่รหัสของภาพแต่ละภาพด้วยรูปสัญญะที่ดูราวกับแตกแยกเนื้อหากันโดยวางรูปร่างรูปทรงเคียงกันและทับซ้อนกันคล้ายกับการปะติด
ซึ่งผู้ดูจึงต้องทำการปะติดปะต่อเรื่องราวของแต่ละภาพเอาเองด้วยการใช้เวลาจ้องมองและตีความจากสิ่งที่ปรากฏ
หากแต่เมื่อเราถือว่า “นักประพันธ์ได้ตายลงแล้ว” (La mort de l’auteur) ตามที่โรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes)
ได้เขียนเอาไว้ เราก็อาจจะมีอิสระขึ้นในการชมงานจิตรกรรมเหล่านี้ได้อย่างไม่ขัดเขินหรืองุนงงสงสัย
เพราะเมื่อผู้ชมเองก็มีสิทธิ์ในการเดินทางไปในงานจิตรกรรมเพียงลำพังได้เอง
วีรพงษ์จึงเป็นเพียงร่างทรงของจิตรกรผู้เล่าเรื่องที่แสดงออกผ่านภาษาภาพเท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่งที่จะไม่กล่าวไม่ได้
ก็คืองานจิตรกรรมของวีรพงษ์เป็นการเรียงร้อยจากประสบการณ์ที่สัมผัสด้วยตนเองผ่านสื่อต่างๆ
ที่ผสมผสานตรรกะเชิงวิธีการทางศิลปะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพที่บอกเล่าอะไรบางอย่างแก่ผู้ชม
เมื่อผู้ชมได้จ้องมองและพินิจผลงานแล้วจะรู้สึกอย่างไรหรือคิดเห็นอย่างไร
มันจึงเป็นภาระของผู้ชมเองในการที่จะซึมซับความลึกซึ้งดื่มด่ำผลงานเหล่านี้
ซึ่งมันหมายถึงปัจเจกชนย่อมมีเสรีภาพของการชมงานศิลปะและเข้าสู่จินตนาการของตนเองได้ผ่านภาพที่เป็นสื่อ
แต่ก็อาจจะเกิดคำถามในแง่นี้ที่ว่า “ผู้ชมจึงจำเป็นที่ต้องเข้าใจงานจิตรกรรมตามที่จิตรกรได้สร้างรหัสของภาพหรือไม่”
ก็อาจตอบได้ 2 กรณี คือ ผู้ชมก็ควรรู้ว่าจิตรกรนำเสนออะไร
และผู้ชมเองก็มีเสรีภาพในการเข้าใจเหมือนหรือต่างจากจิตรกรได้เช่นกัน
ทั้งนี้หากเราเชื่อว่าคุณค่าของงานจิตรกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของความงามแต่อย่างเดียว
หากแต่มีความคุณค่าด้านเหตุผล ความจริง และความดีภายใต้บริบทที่เกี่ยวร่วมอยู่ด้วยแล้ว
งานจิตรกรรมก็น่าจะมีนัยแฝงบางประการที่ผู้ชมแต่ละคนสามารถเรียนรู้จากสื่อชนิดนี้ด้วยตนเองเพื่อแตกประเด็นความรู้หรือประสบการณ์อื่นๆ
ได้อีกมากมาย
หากจะกลับมาในงานจิตรกรรมของวีรพงษ์อีกครั้ง
ก็อาจจะสรุปได้ว่า นิทรรศการนี้เป็นการรวมเรื่องเล่าที่หลากหลายที่ตัวเขามีต่อโลก ผ่านประสบการณ์และความคิดคำนึงเชิงข้อมูลและวิเคราะห์แล้วจึงแสดงออกมาผ่านรหัสของภาพที่หลากหลาย
เรื่องราวของภาพที่อาจจ้องมองแล้วราวกับไม่ปะติดปะต่อกันคือบทเรียนสำคัญที่ให้ผู้ชมได้พินิจพิเคราะห์สนทนากับภาพๆ
นั้นด้วยตัวเอง เพราะหากจิตรกรได้ทิ้งร่างทรงลงแล้วหลังจากวางพู่กัน
นั่นย่อมหมายความว่า งานจิตรกรรมได้ทำหน้าที่ในการแสดงออกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลากหลาที่ผู้ชมคงต้องตั้งคำถามและหาคำตอบเองจากสิ่งที่ปรากฏ
ทั้งเบื้องหน้าบนระนาบผ้าใบและลึกเข้าไปในดินแดนลึกลับที่ถูกโฉบทาด้วยเส้นและสีที่ลวงตาให้เห็นเป็นภาพต่างๆ
และนั่นคือการทำงานของภาษาภาพ
อันเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญของงานจิตรกรรมในนิทรรศการนี้
เพราะนี่ก็คือบทนิพนธ์อันหลากหลายของจิตรกรผ่านร่างทรง
และเพราะนี่คือสรรนิพนธ์ของจิตรกร.
ขอบคุณครับ
ตอบลบ