วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

เพิ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ”

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ



ที่มาภาพ: https://thestandard.co/happy-old-year-4/


ผมเพิ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ”
ก็ทำให้คิด ๆ อะไรต่อเนื่อง

ผมเป็นคนที่ทิ้งอะไร ๆ ได้ยากมานาน เพราะมีความเชื่อว่าทุกวัตถุสิ่งของล้วนบรรจุประวัติศาสตร์และความทรงจำของเราและผู้อื่นอยู่เสมอ

เมื่อผมได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “ฮาวทูทิ้ง…ฯ” ก็พบว่าความคิดของผมไม่น่าจะใช่แค่คิดไปคนเดียว แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายคิดเช่นนั้น (หรือว่าไม่จริง?)
ความรู้สึกของตัวละครในภาพยนตร์ที่สื่อออกมานั้น ทำให้คิดต่อได้ว่า การ “ทิ้ง” นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปรอย่างไรบ้าง ทิ้งแล้วเหลืออะไร อะไรคือสิ่งที่ยังคงอยู่ อะไรคือความเปลี่ยนแปลง เราสูญเสียอะไรไป และเราได้อะไรกลับมาบ้าง

ในบางครั้งการ “คืน” ของบางสิ่ง หรือความรู้สึกบางอย่าง กับเจ้าของเดิม อาจนำไปสู่ความหมายเดียวกันกับคำว่า “ทิ้ง” เมื่อการคืนของคือการทิ้งของ แล้วอะไรเล่า คือสิ่งที่คืนไม่ได้
ใช่ครับ คืนไม่ได้ คือ “เวลา” และ “ความทรงจำ”

เวลาเป็นสิ่งหนึ่งที่เรียกกลับคืนไม่ได้ เช่นเดียวกับความทรงจำที่สลัดอย่างไรก็ไม่หายไปจากจิตใต้สำนึกของเรา

ภาพยนตร์ไม่ได้ชี้นำให้เราต้องคิดแบบในตัวละครเสมอไป การดำเนินไปของตัวละครจึงเป็นไปอย่างกลาง ๆ และมีผู้ชมเป็นเพียงผู้เฝ้าดูไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกที่มีต่อตัวละคร มากกว่าให้เราเข้าไปร่วมกับตัวละครนั้น ๆ
แต่การเฝ้าดูตัวละครดำเนินไปและมีจุดสะกิดความรู้สึกอยู่หลายครั้งก็อาจทำให้เรารู้สึกจุกขึ้นมาได้ นั่นเป็นเพราะ การดำเนินเรื่องที่ไม่ได้ปูพื้นฐานของเรื่องราวตัวละครแต่ละตัวอย่างเปิดเผย แต่การเปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ ของตัวละคร ขึ้นอยู่กับวัตถุที่ถูกคืน หรือนัยหนึ่งก็หมายถึงการทิ้งนั่นเอง

ภาพของความทรงจำกับถ้อยความที่ออกมาจากตัวละครประกอบทุกตัวจึงคอยกระแทกไปในความรู้สึกของเราเสมอ และหวนให้เราทบทวนขบคิดกับตัวเองถึงเวลาและความทรงจำของเราที่ผ่านมาในแต่ละวัน
เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นผู้ที่ต้องทิ้งสิ่งใด ในด้านหนึ่งเราเองก็จะถูกทิ้งจากสิ่งนั้น ๆ เสมอ หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ คือ เมื่อเราทิ้งสิ่งใด เราเองก็เป็นผู้ถูกทิ้งจากสิ่งนั้น

หลายครั้งที่การพยายามทิ้งมิใช่อะไรอื่นมากไปกว่าการ “ลืม” เพื่อจะตอบตัวเองได้ว่า “ฉันได้เกิดใหม่” อีกครั้ง การทิ้งเพื่อลืมจึงหมายการเลือกที่จะคัดสรรบางสิ่งให้คงอยู่และบางสิ่งต้องหายไป (แต่มันไม่เคยหายไปจากความทรงจำที่มีกาลเวลาเป็นผู้สร้าง)

การทิ้งและการถูกทิ้งจึงเป็นสถานะเดียวกัน มันคือสถานะของการศิโรราบกับความเปลี่ยนแปลงโดยตัวเราเองเป็นผู้สร้าง ขณะเดียวกันมันนำพาไปสู่โลกของความโดดเดี่ยวมากขึ้น เมื่อความโดดเดี่ยวเกิดขึ้นจึงอาจนำไปสู่ความพึงพอใจต่อตัวเองมากขึ้น ทว่าความทรงจำจะยังฝังรากอยู่ในจิตใต้สำนึกเราโดยไม่หายไปไหน

สุดท้ายจึงนำไปสู่การ “move on” หรือ “เดินต่อไป” แม้ความทรงจำจะเกาะเกี่ยวกับเราอยู่เสมอ
การเดินต่อไปจึงไม่ได้หมายถึง “การลืม” หากแต่เป็นการยอมรับซึ่งความแปรเปลี่ยนไปของสภาวะทั้งของผู้ทิ้งและสิ่งที่ถูกทิ้ง การเดินต่อไปเทียบเท่ากับการเยียวยาให้สถานการณ์ของชีวิตดีขึ้นในแบบที่มันเป็นไปเอง

บางครั้งการ “ทิ้ง” อย่างไร ไม่เท่ากับการ “เดินต่อไป” อย่างไร
เพราะสุดท้ายการทิ้งอาจทำได้เพียงสิ่งของและสสารต่าง ๆ ในโลก
ทว่าความทรงจำมันยังคงสร้างตัวเองอยู่เสมอในโลกภายในใจของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น