วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข้อคิดเห็นในนิทรรศการ “Something about nude: บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับภาพเปลือย” โดย สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ

โดยสุริยะ ฉายะเจริญ
อาจารย์ประจำ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม


ภาพเปลือย หรือ nude คือ ประเด็นทางศิลปะที่มีรอยต่อที่พร่าเลือนระหว่าง “ความงาม” และ “ศีลธรรม” มาโดยตลอด
อาจจะกล่าวได้ว่าตลอดประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาพเปลือย ถูกวาดนับไม่รู้กี่ล้านต่อกี่ล้านภาพ แสดงนิทรรศการอีกนับไม่ถ้วนเช่นกัน และเกือบร้อยละ 100 มักถูกตั้งคำถามว่า “ผิดศีลธรรมที่ดี” หรือไม่!?
หากแต่การเสพภาพเปลือยในฐานะทางศิลปะจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทบทวนประเด็นดังกล่าว นั่นย่อมเป็นเหตุผลเชิงอัตวิสัย (subjectivity) มากกว่าภววิสัย (objectivity)

การเสพภาพเปลือยในฐานะทางศิลปะจึงอาจต้องทำลายอคติทางศีลธรรมลงไปก่อน เพื่อให้การจ้องมองภาพเปลือยนั้นประจักษ์แก่ผู้เสพและสัมผัสความรู้สึกภายในจนนำไปสู่การตีความโดยส่วนบุคคล เพื่อปล่อยจิตใจให้สัมผัสกับภาพที่ปรากฏ จากนั้นจึงวิเคราะห์สุนทรียธาตุและทัศนธาตุตรงหน้าว่ามีสาระต่อการเสพอย่างไรบ้าง

จิตรกรรมที่เป็นเสมือนละครเรื่องหนึ่งอันปรากฏอยู่เบื้องหน้าผู้ดู จึงมิอาจตัดสินความถูกผิดภายใต้กฏเกณฑ์ใดกฏเกณฑ์หนึ่ง หากแต่การทำความเข้าใจต้องอาศัยบริบทของประสอบการณ์ในการจ้องมองที่หลากหลาย หรืออาจจะกล่าวได้ว่า การจ้องมองจิตรกรรมนั้น จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีวิธีเฉพาะหากแต่หลากหลายแง่มุม เพื่อเสริมความเข้าใจและความซาบซึ้งให้เข้าถึงภาพนั้นๆ (way of seeing)

กรณีของภาพเปลือยก็เช่นเดียวกัน การทำความเข้าใจและซาบซึ้งในภาพผลงาน (art appreciation) จึงต้องปล่อยใจให้เข้าสู่สิ่งปรากฏตรงหน้าเสียก่อน เพื่อเป็นสะพานนำไปสู่การวิเคราะห์ และตีความ ประกอบกับสุนทรียภาพ เพื่อให้ได้รับสุนทรียรสที่สัมผัสได้ ซึ่งเป็นประสบการณ์เชิงปัจเจกส่วนบุคคล
...














นิทรรศการ Something about nude: บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับภาพเปลือย” โดย สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ณ หอศิลป์วังหน้า กรุงเทพฯ ( นิทรรศการเปิดตั้งแต่ 1- 30 พฤศจิกายน 2560 )

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

ความหมายของลักษณะทางเพศของมนุษย์ผ่านภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016”

ความหมายของลักษณะทางเพศของมนุษย์ผ่านภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016[1]
The meaning of human sexuality in a drawing series "Nude 2016"
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ[2]

บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 20 ประจำปี 2560, หน้า 66-75.  
สามารถดาวโหลดแบบ PDF ได้ตาม Link นี้ 



บทคัดย่อ
          ภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016” สื่อความหมายถึงเพศสถานะตามลักษณะของร่างกายของมนุษย์ ซึ่งใช้รหัสของกายวิภาคของมนุษย์มาเป็นกฏเกณฑ์ในการสร้างเป็นภาพสัญญะด้วยลายเส้น โดยภาพที่ปรากฏมีสถานะเป็นสัญรูปที่สื่อถึงร่างกายมนุษย์และเป็นภาพสัญลักษณ์ที่สื่อลักษณะเฉพาะของเพศสถานะตามลักษณะของร่างกาย ภาพวาดลายเส้นเปลือยอยู่ในลักษณะของมนุษย์ในท่านอนที่หลากหลายในพื้นที่ส่วนบุคคล เพื่อสื่อถึงวิถีชีวิตในพื้นที่ส่วนตัวของมนุษย์ทั้งเพศชายและเพศหญิงในสังคมเมืองร่วมสมัย
คำสำคัญ: ความหมาย, เพศ, ภาพวาดลายเส้น

