วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552

Sculpture “Untitled Shoe /1990” ของ Robert Gober (born 1954)


ชื่อผลงาน : “Untitled Shoe” (1990)
เทคนิค : Red casting wax
ขนาด : 3 x 2 5/8 x 7 1/2” (7.6 x 7.6 x 19.7 c­­m.)
จำนวนพิมพ์ (Edition): 35+6 AP



Robert Gober เป็นศิลปินอเมริกันที่มีชื่อเสียงในการสร้างสรรค์ผลงาน 3 มิติเป็นอย่างมาก แม้ว่าเขาจะสร้างผลงานในรูปของภาพถ่าย (Photography) ภาพพิมพ์ (Printmaking) หรือวาดเส้น (Drawing) ด้วยก็ตาม แต่ผลงานเหล่านั้นก็มิได้มีความโดดเด่นเท่ากับผลงานประติมากรรม (Sculpture) เขาเกิดที่ Connecticut ในครอบครัวที่นับถือนิกาย Catholic ที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง พื้นฐานวิถีชีวิตของครอบครัวเป็นแบบอนุรักษ์นิยม (conservative) ยึดมั่นในคติแบบประเพณีที่ดีงามตามหลักคริสต์ศาสนา และอาจจะด้วยสภาพพื้นฐานครอบครัวนี้เอง ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขามักจะถ่ายทอดความรู้สึกที่ถูกเก็บอยู่ภายในกรอบของการดำเนินชีวิต ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


Gober เป็นศิลปินที่มีความสนใจในสิ่งของรอบตัวที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันเสมอๆ เขามักจะหยิบยกสิ่งของรอบข้างมาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์ซุกซ่อนปมอะไรบางอย่างให้ขบคิดอยู่เสมอๆ บาง
ครั้งแฝงความเร้นลับแห่งตัวตนผ่านการนำเสนอที่มีความผิดปกติวิสัยของวัสดุนั้นๆ ทำลายความมีอยู่ของหน้าที่ (Function) ของสิ่งๆนั้น เพื่อให้เกิดความผิดแผกแตกต่างจากเดิม เป็นประดุจการสะท้อนสิ่งคับข้องอะไรบางอย่างภายในจิตใจของตัวเอง เขานำลักษณะความเป็นวัสดุของสิ่งที่หยิบยกมาจัดบริบทขึ้นใหม่ใต้แนวคิด (Concept) ที่มาจากชีวิตส่วนตัว จัดการกระบวนการสร้างสรรค์อย่างง่ายๆโดยใช้รูปลักษณ์ของสิ่งที่มีอยู่จริงประสานกับความผิดปกติที่ซ่อนได้อย่างแนบเนียน เช่น สิ่งใดที่ต้องมีรูระบายก็จะปรับให้เป็นรูที่ทึบตัน สิ่งใดที่สภาพของตัวมันเป็นความแข็งความมั่นคงก็ปรับแต่งให้เป็นความอ่อนนุ่มไม่คงตัว ผลงานของเขาจะไม่ใช่ภาพของความอลังการมลังเมลือง แต่กลับมีขนาดย่อมๆดูอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อพินิจโดยละเอียดแล้วก็จะพบเพียงความนิ่งเงียบที่สถิตในผลงาน ผู้ดูพึงต้องนิ่งอยู่ภายใต้สัญลักษณ์ของทัศนธาตุที่แสดงนัยยะทางความคิดถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน กล่าวโดยสรุปแล้ว ผลงานสร้างสรรค์ของเขาไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการที่จะเข้าใจปมปัญหาส่วนตัวของศิลปินที่เป็นประดุจต้นร่างของความคิด แต่กลับไม่ใช่เรื่องยากหากใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัสรับรู้ในผลงานศิลปะของเขา


