วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552

Installation Art “Brillo (1968)” ของ Andy Warhol (1928 –1987)




Andy Warhol เป็นศิลปิน Pop Art ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เขาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายหลากหลายรูปแบบ ผลงานของเขาได้สร้างรูปแบบวิธีการนำเสนอใหม่ๆให้กับวงการศิลปะในยุคสมัยนั้นเสมอๆ แรกเริ่มเดิมที่เดียวนั้นเขาทำงานอยู่ในวงการโฆษณา ซึ่งเรียกกันว่าเป็นพานิชศิลป์ (Commercial Art) ไม่ใช่วิจิตรศิลป์ (Fine Art) ที่ถือเป็นศิลปะชั้นสูง (Hi Art) แต่ต่อมาเขาก็นำลักษณะของงานโฆษณานี้ไปสร้างเป็นผลงานศิลปะ ซึ่งไปพ้องกับแนวคิดในศิลปะแบบ Pop Art หรือศิลปะแบบประชานิยมซึ่งเป็นที่รู้จักในราวทศวรรษที่ 1960 แนวคิดดังกล่าวนำเสนอรสนิยมของประชาชนในสังคมในห้วงเวลานั้น

ผลงานในยุคแรกของ Warhol เป็นผลงานจิตกรรมและภาพพิมพ์ 2 มิติ นำเสนอภาพลักษณ์ของสังคมในยุคนั้นผ่านสัญลักษณ์ทางสินค้าที่เป็นที่รู้จักในหมู่มหาชนอย่างกว้างขวาง เช่น กระป๋อง Campbell's Soup เป็นต้น หรือนำเสนอภาพลักษณ์ผ่านทางบุคคลที่เป็นที่รู้จัก เช่น Marilyn Monroe ดาราสาวผู้โด่งดังและเป็น Sex Star ในยุคสมัยของเขา เขามักจะสนใจทุกสิ่งที่เป็นที่นิยมของสังคมและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานสม่ำเสมอ เขาได้เริ่มพัฒนาจากผลงานแบบแบนราบที่เป็นเพียงมิติกว้างกับยาว ซึ่งแม้จะดูเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมยุคนั้นได้ดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ให้เกิดการสัมผัสในมุมมิติของความลึก ให้เป็นงาน 3 มิติที่ดูเสมือนจริงยิ่งขึ้น

ผลงาน Installation Art ชื่อ Brillo (1968) เป็นพัฒนาการในการนำเสนอจากผลงานแบบแบนราบ 2 มิติ ไปสู่การแสดงออกแบบ 3 มิติ จากมิติลวงสู่มิติจริง จับต้องได้จริง สามารถเข้าไปรับรู้จากสภาพเสมือนจริง ในการแสดงนิทรรศการศิลปะชื่อ The American Supermarket (1964) เขาขาย Brillo Box ได้กล่องละ 350 Dollars ในขณะเดียวกันก็เกิดคำถามขึ้นว่า ใช่ศิลปะหรือไม่ และอะไรคือศิลปะ

ในการสร้างสรรค์ผลงานของWarholนั้น แนวคิดและกระบวนการสร้างเป็นผลมาจากความชื่นชอบในทุกๆสิ่ง ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “I love thing” ทัศนะที่เขามีต่อสิ่งรอบข้างเช่นนี้ ทำให้ผลงานที่ออกมาเป็นการส่งผ่านจากความชื่นชมในสิ่งของต่างๆที่ปรากฏอยู่ดาษดื่นในสังคม โดยเฉพาะสิ่งของที่เป็นของใช้ประจำวัน สินค้าที่มีขายในใน Super Market ตลอดจนโปสเตอร์โฆษณาต่างๆ เขาเป็นศิลปินที่ฉลาดเลือกในการนำเสนอในเชิงล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน กระทั่งสะท้อนความเป็นไปของสังคม สิ่งทั้งหลายนี้จะเห็นได้จากผลงานประติมากรรมและจัดวาง ชุด Brillo (1968) เป็นต้น

