วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ของธงชาติไทยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน

สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
jumpsuri@hotmail.com
 
                 ชาตินิยมเป็นแนวคิดที่เกี่ยวพันกับทางการเมืองโดยตรง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการเข้าสู่อำนาจด้วยคณะบุคคล มักอ้างถึงความชอบธรรมของกลุ่มก่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสิทธิ์อันชอบธรรม และสิ่งที่มักกล่าวอ้างคือการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำประชาชนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นหรือเพื่อความมั่นคงและพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งในข้อเท็จจริงบางประการเชื่อมโยงกับการได้มาซึ่งอำนาจและการครอบครองทรัพย์มหาศาล แต่กระนั้นการกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับชาติมักเป็นคำอ้างที่ส่งผลให้เกิดน้ำหนักที่ดูจะมีประโยชน์ไม่น้อยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
                 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะทหารและพลเรือนที่เรียกกลุ่มตนเองว่า คณะราษฎร ซึ่งกระทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ อันมีการปกครองโดยประชาชนหรือต่อมาเรียกกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อคณะราษฎรได้ทำการยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วกระทำการปลดธงรูปครุฑที่อยู่เหนือโดมพระที่นั่งออกซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ในการลดบทบาทอำนาจการปกครองของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน
                 เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ถือเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน คือเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การปฏิวัติทางการเมืองโดยนักศึกษาและประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า 14 ตุลาคม 2516 หรือ 14 ตุลา 16 ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับชาตินิยมกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เอาไว้อย่างชัดเจนว่า
           ...เราอาจมองความเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหรือความเคลื่อนไหวที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซ์ แต่แรงผลักดันที่สำคัญซึ่งประสานอุดมการณ์อันหลากหลายไว้ภายใต้ความเคลื่อนไหวอันเดียวกันนี้คือแรงผลักดันจากสำนึกทางชาตินิยม...[1]

                 ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนไว้ว่า
           ...การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวในประชาสังคม แต่ไม่ใช่ส่วนทั้งหมด และการเมืองภาคประชาชนต่างจากขบวนปฏิวัติในสมัยก่อนตรงที่ไม่มีจุดหมายที่จะยึดกุมอำนาจรัฐมาดัดแปลงสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ยึดมั่น หากประสงค์จะได้มาซึ่งฐานะในการกำหนดชีวิตของตนเอง (Self Determination) โดยไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐเสมอไป...[2]
 
                 ตลอดการชุมนุมในเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝ่ายนักศึกษาได้ชูสัญลักษณ์อันเกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งสามตามความหมายของธงชาติไทย กล่าวคือมีการประดับธงชาติเคียงคู่ไปกับพระพุทธรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถบนเวทีปราศรัยชั่วคราวหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันของผู้ชุมนุมที่มีสิ่งยึดเหนี่ยวอันเดียวกัน ทั้งนี้บางครั้งคราวมีการโบกธงชาติไทยเพื่อปลุกอารมณ์ความรู้สึกรักชาติ เมื่อคราวถึงเวลาที่จะต้องเคารพธงชาติทุกคนก็ยืนตรงเคารพและร้องเพลงชาติร่วมกัน นั่นยิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ให้ความหมายของความเป็นชาติที่สถิตในธงชาติกลายเป็นรูปธรรมและพิธีกรรมที่ชัดเจนมากขึ้น
ริ้วขบวนธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร ขบวนอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์
 
                 ลักษณะการเดินขบวนที่ได้ถูกออกแบบเป็นอย่างดี โดยมีขบวนธงชาตินำหน้า ตามด้วยธงเสมาธรรมจักรสีเหลืองและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่นำไปสู่ภาพตัวแทนของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏขึ้นจริงมากกว่าเป็นเพียงอุดมการณ์
 ธงชาติเปื้อนเลือดของนายจิระ บุญมาก ผู้เสียชีวิตจากการถูกทหารยิง
ประชา  สุวีรานนท์,  “ธงชาติ : โวหารของความรักชาติ,”  ใน  ดีไซน์+คัลเจอร์ 2 (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2552), 55.
 
