วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ลักษณะโดยทั่วไปของภาพร่างเพื่อเป็นภาพแทนภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก

General description of the sketch to represent the cityscape of Bangkok published in Facebook.
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ[1]

บทความนี้เผยแพร่ใน สุริยะ ฉายะเจริญ.
ลักษณะโดยทั่วไปของภาพร่างเพื่อเป็นภาพแทนภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก. วารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 22 ประจำปี 2561, หน้า 17-25.

บทคัดย่อ
          บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะโดยทั่วไปของภาพร่างภูมิทัศน์เมืองและอธิบายลักษณะภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก
โดยนักวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมืองกรุงเทพมหานครมีรูปแบบการสร้างสรรค์ที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งผลงานมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กับ (1) สัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย (2) พื้นที่ทางศาสนาและความเชื่อ (3) วิถีชีวิตกับสายน้ำของคนในกรุงเทพมหานคร (4) ชุมชนในสมัยเก่าที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ (5) สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างสองข้างถนน (6) การคมนาคมในกรุงเทพมหานคร และ (7) ย่านการค้าและพื้นที่ทางธุรกิจ
         นักวาดภาพร่างมีรูปแบบการนำเสนอผลงานภาพร่างภูมิทัศน์เมืองกรุงเทพมหานครโดยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กพื้นที่ส่วนบุคคลและเฟซบุ๊กของกลุ่มบางกอกสเก็ตเชอร์สโดยมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลาย อันเป็นการขยายเครือข่ายของชุมชนออนไลน์ของคนที่สนใจและนิยมการวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมืองให้มากขึ้น จนเกิดเป็นชุมชนนักวาดภาพร่างในโลกเสมือนจริงควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมภาคสนามผ่านการใช้เฟชบุ๊กเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสาร

คำสำคัญ: ภาพร่างภูมิทัศน์เมือง/ กรุงเทพมหานคร/ เฟซบุ๊ก

Abstract
This article aims to study the general characteristics of Urban Sketching and describe Bangkok's urban sketching style published on Facebook.
Urban Sketcher of Bangkok has a variety of creative and unique styles. The works are related to (1) symbols related to the monarchy of Thailand; (2) religious and belief areas; (3) lifestyle and waterways of people in Bangkok; (4) The history of the area (5) The architecture and buildings on both sides of the road (6) Transportation in Bangkok and (7) The commercial and business areas in Bangkok.
Urban Sketcher presents Bangkok's Urban Sketching, which is distributed through Facebook, the personal space and Facebook of the Bangkok Sketchers group, interacting in a variety of ways. This is an extension of the online community of people who are interested in popular Urban Sketching to create a more urban Sketcher community in Virtual reality coupled with field activities through the use of Facebook as an important channel for communication.

Keyword: Urban Sketching/ Bangkok/ Facebook

การมองเห็นภาพ

          จอห์น เบอร์เกอร์ (John Berger) ได้อธิบายถึงการมองเห็นเอาไว้ว่า การมองเห็นมาก่อนถ้อยคำ เด็กน้อยมองเห็นและรับรู้ก่อนที่เขาจะพูดได้ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีอีกหลายความรู้สึกที่เกิดจากการมองเห็นที่มาก่อนการรับรู้ด้วยถ้อยคำ โดยการมองเห็นเป็นการสร้างพื้นที่ของเราท่ามกลางโลกที่อยู่รายรอบ เรามักอธิบายโลกด้วยถ้อยคำ แต่กระนั้น ถ้อยคำก็ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงของโลกที่อยู่รายรอบได้ ทั้งนี้ด้วยสัมพันธภาพระหว่างการมองเห็นกับสิ่งที่เรารู้ล้วนไม่แน่นอนเป็นอนิจจัง (John Berger, 2008: 7)