ผลงานชุดนี้ ได้ล้อเลียนสินค้าในตลาดทั่วไปในอเมริกาในห้วงเวลานั้น กล่าวคือ Brillo เป็นยี่ห้อหนึ่งของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นสินค้าที่พบเห็นทั่วไปในห้างร้าน ทุกๆบ้านนำไปใช้เป็นของประจำบ้าน ของสิ่งนี้ไม่มีอัตลักษณ์เฉพาะ(Identity) เป็นของที่ถูกผลิตขึ้นในยุคที่ทุกๆสิ่งเป็นผลจากอุสาหกรรม (Industrial) ทุกพื้นที่ของเมืองใหญ่นอกจากเต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆแล้ว ก็ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย Brillo ก็เป็นหนึ่งในของที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมของมนุษย์ ที่กำลังเปลี่ยนผ่านอยู่ใน ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากสังคมอุตสาหกรรมแบบเก่าสู่อุตสาหกรรมใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Post World War II)ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ธรรมดาหากอเมริกันชนจะไปไหนมาไหน ก็พบเห็นกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์นี้ ความดาษดื่นของสิ่งนี้ ทำให้ความน่าสนใจของมันถูกบั่นทอนลงอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น เพราะถ้าดูกันในระดับลึกซึ้งแล้ว กล่องสินค้านี้มีหน้าที่เพียงบรรจุของภายใน ซึ่งของข้างในต่างหากที่มีประโยชน์ใช้สอย แต่ตัวกล่องภายนอกเมื่อหมดหน้าที่ในการบรรจุสิ่งของ ก็หมดความสำคัญโดยสิ้นเชิง กลายเป็นสิ่งไร้มูลค่าในทางเศรษศาสตร์ (Economy)โดยเฉพาะสังคมอเมริกันที่เป็นแบบทุนนิยม (Capitalism) แล้ว กล่องนี้เป็นขยะที่ไร้ค่าทั้งสิ้น

เมื่อWarhol ได้นำภาพลักษณ์ที่ปกติวิสัยซึ่งดูจำเจซ้ำซากนี้มาสร้างสรรค์ เขาได้เคารพในลักษณะเดิมของมัน ซื่อสัตย์ในการเสนออย่างตรงไปตรงมา เขาสร้างกล่องขึ้นมาจากแผ่นไม้อัด แล้วประกอบเข้ากันจนได้ครบทั้ง 6 ด้าน จากนั้นก็ใช้เทคนิคภาพพิมพ์ Silkscreen ซึ่งเป็นเทคนิคในอุตสาหกรรมการผลิตงานโฆษณาต่างๆพิมพ์ลงบนด้านทุกๆด้านที่มีภาพและตัวอักษรโฆษณา โดยเลียนแบบจากกล่องของ Brilloจริง ทั้งขนาดของแต่ละด้านที่ขนาด 17 X 17 X 14 นิ้ว ก็เลียนแบบให้ตรงกับของจริงทุกประการ เว้นเสียแต่ด้าน
บนของกล่องนั้นปิดทึบไม่สามารถเปิดและปิดได้เหมือนอย่างกล่องจริง เนื่องจากกล่องนี้สร้างจากไม้ เนื่องด้วยจุดประสงค์หลักคือเป็นผลงานศิลปที่ให้คุณค่าทางปัญญา มิใช่กล่องกระดาษที่สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ ที่มีจุดประสงค์ในการอุปโภค พื้นที่ภายในของกล่องผลงานนี้จึงบรรจุเพียงพื้นที่ว่าง (Space) ที่ถูกจำกัดเป็นปริมาตรเหลี่ยม ซึ่งหากดูจากกล่องของจริงแล้ว ข้างในกล่องนั้นก็ย่อมต้องเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่วางอย่างเป็นระเบียบ พื้นที่ดังกล่าวก็จะถูกแทนด้วยมวล ปริมาตรของผลิตภัณฑ์

