โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
ภาพวาด (Drawing & Painting) เป็นสื่อที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อทำการสื่อสารด้านความงาม
(beauty) อารมณ์ความรู้สึก (emotion) และความคิดหรือมโนทัศน์
(concept) ของศิลปินนับตั้งแต่อดีตมาอย่างยาวนาน
การวาดภาพเป็นกระบวนการสร้างร่องรอยของลายเส้นหรือร่องรอยที่หลากหลายลงบนพื้นระนาบหรือพื้นของวัสดุต่างๆ
แต่โดยรวมนั้นมีเป้าหมายเดียวกัน คือการกระทำเพื่อสื่อสารข้อความบางอย่างของศิลปินให้ออกมาเป็นรูปธรรมผ่านทัศนธาตุ
(visual element) ให้เป็นรูปร่างชัดเจนมากที่สุด
ภาพวาดใบหน้าคนเหมือน (Portrait) เป็นรูปแบบของภาพวาดที่ได้สร้างสรรค์และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยเรอเนซองส์
(Renaissance: from the 14th to the 17th century) จวบจนปัจจุบัน
มนต์ขลังของภาพใบหน้าคนเหมือนไม่ได้อยู่ที่ความเหมือนของโครงสร้างใบหน้าที่ถูกถ่ายทอดออกมาว่าเหมือนอย่างไร
หากแต่ความลึกซึ้งของภาพใบหน้าคนเหมือนกลับเป็นอารมณ์และความคิดของศิลปินผู้วาดรูปที่มีต่อแบบที่วาดและภายในสภาวะของจิตตัวเอง
ณ ห้วงเวลานั้นว่าเป็นอย่างไรต่างหาก และหากจะยึดถือในแนวทางความคิดเช่นนี้แล้ว ความเหมือนหรือความไม่เหมือนจึงหาใช่สารัตถะอันเติมเต็มประสบการณ์ทางการเห็นไม่
แต่ความรู้สึกและมโนทัศน์หรือความคิดของศิลปินที่ถ่ายทอดออกมานั้นสอดรับกับการตีความของผู้ดูเพื่อกระตุ้นประสบการณ์เชิงสุนทรียะของพวกเขาหรือไม่และอย่างไร
ผลงานภาพวาดของภาณุพงค์ อ่อนรักษ์ใน "IN MEMORY" Art Exhibition:นิทรรศการศิลปะในความทรงจำ
เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่นำเสนอถึงมโนทัศน์บางอย่างของศิลปินที่มีต่อภาพถ่ายใบหน้าบุคคล
แม้ใบหน้าบุคคลในภาพถ่ายจะแปรเปลี่ยนสื่อมาสู่ภาพใบหน้าบุคคลเหมือนในภาพวาดนั้นจะเป็นใบหน้าของบุคคลที่มหาชนอาจจะคุ้นชินอยู่ไม่น่อย
และบุคคลในภาพบางภาพก็มาจากภาพถ่ายที่เป็นภาพจำของสังคมจนเจนตา (stereotype) แต่ผลงานของภาณุพงค์กลับแสดงเจตจำนงที่มิให้ผู้ดูต้องหวนไปหาความเหมือนจริงหรือความไม่เหมือนจริงมากกว่าการตั้งคำถามเชิงอัตนัย
(subjectivity) ว่าอะไรคือความหมายแฝง (connotation) ที่ซ่อนอยู่ในภาพที่ปรากฏอันเป็นความหมายตรง (denotation) ที่เกิดจากสัญญะในใบหน้าของบุคคลนั้นๆ
ศิลปินอาจจะไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอภาพเหมือนเพื่อระลึกถึงบุคคลในภาพ
เพราะฉะนั้น ภาพวาดที่ปรากฏจึงไม่ใช่เพื่อระลึกถึงใครบางคนที่สถิตอยู่ในภาพลักษณ์
(image) ของภาพนั้น หากแต่ภาพวาดนั้นกลับกลายเป็นภาพแทน
(visual representation) วิธีคิดของสังคมผ่านนัยยะแฝงที่มีบุคคลในภาพนั้นๆ
เกี่ยวโยงกับความหมายทางมายาคติ (Mythology) ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนทางสังคม
ไม่ว่าจะเป็นภาพใบหน้าของนักร้องที่มีชื่อเสียง นักแสดงผู้โด่งดัง นักเขียนผู้เป็นตำนาน
นักการเมือง นักปกครอง นักปฏิวัติ หรือบุคคลสำคัญต่างๆ
ภาพใบหน้าของบุคคลเหล่านี้เอง เป็นภาพสะท้อนประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนทางสังคมที่มีมาตั้งแต่อดีตที่คนรุ่นปัจจุบันคือทายาทของกระบวนการสร้างความหมายเชิงมายาคติของสังคม
โดยที่บุคคลเหล่านั้นคือความทรงจำของวันนี้ หากแต่พวกเขาหรือเธอเหล่านนั้นกลับคือบุคคลอันเป็นภาพแทนของสังคมของโลกในอดีตที่ผ่านมาและผ่านพ้นไป
ผลงานภาพวาดของภาณุพงค์ อ่อนรักษ์ใน "IN MEMORY" Art Exhibition:นิทรรศการศิลปะในความทรงจำ
เป็นนิทรรศการที่รวมผลงานภาพวาดที่อาจจะใช้สัญญะ (sign) ที่ไม่ยากเกินไปนัก
ง่ายต่อการทำความเข้าใจในความหมายตรงตัวของภาพที่ปรากฏ
หากแต่เมื่อได้พิจารณาถึงบริบทแวดล้อมย่อมจะเห็นเนื้อหาอันแฝงเร้นที่น่าสนใจ
ผลงานของเขาจึงสะท้อนวิถีคิดของคนปัจจุบันที่เห็นความเป็นไปของสังคมผ่านบรรพบุรุษที่อยู่ในรูปแบบของบุคคลต่างๆ
ในสังคม
แม้ความทรงจำจะเป็นเรื่องของจิตที่อยู่ในสภาวะของอัตวิสัย
แต่การที่จะมีความทรงจำร่วมกันย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ แม้ความทรงจำนั้นๆ อาจจะเข้มหรือจางแตกต่างกัน
หรือความทรงจำนั้นๆ อาจจะตีความหมายได้แตกต่างกันคนละมุมเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยผลงานของศิลปินท่านนี้ก็ทำให้เรานึกถึงใครบางคน
เพลงบางเพลง สถานที่บางที่ เรื่องเล่าบางเรื่อง คำบางคำ เหตุการณ์บางเหตุการณ์
และสิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย ในแง่มุมที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของผู้ดูแต่ละคน
..............
บทความนี้ประกอบนิทรรศการศิลปะในความทรงจำ
"IN MEMORY" Art Exhibition โดยภาณุพงค์ อ่อนรักษ์
ซึ่งจัดแสดงในวันที่ 10 กุมพาพันธ์ - 10 มีนาคม พ.ศ.2560 (ปิดวันจันทร์) เปิดงานวันที่
10 กุมพาพันธ์ 2560 เวลา 18.30 - 21.00 น. ณ Art Café’ by Brown Sugar @
BACC ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น