ปัจจุบันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล
(Digital
Camera) เป็นการบันทึกภาพที่มีความง่ายมากกว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องที่ใช้ฟิล์มและที่สะดวกมากไปกว่านั้นคือการใช้กล้องที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือแบบสมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่าสมาร์ทโฟน
(Smart Phone) บันทึกภาพ
ซึ่งนอกจากจะได้ภาพเป็นไฟล์ชนิดเดียวกับกล้องดิจิทัลแล้ว
ยังสามารถนำไปแสดงภาพบนหน้าเว็ปไซต์ (Website) และสื่อสังคมออนไลน์
(Social Network) ได้อีกด้วย
ในขณะที่การถ่ายภาพด้วยกระบวนการแบบใช้ฟิล์มบันทึกภาพค่อยๆ
หายไปจากสังคมทั่วไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเกิดจากปัจจัยความยุ่งยากของกระบวนการทำงานและค่าใช้จ่ายในการล้างอัดภาพที่แพงกว่าการใช้กล้องดิจิทัลถ่าย
ที่สำคัญกล้องดิจิทัลสามารถใช้ในลักษณะที่เป็นไฟล์ที่ปรากฏบนจอระบบดิจิทัลในสื่อสมัยใหม่ได้
อีกทั้งสามารถที่จะแก้ไขและตรวจดูภาพได้หลังจากการถ่ายภาพดำเนินเสร็จไปเพียงไม่กี่วินาที
ข้อจำกัดในการเผยแพร่ภาพก็เป็นข้อเสียเปรียบของกล้องฟิล์มที่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนจากภาพนิ่งบนกระดาษไปสู่ภาพแบบไฟล์ดิจิทัลด้วยการสแกนภาพ
(Scan) ซึ่งต่างจากกล้องดิจิทัลที่นำไฟล์ไปใช้ในการเผยแพร่ในสื่อดิจิทัล (Digital
Media) ได้เลย และยังสามารถที่จะตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมกราฟิกได้ตามความพอใจของช่างภาพได้อีกด้วย
ด้วยข้อจำกัดอันมากมายทำให้พื้นที่ของกล้องฟิล์มถูกเบียดบังจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่นับวันจะยิ่งยัดเยียดสูตรสำเร็จให้กับการถ่ายภาพที่มุ่งไปสู่การแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป้าหมายเชิงปริมาณและรองรับความต้องการรวดเร็วทันใจมากกว่าเสน่ห์และความตื่นเต้นเชิงลึกแบบการปรากฏของภาพที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม
กล้องฟิล์มจึงถูกกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงผลักไสไปสู่ความเป็นคลาสสิคมากกว่าความเป็นร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
ทั้งๆ ในสมัยก่อนนั้นการถ่ายภาพด้วยฟิล์มเป็นเทคโนโลยีที่เคยมาแทนที่งานจิตรกรรมเชิงช่างที่เน้นความประณีตและสุนทรียะมากกว่าความเหมือนแบบแข็งกระด้าง
แต่ปัจจุบันกล้องฟิล์มเองก็ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือของช่างภาพบางกลุ่มที่ยังมีความเชื่อมั่นในวิถีการบันทึกแสงลงไปบนฟิล์ม
"Analog Photo
Exhibition - One Year Roll By Frey"[1]
ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery[2] เป็นนิทรรศการภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์มขาวดำของปัทม์ณันท์ เรืองพีรภัทร์
(เฟรย์) ช่างภาพหนุ่มที่สลัดงานประจำสู่การเป็นช่างภาพอิสระ
เขาขายกล้องดิจิทัลที่มีอยู่เพื่อนำไปซื้อกล้องฟิล์มเพื่อสร้างผลงานในแบบที่เขาเชื่อมากกว่าที่สังคมมีความนิยม
ผลงานที่นำมาแสดงนิทรรศการทั้ง 36 ชิ้น
อันเป็นจำนวนที่มีการล้อเลียนกับจำนวนภาพถ่ายของม้วนฟิล์มแต่ละม้วน
ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการกำหนดจำนวนผลงานตามบริบทของพื้นที่เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างความหมายจำนวนงานให้เข้ากับแนวคิดของการจัดนิทรรศการได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
ปัทม์ณันท์จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยรังสิต[3]
เขามีความใฝ่ฝันในการจะเป็นช่างถ่ายภาพ (Photographer) มาเท่ากับนักศึกษาศิลปะอยากเป็นศิลปิน
