วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การสื่อความหมายด้วยรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมมผ่านยุคสมัย รูปแบบอาคารในชุมชนหนองมน จังหวัดชลบุรี

กิตติธัช ศรีฟ้า
อาจารย์ประจำ สาขาวิชาการออกแบบสื่อดิจิทัล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

บทคัดย่อ
ตลาดหนองมนเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่เคยเฟื่องฟูมาก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 โดยชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนค้าขายอย่างแท้จริง สังเกตได้จากรูปแบบอาคารที่ปรากฏอยู่ในตลาดแห่งนี้ ตั้งแต่อาคารยุคแรกจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเป็นอาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น และที่น่าสนใจที่สุดคือ ตลาดหนองมนมีอาคารพาณิชย์ทุกแบบ กล่าวคือ มีทุกยุค ตั้งแต่เริ่มแรกที่เป็นห้องแถวชั้นเดียว และพัฒนาการมาจนเป็นตึกแถวแบบหลายชั้น ซึ่งโดยปกติในชุมชนอื่นมักจะมีไม่ครบทุกยุคสมัยเช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อาคารพาณิชย์ในหนองมนจึงสามารถเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าสนใจ ทำให้เรามองเห็นช่วงกำเนิด รุ่งเรือง และการหยุดนิ่ง ได้อย่างชัดเจน

คำสำคัญ
ห้องแถว ตึกแถว หนองมน

หลักการและเหตุผล
          หนองมนเป็นชุมชนค้าขายที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต สมัยที่บางแสนยังได้รับความนิยมเรื่องสถานที่ตากอากาศ ก่อนที่จะเกิดภาวะเศษฐกิจ พ.ศ.2540 หนองมนเงียบเหงาลงเพราะพิษเศษฐกิจ หากแต่ก็ยังคงอยู่ได้ในฐานะแหล่งการค้า ถึงแม้จะไม่รุ่งเรืองอย่างที่เคย แต่ก็ยังไม่เคยตายไปเหมือนตลาดโบราณในหลาย ๆ แห่ง หนองมนมีสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ที่น่าสนใจคือ อาคารพาณิชย์ในหนองมนมีตั้งแต่ห้องแถวในยุคแรกของการมีอาคารพาณิชย์ และมีทุกรูปแบบในพัฒนาการของตึกแถว จึงทำให้เห็นได้ว่า วัฒนธรรมการค้าในหนองมน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยตาย ไม่เคยหยุดนิ่ง ชุมชนหนองมนเคลื่อนไหวตามแรงเศษฐกิจ นั้นแสดงให้เห็นได้ว่าชุมชนแห่งนี้คือ “ชุมชนแห่งการค้าขายอย่างแท้จริง” ดังนั้นการศึกษาเรื่องอาคารพาณิชย์ในชุมชนแห่งนี้ จะทำให้เข้าใจพัฒนาการทางเศษฐกิจผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์
1.       เพื่อศึกษาหาความเป็นมาทางสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์
2.       เพื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์สำคัญกับสถาปัตยกรรมในหนองมน
3.       เพื่อศึกษาพัฒนาการรูปแบบอาคารพาณิชย์ในหนองมน

ขอบเขตเรื่อง
บทความฉบับนี้มุ่งประเด็นไปที่ รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ ในบริเวณตลาดหนองมนเป็นหลัก เพื่อศึกษาพัฒนาการของสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ และนำไปเทียบเคียงกับสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯ รวมไปถึงเทียบเคียงกับเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่มีผลให้เกิดการเป็นแปลงในด้านการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวในหนองมน

