โดย สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
การวาดเส้น (Drawing) นั้น
เป็นพื้นฐานของงานทัศนศิลป์และการออกแบบ
โดยการสร้างภาพสองมิติโดยวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว ให้เกิดร่องรอยต่าง ๆ
โดยใช้เครื่องมือที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ถ่าน เศษไม้ หรือแม้แต่นิ้วมือของตนเอง
แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ ดินสอ ปากกาและหมึก เกรยอง ดินสอสี ดินสอถ่าน ชอล์ก ชอล์กสี ฯลฯ
ซึ่งโดยมากจะเขียนลงบนกระดาษ หรือวัสดุอื่นอย่าง กระดาษแข็ง พลาสติก หนัง ผ้า
กระดาน สำหรับการเขียนชั่วคราวอาจใช้กระดานดำหรือกระดานขาว หรือบนอะไรก็ได้[1]
การวาดเส้นนำไปสู่การร่างแบบ
(Sketch) ซึ่งเป็นการวางแผนขั้นต้นก่อนจะเริ่มกระบวนการผลิตผลงานจริง แม้ผลงานศิลปะที่เน้นไปที่การแสดงออกเชิงความงาม
อารมณ์ความรู้สึกหรือที่เน้นแนวความคิดก็ตาม ย่อมอาศัยการวาดเส้นเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการวาดเส้นทางกายภาพด้วยดินสอ ปากกา ถ่าน หรือสิ่งอื่นๆ
หรือการวาดเส้นด้วยการสร้างมโนภาพ (imagine) ขึ้นในใจ ก็นับได้ว่าเป็นการร่างแบบโดยใช้ความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญเฉกเช่นเครื่องมือทางศิลปะอื่นๆ
แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเข้าใจว่า วาดเส้นนั้นเป็นพื้นฐานในการเรียนและผลิตผลงานศิลปะ
ทว่าตัวผลงานวาดเส้นเองก็มีลักษณะอันทรงคุณค่าในตัวเองอยู่มากทีเดียว
คุณค่านั้นอยู่ที่ผลงานวาดเส้นมักแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาด้วยสุนทรียะอันเกิดจากการประสานกันของทัศนธาตุ
(Visual Element) ที่มีความคล้ายและแตกต่างกัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตผลงานตามเป้าหมาย
ผลงานวาดเส้นในนิทรรศการศิลปะ "Superman's Daughter : "ลูกสาวซุปเปอร์แมน"[2] ของจุฑารัตน์ ขยันสลุง
(บุดาหงัน) เป็นเฉกเช่นที่ได้กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ ผลงานวาดเส้นไม่เพียงเป็นแบบร่างชั้นต้นในการสร้างสรรค์ศิลปะเท่านั้น
หากแต่ศิลปินใช้วาดเส้นเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเชิงสุนทรียะเป็นหลัก
ดังนั้นผลงานในชุดดังกล่าวจึงทำลายอำนาจของสีสัน (Colorful) และกลับไปเน้นที่แก่นของภาพแบบเอกรงค์แทน
(Monochrome)
ในนิทรรศการนี้แม้เป็นผลงานวาดเส้นทั้งหมดก็ตาม
แต่อาจจะขาดความเป็นเอกภาพ (Unity) ในรายละเอียดของรูปแบบผลงานแต่ละชิ้น ศิลปินมุ่งเน้นที่จะนำเสนอเป็น 2 รูปแบบหลักๆ รูปแบบหนึ่งเกี่ยวพันกับภาพร่างกายของผู้หญิง
ในอีกส่วนเป็นภาพเหมือน (Portrait) ของบุคคลสำคัญอันเป็นที่รู้จักทั่วโลก
ซึ่งรูปแบบผลงานที่อาจจะดูขัดกันย่อมทำให้ภาพรวมในการนำเสนอผลงานอาจจะมีความขัดแย้งในการจัดการการนำเสนอทางความคิดอยู่บ้าง
หากแต่ลักษณะชั้นเชิงทางทักษะฝีมือที่ปรากฏก็นับว่าเป็นชุดผลงานวาดเส้นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ผลงานชุดนี้ ศิลปินเลือกที่จะเป็นผู้ตั้งคำถามจากภาพวาดเส้นที่ปรากฏมากกว่าจะเป็นผู้ชี้ทางหรือผู้บอกเล่า
ดังนั้นผู้ดูจึงต้องมีจินตนาการในการดูผลงานชุดนี้มากกว่าการตั้งความหวังว่าศิลปินจะต้องบอกความหมายของสิ่งที่ปรากฏทั้งหมดทั้งมวล
ศิลปินจึงมีท่าทีในการนำเสนอที่อิสระจากการตั้งความหวังมากเท่ากับภาพลักษณ์ในผลงาน
ที่ดูแล้วนิ่งสงบแต่มีท่าทีที่ท้าทายให้ค้นหาความหมายที่ซุกซ่อนภายอยู่อย่างน่าฉงน
แม้นิทรรศการนี้อาจจะมีข้อบกพร่องในความเป็นเอกภาพรูปแบบการนำเสนอนิทรรศการบ้าง
แต่ด้วยคุณภาพผลงานย่อมแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของศิลปินที่ต้องการสื่อสารความเป็นตัวเองให้ผู้ดูได้สัมผัสกับมิติของความหมายเฉพาะ
โดยเฉพาะการใช้ทักษะวาดเส้นที่มีความเป็นเฉพาะตัวนั้นย่อมถือว่า ผลงานวาดเส้นในชุดนี้เครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างชุดความหมายที่ให้ผู้ดูเป็นผู้ให้คำตอบด้วยตัวเองเป็นสำคัญ
[1] http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99
นิทรรศการศิลปะ
"Superman's Daughter :
"ลูกสาวซุปเปอร์แมน"
โดย จุฑารัตน์ ขยันสลุง (บุดาหงัน)...
จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2556
เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป
ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery
โดย จุฑารัตน์ ขยันสลุง (บุดาหงัน)...
จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2556
เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป
ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น