(Artist) หลังจากที่เขาเลือกชีวิตโดยหันหลังให้กับงานประจำสู่ถนนอิสระที่ทอดยาวและเปิดกว้าง
เขาก็เริ่มสร้างสรรค์โครงการเล็กๆ ด้วยการตระเวนถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มขาวดำ เพื่อเป็นการบันทึกภาพที่เห็นตามสามัญให้กลายเป็นภาพถ่ายที่มากด้วยความหมายและอุดมด้วยสุนทรียะแบบร่วมสมัย
เขาเชื่อโดยส่วนตัวว่า
“กล้องฟิล์มให้ความรู้สึกส่วนตัวมากกว่ากล้องดิจิทัล”[4]
เขาไม่ใช่ไม่ยอมรับในการมีอยู่ของกล้องดิจิทัล
หากแต่โดยส่วนตัวเขาเองแล้วกลับหลงใหลในเสน่ห์ของกล้องแบบฟิล์มมากกว่า
ซึ่งบางทีเขาอาจจะไม่สามารถอธิบายถึงความรู้สึกดังกล่าวได้ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากศิลปินวาดภาพรูปเหมือนจริง
(Realistic) กับศิลปินวาดภาพนามธรรม (Abstract Art) ที่มิอาจจะอธิบายได้ว่าผลงานแบบไหนจะมีคุณค่ามากกว่ากัน
ทั้งนี้เป็นเรื่องของรสนิยมและประสบการณ์ทางสุนทรียะ[5]ส่วนตัวเสียมากกว่า
ผลงานของปัทม์ณันท์นอกจากจะเป็นภาพที่ถ่ายเองแล้วยังผ่านกระบวนการล้างและอัดภาพด้วยตัวเองอีกด้วย
เขาให้เวลากับกระบวนการต่างๆ อันยิบย่อยเพื่อให้ภาพที่ค่อยๆ
ปรากฏบนผืนกระดาษสีขาวมีความละเมียดงดงามตามที่ใจเขาต้องการรังสรรค์ออกมา
ผลงานภาพถ่ายของเขาจึงไม่เพียงผ่านสายตามที่มองลอดช่องกรอบสีดำของกล้องเท่านั้น
แต่มันยังผสานใจและสมองเข้าด้วยกันโดยมีนิ้วที่กดปุ่มชัตเตอร์[6]
(Shutter) เป็นเสมือนการตวัดพู่กันอันเฉียบพลันของจิตรกรจีนที่เต็มไปด้วยมั่นใจทุกห้วงยามยามที่ต้องการถ่ายทอดความคิดและอามรณ์ความรู้สึกผ่านงานจิตรกรรม
นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำ "Analog
Photo Exhibition - One Year Roll By Frey" เกิดจากผลงานภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์มที่ปัทม์ณันท์เขาซื้อมาครบ
1 ปีพอดี เขาคัดเลือกผลงานมาทั้งหมด 36
ภาพ เพื่อล้อไปกับจำนวนของภาพถ่ายที่เกิดจากการบันทึกของม้วนฟิล์ม 1 ม้วน โดยที่ภาพผลงานโดยรวมที่ปรากฏนั้น เขาได้บันทึกภาพชีวิตสามัญของสังคมที่เห็นอยู่เป็นปกติ
ผลงานของเขาแม้ใช้กระบวนการเทคนิคในการถ่ายภาพแบบดั้งเดิม
แต่ภาพที่ปรากฏกลับนำไปสู่การนำเสนอภาพของความเป็นปัจจุบันมากกว่าทำให้เกิดความรู้สึกหวนกลับไปสู่อดีตแม้จะเป็นภาพแบบขาวดำก็ตาม
ลักษณะของผลงานโดยรวมนั้นเน้นการสื่อความหมายแบบเป็นกลาง
(คลุมเครือ) มากกว่าการสื่อความหมายในแบบที่ยัดเยียดด้านบวกหรือด้านลบที่ผู้ถ่ายภาพได้ถ่ายทอดแบบตรงไปตรงมา
ผลงานดังกล่าวจึงไม่ได้มีกลิ่นอายแบบภาพถ่ายแนววิพากษ์ (Critic) ที่เน้นเนื้อหาที่เข้มข้นมากไปกว่าการบันทึก (Document) จากความประทับตามรายทางที่ผู้ถ่ายภาพได้ประสบพอเจอในแต่ละห้วงขณะทั้งด้วยบังเอิญและโดยตั้งใจ
ภาพทุกภาพถูกบันทึกด้วยบริบทที่มีความหมายโดยตัวของมันเองเสมือนภาพถ่ายเป็นผู้เล่าเรื่องเสียมากกว่าที่ให้ผู้ถ่ายต้องอรรถาธิบาย
ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายภาพต้องการจะเสนอแง่มุมไหนในการนำเสนอ ดังนั้นทำให้ผลงานที่ปรากฏทั้งนิทรรศการชวนให้ผู้ดูเข้าไปดูอย่างใกล้ชิดมากกว่าดูแบบเหมารวมคร่าวๆ
ทั้งนี้ด้วยขนาดของภาพที่นำมาจัดแสดงไม่ใหญ่มาก ประกอบกับรายละเอียดของภาพที่มีมากน้อยแต่ละภาพที่ไม่เท่ากัน
ก็ยิ่งชวนให้ผู้ดูเข้าไปพิจารณาภาพที่ปรากฏอย่างใกล้ๆ เพื่อได้พบกับรหัสของสิ่งต่างๆ
ที่ปรากฏในภาพนั้นๆ
นิทรรศการภาพถ่าย One
year Roll ไม่เพียงเป็นการนำเสนอแง่มุมการมองของของช่างภาพรุ่นใหม่คนหนึ่งเท่านั้น
แต่เป็นการบันทึกเรื่องราวสาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน ที่มีทั้งแง่มุมอันหลากหลาย
หลากความหมาย หลายวัฒนธรรม ซึ่งดำรงอยู่ร่วมกันภายในภาพของความเป็นสังคมอันปกติที่มีทั้งสุข
ทุกข์ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา.
