วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สถานพักตากอากาศ: สถาน-ที่ไม่มีอยู่จริง

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)

 
ความหมายของ “สถานพักตากอากาศ” (RESORT)[1] คือ สถานที่ที่ใช้พักผ่อนหรือสันธนาการ ผู้พักใช้ในวันหยุดหรือวันพักผ่อน เป็นสถานที่หรืออาจเป็นเมืองหรือในบางครั้งอาจะเป็นสิ่งก่อสร้างการค้าที่บริหารโดยบริษัทเดียว เป็นสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับผู้มาพัก ทั้งอาหาร ที่พัก กีฬา สิ่งบันเทิงและศูนย์การค้า[2]
 
หากแต่เมื่อถอดคำสำคัญของ “สถานพักตากอากาศ” ก็จะพบว่า คำว่า “สถาน” เป็นคำที่บ่งบอกถึง “ตำแหน่ง” หรือ “ที่ตั้ง” ของ  บริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างจำเพาะ

 “พัก”ไม่เพียงมีความหมายในเชิง “ปล่อย” “นิ่ง” และ “สงบ” เท่านั้น แต่ยังหมายถึง “การหยุด”ณ จุดใดจุดหนึ่ง ณ “เวลาใดเวลาหนึ่ง”

            ขณะที่กลุ่มคำ “ตากอากาศ” มีความหมายไปในเชิงของ “การปลดปล่อย” ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ให้ “ปรากฏขึ้นอย่างอิสระ” ด้วยการ “ตาก” (เช่น ตากแดด, ตากลม, ตากฝน เป็นต้น) ส่วน “อากาศ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นรูปทรง ทว่ากลับเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา  “ตากอากาศ” จึงอาจเป็นภาวะของการปล่อยให้สิ่งรอบๆ ตัว “ผันแปร” อย่างอิสระ

 
            “สถานพักตากอากาศ” อีกนัยยะหนึ่งนั้น จึงเป็นสถานที่อันเจาะจงในการหยุดและปล่อยให้สิ่งต่างๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปรไปได้อย่างอิสระ สถานพักตากอากาศนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่อันเป็นรูปแบบตายตัว เพียงแต่ควรมีขอบเขตของ “สถานที่” อย่างชัดเจน และใช้อำนาจของความเป็นสถานที่นั้นๆ เป็นเครื่องมือในการสร้างภาวะของการ “ตากอากาศ” หรือกล่าวกันอย่างง่ายๆ คือ สถานที่นั้นต้องเป็นตัวกำหนดกิจกรรม “ตากอากาศ” ให้สมบูรณ์

            กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนพิธีกรรมบางอย่างที่ต้องแลกมาด้วยการมีวิถีชีวิตที่ผิดปกติ ทั้งนี้เพราะชีวิตที่ต้องทำงานและปฏิบัติภาระหน้าที่ต่างๆ มากมายไม่ได้เอื้ออำนวยให้การพักตากอากาศเป็นกิจกรรมประจำวันได้ ดังนั้นการพักตากอากาศเป็นกิจกรรมอันพิเศษที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย มนุษย์ย่อมต้องเลือกที่จะมีเวลาในการพักตากอากาศมากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกิดจากความบังเอิญ นั่นย่อมหมายถึงมนุษย์เราต้องเป็นผู้ที่จะเลือกในการที่จะพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งต้องเป็นไปอย่างสบายมากกว่าความตึงเครียด
 

            สถานที่ที่ต้องทำให้พิธีกรรมการตากอากาศได้สำเร็จลุล่วงจึงต้องเป็นสถานที่อุดมไปด้วยความพึงพอใจของผู้ที่จะไปพัก ระบบและสิ่งแวดล้อมต่างๆของสถานพักตากอากาศจึงต้องมีความสะดวกสบายมากกว่าที่จะให้ความรู้สึกที่ต้องจำทน  

สถานพักตากอากาศจึงเป็นภาพจำลองของสภาวะโลกแบบสุขนิยม ในจินตนาการดุจดังสรวงสวรรค์ ที่มีผู้รับใช้และให้เกียรติอย่างที่สุด เพราะฉะนั้น สถานพักตากอากาศจึงเป็นสถานที่สมมุติที่อาจไม่มีอยู่ในชีวิตที่เป็นจริงเลยก็ว่าได้

