วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความปกติ-ไม่เป็นปกติของภาพเพื่อสร้างชุดความหมายใหม่ผ่านรูปสามัญ

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

ผลงานวีดีโอที่จัดแสดงในชุด “อิงลิช เมจิก” (English Magic)* ของเจอเรมี ดิลเลอร์ (Jeremy Dellers) ณ บริทิส พาวิลเลียน (British Pavilion) ในการแสดงนิทรรศการศิลปะนานาชาติเวนิซ เบียนาเล่ ครั้งที่ 55 (the 55th International Art Exhibition - La Biennale di Venezia) ค.ศ. 2013 เป็นผลงานเชิงวิพากษ์ในบริบทการเมืองของสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบไปด้วยสัญญะที่มีการจัดวางชุดความหมายได้อย่างน่าสนใจ
วัตถุปกติถูกเปลี่ยนเป็นสัญญะ (sign) ที่สื่อความหมายตลอดทั้งเรื่องอย่างแนบเนียนด้วยวิธีการจัดการภาพที่ทั้งปกติและผิดปกติ เช่น การทำภาพให้เคลื่อนไหวช้า-เร็ว และการย้อยภาพกลับไปกลับมา (replay) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปเพื่อสร้างชุดความหมายใหม่ ขณะเดียวกันกระบวนการที่ผิดปกติทำให้ผู้ดูอาจเกิดทั้งความเพลิดเพลินและความน่าเบื่อในเวลาเดียวกันได้  
ภาพการดำเนินเรื่องอย่างไม่เป็นปกติ (เร็ว-ช้า-ย้อนกลับ) ทำให้ผู้ดูอาจต้องใช้ระยะเวลาในการถอดรหัสความหมายมากเท่ากับต้องให้เวลาในการต้องกลับไปดูผลงานอีกครั้งเพื่อให้การตีความหมายมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการตีความหมายนั้นก็อาจจะมิได้รวมไปถึงการจำกัดขอบเขตกระบวนการรับรู้ของผู้ดู ศิลปินพยายามจะส่ง “สาร” ให้มีความชัดขึ้นด้วยการปล่อยให้ระยะเวลาของภาพแต่ละช่วงมีความยาวที่ไม่มากจนเกินไป ฉะนั้นกว่าภาพจะถูกเปลี่ยนไปในฉากต่อไป ผู้ดูเองก็สามารถที่จะใช้เวลา ณ ขณะดังกล่าวถอดความหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเบื้องต้นได้พอสมควร
 