ในห้วงปี 1990 Gober ได้สร้างผลงานประติมากรรมขนาดเล็กที่มีชื่อว่า “Untitled Shoe” ขึ้น โดยทำเป็นรูปรองเท้าเด็กผู้หญิงสีแดงสดเพียงข้างเดียว รองเท้านี้หล่อด้วยขี้ผึ้งผสมสีแดงผลิตออกมาหลายจำนวนพิมพ์ (edition) ซึ่งมีขนาด 3 x 2 5/8 x 7 1/2 นิ้ว หรือ 7.6 x 7.6 x 19.7 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับรองเท้าที่มีอยู่จริง เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสรางสรรค์ผลงานที่เป็นรองเท้าแดงนี้จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอในช่วงหนึ่งของชีวิตประจำวัน เขาได้ให้ทัศนะไว้ว่า เขาพบรองเท้าหนึ่งข้างตกอยู่กลางถนนสาย East Tenth Street ในช่วงเช้าวันหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ทำให้เขาหวนคิดถึงสถานการณ์ความรุนแรงอะไรบางอย่างที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ประสบมาก่อนหน้านี้ โดยที่รองเท้าข้างหนึ่งได้ตกหล่นโดยไม่ได้ตั้งใจ

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงฝังอยู่ในความทรงจำแล้วก็ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นนี้


Untitled Shoe เป็นรูปลักษณ์ของรองเท้าเด็กของผู้หญิงสีแดง ที่มีขนาดใกล้เคียงกับความจริง มีการทำขึ้นและถอดพิมพ์หลายชิ้น ผลงานชิ้นนี้แม้ว่าจะมีลักษณะที่ดูผิวเผินแล้วคล้ายกับวัสดุเก็บตก (Found object) หรือวัสดุสำเร็จรูป (Readymade object) แต่ก็หาใช่วัสดุทั้งสองแบบ เพราะเป็นของที่ถูกทำขึ้นใหม่โดยใช้ขี้ผึ้งหล่อออกมาให้มีความใกล้เคียงกับภาพลักษณ์ของสิ่งนั้นจริงๆเป็นการเลียนแบบขึ้นมาหาใช่การล้อเลียนไม่ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้ระลึกถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ที่ฝังอยู่ในมโนภาพของศิลปินและถ่ายทอดสภาพนั้นออกมา วิธีการนำเสนอดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Gober ที่ทำได้อย่างน่าสนใจ เขาจัดวางโดยการสมมุติสถานการณ์ให้รองเท้าสีแดงนี้ วางนิ่งสงบอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางพื้นที่โล่งขาว เมื่อผู้ชมได้ดูแล้วเกิดความกำกวมและตั้งคำถามบางอย่างเกี่ยวกับการหายไปของรองเท้าอีกข้าง หรืออีกนัยยะหนึ่งรองเท้าข้างนี้ต่างหากเล่า ที่เป็นรองเท้าข้างที่หายไปจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในสถานการณ์ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น


