วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ฟ.ฮีแลร์: ครูฝรั่งแห่งสยาม: ผู้รังสรรค์แบบเรียนไทย

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
(E-mail: jumpsuri@gmail.com , Facebook: https://www.facebook.com/SuriyaCritic)




สองคนยลตามช่อง        คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
คนหนึ่งตาแหลมคม          มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว
(ฟ.ฮีแลร์)      

เมื่อได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่อง "ฟ.ฮีแลร์"[1] ( F. Hilaire) 2015 ซึ่งมีเนื้อหาครึ่งหนึ่งเป็นอัตชีวประวัติของภราดาฟร็องซัว ตูเวอแน (François Touvenet) หรือที่รู้จักในนาม ฟ.ฮีแลร์ หรือ เจษฎาธิการฮีแลร์ (18 มกราคม 2424 - 3 ตุลาคม 2511) เป็นนักบวชคณะภราดาเซนต์คาเบรียล เจ้าของสมญานาม "ปราชญ์แห่งอัสสัมชัญ" ได้รับการยกย่องในด้านความแตกฉานภาษาไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากท่านเป็นชาวฝรั่งเศสมาแต่กำเนิด จนเมื่อได้มาอยู่ที่ประเทศไทย ท่านก็ศึกษาภาษาไทยจนแตกฉานและสามารถแต่งหนังสือเรียนภาษาไทยให้เด็กไทยเรียนได้[2]จนเป็นแบบเรียน "ดรุณศึกษา"
ซึ่งกลอนบทที่นำมาเสนอข้างต้นนั้น ก็แต่งโดยท่าน ฟ.ฮีแลร์ ซึ่งไม่เพียงมีการสัมผัสคำที่ไพเราะเสนาะหูเท่านั้น หากแต่ยังคงไปด้วยความคิดเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง แม้จะเป็นเพียงร้อยกรองแค่ 1 บทเท่านั้น
เมื่อกล่าวไปถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความโดดเด่นในเรื่องของภาพที่จัดวางองค์ประกอบได้ลงตัว แม้ว่าหลายฉากจะดูไม่ค่อยสมจริงนัก แต่ด้วยเนื้อหาของภาพยนตร์จึงไม่ได้ทำให้คุณค่าของบทจะด้อยลง ในขณะที่หากผู้ดูปรารถนาจะดูชีวประวัติของท่าน ฟ.ฮีแลร์ แต่เพียงอย่างเดียวแล้วไซร้ ก็คงจะต้องผิดหวัง เพราะโครงเรื่องนั้นเป็นการดำเนินควบคู่กันไประหว่างตัวละครหลัก 2 ตัว คือ ตัวเองที่เป็นครูในปัจจุบัน กับการดำเนินชีวประวัติ (โดยย่อ) ของครูสมัยก่อน โดยมีท่าน ฟ.ฮีแลร์ เป็นภาพตัวแทนของครูในยุคเก่าที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์
ภาพยนตร์ไม่ได้เล่าความเป็นมาและแสดงถึงกระบวนการคิดค้นตำราเรียนภาษาไทยของท่าน ฟ.ฮีแลร์ แต่มุ่งไปที่นำเสนอปรัชญาในการใช้ชีวิตของท่าน แม้เนื้อหาปรัชญาชีวิตจนกลายเป็นอุดมคติประจำตัวของท่าน ฟ. ฮีแลร์จะเชื่อมโยงกับแนวคิดทางพระคริสต์ศาสนาก็ตาม แต่ตัวภาพยนตร์เองก็มิได้ยัดเยียดความเป็นศาสนาคริสต์มากเท่ากับการนำเสนอแนวความคิดของบุคคลท่านหนึ่งที่ยึดมั่นในปรัชญาบางอย่างที่ยึดโยงกับศาสนาของเขาเอง
สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ต้องการขับเน้นคือการเล่าโครงเรื่องที่ว่าท่าน ฟ. ฮีแลร์ เป็นชาวฝรั่งเศส แต่กลับมาทำประโยชน์ ณ สยามประเทศอันไม่ใช่ประเทศที่เป็นบ้านเกิดของเขา ซึ่งตรงนี้ตัวละครได้เฉลยผ่านคำพูดที่น่าตรึงใจประมาณว่า “ในโลกใบนี้ไม่มีคนอื่น” ซึ่งจากคำพูดดังกล่าวล้วนทำให้เห็นแนวคิดของท่านได้อย่างชัดเจน (หรือดังที่ มหาตมะ คานที ได้กล่าวเอาไว้ว่า “โลกทั้งผอง พี่น้องกัน”) นั่นหมายถึงการจะบอกว่าท่าน ฟ.ฮีแลร์ เป็นชาวตะวันตกแล้วทำไมถึงต้องมาอยู่ในประเทศสยามนั้น จึงถูกเฉลยไปที่ประเด็นที่ว่า ท่านมองว่าทุกๆ ที่ก็คือบ้าน เขตแดนหรือพรมแดนหาใช่สิ่งที่แบ่งมนุษย์ออกจากกันไม่ ในเมื่อเราเองก็เกิดมาเพื่อเป็นเพื่อนมนุษย์ภายใต้โครงสร้างอำนาจของกฏของธรรมชาติเช่นเดียวกัน
ภาพยนตร์เรื่อง "ฟ.ฮีแลร์" เป็นภาพยนตร์ที่น่าดูเรื่องหนึ่งทีเดียว แม้ว่าอาจจะเป็นแนวภาพยนตร์ที่คนไทยโดยทั่วไปมักไม่ค่อยชอบสักเท่าไร (อาจเพราะมีเนื้อหาที่ดูเป็นชีวประวัติจริงจังมากกว่าจะนำเสนอความตลกหรือความรักโรแมนติกแบบที่นิยมกัน) แต่ "ฟ.ฮีแลร์" กลับทำให้เราได้แง่คิดและแรงบันดาลใจบางอย่างที่อาจจะตั้งคำถามในใจของเรา นั่นคือ ท่านเป็นชาวตะวันตกที่เข้ามาใช้ชีวิตและทำประโยชน์ให้กับสังคมสยามหรือประเทศไทย ซึ่งในยุคสมัยก่อนนั้นมีบุคคลต่างชาติมากมายที่เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศสยาม เช่น ท่านศาสตราจารย์คอลาโด เฟโรซี หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาเลียนแต่เข้ามาสร้างผลงานทางศิลปะไทยสมัยใหม่และสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากรที่ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นต้น
            บางครั้งเราก็ควรกลับมาคิดกันว่า คนที่อยู่ในประเทศตัวเองที่เรียกว่าบ้านเกิดเมืองนอนนั้นก็หาได้มีความสำนึกไม่ ว่าแท้จริงตัวเราเองควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรา อย่างน้อยการเป็นคนดีที่ไม่ผิดศีลธรรมหรือผิดกฎหมายนั้นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมพัฒนาต่อไปได้ หรือหากจะทำประโยชน์อะไรที่มากกว่านั้นก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีน่าอนุโมทนา
อย่าให้ถึงกับเราต้องอายบุคคลผู้มีพระคุณในอดีตทั้งหลายที่ได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับบ้านเกิดเมืองนอนของเรา แม้ว่าท่านเหล่านั้นจะไม่ได้เกิด ณ แผ่นดินนี้ก็ตาม


 
 



 



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น