วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สุนทรียภาพจาก Burn the Floor in London (1999)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

 
Burn the Floor in London ในปี ค.ศ. 1999 เป็นการแสดงนาฏกรรมร่วมสมัยที่มีความลงตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งประกอบด้วยผู้แสดงประมาณ 40 กว่าคน หลากเชื้อชาติ 10 กว่าประเทศ รวมตัวและฝึกซ้อมกันเพื่อสร้างการแสดงนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่อลังการที่น้อยครั้งจะหาดูได้
การแสดงครั้งนี้เปิดตัวด้วยการเต้นรำหมู่ในจังหวะสนุกสนาน โทนสีในช่วงแรกเปิดมาให้อยู่ในโทนสีน้ำเงินทั้งนี้อาจเนื่องด้วยไม่ให้เป็นการสาดแสจัดจ้ามากเกินไปนัก เหมือนกับว่าให้ชินกับแสงสีที่อยู่เบื้องหน้า บรรยากาศสนุกสนานและอลังการ ซึ่งจะเป็นการแสดงที่นำไปสู่ชุดต่างๆต่อไป
เมื่อได้ดูลักษณะการเคลื่อนไหวและการเต้นรำจะเห็นว่ามีการจับคู่ระหว่างชายหญิงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติของการเต้นรำ และที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะอยู่ในการแสดงชุดใดก็ตามผู้เต้นชายและหญิงแต่ละคู่ต้องเต้นจับคู่ของตนอยู่ตลอดทุกชุดการแสดง นั้นแสดงให้เห็นว่าคู่เต้นแต่ละคู่ต้องมีการฝึกซ้อมด้วยกันอยู่เสมอ ไม่นับเวลาที่ต้องทำความรู้จักและไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน จนกระทั่งรู้จังหวะในการเต้นรำเป็นอย่างดี ทำให้ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ดูคล้ายกับว่ามิสามารถเกิดขึ้น ตรงนี้เองก็ทำให้วิเคราะห์ได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งสำคัญพื้นฐานของการแสดงออกไม่ว่าจุดไหนก็ตาม ต้องประกอบด้วยทักษะและการฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นองคาพยพ มีร่างกายของคู่ซ้อมประดุจอาภรณ์ประดับกาย และมีจังหวะในใจเสมือนการเต้นของชีพจร
การแสดงออกของการเคลื่อนไหวทางร่างกายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการแสดงชุดนี้ ท่าทางของผู้เต้นแต่ละคนจะมีความเป็นไปตามจังหวะแต่ละช่วง เมื่อใดที่จังหวะของดนตรีช้า มีการเว้นพื้นที่ว่างของเสียงเป็นห่วงที่นาน การเยื้องย่างของผู้แสดงก็จะเป็นไปอย่างแช่มช้า แต่เมื่อใดที่จังหวะดนตรีและเครื่องประกอบจังหวะถี่ชัดก็จะเป็นการร่ายรำอย่างลงจังหวะเร็ว หากจังหวะเป็นเสียงกลองฟังแล้วเกิดความรู้สึกที่หนัก แน่น ชัดเจน การเต้นก็จะแสดงออกด้วยถ่วงท่าที่หนักแน่น ชัดเจน และมั่นคง ให้อารมณ์ความรู้สึกถึงลมหายใจถี่เร็วราวกับตื่นเต้นกับอะไรบางอย่าง
ข้อสังเกตอีกประการคือ การแสดงชุดใดที่มีเรื่องราวดำเนินเป็นแกนหลัก ผู้แสดงก็จะสมมุติตัวเองให้เป็นตัวตนในการแสดงนั้นได้อย่างดี ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้นักแสดงคู่นี้จะแสดงในบทอื่น แต่เมื่อเปลี่ยนชุดแสดงในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกติดอยู่กับภาพลักษณ์ของการแสดงชุดก่อนแต่อย่างใด และในหลายช่วงตอนที่กล้องได้จับภาพระยะใกล้ของใบหน้าผู้แสดง ก็จะเห็นว่าอารมณ์ของผู้แสดงไม่ได้ถ่ายทอดแต่เพียงท่าทางเท่านั้น หากแต่ความรู้สึกทางสีหน้าก็ได้แสดงออกมาราวกับมิใช่การจัดฉาก กลับดูคล้ายว่าผู้แสดงมีชีวิตจริงเป็นตัวละครจริงตามท้องเรื่องที่ถูกกำหนดในบทตอนนั้นๆ ซึ่งจะเห็นชัดเจน ในการแสดงชุด Passionata

