โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (jumpsuri@gmail.com)
นิทรรศการ Kamijn
Village หรือ หมู่บ้านขมิ้น เป็นนิทรรศการศิลปะที่สร้างสรรค์โดย “ขมิ้น”
หรือคุณเพียงขวัญ คำหรุ่น ศิลปินรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากสาขาภาพพิมพ์และกำลังเรียนปริญญาโทด้านทฤษฎีศิลป์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ขมิ้นเป็นทั้งศิลปิน นักวาดภาพประกอบ นักออกแบบ และเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ “Kamijn” ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 3 ของเธอ (3rd solo exhibition) อันเป็นการนำเสนอผลงานภาพวาดเกือบ
80 ภาพ ภายใต้โครงการ Kamijn Village: หมู่บ้านขมิ้น
ของตัวเธอเอง
สำหรับผมแล้ว ความพิเศษของนิทรรศการศิลปะของขมิ้นครั้งนี้ไม่ได้อยู่แต่เพียงผลงานภาพวาดที่มีลักษณะเป็นภาพประกอบกึ่งการ์ตูนในรูปแบบเฉพาะตัวของขมิ้นเท่านั้นหากแต่ยังอยู่ที่กระบวนการสร้างสรรค์อันเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้ร่วมกิจกรรมที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางอันสำคัญ
โดยโครงการ Kamijn
Village คือ การให้ผู้คนในชุมชนออนไลน์ที่รักสัตว์เลี้ยงของตัวเองร่วมสนุก
โดยการส่งภาพสัตว์เลี้ยงที่ตัวเองรักมาให้กับขมิ้นผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ
(Facebook/ instagram/ twister) ซึ่งขมิ้นในฐานะของศิลปินจะนำภาพลักษณ์ของสัตว์ที่เพื่อนๆ
ในชุมชนออนไลน์มาถอดรหัส (Decode) แล้วประกอบสร้างใหม่ (Reconstruction) ในรูปแบบบุคลิกเฉพาะตัวที่ยืนสองขาคล้ายกับการยืนตรงของมนุษย์อันเป็นการเปรียบเปรยเชิงหยอกล้อระหว่างสถานะของสัตว์เลี้ยงกับมนุษย์
ผลงานในชุดดังกล่าวนี้ ขมิ้นใช้เทคนิคการวาดเป็นภาพลายเส้นด้วยปากกาดำและระบายสีน้ำ
โดยสมมุติบทบาทของสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักนั้นๆ ด้วยอาชีพต่างๆ ทั้งที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกแห่งจินตนาการของตัวเธอเอง
สัตว์ทุกตัวที่ขมิ้นสร้างขึ้นจึงโลดแล่นในจินตนาการของเธออย่างไร้ขอบเขต
แต่ขมิ้นก็ไม่ได้เก็บงำความน่ารักและความสุขใจของหมู่บ้านขมิ้นอันเป็นดินแดนจินตนาการอยู่กับตัวเองเท่านั้น
หากแต่ยังแบ่งปันจินตนาการ ความน่ารัก และและอุดมคติบางอย่างของเธอให้ออกมาเป็นภาพด้วยการจัดแสดงภาพวาดแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายชุมชนออนไลน์
และติดแฮชแท็กว่า #kamijnvillage เพื่อให้เป็นการรวบรวมผลงานทั้งหมดของโครงการด้วยระบบดิจิทัลและง่ายต่อการที่ผู้ใช้ระบบออนไลน์เข้าถึงได้
ซึ่งเมื่อผลงานภาพวาดเสร็จเรียบร้อยและโพสต์เผยแพร่ในเครือข่ายชุมชนออนไลน์แล้ว
ขมิ้นจะส่งไฟล์ภาพวาดสัตว์เลี้ยงที่ถูกเนรมิตบทบาทใหม่ให้กับเจ้าของผู้ส่งรูปมา
โดยเจ้าของที่ได้รับรูปสามารถเก็บรักษาหรือนำไปพิมพ์เพื่อเก็บไว้ได้ (ทั้งนี้ผลงานทุกภาพถือเป็นผลงานสร้างสรรค์ตามลิขสิทธิ์ของขมิ้น
ซึ่งสามารถที่จะคัดลอกสำเนาเพื่อเก็บไว้ส่วนบุคคลได้ หากแต่ไม่สามารถนำไปทำการค้าเพื่อหาผลประโยชน์ได้)
ความน่าสนใจของนิทรรศการนี้
ผมจึงถือว่ากระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์ (Relational) ที่ขมิ้นได้ใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์
(Social Media) เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะระบบการปฏิสัมพันธ์ด้วยเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ในโลกปัจจุบันแห่งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร
(Information Technology) ถือว่าเป็นช่องทางที่มีเสรีภาพในการนำเสนอสาระสำคัญทางความคิดของแต่ละบุคคลได้ออย่างอิสระ
