วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลชุด “วัดเซนโซจิ 2018”


Digital Painting Series "Sensoji Temple 2018"
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ[1]

บทความนี้เผยแพร่ใน: สุริยะ ฉายะเจริญ. การสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลชุด “วัดเซนโซจิ 2018” นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ. บันทึกในรายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 8. หน้า 469-474.

บทคัดย่อ

บทความนี้เป็นการอธิบายการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลชุด “วัดเซนโซจิ 2018” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษากระบวนการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลอันนำไปสู่การปฏิบัติการผลิตจิตรกรรมดิจิทัลและเพื่ออธิบายกระบวนการปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นขั้นตอน

ผลงานสร้างสรรค์ในชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวัดเซนโซจิ โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์ออกมาเป็นแนวความคิดการสร้างสรรค์ที่สื่อถึงการบูรณาการระหว่างพื้นที่ทางจิตวิญญาณกับพื้นที่ท่องเที่ยวในสังคมร่วมสมัยของญี่ปุ่นที่โดดเด่น รูปแบบของผลงานเป็นภาพภูมิทัศน์ที่ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง และภาพคน โดยใช้แอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชต์ ในไอแพด เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์

ผลงานที่สำเร็จมีจำนวน 3 ภาพ โดยได้องค์ความรู้ 6 ประการ ได้แก่ (1) จิตรกรรมดิจิทัลชุดนี้สามารถสื่อถึงวัดเซนโซจิในบริบทของพื้นที่ทางจิตวิญญาณท่ามกลางโลกวัตถุนิยม (2) ขั้นตอนการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลด้วยไอแพดสามารถทำได้ง่ายและไม่จำกัดสถานที่ (3) การใช้ไอแพดผลิตงานจิตรกรรมดิจิทัลทำได้เร็วและสะดวกเหมาะสำหรับการผลิตเพื่อเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ (4) ผลงานที่สำเร็จสามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตซ้ำในสื่อต่างๆ ได้ง่าย และ (5) สามารถปรับประยุกต์ใช้การสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลด้วยไอแพดได้ทั้งงานด้านศิลปกรรมและงานทางด้านประยุกต์ศิลป์ได้

คำสำคัญ: การสร้างสรรค์ จิตรกรรมดิจิทัล วัดเซนโซจิ

Abstract
          This article describes the creation of digital painting in "Sensoji Temple 2018". The purpose is to study the creative process of digital painting, leading to the production of digital painting and to describe the process of creative work in step.
The creative work in this series was inspired by Sensoji Temple. The author analyzes the concept of creativity, which communicates the integration between spiritual space and the tourist space in contemporary Japanese society. The work is landscape-based, featuring buildings, architectures, and human imagery. Using the Autodesk Sketchbook Application in iPad is a creative tool.
The work is completed in 3 images with 6 knowledge: (1) this digital paintings can convey the Sensoji Temple in the context of a spiritual space amid materialistic worlds. (2) The process of creating digital painting with the iPad is simple and unlimited. (3) Using iPads to produce digital artwork is fast and easy to produce for publishing in social media. (4) Successful completion can lead to easy reproduction in various media and (5) applied digital painting by iPad, both in the field of fine arts and applied art.
Keyword: creativity, digital painting, Sensoji Temple

บทนำ

จิตรกรรมดิจิทัล (Digital Painting) หมายถึง ผลงานจิตรกรรมที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยระบบของคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ จิตรกรรมดิจิทัลเป็นการสร้างสรรค์จิตรกรรมร่วมสมัยที่เป็นที่นิยมในกลุ่มศิลปิน นักวาดภาพประกอบ และนักออกแบบรุ่นใหม่ทั่วโลก จิตรกรรมดิจิทัลมีรูปแบบที่ไม่จำกัดและมีเนื้อหาที่หลากหลาย

ศิลปินและจิตรกรระดับโลกอย่างเดวิด ฮอคนีย์ (David Hockney) ที่ปัจจุบันแม้อยู่ในวัยชราแล้ว แต่ยังคงทดลองสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลในรูปแบบเฉพาะตัว งานจิตรกรรมดิจิทัลของเขาถือเป็นการใช้เครื่องมือสื่อสารร่วมสมัยมาสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบของสื่อใหม่ แม้ว่ามีผู้วิจารณ์ว่าผลงานที่สร้างจากการวาดในไอแพด (iPad) ของเขานั้น มีคุณสมบัติของการเป็นศิลปะหรือไม่ แต่ก็มีนักวิจารณ์หลายคนที่ชื่นชมในการประโยชน์จากเครื่องมือสมัยใหม่ให้เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบเฉพาะตัวไม่ต่างจากผลงานจิตรกรรมบนผืนผ้าใบของเขา (Claire Cain Miller,2014: ออนไลน์)