นิยามศัพท์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ระบุ ถึงความหมายของ “ตึกแถว” ซึ่งหมายรวมถึง “หอง แถว” ไวดังนี้
“ตึกแถว น. อาคารที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนหรือ คอนกรีตทำเป็นห้อง ๆ เรียงติดกันเป็นแถว, หอง แถวก็เรียก” อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงและขอบัญญัติทองถิ่นที่ออก ตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดนิยามของ
“ตึกแถว” และ “ห้องแถว ” ที่แตกต่างกันตามวัสดุที่ใชสำหรับก่อสร้างกล่าวคือ
“ตึกแถว” หมายความวา อาคารที่พักอาศัยหรือ อาคารพาณิชย์ยซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินกว่าสองหอง และประกอบด้วยวัตถุถาวรและทนไฟเป็นส่วนใหญ่ และ
“ห้องแถว” หมายความว่า อาคารที่พักอาศัยหรือ อาคารพาณิชย์ยซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินกว่าสองห้องและประกอบด้วยวัตถุอันไม่ใช่วัตถุทนไฟเป็นส่วนใหญ่

บทความ
“ตลาดหนองมน” เป็นชื่อเรียกสถานที่แห่งหนึ่งในตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี มีลักษณะเป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดชลบุรีประมาณ 11 -12 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากทางแยกเข้าหาดบางแสนเพียงประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ในอดีตตลาดหนองมนนับเป็นแหล่งการค้าที่ เจริญมากที่สุดในจังหวัดชลบุรี ทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินกันเต็มไปทั้งตลาด โดยส่วนมากมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของฝากไปให้ญาติพี่น้อง โดยตลาดแห่งนี้เป็นตลาดขายสินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึกที่มีชื่อของจังหวัดชลบุรี ได้แก่ อาหารแห้ง เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยหลอด ปลาลิวกิว กะปิ น้ำปลา ฯลฯ ขนม และอาหารสำเร็จรูป เช่น ห่อหมก กล้วยฉาบ เผือกฉาบ ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม และขนมหวานนานาชนิด เช่น ข้าวหลาม ขนมจาก ขนมไทยต่าง ๆ และ เครื่องจักรสานที่ทำจากไม้ไผ่ หรือหวายที่มาจากอำเภอพนัสนิคม ซึ่งมีฝีมือการสานประณีตละเอียด
ตลาดหนองมนในอดีต ผู้เริ่มก่อตั้งหรือเป็นเจ้าของตลาดนั้นเป็นคหบดีชาวจีน เริ่มจากก่อสร้าง “ห้องแถว” ให้เช่า (ภายในที่ดิน) ห้องแถว” หมายถึง อาคารที่พักอาศัยหรือ อาคารพาณิชย์ยซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินกว่าสองห้องและประกอบด้วยวัตถุอันไม่ใช่วัตถุทนไฟเป็นส่วนใหญ่[1] เมื่อมีห้องแถวขึ้นมาก็มีคนมาอยู่อาศัย มีการค้าขาย มีร้านกาแฟ ร้านขายอาหารจีน ร้านขายของ ร้านตัดผม ร้านขายยา ร้านรับตัดเสื้อผ้า ร้านขายของชำ ร้านขายส่งสินค้าไปตามชุมชนชาวไทยที่ห่างออกไป มีส่วนกลางที่เป็นตลาดขายผักสด อาหารสด มีเขียงหมู เขียงเนื้อสด เป็นต้น[2]
โดยห้องแถวในระยะแรกของตลาดหนองมนนั้น เป็นลักษณะเรือนแถวไม้ชั้นเดียวต่อมามีพัฒนาการณ์เป็นเรือนแถวไม้สองชั้น และพัฒนามาเป็นเรือนแถวครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้น โดยชั้นล่างก่อปูน และชั้นบนเป็นไม้มีระเบียงด้านหน้าเพิ่มขึ้นมา ต่อมากลายเป็นอาคารปูนสองชั้นเรียงต่อกันเป็นแถว และภายหลังมีการสร้างอาคารปูนมากขึ้น ซึ่งเริ่มมีความสูงมากกว่าสองชั้นขึ้นไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของเศรษฐกิจของชุมชน จนเราเรียกกันว่า “ตึกแถว”


