โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (Ph.D, MFA, BFA)
1.
ปัญหาการวิจัย (Research Problem)
ปัญหาการวิจัย คือ
ข้อสงสัยในสิ่งที่ต้องทำการวิจัยซึ่งเกิดจากความสนใจ หรือการสังเกต หรือการทบทวนแนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการหาคำตอบ
ปัญหาของการวิจัย คือ ขั้นต้นของการสร้างหัวข้อการวิจัย เพื่อเป็นตัวตั้งต้นประเด็นสำคัญก่อนการดำเนินการวิจัยในลำดับต่อไป
2.
คำถามการวิจัย (Research Question)
คำถามการวิจัย คือ
การตั้งโจทย์จากข้อสงสัยว่า เราควรรู้อะไรจากสิ่งที่ต้องศึกษาวิจัย และทำไมต้องรู้เรื่องนั้น
ๆ เรื่องที่เราควรรู้จะพัฒนาเป็นชุดคำถาม
เพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง
3.
วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Research Objective)
วัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ
จุดหมายของการวิจัยแบบรวบยอดว่ามีอะไรบ้าง วัตถุประสงค์ คือ แผนการทางความคิดในการวิจัยว่ามีความคาดหมายอยากจะทำวิจัยเรื่องนั้น
ๆ ให้เกิดผลลัพธ์ด้วยประเด็นเกี่ยวกับอะไร
ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจขั้นต้นของการก่อนเริ่มการดำเนินการวิจัยอย่างมีระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน
4.
ขอบเขตของการวิจัย (Research Delimitation)
ขอบเขตของการวิจัย
คือ ขอบเขตหรือข้อกำหนดเบื้องต้นว่าเราจะศึกษาวิจัยในประเด็นนั้น ๆ แค่ไหน ประเด็นใดบ้าง
ซึ่งต้องเป็นขอบเขตที่ชัดเจน มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ใครคือกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาวิจัย
และจะใช้เครื่องมืออะไรในการหาคำตอบนั้น
5.
สมมุติฐานการวิจัย (Hypothesis Delimitation)
สมมุติฐานการวิจัย
คือ การคาดคะเนผลการวิจัยไว้อย่างคร่าว ๆ ว่ามีลักษณะใด หรือมีความน่าจะเป็นในผลลัพธ์ของการวิจัยนั้น
ๆ อย่างไร
6.
การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review)
การทบทวนวรรณกรรม
คือ การทบทวนงานวิจัยที่มีมาก่อนหน้า หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง หรือแนวคิดของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษาวิจัยของเรา
โดยต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อเปิดมุมมองให้กับผู้วิจัยในประเด็นที่ได้ศึกษาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น
ๆ ทั้งในด้านกว้างและด้านลึกทางวิชาการ แนวคิดและทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิจัยจึงต้องมีประเด็นที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับการวิจัยนั้น
ๆ ด้วย
7.
กรอบแนวคิดการวิจัย (Conceptual Framework)
กรอบแนวคิดการวิจัย
คือ กรอบการวิจัยที่เป็นผลจากการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่สอดรับกับกระบวนการวิจัยนั้น
ๆ อันนำมาสู่แบบจำลองหรือแผนดำเนินการวิจัย เพื่อให้นำไปสู่กระบวนการหาคำตอบได้อย่างมีเหตุและผลที่ชัดเจน กรอบแนวคิดวิจัยจึงเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการวิจัยสำหรับให้งานวิจัย
ซึ่งอาจสรุปเป็นคำอธิบาย/แผนภูมิ/แผนผัง/แผนภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและมีความชัดเจนขึ้น
8.
วิธีการวิจัย (Research Methodology)
วิธีการวิจัย คือ วิธีการหาคำตอบจากการวิจัย โดยวิธีการที่มีเหตุผลและมีความเที่ยงตรงเชื่อถือได้ ซึ่งวิธีการวิจัยที่นิยมใช้หลัก ๆ คือ
8.1
การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
การวิจัยเชิงคุณภาพ
คือ วิธีการวิจัยที่มุ่งหาคำตอบในเชิงเหตุผลและการอธิบายคุณลักษณะของสิ่งที่เราวิจัย
โดยผลของคำตอบคือชุดความรู้หรือชุดคำอธิบายผลจากการวิจัย เช่น การวิจัยที่มุ่งหาคำตอบความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับงานออกแบบในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
หรือการวิจัยที่ต้องการหาคำตอบในด้านของการอนุรักษ์งานจิตรกรรมโบราณว่ามีหลักการอย่างไรบ้าง
เป็นต้น
8.2
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
การวิจัยเชิงปริมาณ
คือ วิธีวิจัยที่กำหนดตัวแปร (variable) หรือเกณฑ์อันเป็นปัจจัยที่นำมาสู่คำตอบได้
เพื่อเก็บข้อมูลทางสถิติหรือตัวเลขและนำมาสู่การวิเคราะห์ ซึ่งตัวแปรอาจเป็นเรื่องของความต่างด้านพื้นที่/
อายุ/ เพศ หรือคุณสมบัติเฉพาะอื่น ๆ เพื่อนำผลลัพธ์เชิงสถิติมาเปรียบเทียบ