          การสร้างสื่อที่ใช้ภาพในการนำเสนอต่อมหาชนนั้นย่อมสัมพันธ์กับวิถีของการมองเห็นเป็นอย่างมาก เพราะการมองเห็นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับกระบวนการรับรู้และแปลความหมายการสื่อสารของมนุษย์ผ่านภาพเป็นสำคัญ ซึ่งในบริบทของงานทัศนศิลป์ (Visual Art) อันเป็นงานศิลปะที่สัมพันธ์โดยตรงกับประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น การมองเห็นเป็นวิธีการเรียนรู้ภาษาของภาพโดยต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐานจากการมองธรรมชาติแวดล้อมแล้วพัฒนาไปสู่การมองภาพในสื่อศิลปะหรือสื่ออื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น การมองเห็นจึงเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน โดยชลูด นิ่มเสมอ ได้อธิบายว่า การเข้าถึงและการชื่นชมงานทัศนศิลป์ต้องเข้าใจธรรมชาติของการเห็นเบื้องต้นเสียก่อน การรู้กระบวนการเห็นจะทำให้เราเห็นได้ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งความจริงในความเป็นจริงหรือทางวัตถุวิสัย และความจริงด้านจิตวิสัย และนำความจริงทั้งสองด้านมารวมในประสบการณ์เดียวกัน เพื่อนำไปสู่การชื่นชมที่สมบูรณ์ของศิลปะรสในงานสร้างสรรค์นั้นๆ (ชลูด นิ่มเสมอ, 2558: 70)  

          การมองเห็นจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับงานทางทัศนศิลป์หรือสื่อต่างๆ ที่ใช้กระบวนการทางการมองเห็นเป็นสัมผัสเพื่อการรับรู้ ซึ่งการมองไม่เพียงสัมผัสลักษณะของรูปลักษณ์ทางกายภาพของผลงานศิลปะที่ปรากฏร่องรอยบางอย่างเท่านั้น หากแต่การมองเห็นยังสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระของภาพโดยอาศัยประสบการณ์ทางการมองที่สั่งสมมาในแต่ละบุคคลอันเป็นลักษณะเชิงอัตวิสัยที่จะนำไปสู่กระบวนการทำความเข้าใจและตีความหมายจากรหัสของภาพหรือสื่อต่างๆ ที่ปรากฏเบื้องหน้าสายตา

ลักษณะของภาพร่าง

ในบริบทของทัศนศิลป์นั้น การวาดเส้นถือเป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ทุกประเภท ซึ่งภาพวาดเส้นคือร่องรอยอันเกิดจากการกระทำที่สร้างลักษณะของเส้นที่รวมตัวกันเป็นขอบเขตของพื้นที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก และสี ลำดับสุดท้ายเส้นเป็นขอบเขตของกลุ่มอันเป็นเส้นโครงสร้างที่เห็นได้ด้วยจินตนาการ โดยเส้นมีหน้าที่ในการแบ่งที่ว่างออกเป็นส่วนๆ กำหนดขอบเขตของที่ว่าง (รูปร่าง) กำหนดเส้นรูปนอกของรูปทรง ทำหน้าที่เป็นน้ำหนักอ่อนแก่ของแสงเงา และให้อารมณ์ความรู้สึกด้วยตัวเอง (ชลูด นิ่มเสมอ, 2553: 47-50, 58)

ในขณะที่ภาพจิตรกรรมเป็นผลงานทางทัศนศิลป์ที่เกิดจากกระบวนเทคนิคอันหลากหลาย ซึ่งคุณลักษณะของสีคือสิ่งสำคัญที่ให้คุณค่าด้านการรับรู้และความรู้สึกในรสชาติของความเป็นงานจิตรกรรม เพราะเป็นสิ่งแรกที่เร้าความรู้สึกทางการเห็นมากที่สุด (สุชาติ สุทธิ, 2535: 60) โดยงานจิตรกรรมเกิดขึ้นจากการวาด การระบาย ขูดขีด สร้างร่องรอย ปะติดวัสดุ หรือกระบวนการอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอคุณลักษณะของเส้น สี รูปร่าง รูปทรง พื้นที่ว่าง มิติ พื้นผิว จังหวะ และน้ำหนัก เพื่อสร้างความหมายให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการสื่อสาร (สุริยะ ฉายะเจริญ, 2559: 43)