ภาพที่  1 ห้องแถวไม้ชั้นเดียว
ที่มาภาพ: กิตติธัช ศรีฟ้า ภาพลายเส้นห้องแถวไม้ชั้นเดียวในตลาดหนองมน

เมื่อกล่าวถึง “ตึกแถว” เข้าใจว่าผู้คนคงนึกภาพออกได้ไม่อยากนัก และเข้าใจว่าหลายคนคงนึกถึงอาคารพาณิชย์ที่วางเรียงตัวกันอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบเหมือน ๆ กัน ใช้ผนังร่วมกัน มีความสูงเท่ากัน ซึ่งนั้นเองคือเอกลักษณ์สำคัญของตึกแถว “ตึกแถว” เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “อาคารพาณิชย์” (shophouse) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทหนึ่งของทั้งคนพื้นเมือง และคนเมือง มักมีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยวิวัฒนาการมาจากห้องแถวไม้ของชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย[3] โดยห้องแถวไม้ดังกล่าวยังคงพบเห็นอยู่ที่ตลาดหนองมนบางส่วน ซึ่งจากการสอบถามคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาด หนองมนจึงได้ข้อมูลเบื้องต้นมาว่า เรือนแถวไม้ชุดแรก ๆ เป็นเรือนแถวไม้ชั้นเดียว เดิมทีบริเวณพื้นมิได้เป็นปูน หากแต่เป็นเพียงพื้นดินอัดแน่น กำแพงทำด้วยไม้ ประตูเป็นแผ่นไม้เรียงต่อกันที่ละแผ่นในรางที่ทำจากไม้ หลังคามุงด้วยจาก ต่อมาจึงเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคามาเป็นสังกะสี และเทพื้นปูน

หลังจากยุคเริ่มแรกของเรือนแถวไม้ในตลาดหนองมน ซึ่งเดิมที่เป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันภายในชุมชนของตนเอง และชุมชนใกล้เคียงเป็นหลัก หากแต่หนองมนอยู่ใกล้ “หาดบางแสน” ซึ่งเป็นสถานที่ต่างอากาศในยุคแรก ๆ บางแสน เดิมเป็นชายทะเลรกร้าง ตั้งอยู่ใน ตำบลแสนสุข กระทั่ง พ.ศ.2486 เริ่มให้มีการสร้างสถานตากอากาศขึ้นมีการสร้าง โรงแรม และ ที่พักต่าง ๆ ดำเนินการโดยบริษัทแสนสำราญ จึงเรียกว่าสถานตากอากาศแสนสำราญตามชื่อบริษัท ต่อมาใน พ.ศ. 2503 จึงโอนให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเปลี่ยนชื่อเป็น สถานตากอากาศบางแสน จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาภายในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความเจริญทางเศษฐกิจการค้าภายในตลาดหนองมนอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีการค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงประมาณปี 215[4] มีผลทำให้ความต้องการแหล่งค้าขายรวมถึงที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้น จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการสร้างเรือนแถวไม้เพิ่มเติม โดยใช้โครงสร้างแบบเดิมหากแต่มีสองชั้น กล่าวคือ ยังคงเรือนแถวไม้หากแต่เป็นสองชั้นโดยใช้ชั้นล่างขายของส่วนชั้นบนนั้นเป็นที่พักอาศัย มีการปูพื้นปูนและกระเบื้อง กำแพงยังคงทำด้วยไม้ ประตูเป็นแผ่นไม้เรียงต่อกันที่ละแผ่นในรางที่ทำจากไม้เช่นเดิม หลังคามุงด้วยสังกะสี และยังไม่มีระเบียงด้านหน้า ซึ่งในยุคเรือนแถวไม้สองชั้นยุคแรกนี้ เรือนแถวไม้ยังไม่เน้นความสวยงามมากนัก หากแต่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก


ภาพที่  2 เรือนแถวไม้สองชั้น บริเวณชั้นสองยังไม่มีระเบียงด้านหน้า
ที่มาภาพ: กิตติธัช ศรีฟ้า ภาพวาดลายเส้นเรือนแถวไม้สองชั้น บริเวณชั้นสองยังไม่มีระเบียงด้านหน้าในตลาดหนองมน

