วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

Horse without Rider, 2550













Horse without Rider เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ซึ่งเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานในแนวสื่อสมัยใหม่ ล่าสุดเขาได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงานแสดงศิลปะนานาชาติ 52 nd International Art Exhibition La Biennale di Venezia, 2007 ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย. - 21 พ.ย. 2550 ณ Thai Pavillion at S.Croce 556 เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นิพันธ์ได้รับการคัดเลือกผลงานเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการกรุงเทพฯ226ที่จัดขึ้นในช่วง 16 ธันวาคม 2551 – 15 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการแสดงนิทรรศการที่สำคัญของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในนิทรรศการครั้งนี้เขาได้นำเสนอผลงาน ชื่อ Horse without Rider
ผลงานนี้ เป็นรูปที่ถ่ายจากส่วนหนึ่งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ ติดตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนใหญ่ ซึ่งออกแบบและสร้างโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แต่จะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินกลับไม่ปรากฏกายอยู่บนหลังม้าทรง ม้าสำริดยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นลักษณะม้าศึกที่ปราศจากขุนพล เบื้องหลังเป็นผืนฟ้าที่ที่เวิ้งว้าง เมื่อแรกดูอาจจะยังไม่ปะติดปะต่อเรื่องราวว่าเป็นภาพของอะไร แต่สักพักเราจะนึกถึงพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ ติดตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนใหญ่ ศิลปินจงใจลบภาพของพระเจ้าตากที่ประทับบนหลังม้าศึก ลบภาพของวีรบุรุษที่ขี่ม้า ภาพพื้นที่ว่างที่กินเนื้อที่กว่า90%ยิ่งขับเน้นความว่างของหลังม้าอย่างชัดเจน โดยต้องการกระตุ้นให้ผู้ชมเห็นแล้วเกิดความงุนงงและคิดไปต่างๆนานากับการหายไปของชายที่เป็นดั่งวีรบุรุษของชาติ ผลงานนี้สร้างจากภาพถ่ายดิจิตอลตัดต่อด้วย Computer Graphic ประกอบเข้ากับตู้ไฟในรูปวงกลมติดตั้งเหนือศีรษะผู้เดินชม ซึ่งหากไม่ได้สังเกตก็อาจจะเดินผ่านไปอย่างไม่แยแส ผลงานนี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก ตำแหน่งของผลงานเจาะจงให้ผู้ชมเงยหน้าขึ้นไปมอง เพื่อล้อเลียนกับมุมมองจริง
เรามักเคยได้ยินว่าในยามที่มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นกับอะไรก็ตาม เดี๋ยวก็จะมีวีรบุรุษขี่ม้าขาวมาช่วย ซึ่งประโยคเหล่านี้ได้ถูกนิพันธ์เอามาเล่นในเชิงทัศนศิลป์อย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ด้วยนิสัยของคนไทยเองนั้นต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเป็นชาติที่มักเชื่อในการพึ่งพาผู้อื่น อาศัยความรู้ความสามารถของผู้อื่นมาแก้ปัญหาของชีวิต ไม่ค่อยที่จะพึ่งพาตัวเอง อธิเช่น การบนบานสานกล่าวพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นแบบลัทธิหวังผลดลบันดาล ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตต่างเรามักหวังว่าจะมีวีรบุรุษผู้เก่งกาจจัดการได้ทุกเรื่องมาช่วยแก้วิกฤตนั้น โดยมิได้มององค์รวมของปัญหาที่ทุกคนต่างหากที่ควรเป็นผู้แก้ปัญหาเอง มิใช่หวังว่าจะมีใครเข้ามาช่วย เราอาจจะมีวีรบุรุษปรากฏอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ หลายครั้งท่านเหล่านั้นได้พาให้คนไทยได้ผ่านจุดหักเหของบ้านเมืองไปได้ แต่หากวันหนึ่งวีรบุรุษไม่มาปรากฏตัวอีกแล้ว เราคนไทยจะยังรอให้มาปรากฏตัวหรือจะเลือกทางเดินด้วยตัวเอง
แต่แท้ที่จริงแล้วภาพลักษณ์ของวีรบุรุษขี้ม้าผู้เป็นสัญลักษณ์ของความฝัน ความหวัง ความยิ่งใหญ่ มิได้มีคติที่มีแต่เมืองไทยเท่านั้น แต่ยังมีทั่วโลกตั้งแต่อดีตกาล เช่น
ผลงานโมเสก Alexandermosaic-c.200 BC พบที่ House of the Faun, Pompeii ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Naples National Archaeological Museum ภาพนี้แสดงถึงการรบอย่างกล้าหาญของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่บุกตลุยกองทัพอันมหึมาของพระเจ้าดาริอูสที่3 พระองค์ทรงม้าศึกพุ่งทยายอย่างแกล้วกล้า ภาพนี้แสดงออกถึงความกล้าหาญและพระปรีชาทางการรบแบบตาต่อตาฟันต่อฟันของพระองค์ ที่สำคัญภาพพระองค์และม้าศึกผสานกันเป็นหนึ่งไม่แยกกัน ระหว่างวีรบุรุษและม้าศึกเป็นองค์เดียวกัน
ผลงาน Erasmo of Narni (1370-1443) ของ Donatallo เป็นประติมากรรมรูปกัปตันGattamelaขี่ม้ากลับมาจากศึกด้วยชัยชนะ แสดงออกถึงความสง่างาม ผึ่งผาย เป็นวีรบุรุษบนหลังม้าที่ดูเป็นภาพลักษณ์ของความหวังกำลังใจหลังจากมีชัยในการศึก
ประติมากรรมพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นรูปที่พระองค์ทรงม้าอย่างสง่างาม แสดงความมีพระราชอำนาจที่เกรียงไกรขจรไกลทุกทิศ โดดเด่นท่ามกลางพื้นที่โดยรอบที่เต็มไปด้วยความโอ่อ่ายิ่งใหญ่ พระองค์และม้าผสานกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ภาพจิตรกรรมชื่อ Napoleon Crossing the Alps ของ Jacques-Louis David เป็นภาพจักรพรรดินโปเลียนขี่ม้าขาวข้ามเทือกเขาแอลป์ มือขวาผายชี้ไปข้างหน้า แสดงถึงการรุกไปข้างหน้า ม้าศึกดูคึกคัก จัดองค์ประกอบเป็นเหมือนละครเวที การผสานกันระหว่างจักรพรรดินโปเลียนกับม้าผสานกันอย่างลงตัว ผลงานชิ้นนี้แสดงออกถึงการชื่นชูถึงความเป็นวีรบุรุษของนโปเลียนอย่างยิ่ง
ในมหากาพย์มหาภารตะของประเทศอินเดียนั้น จะแฝงแนวคิดไว้อย่างแนบเนียน ในภาพนี้เป็นรูปของพระกฤษณะเป็นสารถีบังคับรถศึกโดยมีอาชาสีขาวนำหน้า ในรถศึกนั้นมีอรชุนซึ่งเป็นนักรบผู้สง่างามยืนเตรียมพร้อมจะยิงธนูกำจังข้าศึก ม้า พระกฤษณะ อรชุน และรถศึกผสานกันเป็นหนึ่ง ทยานสู่สนามรบนามทุ่งกุรุเกษตรที่เต็มไปด้วยกองทัพมนุษย์นับล้าน ตรงนี้เราจะเห็นว่าม้ามิได้มีผู้ขี่ แต่มีสารถีผู้บังคับอีกที วีรบุรุษหาใช่อรชุนผู้สังหารศัตรู หากแต่เป็นกฤษณะต่างหาก เพราะหากเราได้อ่านเรื่องราวโดยละเอียดจะพบว่า ในการศึกกฤษณะเสมือนกุนซือของอรชุน เขาให้คำแนะนำในยุทธวิธีต่างๆ ที่สำคัญกฤษณะคืออวตารของพระนารายหรือพระวิษณุ ลงมาช่วยปราบคนชั่วในคราวกลียุคต่างๆ ในคัมภีร์ภควัตคีตากล่าวไว้ว่ากฤษณะคือตัวแทนของธรรมมะ ที่ไดมีกฤษณะที่นั้นจะพบแต่ชัยชนะ ที่ใดมีธรรมที่นั้นมีชัย การดำเนินชีวิตให้สำเร็จต้องประกอบด้วยคุณธรรมและความดี กฤษณะจึงดำรงตำแหน่งวีรบุรุษตัวจริงที่บังคับม้าศึก
ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กของจีนเอง ก็มีเรื่องการรบอยู่ตลอดเรื่องราว เหล่านักรบที่ยิ่งใหญ่ขี่ม้าในการออกรบก็มีอยู่มาก แต่ที่โดดเด่นคือกวนอู กวนอูเป็นนักรบของฝ่ายจ๊กก๊กที่มีฝีมือเยี่ยมที่สุด เขามีม้าศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเรื่องชื่อ ม้าเซ็กเทา หรือเจ้ากระต่ายเพลิง ซึ่งมีขนสีแดงทั้งตัว สรรพคุณของม้าตัวนี้คือวิ่งได้วันละเป็นหมื่นๆลี้ เขาได้ม้าตัวนี้เป็นของกำนันจากโจโฉหลังจากรบชนะข้าศึก ซึ่งโจโฉถามถึงทรัพย์สมบัติใดที่กวนอูต้องการ กวนอูตอบอย่างสง่างามว่า ตนเป็นขุนศึกผู้มีคุณธรรมและมีเกียรติยศ สิ่งที่คู่ควรกับวีรบุรุษอย่างเขาก็คืออาชาชั้นเยี่ยมที่โลกควรประทานให้เป็นของขวัญ อาชาที่ว่าคือม้าเซ็กเทา ตลอดทั้งเรื่องกวนอูและม้าเซ็กเทาปรากฏตัวพร้อมกันราวกับเงาตามตัวอยู่เสมอ ในคราวที่กวนอูตายม้าก็ตายด้วย กวนอูและม้าจึงรวมกันเป็นองค์เดียวกัน
พระบรมรูปทรงม้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชก็เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เนื่องจากการสร้างพระรูปนี้ พระองค์ท่านได้รับแรงบันดาลใจจากพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14ที่ประเทศฝรั่งเศส พระองค์ดำริสร้างในขณะที่ทรงมีพระชนชีพอยู่ ถือเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แบบตะวันตกเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ผลงานนี้แสดงออกถึงความสง่างามของพระองค์ท่าน แสดงถึงการเป็นศูนย์รวมของมหาชนที่จับต้องได้ เพราะในอดีตพระมหากษัตริย์จะอยู่เพียงในวัง เมื่อเสด็จออกมาประชาชนต้องหมอบกราบห้ามเงยหน้าขึ้นมอง ซึ่งกฎนี้ได้ยกเลิกไปในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การที่รัชกาลที่5 ได้สร้างพระรูปนี้ทำให้เสมือนว่ากษัตริย์มีตัวตน เป็นของประชาชน จับต้องได้จึงเป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ของพระองค์ท่านให้เป็นกษัตริย์ที่สนใจในความใกล้ชิดระหว่างสถาบันและประชาชนมากขึ้น พระรูปของท่านเป็นวีรบุรุษทีทรงม้าอย่างสง่างาม เฝ้ามองดูประชาชนอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นกุศโลบายในการให้พระองค์เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ แม้จะทรงสวรรคตไปนานมากแล้วก็ยังมีคนนับถือตลอดเวลาจนเกิดเป็นลัทธิบูชาเสด็จพ่อร.5ขึ้นทุกมุมของประเทศไทย
พระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ ติดตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนใหญ่ เป็นอนุสาวรีย์ที่สำคัญมากทั้งทางด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ กล่าวในทางศิลปะแล้วผลงานนี้ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ภาคภูมิใจที่สุดในการสร้าง เพราะรัฐให้อิสระในการสร้างงานมากกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ ผลงานนี้ให้อารมณ์ทางสุนทรียภาพที่งดงาม องค์ประกอบโดยรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างพระเจ้าตากและม้าทรงผสานกันอย่างลงตัว
ในทางประวัติศาสตร์นั้น กล่าวถึงในคราวที่พระองค์ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตากตั้งตนเป็นกลุ่มกู้ชาติรวบรวมแผ่นดินที่แตกสลายคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 เหล่าเมืองต่างๆขาดความสามัคคี ต่างตั้งตัวเป็นใหญ่ พระยาตากจึงกู้เอกราชโดยการรวมแผ่นดิน ปราบกลุ่มต่างๆให้รวมกันเป็นหนึ่ง โดยพระบรมรูปนี้เป็นภาพเสี้ยววินาทีก่อนที่ม้าศึกกระโจนสู่สนามรบในคราวตีเมืองจันทบุรี พระองค์ทรงม้าอยู่หน้ากองทหารอย่างกล้าหาญพร้อมทำการกู้ชาติอย่างเด็ดเดี่ยว
ในครั้งที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลขณะนั้นมุ่งให้พระรูปนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมกันเป็นหนึ่ง ความสามัคคี ความหวังในอนาคตและความเชื่อในผู้นำ เชื่อในการนำชาติของผู้นำยุคนั้นว่าสามารถนำพาประชาชนผ่านปัญหาต่างๆไปได้ ซึ่งตรงนี้ก็ซ่อนคติเผด็จการอำนาจนิยมผสานกันแนวคิดแบบชาตินิยม สร้างอัตลักษณ์ของชาติโดยผ่านทางอยุสาวรีย์ นับแต่นั้นคนไทยก็เชื่อว่าเมื่อใดที่เกิดวิกฤตกับบ้านเมือง วีรบุรุษก็จะปรากฏตัวช่วยเหลือได้ทุกเรื่อง
ทั้งหลายที่ได้บรรยายอย่างยืดยาวก็เพื่อต้องการให้คติวีรบุรุษขี้ม้าขาวมีน้ำหนักขึ้น และเมื่อกลับมาดูผลงานของนิพันธ์ เราจะไม่เห็นวีรบุรุษ เราจะเห็นม้าศึกยืนอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางเวิ้งฟ้า ม้าในงานนี้อาจจะหมายถึงคนไทยทั้งประเทศก็ได้ ที่รอให้มีผู้ขี่ที่กล้าหาญ รอผู้นำหรือวีรบุรุษผู้เข้ามาแก้ปัญหาของบ้านเมือง
งานชิ้นนี้เขาสร้างขึ้นหลังเกิดระเบิดก่อความไม่สงบในกรุงเทพ ในระหว่างที่คนรอต้องรับปีใหม่สู่ปี2549 ซึ่งในระหว่างนั้นเป็นช่วงเกิดกระแสต่อต้านระบอบทักษิณอย่างรุนแรง จนเกิดการทำรัฐประหารจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยกองทัพทั้ง4เหล่ามีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้นำ ซึ่งในระยะแรกผู้คนในสังคมไทยให้การตอนรับการทำรัฐประหารครั้งนี้โดยหวังว่าจะแก้วิกฤตความขัดแย้งได้ ผู้นำการปฏิวัติจึงดำรงสถานะของวีรบุรุษขี่ม้าขาว แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้พิสูจน์ว่าไม่ได้ลดความขัดแย้ง กลับเพิ่มความขัดแย้งกันอย่างทวีคูณมาถึงปัจจุบันวันนี้ วีรบุรุษในครั้งนั้นก็ไม่ได้กลายเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง กลับกลายเป็นผู้ที่เริ่มให้สังคมขัดแย้งกันบานปลาย แม้ปัจจุบันมีรัฐบาลใหม่จากอีกขั้วขึ้นมาดำรงตำแหน่ง หลายคนมองว่าเป็นทางออกของสังคมมองว่านายกคนใหม่เป็นวีรบุรุษ หวังให้รัฐทำโน่น แจกนี่โดยมิได้เฉลียวใจเลยว่าแท้จริง โลกนี้อาจไม่มีวีรบุรุษที่แท้จริงอีกแล้ว

วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552

Sculpture “Untitled Shoe /1990” ของ Robert Gober (born 1954)


ชื่อผลงาน : “Untitled Shoe” (1990)
เทคนิค : Red casting wax
ขนาด : 3 x 2 5/8 x 7 1/2” (7.6 x 7.6 x 19.7 c­­m.)
จำนวนพิมพ์ (Edition): 35+6 AP



Robert Gober เป็นศิลปินอเมริกันที่มีชื่อเสียงในการสร้างสรรค์ผลงาน 3 มิติเป็นอย่างมาก แม้ว่าเขาจะสร้างผลงานในรูปของภาพถ่าย (Photography) ภาพพิมพ์ (Printmaking) หรือวาดเส้น (Drawing) ด้วยก็ตาม แต่ผลงานเหล่านั้นก็มิได้มีความโดดเด่นเท่ากับผลงานประติมากรรม (Sculpture) เขาเกิดที่ Connecticut ในครอบครัวที่นับถือนิกาย Catholic ที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง พื้นฐานวิถีชีวิตของครอบครัวเป็นแบบอนุรักษ์นิยม (conservative) ยึดมั่นในคติแบบประเพณีที่ดีงามตามหลักคริสต์ศาสนา และอาจจะด้วยสภาพพื้นฐานครอบครัวนี้เอง ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขามักจะถ่ายทอดความรู้สึกที่ถูกเก็บอยู่ภายในกรอบของการดำเนินชีวิต ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