Abstract
Drawing series "Nude 2016" meaningful gender-based nature of the human body. Human anatomy is the use of rules to create a sign with stripes. The image has become an icon representing the human body and is a symbol that conveys the unique nature of gender-based nature of the body. Drawing the nude in the nature of the human person in a variety of personal space. To reflect the way of life in the area of human males and females in contemporary urban society.
Keywords: meaning, sexuality, drawing

บทนำ
          ภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016” (Nude 2016) เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2559 โดยสุริยะ ฉายะเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม (ผู้เขียน) ด้วยแนวคิดของการสร้างภาพแทนความหมายของลักษณะทางกายภาพของความเป็นเพศผ่านรูปลักษณ์ (image) ของรูปร่าง (shape) มนุษย์ ซึ่งรูปร่างของมนุษย์ในแบบที่เปลือยเปล่า (nude) นั้น นอกจากจะมีมิติของภาพที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นทางเพศแล้ว ด้านหนึ่งยังมีมิติของประสบการณ์สุนทรียะที่เกิดจากรูปร่างอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากอาภรณ์อันเป็นเครื่องบ่งบอกความหมายและความเป็นปัจเจกบุคคล รูปร่างเปลือยเปล่าอันบริสุทธิ์เกิดจากเส้นสมมุติหรือเส้นรอบนอกของร่างกาย (outline) มนุษย์ที่แตกต่างกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง
          แม้ภาพเปลือยมักจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศของมนุษย์ที่อาจจะเชื่อมโยงประเด็นในเรื่องของความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์และรวมไปถึงของการสืบเผ่าพันธุ์ตามสัญชาติญาณของสัตว์โลกก็ตาม หากแต่ในความแตกต่างของรูปร่างของร่างกายมนุษย์ทั้งเพศชายและหญิงกลับมีความงามที่แตกต่างกันไปตามรูปลักษณ์ของเส้นรอบนอกที่ปรากฏ การวาดภาพลายเส้นในชุดนี้จึงไม่เพียงแต่เน้นไปที่ความงามของเส้นที่ถูกลากให้เกิดเป็นรูปเสมือน (icon) ที่สื่อถึงความเป็นเพศนั้นๆ มากกว่าจะเป็นการใช้รูปเป็นสื่อในการกระตุ้นเร้าความรู้สึกทางเพศอันนำไปสู่ความต้องการเกิดประสบการณ์เพศสัมพันธ์ หรือจะกล่าวได้ว่า “ศิลปะจะต้องไม่มุ่งเน้นที่ความต้องการทางเพศ แม้ว่านั่นจะเป็นความต้องการทางธรรมชาติก็ตาม ศิลปะจึงนำพามนุษย์ไปสู่สภาวะที่สุดขั้ว สภาวะที่มนุษย์ก้าวข้ามพ้นความเป็นมนุษย์” (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2557: 204) เพราะฉะนั้น การวาดรูปร่างกายที่เปลือยของมนุษย์จะมีความเป็นศิลปะได้ก็ตราบที่ไม่มีเรื่องของความต้องการทางเพศมาเกี่ยวข้อง ภาพเปลือยจึงเป็นการก้าวข้ามสัญชาติญาณในเรื่องของการสืบพันธุ์เพื่อนำไปสู่สร้างภาพแทน (representation) ที่กลายเป็นภาพเพื่อสื่อความหมายบางอย่างตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างสรรค์
          ระบบความหมายของภาพลายเส้นในชุดนี้จึงเกิดขึ้นจากการผสานกันของเส้นที่ก่อร่างจนกลายเป็นภาพสัญญะ (sign) ที่สื่อไปถึงความเป็นไปของเพศสถานะ (Gender) ตามลักษณะทางกายวิภาค (anatomy) ของแบบ ทั้งนี้อันเนื่องจากชุดรหัส (code) ของเส้นที่ประกอบขึ้นเป็นรูปร่างนั้นสร้างภาพแทนความที่เป็นภาพเสมือนที่ล้อไปกับรูปลักษณ์ของร่างกายที่แบ่งประเภทของแบบด้วยลักษณะทางเพศ สัญญะของรูปร่าง ท่าทาง และเครื่องเพศ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การสื่อความหมายของภาพวาดลายเส้นแต่ละชิ้นสามารถสื่อได้ถึงลักษณะของร่างกายมนุษย์ที่อยู่ในสถานะทางเพศผ่านรหัสของร่างกายแบบใด ฉะนั้นความหมายของภาพลายเส้นที่อยู่ภายใต้ร่มเงาพื้นที่ของ “ทัศนาวัฒนธรรม” (visual culture) “เพศได้กลายเป็นเรื่องของสุนทรียะหรือความงาม (anesthetization of sex) ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกลไกสำคัญในฐานะของกระบวนการสร้างความเป็นตัวตนไปด้วยในตัว” (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2556: 114) ผลงานในชุดนี้จึงต้องการสื่อความหมายในเรื่องของร่างกายมนุษย์ที่มีสถานะทางเพศที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงผ่านอธิยาบทที่คล้ายกันในแนวนอน