ในการนำเสนอผลงานชุดนี้ ได้ลอกเลียนแบบการจัดวางสินค้าในร้านสะดวกซื้อหรือ Super Market เรียงสินค้าแบบตั้งซ้อนกันอย่างธรรมดา จัดวางคล้ายกับว่ามิได้สนใจในรายละเอียดหรือเพื่อให้เกิดความงามในแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ (Identity) เป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลานั้น ที่ทุกๆสิ่งในสังคมเป็นเพียงสินค้าธรรมดา (Mass Products) ทั้งนี้ ก็ถือได้ว่า Warhol เองก็ได้แสดงออกในสิ่งที่เขาชอบ เพราะด้วยความที่เคยสร้างสรรค์ผล
งานโฆษณาในวัยหนุ่ม ทำให้เขาต้องเป็นคนหนึ่งที่มีความคุ้นเคยและนิยมกับสินค้าสมัยใหม่มากมาย การที่เขาได้สร้างกล่อง Brillo ซึ่งเป็นสินค้าที่ภาพลักษณ์หนึ่งของสังคมในยุคของเขามานำเสนอ ก็น่าจะมีส่วนมาจากความคุ้นเคยและชื่นชอบในวิถีชีวิตและรสนิยมคนเมือง (Urban) ดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยด้วย
ถ้าจะมองในแง่มุมของความเป็นผลงานศิลปะที่ดีแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ยากหากเราจะมองกันในระดับกระพี้อย่างผิวเผิน ภาพลักษณ์ทางศิลปะที่ฉาบทาด้วยค่านิยมแบบศิลปะชั้นสูง ซึ่งมักเน้นบริบททางความงามและความสมบูรณ์แบบเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ ที่มีมาตั้งแต่อดีตตราบจนห้วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้คติแบบนี้ได้ฝังรากอยู่ในหมู่ปัญญาชนหัวเก่าที่มีความคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม (Conservatism) ผลงานสร้างสรรค์ในยุคสมัยใหม่จึงยากที่จะมองว่าเป็นศิลปะที่ดีได้ การก้าวข้ามกันระหว่างศิลปะชั้นสูง (Hi Art) กับศิลปะชั้นล่าง (Low Art) จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้า (Avant-Garde Artist) ความเหลื่อมล้ำนี้ ได้ถูก Warhol ท้าทายอย่างตรงไปตรงมา เขาประชดประชันสังคมบริโภค ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าที่ดูเสมือนว่าไม่มีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ เกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างศิลปะแบบพานิชกับศิลปะแบบชั้นสูง ศิลปะแนวทางนี้ก็ยกสถานะตัวเองเป็นหนึ่งในแนวทางศิลปะกระแสหลัก (Main Stream) ได้ ซึ่งในผลงานชุด Brillo นี้เองก็มิได้แสดงเจตจำนงที่จะต่อต้านหรือบริภาษอย่างรุน แรงแต่คล้ายเป็นภาพสะท้อนมากกว่าไม่ได้แสดงภาพของความขัดแย้งกับความนิยมของมวลชน เป็นประ ดุจกระจกเงาที่สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวของสังคมในห้วงนั้น แสดงถึงความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ การดำเนินชีวิตแบบไร้รสนิยม ไม่มีความเป็นปัจเจก

ปัจเจกภาพถือเป็นสิ่งที่สำคัญการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) จนถึงยุคต้นของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลังจากเกิดผลงานในลักษณะ Pop Art หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็เป็นการทลายความขัดแย้งในทางชนชั้น สลายความโดดเด่นของแต่ละปัจเจกให้เกิดสถานภาพแห่งความเสมอเหมือน เกิดความเท่าเทียมกัน อีกด้านหนึ่งของสิ่งที่ไม่มีอัตลักษณ์ก็ได้ปรากฏบริบทใหม่ในการแสดงออก ที่ไม่ใช่จะนำเสนอแต่เพียงรูปแบบแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องด้วยรูปลักษณ์มิได้สนองตอบความเป็นไปของผู้คนในสังคมเพียงพอ การดำเนินชีวิตในสังคมสมัยนั้นได้ยกระดับให้เกิดปัญญาชนรุ่นใหม่ เกิดความคิดใหม่ๆ เกิดการต่อต้านในขนบประเพณีแบบเก่าๆเพื่อสิ่งใหม่ๆ เกิดการเดินขบวนของนักศึกษาในการเรียกร้องสันติภาพในห้วงของสงครามเย็น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้ศิลปินต้องการสร้างสรรค์ผลงานที่รับใช้ในด้านกระบวนความคิด (Concept) มากกว่าที่จะเน้นหนักด้านความหมายในเชิงสุนทรียะแบบในอดีต อีกทั้งใช้สอยวิทยาการการผลิตแบบสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรมให้เป็นประโยชน์ ผลงานประติมากรรมจัดวางชุด Brillo นี้ก็ได้เกิดขึ้นจากแนวทางดังกล่าว