                 ภาพเหตุการณ์ที่สำคัญอันหนึ่งที่มีผลทางความรู้สึกเป็นอย่างยิ่งเป็นภาพธงเปื้อนเลือดศพของนายจิระ บุญมากผู้เสียชีวิตจากการถูกทหารยิงคนแรก ซึ่งผู้ชุมนุมได้ชูธงชาติที่เปื้อนเลือดขึ้นอย่างไม่พอใจและยิ่งทวีความโกรธแค้นทหารที่ได้สังหารและทำร้ายประชาชนอย่างที่สุด ศพของเขาได้รับการกราบไหว้จากผู้เข้าร่วมชุมนุมและนำธงไตรรงค์ห่อคลุมร่างของเขาแล้วแห่ไปวางยังพานรัฐธรรมนูญ[3]
                 ภาพที่ปรากฏได้แสดงสัญญะของการสละชีพที่มิเพียงเพื่ออุดมการณ์เท่านั้น แต่เพื่อการต่อสู้ให้เกิดความชอบธรรม ธงชาติในภาพจึงเป็นภาพลักษณ์ของชาตินิยมที่มีผลอันเกี่ยวข้องทางการเมืองอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะยิ่งเป็นการเมืองที่ภาคประชาชนคนชั้นกลางและเหล่าปัญญาชนได้ร่วมมือกันเป็นกำลังสำคัญแล้ว ก็ยิ่งยิ่งทำให้ความชอบธรรมของฝ่ายอำนาจรัฐยิ่งดูเลือนลางมากยิ่งขึ้น สุดท้ายยังเป็นการผลักดันให้ผู้มีอำนาจรัฐกลับกลายเป็นศัตรูของชาติไปด้วย
                 ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ภาพของธงชาติที่นักศึกษานำมาคลุมศพในการแสดงละครเวทีเพื่อล้อการเมืองกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างว่าผู้ชุมนุมมีลักษณะที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์และต้องการล้มล้างระบอบการปกครองในห้วงเวลานั้น ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อ้างว่า “...การกระทำดังกล่าวเป็นการเหยียบย่ำธงชาติ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชาติไทยเราอย่างน่าอัปยศที่สุด อันนับได้ว่าเป็นการเหยียดหยามคนไทยทั้งชาติ...”[4] เหตุการณ์ดังกล่าวได้บานปลายไปสู่การล้อมปราบเข่นฆ่าผู้ชุมนุมโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและประชาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างไม่ปราณี อีกทั้งนำไปสู่การทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
                 ส่วนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหรือเหตุการณ์จลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวเมื่อคราว 14 ตุลาคม 2516 อยู่ไม่น้อย ทว่าความแตกต่างก็มีมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นชาตินิยมโดยตรงจะไม่ปรากฏชัดเจนนัก หากแต่การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยของชนชั้นกลางกลับเป็นประเด็นมากกว่าการต่อสู้ที่ผนวกกับแนวคิดความเป็นชาติ ธงชาติที่ปรากฏในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนเครื่องหมายหนึ่งในการเรียกร้องของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวนั้นก็มิได้จัดการเป็นรูปแบบที่ขบวนชัดเจนดัง 14 ตุลาคม 2516 แต่กลับขับเคลื่อนขบวนเป็นกลุ่มก้อนและเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนินเพื่อต่อรองให้มีการเปลี่ยนอำนาจรัฐซึ่งมาจากการทำรัฐประหารในปีพ.ศ. 2534
ประชาชนรวมตัวประท้วงที่ถนนราชดำเนินในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535
 
                 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์ประเด็นชาตินิยมกับเหตุการณ์พฤษาทมิฬ  2535 เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
           ...เนื่องขากชาตินิยมไม่เป็นแรงผลักดันให้แก่ความเคลื่อนไหว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องทบทวนให้เนื้อหาแก่ชาติกันใหม่อย่างจริงจัง ด้วยเหตุดังนั้นความเคลื่อนไหวพฤษภา’ 35 จึงไม่นำมาซึ่งการทบทวนและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาติ...เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองแท้ ๆ ...[5]

                 ซึ่งแม้ว่าภาพรวมที่ปรากฏจะพยายามเอาความหมายของธงชาติออกมาใช้บางเป็นบางคราว แต่เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองธงชาติไทย (ธงไตรรงค์) ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเสมอดังเช่นในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535[6]
  กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มเสื้อเหลือง
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการหรือกลุ่มเสื้อแดง
 
                 ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการหรือกลุ่มเสื้อแดงในยุคร่วมสมัยและหลังสมัย พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คาบเกี่ยวกับการทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ. 2549 ธงชาติได้ถูกกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวนำมาชูขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมทางการเมือง ทุกฝ่ายต่างตั้งธงชาติไทยขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชาติ เป็นตัวแทนของประชาชาติไทย เป็นตัวแทนความชอบธรรมในสังคมที่มีมากกว่าฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งถือเป็นสงครามเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญในยุคปัจจุบัน


                 [1] นิธิ  เอียวศรีวงศ์,  “ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย,” ใน  ชาติไทย, เมืองไทย,  แบบเรียนและอนุสาวรีย์  (กรุงเทพฯ : มติชน, 2537), 181-182.
                 [2] เสกสรรค์  ประเสริฐกุล,  “การเมืองภาคประชาชน,”  ใน  อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ: รวมปาฐกถาในรอบห้าปี (พ.ศ.2546-2551)  (กรุงเทพฯ : สามัญชน, 2551), 67.
                 [3] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 265.
                 [4] เรื่องเดียวกัน, 254-255.
                 [5] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย,”  ใน  ชาติไทย,  เมืองไทย  แบบเรียนและอนุสาวรีย์, 187.
                 [6] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 273.

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมขอใช้รูปภาพเหล่านี้ใน การทำสือเพื่อการเรียนรู้ เพื่อทำงานส่งคุณครู นะครับ

    ตอบลบ