          สำหรับในบทความนี้ผู้เขียนมีเป้าหมายในการนำเสนอกระบวนการสร้างจิตรกรรมดิจิทัลด้วยแท็บเล็ต (Tablet) ประเภทไอแพด (iPad) ซึ่งผู้เขียนตั้งคำถามกับการปฏิบัติการว่า การวาดภาพบนไอแพดจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมในรูปแบบการวาดภาพร่างเมือง (Urban Sketch) ชุด “วัดเซนโซจิ 2018” ของผู้เขียนได้หรือไม่ การสร้างสรรค์นี้มีกระบวนการอย่างไร และมีองค์ความรู้อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง

วัตถุประสงค์การสร้างสรรค์


1.เพื่อศึกษากระบวนการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลอันนำไปสู่การปฏิบัติการ

2.เพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบจิตรกรรมดิจิทัลด้วยไอแพดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัดเซนโซจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

3.เพื่ออธิบายผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของวิชาการ โดยอธิบายถึงแรงบันดาลใจ แนวความคิด รูปแบบการนำเสนอ เทคนิคการสร้างสรรค์ ขั้นตอนการสร้างสรรค์ ผลงานที่สำเร็จ และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น

ขอบเขตการสร้างสรรค์


1.ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลชุดนี้สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้ภาพภูมิทัศน์ที่ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างของวัดเซนโซจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์

2.ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลชุดนี้สร้างสรรค์ด้วยแท็บเล็ตประเภทไอแพด

3.ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลชุดนี้เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมในช่องทางของเฟสบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม(Instagram)

ประโยชน์ที่ได้รับ


1.มีความรู้ในเรื่องกระบวนการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลอันนำไปสู่การปฏิบัติการอย่างสังเขป

2.เป็นการผลิตผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบจิตรกรรมดิจิทัลด้วยไอแพดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัดเซนโซจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

3.เป็นการอธิบายผลงานสร้างสรรค์กระบวนการสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบเพื่อแสดงคุณสมบัติของผลงานสร้างสรรค์ในบริบทวิชาการ

แรงบันดาลใจ

             ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลชุดนี้จากการเดินทางไปเก็บข้อมูล ณ วัดเซ็นโซจิ หรืออาซากุสะคันนง (Asakusa Kannon) หรือรู้จักในชื่อ วัดอาซากุสะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งวัดเซ็นโซจิเป็นวัดในศาสนาพุทธที่เก่าแกที่สุดในภูมิภาคคันโต (Kanto) และเป็นสถานที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะฉะนั้น วัดเซ็นโซจิจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายที่เข้ามาเยือน ทั้งจากการเข้ามาแสวงบุญและการท่องเที่ยว ที่นี่จึงเป็นมีแหล่งการค้าและบริการด้านต่างๆ รายรอบพื้นที่เพื่อจากรองรับผู้คนทั่วโลกที่เข้ามา

  ความโดดเด่นวัดเซ็นโซจิตามทัศนะของผู้เขียนในกรณีที่ศึกษานี้ คืออัตลักษณ์ของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวัดที่ประกอบไปด้วยมิติของพื้นที่ทางจิตวิญญาณให้กับนักแสวงบุญทั่วโลกและมิติของพื้นที่การท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการบูรณาการระหว่างร่องรอยของอารยธรรมโบราณกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญให้วัดเซ็นโซจิเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของกรุงโตเกียวที่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดในด้านของพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมและพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกปรารถนาไปเยือน

แนวความคิด

  ผู้เขียนมีแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ว่า วัดเซนโซจิแห่งอาซากุสะเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญของกรุงโตเกียวที่ผสมผสานระหว่างมิติของพื้นที่ทางจิตวิญญาณและความศรัทธาเดิมกับพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการจัดการเชิงบูรณาการระหว่างรากเหง้าของอารยธรรมที่สืบทอดมาจากอดีตกับทุนนิยมในสภาวะสมัยใหม่ของญี่ปุ่นด้วยการประกอบสร้างความหมายใหม่ทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดยปรับพื้นที่ทางจิตวิญญาณไปสู่พื้นที่ของการท่องเที่ยวอันสอดรับกับอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นลูกผสมอย่างลงตัวจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นในโลกสมัยใหม่

รูปแบบการนำเสนอ

     รูปแบบการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้อยู่ในรูปแบบของจิตรกรรมดิจิทัลที่แสดงรูปลักษณ์ของภูมิทัศน์ที่ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของวัดเซ็นโซจิ โดยมีแรงบันดาลใจจากรูปแบบการวาดของของกลุ่ม“เออร์เบินสเก็ตเชอร์ส” (Urban Sketcher) ที่นำเสนอภาพภูมิทัศน์เมืองผ่านภาพวาดเส้นหรือจิตรกรรมในรูปแบบที่หลากหลายและเผยแพร่ผลงานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ (Marc Taro Holmes, 2014: 8) โดยสร้างสรรค์ภาพวาดที่บันทึกสิ่งที่เห็นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ปรากฏอันเป็นการบันทึกเวลาและสถานที่ผ่านรูปแบบการสร้างสรรค์เฉพาะตัวแล้วแบ่งปันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (โธมัส ธอร์สเปคเคน, 2558: 9)

          นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลของรูปแบบการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลของ เดวิด ฮอคนีย์ ที่วาดภูมิทัศน์ต่างๆ ด้วยสีสันสดใสด้วยเครื่องมือในโปรแกรมของไอแพด ซึ่งไม่ได้เจาะจงไปที่ความเหมือนจริงของวัตถุ แต่สร้างสรรค์เส้นและสีที่ประทับใจลงไปบนภาพที่ประกอบไปด้วยพิกเซลนับล้าน (Pixel) ไม่ต่างจากการปาดป้ายสีด้วยพู่กันลงบนผืนผ้าใบ

เทคนิคการสร้างสรรค์

          ผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้ใช้เทคนิคการวาดภาพบนหน้าจอไอแพดซึ่งเป็นแท็บเล็ตรูปแบบหนึ่ง ผู้เขียนใช้ปากกาสำหรับการวาดบนหน้าจอไอแพดประเภทหัวซิลิโคนและยังใช้นิ้วมือผสมผสานสำหรับการวาดภาพด้วยการใช้แอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชบุ๊ก (Autodesk Sketchbook Application) โดยใช้ชุดเครื่องมือแบบพื้นฐานในแอพลิเคชั่นนี้ในการปฏิบัติการบนหน้าจอไอแพด

          ทั้งนี้ข้อดีของการปฏิบัติการวาดภาพบนหน้าจอไอแพดสามารถปรับแก้ไขโดยการย้อนกระบวนการทำงานได้ ทำให้กระบวนการทำงานสามารแก้ไขได้ตลอดเวลาซึ่งต่างจากปฏิบัติการสร้างสรรค์จิตรกรรมในรูปแบบเดิมที่ไม่สามารถย้อนกระบวนการได้ เพราะฉะนั้น ความโดดเด่นทางด้านเทคนิคการสร้างสรรค์เช่นนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลให้การปฏิบัติงานมีความสะดวกและสร้างสรรค์ได้รวดเร็วแม่นยำตามความประสงค์ของผู้สร้างสรรค์ได้

ขั้นตอนการสร้างสรรค์


1.เดินทางเก็บข้อมูล ณ วัดเซนโซจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 (ภาพที่ 1)

2.สำรวจและสังเกตสภาพแวดล้อมในพื้นที่วัดเซนโซจิเพื่อค้นหามุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

3.ใช้การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลในการเก็บข้อมูล ณ สถานที่จริง

4.นำข้อมูลภาพผสมผสานกับประสบการณ์มาประมวลเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์

5.วิเคราะห์แรงบันดาลใจสู่การประกอบสร้างเพื่อให้ได้เป็นแนวความคิด

6.เลือกภาพถ่ายที่มีรูปและความหมายที่สัมพันธ์กับแนวความคิดมาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์