ผลงานชุดนี้ได้ให้ผู้ชมเกิดการขบคิดมากกว่าผลงานในยุคอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความเคลื่อนไหวของศิลปะแนว Abstract Expressionism ที่เน้นการแสดงออกปัจเจกภาพอย่างสุดขั้ว สำแดงผลทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยม ประกอบกับสังคมหลังสงครามโลกที่สหรัฐอเมริกาดำรงสถานะผู้ชนะในสงคราม ทำให้ศิลปะแนวนี้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางถึง กระนั้นศิลปะแนวนี้ก็มิได้รับใช้ความเคลื่อน ไหวทางสังคมในระยะเวลาต่อมา แต่ประติมากรรมจัดวางชุด Brillo กลับตอบสนองส่วนดังกล่าวที่บกพร่อง และนำเสนอผลทางอารมณ์ด้านตรงข้ามกับแนว Abstract Expressionism ที่แสดงออกถึงความรุนแรง ความเคลื่อนไหวที่มีพลัง บังเกิดความรู้สึกที่พวยพุ่ง แต่ผลงานชุดนี้กลับมีอารมณ์แบบเมินเฉย เย็นชา ไร้ชีวิต เป็นความไม่แยแสใดๆทั้งสิ้น ความรู้สึกดังกล่าว ได้ถ่ายทอดได้ตรงกับวิถีชีวิตของอเมริกันชนในยุคนั้น ดังคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat" ซึ่งประโยคนี้ได้สะท้อนชัดเจนในวัฒนธรรมสินค้ากระป๋องหรือกล่อง ที่เป็นวัฒนธรรมที่ไร้วิญญาณ ขาดรสชาติและสาระแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญว่าศิลปะคืออะไรหรืออะไรคือศิลปะ (What is art?) ความกำกวมของศิลปะได้ทับซ้อนกันจนเกิดภาพลักษณ์ที่ต่างไปจากอดีต ความสำคัญของปัจเจกได้ถูกสลายไปพร้อมกับการละทิ้งลายเซ็นของศิลปินที่ประทับตราไว้ในผลงาน สิ่งเหล่านี้ได้เป็นผลพวงจากแนวคิดของ Marcel Duchamp (1887-1968) ที่กล่าวว่า “ศิลปะคือเจตจำนง” หรือ “อะไรก็เป็นศิลปะแต่ศิลปะย่อมไม่ใช่อะไรก็ได้” ซึ่งเขาเป็นศิลปินคนแรกๆที่ให้ทัศนะที่แปลกแยกไปจากทัศนคติแบบเดิมๆ และส่งทอดอิทธิพลทางความคิดสู่แนวทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ จวบจนถึงศิลปะแนว Pop Art นี้เอง และนับจากนี้ การสร้างสรรค์ศิลปะก็ได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทำให้กระบวนการทางความคิดมีพลังในการนำสู่การสร้างสรรค์ได้มากกว่าอดีต

ผลงานประติมากรรมจัดวางชุด Brillo ไม่เพียงแต่ก้าวข้ามการนำเสนอในศิลปะแบบแนวใหม่ ที่ให้ ความสนใจในศิลปะแบบแนวคิดสรุป (Conceptual) ไม่แพ้สุนทรียภาพภายนอก แต่ยังเป็นนัยยะทางสังคมที่เปิดไปสู่ทัศนะใหม่ เปิดปมประเด็นทางสังคมในยุคสมัยนั้น ตลอดจนเป็นประดุจกระจกสะท้อนวิถีแห่งอารยธรรมของยุคสมัยโดยอาศัยผลงานศิลปะเป็นพาหนะสู่ความเข้าใจในสังคมของตน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น