วัสดุในการสร้างสรรค์ของผลงานชิ้นนี้คือขี้ผึ้ง ซึ่งโดยสถานะของตัวมันเองแล้วสามารถแปรเปลี่ยนสภาพตัวเองจากของแข็งเป็นของที่มีความยืดหยุ่นนิ่มจนกระทั่งเป็นของเหลวได้ หรือหากมีความร้อนที่สูงมากก็แปรสภาพกลายเป็นก๊าซหรือเจือปนเป็นอากาศธาตุได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลัก นอกจากนี้ขี้ผึ้งยังสามารถผสมกับสีได้ เกิดเป็นสีของวัตถุที่เป็นผลงานสำเร็จออกมา ซึ่งนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้ขี้ผึ้งสร้างเป็นรูปเหมือน เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพชนหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งมีการใช้ขี้ผึ้งประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยอยู่ในรูปแบบของเทียน จากลักษณะเฉพาะของขี้ผึ้งเช่นนี้ Gober ได้นำมาสร้างงานประติมากรรมขึ้นมากมายหลากหลายชิ้น ซึ่งในทางเทคนิคของการสร้างประติมากรรมนั้น ก็ถือเป็นเรื่องปกติในการใช้ขี้ผึ้งเป็นตัวกำหนดแบบร่างเพื่อนำไปขยายแบบสู่งานจริง แต่ในกรณีของ Untitled Shoe นี้ กลับต่างจากกระบวนการดังกล่าว กล่าวคือตัวขี้ผึ้งไม่ได้ดำรงสถานะในการร่างแบบ (Sketch) แต่ตัวมันกลายเป็นผลงานจริง เนื่องด้วยปัจเจกลักษณ์ของสถานะแปรเปลี่ยนของขี้ผึ้ง อาจเป็นสาระที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดแนวคิดบางอย่างสู่ผู้ชม ลักษณะการแปรเปลี่ยนสภาพได้ของขี้ผึ้งนั้น ก็อาจแฝงนัยยะทางปัญญาในเรื่องของความเป็นอนิจจังที่ซ่อนอยู่ในวัตถุวิสัย และด้วยสถานะดังกล่าวก็อาจจะโยงถึงสถานการณ์ที่เขาได้เห็นรองเท้าหนึ่งข้างวางนิ่งสงบอยู่กลางผืนถนนอย่างโดดเดี่ยวไร้ผู้เหลียวแล ภาพตรงหน้านำพาให้เขาคิดถึงเหตุการณ์ของความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยสมมุติฐานในชั้นต้นเป็นไปได้ว่าเป็นเรื่องของเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งกับเจ้าของรองเท้านี้ ซึ่งในที่นี้ก็คือเด็กผู้หญิงอันจะเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่บอบบางอ่อนเยาว์และอ่อนแอ ที่แม้จะโดนกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างยิ่ง ดังเช่นรองเท้าขี้ผึ้งนี้ที่ภายนอกนั้นดูเป็นปกติเป็นของแข็ง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมรอบข้างมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นสถานะของแข็งของรองเท้าก็จะเปลี่ยนไปสู่ของเหลว หรือเมื่อมีความร้อนที่สูงมากก็เปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซไร้ร่องรอยไปในเวิ้งอากาศได้ ความไม่แน่นอนของวัสดุที่นำมาเสนอผ่านรูปลักษณ์ของรองเท้าแดงนี้ จึงส่งผ่านเรื่องราวของความคิดและความรู้สึกที่มากมายถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่ชวนคิดชวนฉงนเป็นอย่างยิ่ง


ถ้าจะกล่าวในเรื่องของสีแดงสดที่ปรากฏในผลงานนั้น เราอาจเห็นถึงสาระของความหมายบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายนอกของรูปลักษณ์ซึ่งถูกฉาบทาด้วยรูปทรงที่บอบบางและสีที่สดจัดจ้าน ความหมายของสีแต่ละสีของแต่ละบุคคลก็ย่อมให้ความหมายที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าไปรับรู้นัยยะที่แฝงอยู่ในทัศนะของเขาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถจะตีความได้เลยเสียทีเดียว เนื่องด้วยสีแดงที่ฉาบคลุมทุกอณูของผลงาน ได้ส่งผลต่อความเด่นในทางทัศนธาตุที่พลักดันผลงานรองเท้าสีแดงฉูดฉาดลอยเด่นเหนือพื้นที่เวิ้งว้างสีขาวบริสุทธิ์ ปล่อยรองเท้าแดงนี้สงบนิ่งเพียงข้างเดียวอย่างไร้กาลเวลา ถ้ามองในทางจิตวิทยาพื้นฐานอย่างง่ายๆ เราจะเห็นว่าเด็กๆมักชอบสิ่งของที่มีสีสันจัดจ้านและดูง่ายๆ โดยเฉพาะของที่เป็นแม่สีวัตถุธาตุ โดยเฉพาะสีแดงแล้วมักเป็นที่น่าสนใจสำหรับเด็กทั่วไป ในที่นี้สีแดงอาจจะแทนความหมายของความเป็นเด็ก เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเด็ก แต่ถ้ามองในนัยยะที่ลึกขึ้นไปอีกก็อาจจะเป็นสีของเลือด แสดงออกถึงเรื่องราวอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับเลือด เกี่ยวกับความสูญเสีย กระทั่งรวมถึงความรุนแรงอย่างที่สุดก็เป็นได้ พลังของสีแดงได้ชักพาให้ผู้ชมได้รับอารมณ์ที่รุนแรงและกระทบกับความสะเทือนใจอะไรบางอย่างที่เจ็บปวด พื้นที่สีขาวเวิ้งรอบผลงานได้ให้อารมณ์ที่หลอกหลอนไร้กาลเวลา ดูว่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดายถูกทิ้งอย่างไม่มีใครแยแส ขณะเดียวกันก็เกิดความสะพรึงของการหลอกหลอนของพื้นที่ว่าง เพราะในความหมายของสีขาวที่ล้วนเป็นความบริสุทธิ์นั้น ก็แฝงความหมายถึงความไร้ชีวิตหรือความตายด้วย ในขณะที่สีแดงของรองเท้าได้ทำหน้าที่แสดงออกพลังสีของเลือดหรือสัญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิต เมื่อผสานกัน จึงทำให้เกิดอารมณ์ของผลงานที่เกี่ยวพันกันระหว่างการมีชีวิตอยู่ การทอดทิ้ง ความรุนแรง รวมไปจนถึงความตาย และความหลอน


การสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมในชิ้นนี้ของ Gober เป็นเสมือนการจำลองสถานการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้นจริง ในสถานะที่เขาเคยดำรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ ดังนั้นการสร้างรองเท้าขี้ผึ้งสีแดงขึ้นนี้ ก็อาจจะถือเป็นบทบันทึกที่ศิลปินได้ถ่ายทอดออกมาจากห้วงความทรงจำส่วนตัว ให้กลายเป็นผลงานศิลปะ หากแต่การเข้าไปรำลึกถึงแก่นสาระของผลงานนั้น ไม่ได้ความว่าจะเสนอความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินผู้สร้างสรรค์แต่ด้านเดียว แต่ยังเปิดเผยถึงประเด็นทางสังคมไว้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะประเด็นของการคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็กและสตรีนั้น ได้สอดแทรกถ่ายทอดออกมาให้เห็นถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในสังคมจริง ศิลปินมิได้ชี้แนะให้ผู้ดูหรือสังคมควรจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือหยุดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แต่ศิลปินได้สะท้อนสิ่งที่พบเห็นในช่วงขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตน อันได้เกี่ยวโยงกับความเป็นไปของประเด็นดังกล่าว เป็นการแสดงออกให้เห็นผลของความรุนแงที่ได้เคยเกิดขึ้นในอดีตโดยทิ้งร่องรอยไว้ให้ขบคิด ซึ่งในที่นี้คือรองเท้าสีแดงข้างเดียว ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติที่จะพบเห็นรองเท้าที่ดำรงสถานะของจำนวนคู่วางทิ้งอยู่เพียงลำพัง และสิ่งนี้เองก็ชักนำให้ศิลปินได้ขบคิดผสานจินตนาการจนเกิดเป็นจินตภาพของสมมุติฐานดังที่เขาได้บันทึกไว้


ดังนั้นผลงานชุดนี้จึงเป็นผลงานที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยในการสร้างสรรค์ ใช้ความหมายและสถานะของวัสดุให้เกิดเป็นแนวคิด โดยผ่านสัญลักษณ์ของรูปทรงวัตถุที่เห็นทั่วไปเป็นปกติ ให้เป็นผลงานที่อุดมด้วยปัญญานำพาให้ผู้ดูมุ่งสืบค้นนัยยะที่เร้นอยู่ภายใต้วัตถุวิสัยของผลงานศิลปะ เพ่งพินิจสู่ความหมายที่ศิลปินได้ประกาศผ่านความเงียบสงัดของรองเท้าเด็กผู้หญิงสีแดงที่วางสงบนิ่งท่ามกลางความเวิ้งว้างของพื้นที่สีขาวที่มีขอบเขตอันเป็นนิรันดร์

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 มกราคม 2552 เวลา 05:33

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ





    ไม่ทราบว่ามีรูปภาพของศิลปินคนนี้หรือเปล่าครับ





    ลองเสริชในกูเกิ้ลแล้วไม่เจออะครับ

    ตอบลบ