ส่วนคำว่า “ภาพร่าง” (Sketch) ในบทความนี้ หมายถึง กระบวนการสร้างสรรค์ภาพที่เกิดขึ้นด้วยเทคนิคและวัสดุที่หลากหลายอย่างไม่ซับซ้อน เพื่อนำเสนอภาพแทน (Visual Representation) ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านรหัสทางทัศนธาตุ (Visaul Element) โดยเป็นการผสมผสานเทคนิคทั้งด้านวาดเส้นและจิตรกรรมเพื่อให้ปรากฏรูปลักษณ์อันเป็นเค้าโครงร่าง (Shape) ที่สื่อถึงสาระสำคัญของบางสิ่งบางอย่าง โดยคุณค่าของภาพร่างไม่ได้จำกัดอยู่ในคุณลักษณะทางด้านงานวิจิตรศิลป์ที่สมบูรณ์ แต่เป็นภาพแทนที่แสดงออกมาเป็นจินตภาพสมมุติ (Fictional image) ที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของความถูกต้องในด้านของหลักทัศนียวิทยา (Perspective) และความเหมือนจริงเชิงสัจจะ (Realistic)

จินตภาพของภูมิทัศน์เมือง

          ซูซี ฮอดจ์ (Susie Hodge) ได้อธิบายถึงภาพภูมิทัศน์เมืองว่า ในสมัยอารยธรรมกรีกและโรมันภาพภูมิทัศน์เมืองปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนังเฟสโก้ (Fresco) หรือจิตรกรรมเทคนิคปูนเปียกสมัยยุคกลาง (Middle Age) ภูมิทัศน์เมืองปรากฏเป็นพื้นหลัง (Background) ของภาพประกอบในพระคัมภีร์คริสตศาสนา ในขณะที่ภาพภูมิทัศน์เมืองที่นำเสนอเป็นสาระสำคัญของภาพ ปรากฏขึ้นในช่วง ค.ศ. 1335 อันเป็นจิตรกรรมฝาผนังเฟสโก้ที่ชื่อ “เมืองริมทะเล” (City by the Sea) วาดขึ้นโดยอัมโบรจิโอ โลเรนเซตติ (Ambrogio Lorenzetti) ต่อมาในสมัยเรอนาสซองค์ (Renaissance) ศิลปินไม่น้อยที่สร้างงานจิตรกรรมที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนามักวาดภาพภูมิทัศน์เมืองเป็นพื้นหลังของผลงาน

ต่อมาศตวรรษที่ 17 โยฮันเนิส เฟอร์เมียร์ (Johannes Vermeer) วาดภาพจิตรกรรมที่มีรูปลักษณ์ของภูมิทัศน์เมือง เช่น ในผลงานที่ชื่อ “ทิวทัศน์แห่งเดลฟท์” (View of Delft) ราวปีค.ศ. 1660–1661 และ “ถนนสายเล็ก” (The Little Street) ราวปีค.ศ. 1657–1658 มีการจัดภาพแบบอสมมาตร (Asymmetrical) และใช้รูปลักษณ์ของภูมิทัศน์เมืองเป็นเนื้อหาหลักมากกว่าเป็นเพียงพื้นหลังของภาพ ซึ่งภาพจิตรกรรมในแนวทางดังกล่าวนี้ ส่งอิทธิพลต่อมาในระยะหลังและมีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมภูมิทัศน์เมืองที่มากขึ้นในเวลาต่อมา เช่น ผลงานจิตรกรรมของคาเนลเลตโต (Canaletto) ที่วาดมุมมองต่างๆ ในเมืองเวนิชได้อย่างเหมือนจริงและมีชีวิตชีวา

ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ลักษณะสำคัญของภูมิทัศน์เมืองเป็นเรื่องราวและเนื้อหาสาระสำคัญที่กลุ่มศิลปินสมัยใหม่ในปารีสให้ความสนใจและมีการผลิตผลงานจิตรกรรมภูมิทัศน์เมืองอย่างมีชื่อเสียง โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ซึ่งต่อมาในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 จอร์จ เบลโลส์ (George Bellows) จิตรกรกลุ่มสัจนิยมอเมริกันได้ถ่ายทอดภาพวิถีชีวิตชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในนครนิวยอร์กผ่านผลงานจิตรกรรมได้อย่างน่าสนใจโดยใช้ภาพผู้คนประกอบเข้ากับภูมิทัศน์เมืองด้วย (Susie Hodge, 2017: 181)

ลักษณะโดยทั่วไปของภาพร่างที่แสดงจินตภาพภูมิทัศน์เมืองร่วมสมัย

          ปัจจุบันการวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมืองได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกและมีการสร้างสรรค์ด้วยกระบวนวิธีการสร้างสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ซึ่งเน้นให้ความสำคัญในรูปลักษณ์ที่ปรากฏและความหมายของเนื้อหาสาระในการเล่าเรื่องจากภาพที่ปรากฏเป็นร่องรอยบนระนาบผ่านวัสดุต่างๆ ทั้งบนกระดาษ สมุดวาดภาพ ผืนผ้าใบ (Canvas) แท็บเล็ต (Tablet) และพื้นผิวต่างๆ

โดยชุมชนออนไลน์ (Online Community) ที่เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่รูปแบบผลงานภาพร่างภูมิทัศน์เมืองบนสื่อออนไลน์ในชื่อ “เออร์เบินสเก็ตเชอร์ส” (Urban Sketcher) ริเริ่มก่อสร้างเครือข่ายโดยนักข่าวและนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกันชื่อ “แกเบรียล คัมพานาริโอ” (Gabriel Campanario) และมีการรวมกลุ่มนักวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมืองและเดินทางไปบันทึกด้วยการวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมือง ณ สถานที่ต่างๆ โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมด้วยกับการแบ่งปันผลงานในชุมชนออนไลน์ โดยมีเว็ปไซต์ http://www.urbansketchers.org เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ผลงาน (ภาพที่ 1 และ ภาพที่ 2) พร้อมกับเชื่อมโยงกับเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) บล็อก (Blog) อินสตราแกรม (Instagram) ทวิสเตอร์ (Twister) เป็นต้น (Marc Taro Holmes, 2014: 8)

กลุ่มเออร์เบินสเก็ตเชอร์สเป็นชุมชนออนไลน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เกิดจากการรวมตัวของนักวาดที่บันทึกภาพเมืองและมุมมองต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก โดยเจตนารมณ์ที่สำคัญอันถือเป็นแถลงการณ์มีทั้งหมดด้วยกัน 8 ข้อได้แก่ (1) เป็นการวาดสถานที่ภายในหรือภายนอก บันทึกสิ่งที่เห็นจากการสังเกต (2) ภาพร่างของผู้วาดบอกถึงเรื่องราวรอบๆ ตัวที่อยู่ และที่ๆ ผู้วาดเดินทางไป (3) ภาพร่างของผู้วาดเป็นการบันทึกเวลาและสถานที่ (4) ผู้วาดจะวาดภาพที่เกิดขึ้นต่อหน้าจริงๆ (5) ผู้วาดสามารถใช้วิธีไหนก็ได้ให้เกิดรูปแบบเฉพาะตัวของตัวเอง (6) ผู้วาดช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม (7) ผู้วาดแบ่งปันภาพร่างของตนเองผ่านสื่อออนไลน์ และ (8) การแบ่งปันผลงานผ่านสื่อออนไลน์ทำให้โลกเห็นภาพร่างของผู้วาด (โธมัส ธอร์สเปคเคน, 2558: 9)
 
ภาพที่ 1 (urbansketchers, 2018)