ซึ่งต่อมาเมื่อการค้าขายดีขึ้นตามลำดับ เรือนแถวชุดใหม่ก็เกิดขึ้นโดยมีโครงสร้างทุกอย่างใกล้เคียงของเดิมทุกอย่าง หากแต่มีการเพิ่มเติมระเบียงด้านหน้าบ้านบริเวณชั้นสอง ในขณะเดียวกันนี้ก็พบว่าเกิดเรือนแถวชุดใหม่ขึ้น ซึ่งคาดว่าร่วมสมัยกันกับเรือนแถวไม้สองชั้นมีระเบียงที่ชั้นสอง กล่าวคือ พบว่ามีเรือนแถวในลักษณะเดียวกันหากแต่ชั้นล่างก่ออิฐถือปูแล้ว จึงเรียกว่าเรือนแถวครึ่งไม้ครึ่งปูน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน มีระเบียงที่หน้าบ้านชั้นสองเหมือนกัน ต่างกันเพียงชั้นล่างที่มีการก่ออิฐถือปูนเท่านั้นเอง

ต่อมาราว พ.ศ. 2525 โดยเทียบเคียงกับสถาปัตยกรรมของตึกแถวในกรุงเทพฯ พบว่ามีเรือนแถวที่ก่อสร้างด้วยปูนทั้งหลัง มีลักษณะสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ยังไม่มีดาดฟ้า และงานออกแบบเป็นลักษณะเหลี่ยมมุมคล้ายกล่อง ยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคของ “ตึกแถว” ช่วงแรกใน ตลาดหนองมน ที่มีการก่ออิฐถือปูน ต่อมาห้องแถวไม้เก่าในยุคแรก ๆ เริ่มชำรุดทรุดโทรมจึงมีการรื้อทิ้ง และสร้างตึกแถวขึ้นจำนวนมากในตลาดหนองมน

 “ตึกแถว” ที่มีลักษณะก่ออิฐถือปูนนั้น ตามหลักฐานที่พบ มีข้อสันนิษฐานว่า “ตึกแถว” เกิดขึ้นในประเทศไทยพร้อมถนนสายแรกในประเทศไทยนั้นคือ “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2404[5] โดยพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของบรรดาเจ้าขุนมูลนาย และหน่วยราชการ โดยในอดีตคนไทยส่วนใหญ่เดินทางสัญจรกันทางน้ำเป็นหลัก เศรษฐกิจกิจหรือแหล่งการค้าจึงเจริญอยู่ตามชายคลอง แต่เมื่อมีการตัดถนนขึ้น ทำให้การสัญจรเปลี่ยนรูปแบบไป เศรษฐกิจหรือแหล่งการค้าก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เมื่อการค้าย้ายแหล่งจากชายคลองมาอยู่บนถนน บรรดาเจ้าขุนมูลนายจึงสร้างเป็นตึกแถวให้คนยากจนเช่า และทำเป็นสัญญาระยะยาว เช่น บริเวณเวิ้งนาครเขษม หรือชุมชนหวั่งหลี[6] ที่มีรูปแบบตัวตึกที่อยู่ติดกันตลอดแนว โดยใช้ผนังร่วมกัน ด้านในที่ไม่ติดถนนก็เป็นบ้านพักอาศัยธรรมดา แต่ส่วนที่อยู่ติดถนนหรือหัวมุมก็มักจะเป็นร้านของขาย จนกลายเป็นต้นแบบของตึกแถวของพื้นที่ต่อ ๆ มา