Gober เป็นศิลปินที่มีความสนใจในสิ่งของรอบตัวที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันเสมอๆ เขามักจะหยิบยกสิ่งของรอบข้างมาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์ซุกซ่อนปมอะไรบางอย่างให้ขบคิดอยู่เสมอๆ บาง
ครั้งแฝงความเร้นลับแห่งตัวตนผ่านการนำเสนอที่มีความผิดปกติวิสัยของวัสดุนั้นๆ ทำลายความมีอยู่ของหน้าที่ (Function) ของสิ่งๆนั้น เพื่อให้เกิดความผิดแผกแตกต่างจากเดิม เป็นประดุจการสะท้อนสิ่งคับข้องอะไรบางอย่างภายในจิตใจของตัวเอง เขานำลักษณะความเป็นวัสดุของสิ่งที่หยิบยกมาจัดบริบทขึ้นใหม่ใต้แนวคิด (Concept) ที่มาจากชีวิตส่วนตัว จัดการกระบวนการสร้างสรรค์อย่างง่ายๆโดยใช้รูปลักษณ์ของสิ่งที่มีอยู่จริงประสานกับความผิดปกติที่ซ่อนได้อย่างแนบเนียน เช่น สิ่งใดที่ต้องมีรูระบายก็จะปรับให้เป็นรูที่ทึบตัน สิ่งใดที่สภาพของตัวมันเป็นความแข็งความมั่นคงก็ปรับแต่งให้เป็นความอ่อนนุ่มไม่คงตัว ผลงานของเขาจะไม่ใช่ภาพของความอลังการมลังเมลือง แต่กลับมีขนาดย่อมๆดูอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อพินิจโดยละเอียดแล้วก็จะพบเพียงความนิ่งเงียบที่สถิตในผลงาน ผู้ดูพึงต้องนิ่งอยู่ภายใต้สัญลักษณ์ของทัศนธาตุที่แสดงนัยยะทางความคิดถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน กล่าวโดยสรุปแล้ว ผลงานสร้างสรรค์ของเขาไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการที่จะเข้าใจปมปัญหาส่วนตัวของศิลปินที่เป็นประดุจต้นร่างของความคิด แต่กลับไม่ใช่เรื่องยากหากใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัสรับรู้ในผลงานศิลปะของเขา


ในห้วงปี 1990 Gober ได้สร้างผลงานประติมากรรมขนาดเล็กที่มีชื่อว่า “Untitled Shoe” ขึ้น โดยทำเป็นรูปรองเท้าเด็กผู้หญิงสีแดงสดเพียงข้างเดียว รองเท้านี้หล่อด้วยขี้ผึ้งผสมสีแดงผลิตออกมาหลายจำนวนพิมพ์ (edition) ซึ่งมีขนาด 3 x 2 5/8 x 7 1/2 นิ้ว หรือ 7.6 x 7.6 x 19.7 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับรองเท้าที่มีอยู่จริง เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสรางสรรค์ผลงานที่เป็นรองเท้าแดงนี้จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอในช่วงหนึ่งของชีวิตประจำวัน เขาได้ให้ทัศนะไว้ว่า เขาพบรองเท้าหนึ่งข้างตกอยู่กลางถนนสาย East Tenth Street ในช่วงเช้าวันหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ทำให้เขาหวนคิดถึงสถานการณ์ความรุนแรงอะไรบางอย่างที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ประสบมาก่อนหน้านี้ โดยที่รองเท้าข้างหนึ่งได้ตกหล่นโดยไม่ได้ตั้งใจ

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงฝังอยู่ในความทรงจำแล้วก็ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นนี้


Untitled Shoe เป็นรูปลักษณ์ของรองเท้าเด็กของผู้หญิงสีแดง ที่มีขนาดใกล้เคียงกับความจริง มีการทำขึ้นและถอดพิมพ์หลายชิ้น ผลงานชิ้นนี้แม้ว่าจะมีลักษณะที่ดูผิวเผินแล้วคล้ายกับวัสดุเก็บตก (Found object) หรือวัสดุสำเร็จรูป (Readymade object) แต่ก็หาใช่วัสดุทั้งสองแบบ เพราะเป็นของที่ถูกทำขึ้นใหม่โดยใช้ขี้ผึ้งหล่อออกมาให้มีความใกล้เคียงกับภาพลักษณ์ของสิ่งนั้นจริงๆเป็นการเลียนแบบขึ้นมาหาใช่การล้อเลียนไม่ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้ระลึกถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ที่ฝังอยู่ในมโนภาพของศิลปินและถ่ายทอดสภาพนั้นออกมา วิธีการนำเสนอดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Gober ที่ทำได้อย่างน่าสนใจ เขาจัดวางโดยการสมมุติสถานการณ์ให้รองเท้าสีแดงนี้ วางนิ่งสงบอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางพื้นที่โล่งขาว เมื่อผู้ชมได้ดูแล้วเกิดความกำกวมและตั้งคำถามบางอย่างเกี่ยวกับการหายไปของรองเท้าอีกข้าง หรืออีกนัยยะหนึ่งรองเท้าข้างนี้ต่างหากเล่า ที่เป็นรองเท้าข้างที่หายไปจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในสถานการณ์ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น