ภาพที่ 2 ภาพผลงานภาพบนเว็ปไซต์ urbansketchers.org

ดังนั้น ในบทความนี้จึงนิยามคำว่า “Urban Sketching” หมายถึง “ภาพร่างภูมิทัศน์เมือง” ซึ่งเป็นภาพวาดอย่างง่ายด้วยพหุวิธีเพื่อสร้างภาพแทนภูมิทัศน์เมืองตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ในมุมมองต่างๆ ด้วยการบันทึกเป็นภาพ ณ สถานที่จริง และคำนิยามคำว่า “Urban Sketcher” หมายถึง “นักวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมือง” ซึ่งเป็นนักวาดที่ปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะภาพร่างภูมิทัศน์เมือง ณ สถานที่จริงและเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์

รูปแบบของภาพร่างเพื่ออธิบายลักษณะภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานคร

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการรวมกลุ่มของนักวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมืองในเฟซบุ๊ก (Facebook) ในชื่อ “บางกอกสเก็ตเชอร์ส” หรือ “Bangkok Sketchers” โดยมีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานและมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเครือข่ายสังคม (Social Network) https://www.facebook.com/groups/bksketchers/ ซึ่งในกลุ่มบางกอกสเก็ตเชอร์สจะมีกฎเกณฑ์ที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่นรูปแบบของผลงานที่อิสระ และยอมรับรูปแบบของผลงานที่หลากหลายของสมาชิกในกลุ่ม โดยกลุ่มบางกอกสเก็ตเชอร์สจะมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมปฏิบัติการสร้างสรรค์ภาพร่างยังสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และมีการจัดกิจกรรมที่เน้นไปที่การสร้างความรู้และทัศนคติที่ดีในด้านของการวาดภาพร่างอย่างต่อเนื่องเสมอ ซึ่งเป็นการการสร้างเครื่องข่ายและขยายมิตรภาพระหว่างกันของกลุ่มนักวาดภาพทั้งในโลกของความเป็นจริงและในโลกเสมือนจริง (Virtual reality)
สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนได้แบ่งรูปแบบลักษณะโดยทั่วไปของภาพร่างเพื่อเป็นภาพแทนภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก โดยใช้พื้นที่ชุมชนออนไลน์ของกลุ่มบางกอกสเก็ตเชอร์สเป็นกรณีศึกษา จากการสำรวจผ่านผลงานของสมาชิกที่มีอยู่ 11,773 คน (สำรวจจำนวนสมาชิกเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561) สามารถแบ่งประเภทของเนื้อหาของภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กได้ 13 ประเภท ได้ดังนี้

1) ภาพร่างภูมิทัศน์ของวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง (ภาพที่ 3) (Kaekae Nuchanart, 2560) 2) ภาพร่างภูมิทัศน์ของพื้นที่ทางความเชื่อความศรัทธา (ภาพที่ 4) (Pramote Kitchumnongpan, 2559) 3) ภาพร่างภูมิทัศน์ของวิถีชีวิตกับแม่น้ำลำคลอง (ภาพที่ 5) (Kim Denchai, 2556) 4) ภาพร่างภูมิทัศน์ของอาคารริมถนน (ภาพที่ 6) (Kritsaphon Wattanapan, 2558) 5) ภาพร่างภูมิทัศน์ของสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (ภาพที่ 7) (Louis Sketcher, 2560) 6) ภาพร่างภูมิทัศน์ของชุมชนเก่าดั้งเดิม (ภาพที่ 8) (Pitirat Tae, 2559) 7) ภาพร่างภูมิทัศน์ของตลาดย่านการค้า (ภาพที่ 9) (Suriya Chaya, 2558) 8) ภาพร่างภูมิทัศน์ของร้านค้า (ภาพที่ 10) (Ekkapop Sittiwantana, 2561) 9) ภาพร่างภูมิทัศน์ของร้านอาหาร (ภาพที่ 11) (Kamijn, 2560) 10) ภาพร่างภูมิทัศน์ของพื้นที่จุดเด่นสำคัญของกรุงเทพมหานคร (ภาพที่ 12) (Vanont Ruksiriphong, 2559) 11) ภาพร่างภูมิทัศน์ของชีวิตผู้คนยามราตรี (ภาพที่ 13) (สุเธียร โล้กูลประกิจ, 2560) 12) ภาพร่างภูมิทัศน์ของการคมนาคมในกรุงเทพมหานคร (ภาพที่ 14) (Kamijn, 2559) และ 13) ภาพร่างภูมิทัศน์ในวาระสำคัญของชาติ (ภาพที่ 15) (Kwin Krisadaphong, 2560)