            นิทรรศการ “สถานพักตากอากาศ” เป็นนิทรรศการที่ใช้กลุ่มคำดังกล่าวเป็นโจทย์ที่ให้ศิลปินแต่ละคนตีความหมายและนำมาสร้างสรรค์ผลงานตามแบบเฉพาะตัว ศิลปินไม่เพียงต้องสร้างชุดความหมายใหม่ผ่านภาษาของการเห็นมากกว่าการสร้างชุด “คำ” (ตัวอักษร) เพื่ออธิบายความคิดเฉพาะตัว ศิลปินจึงไม่เพียงอยู่ในสถานะของผู้สร้างสรรค์ศิลปะเท่านั้น หากแต่ได้รับสิทธิ์พิเศษในการเป็นผู้สร้างสถานที่ในจินตนาการให้ปรากฏออกมาด้วยการใช้ “สิ่ง” ต่างๆ เป็น “รหัส” เพื่อสื่อสารกับผู้เข้าชมมากกว่าที่ผู้เข้าชมจะเป็นเพียงผู้จ้องมองเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าศิลปินเป็นผู้อรรถาธิบายสถานพักตากอากาศในความหมายเฉพาะให้ผู้ชมได้เกิดกระบวนการถอดชุดความหมายจากสิ่งที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระบบ
 
            ศิลปินเป็นผู้สร้างระบบความหมายด้วยชุดของสัญญะที่หลากหลายเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการถอดรหัส ซึ่งผลงานย่อมต้องปรากฏภาพของความเป็นสถานที่อันเงียบนิ่งและปล่อยให้บริบทต่างๆ ที่รายรอบผลงาน (ไม่ว่าจะมีรูปแบบผลงานแบบไหนก็ตาม) ผันแปรเปลี่ยนไปอย่างอิสระ
 
 
            คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่าผู้มาชมงานจะได้รับ “สาร” (Message) อันเกี่ยวโยงกับสถานพักตากอากาศมากน้อยเพียงใด หากแต่คือ “ใครเป็นผู้ที่เข้ามาพักตากอากาศ” ต่างหาก ซึ่งในคำถามดังกล่าวนี้ ผู้ชมจึงมิใช่ผู้เข้าพักสถานตากอากาศ แต่ “ผู้ชม” เป็นเพียง “สิ่ง” ที่ผ่านเข้ามาและผ่านออกไปเท่านั้น เพราะผู้ที่จะเข้าถึงสารัตถะของการตากอากาศได้นั้นย่อมต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในขอบเขตที่ศิลปินเป็นผู้สร้างสถานที่อันสมมุติขึ้นนี้
 
 
            ฉะนั้นหากจะย้อนไปถึงว่าสถานพักตากอากาศเป็น “พื้นที่ในจินตนาการ” ผู้ที่เข้าพักจึงไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอันเป็นภววิสัย ไม่เพียงผู้ดูจะไม่สามารถที่จะเข้าพักสถานพักตากอากาศได้เท่านั้น แต่ผู้ชมถือว่าไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปพักได้เลย เพราะผู้ชมยังคงใช้ชีวิตอย่างปกติ มิได้ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านเลยไปตามอุดมคติของการพักตากอากาศ สิทธิ์ของผู้ที่จะเข้าพักสถานที่ตากอากาศจึงต้องมีเจตจำนงอันแท้จริงเสียก่อนว่าจะเข้าสู่สถานที่พักตากอากาศหรือไม่ ซึ่งกุญแจของสถานพักตากอากาศก็คือการที่จะปล่อยบริบทที่หลากหลายในความเป็นปกติให้ผ่านเลยและเข้าสู่สภาวะของการ “พักตากอากาศ” อย่างเบาสบาย
 



[1] สถานพักตากอากาศ นิทรรศการศิลปะเพื่อภูมิทัศน์แห่งการพัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เปิดนิทรรศการ 3 ตุลาคม 2556 จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม - 24 พฤศจิกายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น