สัญญะต่างๆ ที่ปรากฏในผลงานล้วนเชื่อมโยงความหมายแฝง อันทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสอดคล้องระหว่างภาพที่ปรากฏ (ซึ่งเป็นภาพสิ่งของปกติแต่ถูกกระบวนการทำให้เกิดการผิดปกติด้วยการบิดเบือนห้วงเวลาที่เป็นจริง) กับความหมายที่ศิลปินต้องการส่ง “สาร” (message) ว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนกับการที่ผู้ดูจะสามารถทำความเข้าใจกับตัวผลงานได้อย่างกระจ่างชัด
นกเหยี่ยว นกฮูก กงเล็บ รถยนต์ รถเครื่องจักรขนาดใหญ่และเครื่องจักรบีบอัดรถยนต์ มีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวอื้อฉาวของราชวงศ์อังกฤษ กรณีการไปล่านกที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย (ซึ่งเป็นนกที่กำลังจะสูญพันธุ์) แต่กลับไม่มีการแจ้งถึงความผิดอย่างเปิดเผย ลักษณะของภาพในผลงานยังเน้นย้ำถึงการใช้กรงเล็บทั้งของนกและเครื่องมือสำหรับหยิบจับของรถเครื่องจักรขนาดใหญ่ในการเป็นผู้มีอำนาจในการกระทำต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้อยู่ใต้อำนาจ ภาพเล่าเรื่องการบีบอัดรถยนต์โดยที่รถยนต์ถูกยกขึ้นด้วยกงเล็บของรถเครื่องจักรขนาดใหญ่และถูกบีบอัดด้วยเครื่องจักรแสดงให้เห็นภาวะของการบดขยี้ราวกับการกระทำเพื่อความสะใจ (ซึ่งแสดงการบีบอัดด้วยจำนวนครั้งที่มากกว่าหนึ่ง)  
สโตนเฮนจ์เป่าลมมีการเป่าลมเข้าในช่วงต้นของฉากทำให้สโตนเฮนจ์ค่อยๆ กางออกและถูกปล่อยลมออกในช่วงจบฉากอันทำให้สโตนเฮนจ์ค่อยๆ หลุบลง กระบวนการเกิดขึ้นและจบลงของฉากดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนสถานะสโตนเฮนจ์ จากความเป็นของแข็ง (หิน) สู่ความเป็นของนิ่ม (อัดลม-อากาศ) จากสถานที่เฉพาะที่แตะต้องไม่ได้กลายเป็นสถานที่จำเพาะให้คนเข้ามาเล่นได้อย่างอิสรเสรี ผู้คนต่างเพศต่างวัยมีท่าทีในการแสดงออกต่อพื้นที่บนสโตนเฮนจ์เป่าลมอย่างสนุกสนาน หลายช่วงมีนักกีฬายิมนาสติกเด็กแสดงทักษะท่าทางยิมนาสติก ซึ่งทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลายกว่าช่วงของการบีบอัดรถยนต์ที่มีมาก่อนหน้า
ขณะที่ขบวนพาเหรดแสดงภาพการเดินขบวนของคนซึ่งมีวัตถุสิ่งของประกอบและพาหนะที่แตกต่างกัน ภาพทั้งหมดเป็นการประกอบกันเพื่อสร้างชุดความหมายที่แสดงสถานะทางสังคม ชนชั้นที่หลากหลาย ภาพแทนของกลุ่มอาชีพต่างๆ สัญลักษณ์ของสงครามและความมั่นคงของรัฐ สิ่งต่างๆ ที่ถูกทำให้ปรากฏในฉากดังกล่าวเรียกร้องให้ผู้ดูต้องจับจ้องรายละเอียดที่มากมายของภาพ ซึ่งรายละเอียดที่เป็นทั้งภาพ (image) หรือความหมายผ่านตัวอักษร (type) ทำให้เชื่อมโยงไปถึงความหลากหลายของสังคมที่ถูกทำให้อยู่ในกรอบของความไม่หลากหลายผ่านสัญญะการเดินขบวนที่เป็นกลุ่มแถวมากกว่าเดินกระจายอย่างอิสระ
ภาพนักดนตรีที่กำลังเล่นเครื่องดนตรีที่เป็นเสียงประกอบในผลงานมีการตัดต่ออย่างตั้งใจในกรณีการวางภาพของคนผิวสีและคนผิวขาวด้วยจังหวะที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้เห็นถึงการเป็นภาพตัวแทนของความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่าง แต่กระนั้นก็ยังเชื่อมโยงไปถึงภาวะของความเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ที่ไม่ได้มุ่งยึดพื้นที่ในความเป็นรัฐชาติ หากแต่เป็นการยึดครองด้วยอำนาจของความเป็นตะวันตก 
 ผลงานวีดีโอชุด “อิงลิช เมจิก” เป็นเพียงส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะอินสตอลเลชั่น (Installation) เท่านั้น ดังนั้นการอธิบายความหมายของผลงานจึงอยู่ในขอบเขตของการเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างเดียว หาใช่การเห็นบริบทของผลงานทั้งหมดไม่ การถอดรหัสความหมายจึงมีขอบเขตที่อาจจะไม่ครอบคลุมไปถึงการติดตั้งในบริบทของพื้นที่จริง การรับรู้เฉพาะตัวผลงานดังกล่าวนี้ แม้จะไม่เพียงพอต่อการตีความทั้งหมดก็ตาม แต่ก็หาได้ทำให้การสื่อสารของวีดีโอชุด “อิงลิช เมจิก” จะไม่เกิดผลกระทบในการรับรู้ของผู้ดู
แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏในวีดีโอจะแสดงภาพของสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นปกติ แต่ในความเป็นปกตินั้นได้สร้างชุดความหมายใหม่อย่างน่าสนใจ การที่ศิลปินใช้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความหมายอื่นในบริบททางสังคมที่มากกว่าการตีความหมายทางตรง ย่อมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้มีความเข้าใจในข้อความที่ถอดออกมาจากภาพที่ปรากฏได้ เช่น ผู้มีอำนาจหรือผู้กระทำ (เหยี่ยว เครื่องจักร) การท้าทายฐานะความเป็นของสูง (ความศักดิ์สิทธิ์) ให้กลายเป็นของเล่น (สโตนเฮนจ์เป่าลม) การล้อเล่นกับความมั่นคงของรัฐและสงคราม (ชุดทหาร-ยิ้ม-โบกมือ-การเอาผ้าปิดปากประบอกปืนรถถัง) เป็นต้น 
เพราะฉะนั้นกระบวนการสร้างรหัสในวีดีโอชุด “อิงลิช เมจิก” แม้จะมีที่มาจากความเป็นตะวันตกก็ตาม หากแต่ด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างอันเกิดจากการข้ามวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ก็ไม่ได้ทำให้ความเข้มข้นของเนื้อหาผลงานกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสื่อสารได้ ทั้งนี้อาจด้วยการตีความของผู้ดูเองก็มีอิสระในการเลือกที่จะทำความเข้าใจในมุมมองของตัวเองมากเท่ากับการนำเสนอในสิ่งที่ศิลปินเองต้องการสื่อถึง
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ในขณะที่ผู้ดูอาจจะไม่สามารถเข้าใจ “สาร” ตรงกับสิ่งที่ศิลปินต้องการ “สื่อ” ได้อย่างครบถ้วน ผู้ดูเองจะได้รับการยอมรับจากศิลปินหรือไม่ หรือผู้ดูเองมีสิทธิ์หรือไม่ หากผู้ดูจะมีสถานะเป็น “ผู้กุมอำนาจ” ในการเลือกที่จะสร้าง “สาร” ชิ้นใหม่ ซึ่งมีรากฐานมาจากการถอดความหมายและการตีความโดยอาจจะเกินจากขอบเขตของวัตถุประสงค์ของเนื้อหาผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ

* ที่มาของวีดีโอ: http://www.youtube.com/watch?v=q9xNUl3S5SU
**บทความนี้เป็นบทวิจารณ์ในกิจกรรมระหว่าง-หลังการอบรม "ค่ายวิจารณ์ศิลปะ"สาขาทัศนศิลป์ ในโครงการวิจัย การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น