ภาพที่ 3   
           ภาพที่ 4

ภาพที่ 5

ภาพที่ 6

            
ภาพที่ 7

ภาพที่ 8

ภาพที่ 9

       ภาพที่ 10

ภาพที่ 11

ภาพที่ 12

ภาพที่ 13

ภาพที่ 14

ภาพที่ 15

ความหมายของภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานคร

          จากการสำรวจ วิเคราะห์ และแบ่งประเภทของภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก พบว่ารูปแบบของภาพร่างภูมิทัศน์เมืองมีการแสดงความหมายผ่านการเป็นภาพแทนของมุมมองต่างๆ ที่นักวาดมีต่อกรุงเทพมหานครตามลักษณะทางกายภาพของวิถีชีวิตและชุมชนเมือง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ตามกลุ่มการสื่อความหมายของผลงานได้เป็น 7 ประเภท ได้แก่

1.    ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองที่บันทึกและแสดงสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอันเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของความเป็นชาติ

2.    ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองที่บันทึกพื้นที่ทางศาสนาและความเชื่อ แสดงลักษณะของภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม และบริบทต่างๆ ในพื้นที่ที่สัมพันธ์กับความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาต่างๆ ตลอดรวมไปถึงการเป็นพื้นที่ทางพิธีกรรมเชิงจิตวิญญาณของคนกรุงเทพมหานคร

3.    ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองที่บันทึกวิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพมหานครกับสายน้ำ แสดงภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตดั้งเดิมและปัจจุบัน

4.    ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองที่บันทึกชุมชนเก่าที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยนักวาดภาพร่างเข้าไปในย่านหรือชุมชนดั้งเดิมของกรุงเทพมหานครที่กระจายกันอยู่ทั่วไป ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีร่องรอยของสิ่งก่อสร้างและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์

5.    ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองที่บันทึกลักษณะของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างสองข้างถนนในกรุงเทพมหานครที่มีรูปแบบอันหลากหลายและทับซ้อนหลายยุคสมัย

6.    ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองที่บันทึกการคมนาคมในกรุงเทพมหานครซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากเมืองต่างๆ ทั้งในด้านที่ดีและในด้านที่ควรพัฒนา

7.    ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองที่บันทึกย่านการค้าและพื้นที่ทางธุรกิจ โดยนักวาดภาพร่างเข้าไปในพื้นที่เพื่อบันทึกบริบทและกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในด้านธุรกิจของคนทุกระดับชั้น ซึ่งเป็นสาระสำคัญของวิถีชีวิตร่วมสมัยของคนกรุงเทพมหานคร

การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานคร

          พัน นิลพันธุ์ ฉัตรไชยยันต์ ได้อธิบายถึงการขยายเครือข่ายทางสังคมบนอินเตอร์เน็ตว่าเป็นไปได้ทั้งสองกรณีคือ 1) การขยายเครือข่ายของคนแปลกหน้า และ 2) การขยายเครือข่ายของคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว โดยมีสาเหตุในการขยายเครือข่ายสังคมแตกต่างกัน กล่าวคือ การขยายเครือข่ายทางสังคมบนอินเตอร์เน็ตเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ในกรณีของคนแปลกหน้า และการขยายเครือข่ายทางสังคมบนอินเตอร์เน็ตเป็นการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมให้คงอยู่ในกรณีของคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว (พัน นิลพันธุ์ ฉัตรไชยยันต์: 2555, 26)

          ในกรณีของการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครของนักวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมืองกลุ่มบางกอกสเก็ตเชอร์สจึงเป็นการสื่อสารเพื่อขยายเครือข่ายทางสังคมทั้งจากกลุ่มของผู้ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนและผู้ที่รู้จักกันอยู่แล้ว โดยมีปฏิสัมพันธ์ในเครือข่ายสังคมผ่านรูปแบบของการกดถูกใจ (Like) การแบ่งปันหรือการแชร์ (Share) และการแสดงความคิดเห็น (Comment) ที่ผู้ใช้แต่ละคนสามารถแสดงทัศนะที่สัมพันธ์กับภาพร่างที่ปรากฏบนจอภาพแบบดิจิทัล (Digital) ซึ่งการรวมกลุ่มออกไปวาดภาพในสถานที่ต่างๆ เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ (Relationship) ระหว่างกันของนักวาดภาพร่างที่ปรากฏตัวอยู่บนโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริงสู่การสร้างความสัมพันธ์ในโลกของความเป็นจริง และขยายเครือข่ายจากคนที่ไม่รู้จักกันไปสู่การเป็นคนที่รู้จักกัน และเพิ่มจำนวนเครือข่ายไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนเสมือนจริงขนาดใหญ่

ภาพที่ 16 เฟซบุ๊กกลุ่มกลุ่มบางกอกสเก๊ตเชอร์ส

          โดยสามารถแบ่งลักษณะของการเผยแพร่ผลงานภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครในเฟซบุ๊กได้เป็น 2 ลักษณะสำคัญ ได้แก่

1.    การแสดงภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่มีขอบเขตของภาพสัมพันธ์กับสัดส่วนของภาพจริง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของภาพร่างและรูปลักษณ์ที่มีรายละเอียดครบอาจจะมีถ้อยความจากตัวอักษรประกอบเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสาระบางอย่าง

2.    การแสดงภาพร่างภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่ถ่ายภาพร่วมกับสถานที่จริงเป็นพื้นหลัง ซึ่งเป็นการแสดงความหมายถึงการบันทึกภาพนั้น ณ สถานที่จริงในห้วงเวลานั้นๆ โดยนักวาดภาพร่างบางคนจะแสดงพิกัดของพื้นที่ให้ขึ้นเป็นตัวอักษรบนหน้าจอบริเวณคำอธิบายของภาพ อันเป็นการสื่อให้ปรากฏถึงการลงพื้นที่จริง

สรุป

          ลักษณะโดยทั่วไปของภาพร่างเพื่อเป็นภาพแทนภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก มีรูปแบบการสร้างสรรค์ที่หลากหลายเทคนิคด้วยพหุวิธี นักวาดภาพร่างมีรูปแบบเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง (Individual) โดยมักมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กับ (1) สัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย (2) พื้นที่ทางศาสนาและความเชื่อ (3) วิถีชีวิตของคนในกรุงเทพมหานครกับสายน้ำ (4) ชุมชนในสมัยเก่าที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ (5) สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างสองข้างถนน (6) การคมนาคมในกรุงเทพมหานคร และ (7) ย่านการค้าและพื้นที่ทางธุรกิจ

          โดยผลงานภาพร่างเพื่อเป็นภาพแทนภูมิทัศน์เมืองของกรุงเทพมหานครจะเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยผู้วาดภาพร่างเอง ทั้งในลักษณะของพื้นที่โลกเสมือนจริงส่วนตัวและในเฟซบุ๊กของกลุ่มบางกอกสเก็ตเชอร์ส โดยมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการตอบรับในรูปแบบที่แตกต่างและหลากหลาย อันเป็นการขยายเครือข่ายของชุมชนของคนที่สนใจและนิยมการวาดภาพร่างภูมิทัศน์เมืองให้ขยายมากขึ้นจนเกิดเป็นชุมชนในโลกเสมือนจริงควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมภาคสนามผ่านการใช้เฟชบุ๊กเป็นสื่อที่ใช้ในการส่งข้อมูลข่าวสารของผลงานและกิจกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง  

