(e-mail: jumpsuri@gmail.com)
ผลงานที่โดดเด่นและมีคุณค่าของศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรีที่สำคัญอีกประการ คือ งานทางด้านวิชาการ
ท่านมักเขียนบทความทางศิลปะประกอบเอกสารการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็นประจำเพื่อวัตถุประสงค์ให้คนไทยในสมัยนั้นได้มีความเข้าใจในศิลปะในสมัยใหม่มากขึ้น
ซึ่งท่านเน้นไปที่คุณค่าของศิลปะที่เป็นเครื่องมือในการที่จะช่วยยกระดับจิตใจของคนในสังคมตามอุดมคติ
“ศิลปะเพื่อศิลปะ” อาทิ
“ศิลปะบริสุทธิ์คือผลงานที่เกิดขึ้นจากสภาพจิตใจ
อันมีลักษณะต้องกันกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมของศิลปิน กล่าวอีกนัยหนึ่ง
ศิลปะก็คือการแสดงให้ประจักษ์ซึ่งอารมณ์ความนึกคิดของคนในแต่ละสมัยของวัฒนธรรม...[1]ศิลปะเป็นเครื่องช่วยอันใหญ่ยิ่งทางจิตใจต่อมนุษย์ผู้มีความรู้สึกอยู่ทุกคน…”[2]
ช่วงบั้นปลายชีวิต
ศาสตราจารย์ศิลป์ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าศึกษาศิลปะไทยแบบโบราณมากขึ้น
ข้อเขียนหรือบทความที่เกี่ยวข้องกับศิลปะไทยจึงมีจำนวนไม่น้อย
งานเหล่านี้หลายชิ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าท่านนิยมชมชอบศิลปะไทยมาก[3]
อาทิ ในบทความ “พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว” แปลโดย พระยาอนุมานราชธน
มีข้อความส่วนหนึ่งกล่าวว่า
“ความจริงชนชั้นสามัญย่อมได้รับความบันเทิงใจจากความงามของวัดวาอารามได้รับความผ่องแผ้วแห่งจิตใจจากพระพุทธปฏิมากร
แต่ประชาชนเหล่านั้นก็หาได้รู้สำนึกตนไม่ว่า
ศิลปะนี้เองที่ขัดเกลานิสัยและยกจิตใจของเขาอย่างลึกซึ้ง...”[4]
“ทุกคราวที่ข้าพเจ้าไปวัดสุวรรณาราม
ครั้งแรกข้าพเจ้าไปดูภาพเหล่านี้กว่าสามสี่แห่ง
ซึ่งข้าพเจ้าทราบว่าที่แห่งนี้มีภาพจิตรกรรมฝีมือเยี่ยมของไทย
และทุกคราวที่ดูหัวใจข้าพเจ้าก็เต้นแรงหวั่นระทึก
เพราะกลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นมาทำให้ภาพเหล่านี้เสื่อมไป
ไม่ใช่เป็นการหวั่นวิตกอย่างคนบ้าจี้
แต่ด้วยถนอมรักษาศิลปะดั่งที่เป็นอยู่ตามเงื่อนไขของเราในปัจจุบันนี้
จึงหวังอยู่ว่าเราคงสามารถรักษาศิลปะของเราไว้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง”[5]
อาจจะกล่าวได้ว่า ผลงานด้านวิชาการศิลปะของศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรี เป็นวิชาการทางศิลปะยุคบุกเบิกหรือยุคแรกๆ ในประเทศไทย
เพราะในช่วงพุทธศักราช 2470-2505 เรื่องราวทางศิลปะในประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจนัก
แม้จะมีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศิลปะอยู่หลายคนก็ตามแต่ไม่ใคร่มีผู้ให้ความสนใจ
ในการเสนอความรู้ให้ปรากฏออกมาเป็นข้อเขียนหรือบทความ
หรือจัดพิมพ์เป็นตำราอย่างจริงจัง[6]
ข้อสังเกตสำคัญของผลงานทางด้านวิชาการศิลปะของศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรีนั้นมักเป็นการอธิบายคุณค่าของผลงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในเชิงพรรณนาโวหารเป็นหลัก
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจศิลปะอย่างง่ายๆ
ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์เองเขียนโดยเน้นไปที่ประสบการณ์ทางสุนทรียะเป็นสำคัญ
ลดทอนประเด็นการเขียนวิพากษ์วิจารณ์ผลงานศิลปะและผู้สร้างสรรค์ในแง่ลบ
และมุ่งที่จะตอกย้ำให้คุณค่าของศิลปะเป็นไปในเชิงนามธรรมมากกว่าบริบททางธุรกิจ
ในส่วนบทความของศาสตราจารย์ศิลป์ที่กล่าวถึงผลงานศิลปะไทยหรืองานช่างโบราณนั้น
ก็มุ่งหมายในการสร้างจิตสำนึกหวงแหนผลงานช่างโบราณโดยสร้างมายาคติให้ผลงานช่างโบราณเป็น
“มรดกของชาติ” มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของ “ชาติไทย”
เป็นสำคัญ
ขณะเดียวกันก็สร้างความหมายของคุณค่าในตัวผลงานด้วยการใช้ทฤษฎีศิลปะตะวันตกเข้ามาวิเคราะห์มากกว่าจะกล่าวถึงคุณค่าในความหมายเดิมของผลงานที่เชื่อมโยงกับราชสำนักและศาสนจักร
ซึ่งผลงานวิชาการในประเภทนี้ไม่เพียงเป็นงานวิชาการที่อธิบายของยุคสมัยของผลงานศิลปะไทยหรืองานช่างโบราณเท่านั้น
หากแต่ยังวิเคราะห์ถึงสุนทรียภาพของผลงานนั้นๆ ด้วย
ซึ่งก่อนหน้านี้วงการวิชาการศิลปะไทยเองก็ยังไม่การวิเคราะห์ผลงานช่างโบราณในลักษณะเช่นนี้สักเท่าไร
เนื่องด้วยส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการที่อธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นสำคัญ
[1] ศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรี, “การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
ครั้งที่ 4” ใน สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4, แสดง ณ กรมศิลปากร (ระหว่างวันที่ 14 มกราคม- 14 กุมภาพันธ์ 2496) ใน ศิลปวิชาการ:
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, 99.
[2] ศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรี, “การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
ครั้งที่ 5” ใน สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5, แสดง ณ กรมศิลปากร (ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม
2496 – 31 มกราคม 2497) ใน เล่มเดียวกัน, 103.
[3] รุ่งโรจน์
ธรรมรุ่งเรือง, ประวัติ แนวความคิด และวิธีค้นคว้าวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย
(กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2551),
101.
[4] ศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรี, “พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว”
แปลโดย พระยาอนุมานราชธน, ใน ศิลปวิชาการ:
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี , 71.
[5] ศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรี, “ศิลปะเก่าอันเป็นมรดกที่ไทยได้รับจากบรรพบุรุษ”
(ไม่ปรากฏผู้แปล), ใน ศิลปวิชาการ:
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี , 179.
[6] วิบูลย์
ลี้สุวรรณ, ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี, 182.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น