วัสดุในการสร้างสรรค์ของผลงานชิ้นนี้คือขี้ผึ้ง ซึ่งโดยสถานะของตัวมันเองแล้วสามารถแปรเปลี่ยนสภาพตัวเองจากของแข็งเป็นของที่มีความยืดหยุ่นนิ่มจนกระทั่งเป็นของเหลวได้ หรือหากมีความร้อนที่สูงมากก็แปรสภาพกลายเป็นก๊าซหรือเจือปนเป็นอากาศธาตุได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลัก นอกจากนี้ขี้ผึ้งยังสามารถผสมกับสีได้ เกิดเป็นสีของวัตถุที่เป็นผลงานสำเร็จออกมา ซึ่งนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้ขี้ผึ้งสร้างเป็นรูปเหมือน เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพชนหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งมีการใช้ขี้ผึ้งประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยอยู่ในรูปแบบของเทียน จากลักษณะเฉพาะของขี้ผึ้งเช่นนี้ Gober ได้นำมาสร้างงานประติมากรรมขึ้นมากมายหลากหลายชิ้น ซึ่งในทางเทคนิคของการสร้างประติมากรรมนั้น ก็ถือเป็นเรื่องปกติในการใช้ขี้ผึ้งเป็นตัวกำหนดแบบร่างเพื่อนำไปขยายแบบสู่งานจริง แต่ในกรณีของ Untitled Shoe นี้ กลับต่างจากกระบวนการดังกล่าว กล่าวคือตัวขี้ผึ้งไม่ได้ดำรงสถานะในการร่างแบบ (Sketch) แต่ตัวมันกลายเป็นผลงานจริง เนื่องด้วยปัจเจกลักษณ์ของสถานะแปรเปลี่ยนของขี้ผึ้ง อาจเป็นสาระที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดแนวคิดบางอย่างสู่ผู้ชม ลักษณะการแปรเปลี่ยนสภาพได้ของขี้ผึ้งนั้น ก็อาจแฝงนัยยะทางปัญญาในเรื่องของความเป็นอนิจจังที่ซ่อนอยู่ในวัตถุวิสัย และด้วยสถานะดังกล่าวก็อาจจะโยงถึงสถานการณ์ที่เขาได้เห็นรองเท้าหนึ่งข้างวางนิ่งสงบอยู่กลางผืนถนนอย่างโดดเดี่ยวไร้ผู้เหลียวแล ภาพตรงหน้านำพาให้เขาคิดถึงเหตุการณ์ของความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยสมมุติฐานในชั้นต้นเป็นไปได้ว่าเป็นเรื่องของเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งกับเจ้าของรองเท้านี้ ซึ่งในที่นี้ก็คือเด็กผู้หญิงอันจะเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่บอบบางอ่อนเยาว์และอ่อนแอ ที่แม้จะโดนกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างยิ่ง ดังเช่นรองเท้าขี้ผึ้งนี้ที่ภายนอกนั้นดูเป็นปกติเป็นของแข็ง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมรอบข้างมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นสถานะของแข็งของรองเท้าก็จะเปลี่ยนไปสู่ของเหลว หรือเมื่อมีความร้อนที่สูงมากก็เปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซไร้ร่องรอยไปในเวิ้งอากาศได้ ความไม่แน่นอนของวัสดุที่นำมาเสนอผ่านรูปลักษณ์ของรองเท้าแดงนี้ จึงส่งผ่านเรื่องราวของความคิดและความรู้สึกที่มากมายถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่ชวนคิดชวนฉงนเป็นอย่างยิ่ง


ถ้าจะกล่าวในเรื่องของสีแดงสดที่ปรากฏในผลงานนั้น เราอาจเห็นถึงสาระของความหมายบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายนอกของรูปลักษณ์ซึ่งถูกฉาบทาด้วยรูปทรงที่บอบบางและสีที่สดจัดจ้าน ความหมายของสีแต่ละสีของแต่ละบุคคลก็ย่อมให้ความหมายที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าไปรับรู้นัยยะที่แฝงอยู่ในทัศนะของเขาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถจะตีความได้เลยเสียทีเดียว เนื่องด้วยสีแดงที่ฉาบคลุมทุกอณูของผลงาน ได้ส่งผลต่อความเด่นในทางทัศนธาตุที่พลักดันผลงานรองเท้าสีแดงฉูดฉาดลอยเด่นเหนือพื้นที่เวิ้งว้างสีขาวบริสุทธิ์ ปล่อยรองเท้าแดงนี้สงบนิ่งเพียงข้างเดียวอย่างไร้กาลเวลา ถ้ามองในทางจิตวิทยาพื้นฐานอย่างง่ายๆ เราจะเห็นว่าเด็กๆมักชอบสิ่งของที่มีสีสันจัดจ้านและดูง่ายๆ โดยเฉพาะของที่เป็นแม่สีวัตถุธาตุ โดยเฉพาะสีแดงแล้วมักเป็นที่น่าสนใจสำหรับเด็กทั่วไป ในที่นี้สีแดงอาจจะแทนความหมายของความเป็นเด็ก เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเด็ก แต่ถ้ามองในนัยยะที่ลึกขึ้นไปอีกก็อาจจะเป็นสีของเลือด แสดงออกถึงเรื่องราวอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับเลือด เกี่ยวกับความสูญเสีย กระทั่งรวมถึงความรุนแรงอย่างที่สุดก็เป็นได้ พลังของสีแดงได้ชักพาให้ผู้ชมได้รับอารมณ์ที่รุนแรงและกระทบกับความสะเทือนใจอะไรบางอย่างที่เจ็บปวด พื้นที่สีขาวเวิ้งรอบผลงานได้ให้อารมณ์ที่หลอกหลอนไร้กาลเวลา ดูว่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดายถูกทิ้งอย่างไม่มีใครแยแส ขณะเดียวกันก็เกิดความสะพรึงของการหลอกหลอนของพื้นที่ว่าง เพราะในความหมายของสีขาวที่ล้วนเป็นความบริสุทธิ์นั้น ก็แฝงความหมายถึงความไร้ชีวิตหรือความตายด้วย ในขณะที่สีแดงของรองเท้าได้ทำหน้าที่แสดงออกพลังสีของเลือดหรือสัญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิต เมื่อผสานกัน จึงทำให้เกิดอารมณ์ของผลงานที่เกี่ยวพันกันระหว่างการมีชีวิตอยู่ การทอดทิ้ง ความรุนแรง รวมไปจนถึงความตาย และความหลอน


การสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมในชิ้นนี้ของ Gober เป็นเสมือนการจำลองสถานการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้นจริง ในสถานะที่เขาเคยดำรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ ดังนั้นการสร้างรองเท้าขี้ผึ้งสีแดงขึ้นนี้ ก็อาจจะถือเป็นบทบันทึกที่ศิลปินได้ถ่ายทอดออกมาจากห้วงความทรงจำส่วนตัว ให้กลายเป็นผลงานศิลปะ หากแต่การเข้าไปรำลึกถึงแก่นสาระของผลงานนั้น ไม่ได้ความว่าจะเสนอความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินผู้สร้างสรรค์แต่ด้านเดียว แต่ยังเปิดเผยถึงประเด็นทางสังคมไว้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะประเด็นของการคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็กและสตรีนั้น ได้สอดแทรกถ่ายทอดออกมาให้เห็นถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในสังคมจริง ศิลปินมิได้ชี้แนะให้ผู้ดูหรือสังคมควรจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือหยุดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แต่ศิลปินได้สะท้อนสิ่งที่พบเห็นในช่วงขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตน อันได้เกี่ยวโยงกับความเป็นไปของประเด็นดังกล่าว เป็นการแสดงออกให้เห็นผลของความรุนแงที่ได้เคยเกิดขึ้นในอดีตโดยทิ้งร่องรอยไว้ให้ขบคิด ซึ่งในที่นี้คือรองเท้าสีแดงข้างเดียว ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติที่จะพบเห็นรองเท้าที่ดำรงสถานะของจำนวนคู่วางทิ้งอยู่เพียงลำพัง และสิ่งนี้เองก็ชักนำให้ศิลปินได้ขบคิดผสานจินตนาการจนเกิดเป็นจินตภาพของสมมุติฐานดังที่เขาได้บันทึกไว้