[1] นิทรรศการภาพถ่าย
"Analog Photo Exhibition - One Year Roll By Frey" ผลงานโดย ปัทม์ณันท์ เรืองพีรภัทร์ (เฟรย์) จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่
4 ตุลาคม - 28 ตุลาคม 2556 ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery, แนวคิด: ข้าพเจ้าต้องการจะบอกเล่าถึงเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ต่างๆ
ที่ผ่านเข้ามาในหนึ่งช่วงชีวิต โดยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายขาว-ดำ
ในมุมมองของข้าพเจ้าเอง ที่มา: http://exhibition.contestwar.com/node/306
[4] สัมภาษณ์เมื่อ
2 ตุลาคม 2556 ณ หลังแรกบาร์
[5] ประสบการณ์ทางสุนทรียะ
สุนทรียะเป็นเรื่องของการเรียนรู้
การสร้างประสบการณ์โดยอาศัยความรู้ประกอบซึ่งมีขั้นตอนที่ควรคำนึงถึง คือ
1.
ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องมีความศรัทธาต่องานศิลปะ
ความตั้งใจหรือความศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงงานศิลปะ
และในทำนองเดียวกันความตั้งใจที่ไร้ศรัทธาเป็นการปิดกันสุนทรียะของศิลปะตั้งแต่แรก
2.
ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยการรับรู้
การรับรู้เป็นความรู้ที่จะรู้ว่า สิ่งนั้น ๆ คืออะไร คุณภาพดีไหม
และมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร
เป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่เรื่องของความจำหรือจินตนาการ
การรับรู้เป็นการรวบรวมความรู้สึกทั้งภายนอกและภายในที่มีผลต่อสิ่งเร้า
แล้วเอามาสร้างเป็นความคิดรวบยอดต่องานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสามรถแยกออกเป็นขั้นตอนได้ว่าเป็นความรู้สึกการรับรู้และการหยั่งรู้เป็นการสร้างมโนภาพ
3.
ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความกินใจ
หรือประทับใจในการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น
อารมณ์ที่กระทบต่องานศิลปะสามรถแยกออกเป็น ๒ ขั้นตอนด้วยกัน คือ
สภาพของจิตที่เปลี่ยนไปกับความรู้สึกที่สนองต่อจิต เกิดขึ้นตามลำดับต่อมา
ความกินใจต่อเหตุการณ์และเสียงที่ได้ยิน
ทั้งเหตุการณ์และเสียงที่กินใจจะจารึกจดจำไว้ในสมอง ถ้ามีโอกาสหวนกลับมาอีก
ความกินใจที่เคยจดจำไว้จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอีก
4.
ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความรู้ การเรียนรู้ของคนต้องอาศัยประสบการณ์
และสุนทรียะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความรู้
ความเข้าใจเป็นประสบการณ์ที่สามรถแยกแยะหรือวิเคราะห์ การนำมาประติดประต่อ
หรือการสังเคราะห์ การสรุปรวบยอด การจัดหมวดหมู่ หรือแม้แต่การประเมินผล
สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจเป็นตัวสำคัญ
5.
ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความเข้าใจ
วัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะนั้น ๆ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
การที่เราเข้าใจวัฒนธรรมเป็นผลให้เราเข้าใจศิลปะอีกโสดหนึ่งด้วย
เพราะศิลปะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมเหมาะกับชนกลุ่มนั้น, ที่มา:
http://www.hosting.cmru.ac.th/ruth/lesson/unit7.htm
[6] ชัตเตอร์เป็น
แผ่นทึบแสงที่ทำหน้าที่ปิด – เปิด ให้แสงเข้ามาในกล้อง ซึ่งเราสามารถตั้งช่วงเวลาการให้แสงผ่านเข้าไปในกล้องได้โดยการปรับความเร็วชัตเตอร์
ถ้าวัตถุมีความสว่างมากก็เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้น แต่ถ้าวัตถุมีความสว่างน้อยก็ต้องลดความเร็วชัตเตอร์ลง,
ที่มา: http://dictionary.sanook.com/search/dict-user/%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น