วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผลงานจิตรกรรมผสม “ธงสามผืน” (Three Flags)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (ส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ ตามหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง “ธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย” ของสุริยะ ฉายะเจริญ)

                 แจสเปอร์ จอห์น (Jasper Johns, Jr.) เป็นศิลปินยุคศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ผลงานของเขาส่วนใหญ่สร้างเป็นจิตรกรรมเทคนิคผสม ต่างจากการสร้างสรรค์จิตรกรรมแบบประเพณีด้วยสีน้ำมันบนระนาบผ้าใบอย่างอดีต เขาเป็นศิลปินที่สร้างผลงานในลักษณะที่เป็นแบบนีโอ-ดาดา (Neo-Dada) ซึ่งเป็นแนวทางที่แสดงภาพลักษณ์และสินค้าในชีวิตประจำวัน สะท้อนถึงสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม และเพราะมีความงามแบบลูกผสมประหลาด ๆ เป็นความงามที่คาบเกี่ยวอยู่ระหว่าง สินค้าสำเร็จรูปกับขยะ คาบเกี่ยวระหว่างของที่เครื่องจักรผลิตออกมาอย่างแข็งทื่อไร้อารมณ์ กับสีสันฝีแปรงที่แสดงความรู้สึกอย่างมีชีวิตชีวา[1]
                 จอห์นเป็นศิลปินที่ใช้สัญลักษณ์และรูปสัญญะสิ่งของที่มีอยู่ในสังคมอเมริกันในยุคนั้นนำมาสร้างเป็นผลงานศิลปะขึ้น โดยผลงานส่วนใหญ่มักจะให้ความรู้สึกที่เกี่ยวโยงกันระหว่างการเสียดสีเย้ยหยันแบบลัทธิดาดา (Dadaism) กับภาพลักษณ์สังคมทุนนิยม (Capitalism) ที่แสดงออกมาแบบศิลปะป๊อป (Pop Art) ภาพผลงานของเขาจึงเสมือนการหยิบยืมสัญลักษณ์ต่าง ๆ นำมาผสมกันกับทัศนธาตุทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น สี พื้นผิว เพื่อสะท้อนความเป็นไปของยุคสมัยแห่งความเป็นสมัยใหม่ผ่านผลงานศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะตัว จอห์นใช้สัญลักษณ์มากมายมาสร้างสรรค์ผลงาน เช่น รูปร่างแผนที่ เป้ายิงปืน ตัวอักษร เป็นต้น แต่ผลงานที่ดูเสมือนเป็นต้นแบบ (Master Piece) ที่มีชื่อเสียงของเขาคงเป็นผลงานที่สร้างจากรูปลักษณ์ของธงชาติอเมริกัน (Stars and Stripes) ที่เขาเองได้สร้างขึ้นมาหลายรูปแบบอย่างน่าสนใจ
                 จิตรกรรมผสมชื่อ ธงสามผืน หรือ Three Flags (ภาพที่ 1) ของจอห์น สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1958 ด้วยเทคนิคขี้ผึ้งและสีบนผ้าใบ (wax and pigment on canvas) มีขนาด 30  × 45½ นิ้ว หรือ 78.42 x 145.16 เซนติเมตร ซึ่งปัจจุบันเป็นสมบัติและจัดแสดงนิทรรศการอยู่ที่ วิทนีย์ มิวเซียม อ็อฟ อเมริกัน อาร์ต (Whitney Museum of American Art) ณ นครนิวยอร์ก (New York City)[2] ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S.A.) เป็นภาพธงชาติสหรัฐอเมริกาสามชิ้นวางซ้อนทับกันตามลำดับขนาดใหญ่ลงมาถึงขนาดเล็ก เมื่อมองเห็นอย่างผิวเผินแล้วจึงเป็นเพียงรูปธงสามผืนธรรมดา ๆ 3 ขนาดที่ต่างกันเท่านั้น แต่เมื่อได้พิจารณาอย่างใกล้ ๆ ในรายละเอียด จะพบว่ามีเศษหัวข้อข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์(Newspaper) ภาพถ่าย (Photography) ภาพการ์ตูน (Comic) และเศษกระดาษจากสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ภายใต้พื้นผิวของขี้ผึ้ง (Wax) ที่โปร่งทะลุ (Transparent)
                 รองศาสตราจารย์ ดร.พรสนอง วงศ์สิงห์ทอง อาจารย์ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนในหนังสือวิชาการทางศิลปะชื่อ “ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์” เกี่ยวกับผลงานชุด ธงชาติของแจสเปอร์ จอห์น เอาไว้ว่า