วัตถุประสงค์
1.       เพื่อเรียบเรียงกระบวนการสร้างสรรค์ภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016
2.       เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของภาพลายเส้นภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016
3.       เพื่อวิเคราะห์การสื่อความหมายลักษณะเพศของมนุษย์ผ่านภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016

แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
          ผลงานชุด “รูปเปลือย 2016” นี้ใช้แนวคิดของเทคนิคการวาดเส้นเพื่อบันทึกข้อเท็จจริง (ชลูด นิ่มเสมอ, 2553: 25-66)  ซึ่งเป็นกระบวนการวาดลายเส้นที่มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การบันทึกข้อเท็จจริงทางกายภาพด้วยการวาด ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นมิใช่ความเหมือนจริงแบบภาพถ่าย แต่เป็นการเข้าไปถึงแก่นของความจริงของวัตถุต่างๆ ด้วยวิธีวาดเส้น (Line Drawing หรือ Delineation Drawing) ซึ่งเน้นเฉพาะการใช้ลายเส้นในการแสดงออกเท่านั้น (สงวนศรี ตรีเทพประติมา, 2555: 22)
          ในส่วนของแนวคิดร่างกายมนุษย์ ผลงานชุดนี้ใช้หลักกายวิภาคศาสตร์มนุษย์ (Human anatomy) มาประยุกต์ใช้ในผลงานชุด“รูปเปลือย 2016” ในส่วนของของลักษณะรูปร่างและสัดส่วนทางกายภาพของร่างกายมนุษยที่แสดงอองในท่าทางต่างๆ (ภาพที่ 1) ซึ่งในผลงานชุดนี้ใช้ลักษณะของเส้นรอบนอกและสัดส่วนของร่างกายมาเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสื่อถึงร่างกายของมนุษย์ของเพศชายและเพศหญิงได้


ภาพที่ 1 สัดส่วนและรูปร่างตามอุดมคติของเพศชายและเพศหญิง (Andrew Loomis,2556: ระบบออนไลน์)

          ขณะที่แนวคิดในการวิเคราะห์เพื่อถอดรหัสความหมายของภาพใช้สัญวิทยา (Semiology) หรือสัญศาสตร์ (Semiotic) มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ผลงานซึ่งมีสถานะเป็นภาพสัญญะ (sign) เพื่อแสดงให้เห็นส่วนของตัวหมาย (signifier) แทนภาพที่ปรากฏ และสิ่งที่ถูกหมายถึง (signified) แทนในส่วนของความคิด (concept) ตามแนวทางศึกษาในแบบของแฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) และรวมไปถึงลักษณะการวิเคราะห์ตามประเภทของสัญญะในแนวทางศึกษาของชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพียซ (Charles Sanders Peirce)  อันประกอบไปด้วย สัญลักษณ์ (Symbol) ภาพเสมือน (Icon) และดัชนี (Index) (Anne D'Alleva, c2012: 28-29)