ดังนั้นผลงานชุดนี้จึงเป็นผลงานที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยในการสร้างสรรค์ ใช้ความหมายและสถานะของวัสดุให้เกิดเป็นแนวคิด โดยผ่านสัญลักษณ์ของรูปทรงวัตถุที่เห็นทั่วไปเป็นปกติ ให้เป็นผลงานที่อุดมด้วยปัญญานำพาให้ผู้ดูมุ่งสืบค้นนัยยะที่เร้นอยู่ภายใต้วัตถุวิสัยของผลงานศิลปะ เพ่งพินิจสู่ความหมายที่ศิลปินได้ประกาศผ่านความเงียบสงัดของรองเท้าเด็กผู้หญิงสีแดงที่วางสงบนิ่งท่ามกลางความเวิ้งว้างของพื้นที่สีขาวที่มีขอบเขตอันเป็นนิรันดร์

Installation Art “Brillo (1968)” ของ Andy Warhol (1928 –1987)




Andy Warhol เป็นศิลปิน Pop Art ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เขาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายหลากหลายรูปแบบ ผลงานของเขาได้สร้างรูปแบบวิธีการนำเสนอใหม่ๆให้กับวงการศิลปะในยุคสมัยนั้นเสมอๆ แรกเริ่มเดิมที่เดียวนั้นเขาทำงานอยู่ในวงการโฆษณา ซึ่งเรียกกันว่าเป็นพานิชศิลป์ (Commercial Art) ไม่ใช่วิจิตรศิลป์ (Fine Art) ที่ถือเป็นศิลปะชั้นสูง (Hi Art) แต่ต่อมาเขาก็นำลักษณะของงานโฆษณานี้ไปสร้างเป็นผลงานศิลปะ ซึ่งไปพ้องกับแนวคิดในศิลปะแบบ Pop Art หรือศิลปะแบบประชานิยมซึ่งเป็นที่รู้จักในราวทศวรรษที่ 1960 แนวคิดดังกล่าวนำเสนอรสนิยมของประชาชนในสังคมในห้วงเวลานั้น

ผลงานในยุคแรกของ Warhol เป็นผลงานจิตกรรมและภาพพิมพ์ 2 มิติ นำเสนอภาพลักษณ์ของสังคมในยุคนั้นผ่านสัญลักษณ์ทางสินค้าที่เป็นที่รู้จักในหมู่มหาชนอย่างกว้างขวาง เช่น กระป๋อง Campbell's Soup เป็นต้น หรือนำเสนอภาพลักษณ์ผ่านทางบุคคลที่เป็นที่รู้จัก เช่น Marilyn Monroe ดาราสาวผู้โด่งดังและเป็น Sex Star ในยุคสมัยของเขา เขามักจะสนใจทุกสิ่งที่เป็นที่นิยมของสังคมและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานสม่ำเสมอ เขาได้เริ่มพัฒนาจากผลงานแบบแบนราบที่เป็นเพียงมิติกว้างกับยาว ซึ่งแม้จะดูเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมยุคนั้นได้ดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ให้เกิดการสัมผัสในมุมมิติของความลึก ให้เป็นงาน 3 มิติที่ดูเสมือนจริงยิ่งขึ้น

ผลงาน Installation Art ชื่อ Brillo (1968) เป็นพัฒนาการในการนำเสนอจากผลงานแบบแบนราบ 2 มิติ ไปสู่การแสดงออกแบบ 3 มิติ จากมิติลวงสู่มิติจริง จับต้องได้จริง สามารถเข้าไปรับรู้จากสภาพเสมือนจริง ในการแสดงนิทรรศการศิลปะชื่อ The American Supermarket (1964) เขาขาย Brillo Box ได้กล่องละ 350 Dollars ในขณะเดียวกันก็เกิดคำถามขึ้นว่า ใช่ศิลปะหรือไม่ และอะไรคือศิลปะ

ในการสร้างสรรค์ผลงานของWarholนั้น แนวคิดและกระบวนการสร้างเป็นผลมาจากความชื่นชอบในทุกๆสิ่ง ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “I love thing” ทัศนะที่เขามีต่อสิ่งรอบข้างเช่นนี้ ทำให้ผลงานที่ออกมาเป็นการส่งผ่านจากความชื่นชมในสิ่งของต่างๆที่ปรากฏอยู่ดาษดื่นในสังคม โดยเฉพาะสิ่งของที่เป็นของใช้ประจำวัน สินค้าที่มีขายในใน Super Market ตลอดจนโปสเตอร์โฆษณาต่างๆ เขาเป็นศิลปินที่ฉลาดเลือกในการนำเสนอในเชิงล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน กระทั่งสะท้อนความเป็นไปของสังคม สิ่งทั้งหลายนี้จะเห็นได้จากผลงานประติมากรรมและจัดวาง ชุด Brillo (1968) เป็นต้น