           ...เป็นการนำภาพที่อยู่ในความนิยมและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติเข้ามาใช้ จอห์นกล่าวว่า การใช้แบบธงอเมริกัน ประหยัดเวลาผมไปเยอะ เพราะผมไม่จำเป็นต้องออกแบบเอง อันนี้ถือเป็นภาพแอบสแทรกต์ เพราะภาพประกอบด้วยรูปร่างเรขาคณิตล้วน ๆ และยังเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็รู้จักในทันทีที่เห็น ธงอเมริกันมีประวัติศาสตร์ของตนเอง และสีเทียนที่จอห์นใช้เป็นสื่อในการวาดก็เป็นสื่อที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยโบราณ...ธงเกิดจากการประกอบแผงผ้าใบที่นำไปวางทาบกัน แล้วระบายทับด้วยสีเทียน การผสมกันในลักษณะนี้ทำให้ลายผิวเนื้อเกิดความชัดเจน ปัญหาที่เขาแฝงเป็นนัย ๆ คือ เมื่อไรที่ธงหมดสภาวะเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แล้วกลายเป็นภาพ[3]

 
ภาพที่ 1  จิตรกรรมผสมชื่อ ธงสามผืน (Three Flags)
ที่มา : Space15twenty, Three Flags [Online], accessed 6 December 2011. Available from http://www.space15twenty.com/happy_4th_of_july

                 จากที่ได้อ้างถึงจะเห็นว่า จอห์น มิได้หยิบยกรูปลักษณ์ของธงชาติขึ้นมาอย่างไม่มีแนวคิด เพราะหากเป็นเช่นนั้นผลงานของเขาจึงเป็นเพียงลักษณะของผลงานในรูปแบบแอ็บสแทร็กต์ อาร์ต (Abstract Art) หรือศิลปะแนวนามธรรมเท่านั้น หากแต่สิ่งสำคัญที่มีส่วนทำให้ผลงานชิ้นนี้เกิดประเด็นทางความคิดคือ รูปลักษณ์ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมโดยตัวเองอยู่แล้ว การนำธงชาติมานำเสนอจึงเป็นการนำแนวคิดและความหมายเกี่ยวกับธงชาติเขามาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์ด้วย
                 โจนาธาน โจนส์ (Jonathan Jones) นักข่าวและนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษแห่งหนังสือพิมพ์ เดอะ กราเดียน (The Guardian) ได้เขียนเกี่ยวกับผลงานชุดนี้ในบทวิจารณ์ชื่อ “ความจริงภายใต้หมู่ดาวและริ้วเส้นของแจสเปอร์ จอห์น” (The truth beneath Jasper Johns' stars and stripes) เอาไว้ว่า

           ...มีเรื่องราวอันมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้อัตลักษณ์อันบ่งบอกความเป็นอเมริกันชน จิตรกรรมชิ้นนี้เป็นผลงานศิลปะที่เสมือนวรรณกรรมแห่งอเมริกันที่เยี่ยมยอด ประดุจดั่งอนุสาวรีย์นิ่งสงัดที่ซุกซ่อนความน่าสะพรึงกลัวบนความจริงของสามัญรูป ใครคือชาวอเมริกัน? พวกเขาคล้ายกับอะไร? ซึ่งนั่นคือความหมายที่อยู่ลึกกว่ารูปร่างของดาวห้าแฉกและแถบริ้วสี...[4]

                 ซึ่งจากบทวิจารณ์ทำให้เห็นว่าภาพลักษณ์ธงชาติอเมริกันในผลงานของจอห์นนอกจากแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นอเมริกันแล้วยังมีความหมายที่สื่อถึงนัยยะอันถูกเก็บซ่อนอยู่ภายใต้ภาพธง ซึ่งผู้ดูต้องพินิจพิเคราะห์และกระทำการตีความเพื่อให้เข้าถึงความหมายของผลงาน ความคลุมเครือนี้เองได้นำไปสู่การตั้งคำถามถึงภาวะคุณค่าการเป็นผลงานศิลปะหรือไม่ของผลงานในชุดธงชาติอเมริกัน ดังที่ในหนังสือชื่อ “จิตรกรรม” (Painting) ของ โวล์เกอร์ เกปฮาร์ดท์ (Volker Gebhardt) ได้เขียนไว้ว่า

           ...จอห์นเลือกภาพธงซึ่งเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในความเข้าใจของชาวอเมริกันมาสร้างเป็นผลงานจิตรกรรม แมกซ์ อิมดาร์ห (Max Imdahl) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมันได้ตีพิมพ์ประเด็นคำถามที่ว่า “นี่คือธงหรือจิตรกรรมรูปธงกันแน่?” และ “นี่คือจิตรกรรมรูปธงหรือเป็นแค่ภาพ?” ความคลุมเคลือไม่แน่ใจนี้คือความชัดเจน อีกทั้งยั้งนำไปเชื่อมโยงระหว่างท่าทีการปฏิวัติแห่งเสรีภาพ และการอภิปรายทางทฤษฎีที่เคร่งครัดบนความหมายของภาวะความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ในตัวของมันเอง...[5]

