โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ[1] ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
(jumpsuri@gmail.com)
ภาพ
มนุษย์ถือกำเนิดเกิดมาพร้อมกับพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อสื่อสารข้อความบางอย่างให้กับสิ่งอื่นๆ
โดยเฉพาะการส่งสารให้กับมนุษย์ด้วยกัน
ดังนั้นการสื่อสารที่มีมาตั้งแต่อดีตก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคดิจิทัล (Digital
Period) จึงมีความสำคัญทุกยุคสมัยเช่นเดียวกัน
ในขณะที่ทักษะของการสื่อสารตั้งแต่อดีตก็มีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันบ้างตามบริบทของยุคสมัย
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับความเป็นมาของมนุษยชาติ
การสื่อสารด้วยภาพ
(Visual
Communication) ถือเป็นการสื่อสารที่อาศัยรหัส (Code) อันเกิดจากกระบวนการเห็นและถอดความหมายไปสู่ความเข้าใจในสาร
(message) ที่ผู้สร้างสารต้องการจะบอกเล่า
การเล่าเรื่องด้วยภาพจึงอาศัยดวงตาเป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่ปรากฏภายนอกสู่กระบวนการถอดความหมาย
จนนำไปสู่การเข้าใจความหมายของภาพเสมือน (Icon) ภาพดัชนี (Index)
หรือภาพสัญลักษณ์ (Symbol)
เพราะฉะนั้นการเห็นจึงเป็นกระบวนการรับรู้ความหมายของสารได้อย่างดีที่สุด
หรือถ้าจะกล่าวได้ว่าในสัมผัสทั้ง 5 (การเห็น,การได้ยินเสียง, การได้กลิ่น, การได้รสอาหาร,
การได้สัมผัสทางกาย) ของมนุษย์นั้น
การมองเห็นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เชื่อว่าโลกใบนี้มีอยู่จริง
ความสำคัญของการเห็นจึงเป็นหนทางที่เพิ่มพูนประสบการณ์ให้เราได้ความรู้มากขึ้น
ในขณะที่หากจะยกระดับการเห็นไปสู่การดูก็จะยิ่งทำให้การใช้ตาในการจ้องมองมีประสิทธิภาพมากกว่าการมองเห็น
แต่เป็นการมองดู, จ้องดู หรือจ้องมองเพื่อค้นหาสารัตถะที่ซุกซ่อนอยู่ภายในสิ่งที่จ้องมอง
การจ้องมองจึงไม่ได้นำไปสู่การผ่านพ้น
แต่กลับเป็นการสร้างความทรงจำจากสิ่งที่ปรากฏทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ความทรงจำ
ความทรงจำที่เกิดจากการจ้องมองไม่ได้เกิดด้วยความบังเอิญ
แต่เป็นความตั้งใจของผู้จ้องมองว่ามีความต้องการที่จะบันทึกภาพที่เห็นให้อยู่ในคลังภาพทรงจำ
(memory) ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งภาพความทรงจำที่อยู่ในสมองของมนุษย์กลายเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากเสียยิ่งกว่าภาพที่ถูกบันทึกด้วยฟิล์มหรือเทคโนโลยีดิจิทัล
เพราะภาพที่ถูกบันทึกด้วยกล้องเป็นเพียงสภาพการณ์ชั่วขณะที่ผู้จ้องมองได้กระทำการยิบยืมปรากฏการณ์ที่ผ่านพ้นเท่านั้น
ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาพเสมือนที่มีทั้งความเป็นจริงและความไม่จริง
หากแต่ก็อยู่บนพื้นฐานของการมีอยู่จริงของโลกวัตถุ
ในขณะที่คลังภาพที่ถูกบันทึกลงในสมองกลับเต็มไปด้วยการบิดเบือน
ตัดทอน และเสริมแต่งโดยการปรุงแต่งทางจิตที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน
สิ่งดังกล่าวทำให้ภาพที่ปรากฏอยู่ในความทรงจำไม่ใช่ภาพเสมือนจริง
แต่บินเบือนตามความต้องการของผู้บันทึกโดยมีเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพที่อยู่ในใจชัดเจน
พร่าเลือน บิดเบือนหรือเสริมแต่งมากน้อยเพียงใดตามแต่ผู้บันทึกปรารถนา
ความหมาย
และเมื่อภาพที่กลายมาเป็นความทรงจำได้สร้างชุดความหมายขึ้นจากการประชุมกันของแต่ละสัญญะ
(Sign) ความหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ที่ถอดรหัสความหมายนั้น
ซึ่งไม่เพียงเป็นความหมายในชั้นต้น แต่พัฒนาไปสู่ความหมายเชิงวัฒนธรรมที่เรียกว่า