ซึ่งการแสดงในชุดดังกล่าว ได้ทำให้องค์ประกอบของการแสดงทั้งหมด 8 ชุด มีรสชาติที่เร้าอารมณ์ขึ้นอย่างน่าชม ด้วยการแสดงในชุด Passionata นี้ ประกอบด้วยเรื่องราวของหญิงนางหนึ่ง และชายสองคนเป็นตัวเอก ทั้งสามต่างมีความสัมพันธ์ทั้งทางกายและใจต่อกัน การแสดงออกทางนาฏลีลาได้บ่งบอกความสัมพันธ์ทางโลกียวิสัยของตัวละครเอกทั้งสามผ่านท่าทางที่บางครั้งสื่อถึงราคะจริต ทว่ามิได้แสดงออกมาอย่างอนาจาร แต่ท่วงท่าที่เกิดขึ้นเป็นการจัดองค์ประกอบของร่างกายให้เกิดผัสสะกับบริบทรอบเวทีแสดง เช่น จัดมุมให้รับกับแสง เคลื่อนไหวไปพร้อมจังหวะและการเร่งเร้าของสีสรรบนเวที กระทั่งผัสสะระหว่างกันของผู้แสดงก็แสดงออกได้อย่างมีศิลปะ ไม่ดูส่อถึงจริตอันไม่งามแต่อย่างใด
คงจะเป็นการละเลยในจุดสำคัญเป็นอันมากหากมิได้กล่าวถึงชุดที่สวมใส่ในการแสดงเลย เพราะความโดดเด่นในการคัดสรรอาภรณ์มาใช้กระกอบการแสดง ทำให้แต่ละบทตอนของการแสดงเป็นไปด้วยความความงดงาม ในบางชุดช่วงแรก มีการติดหลอดไฟไว้กับกระโปรงของนักแสดงหญิง สิ่งที่ฝ่ายแสงทำในขณะนั้นคือหรี่ไฟบนเวทีลง หลอดไฟที่ติดอยู่กับกระโปรงก็เคลื่อนไหวไปพร้อมกับการแสดงแต่ละท่วงท่าที่ผู้แสดงไฟเคลื่อนไหวไป จึงดูคล้ายกับแสงหิ่งห้อยเล็กได้ล่องอยู่ในเวหาของราตรีอย่างร่าเริง
ในบางชุดที่บ่งบอกถึงการย้อนสมัยประวัติศาสตร์ผ่านจังหวะดนตรีและท่าเต้น ชุดที่ผู้เต้นสวมใส่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในแกนหลักของการเล่าเรื่อง ทั้งนี้เพราะเสื้อผ้าอาภรณ์เป็นสิ่งมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยย่อมมีการคิดค้นออกแบบให้งดงามตามความใช้สอนและค่านิยมในสมัยนั้นๆ ดังนั้นไม่ว่าการแสดงออกใดๆทั้งสิ้น ผู้ที่ออกแบบการแสดงต้องคำนึงถึงลายละเอียดของชุดด้วย
การใช้อุปกรณ์ประกอบก็ใช้ได้อย่างน่าดู โดยเฉพาะในชุดที่มีการนำหุ่นลองเสื้อที่ติดกับล้อมาเต้นรำคู่กับผู้ชา ซึ่งด้วยความที่ผู้แสดงมิได้เห็นหุ่นนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่พวกเขากลับมองหุ่นนั้นราวกับคู่เต้นของตน ทำให้ผลที่ออกมาเป็นการแสดงที่ไม่เคอะเขิน แต่กลับยิ่งดูมีชีวิตชีวาและสื่อถึงนัยยะบางอย่างได้อย่างดี
การแสดงนาฏกรรมชุด Burn the Floor in London จึงเป็นการแสดงออกทางศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สื่อออกมาเป็นภาษาที่ไม่ยากในการเข้าใจ ทว่าหากกล่าวขึ้นเป็นคำพูดหรือจารจดเป็นบทความกลับไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เนื่องด้วยการแสดงชุดนี้ผสมผสานกันระหว่างศาสตร์ต่างๆ เช่น ดนตรี การเต้นรำ การจัดองค์ประกอบของเวที กระทั่งเรื่องแสง และที่สำคัญคือการออกแบบชุดในการเต้นก็ทำได้อย่างไม่มีที่ติ เท่านี้ก็นับได้ว่าเป็นการแสดงที่ควรหาดูหาชมเป็นอย่างยิ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น