2 ชั่วโมงสุดท้ายในนิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี”
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ
…
นิทรรศการศิลปะก็เปรียบเสมือนชีวิตของเรา มีวันที่เริ่มแสดงผลงานแล้วก็มีวันที่จบสิ้นการแสดง ไม่ต่างนักกับชีวิตของเราที่มีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วตายไป หลงเหลือไว้เพียงความทรงจำและผลงานที่เป็นเสมือนบทบันทึกของการมีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาหนึ่งบนสายธารแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
วันผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงสุดท้ายของนิทรรศการ ในการชมและพิจารณาผลงานจิตรกรรมและหลักฐานต่างๆในนิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี” (BEAUTY AND UGLINESS : AESTHETIC OF MARSI) ซึ่งเป็นการแสดงผลงานจิตรกรรมและข้อมูลหลักฐานของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ก่อนจะปิดนิทรรศการครั้งนี้
คงต้องบอกก่อนตามจริง ว่าผมเพิ่งเคยเห็นผลงานจิตรกรรมจริงของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นครั้งแรก ซึ่งแต่เดิมนั้นได้เห็นตามหนังสือและสื่อต่างๆโดยไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากรถสนิยมส่วนตัวผมไม่ได้สนใจในงานจิตรกรรมในแนวนี้สักเท่าใด แต่เมื่อได้มาชมในนิทรรศการครั้งนี้ก็พบว่าผลงานทั้งหมดทำให้ผมได้เข้าไปเยี่ยมเยือนโลกใบหนึ่งของจิตรกรที่ผมอาจจะไม่เคยได้ให้ความสนใจเลย
งานจิตรกรรมของหม่อมเจ้าหญิงมารศีมีรูปแบบคล้ายกับแนวทางศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ที่แสดงออกถึงโลกที่เหนือจากความเป็นจริงเชิงกายภาพ เป็นโลกที่ไม่มีอยู่จริง เป็นดินแดนแห่งจินตนาการที่ผสมผสานระหว่างสภาวะจิตภายในกับจินตภาพสมมุติให้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมด้วยรูปแบบเชิงปัจเจก
โลกแห่งจินตนาการของหม่อมเจ้าหญิงมารศีเกิดจากการนำรูปลักษณ์ (image) ของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายล้อมในชีวิตประจำวันของท่าน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ดอกไม้ ภูมิทัศน์ หรือแม้กระทั่งตัวของท่านเอง โดยนำมาผสมผสานกันภายในกรอบสี่เหลี่ยมของภาพจิตรกรรมอย่างมีแบบแผนและละเอียดละออ
ซึ่งลักษณะของชั้นเชิงเทคนิคทางจิตรกรรมของท่านถือว่าอยู่ในระดับสูงและค่อนข้างออกไปในเชิงการใช้ฝีแปรงแบบ (brush stoke) เกลี่ยเรียบเนียน (liner style) มากกว่าแสดงถึงความหยาบของฝีแปรง (paintery style) ที่เน้นการแสดงอารมณ์ เกลี่ยเรียบเนียนของฝีแปรงทำให้รูปร่างและรูปทรง (shape&form) ที่อยู่ในภาพผลงานผสมผสานกลมกลืนเป็นภาพเสมือนจริงที่มีส่วนผสมของสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นรูปร่างที่เหนือความจริง
ภาพผลงานที่ปรากฏจึงทำให้เราได้เห็นถึงโลกภายในจินตนาการของหม่อมเจ้าหญิงมารศีผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ในตัวงาน โดยตีความได้ไม่ยากนัก หากแต่ก็ยังมีรหัสอีกมากมายที่สุขซ่อนอยู่ที่ทำให้เราในฐานะผู้ดูต้องเข้าไปตีความจากความซับซ้อนเชิงความหมาย (connotation) ผ่านตัวละครในผลงานแต่ละชิ้น เพราะฉะนั้นการชมผลงานชุดนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เวลาในการจ้องมองและพิจารณาดูถึงสัญลักษณ์ที่ปรากฏพร้อมทั้งเทกำลังความคิดและกำลังความรู้สึกให้ข้ามพ้นจากผืนภาพสีน้ำมันให้เข้าไปสู่โลกภายในจิตใจและจินตนาการของจิตรกร
สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่งเสียไม่ได้ ก็คือการจัดรูปแบบนิทรรศการครั้งนี้ที่อาจจะแตกต่างจากการจัดนิทรรศการแสดงงานโดยทั่วไป เนื่องจากผู้จัดได้ให้ความสำคัญในเรื่องเนื้อหาของความเป็นโลกของหม่อมเจ้าหญิงมารศีมากเท่ากับการนำเสนอภาพจิตรกรรมของท่าน ลักษณะการใช้แสงไฟ สีพื้นหลังของห้องนิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และการจัดวางของสิ่งต่างๆ ที่ประกอบเป็นนิทรรศการ ทำให้เราถูกเร่งเร้าให้เข้าถึงความรู้สึกในโลกของจิตรกรท่านี้ได้ไม่ยากนัก
บรรยากาศที่รายล้อมผู้ดูจึงเป็นเสมือนพื้นที่อันสงัดที่ทำให้เรามีเวลาที่จะอยู่เงียบๆ กับแสงสลัว และจ้องมองผลงานและส่วนต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงให้ชม โดยค่อยๆ พิจารณาเพื่อดื่มด่ำกับสุนทรียภาพที่ปรากฏอยู่รายล้อมตัว และถึงแม้ว่าผลงานแต่ละชิ้นที่มีความงามและประณีตอย่างพิสดารแล้ว แต่สภาพแวดล้อมที่ถูกจัดการในห้องนิทรรศการอย่างดีก็เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มเรื่องราวให้เราได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกของโลกอีกใบหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากโลกของความเป็นจริงได้ขั่วขณะ นั่นหมายถึงผู้จัดสามารถทำนิทรรศการได้อย่างประสบความสำเร็จและน่าชื่นชม
เพราะฉะนั้น นิทรรศการนี้จึงไม่เพียงเป็นการนำเสนอภาพผลงานของจิตรกรหญิงที่เสมือนห่างหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์วงการทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทยตามที่เรารู้จักกันเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการนำชีวิตของจิตรกรท่านนี้มาให้ผู้ชมได้สัมผัสได้อย่างใกล้ชิดและดื่มด่ำอย่างมาก
สุดท้ายแล้ว หากนิทรรศการศิลปะเปรียบเสมือนชีวิตมนุษย์ที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป สิ่งที่อยู่หรือสิ่งที่หลงเหลือไว้คือความทรงจำและร่องรอยของสุนทรียภาพที่ประจักษ์ต่อมหาชนได้อย่างจริงแท้ นิทรรศการครั้งนี้ก็เรียกได้ว่าสามารถนำเสนอได้ถึงจุดนั้น นั่นก็คือการที่เราได้เข้าไปเยี่ยมเยือนโลกของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตรในครั้งที่ยังทรงมีชีวิตอยู่ และเมื่อจิตรกรสิ้นชีพตักษัยไปเสียแล้ว ผลงานจิตรกรรมจะยังคงอยู่ให้ได้ชื่นชมอีกนานเท่านาน
แม้นิทรรศการครั้งนี้จะจบลงแล้ว แต่ความทรงจำของผู้ชมและผลงานจิตรกรรมและสิ่งต่างๆ ของจิตรกรก็ได้ถือกำเนิดใหม่อีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทย ว่าครั้งหนึ่งยังมีจิตรกรหญิงชนชั้นสูงที่ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมได้อย่างวิจิตรพิสดารและทรงคุณค่าฝากไว้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาทัศนศิลป์ของไทยต่อไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
…
นิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี” (BEAUTY AND UGLINESS : AESTHETIC OF MARSI) ผลงานโดย หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
จัดแสดงระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 23 ธันวาคม 2561 ณ ห้องนิทรรศการ 5 - 8 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น