วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

ความคิดเห็นบางประกอบในแง่มุมของจิตรกรรมตามทัศนะส่วนตัว

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (e-mailjumpsuri@hotmail.com

 “ทาง 03” เทคนิคสีอะคลิลิคบนผ้าใบ 2017 : 
แสดงในนิทรรศการศิลปะ: From The Inside Exhibition โดย สุริยะ ฉายะเจริญ

ในปี ค.ศ. 1888 โกแกง (Gauguin) ได้กล่าวไว้กับ พอล เซรัสสีเยร์ (Paul Sérusier) ว่า “คุณเห็นต้นไม้นี้อย่างไร มันคือสีเหลือง ดังนั้นคุณใช้สีเหลือง ส่วนเงาเป็นสีน้ำเงิน ระบายด้วยสีน้ำเงินสดดิบ (ultramarine) ส่วนใบไม้แห้งสีแดงนั้น ก็ใช้สีแดงสด (vermilion) ซะเถอะ...

ปัจจุบันงานจิตรกรรมร่วมสมัยได้ไปไกลเกินกว่ายุคของโกแกง การใช้สีโดยไม่ได้แทนค่าความหมายในจิตรกรรมสมัยใหม่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น เป็นความแปลกใหม่ กระทั่งน่าตื่นตาตื่นใจ และเกิดเป็นปฏิปักษ์ระหว่างศิลปิน นักวิชาการ และมหาชน ณ ห้วงเวลานั้น

การท้าทายความเชื่อในจิตรกรรมตะวันตกที่มีจุดสูงสุดอยู่ที่เกณฑ์การตัดสินด้วยยุคเรอนาสซองค์ (Renaissance) เป็นจุดสูงสุดนั้น กลับกลายเป็นเพดานทางจิตรกรรมทั้งในแง่ของวิธีคิด วิถีแห่งการจ้องมอง และเทคนิควิธีการ ในยุคสมัยใหม่

แม้การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของจิตรกรรมตะวันตกจะวัดกันที่ความเคลื่อนไหวของแนวทางจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ที่ล้มเนื้อหาและแนวทางจิตรกรรมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรีกคลาสิกและส่งต่อนับร้อยปีต่อมาในร่มเงาของเรอนาสซองส์ แต่ถึงกระนั้นเอง คุณค่าที่แท้จริงของอิมเพรชชั่นนิสม์กลับทำหน้าที่เป็นประตูที่นำศิลปินสมัยใหม่ออกสู่โลกของการสร้างสรรค์ที่ก้าวพ้นอำนาจของความคิดแบบเดิมๆ ที่ส่งทอดมานับพันปี คุณค่าของงานจิตรกรรมจึงเปลี่ยนไปนับจากนั้น "ศิลปินจึงไม่จำเป็นต้องทำงานศิลปะเพื่อผู้อุปถัมป์และไม่ต้องเกี่ยวโยงการการจำยอมของอำนาจอื่นๆ นอกจากตัวเอง"
การแทนต้นไม้ด้วยสีเหลืองอาจเป็นปัญหา หากแนวคิดนี้อยู่ในยุคอดีตที่จิตรกรรมทำหน้าที่บันทึกและสร้างภาพจำลองของความจริง ขณะที่ในยุคสมัยใหม่ที่สีมิได้ถูกนำไปสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพเสมือนจริงทางกายภาพ หากแต่เป็นเครื่องมือสะท้อนความเป็นจริงของความรู้สึกที่ศิลปินมีต่อปรากฏการณ์ที่อยู่เบื้องหน้า

อำนาจของศิลปินจึงมีอยู่ ณ ห้วงขณะที่กำลังทำงาน
หากเมื่อเสร็จสิ้นการสร้างสรรค์แล้ว อำนาจการซาบซึ้งจึงเป็นอื่นมากกว่าตัวศิลปินเอง

เมื่อสิ่งที่เห็นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด หากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เห็นจึงมีนัยยะมากกว่าสิ่งที่มันปรากฏเชิงกายภาพ เมื่อจิตรกรรมไม่ได้ถูกสร้างเพื่อแทนสิ่งใดๆ มันจึงมีสถานะการแทนความเป็นจิตรกรรมโดยตัวของมันเอง

อะไรเล่าคือสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในภาพแต่ละภาพ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น