บรรณานุกรม

ชลูด นิ่มเสมอ. (2558). สัพเพเหระเกี่ยวกับชีวิตและศิลปะ. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
ชลูด นิ่มเสมอ. (2553). องค์ประกอบของศิลปะ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
ธอร์สเปคเคน, โธมัส. (2558). พื้นฐานและเทคนิคสำหรับสเกตซ์ภาพ [Urban sketching : The complete guide to techniques] (ธเนศ สังข์สุวรรณ, ผู้แปล). นนทบุรี : ไอดีซี พรีเมียร์.
พัน นิลพันธุ์ ฉัตรไชยยันต์. (2555). เครือข่ายสังคมกับชุมชนออนไลน์: พัฒนาการ ความหมาย และรูปแบบการขยายเครือข่าย. วารสารนิเทศศาสตร์. 30(4), 18-27.   
สุชาติ สุทธิ. (2535). เรียนรู้การเห็น: พื้นฐานการวิจารณ์ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
สุริยะ ฉายะเจริญ. (2559). กระบวนการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรม: กรณีศึกษาจิตรกรรมร่วมสมัยนิทรรศการ “อิทส์มี”. วารสารนิเทศสยามปริทัศน์, 14(18), 43-51.   
Berger, John. (2008). Ways of seeing. London: British Broadcasting Corporation and Penguin Books, c1972.
Hodge, Susie. (2017).The Short Story of Art: A Pocket Guide to Key Movements, Works, Themes & Techniques. London: Laurence King Publishing.
Holmes, Marc Taro. (2014).The Urban Sketcher: Techniques for Seeing and Drawing on Location. Ohio: North Light Books
‎‎สุเธียร โล้กูลประกิจ. (2560). Nightsketch. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1119345464835323&set=gm.10157090981484517&type=3&theater
Ekkapop Sittiwantana. (2561). ท่าพระจันทร์. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/groups/bksketchers/permalink/10157162759459517/
Louis Sketcher. (2560). ศาลาเฉลิมกรุง. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/lllouissketcher/photos/a.966821403366349.1073741845.608371299211363/1228010520580768/?type=3&theater
Kaekae Nuchanart. (2560). วัดพระแก้ว. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1496564313790777&set=g.313934689516&type=1&theater&ifg=1
Kamijn. (2559). บนรถเมล์. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/kamijn/photos/a.739102159603408.1073741843.326824354164526/777428085770815/?type=3&theater
Kamijn. (2560). ร้านสวีท. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/kamijn/photos/a.739102159603408.1073741843.326824354164526/826398707540419/?type=3&theater
Kwin Krisadaphong. (2560). วัดทุ่งเศรษฐี: ถวายดอกไม้จันทน์. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10210439547729867&set=a.10210439515129052.1073742040.1379181669&type=3&theater
Kim Denchai. (2556). แม่น้ำเจ้าพระยา. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=170364466484527&set=a.107991832721791.9264.100005329240071&type=3&theater
Kritsaphon Wattanapan. (2558). แพร่งนรา. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1156034011077695&set=a.841471412533958.1073741853.100000133204813&type=3&theater
Pitirat Tae. (2559). ชุมชนป้อมมหากาฬ. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10153888337373091&set=a.10153888340953091.1073742000.673183090&type=3&theater
Pramote Kitchumnongpan. (2559). ภูเขาทอง: คลองมหานาค. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10211139181139048&set=a.1920053644695.111155.1342652460&type=3&theater
Suriya Chaya. (2558). ตลาดคลองสาน. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10204951498767483&set=a.4049394433511.2144152.1241484032&type=3&theater
Vanont Ruksiriphong. (2559). อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154506604765395&set=a.10154500868765395.1073741965.714455394&type=3&theater
Urbansketchers. (2018). Urbansketchers. Retrieved from http://www.urbansketchers.org/



ภาพบทความจากวารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 22 ประจำปี 2561, หน้า 17-25.















[1] อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น