ต่อมาเมื่อถึงยุคที่ต้องเร่งสร้างเมือง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงนั้น ในระยะแรกบ้านเมืองมีซากปรักหักพังอยู่มาก จึงจำเป็นต้องบูรณะ และเริ่มสร้างอาคารที่พักอาศัยกันครั้งใหญ่ ตึกแถวเป็นตัวเลือกแรก ๆ เนื่องจากสร้างง่าย แข็งแรง และสามารถทำการค้าได้ ถัดมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นยุคทองในเรื่องการตื่นตัว และเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด เห็นได้จากมีการร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ขึ้นมา เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง รวมไปถึงการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาอย่างเช่น กองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยผลพวงหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือการขยายตัวด้านอสังหา 'ตึกแถว' รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า 'แฟลต' จำนวนมาก[7]

เมื่อประเทศไทยผ่านยุคที่ต้องเร่งสร้างเมืองมาได้ ก็ถึงเวลาก้าวเข้าสู่ ยุคที่ความเจริญเรียกหา หลังจากที่ประเทศไทย ผ่านวิกฤตทางการเมืองช่วงปี 2519 มาได้ เริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของ เช่น สุขุมวิท เพชรบุรี หรือสีลม ก็ตามที มีผลทำให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้เองบรรดาเจ้าของที่ดินเหล่านี้ จึงถือโอกาสสร้างตึกสูงเพื่อรองรับกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป อีกทั้งลดระยะเวลาทำสัญญาเช่าให้เหลือเพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น ในขณะเดียวกันโครงการทางด้านคมนาคมต่าง ๆ ก็มีการพัฒนาขึ้น ทั้งรถไฟลอยฟ้า และใต้ดิน มีผลให้เกิดการก่อสร้างคอนโดมิเนียมขึ้นจำนวนมาก หากแต่ว่าตึกแถวเองก็ยังคงได้รับความสนใจจากพ่อค้าแม่ขาย เนื่องจากยังคงทำการค้าได้ตามหน้าอาคาร[8] ซึ่งยุคนี้เองที่คาดว่าส่งอิทธิพลงานออกแบบตึกแถว มายังตลาดหนองมน  ระยะนี้ตลาดหนองมนเจริญสุดขีด และเป็นตลาดที่ได้มาตรฐาน ในสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากในช่วงนั้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศดีมาก มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างตึกแถวในตลาดหนองมนก็ขยายตัวตามเศษฐกิจ จนมีการสร้างตึกแถวที่มีมากกว่าสองชั้นและมีดาดฟ้า

ภาพที่  3 ตึกแถวในยุค ที่ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง
ที่มาภาพ: กิตติธัช ศรีฟ้า ภาพถ่ายตึกแถวในยุค ที่ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ที่ตลาดหนองมน

และเมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างหวัง ประเทศไทยเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตก ในช่วงปี 2540 ระยะนี้ตึกแถวเริ่มไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาคารอยู่อาศัยแบบใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่า “ทาวน์เฮาส์” ซึ่งเหมาะสมชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะด้วยขนาด และราคา ที่เหมาะสมกับช่วงที่ประเทศไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เกิดมีเหตุตึกแถวร้าง ไม่มีใครเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจหลายแห่งที่ทำการค้าในตึกแถวพากันปิดเงียบไป[9] รวมทั้งหนองมนก็พบกับปัญหานักท่องเที่ยวซบเซาเช่นกัน ส่งผลให้การก่อสร้างต่าง ๆ หยุดชงักไปหมด ดังนั้นเราจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตึกแถวในบริเวณตลาดหนองมนมากนัก มิหนำซ้ำยังเริ่มเกิดตึกแถวร้างในตลาดหนองมน บริเวณที่ยังทำการค้าอยู่คงเหลือเพียงตึกแถวที่ติดกับถนนสุขุมวิทขาเข้าเท่านั้น