ผลงานชุดนี้ ได้ล้อเลียนสินค้าในตลาดทั่วไปในอเมริกาในห้วงเวลานั้น กล่าวคือ Brillo เป็นยี่ห้อหนึ่งของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นสินค้าที่พบเห็นทั่วไปในห้างร้าน ทุกๆบ้านนำไปใช้เป็นของประจำบ้าน ของสิ่งนี้ไม่มีอัตลักษณ์เฉพาะ(Identity) เป็นของที่ถูกผลิตขึ้นในยุคที่ทุกๆสิ่งเป็นผลจากอุสาหกรรม (Industrial) ทุกพื้นที่ของเมืองใหญ่นอกจากเต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆแล้ว ก็ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย Brillo ก็เป็นหนึ่งในของที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมของมนุษย์ ที่กำลังเปลี่ยนผ่านอยู่ใน ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากสังคมอุตสาหกรรมแบบเก่าสู่อุตสาหกรรมใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Post World War II)ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ธรรมดาหากอเมริกันชนจะไปไหนมาไหน ก็พบเห็นกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์นี้ ความดาษดื่นของสิ่งนี้ ทำให้ความน่าสนใจของมันถูกบั่นทอนลงอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น เพราะถ้าดูกันในระดับลึกซึ้งแล้ว กล่องสินค้านี้มีหน้าที่เพียงบรรจุของภายใน ซึ่งของข้างในต่างหากที่มีประโยชน์ใช้สอย แต่ตัวกล่องภายนอกเมื่อหมดหน้าที่ในการบรรจุสิ่งของ ก็หมดความสำคัญโดยสิ้นเชิง กลายเป็นสิ่งไร้มูลค่าในทางเศรษศาสตร์ (Economy)โดยเฉพาะสังคมอเมริกันที่เป็นแบบทุนนิยม (Capitalism) แล้ว กล่องนี้เป็นขยะที่ไร้ค่าทั้งสิ้น

เมื่อWarhol ได้นำภาพลักษณ์ที่ปกติวิสัยซึ่งดูจำเจซ้ำซากนี้มาสร้างสรรค์ เขาได้เคารพในลักษณะเดิมของมัน ซื่อสัตย์ในการเสนออย่างตรงไปตรงมา เขาสร้างกล่องขึ้นมาจากแผ่นไม้อัด แล้วประกอบเข้ากันจนได้ครบทั้ง 6 ด้าน จากนั้นก็ใช้เทคนิคภาพพิมพ์ Silkscreen ซึ่งเป็นเทคนิคในอุตสาหกรรมการผลิตงานโฆษณาต่างๆพิมพ์ลงบนด้านทุกๆด้านที่มีภาพและตัวอักษรโฆษณา โดยเลียนแบบจากกล่องของ Brilloจริง ทั้งขนาดของแต่ละด้านที่ขนาด 17 X 17 X 14 นิ้ว ก็เลียนแบบให้ตรงกับของจริงทุกประการ เว้นเสียแต่ด้าน
บนของกล่องนั้นปิดทึบไม่สามารถเปิดและปิดได้เหมือนอย่างกล่องจริง เนื่องจากกล่องนี้สร้างจากไม้ เนื่องด้วยจุดประสงค์หลักคือเป็นผลงานศิลปที่ให้คุณค่าทางปัญญา มิใช่กล่องกระดาษที่สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ ที่มีจุดประสงค์ในการอุปโภค พื้นที่ภายในของกล่องผลงานนี้จึงบรรจุเพียงพื้นที่ว่าง (Space) ที่ถูกจำกัดเป็นปริมาตรเหลี่ยม ซึ่งหากดูจากกล่องของจริงแล้ว ข้างในกล่องนั้นก็ย่อมต้องเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่วางอย่างเป็นระเบียบ พื้นที่ดังกล่าวก็จะถูกแทนด้วยมวล ปริมาตรของผลิตภัณฑ์

ในการนำเสนอผลงานชุดนี้ ได้ลอกเลียนแบบการจัดวางสินค้าในร้านสะดวกซื้อหรือ Super Market เรียงสินค้าแบบตั้งซ้อนกันอย่างธรรมดา จัดวางคล้ายกับว่ามิได้สนใจในรายละเอียดหรือเพื่อให้เกิดความงามในแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ (Identity) เป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลานั้น ที่ทุกๆสิ่งในสังคมเป็นเพียงสินค้าธรรมดา (Mass Products) ทั้งนี้ ก็ถือได้ว่า Warhol เองก็ได้แสดงออกในสิ่งที่เขาชอบ เพราะด้วยความที่เคยสร้างสรรค์ผล
งานโฆษณาในวัยหนุ่ม ทำให้เขาต้องเป็นคนหนึ่งที่มีความคุ้นเคยและนิยมกับสินค้าสมัยใหม่มากมาย การที่เขาได้สร้างกล่อง Brillo ซึ่งเป็นสินค้าที่ภาพลักษณ์หนึ่งของสังคมในยุคของเขามานำเสนอ ก็น่าจะมีส่วนมาจากความคุ้นเคยและชื่นชอบในวิถีชีวิตและรสนิยมคนเมือง (Urban) ดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยด้วย
ถ้าจะมองในแง่มุมของความเป็นผลงานศิลปะที่ดีแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ยากหากเราจะมองกันในระดับกระพี้อย่างผิวเผิน ภาพลักษณ์ทางศิลปะที่ฉาบทาด้วยค่านิยมแบบศิลปะชั้นสูง ซึ่งมักเน้นบริบททางความงามและความสมบูรณ์แบบเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ ที่มีมาตั้งแต่อดีตตราบจนห้วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้คติแบบนี้ได้ฝังรากอยู่ในหมู่ปัญญาชนหัวเก่าที่มีความคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม (Conservatism) ผลงานสร้างสรรค์ในยุคสมัยใหม่จึงยากที่จะมองว่าเป็นศิลปะที่ดีได้ การก้าวข้ามกันระหว่างศิลปะชั้นสูง (Hi Art) กับศิลปะชั้นล่าง (Low Art) จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้า (Avant-Garde Artist) ความเหลื่อมล้ำนี้ ได้ถูก Warhol ท้าทายอย่างตรงไปตรงมา เขาประชดประชันสังคมบริโภค ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าที่ดูเสมือนว่าไม่มีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ เกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างศิลปะแบบพานิชกับศิลปะแบบชั้นสูง ศิลปะแนวทางนี้ก็ยกสถานะตัวเองเป็นหนึ่งในแนวทางศิลปะกระแสหลัก (Main Stream) ได้ ซึ่งในผลงานชุด Brillo นี้เองก็มิได้แสดงเจตจำนงที่จะต่อต้านหรือบริภาษอย่างรุน แรงแต่คล้ายเป็นภาพสะท้อนมากกว่าไม่ได้แสดงภาพของความขัดแย้งกับความนิยมของมวลชน เป็นประ ดุจกระจกเงาที่สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวของสังคมในห้วงนั้น แสดงถึงความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ การดำเนินชีวิตแบบไร้รสนิยม ไม่มีความเป็นปัจเจก