7.สร้างจินตภาพสมมุติเพื่อพัฒนาองค์ประกอบของภาพโดยตัดทอนหรือสร้างเสริมให้ภาพที่ปรากฏสามารถสื่อได้ตรงเป้าหมายตามแนวความคิด

8.การสร้างภาพลายเส้นด้วยแอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชต์บุ๊ก โดยใช้เครื่องมือบนหน้าจอเพื่อให้เกิดรูปร่าง  (ภาพที่ 2)

9.การวาดเพิ่มเติมหรือลดทอนรูปร่างลายเส้นที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดเอกภาพและดุลยภาพในผลงาน

10.ใช้เครื่องมือในแอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชต์บุ๊ก ระบายสีด้วยสีสันสดใสโดยอ้างอิงกับสีจริงของวัตถุในภาพ แต่ไม่แสดงความเหมือนจริงเชิงสัจจะ (Realistic) แต่เป็นความเหมือนจริงตามทัศนะและความรู้สึกของผู้เขียนเพื่อให้เกิดสุนทรียะตามรูปแบบเฉพาะตัว

11.ขั้นตอนการระบายสีใช้การเคลื่อนไหวปากกาและนิ้วมือตามอิสระโดยอ้างอิงรูปลักษณ์จากภาพวัตถุจริง และระบายสีแบบไม่เกลี่ยเรียบ (Painterly Style) เพื่อแสดงลักษณะของร่องรอยแปรง (Brush Stoke) คล้ายงานจิตรกรรมแบบเอกเพร็สชั่นนิสม์ (Expressionism) (ภาพที่ 3 - ภาพที่ 5)

12.เมื่อสร้างสรรค์ผลงานเสร็จแล้ว (ภาพที่ 6 - ภาพที่ 8) ให้เก็บไฟล์ภาพไว้ทั้งในหน่วยความจำของไอแพดและเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อป้องการไฟล์สูญเสียหรือสูญหาย

13.นำไฟล์ภาพเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมประเภทเฟสบุ๊กและอินสตาแกรม (ภาพที่ 9 - ภาพที่ 10)


14.เก็บไฟล์ต้นแบบไว้ให้ปลอดภัยเพื่อเผยแพร่ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการต่อไป
ภาพที่ 1 ผู้เขียนเดินทางเก็บข้อมูล ณ วัดเซนโซจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

ภาพที่ 2 ลักษณะการทำงานในแอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชต์บุ๊ก บนหน้าจอไอแพด รุ่น iPad mini 04

ภาพที่ 3 ขั้นตอนการวาดภาพจิตรกรรมดิจิทัล ชื่อ “Five-Storied pagoda

ภาพที่ 4 ขั้นตอนการวาดภาพจิตรกรรมดิจิทัล ชื่อ “Main Hall

ภาพที่ 5 ขั้นตอนการวาดภาพจิตรกรรมดิจิทัล ชื่อ “Hozomon Gate

ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลที่สำเร็จ


ภาพที่ 6 ภาพจิตรกรรมดิจิทัล ชื่อ “Five-Storied pagoda

ภาพที่ 7 ภาพจิตรกรรมดิจิทัล ชื่อ “Main Hall

ภาพที่ 8 ภาพจิตรกรรมดิจิทัล ชื่อ “Hozomon Gate

ภาพที่ 9 เผยแพร่ผลงานผ่านอินสตาแกรม (Instagram)

ภาพที่ 10 เผยแพร่ผลงานผ่านเฟสบุ๊ก (Facebook)


องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น

1.ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลชุดนี้สามารถสื่อถึงวัดเซนโซจิในความหมายอของการเป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณท่ามกลางโลกวัตถุนิยมได้ตามเป้าหมายของผู้เขียน

2.การสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลด้วยไอแพดสามารถทำได้ง่ายและสามารถสร้างสรรค์ได้โดยไม่จำกัดสถานที่เพราะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายสถานที่อย่างไม่จำกัด เพราะฉะนั้น การใช้ไอแพดจึงมีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลที่น้อยกว่าการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในแบบต่างๆ

3.การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมด้วยไอแพดมีความเร็วและสะดวก เหมาะสำหรับการผลิตเพื่อเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์

4.เครื่องมือวาดเขียนในแอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชต์บุ๊ก บนหน้าจอไอแพดมีความสามารถในการเลือกสรรเส้นและสีที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการจำลองผลปฏิบัติการร่องรอยการวาดรูปแบบอุปกรณ์จริง แม้ว่าผลปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเป็นร่องรอยเสมือนที่เกิดขึ้นด้วยการทำงานของพิกเซล และไม่มีคุณสมบัติของลักษณะพื้นผิวดังเช่นงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์บนผ้าใบก็ตาม หากแต่ก็มีคุณสมบัติของเส้นและสีเฉพาะที่แสดงความสวยงาม และสามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตซ้ำผ่านกระบวนการพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือการแบ่งปันภาพในสื่อสังคมออนไลน์ได้ด้วย

5.การสร้างจิตรกรรมดิจิทัลด้วยเครื่องมือวาดเขียนในแอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชต์บุ๊ก ที่ปฏิบัติการบนหน้าจอไอแพดสามารถผลิตทั้งในรูปแบบของงานทางด้านศิลปกรรมร่วมสมัย (Fine Art) ที่แสดงคุณลักษณะทางสุนทรียภาพเฉพาะตัวได้ และยังสามารถปรับใช้กับงานทางด้านประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) ในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ หรือการแสดงนิทรรศการศิลปะ

สรุป

        บทความนี้เป็นการศึกษากระบวนการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลอันนำไปสู่การปฏิบัติการ โดยผู้เขียนได้รับความรู้ในการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลมากขึ้นจากการทดลองปฏิบัติการสร้างสรรค์ด้วยเครื่องมือในไอแพด ซึ่งผลงานในชุด “วัดเซนโซจิ 2018” ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ผู้เขียนได้เดินทางไปเยือนวัดเซนโซจิ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้วิเคราะห์แรงบันดาลใจออกมาเป็นแนวความคิดในการสร้างสรรค์ที่สื่อถึงการบูรณาการอของวัดเซนโซจิระหว่างมิติของพื้นที่ทางความเชื่อความศรัทธาอันเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณกับพื้นที่ท่องเที่ยวในสังคมร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น  

ผลงานจิตรกรรมดิจิทัลในชุดนี้ มีรูปแบบเป็นภาพภูมิทัศน์ที่ประกอบไปด้วยทางด้านสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างและภาพคน ในส่วนของเทคนิคนั้น ผู้เขียนใช้ไอแพดและแอพลิเคชั่นออโต้เดสค์ สเก็ชต์ เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ซึ่งมีขั้นตอนการสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบดังที่กล่าวมาแล้ว และองค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้นี้ คือการอธิบายถึงคุณประโยชน์ของการใช้ไอแพดในการสร้างสรรค์จิตรกรรมดิจิทัลในมิติต่างๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับงานสร้างสรรค์ในสาขาที่หลากหลาย ทั้งในระดับมืออาชีพและในระดับมหาชนผู้ใช้โดยทั่วไป

ข้อเสนอแนะ
          บทความนี้เป็นการอธิบายกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานชุด ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการศึกษาในกรณีต่างๆ เพราะฉะนั้น ในกระบวนการขั้นตอนของการเผยแพร่และประเมินคุณค่าของผลงานจึงยังไม่สมบูรณ์ และยังมีอีกหลายกรณีศึกษาที่ควรนำรูปแบบกระบวนการสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคจิตรกรรมดิจิทัลดังกล่าวนี้ ไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนำไปสู่การวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางวิชาการและงานสร้างสรรค์ในสาขาที่หลากหลายต่อไปในอนาคต

บรรณานุกรม
ธอร์สเปคเคน, โธมัส. (2558). พื้นฐานและเทคนิคสำหรับสเกตซ์ภาพ [Urban sketching : The complete guide to techniques] (ธเนศ สังข์สุวรรณ, ผู้แปล). นนทบุรี : ไอดีซี พรีเมียร์.
Holmes, Marc Taro. (2014).The Urban Sketcher: Techniques for Seeing and Drawing on Location. Ohio: North Light Books
Miller, Claire Cain. (2014). IPad Is an Artist’s Canvas for David Hockney. เข้าถึงได้จาก https://bits.blogs.nytimes.com/2014/01/10/the-ipad-is-an-artists-canvas-for-david-hockney/



ภาพจากบันทึกในรายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 8. หน้า 469-474.















[1] อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น