โดย: สุริยะ
ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
The Man Who Knew
Infinity เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องชีวประวัติของรามานุจันหรือ
““ศรีนิวาสะ รามานุจัน”นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียในยุคอินเดียยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร
(22 ธันวาคม ค.ศ. 1887 – 26 เมษายน ค.ศ. 1920)
The Man Who Knew
Infinity เป็นของภาพยนตร์ที่มีลักษณะการเล่าเรื่องเป็นสูตรสำเร็จตามแบบฉบับการเล่าเรื่องชีวประวัติของบุคคลสำคัญ
มีการวางโครงเรื่องตามการเปลี่ยนไปของกาลเวลา โดยใช้ส่วนต่างๆ ของฉากประกอบเป็นตัวบอกเล่าเวลาและสถานที่
เช่น สถาปัตยกรรมของประเทศอินเดียหรืออังกฤษ
หรือภาพของความรุนแรงในสงครามที่อังกฤษได้รับผลกระทบ เป็นต้น
ความโดดเด่นที่สำคัญของเรื่องคือการวางสัมพันธภาพที่ชัดเจนระหว่างรามานุจันกับศาสตราจารย์ฮาร์ดี้
แห่งทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้เป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ผู้เห็นความเป็นอัจฉริยะของเขา
รวมไปถึงการวางสถานภาพและสภาพการณ์ระหว่างรามานุจันและครอบครัวของเขา และข้อขัดแย้งทางวิชาการระหว่างรามานุจันกับนักวิชาการอังกฤษ
ซึ่งสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเอกแต่ละตัวมีความสอดรับกันจนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่องได้ไม่ยากนัก
การดำเนินเรื่องของ The Man Who Knew Infinity เป็นไปอย่างเรื่อยๆ
อย่างไม่รีบร้อนที่จะแสดงจังหวะจะโคนที่ตื่นเต้น และการดำเนินเรื่องนั้นก็เปิดเผยถึงอัจฉริยะของรามานุจันแต่แรกแล้วโดยที่ผู้ชมไม่จำเป็นต้องอดใจรอถึงความสำเร็จในเชิงความรู้และภูมิปัญญาของตัวเอก
เพียงแต่ผู้ดูเป็นผู้เฝ้ามองการดำเนินไปของเรื่องราวอย่างช้าๆ ราวกับโชคชะตาที่เทพเจ้าพึงคำนวนเอาไว้แล้ว
เพราะฉะนั้นจึงทำให้โครงเรื่องดูจะมีจุดสูงสุดของเรื่องที่เบา
หรืออาจจะกล่าวว่าไม่มีเลยก็ว่าได้
แต่ทั้งนี้ย่อมส่งผลให้การเล่าเรื่องรามานุจันกลับคล้ายชีวิตของตัวเขาเองที่ดำเนินไปและตายจากไปอย่างเงียบๆ
ตามกาลเวลา แม้ว่าในช่วงท้ายชีวิตเขาจะเริ่มได้รับการยกย่องจากราชบัณฑิตแห่งชาติอังกฤษแล้วก็ตาม
ความยากลำบากการใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษในยุคเจ้าอาณานิคมของรามานุจันจึงไม่ใช่เรื่องของชนชั้นหรือสถานะทางการเงินมากเท่ากับเรื่องของเชื้อชาติหรืออาจรวมไปถึงการเป็นประชาชนจากประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักร
สิ่งที่เขาต้องต่อสู้ไม่ใช่การสู้รบปรบมืออย่างเอาเป็นเอาตายกับนักวิชาการอังกฤษ
แต่กลับกลายเป็นการต่อสู้กับเงื่อนไขของชะตากรรมต่างๆ
ที่มาในรูปของความเจ็บป่วยและระบบของการยอมรับทางวิชาการที่ต้องถูกตรวจสอบกับความเป็นไปได้
ซึ่งสูตรคณิศาสตร์ที่เขาได้คิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งแปลกใหม่และยากจะยอมรับได้ของนักวิชาการในห้วงเวลานั้น
ความเคร่งครัดในศาสนาฮินดูของรามานุจันอาจเป็นสิ่งที่ทำให้บุคลิกของตัวละครสอดคล้องไปกับชุดความรู้ที่เกิดขึ้นในสมองของเขา
เขามองสูตรตัวเลขดุจเดียวกับเทพเจ้าที่ไม่จำเป็นต้องค้นหาความจริงเพียงแต่เชื่องและศรัธทาไปกับมัน
เขาคิดค้นและเขียนสูตรคณิตศาสตร์ราวกับกำลังท่องมนตราบูชาเทพเจ้าหรือคล้ายกับการจารจดคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเป็นเพียงทางผ่านของวัจนะแห่งพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น
ผู้ชมจะพบว่า ตลอดทั้งเรื่องเขาไม่พยายามอธิบายถึงการค้นพบสูตรคณิตศาสตร์ว่ามีมาได้อย่างไร
แต่เขาเลือกที่จะเชื่ออย่างสุดใจว่าสิ่งที่ค้นพบความเป็นไปได้เชิงตัวเลขนั้นอาจนำไปสู้การค้นพบอื่นๆ
ที่กล้าวไกลได้อนาคต
หากกล่าวอย่างสรุปแล้ว The
Man Who Knew Infinity ไม่ได้เล่าปัญหาของการเข้าถึงการเป็นอัจฉริยะของรามานุจันอันมีมาตั้งแต่เด็ก
แต่ภาพยนตร์มุ่งที่จะเล่าถึงมิตรภาพของเขากับเพื่อนทางวิชาการอย่างศาสตราจารย์ฮาร์ดี้
สัมพันธภาพอันเนื่องจากความรักระหว่างเขากับครอบครัว และสัมพันธภาพทางวิชาการที่มีประเด็นทางเชื้อชาติและกลิ่นอายของอาณานิคมระหว่างเขากับนักวิชาการราชบัณฑิตของอังกฤษ
อาจจะกล่าวได้ว่า ศัตรูที่แท้จริงของเขาย่อมเป็นโชคชะตาอันเกิดจากเงื่อนไขต่างๆ
ที่คอยรุมเร้าจนเป็นที่มาของโรควัณโรคและทำให้เขาเสียชีวิต ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกสิ่งทุกอย่างก็มิอาจทำลายให้เขาต้องกลายเป็นเพียงเม็ดทรายที่ล่องลอยตามแรงลมผ่านกาลเวลา
หากแต่เขาเป็นดุจอัญมนีที่สุกสกราวที่เกิดขึ้นจากหินธรรมดาและสถิตย์คุณค่าอยู่ชัวนิรันดร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น