เมื่อผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 มาแล้ว เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่ดูเหมือนสถานการณ์ของตึกแถวจะไม่คึกคักเช่นเคย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รูปแบบตึกแถวแบบดั้งเดิมเริ่มไม่มีการก่อสร้างรวมไปถึงมีการทุบทำลายบางส่วน อาจเพราะมีการขยายของเมืองที่มากขึ้น และการพลิกโฉมของกิจการคอนโดมิเนียมตามเส้นทางสถานีรถไฟฟ้า ที่มีขีดความสามารถจุคนได้มากกว่า ทำให้สะดวกต่อการคมนาคม เจ้าของตึกแถวจำนวนไม่น้อยเริ่มขายตึกหรือไม่ก็ทุบทิ้ง แล้วเปลี่ยนมาสร้างคอนโดมิเนียมแทน เช่นเดียวกับแหล่งพื้นที่ตึกแถวโบราณ ที่ทยอยหมดสัญญา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเห็นชุมชนโบราณที่เคยเรียงรายด้วยตึกแถวเริ่มหายไปทีละแห่งสองแห่ง เช่น ชุมชนสามย่าน ซอยหวั่งหลี ฯลฯ ช่วงเวลาเดียวกันนี้ที่ตลาดหนองมนก็ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวเริ่มหดหายเพราะพิษเศษฐกิจ เมื่อการค้าซบเซา การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ก็หยุดลง ดังนั้นเราจึงไม่เห็นตึกแถวรูปแบบใหม่ ๆ หลังจากยุค พ.ศ. 2540 มากนัก จึงกล่าวได้ว่าจวบจนปัจจุบันการก่อสร้างตึกแถวในเมืองไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เหลือเพียงตึกแถวดั่งเดิมที่เคยก่อสร้างมาเมื่อนานมาแล้ว และยังคงใช้ประโยชน์ทางการค้าได้เท่านั้น

บรรณานุกรม
________. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. ปัญหาตึกแถว. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วน โรงพิมพ์ ยูไนเต็ดโปรดักชั่น, 2524.
ควิน ลิมป์. การศึกษาตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ 5 จากแผนที่ กรุงเทพฯ ปีพ.ศ. 2450. วิทยานิพนธ์ปริญญามหา บัณฑิต ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2553
ชนิดา ตันติตยาพงษ์. ภาพพจน์ตลาดหนองมนในทรรศนะของนักท่องเที่ยว. ปัญหาพิเศษ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาบริหารทั่วไป, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย บูรพา. 2546
ชูวิทย์ สุขฉายา. ตึกแถวกับการออกแบบชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนและผังเมือง บัณฑิตวิทยาลัยศิลปากร, 2518
น. ณ ปากน้ำ [นามแฝง]. แบบแผนบ้านเรือนในสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุงเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2543
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
เพ็ญศรี ฉันทวรางค์. แนวทางการเปลี่ยนแปลงของตึกแถว ในกรุงเทพมหานคร วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.
เยาวภา จันทร์สอน. ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อตลาดหนองมน จังหวัดชลบุรี. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550
สำนักนายกรัฐมนตรี. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากร, 2525



[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
[2] ชนิดา ตันติตยาพงษ์. ภาพพจน์ตลาดหนองมนในทรรศนะของนักท่องเที่ยว. ปัญหาพิเศษ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาบริหารทั่วไป, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย บูรพา. 2546
[3] น. ณ ปากน้ำ [นามแฝง]. แบบแผนบ้านเรือนในสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุงเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2543
[4] เยาวภา จันทร์สอน. ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อตลาดหนองมน จังหวัดชลบุรี. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550
[5] ควิน ลิมป์. การศึกษาตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ 5 จากแผนที่ กรุงเทพฯ ปีพ.ศ. 2450. วิทยานิพนธ์ปริญญามหา บัณฑิต ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2553
[6] สำนักนายกรัฐมนตรี. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากร, 2525
[7] ชูวิทย์ สุขฉายา. ตึกแถวกับการออกแบบชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนและผังเมือง บัณฑิตวิทยาลัยศิลปากร, 2518
[8] เพ็ญศรี ฉันทวรางค์. แนวทางการเปลี่ยนแปลงของตึกแถว ในกรุงเทพมหานคร วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.
[9] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. ปัญหาตึกแถว. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วน โรงพิมพ์ ยูไนเต็ดโปรดักชั่น, 2524.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น