วิธีดำเนินวิจัย
          ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพประเภทการวิจัยเชิงบรรยายหรือพรรณนา (Descriptive research) ประกอบการผลิตผลงานสร้างสรรค์ แล้วนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหางานสร้างสรรค์ให้ได้บทสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์และศาสตร์ทางด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กระบวนการสร้างสรรค์
1.       วางแผนและศึกษากายวิภาคศาสตร์และทักษะการวาดภาพลายเส้นมนุษย์ รวมไปถึงหาแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้ในงานสร้างสรรค์ชุดนี้
2. จากการศึกษาเบื้องต้นนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์โดยวาดภาพลายเส้นจากแบบจริงด้วยลักษณะของลายเส้นที่ได้ค้นคว้ามาประยุกต์ใช้ (คล้ายกับวิธีการวาดตามภาพที่ 2)
3.   นำภาพผลงานที่สำเร็จมาศึกษาและวิเคราะห์ทั้งกระบวนการสร้างสรรค์ ลักษณะของภาพลายเส้น และการสื่อความหมายเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปผลการสร้างสรรค์
4.       นำภาพผลงานไปเผยแพร่ในรูปแบบนิทรรศการศิลปะสู่สาธารณะ
5.       นำมาบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชา 144-335 พื้นฐานการ์ตูน ประจำปีการศึกษา 2559

ภาพที่ 2  ภาพพิมพ์แกะไม้ของอัลแบร็ชท์ ดือเรอร์ (Albrecht Dürer) ราวศตวรรษที่ 16 แสดงเนื้อหารูปแบบการวาดภาพลายเส้นของจิตรกรตามหลักทัศนียวิทยาท่านอนของผู้หญิงเปลือย (Draughtsman Making a Perspective Drawing of a Reclining Woman)
(The Metropolitan Museum of Art, 2559: ระบบออนไลน์)

ผลการดำเนินการ
จากการศึกษาและปฏิบัติงานแล้วนำมาวิเคราะห์ผลงาน สามารถรายงานถึงผลการดำเนินงานได้ดังนี้
1.       มีผลงานสร้างสรรค์ภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016” จำนวนทั้งสิ้น 20 ภาพ
2.       ผลงานทั้งหมดสร้างสรรค์ด้วยกระบวนวิธีการลากเส้นด้วยมือโดยใช้เทคนิคหมึกดำด้วยปากกาหัวพู่กันบนกระดาษสีขาว โดยใช้เส้นในแบบวาดลายเส้นอย่างเดียว
3.       ศึกษาและวิเคราะห์ภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016” และนำมาเขียนเป็นบทความประกอบผลงานสร้างสรรค์
4.       นำผลงานสร้างสรรค์ชุด “รูปเปลือย 2016” จัดแสดงในนิทรรศการ "Thai Space Digital Art Design" การแสดงผลงานคณาจารย์และนักศึกษา ครั้งที่ จัดโดยสาขาวิชาออกแบบดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ณ ห้องแสดงนิทรรศการ อาคารทวารวดีศรีราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน พ.ศ.2559
5.       หลังจากนำไปแสดงนิทรรศการศิลปะฯ แล้วจึงนำภาพผลงานภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016” มาบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชา 144-335 พื้นฐานการ์ตูน โดยทำเป็นภาพนำเสนอ  ประกอบการสอนพร้อมอธิบายถึงที่มาและแนวคิดการสร้างสรรค์ ซึ่งผลปรากฏว่าร้อยละ 100 ของนักศึกษาที่ได้ทำการทดสอบสามารถบอกถึงลักษณะเพศของมนุษย์ผ่านภาพวาดลายเส้นได้ โดยสามารถในการชี้แจงอธิบายถึงรหัสทางกายวิภาคที่นำไปสู่การสื่อความหมายลักษณะทางเพศของภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016” ได้

ผลงานสร้างสรรค์ภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016

ภาพที่
ภาพที่ 4 
ภาพที่ 5 
ภาพที่ 6 
ภาพที่ 7 
ภาพที่ 8 
ภาพที่ 9 
ภาพที่ 10 
ภาพที่ 11 
ภาพที่ 12 
ภาพที่ 13 
ภาพที่ 14 
ภาพที่ 15 
ภาพที่ 16 
ภาพที่ 17 
ภาพที่ 18 
ภาพที่ 19 
ภาพที่ 20 