“มายาคติ” (Myth) และมายาคตินั่นเองคือสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราสามารถสื่อสารในระดับความหมายที่ลึกซึ้งกว่าความหมายในชั้นต้นดังนั้นความหมายเชิงมายาคติที่ปรากฏขึ้นนั้นจึงเป็นเสมือนสิ่งที่ถูกปรุงแต่งและทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปสู่ความหมายที่นอกเหนือจากตัววัตถุ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการตีความหมายที่แต่ละคนล้วนต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการในการถอดความที่สอดคล้องกับสารนั้น และที่สำคัญความหมายในเชิงมายาคติเองนั้นก็มีปัจจัยทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปสู่การสื่อสารได้ชัดเจน
นิทรรศการ
ภาพถ่ายที่ปรากฏในนิทรรศการ
image memory meaning
จึงไม่ใช่ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นหรือสัมผัสกับความงามที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ
แต่เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะบางอย่างที่ถ่ายทอดจากกระบวนคิดของผู้สร้างสรรค์มากกว่าจะแสดงถึงทักษะในทางศิลปะ
ผู้สร้างสรรค์จึงมิอาจจะมุ่งหมายให้เกิดความเข้าใจในสาระชั้นต้นของภาพที่เห็น
แต่ต้องการนำเสนอภาพที่มีความหมายโดยนัย ทั้งนี้ความหมายหรือเนื้อหาของผลงานแต่ละชุดไม่ได้พยายามที่จะแสดงท่าทีที่จะยัดเยียดความเข้าใจของผู้ดูมากไปกว่าการตัดสินใจของผู้ดูเองว่าเห็นหรือสัมผัสความหมายอะไรบ้างจากสิ่งที่ปรากฏขึ้นตรงหน้าผู้ดูมีส่วนสำคัญในการตีความผลงานที่เห็นมากเท่ากับการที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการให้ผู้ดูเห็นอะไร ทั้งนี้ก็มิอาจการันตีได้ว่าผู้สร้างและผู้ดูจะสามารถเข้าใจเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ภายในภาพที่ปรากฏหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้สร้างสรรค์เองก็มิอาจจะบีบบังคับให้ผู้ดูรู้สึกถูกทำให้เชื่อในสิ่งที่เห็น เพราะผู้ดูเองก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันแต่ละบุคคล และความแตกต่างนั้นเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การถอดความหมายเชิงมายาคติในผลงานมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นผู้ดูจึงมีสิทธิ์ที่จะสร้างความทรงจำชุดใหม่ที่เกิดขึ้นจากการจ้องมองผลงานในชุดดังกล่าวนี้ได้อย่างแนบเนียน
สุริยะ ฉายะเจริญ มีทัศนะดังนี้
“ภาพ” (image) ที่มนุษย์เห็นไม่เพียงเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนการประสบพบเจอกันของประสบการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคล แต่ยังให้ความหมายในเชิงการระลึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะเรียกว่า
“ความทรงจำ” (memory)
เมื่อภาพถ่าย
(photography)
มีหน้าที่หนึ่งคือการสร้าง “ภาพแห่งความทรงจำ”
(Images of Memories) ขึ้นมา ด้านหนึ่งก็เป็นการสถาปนาความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นจากผู้หนึ่งผู้ใด
นั่นย่อมหมายความว่า ภาพถ่ายมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพความทรงจำใหม่ (Creating
new memories) ที่หาใช่ความจริงไม่ กระบวนถ่ายภาพจึงไม่เพียงสร้างสิ่งที่ไม่เป็นจริง
(ทั้งหมด) เท่านั้น หากยังบิดเบือนความจริง (ทั้งหมด) ให้อยู่ในรูปขอบความเสมือนไม่ต่างจากโลกในจินตนิยาย
เพราะฉะนั้นแล้วภาพ (image) ความทรงจำ (memory) และความหมาย (meaning) จึงเป็นเพียงการประชุมกันของ “สิ่ง” ( ) ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสถาปนาโลกใหม่ภายใต้ร่มเงาของภาพมายาที่ดูประหนึ่งว่าเป็นโลกของความเป็นจริง
ซึ่งปรากฏได้เพียงจินตนาการที่ถูกทำให้เชื่อว่ามีความเป็นจริงปรากฏอยู่
ในขณะที่ ภูริช ศรีสวย มีทัศนะดังนี้
เรื่องราวในประวัติศาสตร์มีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ
ที่ผ่านเข้ามา ประวัติศาสตร์ศิลปะก็เช่นกันมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจศิลปะในสมัยปัจจุบันมากขึ้น
ยิ่งประเภทของงานศิลปะที่มีรากฐานแข็งแรงอย่างงานจิตรกรรมที่มีประวัติและเรื่องราวต่างๆ
มากมายรวมทั้งการเปลี่ยนผ่าน การข้ามผ่าน การเป็นเครื่องมือ ทั้งร่วมกันและไม่ร่วมกันกับภาพภ่าย
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูผลิตขึ้นเพื่อผลิตภาพ ทำให้ข้าพเจ้าอยากทำความเข้าใจกับคำว่า
ภาพ
ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันเป็น
"ยุคของการซ้อนทับ การบิดเบือนหรือการแยกกันของภาพที่นำไปสู่การเข้าถึงความจริง"
เราควรจะพิจารณาต่อการรับรู้ภาพหรือสิ่งต่างๆ หรือเพิ่มการทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ
ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของภาวะที่อ้างขึ้น
ในเมื่อการเข้าถึงความจริงแท้นั้นเป็นไปได้ลำบาก เพราะแต่ละความจริงนั้นมีเหตุผลในการรองรับที่ต่างกัน
จึงเป็นการยากต่อการเข้าถึงความจริง จึงอยากที่จะทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาสมดุลในการใช้ชีวิตระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ผ่านการทำงานศิลปะ2มิติ(จิตรกรรมและภาพถ่าย)
ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ
image memory meaning นี้
ติดตั้งตามลักษณะบริบทของพื้นที่ร้านอาหารหลังแรกบาร์ (Hlung Raak Bar
Restaurant Gallery)
ซึ่งไม่เพียงมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ใช้สอยเท่านั้น
แต่ยังมีข้อจำกัดทางด้านความหมายของพื้นที่ที่มิได้เน้นเรื่องการจ้องมอง
แต่เน้นไปที่การลิ้มรส ดื่มกิน และการสนทนา ดังนั้นข้อท้าทายของผู้สร้างสรรค์คือต้องแสดงให้เห็นถึงการจัดการกับพื้นที่ที่จัดแสดงให้แนบเนียนมากกว่าความแปลกแยก
เพราะฉะนั้น
แม้ว่าการติดตั้งผลงานในชุดดังกล่าวนี้จะเป็นเพียงผลงาน 2 มิติเท่านั้น
หากแต่ต้องแข่งขันกับบริบทอันหลากหลายของพื้นที่จัดแสดงมากเท่ากับการที่ให้ความสำคัญกับเนื้องาน
สภาพพื้นที่อันเต็มไปด้วยโต๊ะ เก้าอี้ กระจก หน้าต่าง หิ้ง อาหาร กลิ่น
หรือแม้กระทั่งผู้คนที่เข้ามาร่วมในพื้นที่ดังกล่าว
จึงเป็นเสมือนโจทย์และคำตอบอันสำคัญที่ทำให้การสร้างสรรค์ผลงาในชุดนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง
(Paradox) ที่ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมให้เกิดความลงตัว
ซึ่งความไม่เข้าร่องเข้ารอยกันกลับกลายเป็นผลพวงของการไม่จำกัดผลงานให้อยู่ในพื้นที่อันเป็นที่เป็นทาง
แต่เป็นพื้นที่ทางเลือก (Alternative Space) ที่ไม่สามารถให้ความสำคัญกับการจ้องดูมากเท่ากับการมองเห็น
บทสรุป
เมื่อปรากฏการณ์ในนิทรรศการ
image memory meaning
เป็นความขัดแย้งที่ไม่ลงตัว การเรียกร้องเอกภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปได้ยาก
เพราะการเรียกร้องสัมพันธภาพในสิ่งที่ไม่มีสัมพันธภาพก็ย่อมเป็นการหลอกตัวเอง ภาพ ความทรงจำ
และความหมายจึงไม่เพียงเต็มไปด้วยความหลากหลายเท่านั้น
หากแต่ยังคงความความขัดแย้งที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งดังกล่าวนั้นย่อมเป็นเรื่องของปัจเจกชนมากกว่าความเป็นมหาชน
การจ้องดูเป็นเรื่องสิทธิในการที่จะสามารถจ้องดู มนุษย์เราไม่ควรให้การจ้องดูเป็นการบังคับให้ดู
เพราะเมื่อใดก็ตามที่ภาพ ความทรงจำ และความหมายของมหาชนเกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน
นั่นย่อมเท่ากับว่าความเป็นปัจเจกก็จะสูญสลายหายไปพร้อมกับการสถาปนาของอำนาจที่เหนือกว่าสถานะของความเป็นปัจเจกชน
(Individualist)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น