                 ความหมายที่ซ่อนอยู่ในผลงานชิ้นนี้จึงมิใช่อะไรอื่นมากไปกว่าสะท้อนสำนึกความเป็นชาติอเมริกัน ที่เมื่อมองในแง่มุมของประวัติศาสตร์ ณ ห้วงเวลาที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้น จะพบว่าเป็นห้วงสมัยของสงครามเย็น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และการตื่นตัวเรื่องสันติภาพ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเสมือนวัตถุดิบทางความคิดที่ดีในการที่จะนำเสนอทัศนะผ่านผลงานศิลปะ ที่สำคัญอีกประการคือจอห์นถือเป็นศิลปินที่นำเสนอผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับบริบททางสังคมและการเมืองมาตลอด ผลงานในชุดที่มีรูปลักษณ์ธงชาติอเมริกันก็มีการผลิตออกมามากมายหลายชิ้นหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงเป็นที่เชื่อโดยอนุมานจากบริบททางประวัติศาสตร์และลักษณะภาพของการสร้างสรรค์ได้ว่าผลงานของเขามีนัยยะที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
 
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายเหตุการณ์การปักธงชาติอเมริกันบนสมรภูมิอิโวชิมา
ที่มา  :   A World at War, Battle of Iwo Jima Photos Gallery [Online],  accessed

                 ผลงานจิตรกรรม “ธงสามผืน” เป็นเสมือนภาพตัวแทนของถ้อยแถลง (Manifesto) การปลุกชาตินิยม (Nationalism) ที่มีอยู่มากมายภายในสังคมอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภาพดังกล่าวแม้มิได้ถูกชูขึ้นบนเสาแบบธงชาติที่โบกสะบัดอยู่เหนือศีรษะราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับเสมือนถูกทำให้หยุดนิ่งคล้ายดังภาพถ่ายเหตุการณ์การปักธงชาติอเมริกันบนสมรภูมิอิโวชิมา (Battle of Iwo Jima) เมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 (ภาพที่ 2) หรือ ภาพถ่ายธงชาติอเมริกันที่ถูกปักบนดวงจันทร์ ในโครงการอะพอลโล 11 (Apollo 11) เมื่อวันที่ 21กรกฎาคม ค.ศ.1969 (ภาพที่ 3) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นโฆษณาชวนเชื่อปลุกเร้าความรู้สึกภาคภูมิในความเป็นชาติของตน
                 ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามิใช่ประเทศที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานเหมือนหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ดังนั้นการสร้างมายาคติทางด้วยประวัติศาสตร์ผ่านภาพสัญลักษณ์ธงชาติจึงเป็นกระบวนการประดิษฐ์กรรมความเป็นชาติให้เกิดขึ้น โดยที่มีฐานะของผู้ชนะจากสงครามโลกอำนาจทางเศรษฐกิจ ค่านิยมในสังคม และลัทธิทางการเมืองเป็นปัจจัยที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงให้ชาตินิยมของชาวอเมริกันเสร็จสมบูรณ์

 
ภาพที่ 3   ภาพถ่ายธงชาติอเมริกันที่ถูกปักบนดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโล 11 (Apollo 11)
ที่มา : Wikipedia, Apollo 11 [Online],  accessed 8 December 2011.  Available from  http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/dd/Buzz_salutes_the_U.S._Flag.jpg

                 โดยสรุปแล้วผลงานจิตรกรรมผสมชื่อ “ธงสามผืน” (Three Flags) รวมไปถึงผลงานชิ้นอื่น ๆ ที่ปรากฏภาพลักษณ์ของธงชาติอเมริกันของแจสเปอร์ จอห์น ถือผลงานศิลปะที่สะท้อนสำนึกชาตินิยมของชาวอเมริกันซึ่งมีความเชื่อโยงในลัทธิชาตินิยมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเป็นไปทางการเมืองในระดับสากล ผลงานชิ้นนี้และในชุดที่เกี่ยวข้องจึงไม่เพียงมีคุณค่าในทางศิลปะเท่านั้น หากแต่ยังบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองได้อย่างคมคายอีกด้วย


                 [1] สุธี  คุณาวิชยานนท์, “Modern & Contemporary Art: ศัพท์, ลัทธิ และความเคลื่อน ไหวทางศิลปะร่วมสมัย,  เอกสารพิเศษในรายวิชา 215 427 Contemporary Art and Culture (ศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย)  (กรุงเทพฯ : ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและ ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ม.ป.ป.), 37-38.
                 [2] Wikipedia, Three Flags [Online],  accessed 23 May 2011.  Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Three_Flags
                 [3] พรสนอง  วงศ์สิงห์ทอง, ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์, 423.
                 [4] Jonathan Jones, The truth beneath Jasper Johns' stars and stripes [Online], accessed 24 May 2011.  Available from http://www.guardian.co.uk/artanddesign/ jonathanjonesblog/2008/oct/24/jasper-johns-jonathan-jones-flag
                 [5] Volker Gebhardt, Painting (London : Laurence King, c1998), 198.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น