และวิเคราะห์ อันนำมาสู่ผลลัพธ์การวิจัยได้ เช่น การวิจัยที่มุ่งหาคำตอบสถิติการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะของประชากรชาย-หญิงและในช่วงวัยต่าง ๆ ว่ามีสถิติอย่างไร สอดคล้อง แตกต่าง หรือขัดแย้งกันอย่างไร
และนำไปสู่ข้อค้นพบอะไรบ้าง
8.3
การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research)
การวิจัยแบบผสมผสาน
คือ การวิจัยที่ผสมผสานกันระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อหาคำตอบการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ลุ่มลึกขึ้น
เป็นเหตุเป็นผลที่ชัดเจน และน่าเชื่อถือมากขึ้น ด้วยผลลัพธ์ทั้งเชิงสถิติและนำมาสู่การวิเคราะห์ที่สอดรับหรือโต้แย้งกับแนวคิดทฤษฎีที่มีมาอยู่ก่อนหน้า
การวิจัยแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างมากกับนักวิจัยในปัจจุบัน เพราะสามารถขยายผลทางความคิดที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น
เช่น การวิจัยที่มุ่งหาคำตอบเชิงสถิติของประชากรในเพศและวัยที่แตกต่างกันในการเข้าชมผลงานในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่ง
แล้วนำผลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ในประเด็นที่สัมพันธ์กับคำถามการวิจัยเพื่อให้เกิดคำอธิบาย
ว่ามีปัจจัยที่เป็นเหตุเป็นผลที่มีต่อการเข้าชมหอศิลป์ว่าสัมพันธ์กับอะไรบ้าง เป็นต้น
8.4
การวิจัยเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary Research)
การวิจัยเชิงสหวิทยาการ
คือ การวิจัยที่ผู้วิจัยใช้ศาสตร์หรือความรู้หลากหลายสาขาเป็นฐานในการดำเนินการวิจัยเพื่อคำตอบด้วยวิธีการต่าง
ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น โดยอาจมีวิธีการเชิงทดลอง/ สำรวจ/ ลงพื้นที่จริง หรือการสร้างสรรค์ผลงานร่วมด้วย เพื่อนำไปสู่คำตอบของผลลัพธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
เช่น การวิจัยที่บูรณาการศาสตร์ในด้านของการจัดการกับศิลปกรรม โดยมีวิธีหาคำตอบผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย
เช่น การสังเกตแบบ/ สอบถาม/ การสัมภาษณ์
เป็นต้น ซึ่งการวิจัยนี้เป็นแนวทางสำคัญของการวิจัยในยุคปัจจุบัน เพื่อเกิดผลลัพธ์ที่ทันสมัยในแง่มุมของศาสตร์สาขาต่าง
ๆ
9.
การวิเคราะห์ (Research Analysis)
การวิเคราะห์ คือ ขั้นตอนของการวิเคราะห์หรือแยกแยะประเด็นสำคัญในการวิจัยตามแนวคิด ทฤษฎี กรอบแนวคิด วิธีการดำเนินการ เพื่อแสดงผลลัพธ์เชิงประจักษ์ว่าผลการดำเนินการวิจัยออกมาเป็นอย่างไรบ้าง การวิเคราะห์เป็นผลชั้นต้นที่มาจากข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือแนวคิดทฤษฎีที่มาจากการทบทวนซ้ำ หรือข้อมูลที่มาจากเครื่องมือการวิจัย เช่น ข้อมูลจากแบบทดสอบ (Test) หรือชุดของคำถามที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้น, การสังเกตพฤติกรรม (Observation Form), การสัมภาษณ์ (Interview Form) แบบสอบถาม (Questionnaire) หรือชุดคำถาม เพื่อวัดพฤติกรรมความรู้สึกส่วนบุคคลในประเด็นนั้น ๆ เป็นต้น
10.
การสังเคราะห์ (Research Synthesis)
การสังเคราะห์ คือ
การสกัดข้อมูลการวิเคราะห์ผลการวิจัยมาสู่ผลลัพธ์ชั้นสูงที่เป็นองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม
อันเป็นผลจากการวิจัยที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
11.
การสรุปผล (Conclusion)
การสรุปผล คือ การนำเสนอผลสรุปจากการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่ามีผลลัพธ์การวิจัยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
การสรุปนี้เป็นผลจากการวิจัยทั้งหมดที่เป็นเรื่องของการรวบยอดผลลัพธ์ที่ชัดเจน
12.
การอภิปรายผลการวิจัย (Discussion)
การอภิปรายผลการวิจัย
คือ การตีความจากผลการวิจัยและประเมินผลการวิจัย เพื่ออธิบายความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับสมมุติฐานของงานวิจัย,
แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ประกอบ, การวิเคราะห์ผล และข้อค้นพบจากการวิจัยอย่างไรบ้าง
13.
ข้อเสนอแนะ (Suggestion)
ข้อเสนอแนะคือ ข้อเสนอแนะในการวิจัยในอนาคตของผู้วิจัยเองหรือนักวิจัยอื่น
ๆ ในประเด็นที่การวิจัยของเราไม่ได้ครอบคลุมในประเด็นนั้น ๆ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคิดค้นหัวข้อการวิจัยชิ้นใหม่ขึ้นมาได้
14.
การอ้างอิง (Reference)
การอ้างอิง คือ เอกสาร บทความวิชาการ หนังสือ ตำรา
สื่อออนไลน์ ไฟล์บันทึกเสียงจากการสัมภาษณ์ หรือข้อมูลต่าง ๆ
ที่ผู้วิจัยนำมาใช้ในการศึกษา/วิจัย
ซึ่งต้องเป็นชุดข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐาน และสอดคล้องกับประเด็นการวิจัย