ภาพที่ 21 

ภาพที่ 22 


ภาพที่
ชื่อภาพ
เทคนิค
ขนาด
3
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 1
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
20x29 เซนติเมตร
4
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 2
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
20x29 เซนติเมตร
5
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 3
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
20x29 เซนติเมตร
6
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 4
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
20x29 เซนติเมตร
7
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 5
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
20x29 เซนติเมตร
8
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 6
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
20x29 เซนติเมตร
9
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 7
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
10
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 8
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
11
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 9
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
12
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 10
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
13
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 11
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
14
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 12
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
30x40 เซนติเมตร
15
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 13
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
30x40 เซนติเมตร
16
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 14
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
30x40 เซนติเมตร
17
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 15
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
30x40 เซนติเมตร
18
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 16
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
19
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 17
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
20
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 18
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
21
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 19
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร
22
ภาพเปลือย 2016 หมายเลข 20
วาดลายเส้นหมึกดำบนกระดาษ
21x30 เซนติเมตร


 
ภาพที่ 23 ผลงานสร้างสรรค์ชุด “รูปเปลือย 2016” จัดแสดงในนิทรรศการ "Thai Space Digital Art Design"
ณ อาคารทวารวดีศรีราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน พ.ศ.2559
สรุป
ผลงานภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016” สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคการวาดลากเส้นลงบนกระดาษสีขาวโดยมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน โดยผู้สร้างสรรค์วาดขึ้นจากต้นแบบของร่างกายบุคคลและจัดท่าทางในลักษณะนอนโดยแบ่งเป็นภาพเพศชายและภาพเพศหญิงด้วยวิธีการวาดอย่างฉับพลันและใช้เส้นในการนำเสนอโดยมิได้แทรกมิติของภาพด้วยลักษณะของแสงเงา
          ผลงานชุด “รูปเปลือย 2016” นี้ใช้หลักการรูปร่างและสัดส่วนตามกายวิภาคของมนุษย์เป็นรหัสในการสร้างรูปลักษณ์ เพื่อนำเสนอรูปร่างมนุษย์ที่แสดงเพศสถานะผ่านร่างกายตามธรรมชาติของมนุษย์ รหัสของลายเส้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นรูปร่างมนุษย์สามารถนำไปสู่การถอดรหัสถึงลักษณะทางเพศได้ ทั้งนี้เกิดจากการประกอบกันของชุดรหัสกายวิภาคมนุษย์กับรหัสของลายเส้นรูปร่างมนุษย์ทำให้ภาพมนุษย์ที่เป็นสื่อแทนความเป็นต้นแบบ (form) มากกว่าจะสื่อถึงลักษณะปัจเจกบุคคล แม้ว่าผลงานในชุดนี้จะแสดงออกถึงการคลี่คลายของรูปร่างที่อาจจะละเลยความเป็นจริงทั้งในเรื่องของแสงเงา ทัศนยวิทยา และสัดส่วนของมนุษย์อย่างเคร่งครัด แต่ผู้ดูหรือผู้รับสารก็สามารถเข้าใจความหมายชั้นต้นที่ปรากฏอยู่บนภาพได้

แผนผังโครงสร้างกระบวนการวิเคราะห์ผลงานภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016”