ผลงานในโครงการนี้ของขมิ้นจึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นจิตสำนึกในเรื่องของสันติสุขในสังคมที่ความแตกต่างไม่จำเป็นต้องแตกแยกเสมอไป
แม้ในมโนทัศน์เชิงอุดมคติของขมิ้นที่สร้างหมู่บ้านแห่งสันติสุขจะเป็นเพียงมโนคติที่ปราศจากกายภาพ
หากแต่บทบาทที่เกิดขึ้นจากการประกอบกันของสัญญะ (Sign) ที่หลากหลายอันปรากฏบนภาพวาดสัตว์เลี้ยงที่ยืนสองขากลับทำให้เราสร้างภาพจินตนาการของหมู่บ้านของขมิ้นได้ไม่มากก็น้อย
ความแตกต่างหลากหลายของอาชีพและสถานะที่เกิดจากบริบทในภาพตัวละครแต่ละตัวไม่ได้ทำให้เอกภาพ
(Unity) ในจินตนาการที่เรามีต่อหมู่บ้านขมิ้นสั่นคลอน
เพราะสัญญะของการยิ้มแย้มบนใบหน้าของสัตว์แต่ละตัว ล้วนแสดงออกถึงความสุขสนุกสนานที่พวกเขาและเธอได้โลดแล่นอย่างอิสรเสรีบนโลกแห่งมโนคติ
ในขณะที่กระบวนการแบ่งปันภาพ (Sharing) สัตว์เลี้ยงที่ถูกสวมบทบาทโดยขมิ้นแล้ว และการที่ภาพเหล่านั้นสามารถผลิตซ้ำ
(Reproduction) ที่ข้ามสื่อจากจิตรกรรมไปสู่ภาพดิจิทัลและพิมพ์ลงบนกระดาษเป็นภาพพิมพ์ของภาพสัตว์ที่เจ้าของจะสามารถพึงกระทำได้
เพราะนั่นคือการปฏิสัมพันธ์เชิงมิตรภาพในบริบทของสื่อสังคมออนไลน์ที่ขมิ้นมีต่อผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้
ซึ่งประเด็นของการแบ่งปันภาพและการผลิตซ้ำย่อมทำให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของขมิ้นที่ไม่ได้ยึดถือในความเป็นต้นแบบ (Originality) เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความคิด (Conceptual) และปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ด้วยสังคมปัจจุบันที่การผลิตซ้ำของสื่อต่างๆ
ล้วนข้ามกรอบของห้วงเวลาด้วยระบบออนไลน์ ก็ย่อมทำให้การให้คุณค่าเชิงต้นแบบที่เป็นแก่นแท้นั้นได้ปลาสนาการลงเสีย
ซึ่งการไม่ตั้งคำถามกับความเป็นต้นแบบทางศิลปะนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นความท้าทายจริยธรรมด้านการลอกเลียนแบบได้เช่นเดียวกัน
แต่ในเมื่อความสำคัญของนักสร้างสรรค์นั้นหาใช่แค่ทักษะฝีมือเท่านั้น
หากแต่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และจิตใจแห่งการสร้างสรรค์ที่หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
เสมอๆ เพราะฉะนั้น หากใครที่จะเลียนแบบด้วยการลอกเลียนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้วก็ย่อมทำได้แค่เปลือกนอกหาใช่เข้าใจแก่นแท้ของการสร้างสรรค์นั้นไม่
ทั้งหมดนี้คงเป็นเพียงการวิจารณ์เพียงเบื้องต้นจากการตีความของผมที่มีต่อผลงานและกระบวนการทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้เท่านั้น
หากท่านที่สนใจก็จำเป็นอย่างมากที่ต้องไปชื่นชมด้วยตาของตนเอง ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้
แม้ด้วยขนาดพื้นที่ของการจัดแสดงที่ที่ไม่ใหญ่มากนักก็ตาม
แต่ความสำคัญที่มากกว่ากายภาพของนิทรรศการ คือ ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินที่ตั้งใจหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ของกระบวนการนำเสนอ ซึ่งนั่นคือแก่นที่สำคัญที่สุด ที่ศิลปินรุ่นใหม่ในปัจจุบันควรสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
ที่นอกกรอบจากสิ่งที่เราคุ้นชิ้นกันในวงการศิลปะ
และผมว่านิทรรศการของขมิ้นกับโครงการของเธอในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจทีเดียวเลยครับ
..........
ผู้สนใจสามารถชมผมงานได้ในนิทรรศการ
Kamijn
Village: หมู่บ้านขมิ้น ( #kamijnvillage )
โดย “ขมิ้น” (เพียงขวัญ
คำหรุ่น) จัดแสดงวันที่ 18 - 2 กันยายน 2561 ณ 10ml.
Gallery กรุงเทพฯ