ปัจเจกภาพถือเป็นสิ่งที่สำคัญการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) จนถึงยุคต้นของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลังจากเกิดผลงานในลักษณะ Pop Art หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็เป็นการทลายความขัดแย้งในทางชนชั้น สลายความโดดเด่นของแต่ละปัจเจกให้เกิดสถานภาพแห่งความเสมอเหมือน เกิดความเท่าเทียมกัน อีกด้านหนึ่งของสิ่งที่ไม่มีอัตลักษณ์ก็ได้ปรากฏบริบทใหม่ในการแสดงออก ที่ไม่ใช่จะนำเสนอแต่เพียงรูปแบบแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องด้วยรูปลักษณ์มิได้สนองตอบความเป็นไปของผู้คนในสังคมเพียงพอ การดำเนินชีวิตในสังคมสมัยนั้นได้ยกระดับให้เกิดปัญญาชนรุ่นใหม่ เกิดความคิดใหม่ๆ เกิดการต่อต้านในขนบประเพณีแบบเก่าๆเพื่อสิ่งใหม่ๆ เกิดการเดินขบวนของนักศึกษาในการเรียกร้องสันติภาพในห้วงของสงครามเย็น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้ศิลปินต้องการสร้างสรรค์ผลงานที่รับใช้ในด้านกระบวนความคิด (Concept) มากกว่าที่จะเน้นหนักด้านความหมายในเชิงสุนทรียะแบบในอดีต อีกทั้งใช้สอยวิทยาการการผลิตแบบสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรมให้เป็นประโยชน์ ผลงานประติมากรรมจัดวางชุด Brillo นี้ก็ได้เกิดขึ้นจากแนวทางดังกล่าว

ผลงานชุดนี้ได้ให้ผู้ชมเกิดการขบคิดมากกว่าผลงานในยุคอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความเคลื่อนไหวของศิลปะแนว Abstract Expressionism ที่เน้นการแสดงออกปัจเจกภาพอย่างสุดขั้ว สำแดงผลทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยม ประกอบกับสังคมหลังสงครามโลกที่สหรัฐอเมริกาดำรงสถานะผู้ชนะในสงคราม ทำให้ศิลปะแนวนี้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางถึง กระนั้นศิลปะแนวนี้ก็มิได้รับใช้ความเคลื่อน ไหวทางสังคมในระยะเวลาต่อมา แต่ประติมากรรมจัดวางชุด Brillo กลับตอบสนองส่วนดังกล่าวที่บกพร่อง และนำเสนอผลทางอารมณ์ด้านตรงข้ามกับแนว Abstract Expressionism ที่แสดงออกถึงความรุนแรง ความเคลื่อนไหวที่มีพลัง บังเกิดความรู้สึกที่พวยพุ่ง แต่ผลงานชุดนี้กลับมีอารมณ์แบบเมินเฉย เย็นชา ไร้ชีวิต เป็นความไม่แยแสใดๆทั้งสิ้น ความรู้สึกดังกล่าว ได้ถ่ายทอดได้ตรงกับวิถีชีวิตของอเมริกันชนในยุคนั้น ดังคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat" ซึ่งประโยคนี้ได้สะท้อนชัดเจนในวัฒนธรรมสินค้ากระป๋องหรือกล่อง ที่เป็นวัฒนธรรมที่ไร้วิญญาณ ขาดรสชาติและสาระแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญว่าศิลปะคืออะไรหรืออะไรคือศิลปะ (What is art?) ความกำกวมของศิลปะได้ทับซ้อนกันจนเกิดภาพลักษณ์ที่ต่างไปจากอดีต ความสำคัญของปัจเจกได้ถูกสลายไปพร้อมกับการละทิ้งลายเซ็นของศิลปินที่ประทับตราไว้ในผลงาน สิ่งเหล่านี้ได้เป็นผลพวงจากแนวคิดของ Marcel Duchamp (1887-1968) ที่กล่าวว่า “ศิลปะคือเจตจำนง” หรือ “อะไรก็เป็นศิลปะแต่ศิลปะย่อมไม่ใช่อะไรก็ได้” ซึ่งเขาเป็นศิลปินคนแรกๆที่ให้ทัศนะที่แปลกแยกไปจากทัศนคติแบบเดิมๆ และส่งทอดอิทธิพลทางความคิดสู่แนวทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ จวบจนถึงศิลปะแนว Pop Art นี้เอง และนับจากนี้ การสร้างสรรค์ศิลปะก็ได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทำให้กระบวนการทางความคิดมีพลังในการนำสู่การสร้างสรรค์ได้มากกว่าอดีต

ผลงานประติมากรรมจัดวางชุด Brillo ไม่เพียงแต่ก้าวข้ามการนำเสนอในศิลปะแบบแนวใหม่ ที่ให้ ความสนใจในศิลปะแบบแนวคิดสรุป (Conceptual) ไม่แพ้สุนทรียภาพภายนอก แต่ยังเป็นนัยยะทางสังคมที่เปิดไปสู่ทัศนะใหม่ เปิดปมประเด็นทางสังคมในยุคสมัยนั้น ตลอดจนเป็นประดุจกระจกสะท้อนวิถีแห่งอารยธรรมของยุคสมัยโดยอาศัยผลงานศิลปะเป็นพาหนะสู่ความเข้าใจในสังคมของตน.