          ร่างกายของมนุษย์ในผลงานชุด “รูปเปลือย 2016” นี้ ถือเป็นภาพสัญญะที่มีตัวหมาย (signifier) เป็นภาพวาดลายเส้นและมีความหมาย (signified) เป็นรูปเปลือยของมนุษย์ทั้งเพศชายและหญิง โดยสัญญะของภาพวาดเส้นรูปเปลือยในชุดนี้มีลักษณะเป็นสัญรูป (icon) ที่แสดงรูปลักษณ์ที่ใช้รหัสของกายวิภาคมนุษย์เพื่อสื่อแทนความหมายถึงมนุษย์ตามแบบที่ถูกจัดการด้วยท่าทางแนวนอนในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันภาพวาดเส้นรูปเปลือยในชุดนี้ยังอยู่ในรูปของสัญลักษณ์ (symbol) ที่สื่อถึงลักษณะทางเพศผ่านรหัสของร่างกายผ่านรูปร่าง หน้าอก และเครื่องเพศที่แสดงออกถึงลักษณะทางเพศตามเพศสถานะทางร่างกาย ขณะที่บางภาพมีสัญญะอื่นๆ ประกอบเพื่อเป็นบริบทในการสื่อความหมายแฝง  (connotation) เช่น การนอนบนที่นอนที่มีหมอนและผ้าห่มอันสื่อถึงพื้นที่ส่วนตัวที่มีความปลอดภัย มีอิสระ และนำไปสู่พักผ่อน การใช้สมาร์ทโฟน (smartphone) และการอ่านหนังสือเพื่อเป็นรหัสที่สื่อถึงวิถีชีวิตส่วนบุคคลในสถานที่ส่วนตัวที่มีความปลอดภัย และแสดงออกถึงอิริยาบทและกิจกรรมในพื้นที่ส่วนตัว (privacy) ของมนุษย์ที่สามารถปลดปล่อยอากัปกิริยา ท่าทาง กิจกรรม และรวมไปถึงการใช้ชีวิตในพื้นที่ๆ ปลอดภัยและสะดวกสบายตามลักษณะของปัจเจกชนในสังคมเมืองปัจจุบัน
         โดยสรุปแล้ว ผลงานในชุดนี้เป็นการใช้สัญญะของร่างกายมนุษยที่ประกอบขึ้นจากลายเส้นที่ใช้รหัสทางกายวิภาคมนุษย์มาเป็นกฏเกณฑ์ในการสร้างภาพสัญญะเพื่อนำเสนอผลงานภาพวาดลายเส้นที่สื่อความหมายถึงลักษณะทางเพศตามสภาพร่างกายของมนุษย์ผ่านสัญญะของภาพเปลือยที่มีความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงที่อยู่ในอิริยาบทการนอนและทำกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่เฉพาะส่วนบุคคลอันสื่อถึงพื้นที่ๆ เต็มไปด้วยเสรีภาพและความปลอดภัยตามลักษณะวิถีชีวิตของปัจเจกชนแบบสังคมเมืองในปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะ
          แม้ภาพเปลือยมนุษย์จะถูกทำให้กลายเป็นปัญหามาโดยตลอดในบริบทของจริยธรรม ศีลธรรม ศาสนา จารีตประเพณี วัฒนธรม และกฏหมาย ตราบจนถึงปัจจุบัน หากแต่ความเปลือยเปล่าของร่างกายมนุษย์กลับเป็นสิ่งที่มนุษย์มีความใกล้ชิดที่สุดมากกว่าวัตถุใดๆ ในโลก เพราะฉะนั้นในบริบทของศิลปะ ร่างกายที่เปลือยเปล่าถูกนำมาใช้เป็นสัญญะ เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงรสทางสุนทรียะหรือความงามและการสื่อความหมายต่างๆ ภาพร่างกายเปลือยของมนุษย์จึงมีสถานะที่อยู่ตรงกลางระหว่างอนาจารกับความบริสุทธิ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความเชิงอัตวิสัย (subjectivity) ที่ผู้ดูหรือผู้รับสารจะสามารถทำความเข้าใจในรหัสที่ปรากฏบนตัวสื่อ (media) และสาร (message) ชนิดนั้นๆ หรือไม่ เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาพร่างกายเปลือยของมนุษย์จะถูกนำไปศึกษาในบริบทอื่นๆ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ชลูด นิ่มเสมอ. (2553). วาดเส้นสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2557). เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ. กรุงเทพฯ: สมมติ.
______________. (2556). เพศ: จากธรรมชาติ สุ่จริยะธรรม จนถึงสุนทรียะ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สมมติ.
สงวนศรี ตรีเทพประติมา. (2555). การวิเคราะห์งานวาดเส้นร่วมสมัยไทยในต้นศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2000-2012). (วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์). มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ภาษาอังกฤษ
Anne D'Alleva. (c2012) Methods & Theories of Art History. London: Laurence King.
ข้อมูลออนไลน์
Andrew Loomis. (2011). Figure Drawing for All It's Worth (2556). สืบค้นจากhttps://archive.org/details/loomis_FIGURE_draw
The Metropolitan Museum of Art. (2016). Draughtsman Making a Perspective Drawing of a Reclining Woman. สืบค้นจากhttp://www.metmuseum.org/art/collection/search/366555
______________________________________________

ภาพจากวารสารวิชาการ






[1] สุริยะ ฉายะเจริญ. ความหมายของลักษณะทางเพศของมนุษย์ผ่านภาพวาดลายเส้นชุด “รูปเปลือย 2016”. วารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 20 ประจำปี 2560, หน้า 66-75.  
[2] อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม 38 ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 ประเทศไทย